หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
สงครามเมืองเชียงกรานไม่ใช่ไทยรบกับพม่า
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 10 มิ.ย. 2559, 09:59 น.
เข้าชมแล้ว 22795 ครั้ง

 

๑. หนังสือ “ไทยรบพม่า” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 

ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ อธิบายเหตุการณ์ที่ไทยรบกับพม่า” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ โดยใช้พงศาวดารพม่าฉบับหลวงเรียกว่า เรื่องมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้วที่พระไพสณฑ์สาลารักษ์ได้สำเนามาจากพม่า ร่วมกับจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศและพระราชพงศาวดาร ประกอบขึ้นเป็นการอธิบายเรื่องสงครามระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่ครั้งแรกจนครั้งสุดท้าย

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ “พรรณนาการสงครามเป็นรายเรื่องโดยพิสดาร”ซึ่งหมายถึงทรงวินิจฉัย อธิบายความเพิ่มเติมจากข้อมูลต่างๆข้างต้น จนกลายเป็นเนื้อหาใหม่ของสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่ผ่านสายตาและการนำเสนอของนักประวัติศาสตร์ ดังนั้น นักเรียนประวัติศาสตร์จึงสามารถตรวจค้นตรวจสอบ หากมีข้อมูลหรือข้อเสนอใหม่ได้อย่างแน่นอน

 

เพราะอ่านพบพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่าพ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อถึงเมืองนครสวรรค์ได้ทอดพระเนตรชีวิตผู้คนและสภาพธรรมชาติตามลำน้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านเข้าไปตามลำน้ำเชียงไกร โดยมีพระบรมราชาธิบายว่า

 

“แม่น้ำเชียงไกรนี้ เป็นทางขึ้นไปแม่ยมไปสุโขทัย สวรรคโลกได้ ในพงศาวดารว่าเสด็จไปเชียงกราน คงไปทางลำน้ำนี้ แต่เมืองจะอยู่แห่งใดถามยังไม่ได้ความ เพราะผู้ที่อยู่ในที่นี้เป็นคนมาจากที่อื่น ได้ความแต่ว่า ถ้าจะไปบางคลานอำเภอเมืองพิจิตร คงจะถึงในเวลาพลบค่ำ ได้ทำคำสั่งเรื่องที่จะตรวจสอบแม่น้ำเก่า…”

 

ในพงศาวดารที่มีพระมหากษัตริย์เสด็จไปเชียงกราน คงมีเพียงสมเด็จพระไชยราชาธิราชตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า  “ศักราช ๙๐๐ จอศก (พ.ศ.๒๐๘๑) แรกให้พูนดิน ณ วัดชีเสียงใสเดือนหกนั้น แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าและพระเจดีย์ ถึงเดือน ๑๑ ก็เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน เถิงเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ  เพลาค่ำประมาณยามหนึ่งเกิดลมพายุพัดหนักหนา และคอเรืออ้อมแก้วแสนเมืองมานั้นหัก และเรือไกรแก้วนั้นทลาย อนึ่ง เมื่อเสด็จมาแต่เมืองกำแพงเพชรนั้นว่าพระยานารายณ์คิดเป็นขบถ และให้กุมเอาพระยานารายณ์นั้นฆ่าเสียในเมืองกำแพงเพชร”

 

ซึ่งเหมือนกับพงศาวดารอื่นๆอีกหลายฉบับ ต่างกันแต่เพียงศักราช  ข้อความตอนสมเด็จพระไชยราชาเสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน ในพ.ศ.๒๐๘๑ กลายเป็นสงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งแรก โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายสอบค้นกับพงศาวดารพม่าและจดหมายเหตุของปินโตชาวโปรตุเกส ความว่า

 

ในสงครามครั้งที่ ๑ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คราวพม่าตีเมืองเชียงกราน ปีจอ พ.ศ.๒๐๘๑ ว่ากองทัพพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เมืองตองอูมาตีเมืองหงสาวดีและเมืองเมาะตะมะ จัดการรวบรวมหัวเมืองมอญในมณฑลนั้นแล้วจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงกรานซึ่งเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๐๘๑

 

“เมืองเชียงกรานนี้มอญเรียกว่า เมืองเดิงกรายน์ ทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่า เมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พลเมืองเป็นมอญ แต่เห็นจะเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทำนองพระเจ้าตะเบงชะเวตี้จะคิดเห็นว่าเป็นเมืองมอญ จึงประสงค์จะเอาไปเป็นอาณาเขต

 

เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้มาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่า ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีปรากฏแต่ว่า “ถึงเดือน ๑๑ เสด็จไปเมืองเชียงกราน” เท่านี้ แต่มีจดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสว่า ครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชเกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน (เหตุด้วยพวกโปรตุเกสชำนาญใช้ปืนไฟ ซึ่งในสมัยนั้นชาวตะวันออกยังมิสู้จะเข้าใจใช้) ได้รบพุ่งกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนครทรงยกย่องความชอบพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน แล้วพระราชทานอนุญาติให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดวาสอนศาสนากันตามความพอใจ จึงเป็นเหตุที่จะได้มีวัดคริสตังและพวกบาทหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา”  (ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ เล่มที่ ๕ :๒๕๐๖, หน้า ๑๑–๑๒)

 

 

๒. สมเด็จพระไชยราชา ในหนังสุริโยไท

 

การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.๑๕๓๗–๑๕๕๘ ตอนที่เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามไม่มีตอนใดที่กล่าวถึงการสงครามกับพม่า แต่เป็นสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ดังนี้

“เราไปถึงกรุงศรีอยุธยา [Odia] ข้าพเจ้าใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มที่นั่นใช้เงิน ๑๐๐ ดูกาต์ ที่เพื่อนให้ยืมมานั้นเพื่อซื้อสินค้าตั้งใจว่าจะเอาไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นขณะเดียวกันกับที่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงทราบว่าพระเจ้ากรุงเชียงใหม่[Chiammay] อันเป็นพันธมิตรกับพวกทิโมกูโฮ[Timocouhos] พวกลาวและแกว ชนชาติซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตอนเหนือเมืองกำแพงเพชร [Capimper]กับพิษณุโลก[Passiloco] ได้มาล้อมเมืองกีติรวัน[Quitirvan] อยู่ จึงโปรดฯให้ป่าวประกาศไปทั่วราชธานีว่า บุคคลใดที่ยังไม่แก่เฒ่าและไม่ง่อยเปลี้ยเสียขา ให้เตรียมพร้อมที่จะไปในกองทัพทุกคน ตลอดแม้คนต่างด้าวก็เช่นกัน นอกจากว่าจะเลือกเอาทางออกไปให้พ้นประเทศของพระองค์เสียภายใน ๓ วันเท่านั้น สำหรับชาวโปรตุเกสซึ่งได้รับความยกย่องในประเทศนี้เหนือกว่าชนชาติอื่นๆนั้น พระองค์ก็โปรดฯให้กรมพระคลัง [Combracalam]ผู้รักษาพระนครมาขอร้องให้ร่วมไปในกองทัพของพระองค์ด้วยความสมัครใจ โดยพระองค์จะทรงแต่งตั้งให้เป็นกองร้อยรักษาพระองค์อันเป็นการบังคับเราอย่างยิ่ง กระทั่งว่าในจำนวนชาวโปรตุเกส ๑๓๐ คนนั้น ต้องโดยเสด็จงานพระราชสงครามด้วยถึง ๑๒๐ คน

 

กองทัพนั้นเคลื่อนที่ไปโดยทางชลมารคเป็นเวลา ๙ วัน จึงถึงเมืองหน้าด่านชื่อเมืองสุโรพิเสม [Suropisem] ห่างจากเมืองกีติรวันประมาณ ๑๒–๑๓ ลิเออ และพักอยู่ที่นั่นถึง ๗ วัน เพื่อรอขบวนช้างที่เดินมาโดยทางสถลมารค พอขบวนช้างมาถึงพระองค์ก็ทรงนำเข้าโจมตีพวกที่ล้อมเมืองอยู่ทันที เป็นผลให้ข้าศึกแตกพ่ายไปภายในไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงบังคับให้พระนางแห่งกีเบน[la reine de Guiben] ถวายเครื่องราชบรรณาการ เข้ายึดค่ายรอบทะเลสาบเมืองสิงกะปาโมร์[Singapamor]หรือเชียงใหม่ได้ ๑๒ แห่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา มีการฉลองชัยกันอย่างครึกครื้นถึง ๑๒ วันตามธรรมเนียมทางศาสนาของพวกนอกศาสนาเหล่านั้น” (การท่องเที่ยวผจญภัยของแฟร์นัง มังเดซ ปินโต ค.ศ.๑๕๓๗–๑๕๕๘ ,สันต์ ท. โกมลบุตร(แปล) :๒๕๒๖ :หน้า ๖๕–๖๗)

 

พม่าย้ายศูนย์อำนาจทางการเมืองจากตอนเหนือของลุ่มอิระวดีสู่บริเวณหัวเมืองมอญแถบเมาะตะมะของกษัติรย์พม่าในราชวงศ์ตองอู เมื่อราว พ.ศ.๒๐๘๔ ซึ่งทำให้ควบคุมเมืองท่าการค้าในยุคเริ่มแรกของการค้าทางทะเลที่ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทได้ และเริ่มต้นทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีลักษณะเป็นเมืองท่าเช่นเดียวกัน พม่าเข้าโจมตีที่พระนครศรีอยุธยาครั้งแรกคราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้างเมื่อพ.ศ.๒๐๙๑ และยึดเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๑ ก่อนจะถึงสงครามช้างเผือกและสงครามเสียกรุง ในพ.ศ.๒๑๐๖และ พ.ศ.๒๑๑๑ ตามลำดับ

 

แต่พงศาวดารพม่าก็ไม่มีเรื่องที่รบกับกรุงศรีอยุธยาและพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ได้ชัยชนะเหนือเมืองเมาะตะมะเมื่อพ.ศ.๒๐๘๔ หลังจากสงครามเมืองเชียงกรานราว ๓ ปี  (สุเนตร ชุตินธรานนท์ :พม่ารบไทย, ๒๕๓๗ หน้า ๑๔๖–๑๔๗)

 

ในสงครามครั้งนั้น จึงเป็นการสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเชียงใหม่ในยุคที่กำลังอ่อนแอในเรื่องศูนย์อำนาจ พ.ศ.๒๐๘๑ที่เกิดสงครามเมืองเชียงกรานเป็นปีสุดท้ายของพระเมืองเกษเกล้า มหาเทวีจิรประภาครองเมืองชั่วคราวระหว่างพ.ศ.๒๐๘๘–๒๐๘๙ ก่อนที่พระไชยเชษฐาจากล้านช้างจะมาครองเมืองเชียงใหม่ และปล่อยให้พม่ายึดครองเชียงใหม่ในราวอีก ๑๐ กว่าปีต่อมา

 

เมืองเชียงกรานน่าจะอยู่บริเวณใกล้เคียงกับเมืองกำแพงเพชรและเมืองพิษณุโลก ในจดหมายเหตุลาลูแบร์การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาถึงนครสวรรค์โดยทางเรือใช้เวลา ๒๕ วัน แต่ถ้ารีบเร่งอาจใช้เวลาเพียง ๑๒ วัน ปินโตชาวโปรตุเกสเล่าว่าใช้เวลาเดินทาง ๙ วันจึงถึงเมืองหน้าด่าน Suropisemซึ่งน่าจะอยู่เหนือขึ้นไปจากนครสวรรค์ไม่ไกลนักเพื่อรอทัพทางบก แล้วรวมทัพทางบกต่อไปถึงเมืองเชียงกรานหรือ [Quitirvan]ที่ห่างไปราว ๕๐–๖๐ กิโลเมตร

 

๓. แผนที่แสดงตำแหน่งบริเวณปากลำน้ำเกรียงไกร หรือลำเชียงไกรในอดีต

ที่แยกออกจากแม่น้ำน่าน เหนือเมืองนครสวรรค์

 

บริเวณเมืองเชียงกรานจึงควรจะอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างอำนาจทางการเมืองของล้านนาและกรุงศรีอยุธยา เหนือกำแพงเพชรและพิษณุโลกขึ้นไปแต่ไม่น่าจะเข้าเขตทุ่งเสลี่ยมเมืองเถินเมืองลี้ซึ่งอยู่ในเขตล้านนา บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงกรานที่เหมาะสมคือ ในกลุ่มเมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ซึ่งระยะทางจากสุโขทัยถึงศรีสชันาลัยอยู่ในราวระยะ ๕๐–๖๐ กิโลเมตร เมืองเชียงกรานจึงน่าจะอยู่ที่ศรีสัชนาลัยมากที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณเหนือปากน้ำโพขึ้นไป ลำเชียงไกรต่อกับแม่น้ำยมผ่านบริเวณกลุ่มเมืองเหล่านี้ ดังพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า

 

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อลำน้ำและตำบลในแถบนี้เป็น แม่น้ำเกรียงไกรและตำบลเกรียงไกร ตามชื่อกำนันคือ ขุนเกรียงไกรกำราบพาล ในสมัยรัชกาลที่ ๗  ปากน้ำเชียงไกรอยู่เหนือปากน้ำโพเล็กน้อย อยู่ฝั่งตรงข้ามและต่ำกว่าปากคลองบอระเพ็ดไม่มากนัก ปัจจุบันปากคลองแคบลงกว่าที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์มาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกกันว่าปากคลองบางพระหลวงมากกว่าแม่น้ำเกรียงไกร และแทบไม่มีผู้ใดรู้จักในชื่อลำเชียงไกรแล้ว

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : เคยพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

อัพเดทล่าสุด 9 เม.ย. 2561, 09:59 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.