หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
อยุธยาอาภัพลับไป
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 ต.ค. 2543, 09:06 น.
เข้าชมแล้ว 9173 ครั้ง


อยุธยาอาภัพลับไป

 กรุงศรีอยุธยาในจินตนาการของชาวตะวันตก เสมือนเป็นเมืองที่ลอยน้ำหรือที่ลำน้ำล้อมรอบ

 

ท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวแบบล้างผลาญของสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยมในปัจจุบัน คนไทยโดยทั่วไปมักรู้จักเมืองประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณคดีของประเทศในนามของมรดกโลก อีกทั้งยังมีความพยายามของหน่วยราชการและประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องการผลักดันให้แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในพื้นที่ของตนเป็นมรดกโลกกับเขาบ้าง ทั้งนี้ก็เพราะคิดว่าการเป็นมรดกโลกจะทำให้มีการปรับปรุงพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้น เพื่อจะได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาชม จะทำให้มีรายได้ทางเศรษฐกิจดีขึ้น

 

วิธีทำให้แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ได้รับการพิจารณายกย่องให้เป็นมรดกโลกของทางราชการไทย ก็คือการกำหนดและปรุงแต่งให้เป็น “อุทยานประวัติศาสตร์”

 

คำว่าอุทยานประวัติศาสตร์เป็นคำที่กำหนดขึ้นมาโดยองค์การยูเนสโก และทางกรมศิลปากรขานรับมาใช้ในการดำเนินการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานที่เมืองสุโขทัยก่อน แล้วต่อมาจึงขยายไปจัดการในที่อื่นๆ เช่น อยุธยา พนมรุ้ง พิมาย กำแพงเพชร ฯลฯ

 

ผลที่ตามมาในทุกวันนี้ก็คือถ้าที่ไหนจะเป็นมรดกโลก ก็ต้องจัดการและทำให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เสียก่อน  มรดกโลกก็เลยดูเหมือนจะจำกัดอยู่เพียงแค่อุทยานประวัติศาสตร์ไป

 

แท้จริงแล้ว อุทยานประวัติศาสตร์มีความหมายเป็นเพียงชื่อและการดำเนินงานด้านเทคนิคเท่านั้น มีข้อจำกัดและขอบเขตของความหมายที่แตกต่างไปจากเมืองประวัติศาสตร์และมรดกโลกอย่างมากมาย อย่าเพิ่งเอาถึงขั้นเป็นมรดกโลกเลย เพียงแค่การเป็นเมืองประวัติศาสตร์ก็แย่แล้ว

 

เห็นได้จากการดำเนินงานที่สุโขทัยและอยุธยาเป็นตัวอย่าง ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์จำกัดอยู่เพียงแค่วัดโน้นวังนี้เท่านั้น พอดำเนินการบูรณะขุดแต่งแล้วก็ล้อมรั้วกั้นคอกเพื่อเก็บค่าผ่านประตู อีกทั้งมีการกำหนดฤดูกาลที่จะเอาโบราณสถานแห่งใดแห่งหนึ่งในเขตอุทยานเป็นเวทีแสดงแสงเสียงและเดินแฟชั่น แล้วสร้างนิยายประวัติศาสตร์แบบสั่วๆ มอมเมาตัวเองขึ้นมาให้คนชม

 

ทุกวันนี้ถ้าไปที่สุโขทัยและอยุธยาแล้ว จะมองไม่เห็นภาพพจน์ของการเป็นเมืองประวัติศาสตร์แต่อย่างใด มีแต่อุทยานประวัติศาสตร์ไปแทบทุกหนทุกแห่ง เพราะการเป็นเมืองนั้นหาได้จำกัดอยู่เพียงแต่วัดและวังเท่านั้น หากยังประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนในย่านต่างๆ ตลาด ถนนหนทาง กำแพงเมือง คูเมือง เส้นทางคมนาคมที่เป็นแม่น้ำลำคลอง ถนนหนทาง และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ลักษณะทางกายภาพด้านต่างๆ เหล่านี้แทบจะไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังปล่อยให้มีการบุกรุกและทำลาย จนปัจจุบันจินตนาการไม่ได้ว่าความเป็นเมืองนั้นเป็นอย่างใด

 

ยิ่งการมองอยุธยาเป็นมรดกโลกแต่เพียงจากสิ่งที่เรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์แล้ว ยิ่งดูเข้าป่าเข้าดงไปใหญ่ เพราะเพียงแต่ซากวัดซากวัง ลวดลายและรูปแบบทางศิลปกรรมนั้น ไม่พอที่จะทำให้เห็นความสำคัญในระดับโลกได้ และยิ่งดูห่างไกลมากขึ้นทุกที เพราะการดำเนินการใดๆ ในด้านกายภาพที่เกี่ยวกับอยุธยาและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่จะทำให้ความหมายความสำคัญของอยุธยาหายไปจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง      

 

อะไรคือความเป็นเวนิสตะวันออกตามสมญาที่ชาวตะวันตกกล่าวไว้ตั้งแต่ครั้งอยุธยายังมีตัวตนอยู่ และเราเห็นอะไรที่สะท้อนภาพนั้นได้ในปัจจุบันบ้าง?

 

การเป็นเวนิสตะวันออกคือการที่เป็นเมืองบนแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบันเหลืออะไรที่เป็นแม่น้ำลำคลองซึ่งอาจนำไปเชื่อมโยงกับลักษณะทางกายภาพด้านต่างๆ ที่ทำให้แลเห็นความเป็นเมืองดังกล่าวได้บ้าง ทำนองตรงข้าม กลับถูกบดบังไปด้วยถนนหนทาง ที่นอกจากจะทำให้บรรดาแม่น้ำลำคลองแห้งตันแล้ว ยังมีบรรดาสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ย่านที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เกิดขึ้นตามถนนหนทางเหล่านั้นทั้งสิ้น

 

และที่สำคัญ สภาพแวดล้อมของอยุธยาที่เป็นเมืองทางเกษตรกรรม มีท้องทุ่งรอบด้าน เป็นสังคมชาวนา ได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นย่านอุตสาหกรรม เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและย่านที่อยู่อาศัยของคนงานเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ความเป็นอยุธยามีแต่จะลับหายไป เหลือแต่เพียงซากวัดซากวาซึ่งที่ไหนก็มีกัน

 

ในทัศนะของข้าพเจ้า การอนุรักษ์อยุธยาให้เป็นมรดกโลกนั้น ควรมองในด้านกายภาพทางภูมิศาสตร์การเมืองให้กว้างขวางมากไปกว่าตัวเมืองอยุธยาและสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของพระนครศรีอยุธยาในฐานะที่เป็นราชธานีของสยามประเทศนั้น เป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติให้เข้ากันกับพัฒนาการของบ้านเมืองในทางประวัติศาสตร์อย่างใดบ้าง นั่นก็คือการมองอยุธยาในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญของสังคมมนุษย์ในลุ่มแม่น้ำ [Riverine society]      

    

ความสำคัญอันดับแรกที่ต้องทำความเข้าก็คือคำว่าลุ่มแม่น้ำ [Riverine area] ซึ่งเห็นได้จากพื้นที่ทั้งหมดคือดินดอนสามเหลี่ยม [Delta] อันเกิดขึ้นจากการที่แม่น้ำลำน้ำใหญ่น้อยนำโคลนตะกอนมาทับถมให้พื้นที่เดิมที่เป็นชายฝั่งทะเลเกิดงอกเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เป็นป่าชายเลน และเป็นทะเลตมขึ้นตรงบริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล  ลักษณะที่โดดเด่นของดินดอนสามเหลี่ยมก็คือเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีลำน้ำใหญ่ๆ ที่เรียกว่าแม่น้ำไหลผ่าน

 

เหตุที่เป็นแม่น้ำ ก็เพราะเกิดจากลำน้ำหลายสายไหลมารวมกัน ยิ่งกว่านั้น ทางเดินของแม่น้ำก็มักจะคดเคี้ยวไปตามที่ต่างๆ อีกทั้งชายตลิ่งก็ไม่สูงจากระดับน้ำ ในฤดูน้ำก็จะมีน้ำท่วมล้นตลิ่งออกท่วมพื้นที่ต่างๆ ทั่วไป พื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้กับปากแม่น้ำมักมีระดับน้ำไม่ต่ำจากตลิ่งเท่าใด แต่การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของมนุษย์มักอยู่ตามพื้นที่ดอนริมฝั่งแม่น้ำหรือลำคลอง จนแลเห็นเป็นแนวยาวขนานไปกับลำน้ำ

 

เหตุที่เกิดที่สูงริมฝั่งน้ำ ก็เพราะในเวลาหน้าน้ำที่น้ำท่วมล้นตลิ่งนั้น น้ำจะพาเอาโคลนตะกอนจากบริเวณเหนือน้ำมาทับถมสะสมทุกปีไป โคลนตะกอนที่ทับถมจนสูง [Levy] นี้มีปุ๋ยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด

 

นอกจากทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมนุษย์และแหล่งทำกินในด้านการเกษตรแล้ว แม่น้ำและลำน้ำยังทำหน้าที่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญอีกด้วย

 

การติดต่อระหว่างกันภายในก็ใช้ทางน้ำธรรมชาติและบรรดาคลองขุดเพื่อย่นระยะทาง ในขณะที่การติดต่อกับภายนอกโพ้นทะเลก็อาศัยการเดินทางตามแม่น้ำใหญ่จากปากน้ำเข้ามาสู่บ้านเมืองที่อยู่ภายใน ทำให้เกิดลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของดินดอนสามเหลี่ยมขึ้น คือการที่มีเมืองใหญ่ๆ ทั้งที่เป็นเมืองท่าและเมืองสำคัญในการปกครองและวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ๆ

 

เหตุนี้ จึงเรียกบรรดาชุมชนบ้านเมืองที่เกิดขึ้นตามริมแม่น้ำและลำน้ำนี้ว่า สังคมลุ่มแม่น้ำ และแหล่งอารยธรรมใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่งก็ล้วนเกิดขึ้นในสังคมลุ่มแม่น้ำของดินดอนสามรูปสามเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ ลุ่มแม่น้ำฮวงโห แยงซีเกียง ลุ่มแม่น้ำโขง และอื่นๆ

 

บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดอรุณราชวราราม

 

อยุธยาคือเมืองศูนย์กลางอารยธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมลุ่มแม่น้ำของดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยา [Chao Phraya Delta] ซึ่งกว่าที่จะพัฒนาขึ้นมานั้นต้องอาศัยเวลามิใช่น้อย นั่นก็คือการเติบโตของการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองที่ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวในทางภูมิศาสตร์ของดินดอนรูปสามเหลี่ยม

 

ตำแหน่งที่เมืองพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่นั้น เป็นรอยต่อระหว่างดินดอนรูปสามเหลี่ยมเก่า [Old delta] และดินดอนรูปสามเหลี่ยมใหม่ [New delta]

บริเวณที่เป็นเดลต้าเก่าอยู่ส่วนบน เริ่มตั้งแต่เขตจังหวัดชัยนาทลงมา ครอบคลุมพื้นที่ที่เกิดจากการทับถมของโคลนตะกอน ซึ่งลำน้ำต่างๆ ที่ไหลลงจากเทือกเขาและที่สูงทางเหนือ ทางตะวันตก และตะวันออก พัดพามาทับถมเป็นที่ราบลุ่ม ซึ่งอาจวิเคราะห์จากระดับสูงต่ำได้ว่าประกอบไปด้วยที่ราบรูปพัดที่พบมากทางด้านตะวันตกและตะวันออก เพราะเป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของลำน้ำสายต่างๆ ที่ไหลลงจากที่สูง

 

ถัดมาตอนกลางจึงเป็นบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเก่า ซึ่งอยู่ในบริเวณที่มีลำน้ำท่าจีนและลำน้ำน้อยไหลผ่าน และถัดไปทางตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงของลำน้ำเจ้าพระยา ทั้งบริเวณที่เป็นที่ราบรูปพัดและเดลต้าเก่า เป็นที่ตั้งของบ้านเมืองตั้งแต่ยุคเหล็ก ทวารวดี ลงมาจนถึงสมัยลพบุรี

 

บ้านเมืองเหล่านี้มักตั้งอยู่ริมลำน้ำเก่าๆ ที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันตื้นเขิน อันเนื่องมาจากสายน้ำเปลี่ยนทางเดิน อย่างเช่นลำน้ำสีบัวทองในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง หรือลำน้ำบางแก้วที่ผ่านเมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) มาออกแม่น้ำท่าจีนที่อำเภอนครชัยศรี เป็นต้น

 

ส่วนบริเวณที่เป็นเดลต้าใหม่ ที่ส่วนใหญ่กินบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เมืองพระนครศรีอยุธยาลงมาถึงกรุงเทพฯ และขยายตัวไปถึงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนในเขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรานั้น มีร่องรอยให้แลเห็นการเติบโตของบ้านเมืองตามแม่น้ำลำคลองที่อาจย้อนหลังจากปัจจุบันขึ้นไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นับเป็นการเกิดและขยายตัวของบ้านเมืองตามแม่น้ำและลำน้ำที่ยังมีความสำคัญเป็นเส้นทางคมนาคม จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นสังคมที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ [Riverine area] โดยแท้

 

ยิ่งกว่านั้น ความแน่นหนาของชุมชนในลุ่มแม่น้ำนี้แลเห็นได้จากการขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างลำน้ำและแม่น้ำที่เป็นธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนไปตามสองฝั่งของลำคลอง

 

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ บรรดาชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นเมืองสำคัญๆ นั้นมักเกิดขึ้นตามบริเวณที่เป็นแม่น้ำอ้อม อันเกิดจากการไหลคดเคี้ยวของลำน้ำและบริเวณที่แม่น้ำลำคลองมาสบกัน ไม่ว่ากรุงเทพฯ อยุธยา นนทบุรี และปทุมธานี มักมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ว่านี้ แต่เมืองที่มีความโดดเด่นที่สุดก็คือพระนครศรีอยุธยา

 

เพราะนอกจากเกิดขึ้นในบริเวณที่เป็นลำน้ำอ้อมแล้ว ยังเป็นที่ที่มีลำน้ำหลายสายที่คนปัจจุบันรู้จักแต่เพียงลำน้ำลพบุรี ลำน้ำป่าสัก และลำน้ำน้อยมาพบกัน ทำให้เกิดเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ จากตัวเมืองลงมาทางใต้จนไปออกปากแม่น้ำ

 

ยิ่งกว่านั้น การขุดคลองใหญ่น้อยเชื่อมแม่น้ำและลำน้ำธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เกิดบนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่เป็นทางน้ำ [Hydraulic infrastructure] อย่างโดดเด่นกว่าที่อื่นๆ ในโลก

 

ในฤดูน้ำ เมืองอยุธยากลายเป็นเกาะ ดังในพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่กล่าวว่า  “บริเวณอื้ออลด้วยชลธี ประดุจเกาะอสุรีลงกา”

 

ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยาเป็นทั้งศูนย์กลางของราชอาณาจักรและเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยาว่า พระนครมีประชาชนร่วมสองแสนคน นับว่าใหญ่โตกว่ามหานครลอนดอนของอังกฤษในสมัยนั้นเสียอีก

 

ข้อมูลดังกล่าว ถ้าคนไม่รู้จักอยุธยาและมองดูภาพของเมืองจากปัจจุบัน ก็คงจะหลงคิดไปว่าผู้คนแออัดกันอยู่แต่ในเกาะเมือง แต่ถ้าหากได้แลเห็นแผนที่ของเกาะเมืองและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งภาพวาดของตัวเมืองแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่หาได้อาศัยอยู่ในตัวเมืองแต่อย่างใดไม่

 

ทำนองตรงข้าม เกาะเมืองคือศูนย์กลางการค้าขายที่แบ่งออกเป็นย่านต่างๆ ตามเส้นทางถนนและลำคลอง ซึ่งก็มีพวกที่ทำการค้าขายอาศัยอยู่สลับไปกับคนในเมืองกลุ่มอื่นทั้งทหารและข้าราชการ วัดและวัง โดยเฉพาะพระราชวังหลวงและวังเจ้านายในระดับต่างๆ มีอยู่สลอน ที่แสดงให้แลเห็นความสำคัญทางด้านการปกครองและศาสนา

 

ยิ่งกว่านั้น เกาะเมืองยังมีชานกำแพงที่เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ นั่นคือนอกกำแพงเมืองจะมีพื้นที่เป็นชานไปจดชายน้ำที่มีบ้านเรือน ร้านค้า เรือนแพ และท่าเรือท่าสินค้าอยู่โดยรอบ ซึ่งเมื่อประมาณผู้คนที่อยู่บนเกาะเมืองแล้วก็ไม่น่าจะเป็นเรือนแสน

 

แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทั้งด้านโบราณคดี เช่น การกระจายของวัดวาอารามที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนหมู่บ้าน อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คน รวมไปถึงหลักฐานเอกสาร เช่น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม รวมทั้งจากวรรณคดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าบ้านเรือนส่วนใหญ่ของราษฎรเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองในรัศมีประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร โดยรอบของเกาะเมือง โดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำรอบเมืองนั้น เอกสารกล่าวว่ามีแพเรียงรายอยู่กว่าสองหมื่นแพทีเดียว ซึ่งก็แน่นอนว่าเรือนแพเหล่านี้ส่วนใหญ่คือร้านค้า หาใช่เรือนที่อยู่อาศัยไม่

 

อาจกล่าวได้ว่า ความเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำของอยุธยานั้นอยู่ที่การตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของผู้คนส่วนใหญ่ตามริมแม่น้ำ ซึ่งใช้พื้นที่ทั้งในน้ำและพื้นดินบนตลิ่งสร้างที่อยู่อาศัย

 

จากภาพที่หลงเหลือให้เห็นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้จินตนาการได้ว่ามีการสร้างบ้านเรือนเรียงรายเป็นแถวๆ จากตลิ่งล้ำลงมาในแม่น้ำมาก

 

แถวหน้าคงได้แก่พวกเรือนแพ ที่ส่วนใหญ่เป็นร้านค้า

 

แถวถัดมาคือบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนเสาสูง ในย่านที่เป็นชุมชนแออัดในเขตใกล้เมืองหรือเขตเมือง การเรียงรายของบ้านเรือนอาจมีหลายแถวก่อนที่จะขึ้นไปอยู่บนตลิ่ง

 

ในขณะที่ในบริเวณที่ห่างไกลออกไป อาจมีเพียงที่อยู่ตรงชายน้ำและบนตลิ่งเพียงแถวสองแถวเท่านั้น

 

บรรดาบ้านเรือนที่อยู่บนตลิ่งล้วนตั้งอยู่บนที่สูง อันเกิดจากการทับถมของโคลนตะกอน [Levy] พื้นที่ดังกล่าวนี้ยังสามารถปลูกต้นไม้ยืนต้นและสวนผลไม้ได้ รวมทั้งวัดวาอารามอันเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ชุมชนลุ่มแม่น้ำของอยุธยาล้วนหันหน้าลงแม่น้ำ แม้แต่วัดก็ตั้งหันหน้าลงแม่น้ำอันเป็นเส้นทางคมนาคม ในขณะที่ด้านหลังมักเป็นท้องทุ่งที่น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำ และเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่ใช้ในการปลูกข้าว            

 

สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ ทำให้อยุธยาเป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยท้องทุ่งที่จะถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำ ตัวเมืองก็เลยกลายเป็นเกาะ เพราะอยู่สูงกว่าบริเวณอื่นๆ บรรดาทุ่งเหล่านี้ล้วนมีชื่อ เพราะแต่ละแห่งก็คือท้องถิ่นที่มีหลายชุมชนตามแม่น้ำลำคลองอยู่ร่วมกัน โดยมีพื้นที่ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการสังสรรค์ทางสังคมร่วมกัน

 

ดังจะเห็นได้ว่า ท้องทุ่งที่สำคัญส่วนใหญ่จะมีวัดที่มีพระเจดีย์ขนาดใหญ่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิทัศน์ที่แลเห็นได้แต่ไกล เช่น เจดีย์วัดภูเขาทองในทุ่งภูเขาทอง พระปรางค์วัดวรเชษฐ์ในทุ่งประเชด เจดีย์วัดกะช้ายในทุ่งบ้านกราน เป็นต้น      

      

ในด้านสังคมและวัฒนธรรม พระนครศรีอยุธยาคือผลผลิตของการปะทะสังสรรค์ทางสังคมและเศรษฐกิจของกลุ่มชนมากมายหลายชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการตั้งคำถามและศึกษากันใหม่ เพราะแต่ก่อนคนมักเข้าใจว่าคนไทยที่อยุธยามาจากการเคลื่อนย้ายทางบก จากเหนือลงใต้อะไรทำนองนั้น ทั้งๆ ที่ดูสวนทางกับบรรดาเรื่องราวในตำนานพงศาวดารที่แสดงให้เห็นว่าอยุธยาสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่มาจากทางชายฝั่งทะเลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตำนานเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมาก หรือตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง ต่างก็ยืนยันในสิ่งนี้ทั้งสิ้น

 

โดยเฉพาะตำนานเรื่องท้าวอู่ทองนั้น อาจชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มใหม่ที่มาจากตอนใต้ของประเทศจีนโดยทางเรือ มาที่ปัตตานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี ขึ้นมาทางสุพรรณบุรี อยุธยา เรื่อยไปจนถึงกำแพงเพชร

 

เรื่องนี้ปัจจุบันมีข้อมูลทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์สนับสนุนอยู่ไม่น้อย ว่ามีการตั้งถิ่นฐานของคนจากทะเลในพื้นที่ทะเลตมและป่าชายเลน ตั้งแต่อ่าวบางตะบูนตรงปากแม่น้ำเพชรบุรี มายังปากแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยา ซึ่งเป็นผลให้ต่อมาเกิดเมืองขึ้นตามปากแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ล้วนอยู่ในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งสิ้น

 

ยิ่งสมัยเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าของภูมิภาคตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ลงมา ก็ล้วนมีคนนานาชาติพันธุ์เข้ามาผสมผสานเป็นคนอยุธยา จากทั้งภายนอกและภายใน

 

การผสมผสานทางวัฒนธรรมของชนหลายกลุ่มเหล่าตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านไป ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นอารยธรรมของสยามประเทศที่แสดงออกในรูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างมากมาย

 

ทุกวันนี้ เราเห็นแต่เพียงซากปรักหักพังของสิ่งที่เป็นศิลปะสถาปัตยกรรม อันได้แก่วัดและวังต่างๆ แต่หากได้อ่านวรรณคดีและเรื่องราวต่างๆ ทางด้านเอกสารที่คนโบราณได้เขียนไว้ ก็อาจจินตนาการให้เห็นภาพที่มีชีวิตชีวาของผู้คนและบ้านเมืองไม่มากก็น้อย ดังในพระราชนิพนธ์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ว่า

 

          ประกอบด้วยโภชนากระยาหาร  กถิ่นฐานบริบูรณ์หนักหนา
อยู่เย็นเป็นสุขทุกทิวา เช้าค่ำอัตราทั้งราตรี 
ประหนึ่งว่าจะไม่มีค่ำคืน  รวยรื่นเป็นสุขเกษมศรี
                  ..................................  
ร้านเรียบเป็นระเบียบด้วยรุกขา ขายของนานาทุกสิ่งสรรพ์
ทั้งพิธีปีเดือนคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา
ฤดูใดก็ได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา
ตั้งแต่นี้แลหนาอกอา อยุธยาจะสาบสูญไป
จะหาไหนได้เหมือนกรุงแล้ว ดังดวงแก้วอันสิ้นแสงใส
นับวันแต่จะยับนับไป ที่ไหนจะคืนคงมาฯ

 

  

 แผนที่ของชาวตะวันตกที่เป็นเส้นทางน้ำสำคัญในที่ราบลุ่มภาคกลาง

 

ภาพจิตรกรรมในอ่าวไทยและภูมิศาสตร์โดยรอบ จากสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรี

 

อยุธยาที่สูญหายไปในสมัยของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทครั้งรัชกาลที่ ๑ กับสมัยปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก ครั้งนั้นยังเหลือให้เห็นซากบ้านเมืองและสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ยังจินตนาการได้ว่าบ้านเมืองเป็นเช่นไร ความเป็นเมืองสำคัญของสังคมลุ่มแม่น้ำยังดำรงอยู่ ทั้งยังเปลี่ยนผ่านมาให้กับกรุงเทพมหานครด้วย

 

แต่ในทุกวันนี้ โครงสร้างทางกายภาพและสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ เปลี่ยนแปลงหมดไปอย่างสิ้นเชิง เส้นทางคมนาคมที่เปลี่ยนจากแม่น้ำลำคลองมาเป็นถนนใหญ่น้อยทั้งหลาย ได้ไชชอนให้เส้นทางน้ำแต่ก่อนตื้นตันหมดไป ร่องรอยของชุมชนที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลองเหล่านั้นก็หมดไปเช่นเดียวกัน

 

บรรดาท้องทุ่งทั้งหลายที่รอบล้อมอยุธยาที่มีทั้งชั้นนอกและชั้นในก็พลอยยับเยินไปด้วย เพราะรัฐไม่เข้าใจ ปล่อยให้ผู้แทนราษฎรที่ชั่วร้ายที่เข้ามามีอำนาจในแผ่นดิน ปู้ยี่ปู้ยำให้เป็นพื้นที่ทางอุตสาหกรรม เกิดโรงงานอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรรขึ้นเป็นดอกเห็ด

 

ที่เลวร้ายก็คือ บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ปล่อยสารเคมีของเสียที่เป็นมลภาวะทั้งหลายลงสู่ท้องทุ่ง เมื่อถึงฤดูน้ำที่น้ำท่วมทุ่ง ก็จะชะนำสารพิษทั้งหลายเหล่านั้นลงสู่ลำน้ำแม่น้ำ

 

โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงสู่กรุงเทพฯ และปากน้ำ ซึ่งตรงอำเภอเชียงรากในเขตจังหวัดปทุมธานีนั้นมีคลองประปาแยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำน้ำมาทำน้ำประปาเลี้ยงคนกรุงเทพฯ ผลที่ตามมา ก็คือคนกรุงเทพฯ ต่างล้วนอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งโดยทั่วหน้ากัน

 

ศรีศักร วัลลิโภดม (บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๔ ฉ. ๔ / ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๓)

อัพเดทล่าสุด 26 เม.ย. 2562, 09:06 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.