หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ประเพณีพิธีกรรมที่เปลี่ยนไป
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ม.ค. 2533, 10:06 น.
เข้าชมแล้ว 65716 ครั้ง

ภาพจิตรกรรมพระราชพิธีแรกนาขวัญ จากวัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมาราม

 

มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่สงหนึ่งคือ “วัฒนธรรม” ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน แต่วัฒนธรรมของคนแต่ละกลุ่มแต่ละสังคมต่างก็มีรูปแบบและวิถีทางที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่างหลายประการ และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันเป็นต้น

 

ลักษณะอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมมนุษย์ก็คือ การมีประเพณี ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างสืบเนื่อง มีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังรุ่นต่อๆ มาได้ ถ้าหากผู้หนึ่งผู้ใดไม่เห็นด้วยหรือไม่ทำตามก็อาจถือได้ว่ากระทำผิดประเพณีอาจได้รับการติฉินนินทาหรือแม้กระทั่งการถูกลงโทษ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หาได้หมายความว่าบรรดาสิ่งที่เป็นประเพณีทั้งหลายจะต้องยืนยงอยู่คู่ฟ้าดิน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงและหมดสิ้นไป ประเพณีใดจะยืนอยู่ได้นานเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับคนในสังคมที่เห็นและรู้สึกว่ายังมีความหมายสำคัญต่อการอยู่รวมกันเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ ถ้ายังมีอยู่ก็ดำรงอยู่ได้ แต่เมื่อหมดความสำคัญลงเมื่อใดก็อาจเปลี่ยนแปลงหรือสิ้นสุดลงได้ เกิดมีประเพณีที่มีความหมายกว่าขึ้นมาแทนที่

 

ถ้าจะมองกันอย่างเผินๆ ง่ายๆ ในเรื่องวีวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์ในขณะนี้ก็อาจแบ่งสังคมออกได้เป็นสองอย่างคือ

๑. สังคมแบบประเพณี

๒. สังคมสมัยใหม่

 

อย่างแรกได้แก่สังคมโบราณกับสังคมปัจจุบันที่ยังไม่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ในสังคมแบบนี้คนก็ยังยึดมั่นหรือทำอะไรในกรอบของประเพณีอยู่ ไม่ได้มีความคิดในแง่ของเหตุผลหรือหลักการเท่าใด

 

โดยเฉพาะประเพณีในระบบความเชื่อ อันได้แก่พิธีกรรมทางศาสนาและไสยศาสตร์ ยังมีอิทธิพลต่อความมั่นคงทางจิตใจและความเป็นปึกแผ่นทางสังคมอยู่

 

ส่วนอย่างหลังคือสังคมสมัยใหม่ เป็นผลพวงมาแต่สมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมและพัฒนาการของสังคมทางตะวันตก ผู้คนในสังคมแบบนี้มักยึดมั่นในหลักของเหตุผล ความเป็นปัจเจกบุคคลความสำเร็จเฉพาะตัว ไม่ใคร่อยู่ภายใต้อิทธิพลของประเพณีเท่าใด โดยเฉพาะการครอบงำของประเพณีพิธีกรรมในระบบความเชื่อที่มีอยู่อย่างมากมายในสังคมและประเพณีนั้นเกือบไม่มีความหมายในสังคมสมัยใหม่เลย เพราะคนไม่ใคร่เชื่อถืออะไร ในหลายๆ แห่งทีเดียวที่บรรดาประเพณีพิธีกรรมที่มีอยู่นั้นหาได้มีความหมายในเรื่องความมั่นคงทางจิตใจเหมืองเดิมไม่ หากยังมีอยู่เพื่อการสังสรรค์ หรือไม่ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนเห็นอดีตเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมาดูสังคมใหญ่ๆ ในระดับประเทศแล้ว การจะบอกว่าสังคมประเทศนั้นเป็นสังคมแบบประเพณี แต่สังคมประเทศนี้เป็นสังคมสมัยใหม่นั้น ไม่อาจแบ่งให้เห็นได้อย่างเด็ดขาด จะต้องมองจากความเข้มข้นกันว่าประเพณีไหนจะมีความเป็นประเพณีหรือความเป็นสมัยใหม่มากกว่ากัน ถ้าหากมีความเข้มข้นทางประเพณีมากกว่าความเป็นสมัยใหม่ ก็อาจนับได้ว่าสังคมประเทศนั้นยังเป็นสังคมแบบประเพณีอยู่

 

สังคมไทยเป็นสังคมแบบประเพณีที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมสมัยใหม่มากกว่าบรรดาสังคมเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร พม่า ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน

 

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความก้าวหน้าทางการศึกษาแบบตะวันตก การเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมแบบอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว บรรดาประเพณีพิธีกรรมที่เคยมีความหมายความสำคัญต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนในสังคมกำลังหมดความสำคัญจากการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ และความเป็นปึกแผ่นทางสังคมอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน กลับกลายมาเป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อการสนุกสนานบันเทิงของคนทั่วๆ ไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศไป

 

ประเพณีพิธีกรรมที่มีมาในสังคมไทยแต่โบราณนั้น เกี่ยวเนื่องด้วยระบบความเชื่อมากมายหลายอย่าง นับแต่ความเชื่อในเรื่องอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ความเชื่อในทางพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์และอื่นๆ แต่เมื่อประมวลมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นความหมายความสำคัญทั้งในด้านจิตใจและสังคมแล้ว ก็อนุมานได้เป็น ๓ อย่างคือ

๑. ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระจักรพรรดิราช

๒. ประเพณีพิธีกรรที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์

๓. ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษาความเจ็บป่วย

 

ประเพณีพิธีกรรมอย่างแรก ที่เกี่ยวกับพระจักรพรรดิราชนั้นเป็นเรื่องของผู้นำ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์และเจ้านาย ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสังคมแบบประเพณีก็คือการให้ความสำคัญแก่บุคคลที่เป็นผู้นำ เพราะผู้ที่เป็นปัญญาชนที่รอบรู้ในด้านต่างๆ นับแต่การปกครอง การให้ความยุติธรรม ตลอดจนการปกป้องภัยให้แก่คนในสังคมก็คือผู้นำ แต่ผู้นำที่จะได้รับการยอมรับจนเกิดมีบารมีและอำนาจได้ก็ต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ตนยอมรับและยอมกลัว ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางระบบความเชื่อหรือศาสนา

 

ระบบความเชื่อหรือศาสนาที่มีพลังในด้านการสื่อสารและการยอมรับนับถือของผู้คนหลายกลุ่มเหล่า หลายเผ่าพันธุ์ก็คือ “ศาสนาที่มาจากอินเดีย” ได้แก่ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาทั้งสองศาสนามีแนวคิดร่วมกันในเรื่องการเป็นพระจักรพรรดิของพระมหากษัตริย์หรือผู้นำ จนเกิดมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นพระจักรพรรดิราช เพื่อประกาศและส่งเสริมฐานะของพระมหากษัตริย์และผู้นำขึ้น

 

แต่ความแตกต่างในด้านคติและรูปแบบเกี่ยวกับพิธีกรรมทางฮินดูกับพุทธศาสนาก็มีอยู่อันเนื่องมาจากความเชื่อที่แตกต่างกันของศาสนาทั้งสอง ดังเช่นทางฮินดูให้ความสำคัญของกษัตริย์หรือพระจักรพรรดิไปในทำนองที่เป็นภาคหนึ่งของเทพเจ้า ดังเช่นการเป็นเทวราชของกษัตริย์ขอม เป็นต้น

 

ส่วนทางพุทธศาสนาถือว่าพระมหากษัตริย์คือ พระสมมุติราช พระโพธิสัตว์ หรือผู้มีบุญ

 

แต่ในการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเป็นจักรพรรดิราชนั้น ก็มักจะมีอะไรที่คล้ายกันในเรื่อง “สัญลักษณ์” โดยที่ทางฝ่ายพุทธศาสนามักจะยืมระบบสัญลักษณ์ทางฮินดูมาปรับปรุงแก้ไขขึ้น ดังตัวอย่างเช่น พระราชพิธีอินทราภิเษกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นที่ระบุถึงการชักนาค ซึ่งหมายถึงการกวนเกษียรสมุทรในคติทางฮินดู เป็นต้น

 

ภาพการกวนเกษียรสมุทรนี้ปรากฏในทับหลังของปราสาทขอมทั้งในเขตประเทศกัมพูชาและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นพระจักรพรรดิราช เพราะการกวนเกษียรสมุทรจนได้น้ำทิพย์ขึ้นมาให้พระอินทร์และพวกเทวดาได้กินนั้น ทำให้พวกเทพซึ่งมีพระอินทร์เป็นราชาอยู่กลับมีพลังและฤทธิ์อำนาจที่สามารถขับไล่พวกอสูรให้ออกไปจากสวรรค์ได้ เท่ากับเป็นการอภิเษกพระอินทร์ขึ้นเป็นพระราชาแห่งเทพ ณ ยอดเขาพระสุเมรุมาศอีกวาระหนึ่ง

 

นอกจากภาพสัญลักษณ์เรื่องกวนเกษียรสมุทรแล้ว การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องที่แสดงให้เห็นของการเป็นจักรพรรดิของโลกของพระพุทธเจ้า ก็นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่มีการสร้างกันมาแต่สมัยโบราณ นับแต่สมัยลพบุรีที่มีการนับถือศาสนาฝ่านมหายานเข้ามาปะปนด้วย เกิดประเพณีการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้สืบต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ทีเดียว

 

การสร้างพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังก็นับได้ว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันกับประเพณีพิธีกรรมที่เนื่องด้วยพระจักรพรรดิราช เพราะพระมหาปราสาทนั้นไม่ว่าจะเป็นจตุรมุขหรืออาคารยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยาวและมุขสั้นนั้น อันเป็นที่สถิตของพระอินทร์ทั้งสิ้น พระมหาปราสาทดังกล่าวนี้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ของบ้านเมือง โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและอื่นๆ ที่แสดงความเป็นจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์

 

ประเพณีพิธีกรรมอย่างที่สอง เป็นเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมนี้อาจกล่าวได้ว่าพบในกลุ่มมนุษย์แทบทุกแห่งทั่วไปมาแต่ดึกดำบรรพ์ ครั้งมนุษย์ยังร่อนเร่หาอาหารด้วยการล่าสัตว์และเก็บผลหมากรากไม้อยู่ทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการมีอาหารการกิน นักปราชญ์นักวิชาการเป็นจำนวนมากให้ความเห็นว่า บรรดาภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบตามเพิงผาหน้าถ้ำและในที่ต่างๆ นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับประเพณีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ้น

 

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วยนั้น พิธีการสำคัญที่เกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์คือพิธีขอฝน ทั้งนี้ก็เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้เป็นสังคมเกษตรกรรม ความต้องการคือฝนที่จะต้องตกตามฤดูกาลเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง การที่ฝนจะตกหรือไม่ตกนั้นเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถของมนุษย์จะควบคุมหรือบังคับได้ ดังนั้นจึงต้องสยบต่อสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่มีอำนาจบันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขอฝนจึงนับว่ามีลักษณะโดดเด่นเป็นอย่างมากมีการประกอบพิธีในหลายๆ รูปแบบ ทั้งในระดับรัฐและปัจเจกบุคคลทีเดียว

 

ในสังคมไทยแต่โบราณ ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการขอฝนนี้มีทั้งพิธีที่เป็นพราหมณ์ พุทธ และการถือผี มีทั้งที่เป็นพิธีกรรมในตัวเอง เช่น การจุดบั้งไฟ กับสิ่งละอันพันละน้อยแทรกอยู่ในพิธีกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในทางพุทธศาสนานั้น ถึงขนาดมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นสำหรับประกอบพิธีบูชาหรือแห่เพื่อขอฝนกันทีเดียว

 

ประเพณีพิธีกรรมอย่างที่สาม ที่เกี่ยวกับการรักษาความเจ็บป่วยนั้น มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพราหมณ์ พุทธ และการถือผี เป็นพิธีกรรมที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลา ไม่ว่าในสังคมเมืองที่มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และในสังคมชนบทที่ยังมีความล้าหลังในเรื่องการรักษาพยาบาลแผนปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นวิกฤตในชีวิตของคนเรา

 

แต่ทว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้ก็เป็นเรื่องในระดับครอบครัวและปัจเจกบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยปรากฏเป็นพิธีกรรมใหญ่โตทางบ้านเมืองหรือของรัฐเท่าใดนานๆ จะพบสักครั้ง ดังเช่นการสวดพระปริตเพื่อขับไล่โรคห่า หรืออหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพมหานครครั้งรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

 

 พระราชพิธีจรดพระนังคัแรกนาขวัญ ในรัชกาลปัจจุบัน 

 

ทั้งพิธีพราหมณ์และพุทธที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็มักเป็นเรื่องการใช้เวทมนต์คาถา ตลอดจนการพรมน้ำมนต์หรืออาบน้ำมนต์ไล่ผีรักษา ใช้อะไรต่างๆ นานา แต่พิธีกรรที่เกี่ยวกับการนับถือผีแล้วขอร้องให้ผีช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่ชาวบ้านชาวเมืองนั้น ยังคงมีความสำคัญอยู่มากในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นชนบท เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน อย่างเช่นการรำผีฟ้าที่ทำกันเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บเป็นตัวอย่าง ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการรักษาพยาบาลตามแบบแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเชื่อในเรื่องสาเหตุของความเจ็บไข้ของคนได้ ในความคิดของชาวบ้านนั้นอย่างน้อยเชื่อว่าสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บมี ๒ อย่างคือ

 

อย่างแรก เป็นเรื่องของธรรมชาติภายในร่างกายมนุษย์เอง เมื่อเกิดมีสุขภาพไม่ดีก็มีโรคเกิดขึ้น เป็นโรคที่ชาวบ้านทั่วไปยอมรับว่าต้องรักษาด้วยหมอด้วยยาตามวิธีการทางแพทย์ทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบัน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านเองก็ไม่อะไรขัดข้องในเรื่องการแพทย์แผนใหม่

 

แต่สาเหตุของการเจ็บไข้อย่างที่สองนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติ แต่มาจากสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ เช่น การกระทำของพวกผี เป็นโรคที่จะอาศัยแพทย์ปัจจุบันหรือหมอยารักษาไม่หายต้องขอให้ผี (ดี) ช่วยแก่ไข จึงต้องไปหาหมอผีหรือครูที่ทำหน้าที่ติดต่อกับผีฟ้าให้ช่วยรักษาให้ โดยมีพิธีกรรมที่เป็นขั้นตอน นับแต่การเข้าไปพบครูผีฟ้าเพื่อขอให้รักษา มีการเข้าทรงถามผีว่าจะรักษาให้ได้หรือไม่ เมื่อรับรักษาให้ก็จะมีการนัดแนะเวลาประกอบพิธี โดยที่ครูผีฟ้าจะพาหมอแคนมาพบกับคนไข้ แล้วเซิ้งอัญเชิญผีให้มาเข้าทั้งครูและคนไข้ ร้องรำไปกับเสียงแคนที่หมอแคนเป่าอยู่ คาบหนึ่งก็เสร็จพิธี แล้วกำหนดประกอบพิธีกันอีก อาจจะสองสามครั้งจนความเจ็บไข้นั้นหายไป

 

เมื่อหายแล้วคนไข้ต้องเป็นสมาชิกของผีฟ้า มีผีคุ้มครองถึงเดือนสามของปีจะต้องมาชุมนุมเลี้ยงผีที่บ้านของครูผู้รักษา ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาที่ว่านี้ยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่นในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอีกหลายๆ ท้องถิ่นในภาคต่างๆ ของประเทศไทย

 

ในบรรดาพิธีกรรมทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ อย่างแรกกับอย่างที่สอง คือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพระจักรพรรดิราชและความอุดมสมบูรณ์นั้น มีลักษณะที่เป็นประเพณีสำหรับบ้านเมืองหรือสังคมใหญ่ที่มีการกำหนดเวลาและฤดูกาลในรอบปีอย่างแน่นอน อีกทั้งมักเป็นประเพณีพิธีกรรมที่มีองค์ประกอบซับซ้อน นั่นก็คือมีทั้งสาระที่เกี่ยวข้องกับความศักดิ์สิทธิ์และความบันเทิงทางโลกไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

ความโดดเด่นของประเพณีพิธีกรรมทั้งสองอย่างนี้แลเห็นได้จากพระราชพิธีสิบสองเดือน มีกล่าวไว้ในกฎหมายตราสามดวงที่เชื่อกันว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เพราะมีวรรณคดีเรื่องทวาทศมาศเป็นหลักฐานสนับสนุนอยู่ พระราชพิธีสิบสองเดือนในกฎหมายตราสามดวงมีดังนี้

 

เดือน ๕   การพระราชพิธีผด็จศกลดแจตรออกสนาม

เดือน ๖   พิธีไพศากขยจรดพระราชอังคัล

เดือน ๗   ทูลน้ำล้างพระบาท

เดือน ๘   เข้าพระวษา

เดือน ๙   ตุลาภาร

เดือน ๑๐ พัทรบทพิธีสารท

เดือน ๑๑ อาสยุชแข่งเรือ

เดือน ๑๒ พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม

เดือน ๑   ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียำปราย

เดือน ๒   การพิธีบุตยาภิเศกเฉวียรพระโคกินเลี้ยง

เดือน ๓   พิธีธานยะเทวะห

เดือน ๔   การสัมพรรษอิน

 

พระราชพิธีสิบสองเดือนครั้งกรุงศรีอยุธยา (ตอนต้น) ที่กล่าวมานี้ เน้นความศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นจักรพรรดิราชที่สัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุขสำราญของราชอาณาจักรเป็นสำคัญ

 

ดังเช่นพระราชพิธีเดือน ๑๑ อาสยุชแข่งเรือนั้น ก็เป็นการเสี่ยงทายโดยพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีทรงประทับบนเรือสมรรถไชยกับเรือสรมุกขซึ่งเป็นเรือเสี่ยงทายแล้วแข่งกัน ถ้าสมรรถไชยแพ้ก็หมายถึงบ้านเมืองจะมีข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะบ้านเมืองก็จะมีทุกข์

 

ในเดือน ๑๒ มีพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำ เป็นพิธีพราหมณ์เหมือนกัน เป็นพระราชพิธีเกี่ยวกับการสั่งน้ำที่ขึ้นสูงถึงขีดสุดแล้วควรจะลดลงตามฤดูกาล พระมหากษัตริย์และฝ่ายในเสด็จลงลอยเรือพระที่นั่ง มีการเล่นหนังระบำ การเลี้ยงลูกขุนและฝ่ายใน มีการลอยเรือพระที่นั่งล่องไปส่งน้ำจนถึงวัดพุทไธสวรรค์แล้วจุดดอกไม่ไฟเล่นหนัง เพื่อที่ต้นข้าวและพืชพันธุ์อื่นๆ จะไม่ต้องอยู่ในน้ำจนเน่าตาย

 

ในขณะเดียวกัน การเสด็จลอยเรือของพระมหากษัตริย์ การเล่นหนังระบำ และการจุดดอกไม้ไฟก็นับเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่ผู้คนพลเมืองอยากเห็นอยากดูด้วยเช่นเดียวกัน

 

พอถึงเดือน ๑ ก็มีพระราชพิธีไล่เรือ เพราะในภูมิประเทศเช่นพระนครศรีอยุธยานั้นเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมทุ่งนาอยู่นาน พอถึงเดือน ๑ น้ำควรจะลดลงแล้ว บางปีที่น้ำมากก็อาจลดไม่ทันทำความเสียหายแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารของประชาชน การมีพระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำจึงมีความหมายในด้านกำลังขวัญของประชาชน ในการนี้พระมหากษัตริย์ พระมเหสี และฝ่ายในจะเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปตามลำแม่น้ำและทรงโบกพระพัชนีเพื่อไล่น้ำให้ลดลง

 

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเพณีพิธีกรรมครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นล้วนเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปริบททางสังคม เวลา และสถานที่อย่างชัดเจน เพราะในสมัยหลังลงมาเช่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์บรรดาประเพณีพิธีกรรมที่เคยมีตามฤดูกาลต่างๆ ในรอบปีหลายอย่างทีเดียวได้หมดไป หรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อย่างเช่นพระราชพิธีไล่เรือก็ไม่มีอีกแล้ว ส่วนพระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำที่เคยทำกันเพื่อส่งน้ำ ก็เปลี่ยนมาเป็นพระราชพิธีลอยกระทงเดือนสิบสองไป หาได้เป็นพระราชพิธีเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ในการส่งน้ำให้ลดตามกำหนดเวลาไม่ หากเป็นประเพณีที่เน้นความสุขความรื่นเริงแทน โดยหันมาเน้นทางโลกมากกว่าแต่เดิมไป ซึ่งเมื่อสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันก็ยิ่งมีการปรุงแต่งให้โอ่อ่าและใหญ่โตไปตามจังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งราชอาณาจักร อาจกล่าวได้ว่าขณะนี้กลายเป็นประเพณีการละเล่นเพื่อการท่องเที่ยวกันในระดับชาติไปก็ว่าได้

 

ประเพณีพิธีกรรมที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเป็นที่เกี่ยวกับการเป็นจักรพรรดิราชก็ดี หรือเรื่องความอุดมสมบูรณ์ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นสิ่งที่เคยมีบทบาทและความหมายต่อความมั่นคงและความสงบสุขในทางจิตใจและสังคมของบ้านเมืองเป็นอย่างมาก เมื่อมาถึงเวลานี้ที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป  หลายๆ ประเพณีพิธีกรรมก็ได้หมดความสำคัญไป แม้ว่าบางประเพณีจะดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลงความสำคัญไปแล้วก็ตาม ก็ควรที่จะต้องยอมรับถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

แต่ในปัจจุบันนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับฟื้นฟูปรุงแต่งประเพณีพิธีกรรมในอดีตขึ้นมาใหม่หลายอย่าง เพื่อแสดงความเก่าแก่มีอารยธรรมของชาติบ้านเมือง จะว่าเป็นการฟื้นฟูในลักษณะที่มีความรู้สึกในเรื่องท้องถิ่นนิยมหรือชาตินิยมก็ไม่ได้เพราะว่าการฟื้นฟูในลักษณะนั้นเท่าที่เขาทำกันในประเทศอื่นๆ มักมีความมุ่งหมายและการให้ความหมายที่รัดกุม และมักเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพทางสังคมและวัฒนธรรมในขณะนั้นของเขาเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่การฟื้นฟูและปรุงแต่งในเมืองไทยนั้นมีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจคือเพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยกรณีนี้การฟื้นฟูจึงเป็นสิ่งผิวเผิน ไม่ให้ความสนใจในความหมายความสำคัญที่เคยมีของประเพณีพิธีกรรมเหล่านั้นเท่าที่ควร แต่กลายเป็นว่าจะทำอะไรก็ได้ให้ดูเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่บรรดานักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้การเกิดผลกระทบทางวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการกระทบสถาบันที่ยังมีความหมายสำคัญต่อความมั่นคงทางจิตใจและทางสังคมของคนทั้งชาติในส่วนรวมดังเช่นประเพณีพิธีกรรมบางอย่างที่พระมหากษัตริย์และเจ้านายต้องเสด็จไปประกอบพิธี แต่ในการเฝ้าแหนของผู้คนทั่วไปที่ไปร่วมในพิธีนั้น ถึงกับมีการจัดสถานที่ตั้งแสตนด์ไว้ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเสียเงินเข้าไปนั่งดูหรือยืนถ่ายรูปกันเลยทีเดียว

 

ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่เป็นคนต่างวัฒนธรรมเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คงไม่สนใจอะไรหนักหนา แต่การจัดสถานที่และเปิดโอกาสให้เข้ามาดูมาถ่ายรูปเช่นนี้ มีส่วนสำคัญทำให้คนในบ้านเมืองมีทั้งเห็นด้วยกับความรู้สึกของชาวต่างชาติในแง่ของการเปลี่ยนแปลงจากความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งแปลกๆ ธรรมดากับเกิดความรู้สึกขัดเคืองหมั่นไส้พวกชาวต่างชาติเข้ามายุ่งกับประเพณีพิธีกรรมของตนจนเกินไป

 

อันที่จริงการที่จะให้ได้รายได้จากการท่องเที่ยวดังที่ว่านี้ ก็ไม่เห็นความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องจัดให้มีการประกอบพิธีกรรมกันจริงๆ โดยมีคนสำคัญมาเป็นประธาน หากเพียงจัดให้เป็นการแสดงเพื่อความรู้ความเข้าใจก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการจัดแสดงเช่นนี้เป็นเพียงเรื่องสมมุติเพื่อให้รู้ว่าในอดีตเขาทำอะไรกันบ้าง ปัจจุบันหลายประเทศก็มีการจัดแสดงให้ชาวต่างชาติและพวกนักท่องเที่ยวได้ชมได้รู้กัน

 

ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวยโสธร ที่เปลี่ยนไปกลายเป็นประเพณีประดิษฐ์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน

 

ในขณะนี้สถาบันที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการจัดการท่องเที่ยวเห็นจะได้แก่สถาบันทางศาสนา เพราะบรรดาประเพณีพิธีกรรมต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพุทธศาสนาไม่มากก็น้อยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งการประกอบพิธีกรรมมักทำกันที่วัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางทางสังคมของชุมชน มีพื้นที่ว่างเป็นของชุมชนให้ใช้เป็นสถานที่ได้

 

ยิ่งกว่านั้นบรรดาพิธีกรรมที่เป็นของชุมชนนั้นมักมีการละเล่นและการรื่นเริงระคนปนอยู่ด้วยเสมอ เท่ากับว่าในการประกอบพิธีกรรมนั้นมีทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนเชื่อถือ และการสนุกสนานหย่อนใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องการสนุกการบันเทิงนั้นมีความหมายเป็นอย่างมากสำหรับคนในชนบทสมัยก่อน เพราะการที่จะมีโอกาสได้ดูการละเล่น การแสดงหรือการสนุกสนานบันเทิงนั้นไม่อาจมีเมื่อใดก็ได้อย่างคนในเมือง ต้องอาศัยฤดูกาลที่มีงานประเพณีพิธีกรรมที่กำหนดไว้ในช่วงเวลาต่างๆ ของปี

 

ดังนั้นฤดูเทศกาลที่มีการทำพิธีกรรมอันระคนไปด้วยการละเล่นบันเทิง จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอย คนที่ออกจากชุมชนไปทำงานที่อื่น เช่นในเมืองหรือจังหวัดอื่นๆ ก็รอคอยเพื่อที่จะได้กลับมาเยือนบ้าน ทำบุญพบพี่น้องเพื่อนฝูงและมีการสนุกสนานร่วมกัน แต่การปรุงแต่งหรือฟื้นฟูประเพณีเพื่อรอรับการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของความเพลิดเพลินทางโลกมากกว่าที่จะรักษาดุลยภาพของการทำบุญ และความเลื่อมใสในพระศาสนาให้ได้สัดส่วนกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และการหย่อนใจของผู้คนในชุมชน

 

ประเพณีพิธีกรรมในปัจจุบันจึงมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องมือให้คนมาพบปะกัน สนุกสนานกันเป็นสำคัญ โดยย่อก็คือความเชื่อและความศักดิ์สิทธ์ที่มีผลต่อความมั่นคงทางจิตใจได้หมดความหมายลง เหลือแต่ความสำคัญทางสังคมที่ให้คนได้มาสังสรรค์กันเท่านั้น แต่เมื่อมีความมุ่งหมายเพื่อการท่องเที่ยวเข้ามาผสม การค้าการพาณิชย์ก็เกิดขึ้นตามมาเป็นเงาตามตัว

 

ทุกวันนี้ แทบทุกหนทุกแห่งบรรดาประเพณีพิธีกรรมที่เนื่องด้วยพระจักรพรรดิก็ดี และความอุดมสมบูรณ์ก็ดี ที่นับได้ว่าเคยมีบทบาทและความหมายต่อการดำรงอยู่ของสังคมไทยมาแล้วในอดีต กำลังได้รับการฟื้นฟูและปรุงแต่งขึ้นมาใหม่อย่างอึกทึกครึกโครม เพื่อการท่องเที่ยวพาณิชย์ที่ริเริ่มทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลและองค์กรเอกชน อย่างเช่นประเพณีจุดบั้งไฟและประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นตัวอย่าง มีการโฆษณากันในหน้าหนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ วิทยุ และอื่นๆ

 

ดูแล้วเป็นที่น่าปริวิตกว่าสังคมไทยเราไม่มีอะไรจะหากินแล้วหรือ จึงหันมาขุดคุ้ยทำลายสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบ้านเมืองเพื่อการพาณิชย์กันได้ถึงขนาดนี้ ?

 

บทบรรณาธิการ : วารสารเมืองโบราณปีที่ ๑๖ ฉ. ๑ (มกราคม – มีนาคม  ๒๕๓๓)

อัพเดทล่าสุด 6 มี.ค. 2561, 10:06 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.