หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 16 ก.พ. 2559, 09:19 น.
เข้าชมแล้ว 54269 ครั้ง

จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ

เมืองหน้าด่านชายทะเล

 

 "พระสมุทรเจดีย์" หรือ "พระเจดีย์กลางน้ำ" สัญลักษณ์ของเมืองปากน้ำหรือสมุทรปราการ

 

ภูมิศาสตร์ทะเลตม

                

บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเหนืออ่าวไทยคือที่ตั้งของเมืองสำคัญมาแต่สมัยโบราณ คือ “เมืองสมุทรปราการ” เพราะอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำจึงนิยมเรียกว่า “เมืองปากน้ำ” เป็นพื้นที่แบบชายฝั่งทะเล [Coastal Zone] แนวชายฝั่งทะเลยาวกว่า ๔๗ กิโลเมตร ลักษณะเป็นดินโคลน ดินเหนียว และเป็นดินเค็ม ไม่มีหาดทรายใดๆ ทำให้มีกระแสน้ำขึ้นลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล ทำให้ในช่วงหน้าน้ำน้ำจะท่วมพื้นดินซึ่งเป็นดินเค็มไปทั่ว ในช่วงหน้าแล้งน้ำแห้งเมื่อน้ำจืดภายในแผ่นดินมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำทะเลจะหนุนเข้ามา บริเวณนี้มีป่าไม้ที่เรียกว่า ป่าชายเลน [Mangrove] เช่น โกงกาง แสม และป่าจาก สามเหลี่ยมปากแม่น้ำรับน้ำเหนือที่ไหลลงสู่ทะเล ผืนดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุจากตะกอนพัดพา อยู่บนโครงสร้างรอยเลื่อนทรุดตัวซึ่งบางแนวยังเคลื่อนไหวอยู่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางราว ๐.๕๐-๑ เมตร บริเวณที่ราบลุ่มคือพื้นที่ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเหนือและตะวันออกมีลำคลองมาก บางแห่งมีน้ำท่วมและน้ำเค็มท่วมถึง บางแห่งเป็นเขตบึงน้ำกร่อยขัง สภาพเช่นนี้ยากสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์ แต่ธรรมชาติก็มีส่วนผลักดันให้มนุษย์รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม สามารถพัฒนาภูมิปัญญาด้านต่างๆ มาใช้ในวิถีการดำรงชีวิตในระยะต่อมา

 

จากสภาพแวดล้อมของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ [Delta] ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้ในยุคสมัยหนึ่งกลับเปลี่ยนมาเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดบ้านเมืองและชุมชนขนาดใหญ่ในบริเวณใกล้กับปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นมา พัฒนาจนกระทั่งมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อทำการปลูกข้าวจนกลายเป็นพื้นที่เพื่อปลูกข้าวส่งออกอันกว้างใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่งเมื่อกว่าร้อยห้าสิบปีที่ผ่านมา

 

ภูมิวัฒนธรรมเมืองหน้าด่านชายทะเล

ปากน้ำพระประแดง

ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เพื่ออยู่อาศัยล่าช้ากว่าเขตอื่นๆ เช่น ในพื้นที่สูงใกล้ภูเขาซึ่งมีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์มากมายและขยายลงมาตามลำน้ำที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าภายในในสมัยทวารวดีและลพบุรี ทั้งนี้เพราะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมีสภาพแวดล้อมที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล และการหลากของผืนน้ำในช่วงหน้าฝนทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์ทำได้โดยลำบาก

 

 แต่เมื่อมีพัฒนาการในการปรับตัวของมนุษย์ในการตั้งถิ่นฐานในบริเวณใกล้กับปากแม่น้ำได้ และความเฟื่องฟูของการค้าทางทะเลในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เป็นต้นมา เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ทั้งใกล้และไกลเข้าหากันทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการค้า ทำให้เกิดชุมชนเมืองท่าใกล้ทะเล เช่นที่ กรุงศรีอยุธยา

 

การออกสู่ทะเลจากเมืองท่าภายใน นอกจากสันดอนทรายที่เป็นปราการธรรมชาติแล้ว จำเป็นต้องมี เมืองหน้าด่าน ที่ปากแม่น้ำ ในระยะแรกเริ่มคงมีชุมชนขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองทั่วไปเป็นระยะๆ ก่อนจะถึงปากน้ำ ซึ่งปากน้ำตรงนี้คงเรียกกันในหลายชื่อ คือ ปากน้ำพระประแดงบ้าง ปากน้ำบางเจ้าพระยาบ้าง และในกำสรวลสมุทรเรียก ปากพระวาล

 

 และปรากฏชื่อเมืองพระประแดงเมื่อมีการขุดลอกคลองสำโรงและคลองทับนาง ซึ่งเป็นคลองลัดระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง โดยไม่ต้องออกปากอ่าวข้ามทะเลเมื่อจะต้องเดินทางไปทางบ้านเมืองฝั่งตะวันออก และเป็นเส้นทางสำคัญสายหนึ่งในการลัดเลาะเดินทางผ่านลำคลองภายในแล้วมุ่งไปสู่กัมพูชาและเวียดนามในปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจอันใดในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ราว พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงจุดที่เป็นคลองตัดกันจึงพบเทวรูปชื่อ พญาแสนตา องค์หนึ่ง และ บาทสังฆังกร องค์หนึ่ง แล้วมีการปลูกศาลไว้ที่เมืองพระประแดงซึ่งน่าจะอยู่ไม่ไกลจากคลองสำโรง

 

ความหมายของชื่อพระประแดง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นคว้าและอธิบายว่า “ประแดง” เป็นชื่อภาษาเขมรอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนในส่วนกรมพระสุรัสวดีเรียกว่า กุมฦาแดง” และในทำเนียบศักดินาหัวเมืองเรียกว่า “ประแดง” ต่อท้ายชื่อเมืองในทำเนียบ และใช้เป็นยศในทำเนียบศักดินาพลเรือนในหลายกรมกองอีกด้วย

 

เทวรูปและชื่อเมืองพระประแดงที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมแบบเขมรนี้ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านไปตีเมืองพระนครในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ซึ่งครั้งนั้นได้อัญเชิญเทวรูปสำริดและรูปเคารพต่างๆ จากเมืองพระนครมาไว้ที่พระนครศรีอยุธยาจำนวนมาก อันเป็นการรับวัฒนธรรมในอุดมคติจากบ้านเมืองที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดจากขอมเมืองพระนครมาไว้ที่ราชธานี ทั้งรูปแบบของพระบรมมหาราชวัง ศิลปกรรมประเพณีชั้นสูง กระทั่งชื่อเมืองสองแควที่เปลี่ยนเป็นพิษณุโลกตามแบบชื่อวิษณุโลก อันเป็นชื่อของนครวัดก็เป็นร่องรอยหลักฐานอันดี 

 

ศาลที่เมืองพระประแดงคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีหลักฐานบันทึกว่าศาลเทพารักษ์ที่ไว้เทวรูปนั้นเชื่อว่าเป็น “ศาลเจ้าพ่อพระประแดง” แต่พระยาละแวกเจ้าเมืองเขมรเอาไปแต่ครั้งยกทัพเข้ามาสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แต่ตัวศาลซึ่งตั้งอยู่ปากคลองพระโขนงนั้นแม้ไม่มีเทวรูปทั้งสององค์ก็ยังเป็นที่เคารพสักการะแก่ผู้คนเดินทางผ่านที่ยำเกรงกันตลอดมา

 

คลองสำโรง

เป็นคลองขุดลัด เริ่มขุดเมื่อไหร่ไม่ปรากฏ แต่ขุดซ่อมในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ราว พ.ศ. ๒๐๖๘ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบางพลี บางเหี้ย (บางบ่อ) ไปบรรจบกับแม่น้ำบางปะกงที่ท่าสะอ้าน เมืองฉะเชิงเทรา การขุดซ่อมก็เพื่อให้เรือใหญ่ไปมาได้สะดวกเพราะเป็นเส้นทางที่สามารถเดินทางไปสู่บ้านเมืองในเขตชายฝั่งทะเลฟากตะวันออกและเขมรได้ ส่วน คลองทับนางขุดเมื่อไหร่ไม่ปรากฏเช่นกัน แยกจากคลองสำโรงไปออกทะเลอ่าวไทยที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ คลองสำโรงนี้เป็นคลองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับป้องกันพระนครทางตะวันออก และได้ขุดพบ “รูปเทพารักษ์ ๒ องค์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ จารึกองค์หนึ่งชื่อพระยาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังฆังกร ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน จึงให้พลีกรรมบวงสรวงแล้วออกมาปลูกศาล เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองประแดง”

 

ตลาดบกในเมืองปากน้ำ

 

ศาลเจ้าพ่อพระประแดง

ในคลองพระโขนงมีศาลเจ้าพ่อพระประแดงที่เดิมตั้งอยู่ปากคลองพระโขนงบริเวณท่าเรือคลองเตยกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เล่าต่อกันมาว่า บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งวัดหน้าพระธาตุหรือวัดมหาธาตุ ต่อมาผาติกรรมเพื่อสร้างการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ และยังมีวัดเก่าอีก ๒ วัดนอกเหนือจากศาลเจ้าพ่อพระประแดง ดังนั้น บริเวณการท่าเรือในปัจจุบันน่าจะเป็นสถานที่ตั้งของชุมชนเก่าที่มีความสำคัญระดับที่มีวัดพระธาตุประจำเมือง ซึ่งก็น่าจะเป็นสถานที่ตั้งของเมืองพระประแดงแต่แรกเริ่ม มีเรื่องเล่านอกเหนือจากพงศาวดารว่าเมื่อขุดพบเทวรูป ๒ องค์แล้วได้ทำพิธีบวงสรวงพลีกรรม บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “บางพลี” และมีนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับจระเข้ใหญ่ขวางแม่น้ำ และอิทธิฤทธิ์ของพระประแดงหรือพระแผดงช่วยปกป้องชาวบ้านจากจระเข้ร้าย

 

ในนิราศถลางของหมื่นพรหมสมพัตสร ว่า

 

ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้า นึกกลัวเจ้าพระประแดงแรงนักหนา
บนศาลศรีมีเศียรของกุมภา  แต่พันตาพันวังหัวฝังดิน
พระประแดงแข็งกล้าเจ้าข้าเอ๋ย ขอลาเลยลับไปดังใจถวิล
ช่วยป้องกันกุมภาในวาริน อย่าให้กินชาวบ้านบานบุรี

 

สมุทรปราการเมืองหน้าด่านสมัยอยุธยา

เมืองพระประแดงแต่ดั้งเดิมอาจอยู่ในบริเวณปากคลองพระโขนงตรงข้ามกับบางกะเจ้าซึ่งมีร่องรอยของสถานที่สำคัญคือ วัดมหาธาตุหรือวัดหน้าพระธาตุ และมี ศาลเจ้าพ่อพระประแดง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวเรือและชาวบ้านในละแวกนั้นตั้งอยู่ปากคลองพระโขนงซึ่งปัจจุบันคือบริเวณท่าเรือกรุงเทพฯ โค้งบริเวณบางกะเจ้าบางทีก็เรียกกันว่า โค้งกระเพาะหมูหรือโค้งข้าวเหนียวบูด เพราะกว่าจะพ้นโค้งดังกล่าวข้าวเหนียวก็คงบูดเสียก่อน

 

เมื่อการค้าทางทะเลกับชาวตะวันตกเฟื่องฟู ในแผนที่สยามของชาวตะวันตกปรากฏตำแหน่งสถานที่โรงเก็บสินค้าของบริษัท VOC หรือบริษัท ดัทช์ อีสต์ อินเดีย ของฮอลันดา ซึ่งชาวฮอลันดาเรียกเหมือนชื่อเมืองท่าในประเทศของตนว่า อัมสเตอร์ดัม อยู่ห่างจากปากแม่น้ำราว ๖ ไมล์ ใกล้กับบริเวณที่เรียกว่าบางปลากด ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถพระราชทานที่บริเวณปากน้ำทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในปัจจุบันไม่ปรากฏร่องรอยหลงเหลืออยู่แล้ว

 

สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมปรากฏชื่อ “เมืองสมุทรปราการ” ซึ่งน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับ “เมืองพระประแดง” แต่ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่ามีการย้ายเมืองหรือสถาปนาเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่เดิมหรือไม่อย่างไร แต่สันนิษฐานว่าบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นเดินทางเข้าสู่พระนคร ดังนั้น นอกจากสันดอนปากแม่น้ำซึ่งเป็นปราการธรรมชาติแล้ว เมืองด่านหรือเมืองป้อมก็มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน ในระยะต่อมาเมืองป้อมที่ให้ความสำคัญสูงสุดคือเมืองบางกอกซึ่งเป็นชุมชนอยู่เข้ามาภายในลึกกว่าเมืองสมุทรปราการ และมีการสร้างป้อมปราการสำคัญคือป้อมวิไชยประสิทธิ์และป้อมเมืองบางกอกอย่างแข็งแรงโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ (ภาพป้อมเมืองบางกอก)

 

นิว อัมสเตอร์ดัมของฮอลันดา

ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ มีชาวตะวันตกชาติ ฮอลันดา (วิลันดา) เข้ามาค้าขายกับเมืองสยาม พระองค์จึงพระราชทานที่ดินบริเวณริมคลองบางปลากด ให้สร้างเป็นคลังสินค้าและตึกอาศัย ชุมชนนี้เจริญขึ้นอย่างมากจนทำให้พ่อค้าต่างชาติรู้จักเมืองปากน้ำในชื่อ “อัมสเตอร์ดัม” หรือ “นิว อัมสเตอร์ดัม” ซึ่งชาวดัตช์มักจะตั้งชื่อเมืองท่าตามบ้านเมืองต่างๆ ตามชื่อเมืองท่าของตน คือ “อัมสเตอร์ดัม” ภายหลังเมื่อการค้ากับเมืองสยามลดน้อยลงจึงทอดทิ้งคลังสินค้าและชุมชนบริเวณนี้ไป จนปัจจุบันไม่พบร่องรอยหลักฐานหลงเหลืออยู่ (ภาพแผนที่แสดงตำแหน่งสถานีการค้าของฮอลันดา)

 

ภาพหมู่ข้าราชการที่ศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ

 

เมืองนครเขื่อนขันธ์และเมืองสมุทรปราการ

ป้อมปราการแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงให้รื้อกำแพงเมืองเก่าพระประแดงหรือเมืองสมุทรปราการ เพื่อรวบรวมนำอิฐจากเมืองต่างๆ ไปสร้างกรุงธนบุรี ในช่วงผลัดแผ่นดินต่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับศึกทางทะเลเรียกว่า “ป้อมวิทยาคม” และทรงพระราชดำริจะสร้างเมืองเพื่อป้องกันข้าศึกที่ คลองลัดโพธิ์ บริเวณโค้งแม่น้ำฝั่งตรงข้าม มาสร้างสำเร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘ โดยขุดคลองลัดขึ้นอีกคลองหนึ่งเหนือคลองลัดโพธิ์ เรียกว่า “คลองลัดหลวง” เมืองดังกล่าวจึงสร้างอยู่ระหว่างคลองลัดโพธิ์และคลองลัดหลวง และสร้างป้อมปราการในบริเวณเมืองนั้น พระราชทานชื่อว่า “เมืองนครเขื่อนขันธ์” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายครัวมอญพระยามหาโยธา (เจ่ง) ตระกูลคชเสนี จากเมืองปทุมธานีที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในครั้งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองใหม่ดังกล่าว และทรงแต่งตั้งเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) ผู้น้องเป็น “พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม” เป็นผู้รักษาเมือง ชาวมอญกลุ่มนี้คือ “มอญใหม่” มักถูกเรียกว่า “มอญปากลัด” หรือ “มอญพระประแดง” 

 

ดังในนิราศถลางของหมื่นพรหมสมพัตสรหรือนายมี ที่แต่งขึ้นในราวรัชกาลที่ ๓ ราว พ.ศ. ๒๓๘๒ กล่าวถึงป้อมที่นครเขื่อนขันธ์และการบูรณาการชาวมอญให้กลายเป็นข้าแผ่นดินสยามโดยให้ขุนนางชาวมอญตั้งชุมชนดูแลเมืองป้อมปราการแห่งนี้ว่า

 

ถึงนครเขื่อนขันธ์ตะวันบ่าย ระกำกายตรึกตรองถึงน้องหญิง
เห็นปืนใหญ่นึกจะยืนให้ปืนยิง    ปืนก็นิ่งพี่ก็นั่งประทังทน 
ทัศนาธานีเห็นพิลึก พวกข้าศึกเสียวแสยงทุกแห่งหน 
ถึงใครจักหักโหมโจมประจญ คงจะป่นลงกับปืนไม่คืนมือ
ป้อมปราการก่อกั้นเป็นคันขอบ ช่องปืนรอบเรียบร้อยน้อยไปหรือ
พระยามอญกินเมืองย่อมเลื่องลือ  ประทานชื่อยศนามตามตระกูล 
พระทรงภพตบแต่งไว้แข่งขัน  คอยป้องกันไพรินไม่สิ้นสูญ 
ทั้งชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าไม่อาดูร  ก็เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย

 

บริเวณปากลัดหรือเมืองนครเขื่อนขันธ์นี้เต็มไปด้วยความคึกคัก นักเดินทางท่องเที่ยวสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้หนึ่งกล่าวว่า “น่าจะเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญที่สุด ผู้คนกรรมกรมากมายขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก แม่น้ำบริเวณนี้มีความลึกมาก และถ้าใช้คลองขุดดังกล่าวจะย่นระยะทางไปกรุงเทพฯ ถึง ๒๘ ไมล์ จากหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือเมืองพระประแดงมุ่งสู่กรุงเทพฯ บริเวณปากลัดนี้มีโซ่เหล็กเตรียมขึงแม่น้ำไว้ทั้งสองฝั่ง มีป้อมปราการทั้งที่ปากน้ำและที่ปากลัด ปืนใหญ่ประจำป้อมอย่างน้อย ๒๐๐ กระบอก ทหารอีกหลายพันคน”

 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเล็งเห็นว่าบริเวณเมืองด่านที่ปากน้ำเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับป้องกันพระนครทางทะเล จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองไปคุมการสร้างเมืองสมุทรปราการกว่า ๓ ปี บริเวณระหว่างคลองปากน้ำและคลองมหาวงษ์ จึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๕ และสร้างป้อมเพิ่มเติมที่เมืองสมุทรปราการนี้อีก รวมทั้งสร้างพระสมุทรเจดีย์หรือพระเจดีย์กลางน้ำที่เกาะกลางน้ำหน้าเมืองสมุทรปราการ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองและผู้ที่จะเดินทางผ่านเข้าสู่สยามประเทศในกาลต่อมา

 

ความสำคัญของเมืองป้อมปราการทั้งสองแห่งคือเป็นสถานที่สำหรับรับแขกบ้านแขกเมือง เช่น เวลาราชทูตหรือผู้แทนการค้าจากต่างชาติจะเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ ก็มักต้องรอน้ำขึ้นหรือรอต้นหนที่จะนำร่องเพื่อเข้าสู่ปากน้ำโดยไม่ติดสันทราย และบางครั้งการรอนั้นก็มีการเจรจากับขุนนางผู้ใหญ่ชาวสยามที่เมืองสมุทรปราการหรือเมืองนครเขื่อนขันธ์ด้วย

 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “พระประแดง” เป็นชื่อเมืองมาแต่โบราณ แม้เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองใหม่แต่ก็เป็นเมืองที่อยู่ในเขตใกล้เคียงกับเมืองพระประแดงเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็น จังหวัดพระประแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ จึงยุบลงเป็น อำเภอพระประแดง และใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ตั้งขึ้นเป็น จังหวัดสมุทรปราการ แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้ยุบจังหวัดสมุทรปราการไปรวมกับจังหวัดพระนคร และในที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงมีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการขึ้นเป็นจังหวัดใหม่อีกครั้ง

 

ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกคือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ และกิ่งอำเภอบางเสาธง ฝั่งตะวันตกคือ อำเภอพระประแดงและอำเภอพระสมุทรเจดีย์

 

ลัดโพธิ์และลัดหลวง

เป็นคลองลัดในพื้นที่บางกะเจ้าซึ่งเป็นโค้งแม่น้ำที่บางคนเรียกว่า “โค้งกระเพาะหมู” หรือ “โค้งข้าวเหนียวบูด” คลองลัดโพธิ์ขุดสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเพื่อย่นระยะทางดังเช่นความนิยมขุดคลองลัดหลายแห่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่คงมีปัญหาเหตุที่ใกล้ปากแม่น้ำเกินไป น้ำเค็มอาจขึ้นถึงชุมชนภายใน เช่น สวนแถบบางกอกและนนทบุรีได้ง่าย และยังมีเหตุผลทางความมั่นคงที่ทำให้ไม่มีการขุดคลองลัดนี้มาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีเหตุการณ์ยืนยันว่าหากขุดคลองลัดโพธิ์เช่นเดียวกับคลองลัดอื่นๆ แล้ว จะมีผลอันตรายอย่างยิ่ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จทางชลมารคไปปิดคลองปากลัดที่ปากคลองนั้นกว้างออกและน้ำทะเลขึ้นแรงเค็มมาถึงพระนคร โดยทรงให้นำอิฐกำแพงเก่าจากอยุธยาสานชะลอมบรรจุอิฐหักถมทำนบจนสูงเสมอฝั่งป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ขึ้นไปถึง

 

ที่ลัดโพธิ์นี้ชาวบ้านกล่าวว่า ในอดีตต้องมีการสร้างคันดินปิดคลองกั้นน้ำเค็มจากทะเลบริเวณหน้าวัดคันลัด เรือขนาดเล็กที่ต้องการจะผ่านต้องมีรอกกว้านขึ้นบกผ่านคันกั้นน้ำ แต่ปัจจุบันมีการรื้อคันกั้นน้ำเค็มออกเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามถนนและขุดลอกคลองเพราะไม่รู้ประวัติศาสตร์จึงไม่มีการกั้นน้ำเค็มเหมือนสมัยก่อน และอาจมีผลให้น้ำเค็มขึ้นถึงเมืองนนท์ได้ ซึ่งทุกวันนี้สวนฝั่งธนฯ และสวนเมืองนนท์ฯ แทบจะหมดไปแล้ว น้ำเค็มจะขึ้นมากน้อยอย่างไรก็คงไม่มีผลแต่อย่างใด

 

บริเวณริมคลองลัดโพธิ์เคยเป็นที่ฝังของช้างหลวงที่ล้ม (ตาย) จึงเรียกว่า “ป่าช้าช้าง” หรือ “สุสานช้าง” เป็นสถานที่รู้จักกันดีในอดีต แต่ปัจจุบันชาวบ้านปลูกบ้านเรือนจนหาร่องรอยไม่ได้แล้ว

 

สมุทรปราการเมืองป้อม

 

“ป้อมปราการที่พิทักษ์ปากอ่าวและเมืองชายทะเลนั้นโอ่อ่าและสร้างไว้แข็งแรง

ตามแบบยุโรปรอบนอกเป็นกำแพงกว้างก่ออิฐถือปูน

มีคันดินหนุนอยู่รอบในลาดลงมา

ส่วนกลางป้อมแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยใช้เก็บกระสุนดินดำ

โดยรอบปลูกเป็นโรงที่พักทหาร แต่ละป้อมมีช่องส่องปืนนับร้อย”

–สังฆราช ปัลเลอร์กัวซ์

 

 

ป้อมแผลงไฟฟ้า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สร้างสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะโดยเทศบาลเมืองพระประแดง

 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีการสร้างป้อมขึ้นอีกมากมาย ทางฝั่งตะวันออก ๓ ป้อม คือ ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร เพิ่มจากป้อมวิทยาคมที่สร้างสมัยรัชกาลแรก ทางฝั่งตะวันตกสร้างป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักกรด  ป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ และป้อมเพชรหึงซึ่งสร้างขึ้นภายหลังพร้อมเมืองสมุทรปราการ และป้อมที่เมืองสมุทรปราการอีก ๖ ป้อม ทางตะวันตกคือ ป้อมนาคราชและป้อมผีเสื้อสมุทร ส่วนตะวันออกทางฝั่งเมืองคือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมพระกาฬ และป้อมกายสิทธิ์ ส่วนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมอีก ๔ ป้อมคือ ป้อมปีกกาต่อกับป้อมประโคนชัย และป้อมตรีเพชรที่ตำบลบางนางเกรง ต่อมาสร้างเพิ่มคือ ป้อมนารายณ์กางกร และป้อมคงกระพัน ที่ตำบลบางปลากด นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมเสือซ่อนเล็บ ทางตอนเหนือของเมืองสมุทรปราการที่ตำบลมหาวงษ์ เพื่อเป็นป้อมบัญชาการจึงมีขนาดใหญ่กว่าทุกป้อมที่เคยสร้างมา

 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าป้อมปราการที่มีมาแต่เดิมไม่สามารถใช้ป้องกันศัตรูในยุคใหม่ได้จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้า ขึ้นที่ตำบลแหลมฟ้าผ่าเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ 

 

ในปัจจุบัน ป้อมเหล่านี้หมดความจำเป็นที่จะใช้งานจึงถูกรื้อถอนโดยทางราชการและถูกบุกรุกโดยราษฎร จึงเหลือเพียงบางป้อมเท่านั้น

 

ป้อมพระจุลจอมเกล้ากับวิกฤตการณ์ปิดปากอ่าว

ชาวบ้านมักเรียกอย่างสั้นๆ ว่า “ป้อมพระจุลฯ” นับเป็นเวลา ๗๐ ปีเศษที่ป้อมปราการสมัยรัชกาลที่ ๒ ใช้เป็นที่ป้องกันข้าศึกเป็นต้นมา จนถึงรัชสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแผ่นดินได้ยื่นงอกออกไปในทะเลจนถึงตำบลแหลมฟ้าผ่า ป้อมโบราณที่สร้างไว้แต่เดิมชำรุดทรุดโทรมไม่มั่นคงแข็งแรงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างป้อมเพิ่มที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทหารเรือเป็นผู้อำนวยการสร้างและดูแลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นต้นมา แล้วเสร็จราวกลางปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) พระราชทานนามว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ภายในป้อมมีปืนใหญ่อาร์มสตรอง เป็นปืนอยู่ในหลุมยกขึ้นยิงด้วยแรงน้ำมัน เรียกกันว่า “ปืนเสือหมอบ” พระองค์ทรงทดลองยิงปืนป้อมด้วยพระองค์เอง เมื่อเปิดเพียงสองเดือนเศษก็เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

 

ในยุคที่ชาติตะวันตกกำลังแสวงหาอาณานิคม ฝรั่งเศสอ้างสิทธิ์ของญวนเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ทำให้นายปาวี ยื่นข้อเสนอระหว่างการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยอ้างสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้สยามถอนทหารออกไป โดยจ่ายค่าทำขวัญให้กับชาวฝรั่งเศสที่ถูกทหารข่มเหง และปล่อยตัวชาวญวนซึ่งเป็นคนในบังคับ แต่รัฐบาลสยามคัดค้านการอ้างสิทธินี้ ฝรั่งเศสจึงตอบโต้โดยการส่งเรือรบลูแตงเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้าสถานทูตอ้างว่าเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตนและส่งกำลังเข้ามาประชิดในเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ต่อมาฝรั่งเศสขอนำเรือปืนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกสองลำ แต่รัฐบาลได้ตอบปฏิเสธไป ฝรั่งเศสจึงได้นำเรือรบทั้งสองลำบุกเข้ามาผ่านป้อมพระจุลฯ และป้อมผีเสื้อสมุทร และเรือรบที่จอดเตรียมพร้อมบริเวณปากน้ำเข้าไปจนถึงพระนครได้ หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลสยามยังไม่ยอมทำตามสิ่งที่ฝรั่งเศสต้องการทั้งหมด จนฝรั่งเศสต้องส่งเรือปืนมาปิดปากอ่าวอีกครั้ง รัฐบาลจึงต้องยินยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงรวมทั้งเข้ายึดเมืองจันทบุรีเพิ่มอีก

  

วัดสำคัญเมืองปากน้ำ

พระเจดีย์กลางน้ำ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์กลางน้ำหรือ “พระสมุทรเจดีย์” บนเกาะท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร แต่มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๓  ด้วยพระราชประสงค์ “…หวังจะให้เป็นที่ไหว้ ที่สการะบูชา แก่นานาประเทศอันมาสู่พระบรมโพธิสมภาร เปนการพระราชกุศลโกษฐานสืบไป กว่าจะสิ้นกัลปาวะสาร…” แลเห็นพระสมุทรเจดีย์เป็นสง่าแต่ไกล ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสมุทรปราการ

 

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเติมองค์พระเจดีย์ให้สูงขึ้นและประดิษฐานพระบรมธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวังจำนวน ๑๒ องค์ ทรงประกอบพิธียกยอดพระสมุทรเจดีย์และทรงห่มผ้าแดง ปัจจุบันจากเกาะกลางน้ำกลายเป็นแผ่นดินเดียวกันตรงบริเวณปากคลองบางปลากด ชาวสมุทรปราการถือว่างานนมัสการพระสมุทรเจดีย์เป็นงานประจำปีสำคัญหลังออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมใจกันไปเย็บผ้าแดงผืนใหญ่สำหรับห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ นอกจากนี้ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมายังสมุทรปราการเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชวังและพระที่นั่งขึ้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก พระราชทานนามพระที่นั่งต่างๆ คือ พระที่นั่งสมุทาภิมุข พระที่นั่งวายุสุขไสยาสน์ พระตำหนักนาฎนารีรมย์ พระตำหนักสนมนิกร โรงสันถาคารสถาน โรงศึกษาสงคราม สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ปัจจุบันไม่หลงเหลือปรากฏแล้ว

 

วัดกลางวรวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณเมืองสมุทรปราการ น่าจะเป็นวัดที่สร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา รูปทรงพระอุโบสถเหมือนกับวัดตูมที่อยุธยา ประวัติวัดนั้นมีการเขียนภาพจิตรกรรมที่พระวิหารตั้งแต่แรกสร้างจนถึงเจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๓๔-๒๔๕๓)

 

วัดบางพลีใหญ่ใน เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของบ้านเมือง มีตำนานเล่าว่าคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านนำพระพุทธรูปสำริดสามองค์ใส่แพลอยไปตามลำน้ำเจ้าพระยา องค์แรกลอยผ่านคลองต่างๆ ไปออกลำน้ำแม่กลองชาวบ้านอัญเชิญไว้ที่วัดบ้านแหลม อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม องค์ที่สองลอยผ่านคลองต่างๆ ไปออกลำน้ำบางปะกง ชาวบ้านอัญเชิญไว้ที่วัดโสธร อำเภอเมืองฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์ที่สามเลี้ยวเข้าคลองสำโรงผ่านจนมาถึงบ้านบางพลีใหญ่จึงอัญเชิญขึ้นไว้ ณ วัดนี้

 

วัดไพชยนต์พลเสพ ตั้งอยู่ริมคลองลัดหลวง อำเภอพระประแดง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕ ในรัชกาลที่ ๒ และเป็นพระอารามหลวง

 

วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดไพชยนต์พลเสพ ผู้สร้างวัดนี้คือพระยาเพชรพิไชย ต้นสกุลเกตุทัต ชาวบ้านรามัญเรียกกันว่า วัดปากคลอง

 

วัดทรงธรรมวรวิหาร อยู่ในอำเภอพระประแดง สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในบริเวณป้อมเพชรหึงโดยสมเด็จพระอนุชาธิราช เคยถือกันว่าเป็นวัดวังหน้าและต่อมาปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ถือเป็นพระอารามหลวงในชุมชนของชาวรามัญ เมืองนครเขื่อนขันธ์

 

วัดกลางวรวิหาร (วัดตะโกทอง) อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมาได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง

 

สมุทรปราการในความทรงจำ

รถไฟสายปากน้ำ

เป็นรถไฟสายแรกของประเทศไทย จากหัวลำโพงไปปากน้ำ ระยะทางกว่า ๒๑ กิโลเมตร โดยบริษัทรถไฟสายปากน้ำของเอกชนชาวเดนมาร์ก ได้รับสัมปทาน ๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายนี้ เมื่อ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ รถไฟสายนี้บางทีเรียกว่า “รถรางสายปากน้ำ” ดำเนินกิจการมาจนสภาพทรุดโทรมและเหลืออายุสัมปทานอีก ๑๐ ปีจึงเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าหรือรถราง เมื่อ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ทำให้เมืองสมุทรปราการมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกเช่นกัน การมีรถไฟที่ทันสมัยนี้เองทำให้เมืองสมุทรปราการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการเกิดชุมชนใหม่ๆ ใกล้กับสถานีรถไฟและตามทางรถไฟ

 

รถไฟสายปากน้ำหรือรถรางในภายหลังนี้ เลิกกิจการเมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งมีการตัดถนนสุขุมวิทในเวลาดังกล่าว ปัจจุบัน ถนนริมทางรถไฟเก่า จากคลองเตยเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านหน้าโรงกลั่นบางจากย่านสรรพาวุธและบางนาคือถนนที่สร้างทับแนวเส้นทางรถไฟสายปากน้ำในอดีตนั่นเอง   

  

กิจการโทรเลขโทรศัพท์ระหว่างจังหวัดเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือ ระหว่างสมุทรปราการและกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ โดยพระราชทานพระที่นั่งสุขไสยาสน์ ณ จังหวัดสมุทรปราการเป็นที่ทำการไปรษณีย์ หลังจากนั้นราว พ.ศ. ๒๔๒๔ จึงมีการทดลองใช้โทรศัพท์ที่ใช้สายโทรเลข จึงเกิดกิจการโทรศัพท์ขึ้นมาแต่นั้น

 

ถนนสุขุมวิท

 ถนนสุขุมวิทหรือทางหลวงหมายเลข ๓ เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานครที่แยกเพลินจิตไปยังสมุทรปราการ-ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด รวมระยะทาง ๓๘๗ กิโลเมตร ก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๙–๒๔๙๔  เริ่มจากพระโขนงใกล้ทางรถไฟบางกะปิไปถึงปากน้ำเป็นถนนหินใส่ฝุ่น โดยอำมาตย์เอกพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ พ.สุขุม) เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงคนที่ ๕ และตั้งชื่อทางหลวงสายกรุงเทพฯ-ตราดว่า ถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ จากนั้นได้ขยายเส้นทางจากปากน้ำไปบางปะกงและชลบุรีเลียบตามคลองชลประทานที่มีอยู่เดิม ถนนสุขุมวิทในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการถือเป็นเขตธุรกิจสำคัญแห่งหนึ่ง ตามซอยต่างๆ ตลอดแนวถนนสุขุมวิทในกรุงเทพมหานครเป็นที่อยู่ของชาวต่างชาติจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งบันเทิงใหญ่อีกด้วย

 


 

ถนนสุขุมวิท, ศาลาสุขใจอยู่คู่กับสะพานสุขตามานานราว ๕๐ ปี เป็นสถานตากอากาศที่มีชื่อเสียงในอดีต แม้วันนี้ผู้คนก็ยังนิยมไปบางปูเพื่อไปรับประทานอาหารทะเล ลีลาศรับลมทะเล และชมนกนางนวลที่สถานตากอากาศบางปู

 

สะพานสุขตาและศาลาสุขใจที่บางปู

เป็นสถานที่ตากอากาศที่มีชื่อเสียงอย่างมากเมื่อกว่า ๖๐ ปีก่อน ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทสายเก่าตรงหลัก กม.ที่ ๓๗ ห่างจากตัวเมือง ๑๐ กิโลเมตร ชายทะเลที่เงียบสงบของจังหวัดสมุทรปราการในอาณาบริเวณเกือบ ๗๐๐ ไร่ ภายในมีสวนไม้ดอกไม้ประดับมีร้านอาหาร นับว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะจะมีปูทะเลมากจึงได้ชื่อว่า “บางปู” อดีตเคยเป็นสถานลีลาศอันเก่าแก่หรูหราของบุคคลชั้นนำในวงการชั้นสูงของเมืองไทย เป็นสถานตากอากาศที่มีชื่อเสียงมาเป็นเวลานาน และเป็นสถานพักฟื้นและพักผ่อนของกรมพลาธิการทหารบก จนปรากฏในนิยายเรื่องดัง “บ้านทรายทอง” ของ ก.สุรางคนางค์  บางปูยังเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามที่โปรดปรานบางปูมากถึงกับสร้างบ้านพักส่วนตัวไว้ที่นี่ด้วย

 

บทเพลงของล้วน ควันธรรม “บางปู” บรรยายถึง “สะพานสุขตาและศาลาสุขใจ” และบรรยากาศที่แสนสบายของบางปูในอดีตไว้อย่างให้หวนระลึกถึง สะพานสุขตาเป็นสะพานที่ยื่นออกไปในทะเลยาวราวๆ ๕๐๐ เมตร สายลม ท้องทะเล และบรรยากาศโดยรอบจะดูโรแมนติก ราวเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์จะมีนกนางนวลอพยพมาหากินอยู่ตามชายทะเล บนสะพานเป็นจุดชมนกนางนวล บนสะพานสุขตามีกากหมูมาแบ่งขายให้นักท่องเที่ยวโปรยให้อาหารนก ที่ปลายสะพานจะเห็นศาลาสุขใจซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารของกรมพลาธิการทหารบก ในอดีตฟลอร์ลีลาศของที่นี่ได้รับความนิยมมาก บางปูทุกวันนี้ซบเซาลงไปมาก ป่าชายเลนที่บางตาลงและการผุดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียงยิ่งทำให้บรรยากาศดูรกรุงรังมากขึ้น

 

ในสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทหารแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่นประมาณ ๑ กองทัพได้ยกพลขึ้นบกที่สะพานสุขตาแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านในการสู้รบกับฝ่ายสัมพันธมิตรเช้าตรู่ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พร้อมกับการยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และปัตตานี

 

สภาพแวดล้อมกับการทำมาหากินและการเปลี่ยนแปลง

อ่าวไทยแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์

สภาพโดยทั่วไปของชายทะเลอ่าวไทยตอนในเป็นเขตป่าโกงกางพื้นทรายโคลนปน เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำพัดพาการตกตะกอนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ [Delta] มีแม่น้ำสำคัญหลายสายที่ไหลลงสู่ทะเลฝั่งอ่าวไทยจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับสัตว์น้ำ กุ้งหอยปูปลา ท้องน้ำความลึกโดยเฉลี่ย ๒๐-๓๐ เมตร ทั้งนี้จึงเป็นแหล่งประมงอย่างดีของประเทศ เป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านมาแต่อดีต เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการกล่าวถึงเรือค้าขายของทะเลที่นำผลผลิตมาขายที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาว่า “หน้าถ้าปตูถ้าหอยนั้นเรือลูกค้าชาวชะเลมาจอดเรือขายหอยรากหอยตะพงปูชะเลแมงดา ๑ ย่านป่าจากขายเรือกะแชงหวายชันน้ำมันยาง อนึ่งเรือจากปากเก้าศอกสิบศอกมาจอดขายจาก ๑” แสดงถึงบริเวณท่าน้ำที่ขายอาหารสดต่างๆ จากทะเลพร้อมทั้งสินค้า เช่น “จาก” ที่นำไปใช้มุงหลังคาเป็นหลักในสมัยโบราณ และในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บริเวณเมืองสมุทรปราการนอกจากจะเป็นแหล่งข้าวปลาอาหารอันอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นแหล่งส่งสินค้าจำพวกฟืนจากป่าโกงกางที่มีอยู่จำนวนมากให้กับพระนครด้วย ปัจจุบันอ่าวไทยยังคงมีเรือประมงพานิชย์น้ำเค็มในทะเลและประมงพื้นบ้านน้ำกร่อยชายฝั่ง แม้ว่าจะไม่มีความอุดมสมบูรณ์เท่ากับในอดีตก็ตาม

 

ชลประทานยุคแรกและการขยายพื้นที่ทำนา

นอกจากคลองสำโรงที่ขุดเพื่อลัดเส้นทางไปสู่หัวเมืองทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในราวต้นกรุงศรีอยุธยาแล้วบริเวณฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่างพื้นที่ในกรุงเทพฯ และแม่น้ำบางปะกง เพื่อสนับสนุนการทำสงครามกับเขมร-เวียดนาม และการขนส่งสินค้า เช่น น้ำตาลและข้าว จากพื้นที่แถบตะวันออกทางจังหวัดฉะเชิงเทราสู่ท่าเรือที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีคลองขุดลัดอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนคลองเพื่อการชลประทานขยายพื้นที่ทางการเกษตรมีมากในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔ ต่อรัชกาลที่ ๕ ได้แก่ คลองประเวศบุรีรมย์ คลองเปร็ง คลองนิยมตรา คลองหลวงแพ่ง คลองอุดมชลจร คลองเจริญ คลองบางพลีใหญ่ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลองสรรพสามิตที่ขุดในสมัยรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์

 

บริเวณพื้นที่ใกล้ปากน้ำของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้นเมื่อราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยการกวาดต้อนผู้คนจากการสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น ชาวมอญในเขตพระประแดง แขกตานีหรือชาวมุสลิมปัตตานีที่เป็นแรงงานสำคัญในการขุดคลองแสนแสบในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือชาวลาวในบริเวณเมืองสมุทรปราการ

 

เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณสมุทรปราการคือจุดเริ่มต้นการวางแผนชลประทานแบบสมัยใหม่ ทั้งเพื่อเปิดพื้นที่ทำนาไปทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และการวางแผนกั้นน้ำเค็มจากทะเลไม่ให้ขึ้นมาสู่พื้นที่ภายใน จึงมีการจัดสร้าง โครงการเชียงราก-บางเหี้ย (พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๗๔) ครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ต่ำกว่าอยุธยาแถบทุ่งเชียงรากและบริเวณบางเหี้ย กั้นระหว่างพื้นที่ทำนาและป่าชายเลน ดังนั้น ในบริเวณบางพลีและบางบ่อจึงมีระบบการชลประทานครอบคลุมเกือบเต็มพื้นที่ ทางด้านตะวันออกจึงมีคุณภาพดินดีกว่าพื้นที่อื่นจึงสามารถทำนาได้ดีและมีการทำ “ประตูน้ำชลหารพิจิตร” กั้นน้ำเค็มที่จะไหลเข้ามาสู่คลองบางเหี้ยต่อกับคลองสำโรง

 

ทุกวันนี้สมุทรปราการเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมาเกือบห้าสิบปีแล้ว การทำนาปลูกข้าวที่เคยมีมากโดยเฉพาะในอำเภอบางพลีและบางบ่อซึ่งสามารถทำนาได้ปีละสองครั้งและปลูกผลไม้ได้อีกหลายชนิดกลายเป็นอาชีพส่วนน้อย ผู้คนทำนาน้อยลง บางพื้นที่เลี้ยงกุ้งกุลาดำและเลี้ยงปลา แต่ส่วนมากไปทำงานรับจ้างในโรงงานต่างๆ ดังนั้น พื้นที่ทำการเกษตรจึงลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี

 

เรือประมงของชาวบ้านที่ปากน้ำ

 

ประมงและนาเกลือ

สมุทรปราการเป็นเมืองชายทะเล ดังนั้น อาชีพประมงจึงเป็นพื้นฐานในการทำมาหากินมาแต่โบราณ แต่แรกเริ่มเป็นเพียงการทำโป๊ะน้ำลึกและโป๊ะน้ำตื้น เช่น การทำโป๊ะปลาทู วางลอบ วางเบ็ด ต่อมาจึงมีการทำประมงน้ำลึกเพื่อการพานิชย์โดยใช้เรือตังเกวางอวนไปทั่วทั้งในอ่าวไทยรวมถึงน่านน้ำสากล เพราะทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่อย่างจำกัดนั่นเอง การขุดบ่อเลี้ยงปลา เช่น ปลาสลิด ปลาดุก ก็มีทำกันมากในเขตอำเภอพระสมุทรเจดีย์และอำเภอบางพลี

 

นาเกลือ ทำกันมากที่บ้านสาขลา ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ทำนาเกลือเป็นอาชีพหลักแต่ดั้งเดิมแล้วใช้เส้นทางคลองสรรพสามิตลำเลียงเกลือส่งไปขายไปออกคลองขุนราชพินิจใจ จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาชาวบ้านได้เปลี่ยนอาชีพมาทำวังกุ้งและเลี้ยงปูทะเลซึ่งให้มูลค่ามากกว่า  

 

ปลาสลิดบางบ่อ

บนเส้นทางถนนสุขุมวิทสายเก่าเลยบางปูไม่มากนักและก่อนถึงบางปะกงราว ๒๐ กิโลเมตร คือย่านแผงขายปลาสลิดตากแห้งบางบ่อที่โด่งดังไปทั่วประเทศ เพราะบริเวณนี้เป็นเขตน้ำกร่อยคือน้ำจืดต่อกับน้ำเค็มและเลี้ยงด้วยหญ้าแถวนั้นจึงเนื้อนุ่ม เหนียวติดมัน อร่อยต่างจากที่อื่น ปลาสลิดเหล่านี้มาจากแถวตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ปลาสลิดบางบ่อ” มากกว่า “ปลาสลิดคลองด่าน”

 

ย่านอุตสาหกรรม

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การอุตสาหกรรมจากกรุงเทพฯ ก็ขยายตัวสู่สมุทรปราการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในบริเวณฝั่งตะวันออกตามเส้นทางถนนปู่เจ้าสมิงพรายในตำบลสำโรงใต้และบางหญ้าแพรก ฝั่งตะวันออกคือ ตำบลบางพึ่ง บางครุ บางจากในอำเภอพระประแดง เพราะทำเลสะดวกใกล้กรุงเทพฯ ขุดน้ำบาดาลได้ในราคาถูก ใกล้ท่าเรือคลองเตยกรุงเทพฯ สะดวกในการขนส่งวัตถุดิบ มีถนนหลายสาย คือ ปู่เจ้าสมิงพราย สุขุมวิท สุขสวัสดิ์ทางฝั่งตะวันตก นาข้าวและสวนมะพร้าวเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมากกว่าครึ่ง โรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า ๔,๐๐๐ แห่ง ทำให้เกิดการหลั่งไหลของประชากรเข้ามาอยู่ในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการและอำเภอพระประแดงมากที่สุด

 

อุตสาหกรรมมีทั้งแบบเดิมคือ โรงสีข้าว โรงงานผลิตอาหารขนาดเล็กซึ่งกำลังหมดไป มีโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมีมลพิษมากเข้ามาแทน เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ประกอบรถยนต์ ผลิตโลหะ เหล็ก พลาสติก เคมีภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม ผลจากอุตสาหกรรมจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้สมุทรปราการต้องเผชิญกับสภาพเมืองที่สกปรกรกรุงรังไร้การจัดการเรื่องผังเมือง ลักษณะสังคมชุมชนแบบเดิมหายไปกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ศูนย์การค้า ปัญหาขยะ น้ำเสีย การจราจร เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีแรงงานต่างถิ่นเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก

 

คลองด่านกับปัญหาบ่อบำบัดน้ำเสีย

คลองด่านตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางบ่อออกไปทางบางปะกงซึ่งอยู่ไกลจากบริเวณย่านอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเขตเพาะปลูกและทำการประมง ในอดีตเรียกว่า คลองบางเหี้ยแต่มีการตั้งด่านในบริเวณนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า “คลองด่าน” ด้วย มาเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเพราะคิดว่าชื่อบางเหี้ยไม่สุภาพ

 

พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ เพื่อรองรับน้ำเสียจากบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด โครงการแต่แรกใช้พื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกับย่านโรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่บริเวณคลองด่าน แต่มีการเปลี่ยนรายละเอียดจนงบประมาณพุ่งสูงเกือบเท่าตัวมากกว่าสองหมื่นล้านบาท และเป็นโครงการบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวบ้านคลองด่านทำการต่อสู้เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงที่มาที่ไปและรายละเอียดของโครงการ จนพบว่านี่คือโครงการที่มีการทุจริตมากที่สุดในประวัติศาสตร์

 

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือสนามบินหนองงูเห่า

โครงการที่ดำริพร้อมๆ กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกๆ เพื่อสร้างสนามบินใหม่อีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดในการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศไทยแทนสนามบินดอนเมือง รัฐบาลเริ่มสำรวจพื้นที่อย่างจริงจังและกำหนดจุดที่จะใช้เป็นที่ก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่บริเวณคลองลาดกระบัง คลองประเวศ และคลองหนองงูเห่า อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการซึ่งห่างจากสนามบินดอนเมืองราว ๓๐ กิโลเมตร และเวนคืนที่ดินบวกกับที่ดินสาธารณะส่วนหนึ่งจนครบ ๒๐,๐๐๐ ไร่ โดยใช้ระยะเวลาถึง ๑๐ ปีเต็มในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๑๖

 

แต่โครงการยืดเยื้อมาตลอดเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์ให้กับสนามบินในวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕  ก่อนหน้าฤกษ์ลงเสาเข็ม ๒ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสนามบินแห่งใหม่นี้ว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ทั้งชื่อภาษาไทย ภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งความหมายให้กับสนามบินแห่งนี้ว่า แผ่นดินทอง สนามบินแห่งนี้กลายเป็นสนามบินที่ทำสถิติใช้ระยะเวลาเตรียมการและก่อสร้างทั้งหมดยาวนานถึง ๔๕-๔๖ ปี  

 

คนปากน้ำ

สมุทรปราการมีกลุ่มทางชาติพันธุ์หลากหลาย ได้แก่ กลุ่มคนไทยพื้นเมือง มลายู ลาว มอญ จีน เป็นต้น ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชาติพันธุ์นี้มีหลายสาเหตุด้วยกันคือ กลุ่มมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างชุมชนเมืองหน้าด่านป้องกันศึกทางทะเล กลุ่มลาวที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยสงครามแถบคลองมหาวงษ์และส่วนใหญ่ย้ายกลับไปอยู่แถบนครนายก กลุ่มมลายูมุสลิมที่เข้ามาทำการเกษตรและเป็นแรงงานในการขุดคลองเพื่อชลประทาน กลุ่มคนจีนที่เข้ามาค้าขาย กลุ่มชาติพันธ์ุกลุ่มต่างๆ เหล่านี้กลายเป็น “คนปากน้ำ” สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ยกตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว เช่น

 

พระประแดงแหล่งมอญ

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามเข้ามามาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาในแขวงเมืองธนบุรี นนทบุรี และนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดง พระประแดงจึงกลายเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้ขยายการตั้งถิ่นฐานไปยังอำเภอบางพลีและอำเภอบางบ่อมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ในอำเภอพระประแดงมีวัดทรงธรรม และวัดคันลัด เป็นศูนย์กลางชุมชน กลุ่มชาวไทยเชื้อสายมอญเหล่านี้ยังสามารถรักษาความเชื่อขนบธรรมเนียมประเพณีของตนไว้ได้จนถึงปัจจุบัน เช่น การนับถือผี การสวดมนต์ การเผาศพ ประเพณีสงกรานต์ และการตั้งบ้านเรือน

 

จีนผู้กุมฐานเศรษฐกิจ

บริเวณอำเภอเมืองฯ เป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยของชาวจีนซึ่งเข้ามาตั้งรกรากค้าขายริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเมืองสมุทรปราการและริมคลองสำโรงและคลองสาขา มีศาลเจ้าจีนและเจว็ดไม้ ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าพ่อบางพลีใหญ่ และศาลเจ้าตั้วปุนเถ่ากง ส่วน “ศาลเจ้าหลักเมือง” ในจังหวัดสมุทรปราการเดิมเป็นอาคารทรงไทยแต่เมื่อทรุดโทรมลงผู้ที่เคารพบูชาซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนจึงร่วมกันสร้างรูปแบบศาลเจ้าจีน เมื่อบ้านเมืองขยายให้ความสำคัญกับถนน ศาลเจ้าจึงเปลี่ยนมาอยู่ริมถนนแทน ศาลเจ้ารุ่นหลังๆ ที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่บางแห่งสร้างโดยชาวจีนไต้หวันที่เข้ามาทำโรงงานอุตสาหกรรม 

 

ประเพณีสำคัญของคนปากน้ำ

งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์และการแข่งเรือพายประเพณีจังหวัดสมุทรปราการ

งานประจำปีของจังหวัดสมุทรปราการ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันเริ่มงานเฉลิมฉลองกันนาน ๙ วัน ๙ คืน ชาวบ้านช่วยกันเย็บผ้าแดงใหญ่ใช้เวลาเย็บ ๒ วัน สำหรับแห่และห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จะเชิญขึ้นตั้งบนบุษบกแห่รอบเมือง เวลา ๑๑.๐๐ น. เชิญผ้าแดงลงสู่เรือแห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปพระประแดง แต่เดิมใช้เรือพายราว ๑๐๐ ลำ เมื่อส่งผ้าแดงขึ้นบกแล้วจะเป็นเรือที่ใช้แข่งเรือพายประจำปีที่พระประแดง เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมอนุโมทนา เมื่อถึงท่าน้ำพระประแดงทำพิธีรับผ้าแดงแห่รอบเมืองแล้วจึงยกขบวนกลับมาพระสมุทรเจดีย์ ปัจจุบันเป็นการแข่งเรือยาวจากจังหวัดต่างๆ ที่มุ่งตั้งใจมาแข่งโดยเฉพาะ บริเวณท่าน้ำพระประแดงตั้งแต่ท่าน้ำหน้าบ้านนายอำเภอพระประแดง มาสุดทางเส้นชัยที่ท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง

 

งานสงกรานต์พระประแดง

 

งานสงกรานต์พระประแดง

ชาวมอญถือปฏิบัติเคร่งครัด บางประเพณีก็กลายเป็นที่ยอมรับนำมาปฏิบัติกันในท้องถิ่น เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีปล่อยนก ปล่อยปลา บางอย่างนิยมปฏิบัติเฉพาะในหมู่ชาวมอญเท่านั้น ซึ่งประเพณีส่วนใหญ่ของชาวมอญจะแสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง

 

วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์จะมีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลกระดูกอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และกิจกรรมรื่นเริง งานประเพณีสงกรานต์ที่ขึ้นชื่อที่สุดของสมุทรปราการคือที่พระประแดง

 

 ใกล้สงกรานต์ชาวบ้านจะเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ช่วยกันกวนกาละแม หุงข้าวเหนียวแดงเตรียมไว้ทำบุญ แจกพี่น้องเพื่อนบ้าน  เตรียมหาเสื้อผ้าชุดใหม่ที่สวยงามพร้อมเครื่องประดับ การส่งข้าวสงกรานต์หรือข้าวแช่จะทำเฉพาะวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนเท่านั้น บ้านที่รับหน้าที่ทำจะปลูกศาลเพียงตา หุงข้าวสวยแต่แข็งกว่าเล็กน้อยนำไปแช่น้ำเย็นเพื่อไม่ให้เกาะตัวกัน ต้มน้ำทิ้งไว้ให้เย็นโรยดอกมะลิแล้วนำไปใส่หม้อดินกินกับไข่เค็ม ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม หรือยำชนิดต่างๆ ของหวานเป็นถั่วดำต้มน้ำตาล ผลไม้ ได้แก่ กล้วยหักมุก แตงโม จัดลงกระทงวางในถาดเท่ากับจำนวนวัดที่จะไป ซึ่งวัดมอญในเขตพระประแดงมี ๑๐ วัด สาวๆ ในหมู่บ้านจะมารับข้าวสงกรานต์เพื่อนำไปส่งตามวัดต่างๆ เจ้าของบ้านจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะไปวัดไหน เป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่จะปล่อยให้หญิงสาวนัดพบกับหนุ่มๆ ได้เป็นกลุ่มๆ ขากลับมีรดน้ำกันเพื่อเป็นสิริมงคลและสนุกสนาน 

 

สำหรับวัดมอญต้องมีเสาสูงที่เรียกว่าเสาหงส์ที่ข้างพระอุโบสถหรือใกล้พระเจดีย์ เมื่อใกล้วันสงกรานต์ชาวบ้านช่วยกันทำธงตะขาบ แต่งธงให้สวยงามด้วยผ้าสีสดสำหรับนำไปถวายวัดเพื่อติดตั้งบนเสาหงส์ จะมีการแสดงรำตำนานหงสาวดีและอื่นๆ ในขบวน รถบุปผาชาติมีสาวงามถือหงส์นั่งบนรถ บางส่วนเดินถือขวดโหลใส่ปลา ถือกรงนกเพื่อนำไปปล่อยสะเดาะเคราะห์ ส่วนธงตะขาบแต่ละผืนต้องมีคนช่วยกันแบกหามจับถือชายธงถือว่าได้บุญกุศล เมื่อแห่รอบแล้วจะแยกย้ายกันเข้าวัดของตนเอง พระภิกษุสวดมนต์ให้พร จบแล้วโห่สามลา ชักรอกดึงธงสู่ยอดเสาและผูกไว้ให้อยู่ตลอดปี แล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้มาร่วมงาน ถวายผ้าไตรแด่พระภิกษุครองผ้าที่ถวายใหม่ สรงน้ำพระสงฆ์อาวุโส รับศีลขอพรในวันสงกรานต์

 

วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน เป็นกิจกรรมทางศาสนา หลังจากนั้น ๗ วัน จะเป็นกิจกรรมรื่นเริง ประกวดนางสงกรานต์ กลางคืนเล่นสะบ้ามอญตามบ่อนต่างๆ รุ่งเช้ามีการสาดน้ำ ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ แห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่ประกอบด้วยกลองยาว หนุ่มสาวถือโหลใส่ปลา กรงนก ตามด้วยรถขบวนสาวงาม ก่อนถึงท้ายขบวนเป็นนางสงกรานต์นั่งบนรูปสัตว์ประจำปี

 

ภาพซ้าย งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์, ภาพขวา งานรับบัวบางพลี 

 

งานรับบัวบางพลี

เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของอำเภอบางพลีที่เคยมีบึงใหญ่และมีดอกบัวขึ้นอยู่มากมาย ในอดีตบางพลีมีชาวบ้าน ๓ กลุ่ม คือ คนไทย คนมอญ คนลาว เล่ากันว่า ทั้งสามกลุ่มปรึกษากันว่าจะช่วยหักร้างถางพงเพื่อทำไร่และทำสวนต่อไปจึงพยายามช่วยกันหักร้างถางพง เพื่อจะได้รู้ถึงภูมิประเทศว่าด้านไหนจะหากินได้คล่องกว่ากัน จึงต่างแยกทางกันไปทำมาหากิน คนลาวไปทางคลองสลุด คนไทยไปทางคลองชวดลาดข้าว คนมอญไปทางคลองลาดกระบัง ๒-๓ ปีต่อมา คนมอญทำนาไม่ได้ผลเพราะนกและหนูชุมรบกวนพืชเสียหายจึงพากันอพยพกลับถิ่นเดิมทางฝั่งปากลัด เริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ก่อนไปพากันเก็บดอกบัวในบึงเพื่อนำไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด และได้สั่งเสียคนไทยว่าในปีต่อไปฝากเก็บดอกบัวหลวงไว้ที่วัดหลวงพ่อโตแล้วพวกตนจะมารับดอกบัวไป ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๘ พอถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ตั้งแต่ตอนเย็นหรือค่ำ ชาวอำเภอเมืองสมุทรปราการและอำเภอพระประแดงจะชักชวนญาติมิตรเพื่อนฝูงพากันลงเรือ นำเครื่องดนตรีร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกครึกครื้นทั้งคืน พายมาตามลำน้ำเจ้าพระยาบางลำก็เข้าตามลำคลองจนเข้าสู่คลองสำโรงมุ่งตรงไปหมู่บ้านบางพลีใหญ่ รุ่งเช้า ชาวบางพลีจะเตรียมหาดอกบัวหลวงไว้ให้ผู้มาเยือน ได้นำดอกบัวไปนมัสการหลวงพ่อโตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่วัดบางพลีใน และนำดอกบัวอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้ให้ชาวมอญนำกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด การให้และการรับทำกันอย่างสุภาพ คือรับส่งและรับกันมือต่อมือ ก่อนจะให้ต้องมีการอธิษฐานและผู้รับต้องพนมมือไหว้ขอบคุณ ส่วนผู้คุ้นเคยก็จะโยนดอกบัวให้กันถือเป็นคนกันเองเมื่อนานไปก็กลายเป็นความนิยม

 

งานแห่เจ้าพ่อทัพ สำโรง      

เป็นงานประจำปีในท้องถิ่นชาวจีนที่ตำบลสำโรงเหนือ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าพ่อทัพเป็นที่พึ่งทางใจและประกอบอาชีพค้าขาย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนในสำโรงนับถือกันมาก ศาลเจ้าพ่อทัพอยู่ที่สุดซอยวัดมหาวงษ์ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกปีจะมีการจัดแห่เจ้าพ่อทัพขึ้นราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ ขบวนเหล่านี้จะหยุดเมื่อผ่านร้านค้าให้เชิดสิงโตเข้าร้าน เจ้าของร้านจะจุดประทัดรับและร่วมทำบุญ แห่ไปจนถึงตลาดปู่เจ้าสมิงพรายแล้วกลับที่เดิม มีการเฉลิมฉลอง ๓ วัน ๓ คืน มีการเล่นงิ้ว ประมูลผลไม้ และเครื่องเซ่นกลับไปบูชาเป็นสิริมงคลในการค้าขาย เมื่อเสร็จงานจะอัญเชิญกระถางธูปและเจ้าพ่อกลับไปยังศาลเดิม

 

ภาพซ้าย งานแห่เจ้าพ่อทับ สำโรง, ภาพขวา แผนที่จังหวัดสมุทรปราการ

 

การเปลี่ยนแปลงและอนาคตของเมือง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการก่อสร้างถนนสุขุมวิทผ่านจังหวัดสมุทรปราการไปสู่ภาคตะวันออก และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๑ ทำให้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๒๓ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก สมุทรปราการจึงเป็นแหล่งรองรับการกระจายตัวทางด้านอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทจากกรุงเทพมหานคร 

 

ในอดีตจังหวัดสมุทรปราการ เคยมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ตลอดถนนสุขุมวิท จากตัวเมืองเลียบชายทะเลปากอ่าวไปจนถึงตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ เป็นระยะทาง ๒๕ กิโลเมตร และฝั่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ในตำบลแหลมฟ้าผ่าและตำบลนาเกลือ ปัจจุบันป่าชายเลนมากกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นป่าชายเลนเสื่อมสภาพเพราะการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรม อีกทั้งภาวะวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดของจังหวัดสมุทรปราการในขณะนี้ เนื่องมาจากมีการสูบน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการอุตสาหกรรมอย่างมากรวมทั้งแผ่นดินทรุดตัวเป็นแอ่งใหญ่ ราว ๕-๑๐ ซม./ปี 

 

นโยบายของรัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ และฉบับที่ ๗ กำหนดให้สมุทรปราการเป็นเมืองรองรับการขยายตัวทางด้านประชากร ที่พักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และการบริการต่างๆ ตลอดจนเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งรวมทั้งจังหวัดสมุทรปราการเข้ากับพื้นที่โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีโครงการต่างๆ มารองรับ เช่น ท่าอากาศยานพาณิชย์สากลแห่งที่ ๒ (หนองงูเห่า) หรือ สนามบินสุวรรณภูมิ ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก โครงการทางหลวงกรุงเทพฯ–ชลบุรีสายใหม่ โครงการทางด่วนระยะที่ ๓ ทำให้เมืองสมุทรปราการคงไม่อาจหวนกลับไปเป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลและรักษาสภาพแวดล้อมแบบป่าชายเลนได้เช่นเดิมแล้ว

 

ในขณะที่อาชีพของชาวสมุทรปราการบางส่วนยังคงทำเกษตรกรรมแต่คนรุ่นใหม่ก็เริ่มเปลี่ยนอาชีพเป็นการรับจ้างมากกว่า พื้นที่ของชุมชนดั้งเดิมชาวสมุทรปราการเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมายาวนานหลายทศวรรษ และคนในเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงต้องการอนาคตที่ดีกว่าสภาพที่เป็นอยู่นี้แน่นอน  

 

ขอขอบคุณ ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ, บริษัท วิริยะธุรกิจ จำกัด (สำนักพิมพ์สารคดี)

อัพเดทล่าสุด 31 ธ.ค. 2559, 09:19 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.