เพิงผาหรือถ้ำพระแม่ย่า ในตำบลนาเชิงคีรี
“ศาลพระแม่ย่า” ริมแม่น้ำยม ใกล้ศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน ในเมืองสุโขทัยธานีถือเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐาน “รูปเคารพพระแม่ย่า” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสุโขทัยที่ชาวเมืองสุโขทัยเคารพเลื่อมใสศรัทธาโดยมี ผู้มากราบไหว้สักการะอยู่ไม่ขาด
สถานที่พบรูปเคารพพระแม่ย่าอยู่ที่ถ้ำบริเวณบ้านโว้งบ่อของเทือกเขาหลวงในตำบลนาเชิงคีรี ถ้ำนี้มีลักษณะเป็นเพิงผาหรือ Shelter ไม่ใช่โพรงถ้ำภายในภูเขาหินปูนแต่อย่างใด ด้านล่างคือโซกหรือลำธารน้ำพระแม่ย่า ปัจจุบันกลายเป็นวัดป่าถ้ำแม่ย่า (ธรรม ยุต) ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา ถ้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่ของพระนางเสืองหรือพระแม่ย่า พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมาบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ภายในถ้ำบ้างก็สันนิษฐานว่ารูปเคารพนี้เป็นเทวรูปพระนารายณ์ ซึ่งพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ไม่อาจเป็นเทวรูปไปได้
รูปเคารพพระแม่ย่า สลักด้วยหินชนวนเป็นรูปสตรีผอมสูง ใบหน้ายาวคล้ายพระพักตร์พระพุทธรูปแบบสุโขทัย ผมมุ่นมวยสูง ๔ชั้น ใส่ต่างหูยาว ใส่เฉพาะสังวาลย์ไม่สวมเสื้อและสวมผ้านุ่งแบบชายไหว ชายแครงเป็นเชิงชั้นทั้งสองข้างแบบศิลปะการนุ่งผ้าสตรีสมัยสุโขทัย ไม่สวมเสื้อหรือสไบ เปลือยส่วนบนทั้งหมดเห็นพระถันทั้งสองเต้า ใส่กำไลแขน กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า สวมชฎาทรงสูง สวมรองพระบาทปลายงอน ความสูงรวมแท่นประทับรวม ๕๒ นิ้ว หรือราว ๑๓๐ เซนติเมตร ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเทวรูปพระแม่ย่าองค์นี้คือ “พระนางเสือง” พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ราวปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสืบสวนเรื่องราวต่างๆ ของเมืองสุโขทัย พบรูปเคารพสตรีที่ชาวบ้านนับถือมากบริเวณเทือกเขาหลวง ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกว่า โซกพระแม่ย่า ห่าง จากเมืองสุโขทัยเก่าทางทิศใต้ประมาณ ๗ กิโลเมตร และมีสมมติฐานจากข้อความในจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งกล่าวถึง “พระขพุงผี” ที่อยู่ทิศเบื้องบนหัวนอนเมืองสุโขทัย และเนื่องจากไม่พบรูปเคารพอื่นใด จึงทรงสันนิษฐานว่า “พระแม่ย่า” องค์นี้น่าจะเป็น “พระขพุงผี” ชาวบ้านในแถบนั้นเรียกรูปเคารพองค์นี้ว่า “พระแม่ย่า” ถ้ำที่พบก็เรียกว่า “ถ้ำพระแม่ย่า”
แต่ข้อมูลที่ โรม บุนนาค เขียนไว้กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕และทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “กำเนิดเมืองสุโขทัยและสวรรคโลก” ในทำนองเดียวกันว่ามีการค้นหาในบริเวณเทือกเขาหลวงตามข้อมูลในจารึกหลักที่ ๑ โดยเข้าใจว่าเบื้องหัวนอนนั้นเป็นทิศเหนือ แต่หากที่ถูกแล้วคือทางทิศใต้ และเสด็จไปพบรูปเคารพพระแม่ย่าที่ถ้ำพระแม่ย่านี้ด้วยพระองค์เอง และทรงดำริให้นำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยไม่เช่นนั้นอาจจะสูญหายได้ (ผู้จัดการ ออนไลน์, เผยแพร่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๙)
“เมืองสุโขทัย” เป็นเมืองที่อิงภูเขา ตั้งอยู่ด้านหน้าของเขาหลวงที่มีเชิงเขาและที่ลาดลงสู่พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงทางฝั่งตะวันตกสู่ลำน้ำยม โดยมีการรับน้ำจากป่าเขามาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงการทำการเกษตรและลำเหมืองนำน้ำผ่านกลุ่มวัดอรัญญิก ผ่านกำแพงเมืองเข้ามากักไว้ตามตระพังใหญ่ในเมืองและบริเวณโดยรอบ
ระบบการชลประทานที่นำน้ำจากบนเขาเข้ามาใช้ในเมืองนี้จะเห็นเป็นร่องรอยของทำนบเป็นคันดินใหญ่ ในจารึกเรียกว่า สรีดภงส์ และคันดินเล็กใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งที่เรียกกันว่า “ถนนพระร่วง” ที่เป็นแนวทำนบโบราณและเป็นคันดินที่ใช้เป็นทางคมนาคมเป็นช่วงๆ ได้ด้วย
ในด้านศาสนาสังคมสุโขทัยมีการนับถือทั้งศาสนาพุทธนิกายมหายานและเถรวาท ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และการนับถือผี เมื่อสุโขทัยรับพุทธศาสนาลังกาวงศ์โดยกษัตริย์เป็นองค์ศาสนูปถัมภก ทำให้พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์รุ่งเรืองในสุโขทัยอย่างมาก ขนบประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างเช่น การบวช การนับถือพระบรมธาตุ การไหว้บูชาพระพุทธรูป
และนอกจากการนับถือศาสนาแล้ว ก็ยังพบว่ามีการนับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่โบราณ จะเห็นได้ว่าข้อความในจารึกที่ทำให้รู้จักชาวสุโขทัยมากที่สุดคือเรื่องราวความเชื่อโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งเป็นความเชื่อขั้นพื้นฐานของคนในสมัยโบราณนั่นก็คือการนับถือ “ผี”
ความเชื่อเกี่ยวกับผีของชาวสุโขทัยแบ่งออกเป็นสองประเภท
อย่างแรกคือ ผีบรรพบุรุษ หมายถึง วิญญาณของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ที่ตายไปแล้วหรือผีหัวหน้าหมู่บ้านที่เป็นบรรพบุรุษของหมู่บ้าน อย่างที่สองคือ ผีประจำสถานที่ หมายถึง วิญญาณที่สถิต ณ ภูเขาใหญ่ ถ้ำป่าไม้ แม่น้ำลำธาร คอยปกปักรักษาพื้นที่เหล่านี้เอาไว้ โดยมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลให้คุณและโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด ไม่ซื่อตรงในกิจการต่างๆ หรือกระทำผิดคำสาบาน เช่น พระขพุงผี เทพดา ผีประจำเขาหลวงของเมืองสุโขทัย โดยมีบทบาทอย่างมากในระบบความเชื่อนี้ที่สืบต่อกันมา
จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ เป็นหลักฐานกล่าว ว่า “มีพระขพุงผีเทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีผีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย”
จากข้อความข้างต้น แปลได้ว่าเขาหลวงเป็นที่สถิตของ “พระ ขพุงผี” มีอำนาจต่อความเป็นไปของบ้านเมือง ผู้ปกครองจำเป็นต้อง บูชาผีให้ถูกเพื่อความสงบสุขของผู้คนและบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ลักษณะรูปเคารพนี้ดูเป็นสตรีเพศอย่างเห็นได้ชัด เกินกว่าที่จะเป็นรูปลักษณ์ของพระนารายณ์ เป็นสตรีมีเครื่อง ประดับอย่างสตรีโบราณผู้สูงศักดิ์ ประทับยืนตรงแขนทั้งสองข้างแนบพระกาย นุ่งผ้าปล่อยชายไหว ชาวบ้านจึงเชื่อว่าเป็นพระนางเสือง และสาเหตุที่เรียกพระแม่ย่า อันหมายถึงสตรีที่มีฐานะสูงสุด เป็นทั้งพระมารดาและพระอัยยิกาแห่งเมืองสุโขทัย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาเมือง ป่าเขา หรือทรัพยากรต่างๆ ด้านหน้าถ้ำนั้นมีธารน้ำไหลผ่านเรียกว่าโซกพระแม่ย่า หล่อเลี้ยงอาณาบริเวณชุมชนแถบนี้ อีกเส้นทางน้ำหนึ่งที่ไหลผ่านเพื่อเข้าไปยังตัวเมืองเก่าสุโขทัยในอดีต ตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะทางภูมิศาสตร์ส่วนนี้ ส่วนใหญ่เป็นป่าและที่เวิ้งเข้าไปในหุบเขาและซอกเขาจำนวนมาก มีร่องรอยของแนวคันดินที่ตัดเข้าไป มีทรัพยากรมากมาย ถ้ำพระแม่ย่าในบริเวณนี้จึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ระบบความเชื่อของท้องถิ่นเรื่องผี หรืออำนาจสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงถูกนำมาใช้เพื่อปกปักรักษาทรัพยากรที่มีให้ยังคงอยู่สืบมา คล้ายคลึงกันกับที่อื่นๆ เช่น ในภาคอีสาน แต่ละท้องที่จะเรียกดอนปู่ตา ศาลปู่ตา ที่คอยปกปักรักษาพื้นที่นั้นๆ ฯลฯ
พระยารามราชภักดีเจ้าเมืองสุโขทัยในเวลานั้นจึงได้อัญเชิญองค์เทวรูปองค์นี้มาเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัด โดยมีชาวเมือง สุโขทัยช่วยกันแห่อย่างเนืองแน่น เกิดฝนตกหนักเป็นอัศจรรย์เพราะขณะนั้นเป็นฤดูแล้งไม่ใช่ฤดูฝน และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อจังหวัดสุโขทัยถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดสวรรคโลก รูปเคารพพระแม่ย่าก็ถูกย้ายไปประดิษฐานในศาลากลางจังหวัดสวรรคโลกในระยะหนึ่ง จนเมื่อจังหวัดสวรรคโลกเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดสุโขทัยตามเดิม รูปเคารพพระแม่ย่าจึงกลับมาอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัยอีกครั้ง
ต่อมาชาวสุโขทัยอัญเชิญพระแม่ย่าออกมาแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อร่วมกันสรงน้ำและขอพรทุกครั้งที่แห่จะมีฝนตกลง มาเป็นที่อัศจรรย์ทุกครั้ง จนกลายเป็นประเพณีแห่พระแม่ย่าในวันสงกรานต์จะต้องมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้านาดี ไม่เกิดความแห้งแล้ง และในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นายเชื่อม ศิริสนธิ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด เกรงว่าถ้านำรูปเคารพพระแม่ย่ามาแห่บ่อยๆ อาจทำให้ ตกหล่นเสียหายได้ จึงสร้างศาลให้เป็นที่ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ฝั่งตะวันออกตรงหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย เรียกว่า “ศาลพระแม่ย่า” จึงได้ประดิษฐานอยู่ในที่แห่งนี้ตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา และได้สลักท่อนศิลาเป็นองค์จำลองขึ้นมาใหม่แทน เพื่อสำหรับออกแห่ให้ประชาชนสรงน้ำในวันมหาสงกรานต์ โดยทางเทศบาลเมืองสุโขทัยเป็นเจ้าพิธีขบวนแห่เรื่อยมา
ปัจจุบัน ศาลพระแม่ย่า ที่มีเทวรูปจำลอง ๒ องค์ ตั้งอยู่ด้านหน้าตรงบันไดทางเข้าประตูศาล กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่ย่าสุโขทัยนั้นเลื่องลือ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะช่วยขจัดความเดือดร้อน ขอพร ขอโชคลาภ เป็นสถานที่ชาวเมืองสุโขทัยหรือผู้คน จากที่อื่นต่างมากราบไหว้ พากันปิดแผ่นทองคำเปลวทั่วองค์ทำให้มองไม่เห็นองค์จนใบหน้าอาจมองคล้ายรูปใบหน้าสตรีสูงอายุ สมกับชื่อ พระแม่ย่าจนกลายเป็นอุปทานให้เกิดขึ้นแก่ผู้พบเห็น
รูปเคารพ “พระแม่ย่า” จากศาลในเพิงผาหรือถ้ำปากประตู สู่ป่าเขาในบริเวณโซกพระแม่ย่า ที่เป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ [Deity] เป็นเทพสตรีผู้พิทักษ์และกำกับอำนาจเหนือธรรมชาติเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของป่าที่เป็นทรัพย์ส่วนรวมและต้นน้ำลำธาร ที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านเมืองสุโขทัยส่วนหนึ่ง ถือว่าเป็นรูปแบบที่สืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นได้ จนกลายมาเป็น เทพรักษาเมืองที่ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งแผ่นดินของชาวจังหวัดสุโขทัยและคนทั่วไปในทุกวัน
บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๑)