หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
การศึกษาสังคมไทยผ่าน “ภูมิวัฒนธรรม”
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 1 มี.ค. 2554, 16:28 น.
เข้าชมแล้ว 39029 ครั้ง

การศึกษา “ภูมิวัฒนธรรม” [Cultural Landscape] เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานสำคัญอันนำไปสู่ความเข้าใจใน นิเวศวัฒนธรรม [Cultural Ecology] ของผู้คนในท้องถิ่นซึ่งมี ชีวิตวัฒนธรรม [Way of Life] ร่วมกันใน ชุมชนของชาติพันธุ์ [Ethnic Village]

 

เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่โดยถ่องแท้ ต้องทำความเข้าใจภูมิหลังที่มีมาแต่เดิมนับพันปีในสังคมชาวนา [Peasant Society] เพราะผู้คนในสังคมปัจจุบันที่เป็นคนรุ่นใหม่ มีชีวิตอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมจะไม่รู้จักและไม่เข้าใจในรากเหง้าของแผ่นดินและผู้คน เพราะมองแต่สภาพแวดล้อมใกล้ตัวในปัจจุบันและอนาคต ทั้งงานวิจัยทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ส่วนใหญ่นั้นเน้นเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการมองอดีตอย่างหยุดนิ่งและเน้นแต่เรื่องปัจจุบัน

 

 

ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมทางภูมิวัฒนธรรมแทบทุกแห่งทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบกระเทือนจากการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศที่เป็นสังคมเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง รวมทั้งผู้คนท้องถิ่นก็เคลื่อนย้ายออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ จนแทบไม่อาจให้ข้อมูลถึงความเป็นมาในอดีตได้ เป็นสิ่งที่ทำให้การรับรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมขาดหายไป

          

การศึกษาท้องถิ่นโดยพิจารณาความสำคัญของสภาพแวดล้อมซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิต สังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

          

การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ “ภูมิวัฒนธรรม” ที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมในอดีตและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันจากปัจจัยต่างๆ ในฐานความคิดซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตวัฒนธรรมของมนุษย์ในมิติต่างๆ อันจะเป็นรากฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสภาพแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่นอันหลากหลาย หรือเป็นความรู้พื้นฐานสำคัญที่นำไปใช้ในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นแก่สถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจนเพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และเกิดจากความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ อย่างแท้จริง

 

ความหมายของภูมิวัฒนธรรม

ภูมิวัฒนธรรม [Cultural Landscape] คือความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรม ซึ่งในบริบททางสังคม-วัฒนธรรมหมายถึงลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ [Geographical Landscape] ในอาณาบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น บริเวณป่าเขาลำเนาไพร ท้องทุ่ง หนองบึง แม่น้ำลำคลอง หรือปากอ่าวชายทะเล อันสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คนในท้องถิ่น จนเป็นที่รู้จักร่วมกันและมีการกำหนดนามชื่อเป็นสถานที่ต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นแผนภูมิหรือแผนที่เพื่อสื่อสารถึงกัน และอาจสร้างเป็นตำนาน [Myth] ขึ้นมาอธิบายถึงความเป็นมาและความหมายความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสถานที่และท้องถิ่นนั้นๆ 

 

 

ดังนั้น ในภูมิวัฒนธรรมจึงประกอบด้วยองค์ประกอบในการศึกษาที่สำคัญ คือ     

ภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ [Cultural Landscape] ลักษณะของภูมิประเทศที่สำคัญในการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของมนุษย์ เช่น หุบ แอ่งที่ราบ ลุ่มน้ำ ภูดอย บุ่งทาม ฯลฯ ซึ่งจะปรากฏเป็นชื่อสถานที่หรือชื่อบ้านนามเมือง เช่น สันทราย สันป่าตอง ซับจำปา ชอนสารเดช มาบตาพุด ภูกระดึง พุเตย ฯลฯ เป็นจุดเด่นที่สำคัญของชาวบ้านในท้องถิ่นหรือนักเดินทางที่เข้ามาในพื้นที่ อย่างเช่น แหลมสิงห์ ซึ่งมีโขดหินรูปคล้ายหัวสิงห์ (ถูกฝรั่งเศสยิงเสียหายไปแล้ว) ตรงปากน้ำจันทบุรี เขาย้อย เขาอีโก้ซึ่งมีรูปร่างแปลกตากว่าเขาลูกอื่นที่เพชรบุรี

  

นิเวศวัฒนธรรม [Cultural Ecology] หมายถึงพื้นที่เฉพาะซึ่งมนุษย์สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาเป็นท้องถิ่นต่างๆ แต่ละแห่งย่อมไม่เหมือนกัน นิเวศวัฒนธรรมในแต่ละแห่งนั้นมักเป็นการมองจากคนภายในที่มีต่อสภาพแวดล้อมอย่างละเอียด เห็นความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางชาติพันธุ์หลายชุมชนในพื้นที่เดียวกัน จากนั้นมีการกำหนดหรือสร้างเป็นองค์ความรู้ในการดำเนินชีวิต สร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน สร้างประเพณี ความเชื่อในพื้นที่เดียวกัน

           

ชีวิตวัฒนธรรม [Way of Life] หรือโครงสร้างที่อยู่ในชีวิตประจำวันอันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วยโครงสร้างสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่น การเป็นเครือญาติ การเป็นกลุ่มทางสังคมต่างๆ  

          

ดังนั้น การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทาง “ภูมิวัฒนธรรม” จึงต้องศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีต และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันจากปัจจัยต่างๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตวัฒนธรรมของมนุษย์ในมิติต่างๆ

          

เพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสภาพแวดล้อมในมิติจากภายในและภายนอกที่ชัดเจนและลึกซึ้ง

 

ความสัมพันธ์ในระหว่างมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและอำนาจเหนือธรรมชาติ

ในโครงสร้างทางสังคมโดยพื้นฐานของมนุษย์ มีองค์ประกอบของความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดการเกี่ยวพันของผู้คนภายในอยู่ ๓ ประการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อันทำให้เกิดสำนึกร่วมของการอยู่รวมเป็นกลุ่มภายในพื้นที่ทางวัฒนธรรมเดียวกัน

 

          

 

ในภูมิวัฒนธรรมต่างๆ นั้น ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและเป็นพลวัตเหล่านี้คือ หัวใจสำคัญในการพิจารณาสังคมของมนุษย์ในท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาตินั้น คือสิ่งที่สะท้อนให้แลเห็นภูมิจักรวาลที่อยู่เบื้องหลังของภูมิวัฒนธรรม และสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคม

          

และในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยมีสัญลักษณ์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลของผู้คนในท้องถิ่นนี้ จะเชื่อมโยงและเกาะเกี่ยวให้คนในท้องถิ่นที่ต่างชุมชนและต่างเผ่าพันธุ์อยู่ร่วมกันในบ้านเมืองเดียวกันได้อย่างราบรื่น  นอกจากจะเป็นระบบสัญลักษณ์ที่เป็นศูนย์กลางจักรวาลของท้องถิ่นแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยการมีอำนาจเหนือผู้คนที่ดินที่น้ำ สภาพแวดล้อมและทรัพยากรต่างๆ ของท้องถิ่นด้วย

         

 

 

อำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้เกิดจารีตประเพณี พิธีกรรม และรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ทำให้คนร่วมท้องถิ่นเดียวกัน ต้องเชื่อต้องฟังและปฏิบัติ องค์ประกอบในความสัมพันธ์ทั้งสามประการ ทำให้เห็นและเข้าใจได้ว่า “ภูมิวัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรม” นั้น มีความหมายลึกลงไปถึงการเป็นระบบสัญลักษณ์ [Symbol] และภาพพจน์ [Image] ของภูมิจักรวาล [Cosmology] ในการรับรู้ของคนในท้องถิ่น [Perception] ด้วย

 

บ้านเมืองในนิเวศวัฒนธรรมอันหลากหลายและการสืบทอดความรู้ผ่านระบบสัญลักษณ์

ในสภาพนิเวศตามธรรมชาตินั้นประกอบด้วย แม่น้ำ ลำน้ำใหญ่น้อย หนอง บึง ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ความเข้าใจเรื่องพลวัตของธรรมชาติแวดล้อมนั้น ทำให้ไม่มีการตัดขาดความสัมพันธ์ในระบบนิเวศจากภูเขาสูงอันเป็นต้นน้ำลำธารไปจนถึงลำห้วยสาขา แม่น้ำและแหล่งพักน้ำตามหนองบึงที่ไหลหมุนไปตามฤดูกาล การเชื่อมโยงของระบบนิเวศเหล่านี้ทำให้เกิดความสมดุล และรักษาคุณภาพของระบบนิเวศอันหลากหลายที่มิใช่มีเพียง “น้ำ” หรือ “ปลา” แต่คือสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติรวมทั้งมนุษย์ด้วย

    

ผู้คนในสมัยโบราณโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจำนวนมาก นิยมสร้างบ้านเมืองถิ่นฐานตามลำน้ำเล็กๆ และริมหนองบึงขนาดใหญ่เพื่อไม่ต้องกังวลต่อการพัดพาของน้ำที่ไหลแรงที่อาจทำให้บ้านเรือนล่มจมเสียหาย และปรากฏอยู่ในตำนานหลายเรื่องเกี่ยวกับการสูญหายของบ้านเมืองจากภัยธรรมชาติเช่นนี้

          

ริมหนองและบึงต่างๆ จะมีระบบนิเวศแบบน้ำท่วมที่ขึ้นและลงตามฤดูกาล มีการปลูกข้าวทำนาแซงหรือนาทามที่มีการสร้างแนวคันดินหรือทำนบกักน้ำเพื่อปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวเมื่อน้ำลด หรือหากปีใดน้ำมากก็จะเสียข้าวไปแต่ได้อาหารพวกปลาต่างๆ มาทดแทน 

          

ในนิเวศวัฒนธรรมเหล่านี้จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควบคุมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยมีการกำหนดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ล่วงล้ำไม่ได้ และใช้ในการทำพิธีกรรมตามประเพณีในฤดูกาลที่เกี่ยวข้อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและให้คำทำนายอันเป็นหลักประกันในอนาคตเพื่อปกป้องมนุษย์ในธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีผูกพันร่วมกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นเข้าใจร่วมกันและจดจำ รวมทั้งเล่าสืบต่อกันมาร่วมกันในพื้นที่นั้นๆ

    

      

 

ดังนั้น ความเข้าใจใน “ภูมิวัฒนธรรม” นั้นมีความหมายสำหรับคนในท้องถิ่น เพราะสร้างขึ้นจากผู้สร้างที่เป็นคนในท้องถิ่นผ่านทางตำนานเรื่องเล่าต่างๆ [Myth] ซึ่งเป็นระบบสัญลักษณ์ ไม่ใช่เรื่องเล่าตรงๆ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เมื่อผ่านกาลเวลานานเข้าก็มีการแปรเปลี่ยนความหมายแตกต่างไปได้บ้าง

          

ดังนั้น การศึกษาภูมิวัฒนธรรมจึงต้องมีการแปลความหมายเหล่านั้นตามความคิดและจินตนาการในอดีตกาล หรือจากความคิดของผู้คนในท้องถิ่นเหล่านั้น จึงจะเห็นความหมายและความสำคัญที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

          

ตำนาน คือเรื่องเล่าจากคนรุ่นหนึ่งผ่านสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง มีทั้งที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจากการบอกเล่าจากความทรงจำถ่ายทอดปากต่อปากภายในท้องถิ่นอย่างสืบเนื่อง  ในตำนานเหล่านี้มักจะกล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของสถานที่สำคัญๆ ในท้องถิ่น และไม่ได้มีการรับรู้ที่หยุดนิ่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงในความหมายและความสำคัญผ่านผู้คน และช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อมีการขยายเส้นทางคมนาคมและการตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองก็มีการกำหนดชื่อใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

          

ภูมิวัฒนธรรมจากตำนานจึงไม่ใช่เรื่องที่หยุดนิ่งแต่จะมีการทบทวน บอกเล่าซ้ำไปมาและสร้างความหมายขึ้นใหม่ตลอดเวลา ซึ่งมีความหมายต่อผู้คนภายในที่เห็นความสัมพันธ์ในสามรูปแบบคือ ในระหว่างผู้คน ผู้คนกับธรรมชาติ และผู้คนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ส่วนคนจากภายนอกที่ไม่เข้าใจนั้นก็ต้องเรียนรู้ผ่านระบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏจึงจะเข้าใจและรับรู้ความสัมพันธ์ดังกล่าว 

          

ภูมิทัศน์แห่งความศักดิ์สิทธิ์

ในสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยพื้นฐานแต่ดั้งเดิมมักจะมีความคิดและความเชื่อที่ว่า แผ่นดิน ป่าเขา แม่น้ำ หนองบึง และลำห้วยในภูมิประเทศที่เป็นภูมิวัฒนธรรมของคนภายใน คือสมบัติของอำนาจเหนือธรรมชาติในจักรวาล ผู้คนคือผู้อยู่อาศัย หาได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง นั่นหมายถึงการยกอำนาจในการดูแลควบคุมสมบัติท้องถิ่น อันได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้แก่อำนาจเหนือธรรมชาตินั่นเอง การแบ่งแยกส่วนหนึ่งส่วนใดเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวหรือเพื่อกิจการอื่นๆ ที่ผิดธรรมชาติคือ การละเมิด ผิดต่อสังคมและผู้คนที่อยู่ร่วมกัน

          

เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นแหล่งอาหารที่ใช้ร่วมกันจึงต้องมีการจัดสรรกันอย่างหลวมๆ แต่ยุติธรรม ไม่ให้มีความเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้จนเกินไป และไม่มีสิ่งใดจะดูแลได้ดีไปกว่ามอบอำนาจนี้ให้แก่การดูแลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ

          

มีการกำหนดแหล่งศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจเหนือธรรมชาติให้เป็นศูนย์กลางภูมิจักรวาลของท้องถิ่น เพื่อผู้คนได้มาประกอบพิธีกรรมร่วมกัน เกิดสำนึกความเป็นผู้คนบ้านและเมืองในท้องถิ่นเดียวกันขึ้นมา โดยเฉพาะภูเขาที่สำคัญของท้องถิ่น เพราะมีความโดดเด่นกว่าลักษณะภูมิประเทศอื่นใด มักจะสัมพันธ์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สูงสุดและจักรวาลที่มาจากเบื้องบน ในขณะที่ผืนน้ำและแผ่นดินเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจจากเบื้องล่าง

 

         

 

ภูเขาที่โดดเด่นมีรูปลักษณะพิเศษมักจะถูกกำหนดให้เป็นที่สถิตของอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์สากลทั่วโลก เช่น “เขารังแมว” เป็นที่สถิตของเทพเจ้าแห่งแคว้นจามเหนือที่หมี่เซิน เวียดนาม “เขาถมอรัตน์” ที่ลุ่มน้ำป่าสัก สูงเด่นเป็นประธานเหนือเมืองศรีเทพที่น่าจะเป็นศูนย์กลางของแคว้นศรีจนาศะในสมัยทวารวดี ในลุ่มน้ำปิงตอนบนอันเป็นที่ตั้งเมืองเชียงใหม่ก็มีเขาดอยปุยและดอยสุเทพ เป็นประธานของเมือง ในขณะที่บริเวณต้นน้ำปิงมี “ดอยหลวงเชียงดาว” ซึ่งเป็นที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นผีใหญ่เหนือบรรดาผีบ้านผีเมืองทั้งหลายในล้านนา ในแคว้นจำปาสักของลาวที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มี “เขาภูเก้า” เป็นประธานเหนือเขาทั้งปวง

          

และลำน้ำลำธารที่ไหลจากยอดเขาเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมือง มีการกักเก็บน้ำเป็นระบบระเบียบตามลักษณะภูมิประเทศนั้นๆ สายน้ำที่ไหลลงจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์ได้รับการดูแลให้เกิดความสะอาด เพื่อใช้ในการบริโภคอุปโภค ถือเป็นทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน 

          

ความเชื่อในเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์นั้น นับเป็นที่มาของการสร้างศาสนสถานแบบสถูปเจดีย์หรือเทวาลัยที่ชาวบ้านเรียกว่า “ธาตุ”และ “ปราสาท” ให้เป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ในภูมิประเทศที่ไม่มีเขาและที่สูงแต่เป็นที่ราบลุ่ม ทุ่งนาและแม่น้ำลำคลองเพื่อให้ผู้คนเห็นได้แต่ไกล

          

ดังนั้น ตำนานพระธาตุเจดีย์ต่างๆ ที่ปรากฏทั่วไปทุกภูมิภาคในประเทศจึงมีความหมายเป็นอย่างมากที่ทำให้คนได้รู้ถิ่นกำเนิดและบ้านเมืองของตนเอง เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนในท้องถิ่นสร้างขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแปลความในระบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏในตำนานเหล่านั้น

          

ซึ่งพื้นฐานของมนุษย์ในระบบดั้งเดิมนั้นเห็นว่าพื้นที่สาธารณะเป็นของ ส่วนรวม ผ่านตัวแทนในนาม พระผู้เป็นเจ้า หรือเป็น ของหลวงหรือของพระมหากษัตริย์ ในยุคหนึ่ง แต่มนุษย์ก็เริ่มสร้างความเชื่อใหม่ๆ เพื่อท้าทายอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการควบคุมการอยู่ร่วมกันมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ ซึ่งปรากฏในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมทางฝ่ายตะวันตกที่มีความคิดควบคุมธรรมชาติและมนุษย์ด้วยกันเอง ไปจนถึงปรากฏการณ์ในยุคอาณานิคมและโลกาภิวัตน์ตามลำดับ ในขณะที่พื้นที่ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ อีกจำนวนมากไม่ได้เชื่อเช่นเดียวกัน จึงเกิดความลักลั่นขัดแย้งของความเชื่อดั้งเดิมที่ยอมต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์และปรับตัวต่อโลก กับความเชื่อที่ต้องการควบคุมและเชื่อว่ามนุษย์สามารถควบคุมโลกโดยตัดขาดมิติความสัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติออกไป

 

          

 

สังคมแห่งความหลากหลายต้องเข้าใจภูมิวัฒนธรรม

การขาดองค์ความรู้เรื่อง “ภูมิวัฒนธรรม” ทำให้คนไทยขาดความรู้และความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ทำให้ไม่เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่มีความหลากหลายแตกต่างทั้งทางชีวภาพ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม จึงมักเกิดความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เช่น ปัญหาการแย่งชิงฐานทรัพยากรของท้องถิ่นโดยหน่วยงานรัฐหรือนายทุนที่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ที่เคยมีอยู่ร่วมกัน

          

แม้การเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิดจากการยอมรับโอนอ่อนในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้งจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงในหลายพื้นที่หลายท้องถิ่น แต่ก็ถือว่ายังไม่อาจเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน เพราะธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความอ่อนแอเป็นทุนเดิม มิติความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปในยุคปัจจุบันคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมด แต่กลับมีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา

          

เช่นที่ “หนองหานกุมภวาปี” อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี อันเป็นพื้นที่ซึ่งจะกระทบกระเทือนจากโครงการขุดเหมืองแร่โปแตสของบริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย การทำแร่โปแตสจะทำให้ชั้นหินเกลือขึ้นมาตามแร่ที่ขุดเป็นจำนวนมหาศาล อาจทำให้เกิดสภาพดินเค็มอย่างควบคุมไม่ได้ และเมื่อมีการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นของชาวบ้านในลักษณะประชาพิจารณ์ขึ้นก็มีเด็กนักเรียนของโรงเรียนในท้องถิ่นได้ขึ้นมาอภิปรายว่า การขุดแร่โปแตสที่ทำให้เกลือขึ้นมานั้น เป็นเสมือนการกินกระรอกด่อน (เผือก) ในตำนานผาแดงนางไอ่ เพราะกระรอกด่อนหรือกระรอกขาวนั้นหมายถึงเกลือที่อยู่ใต้ดิน จะทำให้บ้านเมืองเกิดความวิบัติเหมือนในตำนานที่ผู้คนพากันกินกระรอกเผือกแล้วบ้านเมืองล่มจม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการบอกเล่าและความเชื่อที่ถูกปรับแต่ยังคงความหมายเดิมที่ยังไม่ได้สูญหายไปแต่อย่างใด

          

 

ทุกวันนี้การรับรู้ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมขาดหายไป ผู้คนในสังคมปัจจุบันที่เป็นคนรุ่นใหม่มีชีวิตอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมอาจไม่รู้จักและไม่เข้าใจในรากเหง้าของแผ่นดินและผู้คน เพราะมองแต่สภาพแวดล้อมใกล้ตัวในปัจจุบันและอนาคต สภาพแวดล้อมทางภูมิวัฒนธรรมแทบทุกแห่งทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบกระเทือนจากการปรับเปลี่ยนภูมิประเทศที่เป็นสังคมเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง รวมทั้งผู้คนท้องถิ่นก็เคลื่อนย้ายออกไปอยู่ตามที่ต่างๆ จนแทบไม่อาจให้ข้อมูลถึงความเป็นมาในอดีตได้

          

และการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมซึ่งมองอดีตอย่างหยุดนิ่งและเน้นแต่เรื่องปัจจุบัน อาจไม่ใช่คำตอบที่หยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ล่มสลายของสังคมท้องถิ่นได้ หากขาดเสียซึ่งมิติในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสภาพแวดล้อมและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ซึ่งเคยประคับประคองสังคมมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย

 

วลัยลักษณ์  ทรงศิริ ปรับปรุง / มีนาคม ๒๕๕๔

 

อัพเดทล่าสุด 20 ธ.ค. 2560, 16:28 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.