หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
โรงเจกับชาวไทยเชื้อสายจีนที่สามย่าน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
บทความโดย จิราพร แซ่เตียว
เรียบเรียงเมื่อ 27 ก.ย. 2561, 09:19 น.
เข้าชมแล้ว 9859 ครั้ง

ภาพเก่าโรงเจ

 

เนื่องจากคำชักชวนของท่านผู้ใหญ่หนึ่งในคณะกรรมการโรงเจสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ (พ่งไล้ซำเซียวเกาะ) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ว่า “ถ้าอยากจะรู้เรื่องคนไทยเชื้อสายจีนที่สามย่าน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในเมืองแกลง สัมภาษณ์อย่างเดียวคงไม่รู้อะไร ต้องมาร่วมงานโรงเจซึ่งมีกิจกรรมทั้งปี สำหรับในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะมีงานวันวิสาขบูชา และวันคล้ายวันประสูติองค์ฮุดโจ้ว จัดตั้งแต่วันที่ ๒๗-๓๐ พฤษภาคม หรือปลายปีก็จะมีงานกินเจซึ่งเป็นงานใหญ่ จะได้รู้ว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่สามย่านเค้านับถืออะไร มีพิธีอะไรกันบ้าง” แล้วจึงค้นหาปฏิทินที่จัดทำขึ้นโดยโรงเจเพื่อแจกจ่ายให้ร้านค้าและสานุศิษย์ได้ทราบกิจกรรมในรอบปีของโรงเจส่งให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจคนจีนสามย่านผ่านประเพณีพิธีกรรมของคนในวัฒนธรรมครั้งนี้

 

เทพเจ้า พระพุทธเจ้า วัฒนธรรมความเชื่อที่หลอมรวมความเป็นจีน

วัฒนธรรมจีนหยั่งรากลึกมาหลายพันปีจากการหลอมรวมคติ ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมจากหลากหลายแหล่งที่มา ทั้งความ เชื่อในอำนาจนอกเหนือธรรมชาติตั้งแต่สังคมยุคบุพกาลดังปรากฏในตำนานเทพเจ้าผู้สร้างโลก ลัทธิเต๋า ลัทธิหรู (ขงจื๊อ) ดังปรากฏ ชื่อเทพเจ้าผู้เป็นเซียนบุคคลต่างๆ และที่สำคัญพระโพธิสัตว์ และพระพุทธเจ้าตามคติพุทธมหายาน ดังปรากฏรายนามพระโพธิสัตว์ นับไม่ถ้วน รวมถึงพระพุทธเจ้าหลากหลายพระองค์ สร้างความสับสนแก่ผู้ไม่คุ้นชิน ศาลเจ้า โรงเจ หรือวัดจีนต่างๆ จึงต้องระบุชื่อเทพเจ้า และกำกับลำดับการไหว้ก่อนหลัง เพื่อการจัดระเบียบและสร้างความมั่นใจสบายใจให้กับผู้มาไหว้ขอพรจากเทพเจ้าว่าจะไหว้ดีพลีถูก ได้ผลตอบแทนสมใจปรารถนา

 

เพื่อทำความรู้จักกับเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนเพิ่ม เติม นวรัตน์ ภักดีคำเสนอการจัดแบ่งเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์จีนตาม ประวัติที่มา ดังนี้

 

หนึ่ง เทพในปกรณัมนิทานโบราณของจีน คือ เทพเจ้าในตำนานการสร้างโลกของจีน และตำนานเกี่ยวกับบรรพกษัตริย์ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้า เช่น ผานกู่ หนี่ว์วา เฉินหนง และหวางตี้ ฯลฯ สอง เทพในลัทธิเต๋าและลัทธิหรู มีเทพเจ้าสำคัญๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ เง็กเซียนฮ่องเต้ และโป๊ยเซียนหรือแปดเซียน ประกอบ ด้วย ทิก๋วยลี้ ฮั่นเจงหลี และลื่อท่งปิน เป็นต้น สาม พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ และเทพรักษาพระพุทธศาสนามหายานแบบจีน เช่น พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า เจ้าแม่กวนอิม หรือพระศรีอาริยเมตไตรย (พระสังกัจจายน์จีน) ฯลฯ สี่เทพที่เดิมเป็นบุคคลธรรมดา แต่เป็นวีรบุรุษหรือเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จีน ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นที่ยกย่องมากสมัยยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายแล้วชาวจีนจึงยกย่องให้เป็นเทพเจ้า เช่น เทพเจ้ากวนอู หมอฮัวโต๋ เทพเจ้างักฮุย และเทพเจ้าหมาจู่ (เจ้าแม่ทับทิม) ฯลฯ ห้าเทพในวรรณกรรมจีน เป็นตัวละครที่ต่อมาได้รับการยกย่องนับถือเป็นเทพเจ้า เช่น เทพเจ้าเห้งเจียจากวรรณกรรมเรื่องไซอิ๋ว และเทพนาจา จากวรรณกรรมจีนเรื่องห้องสิน ฯลฯ (นวรัตน์ ภักดีคำ. เทพเจ้าและ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จีน. สำนักพิมพ์อมรินทร์: กรุงเทพฯ. ๒๕๕๓, หน้า ๒-๓)

 

ในโรงเจต่างๆ จะเห็นการผสมผสานเทพเจ้าเหล่านี้ คือมี ทั้งเซียน เทพเจ้า พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า ที่เป็นรูปเคารพ ภาพ จิตรกรรมฝาผนังตำนานเรื่องราวคติสอนใจเช่นเดียวกับวัดพุทธในนิกายเถรวาทหรือศาสนสถานในศาสนาอื่นๆ

 

สำหรับ “องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้ว” หรือ “องค์ซักบ่อเซียน” ที่ชาวเมืองแกลงนับถือและจัดงานวันคล้ายวันเกิดพร้อมๆ กับงานวัน วิสาขบูชาในแต่ละปีนั้น เป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนนับถือในเรื่องฮวงจุ้ย ฤกษ์ ยามมงคล โหราศาสตร์ แม้คณะศิษย์ที่เรียกว่า “กีเซ็ง” ผู้ช่วยองค์ฮุดโจ้วของโรงเจแห่งนี้ออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ก็ได้เข้ามาช่วยงานโรงเจหลายสิบปี และยินดีที่จะเล่าให้บรรดาคนรุ่นหลังฟังว่า “องค์ฮุดโจ้วนี้ เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งใน “โป๊ย จุง เซีย ฮุค” ตามตัวหนังสือ โป๊ย ก็คือแปด จุง ก็แปลว่าองค์ เซีย ก็อัจฉริยะ ฮุค คือ พระพุทธเจ้ารวมแล้วคือพระพุทธเจ้าแปดพระองค์ เป็นความเชื่อความศรัทธาในศาสนาพุทธที่คนอำเภอแกลงนับถือสืบทอดกันมา” จากข้อมูลต่างๆ เข้าใจได้ว่า องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้วนี้น่าจะเป็นเทพเจ้าที่เป็นวีรบุรุษซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าจากคำว่าเซียนหรือเสิน ในภาษาจีนกลาง เมื่อผนวกกับอิทธิพลของศาสนาพุทธแบบมหายานที่เสริมเข้ามาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นฮุดโจ้วเทพเจ้าหรือพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมา

 

จากงานกินเจ สู่สมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ (พ่งไล้ซำเซียวเกาะ)

หากจะกล่าวถึงที่มาของโรงเจ หรือสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ (พ่งไล้ซำเซียวเกาะ) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง คงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เมื่อกลุ่มชาวจีนที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ริเริ่มจัดพิธีกรรมกินเจขึ้นที่ตลาดสามย่าน ตำบลทาง เกวียน โดยขณะนั้นยังไม่มีโรงเจสำหรับประกอบพิธีต้องอาศัยสถานที่ คือร้านจิบเซ้งโอสถซึ่งอยู่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอแกลงเก่า เมื่อในแต่ละปีมีคนมาร่วมงานกินเจมากขึ้นเรื่อยๆ คณะกรรมการและผู้มีจิตศรัทธาที่มาร่วมงานจึงได้ร่วมกันรวบรวมทุนทรัพย์จัดซื้อที่ดินแห่งใหม่ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีการกินเจและเป็นศาสนสถานบริเวณข้างตลาดเก่า ตรงข้ามร้านสมชัยพานิชปัจจุบัน โดยตั้งชื่อว่า “ฮะเฮงตั๊ว” และใช้สถานที่นี้ประกอบพิธีกินเจแทนพื้นที่ร้านจิบเซ้งโอสถซึ่งจัดกันมาแต่เดิมคำว่า “ฮะเฮงตั๊ว” มีผู้รู้ภาษาจีนช่วยกรุณาแปลความหมายให้ว่าหมายถึง ศาลเจ้าที่รวมเทพเจ้าหลายๆ องค์เอาไว้ด้วยกัน และนอกจากเป็นศาลเจ้าที่ผันตัวมาใช้เป็นโรงเจแล้ว “ฮะเฮงตั๊ว” แห่งนี้ยังเคยเป็นพื้นที่ของโรงเรียนจีนในสามย่านอยู่ช่วงหนึ่ง

 

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ บรรดาพ่อค้าประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนในเขตพื้นที่อำเภอแกลงได้ร่วมกันจัดงานล้างป่าช้าขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเชิญคณะกรรมการสมาคมอนุศาสตร์สงเคราะห์ (เสี่ยวพ่งไล้เซ็งฮง ตั้ง) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี มาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการจัดงาน และมีองค์ฮ้อเอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้วเป็นองค์พิธีกร ศาสนกิจพิธีต่างๆ ซึ่งได้เป็นผู้แนะนำให้ชาวอำเภอแกลงจัดตั้งเป็นสมาคม พร้อมทั้งให้ชื่อว่า “พ่งไล้ซำเซียวเกาะ” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “สมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์

 

จากข้อบอกกล่าวหรือที่สานุศิษย์ผู้ศรัทธาเรียกว่า “คำบัญชา จากองค์เทพเจ้าฮ้อเอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้ว” ที่ว่า ‘ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายจงตั้ง มั่นในสัจธรรม ต้องไม่ลืมบุญคุณของผู้ให้ และขอให้จัดตั้งพ่งไล้ซเซียวเกาะ หรือสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ และต่อไปจะต้องสร้างศาสนสถานฮะเฮงตั๊วเพื่อเป็นการรำลึกตลอดไป’ (ประวัติความเป็นมา การก่อตั้งสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์และฮะเฮงตั๊ว อำเภอแกลง จังหวัดระยอง. ไม่ระบุปีที่พิมพ์)

 

นำมาสู่การจัดหาสถานที่ จัดหาคณะกรรมการ และจัดตั้ง พ่งไล้ซำเซียวเกาะ หรือสมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งต่อมาได้จด ทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมต่อทางราชการในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ และจัดหาจัดซื้อที่ดินแห่งใหม่ เนื้อที่ประมาณ ๖ไร่เศษ ติดถนนสุขุมวิท ตำบลทางเกวียน เพื่อเป็นสถานที่ตั้งโรงเจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งพิธีกรรมทางศาสนาความเชื่อ และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน

 

คุณสมเดช เซียวสกุล หัวหน้าฝ่ายฌาปนกิจ คุณอุระพงศ์ พูนสวัสดิพงศ์ หัวหน้าหน่วยกู้ภัย และคุณภูวนาถ บุเงิน ฝ่ายภาพและการสื่อสารของโรงเจช่วยกันเล่าเสริมว่า “บรรยากาศของคนจีนในสามย่าน ส่วนมากจะมารวมตัวในวันที่มีกิจกรรมที่โรงเจซึ่งมีหลายวัน เมื่อก่อนใช้สถานที่โรงเรียนจีนเก่า อยู่ใกล้ตลาดเย็นที่กล่าวว่าองค์ฮุดโจ้วท่านบัญชานั้น คือมีการอัญเชิญท่านมาดูตรวจที่ตอนกลางคืน แต่ก่อนบริเวณนี้เป็นป่ายางมีคนสองคนถือไม้หลิวคล้ายไม้ง่าม เขียนเป็นตัวหนังสือเมื่อประมาณกว่า ๖๐ ปีก่อน ไม่มีถนน ท่านรู้ได้อย่างไรว่าจะเจริญเหมือนทุกวันนี้ ท่านเป็นคนออกแบบดูสถานที่ จะมีคนอ่าน คนจดบันทึกจากสิ่งที่องค์ฮุดโจ้วเขียนออกมา

 

ตอนย้ายและทำการเปิดศาลมีพระเกจิดังในพื้นที่มาสวดทำพิธี และทำเหรียญรุ่นแรกออกมา ๑ รุ่น จากนั้นมาก็มีกิจกรรมต่างๆ มาเรื่อยๆ งานกินเจจะจัดทุกปี งานล้างป่าช้าจะทำ๑๐ ปีต่อหนึ่งครั้ง เทศกาลอัญเชิญสัมพเวสีจัด ๕ ปีต่อหนึ่งครั้ง การจัดพิธีการแต่ละ ครั้งใช้เงินเยอะ แต่ทางสมาคมก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ใจบุญร่วมกันบริจาค สมาคมพุทธศาสตร์สงเคราะห์มีการร่วมมือกันเป็นเครือ ข่าย มีลำดับสมาคม ในกรณีของที่แกลงแห่งนี้เป็นลำดับที่ ๓ ลำดับที่ ๑ อยู่ที่อำเภอพานทอง ชลบุรี ซึ่งก็คือ สมาคมอนุศาสตร์สงเคราะห์ (เสี่ยวพ่งไล้เซ็งฮงตั้ง) อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่อัญเชิญองค์ฮ้อ เอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้ว มาช่วยเหลือคราวงานล้างป่าช้า ลำดับที่ ๒ อยู่ที่อำเภอขลุง จันทบุรี อันนี้เรียกว่าอยู่ในเครือ “พ้ง” ที่นับถือ “องค์ฮ้อเอี้ยฮุ้น เซี๊ยโจ้ว” ด้วยกัน และยังมีสมาคมในเครือลำดับอื่นๆ กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เหตุที่ต้องย้ายจากโรงเรียนจีนมาจัดหาและสร้างในพื้นที่แห่งใหม่ ริมถนนสุขุมวิทเพราะพื้นที่เดิมคับแคบไม่เพียงพอต่อการจัดกิจกรรม ต่างๆ ของพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงาน”

 

งานวันวิสาขบูชาและวันคล้ายวันประสูติองค์ฮุดโจ้ว

กิจกรรมวันวิสาขบูชาและวันคล้ายวันประสูติองค์เทพเจ้าฮ้อ เอี้ยฮุ้นเซี๊ยโจ้ว (องค์ฮุดโจ้ว) จัดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นการ จัดฉลองวันเกิดให้องค์เทพเจ้า มีมหรสพ คือ งิ้วและหนังกลางแปลงถวายตลอดทั้ง ๔วัน และกำหนดการแต่ละวันประกอบด้วย

 

วันที่หนึ่งเป็นการอัญเชิญกระถางธูป “ปึงเถ้ากง” ทุกศาลเจ้า ในเขตอำเภอแกลงขึ้นประดิษฐาน ณ แท่นบูชาในโรงเจ จะมีสานุศิษย์ ที่ได้รับมอบหมายไปดำเนินการจากที่สำรวจดูประกอบไปด้วย “ปึงเถ้ากง” จากศาลเจ้าพ่อท่าปอ หนองน้ำขุ่น แหลมท่าตะเคียน วังปลา ประแส พังราด เขาดิน หนองกันเกรา ทางเกวียน สามย่าน หนอง แตงโม สองสลึง บ้านกร่ำเนินดินแดง วังหว้า ทะเลน้อย วังหิน นา ยายอาม แป๊ะกงชุมแสง หนองจั่น ฮกเต๊ก และต้นไทร

 

พิธีถวายเครื่องทรงองค์ฮุดโจ้ว

 

การเชิญเช่นนี้ประหนึ่งการเชิญเจ้าพ่อทุกองค์มาร่วมงานร่วมชมมหรสพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเครือข่ายความร่วมมือของผู้คนในเขตอำเภอแกลงในปัจจุบัน

 

วันที่สองเปิดให้ชาวบ้านชาวเมืองทุกคนเข้าร่วมไหว้องค์ฮุด โจ้ว ปึงเถ้ากง และเทพเจ้าทุกพระองค์

 

วันที่สามเป็นวันประกอบพิธีบูชาและถวายพระพร หรือที่เรียกว่า “เค็งจก” เนื่องในวันคล้ายวันประสูติขององค์ฮุดโจ้ว และร่วมรับประทานอาหารเจในตอนเที่ยงวันนี้ยังเป็นวันที่ตรงกับวันวิสาขบูชา ซึ่งถือว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระศากยมุนีพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน วันที่สี่มีกิจกรรมตลอดวัน ในช่วงเช้าเป็นพิธีบูชาปึงเถ้ากง ช่วงบ่ายเป็นการไหว้กลางแจ้ง ไหว้เหล่าสัมพเวสี หรือผีไม่มีญาติ ที่เรียกว่า “โพวโต้ว” จะมีผู้คนเอาของมาไหว้และบริจาค ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ต่างๆ และมีผู้มารับบริจาค ซึ่งมีทั้งการโปรยทาน การไหว้เหล่าสัมพเวสี ไหว้วิญญาณผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งไม่ได้ไหว้แต่ในวาระวันคล้ายวันเกิดเทพเจ้าเช่นนี้เท่านั้น ยังมีในวาระอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการกินเจราวเดือนตุลาคมจะมีผู้เข้าร่วมพิธีมากกว่าครั้งนี้

 

ช่วงดึก ราวสามทุ่มจะเป็นพิธีการ “คุยกี” คำนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว หรือถ้าเปรียบกับไทยก็คือการที่องค์ฮุดโจ้วลงประทับทรง สานุศิษย์ที่มีเรื่องถาม ขอให้องค์ฮุดโจ้วตอบข้อสงสัยหรือช่วยเหลือจะมาติดต่อแจ้งชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด แจ้งเรื่องที่ต้องการถามหรือ ขอให้องค์ฮุดโจ้วช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการถามหรือการขอพร ในเรื่องของสุขภาพความเจ็บป่วย การขอให้องค์ฮุดโจ้วช่วยดูฤกษ์ยาม ในการประกอบกิจการต่างๆ เมื่อถึงเวลาที่องค์ฮุดโจ้วประทับทรง ผู้ประทับทรงจะใช้ไม้หลิวที่เป็นง่ามเขียน โดยศิษยานุศิษย์หลายคนจะช่วยกันดูและอ่านออกเสียงคำเหล่านั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด ยืนยันว่าถ้อยคำที่องค์ฮุดโจ้วสื่อสารนั้นถูกต้อง และมีหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้บันทึก บันทึกเหล่านี้คือสิ่งที่เรียกกันว่าคำบัญชาขององค์ฮุดโจ้ว

 

ว่าท่านจะแนะนำแต่ละท่านที่ส่งคำถามมาว่าจะต้องไปทำอะไรต่อไป เช่น ถามมาเรื่องความเจ็บป่วย องค์ฮุดโจ้วอาจเขียนรายชื่อตัวยาให้ ไปซื้อมาแก้ไขความเจ็บป่วย หรือบางท่านอาจจะได้รับ “ฮู้” หรือผ้ายันต์ไว้พกเป็นเครื่องราง ฯลฯ มีบ้างมาให้องค์ฮุดโจ้วเจิมศีรษะบ้าง นำเด็กทารก นำรถ นำศาลเจ้าที่ (ตี่จู๋เอี๊ย) มาให้เจิมเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีคุยกีนี้ในแต่ละเดือนจะจัดขึ้นในวันพระตามปฏิทินจีน

 

ราวห้าทุ่มเป็นการประกอบพิธีถวายเครื่องทรงองค์ฮุดโจ้ว และเทพเจ้าทุกพระองค์ที่มาร่วมงาน เครื่องทรงนี้จะเรียกว่า “เกา เพ้า” เป็นลักษณะของเครื่องกระดาษที่เป็นหมวก ชุดเสื้อผ้าขององค์เทพซึ่งถูกนำมาเผาส่งช่วงท้ายของรายการ

 

ก่อนที่จะเผาองค์ฮุดโจ้วจะมีบัญชาขานรายชื่อศิษยานุศิษย์ ผู้ได้รับมอบหมายอัญเชิญเครื่องทรงของเทพแต่ละองค์ ผู้ที่มีรายชื่อ จะทำหน้าที่นำเครื่องทรงไปเผาในพื้นที่กลางแจ้งตามลำดับ เช้าวันถัดไปจะเป็นการอัญเชิญกระถางธูปของปึงเถ้ากงทั้งหมดในอำเภอแกลง กลับไปยังศาลเจ้าถือเป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ในการฉายงิ้วและหนัง กลางแปลงในแต่ละคืนยังมีการแจกข้าวสารให้ผู้ที่อยู่ดูมหรสพจนจบนำกลับไปบริโภคเพื่อเป็นสิริมงคล

 

"คุยกี" การประทับทรงและคำบัญชาจากเทพเจ้า

 

สำหรับหน้าที่ของโรงเจจากอดีตถึงปัจจุบัน สะท้อนความเปลี่ยนแปลงจากคำบอกเล่าที่ว่า “เมื่อก่อนคนจีนใช้โรงเจเป็นที่พบปะ สังสรรค์ กินน้ำชาหรือเล่นดนตรีจีน สีซอ ตีขิม ร้องบรรเลงเพลงจีน คุยเล่นกัน ปัจจุบันบรรยากาศเหล่านี้ไม่มีแล้ว รวมทั้งเรื่องที่มีที่พักให้คนมานอนค้างช่วงเทศกาลกินเจ ก็ไม่ได้ใช้งานสำหรับการพักค้างอีกต่อไป”

 

อย่างไรก็ตามโรงเจยังเป็นสาธารณสถานสำหรับบำบัดทุกข์ภัย กิจกรรมทำบุญ บริจาคทาน และสาธารณกุศลต่างๆ ตลอดปี ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วทำให้ทางโรงเจมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารกิจกรรมต่างๆ สู่สาธารณะทางเฟซบุ๊กเป็นการต่อเชื่อม คนเก่ากับคนใหม่ ส่งต่อการให้และรับของผู้คนชาวเมืองแกลงและย่านใกล้เคียงอีกช่องทางหนึ่ง ถือเป็นการส่งต่อรูปแบบพิธีกรรมความเชื่อที่ยังไม่ได้เสื่อมสลายไปไหน

 

ขอขอบคุณ

คุณสมเดช เซียวสกุล, คุณอุระพงศ์ พูนสวัสดิพงศ์, คุณภูวนาถ บุเงิน, เฮียตี๋ เฮียอ็อด เฮียชา คณะทำงานและคณะกรรมการสมาคมพุทธ ศาสตร์สงเคราะห์ (พ่งไล้ซำเซียวเกาะ) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๑)

 

 

อัพเดทล่าสุด 28 ธ.ค. 2561, 09:19 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.