มรดกทางวัฒนธรรมกับสภาพแวดล้อม
ผังเมืองสุโขทัยกับสภาพแวดล้อมที่มีการจัดการน้ำซึ่งไหลจากที่สูงผ่านเข้าเมือง หากรับรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำในเมืองสุโขทัยแล้วก็จะทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมของเมืองโบราณแห่งนี้ได้อย่างดี
ประเทศสยามเป็นบ้านเมืองเก่าแก่ที่มีการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมแต่โบราณกาลมาหลายยุคหลายสมัย อาจกล่าวได้ว่าทุกภูมิภาคและเกือบทุกท้องถิ่นล้วนมีอดีต ล้วนมีมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งถ้าไม่เป็นโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุที่ยังเหลือซากให้เห็น ก็มักเป็นขนบธรรมเนียมและประเพณีที่รับมาจากการถ่ายทอด จากการบอกเล่าและการปฏิบัติมาจากคนรุ่นก่อนๆ
จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในลักษณะที่ลืมความเก่าแก่และลืมตัวเอง อันเนื่องมาจากการรับวัฒนธรรมสมัยใหม่จากภายนอก ความเจริญทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม อุดมการณ์ทางการเมืองและปรัชญาทางสังคมเศรษฐกิจที่มาจากสังคมหรือประเทศทางตะวันตกมีบทบาทเป็นอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงสังคมสยามให้หันเหไปจากสังคมแบบประเพณีแต่ดั้งเดิม เป็นผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “ความล้าหลังทางวัฒนธรรม” ขึ้น
นั่นก็คือ การรับของใหม่เข้ามามีลักษณะผิวเผิน ขาดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องความหมายและสาระประโยชน์ ทำให้ปรับตัวไม่ทันและมักเกิดผลเสียหายขึ้น อย่างเช่นการสร้างบ้านเรือนให้เป็นตึกราม มีรูปแบบเหมือนกับบ้านชาวตะวันตก ซึ่งเหมาะกับเมืองหนาว ทำให้เกิดความอบอ้าวเพราะอากาศระบายไม่สะดวก เลยต้องหาทางแก้ด้วยการติดเครื่องปรับอากาศ ต้องสิ้นเปลืองพลังงานและเงินโดยไม่จำเป็น
แต่ในขณะที่หันไปนิยมของใหม่ๆ จากภายนอกนั้น ก็มักละเลยของไทยแท้ๆ ที่มีอยู่ ทั้งๆ ที่ของเหล่านั้นยังมีประโยชน์และมีคุณค่าอยู่ กลับมองไปว่าหมอสมัยและล้าหลังแล้ว อย่างเช่นบ้านเรือนตึกอาคาร ทั้งที่เป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลและที่ประกอบการธุรกิจที่ยังดูสวยงามและเข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อม รื้อทำลายเสียแล้วสร้างของใหม่ขึ้นแทนที่
ปรากฏการณ์เช่นนี้มักเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ หรือชุมชนใหญ่ๆ เสมอมา จนกระทั่งบ้านเมืองบางแห่งถึงกับเปลี่ยนไปแบบไม่ทิ้งร่องรอยของความหลังไว้เลย แม้กระทั่งสถานที่ซึ่งถือกันว่าเป็นประวัติศาสตร์ หรือเป็นแหล่งที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เช่น วัดวาอารามและโบราณสถาน ที่เป็นที่รู้จักกันมาช้านานก็ถูกปล่อยปละละเลยให้ทรุดโทรม หรือไม่ก็ถูกปิดบังจากการสร้างอาคารสมัยใหม่ล้อมรอบ แม้แต่พระบรมมหาราชวังอันเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ก็ยังถูกบดบังด้วยอาคารแฟลตห้าชั้นซึ่งเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของรัฐบาล
ซึ่งถ้าหากมองมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บริเวณท่าพระจันทร์ก็จะเห็นความโดดเด่นของแฟลตที่ผู้อยู่อาศัยตากผ้าผ่อนเต็ม แลไม่เห็นพระบรมมหาราชวังซึ่งแต่ก่อนดูสวยงามตั้งแต่ระยะไกลๆ โบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งอยู่ในเขตโรงเรียนนาฎศิลป์กรมศิลปากร แต่ก่อนแลเห็นเป็นอาคารสูงตระหง่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ถูกอาคารหลายๆ ชั้นของโรงเรียนบังปิดเสียมิดชิด รวมทั้งป้อมพระอาทิตย์และกำแพงเมืองของกรุงเทพพระมหานคร ก็ถูกตึกสูงใหญ่มโหฬารของศูนย์การค้าข่มทับ จนแลเห็นเมืองกรุงเทพฯ ในอดีต เป็นเมืองตุ๊กตาไป
เมื่อไม่กี่มานี้เอง ได้มีการตื่นตัวในเรื่องการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกันขึ้นเพื่อเชิดชูเอกลักษณ์ และความรุ่งเรืองในอดีตของประเทศชาติบ้านเมือง นี่ก็เหมือนกันเป็นความคิดริเริ่มที่มาจากภายนอกหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะทางตะวันตก ซึ่งหันมาทบทวนอดีต เพราะเห็นว่าในปัจจุบันสังคมพัฒนาไปในทางวัตถุอย่างรวดเร็ว ทำให้ลืมอดีตและไม่รู้จักตนเอง จึงมีการฟื้นฟูทะนุบำรุงและพัฒนาของเก่าๆ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมขึ้น เพื่อให้คนในสังคมโดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่ รุ่นเยาว์ได้รับรู้ และชาวต่างบ้านเมืองที่ได้เข้ามาเห็น เกิดผลพลอยได้ไปถึงการท่องเที่ยวที่ทำรายได้เข้าประเทศอีก ทางบ้านเมืองเราก็เอาอย่างบ้าง แต่กลับกลายเป็นเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดรายได้ไป โดยที่ไม่เคยคำนึงว่าบรรดาสังคมที่เจริญแล้วอื่นๆ นั้น เขามีเป้าหมายที่แท้จริงในเรื่องการรณรงค์เพื่อรู้จักตนเองเป็นสำคัญ
เมื่อไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้วก็เกิดผลพวกในทางปฏิบัติที่เกิดเลยความเป็นจริงไป นั่นก็คือการปรุงแต่งสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้เกินเลยความเป็นจริงในอดีต หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ บิดเบือนสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ [History] แล้วทำให้เป็นเรื่องจริงในนิยาย [Myth] ในลักษณะที่มอมเมาคนในชาติให้หลงผิด ภูมิใจในสิ่งที่ผิดๆ แล้วก็หลอกลวงให้บรรดานักท่องเที่ยวหลงสนุกเพลิดเพลินมากกว่าที่จะได้ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง ในที่สุดผลที่ได้จากการกระทำที่เอาแต่ได้อย่างผิวเผินเช่นนี้ก็คือการทำลายสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของบรรดาสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเอง
การทำลายสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาตินั้นเป็นไปทุกเมื่อเชื่อวัน ทำกันทั้งในระดับราชการและระดับเอกชนโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น เมืองกำแพงและประตูเมืองสุพรรณบุรี ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทางจังหวัดต้องการฟื้นฟูขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นนี้เคยเป็นเมืองสำคัญที่มีความรุ่งเรืองในอดีตแห่งหนึ่ง แต่กลับสร้างกำแพงเมืองและประตูเมืองเป็นรูปเสาเพนียดหรือเสาหัวเม็ดเรียงรายกัน ดูแล้วเหมือนเสาเพนียดคล้องช้างก็ไม่ใช่ เสากำแพงประตูป้อมค่ายก็ไม่เชิง
แต่ที่รู้จากปากคำของผู้เล่าบอกกันว่า ผู้ที่ออกแบบสร้างคิดแบบจากรั้วล้อมบ้าน โดยที่มีตำบลหนึ่งในเมืองสุพรรณบุรี เรียกว่าตำบลรั้วใหญ่ เป็นที่อยู่ของขุนช้าง บุคคลสำคัญในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี เพราะฉะนั้น กำแพงเมืองแบบรั้วล้อมบ้านเช่นนี้ก็คือสัญลักษณ์ของบ้านรั้วใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านของขุนช้างนั่นเอง
ปัญหาก็มีอยู่ว่าการคิดและการสร้างแบบนี้เหมาะสมหรือไม่ เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยมีความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม เห็นประจักษ์จากบรรดาพระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูปตามวัดโบราณต่างๆ หลายแห่ง การที่จะสร้างสิ่งที่แสดงความรุ่งเรืองนั้น ควรดูให้เข้าท่าเข้าทางกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ถูกต้อง
เทือกเขาหลวงที่เมืองสุโขทัย
บรรดากำแพงและประตูเมืองโบราณที่ร่วมสมัยกับเมืองสุพรรณบุรีก็มีหลายแห่ง เช่น กำแพงเพชร ลพบุรี อยุธยา ศรีสัชนาลัย เป็นต้น อาจนำมาเปรียบเทียบกับหลักฐานที่มีอยู่แล้วสร้างขึ้นก็ได้ แต่การกระทำเช่นนี้เหมือนกับการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของบ้านเมืองโดยเจตนา อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่าการเอารั้วบ้านมาทำเป็นกำแพงเมืองและประตูเมืองก็ขัดแย้งกันโดยหลักของเหตุผลอยู่แล้ว
ยิ่งกว่านั้น เรื่องขุนช้างขุนแผนก็เป็นเพียงนิยาย ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าเคยสอบถามว่าทำไมทางจังหวัดจึงคิดทำเช่นนี้ ก็มีคำตอบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ทางกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างขึ้นโดยทางจังหวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นโดยประการฉะนี้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมากมายหลายแห่ง จึงได้ถูกปรุงแต่งให้กลายเป็นสถานที่ในนิยายอิงประวัติศาสตร์ หรือนิทานที่พวกฝรั่งเรียกว่า Myth ไป
ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่อดใจที่จะนำมากล่าวถึงอีกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ได้เคยกล่าวถึงหรือเขียนถึงในที่อื่นๆ หลายครั้งหลายคราว นั่นก็คือ “อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ปัจจุบันดูเหมือนเป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ มีการจัดงานเฉลิมฉลองเป็นประจำ เมื่อถึงฤดูกาลลอยกระทง จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมเป็นการใหญ่
ความประทับใจที่ผู้ไปเที่ยวและผู้สนใจได้รับก็คือกระบวนแห่กระทงจากที่ต่างๆ ซึ่งตกแต่งกันอย่างงามวิจิตร มีทั้งเทพีและผู้แต่งกายที่สมมติว่าเป็นแบบอย่างของชาวสุโขทัยกันดาษดื่น มีขบวนแห่แหนเชิญพระวิญญาณของพ่อขุนรามคำแหงใส่ผอบ มาร่วมในงานพิธี ประกอบพิธีลอยกระทงกันอย่างมโหฬารในสระตระพังโพยสี ซึ่งศิลาจารึกสุโขทัยระบุว่า น้ำในตระพังนี้กินดีเหมือนน้ำ “โขงเมื่อแล้ง” ในตอนเย็นและค่ำมีการประดับประดาโบราณสถานในอุทยานด้วยไฟและจุดดอกไม้ไฟกันอย่างมโหฬาร ควบคู่ไปกับการแสดงมหรสพและการละเล่นอย่างครึกครื้น ดูแล้วทำให้เห็นภาพพจน์ว่ากรุงสุโขทัยเป็นดินแดนสวรรค์ แดนเนรมิต เป็นนครแห่งความหลังที่เคยรุ่งเรืองของชนาติไทย
คำถามในขณะนี้ก็คือความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์เป็นเช่นนี้หรือ เคยมีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า กรุงสุโขทัยนี้มีประเพณีลอยกระทงกันจริงๆ หรือเปล่า เพราะหลักฐานที่อ้างกันอยู่ในขณะนี้คือ “ตำนานนางนพมาศ” แต่งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้เอง กาเอาแต่เพียงตำนานมาอ้างเช่นนี้ เท่ากับเป็นการสร้างความจริงในนิยายขึ้นมามอมเมาคนทั้งประเทศเท่านั้นเอง
นักศึกษาและนักวิชาการที่พอจะอ่านศิลาจารึกสุโขทัยรู้เรื่อง ก็คงจะตีความจากข้อความในจารึกได้แต่เพียงว่า งานนักขัตฤกษ์ในจารึกนั้นเริ่มแต่การทำบุญ กรานกฐินจากเขตอรัญญิกทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย หลังจากนั้นก็จะพากันเข้าประตูเมืองมาเผาเทียนเล่นไฟ กราบไหว้พระตามวัดวาอารามต่างๆ ที่สำคัญก็คงจะเป็นพระบรมธาตุกลางเมืองนั่นเอง ไม่ปรากฏข้อความใดที่อ้างถึงการลอยกระทงแม้แต่น้อย แถมจารึกเองก็ยังระบุว่าบรรดาสระน้ำต่างๆ ในเมืองนั้นเป็นสระน้ำกิน ชาวสุโขทัยนี้ช่างโง่เสียจริงๆ ที่มาเล่นลอยกระทงกันในสระน้ำกิน
การกระทำเช่นนี้ในปัจจุบันคงจะเรียกว่าเป็นการสร้างมลภาวะให้แก่สภาพแวดล้อมก็คงได้ ข้าพเจ้าใคร่พูดตรงๆ ว่า การจัดการลอยกระทง การจัดทำสิ่งที่เรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์ ณ เมืองเก่าสุโขทัยเท่าที่ทำกันในขณะนี้ คือการทำลายสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติอย่างชัดเจน เป็นการกระทำชนิดที่เรียกว่าเผด็จการทางวัฒนธรรม เพราะหน่วยราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กระทำและกำลังขยายขอบเขตในการกระทำเช่นนี้อีกหลายๆ แห่งที่เรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ
ปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่าโบราณสถานที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมของแทบทุกภาคแทบทุกท้องถิ่นกำลังถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไป ไม่เหมือนของเดิมหรือแม้แต่ทิ้งร่องรอยเดิมไว้ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นพระปรางค์มหาธาตุเมืองลพบุรี พระเจดีย์วัดพระรามเมืองอยุธยา วัดแก้วเมืองสรรค์บุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี และที่อื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งกว่านั้น สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ วันดีคืนดีอาจจะถูกนำมาปรุงแต่ง มีการแสดงแสงเสียงให้เข้ากับนิยาย นิทาน ที่ล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้คนมองอดีตในลักษณะ หลงลืมตัวเองทั้งสิ้น
การสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมและการทำลายสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ที่แลเห็นกันอยู่เฉพาะหน้าเช่นที่ คือความสิ้นหวังอย่างหนึ่งของประเทศชาติ แต่เป็นความสิ้นหวังอย่างหนึ่งของประเทศชาติ แต่เป็นความสิ้นหวังที่ไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ที่รุนแรง เพราะบุคคลทุกผู้ทุกนามนั้นได้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างมากก็ทะเลาะกันนิดหน่อย แล้วก็ยอมๆ กันไป
ข้าพเจ้าเคยมีประสบการณ์จากการประชุมสัมมนา ณ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ได้มีการถกกันถึงเรื่องการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองสุโขทัยเก่า ว่าการดำเนินงานที่เป็นอยู่เป็นการทำลายมากกว่าเป็นการอนุรักษ์ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วด้วยการใช้แทรคเตอร์ขุดปรับพื้นดิน ก่อนการศึกษาและวิจัยทางโบราณคดีอย่างถูกต้อง ยิ่งกว่านั้นการกำหนดบริเวณต่างๆ ของตัวเมืองก็กระทำอย่างผิวเผิน โดยการอ้างข้อความจากศิลาจารึกมากำหนด เช่นบริเวณนี้เป็นป่าหมาก บริเวณโน้นเป็นป่าพร้าว อะไรทำนองนั้น แล้วก็นำเอาพันธุ์ไม้ชนิดนั้นไปปลูกแสดงไว้ ทำให้เห็นภาพว่าในอดีตนั้นมีการปลูกพันธ์ไม้เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งในที่แห่งเดียวกันไป
ผู้ที่รับผิดชอบโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยซึ่งอยู่ในที่นั้นด้วย ก็ได้แย้งและให้เหตุผลว่า การดำเนินการให้ถูกตามหลักการนั้นเป็นเรื่องอุดมคติ ล่าช้าและไม่ทันต่อเวลาตามขั้นตอนในแผนงานที่จำเป็นต้องสอดคล้องกับงบประมาณ และกำหนดเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้ ควรเป็นเรื่องที่ต้องเน้นในเชิงปฏิบัติมากกว่า และยังมีนักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเคยยกย่องและนับถือว่าเป็นหัวหอกคนสำคัญของการรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ กลับกล่าวในที่ประชุมว่า ท่านเข้าใจและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
ข้าพเจ้าเลยนิ่งเสียเพราะเสียเวลา และป่วยการที่จะถกอะไรอีกในที่ประชุมแห่งนั้น อันงานด้านอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมนั้นเป็นงานละเอียดอ่อน ควรที่จะค่อยเป็นค่อยไป ถ้าหากจะมาเน้นเอาเฉพาะเรื่องเชิงปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงหลักการที่ถูกต้องตามอุดมคติแล้ว ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า เพราะเป็นการทำลายอย่างเห็นได้ชัด
การเน้นในเรื่องเชิงปฏิบัติ มักเป็นข้ออ้างอยู่ตลอดเวลาสำหรับสังคมในประเทศด้อยพัฒนา และผลที่ออกมานั้นนอกจากจะไม่บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังออกดอกออกผลเป็นเรื่องของการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและการกระทำที่เป็นคอรัปชั่นอีกด้วย
การท่องเที่ยวที่เรียนรู้สภาพแวดล้อมไปด้วยกันที่เมืองพิมาย
ข้าพเจ้าใคร่ย้ำว่าการดำเนินการอนุรักษ์หรือพัฒนาการมรดกทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะบรรดาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่ทำลาย เพราะเป็นการมุ่งเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรม [Form] เป็นสำคัญ แต่การดำเนินงานในสถานที่ซึ่งเรียกว่าอุทยานประวัติศาสตร์ก็ดี การบูรณะโบราณสถานเช่นพวกวัดวาอารามหรือปราสาทราชวังเก่าก็ดีนั้นมุ่งที่
(๑) ทำการขุดแต่งซากอาคารหรือสถานที่ให้ลอยตัวขึ้นมา ทำการบูรณะโดยการก่ออิฐถือปูนเข้าไปใหม่ หรือยิ่งกว่านั้น สร้างต่อเติมให้สมบูรณ์ตามแบบที่ผู้รับผิดชอบคิดเห็นว่าถูก้อง
(๒) ถ้าไม่ปรับปรุงและเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของตัวอาคารหรือโบราณสถานให้เหมือนกับอดีตตามความนึกเห็น หรือตามความเข้าใจของผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ ก็มักปล่อยให้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นถูกบดบังด้วยอาคารหรือสถานที่อันสร้างใหม่ตามแบบสังคมยุคอุตสาหกรรม
ผลเสียของการกระทำในเรื่องแรกที่เกี่ยวกับการต่อเติมตัวโบราณสถานนั้นก็คือการทำลายหลักฐานที่มีอยู่แต่เดิม เป็นประการแรก ประการที่สองก็คือการต่อเติมขึ้นมานั้นนอกจากจะผิดแล้วยังเป็นการหยุดยั้งความนึกคิดหรือการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับรูปแบบของสถานที่แต่เดิมของผู้ที่มาชมหรือมาศึกษาซึ่งควรมีโอกาสนึกคิด ความนึกคิดและการสร้างจินตนาการดังกล่าวนี้ก็คือการที่จะเข้าใจความหมายที่เป็นนามธรรม [Meaning] ของสถานที่นั้นๆ นั่นเอง
ส่วนเรื่องที่สองคือความพยายามที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในอดีตของโบราณสถานแห่งนั้น ให้กลับเป็นจริงขึ้นมาก็ดี หรือการปล่อยให้มีสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ในสังคมยุคอุตสาหกรรมขึ้นมาปิดบังโบราณสถานนั้นๆ ก็ดี นับเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของโบราณสถานแห่งนั้นโดยตรง
การสร้างสภาพแวดล้อมให้กับไปสู่อดีตตามอายุของโบราณสถาน เป็นเรื่องการใช้ค่านิยมและความนึกคิดส่วนตัวมาตัดสินมากกว่าจะนำภาพของอดีตที่เป็นจริงมาให้เห็นได้ ถ้าทำโดยปราศจากการศึกษาวิเคราะห์ที่เหมาะสมแล้ว ก็เท่ากับเป็นการยกเมฆขึ้นมาแสดงทำให้เกิดความเข้าใจผิดหลงผิดได้ ส่วนการปล่อยปละละเลยให้สถานที่แห่งนั้นถูกปิดบังด้วยอาคารใหม่ๆ ในยุคอุตสาหกรรมนั้นก็คือการปิดโอกาสในการสร้างภาพเพื่อที่จะเข้าใจความหมายของอดีตนั่นเอง
การที่จะอนุรักษ์หรือพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมไทย ทำนองที่จะรักษาทั้งรูปแบบ [Form] และความหมาย [Meaning] หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมได้นั้น จะต้องยอมรับความจริงในเรื่องวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของมนุษย์ นั่นก็คือสังคมและวัฒนธรรมไม่มีสภาพที่หยุดนิ่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงและผ่านขั้นตอนต่างๆ มาเป็นลำดับ
ถ้าจะมองอย่างกว้างและง่ายๆ ก็พอจะแบ่งออกได้เป็น สังคมก่อนการเกษตร ได้แก่พวกร่อนเร่แสวงหาอาหารตามธรรมชาติไม่มีการตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเป็นเมือง สังคมเกษตรกรรมซึ่งมนุษย์ตั้งหลักแหล่งเป็นบ้านเมืองแน่นอน มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารขึ้นตอบสนองความจำเป็นในการดำรงชีวิต และสังคมอุตสาหกรรมซึ่งมีการใช้เครื่องยนต์และผลิตผลของวิทยาศาสตร์ในการควบคุมธรรมชาติและสภาพแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่
บรรดาโบราณสถานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่เป็นมรดกวัฒนธรรมของประเทศในขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นของในสมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา ลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้วนแต่เป็นของที่อยู่ในสังคมวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความสำคัญในการอนุรักษ์หรือพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ จึงอยู่ที่ต้องรักษาบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมที่สืบเนื่องกันมาของท้องถิ่นให้คงอยู่ เพราะบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมเช่นนี้จะนำสู่การเห็นภาพและการเข้าใจความหมายในลักษณะที่เป็นนามธรรมของมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านั้นได้
เพราะฉะนั้น ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นโบราณสถาน กับการรักษาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมของโบราณสถานแห่งนั้น ก็คือความพยายามที่จะไม่ไปแตะต้องอะไรจนเกินไป ถ้าหากว่าโบราณสถานนั้นๆ ยังคงสภาพดีอยู่ควรปล่อยให้อยู่ในสภาพเดิมเท่าที่จะทำได้
ไม่ควรต่อเติมด้วยสิ่งใหม่ อีกทั้งรักษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของบริเวณรอบๆ โบราณสถานนั้น ให้คงสภาพทางธรรมชาติที่มีมาแต่เดิม อย่างดีก็ควรทำเพียงการแผ้วถางต้นไม้ใบหญ้าที่สร้างความรกรุงรังจนเกินไปเท่านั้นเอง ในขณะเดียวกัน ก็ป้องกันการรุกล้ำ การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย หรือที่มีทางเสียหายต่อภาพของโบราณสถานนั้น
ถ้าเป็นดังนี้แล้ว ก็จะมองไม่เห็นว่ามีอะไรเป็นที่น่าหนักใจในการดำเนินงาน ถึงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากจนเกินไป แต่สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งก็คือ การดำเนินการค้นคว้าวิจัยแล้วจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานนั้นพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักวิชา จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การมาทัศนศึกษาของผู้ชมเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความคิดและจินตนาการย้อนเข้าไปในอดีต และในที่สุดก็เกิดความหย่อนใจสบายใจเป็นผลตามมา
ศรีศักร วัลลิโภดม : บทบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๑๒ ฉ.๒.๓ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๒๙)