“โคกคอน” วัฒนธรรมชายขอบของชุมชนลุ่มน้ำโมงในยุคเหล็ก
การขุดค้นโดยกรมศิลปากรหลังจากมีการขุดโดยชาวบ้านและพบโบราณวัตถุจำนวนมากแล้ว
ภาชนะที่ใช้ในการอุทิศในการฝังศพ พบว่าเป็นเอกลักษณ์เด่นของชุมชนในเขตโคกคอนนี้
บทความนี้เป็นการเสนอแนวคิดในการมองชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโคกคอนจากสิ่งที่พบเห็นซึ่งเป็นรูปแบบของพิธีกรรมการฝังศพและโบราณวัตถุที่พบไม่มากนัก ดังนั้น เมื่อผสมผสานกับฐานข้อมูลของชุมชนร่วมสมัยในเขตแอ่งอารยธรรมอีสานที่มีอยู่ จึงทำให้รับรู้ร่องรอยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางประการที่ชี้ให้เห็นว่า ชุมชนโคกคอนไม่ได้เกิดขึ้นและมีอยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางของกลุ่มวัฒนธรรมสำคัญทั้งในแอ่งสกลนครและแอ่งโคราชก็ตาม
ลุ่มน้ำโมง
ลำน้ำโมงเกิดจากลำน้ำหลายสายที่ไหลจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างจังหวัดเลยและจังหวัดอุดรธานี ไหลผ่านอำเภอสุวรรณคูหาผ่านช่องเขาภูพระบาทและภูผาแดง จากนั้นผ่านที่ราบลุ่มของอำเภอบ้านผือและไปออกลำน้ำโขงบริเวณบ้านน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย บริเวณลำน้ำโมงตอนนี้อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำและบางส่วนเป็นที่หล่มน้ำท่วมขังในบางฤดูหรือที่เรียกว่าป่าบุ่งทาม ซึ่งคล้ายคลึงกับภูมิประเทศบริเวณปากน้ำส่วนที่ต่อกับลำน้ำโขงทั่วไปในเขตอีสาน และลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้พบว่า ไม่เป็นที่นิยมในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด
ที่ตั้งบริเวณลุ่มน้ำโมงเป็นส่วนที่อยู่ชายขอบของแหล่งวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพราะอยู่ห่างจากศูนย์กลางของวัฒนธรรมทั้งในบริเวณลุ่มน้ำชีตอนบนและบริเวณลุ่มน้ำสงครามตอนบน ทิศเหนือนั้นติดแม่น้ำโขงใกล้กับอำเภอศรีเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองพรานพร้าว ทางฝั่งขวาคือเวียงจันทน์ ต่ำลงมาเล็กน้อยคือเวียงคุกที่มีห้วยบังพวนเป็นลำน้ำสำคัญ อันเป็นกลุ่มเมืองหลวงของลาวล้านช้าง ทางด้านตะวันตกเป็นที่สูงของเทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งข้ามไปทางฝั่งตะวันตกใกล้กับแม่น้ำโขงพบแหล่งหมืองทองแดงที่ภูโล้น อำเภอสังคม จังหวัดเลย อันเป็นแหล่งผลิตแร่ทองแดงในลักษณะหลอมเป็นก้อนสมัยเมื่อราว ๓,๐๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว
ทางด้านตะวันออกคือเขตตัวจังหวัดหนองคายต่อกับอำเภอเพ็ญและอำเภอสร้างคอมที่ต่อเนื่องกับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนครอันเป็นเขตวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์แบบบ้านเชียง ส่วนทางด้านใต้มีเทือกเขาภูพานคำในเขตจังหวัดหนองบัวลำภูที่ต่อเนื่องกับกลุ่มวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของลุ่มน้ำชีตอนบนบริเวณรอบภูเก้า อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู และโดยรอบภูเวียง ในจังหวัดขอนแก่น
แผนที่แสดงที่ตั้งของแหล่งโบราณคดี บริเวณจังหวัดหนองคายและอุดรธานี
ชุมชนโบราณบริเวณบ้านโคกคอน
บ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อยู่ในเขตที่ราบลุ่มทางฝั่งขวาของลำน้ำโมง ห่างจากเทือกภูพระบาทในราว ๑๕–๑๖ กิโลเมตร เป็นโคกเนินใหญ่ล้อมรอบด้วยทุ่งนา ชาวบ้านขุดพบโครงกระดูกตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ และมีการขุดหาของเก่ากันเรื่อยมานอกจากนี้ ในบริเวณศาสนสถานกลางหมู่บ้านยังพบการปักเสมาหินซึ่งเป็นรูปแบบวัฒนธรรมในสมัยทวารวดีและจากคำบอกเล่ายังพบเหรียญเงินที่พบกันทั่วไปในวัฒนธรรมสมัยนี้ด้วย ซึ่งในบริเวณนี้พบว่ามีหลักฐานของชุมชนในสมัยทวารวดีอยู่หลายแห่ง เช่น พบการปักเสมาหินทรายกว่า ๕๒ ชิ้น บริเวณ “เวียงนกยูง” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ห้วยน้ำโมง ห่างจากโคกคอนราว ๕ กิโลเมตร ซึ่งเสมาบางชิ้นมีการสลักภาพเล่าเรื่องชาดกในพุทธศาสนาและเก็บรักษาไว้ที่วัดหินหมากเป้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานของการปักเสมาหินในวัฒนธรรมทวารวดีตลอดบริเวณลุ่มน้ำโมงตั้งแต่บริเวณภูพระบาทที่บ้านกะลึมและวัดพระบาทบัวบก-วัดพระบาทบัวบานที่แสดงให้เห็นการกำหนดเขตศักดิ์สิทธิ์ด้วยการปักเสมาทั้งแปดทิศ และพบเสมาหินทรายตามแหล่งชุมชนโบราณอีกหลายแห่งเรื่อยไปจนถึงเขตกลุ่มเมืองเวียงจันทน์ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง
ใกล้กับบ้านโคกคอน พบว่ามีชุมชนที่มีลักษณะเป็นโคกเนินหลายแห่ง และจากคำบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่าพบโบราณวัตถุที่คล้ายคลึงกัน แต่อาจจะไม่มากเท่าที่บ้านโคกคอน เช่น บ้านโพนพระ บ้านโพนตาล บริเวณวัดบ้านจอก และบ้านโพนธาตุ ซึ่งพบเศษภาชนะ เครื่องมือเหล็ก จากคำบอกเล่าเหล่านี้ น่าจะแสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณที่บ้านโคกคอนเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่อยู่อาศัยรวมกลุ่มกันหลายแห่งในรัศมีไม่ไกลกันนัก และลักษณะการตั้งบ้านเรือนและการฝังศพก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นโคกขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีการหลากของลำน้ำโมงที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก
การสำรวจจาก “สิทธิพร ณ นครพนมและเย็นจิต สุขวาสนะ” พบว่า มีแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็กที่บริเวณวัดถ้ำดาลกอกไม่ไกลจากบ้านโคกคอนนัก ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นเนินหินทรายบางแห่งมีร่องรอยของการขุดโพรงลึกและมีน้ำใต้ดิน พบเพียงเครื่องมือเหล็กรูปแบบต่างๆ และก้อนแลงที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กซึ่งพบเป็นจำนวนมาก การถลุงเหล็กในบริเวณภาคอีสานหลายๆ แห่งมักจะใช้ก้อนแลงจากชั้นแลงใต้ดินนำมาเป็นแหล่งแร่เพื่อถลุงเอาแร่เหล็กมาตีขึ้นรูปเป็นเครื่องมือมากกว่าที่จะนำแร่จากสายแร่ในภูเขามาถลุง อย่างไรก็ตาม ไม่พบหลักฐานของการถลุงเหล็กที่เป็นชิ้นเป็นอันหรือรูปแบบของการอยู่อาศัยเช่นแหล่งฝังศพในบริเวณนี้ นอกจากประติมากรรมรูปผู้หญิงคู่หนึ่ง แกะจากหินทรายที่มีรูปลักษณ์แปลกตาไม่อาจจัดประเภทให้เข้ากับรูปแบบศิลปะตามที่คุ้นเคยกันได้แต่อย่างใด
จากรายงานของทั้งสองท่านยังกล่าวอีกว่า พบร่องรอยชองการหลอมถลุงสำริดและเหล็กในบริเวณลุ่มน้ำโมงกว่า ๔๐ แห่ง โดยเฉพาะที่บ้านหนองบัว ตำบลโคกคอน เป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่กว่าที่อื่น หากมีการพบตามที่กล่าว ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญอันแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีความเกี่ยวพันกับแหล่งแร่ทองแดงที่ภูโล้นในอำเภอสังคมอยู่บ้าง เพราะอยู่ไม่ห่างไกลเท่าใดนักหากนำแร่เหล่านี้ผ่านมาตามลำน้ำโขงแล้วแพร่กระจายไปตามลำน้ำสาขา การขนส่งตามลำน้ำโขงนี้น่าจะสัมพันธ์กับการผลิตเครื่องมือและเครื่องประดับของชุมชนร่วมสมัยในเขตวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย การเป็นจุดส่งผ่านหรือแหล่งหลอมหรือผลิตสำริดจะกลายเป็นจุดเด่นของชุมชนในเขตโคกคอนหรือวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ในเขตลุ่มน้ำโมงนี้เลยทีเดียว
โบราณวัตถุที่พบจากโคกคอน ประกอบด้วยเครื่องสำริด เศษภาชนะดินเผา
หินกะเทาะ หินขัด ลูกปัดแก้วและหิน กำไรหิน กระดูกสัตว์ใหญ่
รายงานการขุดค้นของนักโบราณคดีจากกรมศิลปากรกล่าวถึงโบราณวัตถุที่พบในหลุมขุดค้นซึ่งฝังไว้ร่วมกับศพ นอกจากภาชนะดินเผาเป็นหม้อก้นกลมขนาดเล็กๆ และภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มากสำหรับฝังศพทารก ยังพบเบ้าหลอมสำริดลักษณะเป็นถ้วยมีปากจีบ แม่พิมพ์ประกบทำจากหินทรายสำหรับใช้หล่อหัวขวานสำริด ขวานหินขัด แต่ไม่พบว่ามีเครื่องมือเหล็กจากรายงานการขุดค้นแต่อย่างใด
และจากหลักฐานที่ชาวบ้านขุดและเก็บรักษาไว้บางส่วนก็พบโบราณวัตถุในลักษณะเช่นเดียวกัน คือ พบโครงกระดูกในภาชนะแต่เมื่อไม่ใช่เป็นแบบที่เขียนสีเหมือนที่บ้านเชียงจึงไม่ค่อยมีคนรับซื้อ ส่วนภาชนะที่เขียนสีแดงอยู่บ้างก็เป็นลายเรขาคณิตซึ่งคล้ายกับลวดลายของภาชนะในเขตลุ่มน้ำชีตอนบนมากกว่า และพบเครื่องประดับพวกกำไล กะพรวนสำริด รวมทั้งเศษสำริดมากมาย ลูกปัดแก้วสีต่างๆ แม่พิมพ์หินทรายสำหรับหล่ออาวุธที่มีลักษณะเป็นเงี่ยง กำไลหิน แวดินเผาขนาดต่างๆ หินขัดขนาดต่างๆ หินกะเทาะแบบหลังเต่าสองด้านซึ่งหินเหล่านี้น่าจะนำมาจากแม่น้ำโขงซึ่งพบจำนวนหลายชิ้น ตะกรันโลหะ ฟันและกระดูกของสัตว์ใหญ่ เครื่องมือเหล็กจำนวนหนึ่ง และกล้องสูบยาดินเผาซึ่งเป็นสิ่งของในยุคสมัยล้านนาและล้านช้างซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนที่ใกล้กับแม่น้ำโขง ที่สภาพพื้นที่และอากาศสามารถปลูกยาสูบได้อย่างดี
จะเห็นได้ว่าชุมชนที่โคกคอนมีความรู้เรื่องและความชำนาญการหล่อสำริดเป็นอย่างดี เพราะพบทั้งเบ้าหลอม แม่พิมพ์ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากสำริดมากมาย ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับแหล่งหลอมถลุงสำริดจากรายงานที่พบตามลำน้ำโมงกว่า ๔๐ แห่ง
แม้จะมีลักษณะของชุมชนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในยุคเหล็ก ซึ่งมีการบ่งชี้จากรูปแบบการฝังศพ ลักษณะของภาชนะที่เปรียบเทียบกับที่อื่นๆ การผลิตสำริดที่น่าจะสัมพันธ์กับการผลิตทองแดงแถบภูโล้น และการใช้เครื่องมือเหล็ก ซึ่งทั้งหมดกำหนดอายุโดยการประเมินได้ว่า ไม่น่าจะมีการอยู่อาศัยที่โคกคอนเก่าไปกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว
โบราณวัตถุหลายประเภทที่พบทำให้เห็นลักษณะเฉพาะของชุมชนแห่งนี้ซึ่งกล่าวโดยรวมไม่จำแนกอายุสมัยคือ หินกะเทาะซึ่งเป็นหินจากท้องน้ำโขงจำนวนหนึ่งและขวานหินขัดขนาดต่างๆ เครื่องมือหินเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ามีการนำมาใช้อยู่ตลอดมาแม้จะเป็นในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายก็ตาม และในสมัยล้านช้างที่มีการใช้กล้องสูบยาดินเผา การใช้ที่รองภาชนะรูปลิ่มซึ่งเป็นสิ่งที่พบทั่วไปในเขตวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง บ่งชี้ให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับแม่น้ำโขงที่อยู่ไม่ไกลนัก นอกจากนี้ ยังมีการอยู่อาศัยต่อมาในสมัยทวารวดีจนถึงล้านช้าง ซึ่งก็เป็นรูปแบบการอยู่อาศัยที่มักพบในแหล่งโบราณคดีในเขตลุ่มน้ำชีตอนบนที่มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องจนถึงสมัยทวารวดี มีการปักเสมารอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จนบางแห่งมีการขุดคูน้ำคันดินเพิ่มขึ้นด้วย
รูปแบบของภาชนะดินเผาซึ่งมีลักษณะพิเศษแบบโคกคอนคือ ภาชนะขนาดใหญ่ก้นกรวยมน ปากกว้างผาย เนื้อหนา ซึ่งประเมินด้วยสายตาขนาดราว ๖๐–๘๐ เซนติเมตร ตกแต่งภายนอกด้วยลายเชือกทาบขนาดใหญ่ และใช้ดินปั้นแบนๆ กว้างราว ๑-๒ นิ้ว แปะเป็นรูปลายก้นหอยและผูกเป็นรูปโบว์ ซึ่งน่าจะเป็นเอกลักษณ์พิเศษของรูปแบบภาชนะแบบโคกคอน
เศษภาชนะดินเผาของภาชนะขนาดใหญ่จากโคกคอน มีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
และใช้การขดเป็นลายก้นหอยและลายโบ ส่วนชิ้นส่วนทางด้านซ้ายเป็นการเขียนลายสีดำแดงบนพื้นเคลือบน้ำดินสี้ม
ผสมกับลายเชือกทาบ ซึ่งเป็นรูปแบบภาชนะที่คล้ายคลึงกับกลุ่มลุ่มน้ำชีตอนบน
การฝังศพเด็กหรือการฝังศพครั้งที่สองในภาชนะขนาดใหญ่พบอย่างชัดเจน เช่น ที่ดอนกลาง บ้านกุดกวางสร้อย จังหวัดหนองบัวลำภู ที่โนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งการตกแต่งภาชนะอาจะมีความต่างกันคือ เขียนลายสีน้ำตาลแดงบนภาชนะสีส้ม แต่ก็เป็นการใช้ภาชนะขนาดใหญ่ ซึ่งคล้ายคลึงกับภาชนะใส่กระดูกจากการฝังศพครั้งที่สองซึ่งเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องกับการรับอิทธิพลทางพุทธศาสนาในเขตลุ่มมูล-ชีตอนล่างหรือในเขตทุ่งกุลามากทีเดียว
นอกจากนี้ รูปแบบภาชนะอย่างหนึ่งคือ การเขียนลายสีแดงคล้ำบนพื้นผิวภาชนะสีนวลเป็นรูปลายเหลี่ยมหรือคดโค้งตกแต่งด้วยการขีดทั้งกากบาทและเส้นสีแดงเล็กๆ และการเขียนลายสีดำแดงบนพื้นผิวสีส้มผสมกับลายเชือกทาบก็เป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับภาชนะในกลุ่มลำน้ำชีตอนต้น
จากหลักฐานที่ปรากฏดังกล่าว จึงทำให้เห็นว่าลักษณะทางวัฒนธรรมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่โคกคอน มีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับวัฒนธรรมในกลุ่มลุ่มน้ำชีตอนบนมากกว่าวัฒนธรรมแบบบ้านเชียงในแถบอุดรธานีและสกลนคร อย่างไรก็ตาม ชุมชนโคกคอนในเขตลุ่มน้ำโมงนี้ก็เป็นเพียงเขตวัฒนธรรมที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง ดังนั้น เราจึงไม่พบหลักฐานที่มีรูปแบบเหมือนกันเสียทีเดียวนัก
โคกคอนวัฒนธรรมชายขอบ
เขตวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งอารยธรรมอีสาน มีศูนย์กลางที่สามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ อยู่ ๔ แห่งคือ
ลุ่มน้ำสงครามตอนบน หรือกลุ่มวัฒนธรรมแบบบ้านเชียง ตั้งอยู่ในแอ่งสกลนคร มีลำห้วย หนองน้ำ แยกย่อยอีกมากมาย เช่น หนองหานกุมภวาปี ห้วยหลวง ห้วยด่าน ลำน้ำสวย ห้วยยาม ห้วยปลาหาง ห้วยศาลจอด อันเป็นแหล่งที่มีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น สำรวจพบแหล่งโบราณคดีในเขตนี้มากถึง ๑๒๗ แห่ง นิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบซึ่งมีเนินดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ใกล้กับลำน้ำอย่างน้อยสองสายไหลผ่าน ส่วนในเขตที่ราบลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงในเขตลุ่มสงครามตอนล่างในส่วนที่ต่อกับแม่น้ำโขงจะไม่พบชุมชนในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง
ลุ่มน้ำชีตอนบนอยู่ในเขตที่ราบขั้นบันไดระดับสูงทางตอนบนของลำน้ำชีบริเวณลุ่มห้วยทรายขาว ลำน้ำพรม ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพอง และแม่น้ำชี ในเขตจังหวัดขอนแก่น การตั้งถิ่นฐานของชุมชนกระจายอยู่ตามพื้นที่ทั้ง ๓ ระดับ คือ ที่ราบเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่าน พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานไม่ต่ำกว่า ๘๐ แห่ง จากการศึกษาของ ชลิต ชัยครรชิต พบว่า ชุมชนในบริเวณนี้ มี ๒ กลุ่ม คือ
กลุ่มห้วยทรายขาวกระจายอยู่ตามลำห้วยทรายขาวทางตอนต้นของลำน้ำพอง สภาพพื้นที่เป็นที่ราบเชิงเขาพบว่าการตั้งถิ่นฐานอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว และต่อเนื่องมาถึงสมัยเหล็ก ที่มีการขุดค้นคือ โนนป่ากล้วย ส่วนทางตอนบนของพื้นที่ในเขตภูเก้าและพื้นที่ราบเชิงเขาเพชรบูรณ์ทางตอนบนของพื้นที่ เช่น โนนเขาวง บ้านอีเลิด ดอนกลาง บ้านกุดกวางสร้อยในเขตรอบภูเก้า ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนสมัยยุคเหล็กซึ่งมีการใช้เครื่องมือเหล็กและเครื่องใช้สำริด
กลุ่มลุ่มแม่น้ำชี กระจายอยู่ตามเขตลำน้ำสาขาของแม่น้ำชีและที่ราบลุ่มแม่น้ำชี โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำไหลผ่านเขตแม่น้ำชี มีหลักฐานของชุมชนค่อนข้างหนาแน่น ในเขตพื้นที่นี้มีการขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่ง เช่น ที่โนนนกทา บ้านนาดี กิ่งอำเภอหนองนาคำ ในเขตลำน้ำพอง โนนเมือง อำเภอชุมแพ รวมทั้งโนนชัยและบ้านกอก ในเขตลุ่มแม่น้ำชี อายุของการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการทางวัฒนธรรมอยู่ในช่วงระหว่าง ๕๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช หรือ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว หลักฐานโลหะที่พบมีทั้งเครื่องมือเหล็กและเครื่องประดับสำริด
รูปแบบของภาชนะในกลุ่มวัฒนธรรมนี้มีความหลากหลายและเห็นได้ชัดว่าเป็นตัวของตัวเอง ประดับลวดลายขูดขีดลายเชือกทาบ และเขียนสี เคลือบน้ำโคลนสีแดง ต่อมามีการฝังศพซึ่งอยู่ในช่วงยุคเหล็ก และมีการฝังศพเด็กในหม้อใส่กระดูก ซึ่งเป็นหม้อยาวก้นกรวยมนและมีฝาปิด สีแดงดำและสีดำ ลายเชือกทาบ ซึ่งคล้ายคลึงกับภาชนะใส่กระดูกในเขตลุ่มมูล-ชีตอนล่าง ในเขตนี้ชุมชนหลายแห่งมีความต่อเนื่องของการอยู่อาศัย เพราะพบว่ามีการขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบและปักเสมาหินในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อเข้าสู่สมัยทวารวดี
ลุ่มน้ำมูลตอนบนบริเวณลุ่มมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมา รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ “กลุ่มวัฒนธรรมทุ่งสำริด” แหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์มักตั้งอยู่บนเนินดินสูงท่ามกลางที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ซึ่งมีลำห้วยสาขาจากลำน้ำมูลจำนวนมาก
ลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างชุมชนในกลุ่มวัฒนธรรมนี้กระจายกันอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างฝั่งเหนือของลำน้ำมูลและฝั่งใต้ของลำน้ำชี ในเขตจังหวัดมหาสารคาม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร ศรีษะเกษ จนถึงอุบลราชธานี ในชั้นวัฒนธรรมที่อยู่เหนือการฝังศพพบภาชนะสำหรับใส่กระดูก ที่เรียกว่าเป็นการฝังศพครั้งที่สอง คือการนำชิ้นส่วนกระดูกต่างๆ ที่มีการฝังไว้ชั่วคราวมาทำพิธีฝังใหม่โดยการใส่ในภาชนะใส่กระดูกขนาดใหญ่ อันเป็นประเพณีที่เห็นได้ชัดเจนในเขตวัฒนธรรมนี้และเป็นประเพณีที่ปฎิบัติต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี
ชิ้นส่วนภาชนะที่มีการเขียนลายสีแดงบนเนื้อภาชนะสีนวล
ลักษณะเช่นนี้พบได้ในกลุ่มภาชนะลุ่มน้ำชีตอนบนที่อยู่ไม่ห่างไกลกัน
เมื่อพิจารณาจากแหล่งที่ตั้งของศูนย์กลางกลุ่มวัฒนธรรมทั้ง ๔ แห่ง จะพบว่าบริเวณลุ่มน้ำโมงซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับลำน้ำโขง เป็นบริเวณที่ห่างไกลจากศูนย์กลางทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งในเขตลุ่มน้ำสงครามและลุ่มน้ำชีตอนบน ด้วยลักษณะภูมิประเทศ ที่ตั้ง ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมแสดงให้เห็นว่า ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำโมงเป็นเขตวัฒนธรรมชายขอบของวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งมีศูนย์กลางเป็นเครือข่ายชุมชนขนาดใหญ่ในที่อื่นๆ ดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว
แต่กลุ่มวัฒนธรรมบริเวณลุ่มน้ำโมงแห่งนี้ แม้จะมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับวัฒนธรรมร่วมสมัยในเขตลุ่มน้ำชีตอนบนแต่ก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง เช่น รูปแบบของภาชนะดินเผา รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในเขตเทือกเขาภูพระบาทกับผู้คนในลุ่มน้ำโมงที่อยู่ไม่ห่างไกลกันเท่าใด แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางซึ่งน่าจะเป็นวาระสำคัญในรอบปี และวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แถบแม่น้ำโขง
กลุ่มวัฒนธรรมขนาดเล็กในเขตลุ่มน้ำโมง นับเป็นชุมชนชายขอบที่เพิ่มบริบทของการศึกษาชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งอารยธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี
บรรณานุกรม
กศมา เกาไศยานนท์. แหล่งโบราณคดีโนนเมืองเมืองโบราณ๑๘,๓-๔ กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๓๕ (หน้า ๑๗๒–๑๘๕)
กองโบราณคดี. อดีตอีสานโรงพิมพ์การศาสนา, กรงเทพฯ:๒๕๓๑
ชลิต ชัยครรชิต. ยุคเหล็กอีสาน : พัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม เอกสารสำเนาประกอบการสัมมนาเมธีวิจัยอาวุโส สกว. รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม เรื่อง ยุคเหล็กในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๔๑.(อัดสำเนา)
ชาร์ลส ไฮแอม, รัชนี ทศรัตน์. สยามดึกดำบรรพ์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย บริษัทสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จำกัด กรุงเทพฯ:๒๕๔๒
สิทธิพร ณ นครพนม. “พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจังหวัดหนองคาย” วารสารภาษาไทย หมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ๑๐, ๑ มิถุนายน-ตุลาคม ๒๕๔๒.
Donn Bayard. The Pa Mong Archaeological Survey Programme, 1973-1975University of Otago Studies in Prehistoric Anthropology, Vol.13, 1980
Richard N. Wilen. Excavations at Non Pa Kluay, Northeast ThailandBAR International Series 517, England: 1989
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ : เคยพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๘ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๔๕)