หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
พิพิธภัณฑ์กับจินตนาการ
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ค. 2548, 15:27 น.
เข้าชมแล้ว 5776 ครั้ง

 

รูปแกะสลักที่ภายในห้องเล็กของปราสาทพระขรรค์

ชาวบ้านที่เสียมเรียบเชื่อว่านี่คือรูปสลักของพระนางศรีชัยราชเทวีมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

 

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าในเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกันมาก ทั้งของรัฐ องค์กรท้องถิ่น และเอกชน โดยหวังว่าจะเป็นที่รวบรวมบรรดาสิ่งของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ข้อมูล ความรู้ และภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อให้คนภายในได้เรียนรู้และถ่ายทอดแก่คนในรุ่นหลังๆ และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อให้คนภายนอกได้เรียนรู้ว่าแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์สังคมที่แตกต่างกันไป อันจะมีผลให้เกิดความเข้าใจในการที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกันในชาติบ้านเมือง และในโลกได้อย่างสันติสุข

 

ข้าพเจ้าคิดว่าความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นแนวใหม่ กับบรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้งของรัฐและเอกชนที่มีมาแต่ก่อน ก็คือการเน้นให้ผู้มาดูพิพิธภัณฑ์ได้รับสิ่งที่เป็นความหมายและความรู้จากสิ่งของที่จัดแสดงขึ้นในพิพิธภัณฑ์นั้นๆ เพราะพิพิธภัณฑ์แบบก่อนนั้นมักไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างความรู้และให้ความรู้ หากโชว์แต่รูปแบบและสิ่งของที่ตั้งแสดง ว่าสวยงาม เก่าแก่ และมีคุณค่าอย่างไรเป็นสำคัญ

 

ข้าพเจ้าและมูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้มีส่วนในการร่วมมือกับชาวบ้าน วัด และองค์กรท้องถิ่น ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ มาไม่น้อยในช่วงกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้ตระหนักว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่งของทั้งคนภายในท้องถิ่นและคนที่มาจากภายนอก เช่นข้าพเจ้าและคณะ จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ แก้ไข ต่อเติมอยู่ตลอดเวลา  เพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่ไม่หยุดนิ่ง จนทำให้คนที่มาดู มาเพียงครั้งเดียวแล้วไม่มาอีก 

 

แต่การที่จะคิดอะไรใหม่ๆ แล้วนำมาแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และการเคลื่อนไหวได้นั้น ถ้าหากอาศัยประสบการณ์จากการไปเห็นการจัดการและการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ตามที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศด้วยก็จะดี

 

เผอิญเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาในเรื่องภูมิวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขมร พม่า เวียดนาม และลาว  เพื่อดูการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้  ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ของเขาในบางแห่ง ทำให้เกิดความเข้าใจและการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

 

บรรดาพิพิธภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่เห็นนี้ก็ยังคงเป็นแบบเดิมที่ทำกันมานานแล้ว ไม่มีอะไรที่วิลิศมาหราในเรื่องเทคนิคของการจัดแสดงอย่างของเราแต่อย่างใด  อีกทั้งก็เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยได้ไปเห็นมาก่อนแล้วด้วย  แต่ว่าครั้งนั้นไม่ได้สังเกต หรือเกิดสะกิดใจอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา 

 

แต่ในครั้งนี้ โดยเหตุที่มุ่งศึกษาในเรื่องของการให้ความหมายและความรู้จากสิ่งที่แสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้พบว่าท่ามกลางความล้าหลังทางเทคนิคในการจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ปรากฏว่าเขามีอะไรที่ให้ทั้งความรู้ ความหมาย และ ความเพลิดเพลินทางจินตนาการ ได้ดีกว่าพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งของเรา

 

นั่นคือเขาสามารถนำเอาเรื่องราวในตำนาน เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และความรู้ทางประวัติศาสตร์มาผูกเป็นเรื่อง อธิบายด้วยภาพเขียน รูปจำลอง และการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งแสดงในหนังสือนำชมได้ดี

 

พิพิธภัณฑ์ในประเทศเวียดนามมีความถนัดเป็นพิเศษในเรื่องการจำลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่นการทำสงครามป้องกันบ้านเมืองกับจีน มาจัดแสดงด้วยภาพเขียนสีอย่างพาโนรามา [Panorama] ที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินและจินตนาการในเรื่องความรักชาติได้อย่างดียิ่ง 

 

ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่อยู่ในวัดและเป็นส่วนหนึ่งของวัด มักแสดงการเล่าเรื่องเหตุการณ์ในตำนาน และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ด้วยภาพจิตรกรรมบนฝาผนังและบนแผ่นคอสองของศาสนสถาน หรือไม่ก็แสดงด้วยหุ่นจำลองในอาคารภายในวัด ทำให้แลเห็นความเป็นมาของท้องถิ่น ผู้คน ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมได้ดี เพราะบรรดาภาพหรือรูปจำลองเหล่านั้น  สามารถนำไปจินตนาการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นได้ไม่ยาก 

 

ข้าพเจ้าแลเห็นความสำคัญในเรื่องตำนานเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่สร้างความเพลิดเพลิน ตื่นเต้น และจินตนาการให้กับเด็กๆ ได้ไม่น้อย  ทำให้นึกถึงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้มีลักษณะคล้ายการแสดง บรรยายเรื่องด้วยภาพ แลเห็นพายุที่ทำให้เรือแตก  พระมหาชนกกำลังแหวกว่ายในทะเลหลวง และนางมณีเมขลามาช่วย ดูคล้ายกันกับภาพแสดงประวัติของวัดและท้องถิ่น ในตำนานที่กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ ที่ต้องผจญกับการกระทำของพญานาค ยักษ์ และอสูร อะไรทำนองนั้น 

 

 

พระมเหสีอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นพี่ของพระนางศรีชัยราชเทวี คือ พระนางอินทรเทวี 

 

รูปสลักลอยตัว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น พระนางศรีชัยราชเทวี พระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

ปัจจุบันฝรั่งเศสนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์

 

ทั้งหลายนี้ทำให้ข้าพเจ้าตาสว่างขึ้นมาในเรื่องที่ว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ควรเป็นสถานที่ให้ความรู้ ความหมายในลักษณะที่แห้งแล้ง ด้วยการเสนอให้เห็นความรู้และความเป็นจริงแบบวิชาการมากเกินไป ควรมีการผูกเรื่องในตำนาน ความเชื่อ หรือเหตุการณ์ในท้องถิ่นให้มีลักษณะเพลิดเพลิน จนเกิดจินตนาการได้ เพราะจะทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นสถานที่ซึ่งผู้คนสามารถมาหาความรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน  แตกต่างจากการไปหาความรู้ที่โรงเรียนและตามสถาบันการศึกษาต่างๆ

 

ดังนั้น การทำให้ผู้มาชมพิพิธภัณฑ์เกิดจินตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

แต่จินตนาการจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีความเพลิดเพลินก่อน  เพราะฉะนั้น การแสดงบางอย่างในพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นการแสดงความเป็นจริงเสมอไป  ถ้าพิพิธภัณฑ์ใดเน้นในเรื่องการเสนอความรู้ ความเป็นจริงแต่อย่างเดียว  ก็จะได้รับความสนใจเฉพาะแต่จากผู้คนที่กระหายความรู้เพียงกลุ่มเดียว  จะไม่เป็นที่สนใจของคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะพวกเด็กๆ

 

เพราะคนเหล่านี้จะแลเห็นความจริงและความรู้ที่นำมาแสดงในลักษณะแห้งแล้งและเป็นเสี่ยงๆ แต่ถ้าหากภาพแสดงในลักษณะที่เป็นตำนานจนเกิดความเพลิดเพลินแล้ว  ก็จะเป็นสิ่งที่จุดประกายความสนใจในเรื่องความจริงและความรู้ได้

 

ความเพลิดเพลินก่อให้เกิดจินตนาการในเรื่องอยากรู้ อยากเข้าใจ และเป็นกลไกที่สำคัญในการเชื่อมโยงบรรดาความรู้และความจริงที่เป็นเสี่ยงๆ นั้น ให้เป็นองค์รวมแห่งความรู้และความจริงได้

 

ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญนั้น  ข้าพเจ้าเคยไปหลายหน และเห็นว่าเป็นสถานที่แสดงศิลปวัตถุเช่นเดียวกับบรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเมืองไทย แต่ครั้งนี้มีการปรับปรุงขึ้นนิดหนึ่ง เพราะมีการนำเอาโบราณวัตถุสมัยฟูนัน – เจนละ มาตั้งแสดงเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะรูปสลักหินพระนางทุรคาในศิลปะแบบพนมดา ซึ่งนับเนื่องเป็นของในสมัยฟูนันตอนปลายต่อสมัยเจนละรวมทั้งมีการนำรูปเทวสตรีในศาสนาฮินดูและพุทธมหายานในสมัยหลังๆ ทั้งยุคก่อนเมืองพระนคร และสมัยเมืองพระนครมาแสดงให้แลเห็นความต่อเนื่องด้วย

 

แต่ที่สำคัญ คือได้พิมพ์หนังสือนำชมสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่เล่มหนึ่ง มีชื่อว่า พระนางเทวี [Preah Neang Tévi] ผู้เขียนและผู้รวบรวมเป็นนักวิชาการเขมร ทว่าทั้งเรื่องสื่อด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่ที่ทำให้ผู้อ่านที่มีความรู้ภาษาฝรั่งเศสงูๆ ปลาๆ แบบข้าพเจ้าพอจับความได้ ก็เนื่องจากมีภาพประกอบขาวดำช่วยเสริมให้

 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี ทำให้เกิดความเข้าใจและจินตนาการแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เข้าใจสิ่งที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์อย่างเชื่อมโยงได้ชัดเจน  ตั้งแต่ชื่อ “พระนางเทวี” ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นการเน้นประเด็นในเรื่องของเทวสตรี ซึ่งเข้ากันได้กับการนำรูปเคารพของนางทุรคาและระบบสัญลักษณ์ของแต่ละสมัยมาแสดงต่อกับรูปเคารพของพระอุมา พระลักษมี และนางปรัชญาปารมิตาในสมัยต่างๆ ของสมัยเมืองพระนคร  แต่ในที่สุดแล้ว ก็มาจบลงที่รูปเคารพของพระลักษมีและนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นตัวแทนของพระนางศรีชัยราชเทวี ผู้เป็นมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  คำว่า “พระนางเทวี” อันเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ จึงหมายถึงศรีชัยราชเทวีนั่นเอง

 

นอกจากการแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ด้วยรูปเคารพที่มาจากศาสนสถานในสมัยต่างๆ แล้ว ก็ยังมีการนำศิลาจารึกมาจัดแสดง เพราะเป็นประเพณีของนักปราชญ์เขมรที่สืบทอดมาจากพวกฝรั่งเศส ที่ใช้เรื่องราวในศิลาจารึกมาผูกให้เป็นความรู้และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

 

จารึกสำคัญที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศรีชัยราชเทวีก็คือจารึกที่ปราสาทพิมานอากาศ อันเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางพระบรมมหาราชวังของกรุงยโสธรปุระ เป็นจารึกที่พระนางศรีอินทรเทวี ผู้เป็นพระเชษฐภคินีของศรีชัยราชเทวีโปรดฯ ให้จารึกเล่าเรื่องไว้ โดยมีความสำคัญที่ว่า ศรีชัยราชเทวีเป็นพระมเหสีพระองค์แรกของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นเจ้าชายวรมัน และยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์เสด็จไปทำสงคราม ณ ดินแดนจามเป็นเวลาช้านาน พระนางศรีชัยราชเทวีทรงเป็นห่วงและเป็นทุกข์ถึงพระสวามี จึงทรงบำเพ็ญศีลภาวนาเป็นกุศลให้พระสวามีปลอดภัย แต่เมื่อพระเจ้าชัยวรมันเสด็จกลับมาและได้ครองราชย์ไม่นาน ศรีชัยราชเทวีก็สิ้นพระชนม์  ต่อมา พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ก็ทรงสถาปนาศรีอินทรเทวี ผู้เป็นพระเชษฐภคินีเป็นพระมเหสี 

 

พระนางทรงมีความรู้ปราดเปรื่อง เป็นปราชญ์ของแผ่นดิน ได้ทรงบำเพ็ญกุศลถวายแก่ศรีชัยราชเทวี สร้างจารึกเล่าเรื่องราวของพระนางไว้

 

การบำเพ็ญกุศลให้ด้วยความรักของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และพระนางอินทรเทวีนี้เอง คงทำให้เกิดการสร้างภาพเหมือนของศรีชัยราชเทวีให้เป็นทั้งนางปรัชญาปารมิตา อันเป็นศักติของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และพระลักษมี อันเป็นชายาของพระวิษณุ  สิ่งนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการนับถือทั้งพุทธมหายานและฮินดูที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ 

 

แต่สิ่งสำคัญก็คือการสะท้อนให้เห็นความรักสามเส้าที่งดงาม ระหว่างพี่สาวกับน้องสาว และระหว่างสามีกับภรรยา ในความรับรู้ของข้าพเจ้าจากการได้เห็นและได้อ่าน ทำให้เกิดจินตนาการเชื่อมโยงได้หลายเรื่อง

 

เรื่องแรก คือเชื่อมกับภาพเหมือนของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ที่พบบนผนังระเบียงปราสาทนครวัด ข้าพเจ้าคิดว่าภาพเหมือนของพระองค์มีปรากฏถึงสามภาพ ภาพแรก ทรงประทับบนพระราชอาสน์  ภาพที่สอง  ทรงยืนบนหลังช้าง  และภาพที่สาม ทรงเป็นพระวิษณุในการกวนเกษียรสมุทร ซึ่งก็มีบางท่านเพิ่มอีกภาพหนึ่ง คือภาพที่ทรงเป็นพระยม ที่เรียกว่าธรรมราชา ประทับบนหลังควาย การเกิดการสร้างภาพเหมือนให้พระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้านี้ คงย้อนหลังขึ้นไปถึงรัชกาลของสูรยวรมันที่ ๒ และต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลชัยวรมันที่ ๗

 

ส่วนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับปราสาทพิมานอากาศอันเป็นสถานที่พบศิลาจารึก ทำให้ต้องคิดคำนึงไปถึงปราสาทแห่งนี้ว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่ไม่เหมือนกับเทวาลัยอื่นๆ ของเมืองพระนครเป็นแน่  คือเป็นศาสนสถานที่มีความสัมพันธ์กับสตรีค่อนข้างโดดเด่น  นั่นก็คือกระเดียดไปทางลัทธิตันตริกค่อนข้างมาก

 

ปราสาทบายน

 

ลัทธิตันตริกนั้นมีที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อเกิดศาสนาใหญ่ๆ ขึ้น  คติและลัทธิตันตริกก็หาได้หมดไปไม่  ยังแทรกซึมอยู่ในศาสนาใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นฮินดูหรือพุทธมหายาน จึงเป็นสิ่งขับเคลื่อนให้สตรีกลายเป็นเทวสตรีที่มีบทบาทในการจรรโลงโลกทั้งพระนางทุรคา พระนางกาลี พระลักษมี และนางปรัชญาปารมิตา คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจน

 

ดูเหมือนมีศิลาจารึกของขอมเอง ทั้งในสมัยยโศวรมัน ผู้สร้างเมืองพระนครในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ที่กล่าวถึงการแต่งงานของพระนครกับแผ่นดิน เพื่อทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้น เนื้อความเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นในบันทึกของโจวต้ากวน ที่เข้ามาเมืองพระนครใน พ.ศ.๑๘๓๙ อันเป็นปีที่สร้างนครเชียงใหม่ ว่าพระมหากษัตริย์ขอมจะต้องไปบรรทมกับนางนาคที่ปราสาททองในพระราชวังทุกคืน  ถ้าหากวันใดที่ไม่ไปหลับนอน ก็หมายถึงวันนั้นเป็นวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์ ปราสาททองนี้คือพิมานอากาศอย่างไม่ต้องสงสัย คงเป็นศาสนสถานสำคัญในคติทางตันตริกที่แทรกอยู่ในทั้งฮินดูและพุทธมหายาน ที่มุ่งเน้นความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองที่เคยมีมาแต่สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์แล้ว

 

ถ้าหากข้าพเจ้าจะต้องจัดแสดงอะไรในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจ และจุดประกายความสนใจของคนชมแล้ว  ข้าพเจ้าคงไม่มานั่งอธิบายความรู้ความจริงในคติทางศาสนาแต่อย่างใด  แต่จะนำเอาเรื่องกษัตริย์สมสู่กับนางนาคมาสร้างภาพให้เห็น ก็จะทำให้สื่อไปถึงความหมายที่แท้จริงได้ 

 

เรื่องกษัตริย์สมสู่กับนางนาคนี้ ไม่พบเฉพาะจดหมายเหตุของโจวต้ากวนเท่านั้น  ในตำนานไทยก็มีแพร่หลาย เช่นเรื่องกำเนิดพระร่วงสุโขทัย ที่เกิดจากการสมสู่ของกษัตริย์กับนางนาค เป็นต้น

 

นี่แหละคือเรื่องของจินตนาการ

 

ศรีศักร วัลลิโภดม : บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๑ ฉ.๓ (ก.ค.-ก.ย. ๒๕๔๘)

อัพเดทล่าสุด 15 ธ.ค. 2560, 15:27 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.