สถานภาพการศึกษาภูมิวัฒนธรรมอ่าวปัตตานี
![]() |
อ่าวปัตตานีก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ภาพวาดโดย ดอเลาะ เจ๊ะแต |
ภูมิทัศน์วัฒนธรรม
คำว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” [Cultural landscape][1] หรือนักวิชาการบางท่านใช้ว่า “ภูมิวัฒนธรรม”[2] นำมาใช้เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดีและมานุษยวิทยาในประเทศไทยอย่างไม่แพร่หลายนัก เพราะทางตะวันตกเองก็เพิ่งเริ่มนำมาใช้โดยมีนิยามทางวิชาการอย่างชัดเจนในราวสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการใช้แนวการศึกษาแบบ “ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม” [Cultural geography] เพื่อศึกษาลักษณะภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในบริบททางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งอยู่ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์มากกว่า
แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมากลับปรากฏเป็นที่นิยมในแวดวงการศึกษาทางสถาปัตยกรรมด้าน “ภูมิสถาปัตย์”[Landscape architect] ที่ต้องศึกษาประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมอันเป็นรูปลักษณ์ทางกายภาพที่จับต้องได้ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะเมืองไทยตื่นตัวในกิจกรรมการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO ซึ่งมีบทกำหนดพื้นที่ซึ่งมีเอกลักษณ์เด่นพิเศษโดยอธิบายว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรมคือพื้นที่ที่ได้รับการนิยามไว้โดยกรรมาธิการมรดกโลกว่าเป็นพื้นที่เด่นทางภูมิศาสตร์หรือทรัพย์สินที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติและผลงานของมนุษย์ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ”[3]
ทศวรรษที่ ๑๙๙๐ จึงมีคำนิยามทางวิชาการที่ชัดเจน นักประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาเรื่อง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ทางสังคมได้ตระหนักว่า สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานสำคัญในการอธิบายกลุ่มทางสังคม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และวัฒนธรรม ผ่านคำอธิบายความหมายของ “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” กลุ่มที่นำมาใช้มากขึ้นในเวลาต่อมาคือ นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยาและนักทฤษฎีทางสังคม
โดยพื้นฐานของการศึกษาลักษณะนี้คือ การพิจารณาองค์ประกอบซึ่งเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์อันซับซ้อนของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่รวมเอาวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติไว้ด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือเป็นมรดกร่วมของชุมชนและผู้คนในสังคมจนมีความสำนึกของพื้นที่หรือท้องถิ่น [Sense of places] ผลจากการศึกษาความสัมพันธ์ดังกล่าวจะช่วยให้บุคคล ชุมชนจนถึงรัฐหรือประเทศชาติเข้าใจตนเอง จากการศึกษาทั้งพื้นที่ เศรษฐกิจ นิเวศวิทยา สังคม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกหรือสิ่งแวดล้อม มนุษย์กับความเชื่อและมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง
“ภูมิวัฒนธรรม” [Cultural landscape] ในทัศนะของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ประมวลวิธีการศึกษาท้องถิ่นในมุมมองทางโบราณคดีและมานุษยวิทยาที่เน้นกระบวนการทางสังคม โดยกล่าวว่า นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “พื้นที่” แล้ว ยังนำไปสู่เรื่องของ “นิเวศวัฒนธรรม” [Cultural ecology] ที่หมายถึงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ รูปแบบของชีวิตและ ระบบนิเวศน์ที่สนับสนุนการดำเนินชีวิต เมื่อสร้างบ้านเมืองจนเกิดเป็น “ท้องถิ่น” อันประกอบด้วยชุมชนหลายๆ ชุมชนร่วมกัน มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม แต่ทางกลับกันก็มีสำนึกในท้องถิ่นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎ กติกา ข้อบังคับ ความเชื่อ ตำนาน ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ[4]
ภูมิวัฒนธรรมอ่าวปัตตานี
อ่าวปัตตานีเกิดจากธรรมชาติของปากน้ำเป็นพื้นที่ริมฝั่งทะเล สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงเกิดขึ้นจากสันทรายแล้วกลายเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลขนานกับแผ่นดินเรียกกันว่า “แหลมโพธิ์” ซึ่งมีความยาวประมาณ ๒๒ กิโลเมตร และมีโอกาสสูงมากที่อ่าวจะปิดกลายเป็นทะเลสาบคล้ายการเกิดขึ้นของทะเลสาบสงขลา ในอ่าวปัตตานีมีพื้นที่ราว ๗๕ ตารางกิโลเมตร เหมาะสมต่อการประมงขนาดเล็กแบบยังชีพของชาวบ้านเพราะแหลมโพธิ์ช่วยกันลมมรสุมในทุกฤดูกาล ในอดีตก็ใช้เป็นที่กำบังลมทอดสมอของเรือสินค้า ทำให้เกิดบ้านเมืองที่พัฒนามาจากชุมชนเมืองท่าภายในบริเวณอำเภอยะรังที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินราว ๑๕-๑๖ กิโลเมตร มาเป็นเมืองปาตานีซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งริมอ่าวด้านในและเจริญขึ้นมาจากการค้าทางทะเลเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑
ชาวบ้านรอบอ่าวปัตตานีเรียกบริเวณท้องน้ำบริเวณอ่าวปัตตานีว่า “ลาโอะ ดาแล” ที่แปลว่า “ทะเลใน” ควบคู่ไปกับการเรียกชื่อบริเวณทะเลด้านนอกอ่าวปัตตานีที่เรียกว่า “ลาโอะ ลูวา” ซึ่งแปลว่า “ทะเลนอก”[5]
ลำน้ำสองสายที่ไหลสู่อ่าวปัตตานี คือ แม่น้ำปัตตานีและคลองยามูหรือคลองยะหริ่งระบบไหลเวียนน้ำภายในอ่าวที่ผสมผสานกันระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็มและน้ำกร่อย เป็นระบบนิเวศแบบทะเลตมและป่าชายเลน ตะกอนจากปากน้ำที่ไหลลงอ่าวปัตตานีทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหารจำนวนมากภายในอ่าวให้สูงขึ้น ส่วนลำน้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งของเมืองปัตตานีคือคลองตุหยงหรือคลองหนองจิกไหลลงสู่ทะเลที่ทางตะวันตกของอ่าวปัตตานี
ความสำคัญของแม่น้ำปัตตานีคือเป็นแหล่งน้ำที่มีการตั้งถิ่นฐานและมีชุมชนขนาดใหญ่เล็กจำนวนมากพึ่งพาลำน้ำสายนี้ โดยทางกายภาพมีการปรับและเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับทั้งที่โดยธรรมชาติและการเปลี่ยนแนวทางเดินของน้ำโดยมนุษย์ ตลอดทั้งสายของแม่น้ำปัตตานี ตั้งแต่ต้นน้ำในเทือกเขาสันกาลาคีรีจนมาถึงบริเวณปากน้ำมีชุมชนอยู่อาศัยใกล้กับลำน้ำนี้มาหลายยุคหลายสมัย ทั้งชุมชนที่ยะหา เมืองลังกาสุกะที่ยะรังในพื้นที่ราบลุ่มตอนกลาง ตลอดจนถึงเมืองปาตานีที่ริมชายฝั่งปากแม่น้ำ
![]() |
แผนที่แสดงตำแหน่งของเมืองโบราณภายในที่ยะรัง |
“แม่น้ำปัตตานี” มีต้นน้ำอยู่ระหว่าง เขาตาปาปาลังกับ เขาฮันกูส ซึ่งเป็นสันปันน้ำในเขตแดนไทยกับมาเลเซีย สันปันน้ำบริเวณนี้เป็นต้นน้ำสำคัญในคาบสมุทรมลายูทางฝั่งไทยคือ แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี ส่วนทางฝั่งมาเลเซียคือ แม่น้ำกลันตัน แม่น้ำเประ แม่น้ำสุไหงปาตานี เทือกเขาแถบนี้นอกจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญแล้ว ยังเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกเริ่มแรกและเป็นสินค้าส่งออกของบ้านเมืองทั้งสองฝั่งทะเลมาแต่โบราณ จึงอยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทรระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทยที่มีบ้านเมืองในยุคเริ่มแรกใช้เส้นทางติดต่อระหว่างบ้านเมืองภายในแหลมมลายูตลอดมา
ในปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านอำเภอเบตง กิ่งอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะรัง อำเภอหนองจิก ออกสู่ปากอ่าวที่ตำบลสะบารัง อำเภอเมืองปัตตานีสายหนึ่งและสายน้ำแยกไปออกที่ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิกอีกสายหนึ่ง ความยาวราว ๒๑๐ กิโลเมตร
ตอนบนของแม่น้ำมีการสร้างเขื่อนบางลางที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าและเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ นอกจากนั้น ยังมีเขื่อนปัตตานีที่ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลาซึ่งสร้างขึ้นเพื่อการชลประทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำ กั้นไม่ให้น้ำไหลเอ่อท่วมพื้นที่สองฝั่ง แม้จะเริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ แต่ระบบการจ่ายน้ำเพิ่งเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ และเขื่อนทั้งสองแห่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการทำมาหากินของชาวบ้านไปมาก ทั้งที่ทำการเกษตรกรรมและใช้ระบบนิเวศน์ของปากน้ำที่มีการสะสมตะกอน ตลอดจนการคมนาคมขนส่งที่เคยใช้เรือเดินทางมาตั้งแต่อดีต ทั้งยังไม่สามารถจำกัดความเสียหายของน้ำไหลหลากจากที่สูงซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพื้นที่ราบเชิงเขาในจังหวัดยะลาในช่วงเสลาสามสี่ปีหลังนี้ได้ และเป็นเพียงข้อมูลจากการสังเกตการณ์และสอบถามชาวบ้านท้องถิ่นแม้จะยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและทางวัฒนธรรมจากการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งนี้อย่างที่ควรจะเป็นก็ตาม
บริเวณพื้นที่ราบลุ่มใกล้ปากน้ำที่ออกสู่ทะเล ที่ราบลุ่มของบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำปัตตานีมีการเปลี่ยนแปลงทางเดินน้ำเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโดยมนุษย์และเป็นไปตามสภาพธรรมชาติค่อนข้างเห็นได้ชัด ทั้งยังมีลำน้ำสายสั้นๆ ที่เกิดจากภูเขาไม่สูงนักในเขตตอนกลางระหว่างเทือกเขาสันกาลาคีรีและชายฝั่ง ทั้งยังเป็นลำน้ำที่อยู่ในคาบสมุทรที่มีพื้นที่แคบๆ ทำให้เส้นทางน้ำมีลักษณะไม่ต่อเนื่องเป็นสายน้ำระยะยาวเช่นแม่น้ำในเขตที่ราบอื่นๆ ลำน้ำสำคัญในบริเวณที่ราบลุ่มชายฝั่งอ่าวปัตตานีและบริเวณใกล้เคียง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบัน ได้แก่
คลองท่าเรือเคยเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปัตตานีแต่ภายหลังลำน้ำตื้นเขินเปลี่ยนทางเดิน จึงขาดแนวกับแม่น้ำใหญ่ หากมีคลองสาขาย่อยหลายสายซึ่งรับน้ำจากฝนฟ้าสะสมจึงทำให้มีน้ำตลอดปี ในอดีตเป็นคลองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ความยาวประมาณ ๔๒ กิโลเมตร ไหลากทิศใต้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอโคกโพธิ์แล้วลงทะเลที่บ้านท่ายามในอำเภอหนองจิก
คลองตุยงหรือคลองหนองจิกเดิมคือลำน้ำสายหลักของแม่น้ำปัตตานี ก่อนจะตื้นเขินเพราะการขุดคลองสุไหงบารูหรือคลองใหม่จนเปลี่ยนทิศทางของน้ำในสมัยเจ็ดหัวเมือง ทำให้น้ำเค็มรุกเข้ามามากจนกรมชลประทานต้องทำประตูระบายน้ำที่บ้านตุยงเพื่อใช้พื้นที่เหนือประตูน้ำทำการเกษตร จุดแพรกลำน้ำแต่เดิมอยู่ที่ตำบลยาบีก่อนไหลออกทะเลบางตาวา ปากน้ำบริเวณนี้ไม่มีไม่มีอ่าวหรือเกาะบังลม ทำให้ไม่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นสถานีการค้าหรือชุมชนริมชายฝั่ง ลำน้ำสายนี้มีชื่อเรียกตามท้องถิ่น เช่น ช่วงต้นน้ำแยกจากแม่น้ำปัตตานี เรียกว่า คลองหนองจิกช่วงที่ไหลผ่านบ้านมะพร้าวต้นเดียว บ้านตันหยงปุโละ บ้านกาเดาะ บ้านคลองวัว เรียกชื่อ คลองกาแลกูโบช่วงที่ไหลผ่านตำบลตุยงเรียกชื่อว่า คลองตุยง และเมื่อออกปากน้ำเรียกว่า คลองบางตาวาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ ก็เข้าคลองตุยงและพายเรือเข้าไปจึงถึงบ้านตุยงที่เป็นบริเวณที่ตั้งบ้านเจ้าเมืองหนองจิก ทรงบรรยายว่าสองฝั่งนั้นเป็นทุ่งนาปลูกพืชต่างๆ รวมทั้งยาสูบ
คลองสุไหงบารูหรือคลองใหม่ความยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร ในเขตอำเภอยะรัง เป็นการขุดเชื่อมแม่น้ำปัตตานีในสมัย ตนกูสุไลมานหรือตนกูบอซูเป็นเจ้าเมืองปัตตานีและได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยา วิชิตภักดีฯตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๓ เนื่องจากลำน้ำปัตตานีเดิมเมื่อไหลถึงบ้านปรีกีก็จะวกไปที่ คอลอตันหยงและ ยาบีสายหนึ่ง แล้วจึงแยกมาออกที่บ้านอาเนาะบุโละสู่ปากน้ำเมืองปัตตานีปัจจุบันที่ตำบลสะบารัง เพราะต้องการตัดด่านสินค้าเพื่อเก็บภาษีที่ด่านเมืองหนองจิก สินค้าที่ล่องจากต้นน้ำในเขตเทือกเขา เช่น ของป่าและดีบุกจึงต้องเสียภาษีที่ด่านของเมืองหนองจิกก่อนที่จะถึงด่านภาษีของเมืองปัตตานี ทำให้ขัดผลประโยชน์กัน
การขุดคลองลัดนี้ถือเป็นการทำลายพื้นที่ทางเกษตรกรรมของเมืองหนองจิกไปโดยปริยายเนื่องจากคลองขุดใหม่เป็นเส้นตรง กระแสน้ำในแม่น้ำปัตตานีจึงเปลี่ยนทางเดินออกสู่คลองใหม่หมด ทำให้ แม่น้ำเดิมที่ไหลผ่านเมืองหนองจิกค่อยๆ ตื้นเขินขึ้น เมื่อฝนตกน้อยลง ลำคลองแห้งขาดช่วงเป็นช่วงๆ ทำให้ขาดน้ำและไม่มีน้ำจืดไหลออกไปผลักดันน้ำทะเลตรงปากน้ำบางตาวา น้ำทะเลก็ไหลเอ่อเข้าสู่พื้นที่นาภายใน ทำให้เกิดดินเค็ม ดินเปรี้ยว ทำนาไม่ได้หลายหมื่นไร่ ทุ่งของเมืองหนองจิกที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชา นุภาพฯ บันทึกไว้ในรายงานการตรวจราชการ พ.ศ.๒๔๓๙ ว่า "เมืองหนองจิกเป็นแหล่งข้าว ที่นาดี หาเมืองอื่นจะเปรียบได้" ต้องกลาย เป็นทุ่งนา รกร้าง ว่างเปล่า ใช้ประโยชน์ไม่ได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่พากันอพยพ ออกไปผิดกับปัตตานีที่มีผลประโยชน์เพิ่มขึ้น[6]
คลองบางเขา สองฝั่งคลองมีน้ำไหลตลอดปีเพราะมีต้นน้ำอยู่บริเวณภูเขาที่บ้านปะแดลางา ตำบลบ่อทอง ทำให้เมืองหนองจิกได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ปัจจุบันได้รับการพัฒนาโดยกรมชลประทานทำการขุดคลองเป็นคลองระบายน้ำสายใหญ่ ชื่อคลองดีสอง (D 2) ทำให้ลำน้ำมีระยะทางมากขึ้นเพื่อไปรับน้ำที่บ้านทองหลา ที่อำเภอแม่ลาน ผ่านอำเภอหนองจิกและเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่บ้านบางเขาไปรวมกับคลองกาแลและคลองท่ายามู แล้วไหลลงทะเลที่บ้านตันหยงเปาว์
ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปัตตานีในปัจจุบัน ได้แก่
คลองปาเระและคลองกรือเซะ ปากน้ำอยู่บริเวณอ่าวปัตตานี ต้นน้ำของ คลองปาเระไหลจากอำเภอยะรัง สันนิษฐานว่าเป็นแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับเมืองโบราณยะรังได้ ปัจจุบันบางตอนตื้นเขินไปหมดแล้ว ส่วน คลองกรือเซะเป็นสายน้ำที่แยกมาจากคลองมานิงที่บ้านปาแดบองอ ตำบลตะลุโบ ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านบ้านจือโระและบ้านกรือเซะ รวมกับคลองปาเระที่บ้านดี บริเวณแพรกคลองกรือเซะนี้เคยเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานและทำการค้าสมัยโบราณ พบว่าเป็นแหล่งเตาเผา มีเศษภาชนะเครื่องถ้วยชามสมัยต่าง ๆ อยู่มากมาย ชื่อสถานที่ซึ่งเคยมีชื่อเสียงในอดีต เช่น กาแลบือซา(ท่าเรือใหญ่) กาแลจินอ(ท่าจีน) และทาระ(ท่าราบ) เป็นต้น
คลองตะมางันเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยรายาฮิเยา จากคลองที่กรือเซะมุ่งเหนือขึ้นไปใกล้เชื่อมแม่น้ำปัตตานีสายใหญ่ที่บ้านปรีกี ชักน้ำจากแม่น้ำปัตตานีลงสู่คลองขุดใหม่แล้วออกสู่ทะเลที่อ่าวกัวรา (แปลว่าปากอ่าว อันหมายถึงอ่าวปัตตานี จากเอกสารของอิบราฮิม สุกรี)บริเวณบ้านตันหยงลูโละในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านใช้น้ำจืดทำนาที่ทุ่งด้านเหนือได้ดีและชาวบ้านชื่นชมพระองค์กระทำพระกรณียกิจนี้[7] แต่ ๓ ปีต่อมาในสมัยรายาบีรู พบว่าน้ำจืดจากคลองตะมางันทำให้นาเกลือเสียหายและคลองตะมางันถูกน้ำเซาะตลิ่งพัง จนถึงริมตลิ่งใกล้ประตูช้างและกำแพงเมือง จึงสั่งให้ชาวบ้านทำทำนบกั้นปิดปากคลองไว้ ปัจจุบันเรียกหมู่บ้านที่สร้างทำนบกั้นน้ำนี้ว่า "กำปงตาเนาะบาตู" หรือ “บ้านทำนบหิน” ซึ่งพบหลักฐานเป็นแนวตั้งแต่กำปงปรีกีจนถึงปุยุดใกล้ตัวเมือง[8]การทำให้พื้นที่นาเกลือเสียหายน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องทำทำนบหินกั้นน้ำจืด เพราะรายได้หลักจากนาเกลือของปัตตานีซึ่งเป็นที่พึ่งให้กับชุมชนต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูรองมาจากเพชรบุรีที่บ้านแหลม ในทางเศรษฐกิจจึงมีผลต่อรายได้มากกว่าความเดือดร้อนทางการเกษตรของชาวบ้าน และหลังจากสร้างทำนบกั้นลำน้ำ คลองตะมางันก็ค่อย ๆ ตื้นเขินจนเหลือเพียงร่องรอยทางน้ำเก่าเท่านั้น
คลองตันหยงหรือคลองยะหริ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ ต้นน้ำอยู่ที่ในเทือกเขาของอำเภอมายอ เรียกว่า คลองมายอเมื่อไปรวมกับคลองกระเสาะคลองลางสาด ผ่านบ้านโต๊ะกอตา บ้านตันหยงดาลอ เรียกว่า คลองตันหยงเมื่อรวมกับคลองสาบันเรียกว่า คลองยะหริ่งแล้วไหลลง คลองยามูไปลงทะเลที่อ่าวบางปูในอ่าวปัตตานี ความยาวประมาณ ๕๓ กิโลเมตร ในอดีตนิยมใช้เดินทางไปอำเภอปะนาเระ โดยผ่านไปตามคลองยามูเลียบผ่านป่าโกงกางขนาดใหญ่ผ่านบ้านหนองแรด บ้านคลองกะดี ไปถึงบ้านท่าม่วง ปัจจุบันกรมชลประทานขุดลอกใช้เป็นคลองชลประทานสายใหญ่เรียกว่า คลองดีสาม (D 3)[9]
ส่วนสภาพนิเวศในอ่าวปัตตานีและแหลมโพธิ์มีทั้งที่เป็นหาดเลน ป่าชายเลน บริเวณอ่าวภายใน และหาดทรายบริเวณด้านนอกของแหลมที่ติดทะเลนอก ป่าชายเลนยะหริ่งมีพื้นที่ราว ๒๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นป่าสัมปทานเพื่อเผาทำถ่าน ที่เหลือเป็นป่าธรรมชาติ บางส่วนใช้เป็นที่ตั้งชุมชน บางส่วนถูกเปลี่ยนสภาพเป็นนากุ้งและถนนหนทาง
ในอ่าวปัตตานีมีพืชและสัตว์น้ำตามธรรมชาติที่เคยมีอยู่มากแลเป็นเอกลักษณ์เด่นคือ สาหร่ายผมนางและหญ้าทะเล โดยเฉพาะ “หญ้าอำพัน” เป็นชนิดที่ “พะยูน” ชอบกินมากที่สุด ในอ่าวปัตตานีเคยพบพะยูนมาหากินบริเวณอ่าวปัตตานีมาแล้วหลายปี ชาวบ้านเรียกว่า “ตูหยง”หรือ “ดูหยง”ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ประเทศไทยพบพะยูนน้อยมากทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน[10]
นอกจากนี้ ในระบบนิเวศดังกล่าวเป็นที่พักของนกประจำฤดูจำนวนมากที่อพยพเข้ามาใช้พื้นที่หาดเลนเป็นแหล่งหากินและพักอาศัย ดังชื่อ “แหลมนก” เป็นพื้นที่ซึ่งเคยมีนกอพยพมาอาศัยจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสภาพพื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นย่านอุตสาหกรรม นกประจำถิ่นและนกประจำฤดูก็แทบจะไม่มีแล้ว
ชุมชนประมงในปัตตานี จากปากน้ำปัตตานีทางฝั่งตะวันตก มีหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ในระบบนิเวศแบบชายฝั่งทะเลนอก เช่น บางตาวาอยู่ในเขตอำเภอหนองจิก บางปลาหมอ(กูราลอ กรูมอ) รูสะมิแลในอำเภอเมือง ทางฝั่งตะวันออกของปากน้ำคือแหลมนก ที่เคยเป็นพื้นที่สาธารณะแต่ปัจจุบันมีผู้คนจากต่างถิ่นเข้าไปตั้งหลักแหล่งกลายเป็นชุมชนเกิดใหม่ บานา ตันหยงลูโละ ปาเระ โต๊ะโสม บางปูผ่านตัวอำเภอยะหริ่งที่ริมคลองยะหริ่ง เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่ปลายแหลมโพธิ์มีป่าชายเลนยะหริ่ง ผ่านคลองยามูที่มีหมู่บ้านประมงริมคลองคือ ตะโละอาโหร์ และ ตะโละกาโปร์จากนั้นจึงถึงดาโต๊ะ ตะโละสะมีแลและหมู่บ้านสุดท้ายที่ปลายแหลมคือ บูดี
บริเวณรอบอ่าวปัตตานีเคยเป็นสถานที่ตั้งเมืองโบราณปาตานีที่รุ่งเรืองในยุคการค้าทางทะเลเฟื่องฟูตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ เป็นต้นมา และถูกทำลายละทิ้งไปเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จากการสงครามและการเมืองที่แบ่งแยกเมืองปัตตานีออกเป็นเมืองย่อยต่างๆ ศูนย์กลางของเมืองเก่าปาตานีอยู่ระหว่างลำน้ำใหญ่สองสายคือ แม่น้ำปัตตานีและคลองปาเระเข้ามาจนถึงคลองกรือเซะ เมืองเก่า “ปาตานี” อยู่ในบริเวณบ้านบานา บ้านตันหยงลูโละและบ้านดี ในตำบลบาราโหม ซึ่งยังเหลือหลักฐาน ชื่อสถานที่ที่สัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่าและโบราณสถานสำคัญจำนวนหนึ่ง
อ่าวปัตตานีซึ่งมีประชากรรอบอ่าวค่อนข้างหนาแน่น ใช้ชีวิตทางประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กต้องพบปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม โดยการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นต้นมา มีข้อสังเกตว่าความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวปัตตานีมีแนวโน้มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่มีการใช้อวนรุนอวนลาก มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ สร้างขึ้นที่ริมอ่าวจนได้รับเป็น เขตอุตสาหกรรมพิเศษ การขยายท่าเทียบเรือเพื่อรองรับเรือประมงพาณิชย์ และการขยายตัวของนากุ้งและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง[11]
อ่าวปัตตานีจึงกลายเป็นแหล่งรองรับน้ำและบ่อบำบัดน้ำตามธรรมชาติแต่คงมีศักยภาพเป็นบ่อบำบัดตามธรรมชาติได้เพียงระดับหนึ่ง หากไม่มีการระมัดระวังในการดูแลสภาพแวดล้อมของอ่าวให้ดีขึ้น ทั้งอาชีพประมง นากุ้ง นาเกลือ เลี้ยงหอยรวมไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะประสบปัญหาถึงกับต้องยุติการทำอาชีพไป ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันสำหรับการทำประมงพื้นบ้านที่ชาวประมงเลิกจับปลาแล้วหันไปทำงานอื่นแทนกันมากแล้วในปัจจุบัน
![]() |
แผนที่อ่าวปัตตานีแสดงการไหลเวียนของกระแสน้ำขึ้น น้ำลง ในปัจจุบัน |
กรณีการศึกษาท้องถิ่นปัตตานี
การศึกษาท้องถิ่นรอบอ่าวปัตตานีก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ แทบไม่ปรากฏมากนัก งานเกือบทั้งหมดเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและนิเวศวิทยารอบอ่าว มีบ้างที่ศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้คนอันเนื่องจากการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น เป็นการศึกษาและงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องของปัตตานีในภาพรวมทั้งทางประวัติศาสตร์ การเมือง และการเข้ามาของศาสนาอิสลาม โดยแบ่งออกได้เป็น ๒-๓ กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
๑) งานศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี โดยมากเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีในฐานะที่เป็นเมืองชายขอบของสยาม โดยเสนอภาพประวัติศาสตร์การเมืองและความขัดแย้งโดยแบ่งออกเป็น ๒ มุมมองคือ ประวัติศาสตร์ที่มองจากกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นศูนย์กลางโดยใช้เอกสารบันทึกพงศาวดาร จดหมายเหตุต่างๆ เช่น เอกสารที่เขียนขึ้นโดย พระยารัตนภักดี อดีตผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เรื่อง “ประวัติเมืองปัตตานี” งานศึกษาประวัติศาสตร์เมืองปัตตานีจากเอกสารโบราณคดีในทำนองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกอ้างอิงคัดลอกต่อมาอย่างแพร่หลายของอนันต์ วัฒนานิกร เรื่อง “ประวัติเมืองลังกาสุกะ-เมืองปัตตานี”หรืองานวิจัยเรื่องเมืองปัตตานีในแง่การเมืองและการค้าของครองชัย หัตถา ที่เพิ่งเขียนเมื่อไม่นานมานี้[12] และ ประวัติศาสตร์ที่มองจากเมืองปัตตานีเป็นศูนย์กลางที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่น[13]แต่การศึกษาทั้งสองรูปแบบก็ยังอยู่ในกรอบความคิดเฉพาะเรื่องของการเมือง การทูต และการสงคราม โดยไม่ได้เน้นที่การอธิบายลักษณะความเป็นท้องถิ่นปัตตานีหรือเฉพาะพื้นที่เมืองปัตตานี อธิบายในเชิงภูมิศาสตร์และสังคมของเมืองปัตตานีรอบอ่าวในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแต่อย่างใด
ส่วนงานอีกประเภทหนึ่งได้แก่การศึกษาเชิงพื้นที่และวัฒนธรรมของคนมลายูปัตตานีในท้องถิ่นย่อยต่างๆ เช่น งานบทความย่อยๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นเมืองปัตตานี ของอนันต์ วัฒนานิกรเรื่อง“แลหลังเมืองตานี” (๒๕๒๘) ซึ่งนับว่าเป็นมุมมองของคนท้องถิ่นต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์โบราณคดีของชาวมลายูโดยคนปัตตานีเชื้อสายจีนผู้เป็นศึกษาธิการอำเภอยะรังและเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาเมืองโบราณยะรังคนแรกและวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวมลายูมุสลิมไว้อย่างทรงคุณค่าเพราะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์สำคัญที่ย้อนกลับไปบันทึกอีกไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน[14]
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการท้องถิ่นอีกท่านหนึ่งที่พยายามศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในสามจังหวัดภาคใต้อย่างเต็มที่โดยรวมกลุ่มกันทำหนังสือเผยแพร่และกิจกรรมการศึกษาท้องถิ่นโดยมีความสัมพันธ์กับนักประวัติศาสตร์มาเลเซียและเห็นตัวอย่างการทำงานเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในมาเลเซียมากกว่าการเคลื่อนไหวเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย โดยรวมกลุ่มผู้รู้ท้องถิ่นทำศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้ โดย ลออแมน(นามแฝง) เรื่อง“ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุสสลาม” (๒๕๔๑)[15]
๒) งานศึกษาทางมานุษยวิทยาโดยนักวิชาการชาวตะวันตก ซึ่งศึกษาชุมชนประมงที่ปัตตานี งานสำคัญและมีเพียงชิ้นเดียวคือ การวิจัยหมู่บ้านประมงของโทมัส เฟรเซอร์ [Thomas M. Fraser] เรื่อง “รูเซมบิลัน: หมู่บ้านประมงในภาคใต้ของประเทศไทย” [Rusembilan : A Malay Fishing Village in Southern Thailand] ที่หมู่บ้านรูสะมิแล ซึ่งติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีในปัจจุบัน ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญในการสำรวจชีวิตชาวประมงปัตตานีริมหาดทางฝั่งตะวันออกของปากน้ำปัตตานีซึ่งการเก็บข้อมูลนี้ ทำขึ้นช่วงปี ค.ศ. ๑๙๕๖ (๒๔๙๙) หรือเมื่อราวกว่า๕๐ ปีที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลทางชาติพันธุ์วรรณนา [Ethnography]ประเด็นศึกษาหลักคือ แนวคิดในการกลืนกลาย (Assimilation)ชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย โดยนิยามว่าชาวประมงที่ปัตตานีเป็น “ชนกลุ่มน้อย” และถูกกระบวนการทำให้กลายเป็นคนไทย บรรยายถึงความขัดแย้งที่เกิดจากระบบการศึกษา การเก็บภาษี การใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมที่แตกต่างกัน การศึกษาบรรยายภาพของชุมชนชาวประมงมุสลิมชายฝั่งทะเลนอกซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวปัตตานี โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจและการค้าของการประมงชายฝั่งในระยะนั้น การบรรยายสภาพสังคมของหมู่บ้านชาวประมงด้วยความพยายามให้รอบด้านที่ปัตตานีเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วนั้น นับว่าเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและสะท้อนภาพของหมู่บ้านประมงในแถบนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะไม่มีข้อมูลของการศึกษาชุมชนในปัตตานีที่ละเอียดเช่นนี้มาก่อน แต่การศึกษาที่ใช้เวลาไม่นานนักนี้ยังไม่ทำให้เห็นบทวิเคราะห์ของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างชัดเจน[16]ดังนั้น หลังจากนั้นอีกราว ๑๐ ปี เฟรเซอร์จึงกลับมาศึกษาหมู่บ้านเดิมเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงเขากลับไปทบทวนข้อมูลในชุมชนที่รูสะมิแลอีกครั้งหนึ่งในงานศึกษาเรื่อง Fishermen of South Thailandthe Malay villagers[17] เป็นหลักฐานให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี
งานในชุดการศึกษามานุษยวิทยาของหมู่บ้านชาวประมงมลายูเริ่มจากงานของทั้งของเรมอนด์ เฟิร์ทส [Raymond Firths] ที่ศึกษาหมู่บ้านชาวประมงบริเวณชายฝั่งรัฐกลันตัน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจของชาวประมงในสังคมชาวนาในเรื่อง Malay fisherman: Their peasant economy[18]ซึ่งเข้าไปทำงานตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๓๙ แต่ก็ถูกญี่ปุ่นบังคับให้ออกไปในเหตุสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะกลับเข้ามาในปี ค.ศ.๑๙๔๗ แต่ในพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องขบวนการก่อนการร้ายคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งในปี ค.ศ.๑๙๖๓ ซึ่งเฟิร์ทสได้เพิ่มเติมข้อมูลจากผลงานครั้งแรกในประเด็นการพัฒนาการผลิตแบบทุนนิยม และ โทมัส เฟรเซอร์ [Thomas m. Fraser] การศึกษาทั้งสองเรื่องถือเป็นงานคลาสสิคและทำให้มีการศึกษางานชาติพันธุ์วรรณนาของสังคมหมู่บ้านและชาวประมงในพื้นที่ต่างๆ ออกมาอีกมากทั่วโลก
ปิยะ กิจถาวร, ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ร่วมกับชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีของบ้านตันหยงเปาว์และเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย(๒๕๔๓) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศึกษาเรื่อง ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการทำวิจัยร่วมกับชาวบ้านตันหยงเปาว์ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมชายหาดทะเลอ่าวไทยอยู่ห่างจากปากน้ำปัตตานี เลยบ้านรูสะมิและและบางตะวาขึ้นไปราว ๑๖-๑๗ กิโลเมตร โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้าเพื่อศึกษาและผลักดันบทบาทชุมชนในการจัดการทรัพยากรและประสานฝ่ายต่างๆ ในการแก้ปัญหาเรืออวนรุน ให้ยกเลิกการทำอวนรุน ประสานภาครัฐให้มีการจัดการในการแก้ปัญหาและศึกษาชุมชนประวัติความเป็นมา การทำประมงพื้นบ้านลักษณะเครื่องมือและความรู้ที่สูญหายไปกับปริมาณสัตว์น้ำที่หายไปหรือลดน้อยลง และที่สำคัญ คือ ความพยายามผลักดันให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเรือประมงพาณิชย์เข้ามาทำอวนรุนในรัศมีภายใน ๓ กิโลเมตรจากชายฝั่งซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและทำลายฐานทรัพยากรของชาวบ้านที่อาศัยจับสัตว์น้ำชายฝั่ง[19]
งานศึกษาหมู่บ้านประมงใกล้อ่าวปัตตานีในช่วงหลังในปี ค.ศ.๒๐๐๒ (๒๕๔๕) งานศึกษาในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง “No Fish in the Sea: Thai Malay Tactics of Negotiation in a Time of Scarcity” โดย สโรชา ดอไรราจู [Saroja D. Dorairajoo]นักวิชาการทางมานุษยวิทยาชาวสิงคโปร์ที่เข้ามาทำงานในหมู่บ้านบางตะวาใกล้ๆ กับรูสะมิแลซึ่งเป็นชุมชนชาวประมงชายฝั่งทะเลนอกเช่นเดียวกัน วิทยานิพนธ์ของ สโรชาเป็นการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาแบบใหม่ที่เน้นการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์เข้าไปอยู่ในชุมชนประมงของตนเอง โดยพยายามตอบคำถามที่เกิดขึ้นจากสภาพของชีวิตชาวประมงและครอบครัวซึ่งเผชิญกับการครอบงำทางวัฒนธรรมและธรรมเนียมปฏิบัติในฐานะที่เป็นชาวประมงและเป็นชาวมลายูมุสลิม การสำรวจ “วัฒนธรรมในการต่อรอง” ซึ่งเป็นการปรับตัวในหนทางที่สร้างสรรค์และสามารถอยู่รอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทบทวนถึงวัฒนธรรมการต่อรองในทางประวัติศาสตร์ในบริบทของประวัติศาสตร์ในสามจังหวัดภาคใต้และความเป็นชาวมลายูมุสลิมที่มีอยู่ตลอดมา ด้วยการสร้างกลวิธีมากมายและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านชาวประมงกับองค์กรพัฒนาเอกชนก็เป็นวิธีหนึ่งที่ชัดเจนในงานศึกษา[20]
๓) งานศึกษาจำนวนมากที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมรอบอ่าว ที่สำคัญๆ เช่น งานศึกษาวิจัยอ่าวปัตตานี ชุดการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ทำมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๔ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ศึกษาเปรียบเทียบตามช่วงเวลาเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ลักษณะเฉพาะของน้ำและทรัพยากรทางชีวภาพ ติดตามการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและการประเมินสภาวะเป็นพิษของสิ่งมีชีวิตในอ่าว ซึ่งพบว่าอ่าวปัตตานียังเป็นแหล่งบำบัดน้ำตามธรรมชาติได้ แต่คงมีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะการขยายตัวของกิจกรรมต่างๆ รอบอ่าวปัตตานี เช่น โรงงานอุตสาหกรรม นากุ้ง ท่าเทียบเรือและแหล่งชุมชนที่มีการระบายน้ำเสียน้ำใช้ ทำให้พบจุลินทรีย์และแบคทีเรียโคลิฟอร์มกระจายอยู่ในน้ำ โดยพบมากในแม่น้ำปัตตานี การปนเปื้อนของโลหะหนักบางชนิด เช่น ทองแดง สังกะสี แคดเมียมและตะกั่วน้ำมีปริมาณน้อยแต่ในตะกอนดินและในพืชทะเลขนาดใหญ่มีปริมาณสูง จำนวนสาหร่ายผมนางหรือสาหร่ายวุ้นและหญ้าทะเลในบางพื้นที่ลดลงเรื่อยๆ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ่งบอกถึงความเสื่อมลงของอ่าวปัตตานี[21]
![]() |
ชื่อสถานที่ต่างๆ ในท้องถิ่นที่ชาวบ้าน ชาวประมงรอบอ่าวรุ่นเก่ารู้จักเป็นอย่างดี แต่คนปัจจุบันและคนจากภายนอกไม่สามารถเข้าถึงความรู้นี้ได้ นอกจากการบันทึกไว้ |
การวิจัยรวบรวมข้อมูล การสำรวจข้อมูลชีวภาพอ่าวปัตตานี (๒๕๔๐) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหมู่บ้าน ๒๖ แห่งบริเวณรอบอ่าวปัตตานีและใกล้เคียงเป็นเวลา ๑ ปี พบว่ามีเพียงประชากรเพียงร้อยละ ๒๑ เท่านั้นที่ยังประกอบอาชีพเป็นชาวประมงในอ่าวและมีแนวโน้มว่าจะลดลง โดยศึกษารูปแบบการใช้เรือประมง เครื่องมือการจับปลา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เป็นอาชีพทดแทน[22]
นอกจากนี้ ยังมีงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของหมู่บ้านประมงรอบอ่าวปัตตานี โดยนักวิชาการทั้งทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (๒๕๓๕) โดยวิเคราะห์ผลจากการพัฒนาในช่วงทศวรรษตั้งแต่ ๒๕๒๕-๒๕๓๕ ซึ่งช่วงเวลานี้มีการเข้ามาของการทำนากุ้งอย่างแพร่หลายอย่างรวดเร็วในภาคใต้ และความต้องการของรัฐที่จะนำทิศทางของประเทศไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือ “นิคส์” [NICS] การศึกษาทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนโดยสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านตัวอย่างรอบอ่าวปัตตานีมีการเพิ่มการลงทุนเพื่อทำประมงมากขึ้นในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีน้อยลง มีการเพิ่มอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้มากขึ้นแต่ขณะเดียวกันคนทำประมงก็ถูกบีบให้มีจำนวนผู้ทำน้อยลงด้วย ชุมชนเปิดรับภายนอกมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตสูงขึ้นตามลำดับ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ภาพโดยรวมมีแนวโน้มไปสู่จุดล่มสลายของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด สวนทางกับนโยบายพัฒนาของรัฐ[23]การศึกษาดังกล่าว สะท้อนว่ายังไม่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนาจากภายใน โดยชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจมากขึ้น ซึ่งปรากฏเป็นแนวคิดเรื่องพัฒนาจากพื้นฐานของชุมชนในระยะต่อมา
การศึกษาการจัดการประมงโดยชุมชนของ ไพโรจน์ จีรเสถียร(๒๕๔๐) ที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านต้องการจัดการประมงด้วยตนเอง โดยการจัดตั้งกลุ่มเพื่อต่อรองและเรียกร้อง แก้ปัญหาเรื่องการรุกล้ำเขตของประมงพาณิชย์ เน้นการแบ่งเขตเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกันโดยไม่เบียดเบียน เช่น เขตเพาะเลี้ยง เขตจับสัตว์น้ำ เขตอนุรักษ์ เพื่อให้สิทธิแก่ชาวบ้านแม้ว่าหลักศาสนาอิสลามจะกล่าวว่าทุกคนมีสิทธิโดยเสรี แต่บางหมู่บ้านก็แบ่งพื้นที่ตามลักษณะการใช้เครื่องมือประมง[24]
![]() |
![]() |
ในอ่าวปัตตานี |
โรงงานอุตสาหกรรมที่ฝั่งปัตตานี |
วัฒนา สุกัณศีล(๒๕๓๙, ๒๕๔๔) ที่เป็นงานวิจัยทางสังคมศาสตร์สั้นๆ ที่เกี่ยวกับอ่าวปัตตานีโดยเฉพาะ เช่น ศึกษาเรื่องป่าชุมชนที่เป็นป่าชายเลนยะหริ่ง โดยใช้แนวคิดเรื่องป่าชุมชนและนิเวศวิทยาของป่าชายเลน ที่บ้านดาโต๊ะซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่อยู่ติดแนวป่าชายเลนยะหริ่งว่าใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างไร และการศึกษาการเปลี่ยนแปลง ปัญหาและการปรับตัวของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนประมงรอบอ่าวปัตตานี[25]
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์อีกส่วนหนึ่งคือการศึกษาผลกระทบจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมต่อหมู่บ้านต่างๆ ในเขตจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้หญิงมุสลิมในหมู่บ้านในกรณีที่ออกไปทำงานตามโรงงานเหล่านั้น ของ สว่าง เลิศฤทธิ์(๒๕๓๕) โดยเก็บข้อมูลในหมู่บ้านดังตอไปนี้ คือ ตันหยงลูโละ ปากน้ำ กรือเซะ ตุยง ปูยุด ดาโต๊ะ และควนดิน การศึกษาพบว่า หญิงมุสลิมส่วนมากที่เข้ามาทำงานในโรงงานมาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานทางอาชีพเป็นชาวนา ชาวสวน และชาวประมง อายุระหว่าง ๑๕-๒๕ ปี จากชุมชนที่ ได้รับผลกระทบจากการที่สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลง เช่น ชุมชนริมทะเลที่มีปัญหาสัตว์น้ำลดปริมาณลง มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย
และงานของ สุทัศน์ ศิลปะวิศาล(๒๕๓๘) เกี่ยวกับ ผู้หญิงมุสลิมที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในจังหวัดปัตตานี โรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดปัตตานี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ แบ่งเป็น อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง จำนวน ๕ แห่ง การทำอุตสาหกรรมปลาป่น นำพวกปลาเบญจพันธุ์หรือปลาเป็ดมาทำ จำนวน ๘ แห่ง โดยพบว่า ผู้หญิงมุสลิมมีการเปลี่ยนบทบาทของตนเองเพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัด ทำให้จากที่เคยทำหน้าที่เฉพาะตนภายในบ้านต้องออกมาทำงานนอกบ้าน โดยอาจจะต้องละเว้นการปฏิบัติศาสนกิจที่ควรจะเป็นไปบางส่วน และมีข้อสรุปหนึ่งที่กล่าวว่า “ความเคร่งครัดศาสนายิ่งมีมากเท่าไหร่ ย่อมเป็นอุปสรรคในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นเท่านั้น” [26]
งานศึกษาเชิงสำรวจการประกอบอาชีพและการว่างงานของชาวประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี โดย จิราภา วรเสียงสุข(๒๕๔๕) เป็นการศึกษาในเชิงสังคมวิทยาโดยการใช้แนวคิดว่าชุมชนในสังคมชาวนาและชาวประมงมีความเกี่ยวข้องดูดซับถ่ายเทกิจกรรมจากเมืองปัตตานี โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของชุมชนและระยะทางระหว่างเมืองกับชุมชน และมีการปรับตัวไปตามอิทธิพลของเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยบ้านที่อยู่ใกล้เมืองจะมีรูปแบบของอาชีพมากกว่าบ้านที่อยู่ไกลเมืองซึ่งยังคงอาชีพการประมงไว้มากกว่า อาชีพที่ปรับเปลี่ยนไปคือ ค้าขายมากที่สุด งานรับจ้างทั้งในหมู่บ้านและตัวเมืองในโรงงานแปรรูปอาหาร หรือรับเสื้อผ้ามาตัดเย็บที่บ้าน หากมีทุนก็จะไปเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
![]() |
![]() |
นาเกลือโบราณของปัตตานีเท่าที่เหลืออยู่ |
ชาวประมงรุ่นใหม่กับความหวังในอาชีพที่มีไม่มากนัก |
การออกไปขายแรงงานต่างพื้นที่หรือต่างประเทศจากการลดลงของทรัพยากรที่ทำให้ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพและเกือบทุกคนที่ออกไปนั้นต้องการที่จะกลับมาสู่การเป็นชาวประมงหากมีโอกาส และพบว่าจำนวนการว่างงานมีจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับมาตรฐาน โดยผู้ว่างงานมีอายุในระหว่าง ๒๑-๓๐ ปี และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและมีเหตุผลว่าไม่สามารถหางานที่เหมาะสมกับตนเองได้ทั้งที่มีความรู้ไม่เพียงพอหรือความชำนาญที่ขาดหายไป[27]การศึกษาชิ้นนี้เริ่ม “เห็นข้อมูลการออกไปขายแรงงานในต่างประเทศ (มาเลเซีย) ครั้งแรก” จากผลการวิจัยที่ผ่านมาซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๔๘ มีงานศึกษาอ่าวปัตตานีที่บ้านดาโต๊ะ ใน “โครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์” ในจังหวัดปัตตานี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุน เป็นโครงการที่ประกอบด้วยการทำงานในหมู่บ้านของนักวิจัยในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวบ้าน การดูแลของพี่เลี้ยงนักวิจัยซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และการดูแลของที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ทางมานุษยวิทยา ทำให้วิธีการศึกษาที่ออกแบบมาเพื่อนักวิจัยท้องถิ่นได้เก็บข้อมูล วิเคราะห์และทำงานได้แบบไม่สลับซับซ้อนและได้ผลเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการทำวิจัยขั้นลึกกว่าและเสนอให้ชาวบ้านสามารถนำผลการศึกษาไปปรับใช้และทำความเข้าใจท้องถิ่นของตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ชาวบ้านต้องการต่อไป
“การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษา บ้านดาโต๊ะ และ บ้านภูมี อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี”โดยชาวบ้านดาโต๊ะศึกษาหมู่บ้านและอ่าวปัตตานีในแบบชาติพันธุ์วรรณนา บรรยายถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และมิติทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้พอดีจึงมีการเผยแพร่เพื่อทำให้เห็นส่วนหนึ่งของปัญหาคนรอบอ่าวปัตตานีในเวลาต่อมา[28]
หลังจากนั้น การศึกษาท้องถิ่นในอ่าวปัตตานีก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหว แต่ก็น่าจะพบเห็นงานศึกษาที่ทำโดยชาวบ้านและนักวิชาการจากภายนอกทั้งชาวตะวันตก เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และนักวิชาการชาวไทยเป็นจำนวนมาก[29]
ความจำเป็นในการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปัตตานี:
ความทรงจำจากภายใน
นอกเหนือจากการเขียนงานประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่อง “ชาตินิยม” [Nationalism]และ “ชาติพันธุ์นิยม” [Ethnicitism/Racism] ซึ่งกล่าวถึงรัฐปัตตานีในฐานะดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว[30]อาจกล่าวได้ว่าประวัติศาสตร์ของปัตตานีที่เผยแพร่และศึกษากันในปัจจุบันมุ่งศึกษาประวัติศาสตร์ในรูปแบบสำคัญๆ ๓ ประการ คือ
๑) เน้นไปที่ประวัติศาสตร์โบราณคดีเกี่ยวกับเมืองโบราณยะรังที่ร่วมสมัยกับสหพันธรัฐเมืองท่าศรีวิชัย[31]ในคาบสมุทรและหมู่เกาะเรื่องหนึ่ง
๒) ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมือง “ปาตานี ดารุสลาม”[Patani Darussalam][32] ซึ่งพัฒนาจากบ้านเมืองภายในจนกลายเป็นรัฐชายฝั่งที่เกิดขึ้นเพราะความเฟื่องฟูใน “ยุคการค้า”[33]อีกเรื่องหนึ่ง
๓) และการศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์จากภายใน ช่วงเวลาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนักอีกเรื่องหนึ่ง
โดยประวัติศาสตร์สองข้อแรกใช้วิธีเล่าเรื่องมุ่งอธิบาย “เมือง” ทางกายภาพ การเติบโตของรัฐโบราณซึ่งอยู่ในเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรและเส้นทางเลียบชายฝั่งระหว่างตะวันตกและตะวันออก และการตกอยู่ในบริเวณกึ่งกลางระหว่างอำนาจทางการเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อของศูนย์อำนาจรัฐโบราณ ๒ แห่ง คือ กรุงศรีอยุธยา-กรุงรัตนโกสินทร์ในลุ่มเจ้าพระยากับ มะละกา-ยะโฮร์ รวมถึงรัฐของผู้ปกครองที่นับถืออิสลามในคาบสมุทรมลายูทางใต้[34]
กรณีหลังแม้จะทำให้เห็นความสืบเนื่องและมรดกทางวัฒนธรรมและการเมืองของรัฐมลายูมุสลิมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตนเองในการศึกษาในช่วงหลังๆ ซึ่งเป็นการศึกษาที่อธิบายพื้นที่ “ท้องถิ่น”[35]ในช่วง “ก่อนรัฐสมัยใหม่” [Pre-modern state]แต่ก็ยังมีงานเขียนแบบนี้ไม่มากนัก ถึงแม้ว่ามุมมองจากภายใน [Internal perception] ของคนท้องถิ่นที่สะท้อนความคิดและลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองชายขอบในรัฐชาติสมัยใหม่ก็ตาม
สำหรับข้อที่ ๓ คือนับแต่ช่วงหลังการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในประเทศไทยซึ่งปฏิรูปการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและทำให้เกิดการมองภาพประวัติศาสตร์ในกรอบที่มีศูนย์กลางการเล่าเรื่องอยู่ที่ประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์และประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม [Centralism/Nationalism History]ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านการเขียนประวัติศาสตร์รวมศูนย์ โดยนักวิชาการท้องถิ่นที่เขียนประวัติศาสตร์ฉบับของตนเอง แต่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจของรัฐไทย ดังนั้นงานเขียนในยุคแรกๆ จึงกลายเป็นเอกสารที่ต้องแอบซ่อน ชาวบ้านไม่กล้ามีไว้ครอบครอง[36]
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของปัตตานี กำหนดโดยการรับรู้ว่าคือพื้นที่บริเวณสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของเมือง “ปาตานี” เก่า ก่อนที่จะแยกออกเป็น ๗ หัวเมือง และถูกกำหนดด้วยเขตการปกครองสมัยใหม่ซ้อนทับลงไป ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปัตตานีในบริบทของพื้นที่ทางวัฒนธรรมจึงไม่จำเป็นเฉพาะเป็นเรื่องราวอยู่ภายในเขตจังหวัดปัตตานีปัจจุบันเท่านั้น
และช่วงเวลาก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์สังคมที่ได้มาจากประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้คนในยุคปัจจุบันที่ยังคงความทรงจำในช่วงอายุคนที่ยังมีการถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ยังจดจำกันได้ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์จากหลักฐานจากเอกสารหรือโบราณวัตถุและโบราณสถานอันไกลโพ้นจนคนในท้องถิ่นสับสนในประวัติความเป็นมาและสร้างเรื่องราวขึ้นมาใหม่เป็นตำนานอ้างอิงในสิ่งที่นอกเหนือความทรงจำที่ถ่ายทอดกันมาตามลำดับช่วงอายุคน ดังนั้น ประวัติศาสตร์สังคมจากการบอกเล่าจึงมีอายุเวลาเพียงราวๆ ๓-๔ ชั่วคนในสังคมไทยหรือในสังคมแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่การลำดับเครือญาติไม่ได้เรียงลำดับญาติสายตระกูลเป็นชั้นๆ นับญาติตามแซ่ได้ยาวนานกว่า
การเขียนประวัติศาสตร์ปัตตานีที่คนในท้องถิ่นรวบรวมจากงานเขียนเอกสารบันทึกความทรงจำท้องถิ่น [Hikayat][37]ของเมืองต่างๆ เอกสารประเภทต่างๆ ตามห้องสมุดและโบราณวัตถุต่างๆ ในท้องถิ่น การเขียนประวัติศาสตร์จากภายในหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะเน้นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในมุมมองประวัติศาสตร์การเมืองของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งเป็นเรื่อง “เสี่ยง” ในการถูกนำมาใช้สร้างวาทกรรมประวัติศาสตร์การเมืองของฝ่ายที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนขบวนการต่างๆ ในอดีตและกลุ่มผู้สร้างความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐไทยด้วยความรุนแรงในปัจจุบัน
ในยุคหนึ่ง หนังสือที่เขียนประวัติศาสตร์ของตนเองทำรัฐทำให้ไทยหวาดระแวงว่าจะเป็นหนังสือปลุกระดมให้คนมลายูในพื้นที่เกิดความรู้สึกแปลกแยกและเกลียดชัง ร่ำลือกันว่าหากเจ้าหน้าที่ค้นพบหนังสือนี้ที่ใด เจ้าของหนังสืออาจจะถูกข้อกล่าวหาเป็นแนวร่วมฝ่ายปลุกระดมมวลชนของผู้ก่อความไม่สงบ จึงไม่มีใครกล้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ไว้ในบ้าน นอกจากจะค้นอ่านได้ตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นไม่ปรากฏการเขียนประวัติศาสตร์จากภายในโดยคนในท้องถิ่นอย่างชัดเจน นอกจาก เอกสารที่เผยแพร่อย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่นราธิวาสในปี พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดตอนเขียนขึ้นใหม่ที่ปรากฏเป็นเอกสารแจกจ่ายในพื้นที่ในรูปแบบของใบปลิวและข้อมูลทางสื่ออินเตอร์เนต เพื่อปลุกระดมให้จินตนาการถึงอาณาจักรมลายูปาตานีอันยิ่งใหญ่ในอดีตที่ถูกสยามเข้าทำลายและครอบครองสืบมา ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นงานเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หากเป็นการใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์นำมาเขียนเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือปลุกเร้าอารมณ์ของผู้อ่านให้เชื่อถือมากกว่าให้คิดต่อหรือถกเถียงตามแนวทางของการเขียนหรือสร้างข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ปัจจุบันมีการเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่นที่ไม่ใช่นักวิชาการในสถาบันการศึกษา ซึ่งพัฒนาตนเองมาพร้อมๆ กับการเกิดกระแสการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทยช่วงเกือบสามทศวรรษภายหลังนี้ อีกทั้งสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้มีสถาบันทางวิชาการต่างๆ เข้ามาสนับสนุนทำงานวิจัยรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์จากภายใน ซึ่งมีการทำงานเช่นนี้ในภูมิภาคอื่นๆ โดยไม่มีปัญหาทางการเมือง ทำให้การเขียนงานประวัติศาสตร์จากคนในพื้นที่ได้รับการยอมรับในสังคมทั่วไปและรัฐไทยมากขึ้น[38]
สำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่กล่าวมามีศูนย์กลางการเล่าเรื่องอยู่ที่ประวัติศาสตร์ของเมืองท่าชายฝั่งที่ปากน้ำปัตตานี ในขณะเดียวกันก็ยังมีบ้านเมืองและชุมชนที่เรียกว่าท้องถิ่นย่อยๆ อีกหลายท้องถิ่นที่ประกอบกันขึ้นเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมเฉพาะปัตตานีนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดของปัญหาทั้งทางการเมือง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วไป และการรอบงำวิธีคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์ ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในปัตตานีหรือสามจังหวัดภาคใต้ไม่สามารถทำได้เท่าเทียมกับพัฒนาการการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย
พื้นที่ซึ่งมีหลายท้องถิ่น หลายภูมิวัฒนธรรม ทำให้เกิดการสร้างอัตลักษณ์ที่ซับซ้อน มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง แต่กลับถูกมองอย่างเป็นภาพนิ่งในสายตาคนภายนอก ทำให้ทั้งรัฐและคนทั่วไปไม่เข้าใจในความเป็นคนมลายูมุสลิมในดินแดนประเทศไทยอย่างที่ควรจะเป็น[39]
การประกอบภาพส่วนต่างๆ เพื่อให้เห็นท้องถิ่นอันหลากหลายของปัตตานี เห็นผู้คนที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม สภาพภูมิวัฒนธรรม จนทำให้เราเข้าใจผู้คนในท้องถิ่นที่ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยแต่ที่มีการติดต่อเคลื่อนไหวในสังคมไทยและสังคมโลก
การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผลิตขึ้นโดยผู้ที่เป็นคนในและคนนอกตามสภาพภูมินิเวศหรือภูมิวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจพื้นฐานทางในอดีต สังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนธรรมดาในสังคมท้องถิ่นปัตตานีได้อย่างเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงและเห็นมิติปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย
ไม่ติดอยู่แต่เฉพาะปัญหาทางการเมืองที่สร้างความรุนแรงซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้าในปัจจุบัน
กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปัตตานี จึงเป็นแนวทางการเขียนประวัติศาสตร์หรือวิธีการเล่าเรื่องของความทรงจำที่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของ “คนปัตตานี” ที่สำคัญในการสะท้อนภาพตัวตน อัตลักษณ์ และชีวิตในความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของสังคมภายใน ซึ่งเป็นตัวแทน “เสียง” ของคนธรรมดาในปัตตานีได้อย่างชัดเจนวิธีการหนึ่งในปัจจุบัน
![]() |
มีการทำตึกรังนกไว้เป็นจำนวนไม่น้อย บริเวณใกล้อ่าวปัตตานี |
[1]การศึกษาที่ใช้คำว่า ภูมิทัศน์วัฒนธรรมหรือ Cultural landscapeในตะวันตก สามารถสรุปได้ว่า เริ่มจากนักภูมิศาสตร์และสถาปนิกเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ ต่อมามีการนำแนวคิดการศึกษาทางภูมิศาสตร์ของสำนักยุโรปถูกนำมาใช้ใหม่โดยสำนักอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐ คำว่า Cultural landscape พบว่าใช้คำว่า Landscape โดดๆ และกลายมาเป็นคำที่กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐาน การตกแต่งภายในอาคาร การเพาะปลูก ภาพของชนบท ซึ่งสัมพันธ์กับการวางแผนภูมิทัศน์ทางสถาปัตยกรรม นักภูมิศาสตร์ ชื่อ ออตโต ชลูเทอร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนแรกที่ใช้คำว่า “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” อย่างเป็นทางการในคำศัพท์ทางวิชาการทางภูมิศาสตร์เมื่อราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ชี้ให้เห็นรูปแบบภูมิทัศน์ ๒ แบบได้แก่: “ภูมิทัศน์ธรรมชาติ” หรือภูมิทัศน์ที่มีมาก่อนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงมากโดยมนุษย์ และ “ภูมิทัศน์วัฒนธรรม” หรือภูมิทัศน์ที่มีรูปที่เกิดจากวัฒนธรรมของมนุษย์ โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทั้งสองประเภทนี้ที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมของมนุษย์และที่พักพิงธรรมชาติและในเชิงของสำนึก, จากวิกีพีเดีย สารานุกรมเสรีhttp://th.wikipedia.org
[2]ดูการอธิบายแนวคิดของการศึกษาท้องถิ่นโดยมองภาพความสัมพันธ์ของภูมิศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ ใน ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น, ศรีศักร วัลลิโภดม. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, ๒๕๕๑
[3]จากวิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี http://th.wikipedia.org อ้างจาก UNESCO (2005) Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Convention. UNESCO World Heritage Centre. Paris. Page 83.
[4]ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น, ศรีศักร วัลลิโภดม. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, ๒๕๕๑
[5]เลาท์ ดาแล ออกเสียงในภาษามลายูท้องถิ่นหรือภาษายาวี ส่วน Laut Dalam สะกดด้วยอักษรรูมี ตามสำเนียงภาษามลายูกลาง และในส่วนที่วงเล็บตัวอักษรรูมีจะสะกดด้วยภาษามลายูกลางตลอดในเอกสารฉบับนี้
[6]อนันต์ วัฒนานิกร, ๒๕๓๑,
[7] (Ibrahim Syukri, 2549 : 26)
[8]อนันต์ วัฒนานิกร, ๒๕๓๑,
[9]http://satit.pn.psu.ac.th/satit/vc/s30202/content/pat%20water.html
[10]หลังจากเวลาผ่านไป ๒๐ ปี ชาวบ้านในอ่าวปัตตานีก็พบพะยูนตัวแรกใน พ.ศ.๒๕๔๕เป็นพะยูนตัวผู้ หนักประมาณ ๕๐ กิโลกรัม อายุราว ๓ ปี ติดอวนปลากระเบน ห่างจากฝั่งบ้านบูดีประมาณ ๘๐๐ เมตร พะยูนหรือที่ชาวใต้นิยมเรียกว่า ตูหยงหรือดูหยง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในจำนวน ๔ ชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันประเทศไทยพบพะยูนน้อยมากทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บริเวณที่พบมากที่สุดคือ เกาะลิบง- กาะมุกค์ ในจังหวัดตรัง อาหารหลักของพะยูนคือหญ้าทะเลชนิดต่างๆ เช่น หญ้าอำพัน หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบ แต่พบว่าพะยูนชอบกิน หญ้าอำพันมากกว่าชนิดอื่นๆ ในอ่าวปัตตานีนับว่าเป็นแหล่งอาหารแห่งหนึ่งของพะยูน คือ หญ้าอำพัน จากคำบอกเล่าของชาวบ้านพบว่าในอ่าวปัตตานีเคยพบพะยูนมาหากินบริเวณอ่าวปัตตานีมาแล้วหลายปี การพบพะยูนในครั้งนี้นับว่ามีคุณค่าและความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของชาวประมงที่ประกอบอาชีพในบริเวณอ่าวปัตตานี อาจคาดเดาได้โดยมีความหวังว่าการพื้นฟูอ่าวปัตตานีให้กลับมาเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความสมบูรณ์มากกว่าเดิม
[11]คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระดมนักวิชาการศึกษาปัญหาอ่าวปัตตานีระยะที่ 2 ฉบับที่ /1 ประจำเดือน 2/ 2541 http://mis-pattani2.pn.psu.ac.th/mail/mail2/looknote.php? & Did=00039&PHPSESSID=7b661d9fabb49cd866eb95d3df995c67
[12]พระยารัตนภักดี. “ประวัติเมืองปัตตานี” กรุงเทพฯ : มปท, ๒๕๐๙, อนันต์ วัฒนานิกร. ประวัติเมืองลังกาสุกะ-เมืองปัตตานี โรงพิมพ์มิตรสยาม, กรุงเทพฯ: ๒๕๓๑ และงานของครองชัย หัตถา เรื่อง “ปัตตานี: การค้า การเมืองและการปกครองในอดีต (๒๕๔๑) และ “ประวัติศาสตร์ปัตตานี: สมัยอาณาจักรโบราณจนถึงการปกครอง ๗ หัวเมืองกรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๑ และ ภูมิลักษณ์อ่าวปัตตานี. โครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๖.
[13]ประวัติศาสตร์ที่มองจากเมืองปัตตานีเป็นศูนย์กลาง เช่นงานเรื่อง “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี”ดร.หะสัน หมัดหมานและคณะ แปล ซิลค์เวอร์ม บุ๊คส์, ๒๕๔๙ (หรือ History of the Malay Kingdom of Patani. (Sejarah Kerajaan Melayu Patani), Ibrahim Syukri. Conner Bailey (Translator), Chiang Mai: Silkworm Books, 2002. พัฒนาการประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปัตตานี ตั้งแต่ ค.ศ.1350-1909 และการเข้ามาของศาสนาอิสลามในภูมิภาคปัตตานี, พีรยศ ราฮิมมูลา และผลงานการแปลจากสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประวัติศาสตร์ปัตตานี = Pengantar Sejarah Patani, อาหมัด ฟัตฮี อัล-ฟาตานี ; นิอับดุลรากิ๊บ ศิริเมธากุล, ผู้แปล ๒๕๔๓, ศรีศักร วัลลิโภดม, ประพนธ์ เรืองณรงค์, รัตติยา สาและ และ ปรามินทร์ เครือทอง ; สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ.ประวัติศาสตร์ "ปกปิด" ของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐปัตตานี ใน "ศรีวิชัย" เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์ ๒๕๔๗, ศรีศักร วัลลิโภดม. อู่อารยธรรมแหลมทองคาบสมุทรไทย, ๒๕๔๖ เช่น สทิงพระและลังกาสุกะ-ปัตตานีในภาพประวัติศาสตร์ศรีวิชัย, ยะรัง ชุมชนในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี.
[14]อนันต์ วัฒนานิกร. แลหลังเมืองตานี.ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๒๘.
[15]อับดุลเลาะ ลออแมน และ อารีฟิน บินจิ. ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุสลาม. ยะลา, ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้, ๒๕๔๑
[16]Thomas M. Fraser, RUSEMBILAN: A Malay Fishing Village in Southern Thailand, Cornell University Press, Ithaca, New York, 1962. ประเด็นศึกษาที่สำคัญคือ แนวคิดในการกลืนกลาย (Assimilation) ชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย โดยนิยามว่าชาวประมงที่ปัตตานีเป็น “ชนกลุ่มน้อย” และถูกกระบวนการทำให้กลายเป็นคนไทย การศึกษาของเฟรเซอร์สามารถบรรยายให้เห็นภาพของชุมชนชาวประมงมุสลิมที่ปัตตานีและงานอีก ๖ ปีต่อมา ซึ่งเขาได้กลับไปทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน คือ Fishermen of South Thailand the Malay villagersHolt, Rinehart and Winston, 1966 เป็นหลักฐานให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี
[17]Thomas M. FraserFishermen of South Thailand the Malay villagers Holt, Rinehart and Winston, 1966
[18]Firth, Raymond. Malay Fishermen: Their Peasant Economy, 1946
[19]ปิยะ กิจถาวร, ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ “บทบาทของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและการใช้กฎหมายในพื้นที่รอบอ่าวปัตตานี ศึกษากรณี : บ้านตันหยงเปาว์ หมู่ที่ 4 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี”สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๓
[20]Saroja Devi Dorairajoo.“No Fish in the Sea: Thai Malay Tactics of Negotiation in a Time of Scarcity” Ph.D. dissertation, Dept. of Social Anthropology, Harvard University. 2002
[21]http://mis-pattani2.pn.psu.ac.th/mail/mail2/looknote.phpคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระดมนักวิชาการศึกษาปัญหาอ่าวปัตตานีระยะที่ ๒ ฉบับที่ /๑ ประจำเดือน ๒/๒๕๔๑
[22]กันทิมา เหาะเจริญ ซุกรี หะยีสาแม นิยม กำลังดี วรรณชไม การถนัด สมรักษ์ พันธ์ผล. การสำรวจข้อมูลชีวภาพอ่าวปัตตานี [Biological data of Pattani bay] คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๐
[23]นิธิ ฤทธิ์พรพันธุ์ และคณะ. รายงานการวิจัยสภาพเศรษฐกิจ-สังคมหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี=เปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนา? ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๓๕
[24]ไพโรจน์ จีรเสถียร. การศึกษาการจัดการประมงโดยชุมชน:กรณีศึกษาอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานีบัณฑิตวิทยาลัย(วิทยาศาสตร์การประมง) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๐
[25]วัฒนา สุกัณศีล. การเปลี่ยนแปลง ปัญหาและทางเลือกของชุมชนประมง กรณีศึกษาการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนหมู่บ้านดาโต๊ะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี:รายงานโครงการวิจัยป่าชุมชนในภาคใต้ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์: ปัตตานี, ๒๕๓๙. และสภาพเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม ของชุมชนประมงรอบอ่าวปัตตานี: การเปลี่ยนแปลงปัญหา และการปรับตัวศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี,ปัตตานี, ๒๕๔๔
[26]สุทัศน์ ศิลปะวิศาล. “การยอมรับระบบทำงานสมัยใหม่ของสตรีไทย-มุสลิม: ศึกษากรณีสตรีไทยมุสลิมที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดปัตตานีสังคมวิทยามหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ๒๕๓๘
[27]จิราภา วรเสียงสุข. รายงานการวิจัยการศึกษาเชิงสำรวจเรื่องการประกอบอาชีพและการว่างงานของชาวประมงพื้นบ้านในหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี [Occupations and unemployment in villages around Pattani bay]ศูนย์ศึกษาและพัฒนาอ่าวปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ๒๕๔๕
[28]วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, บรรณาธิการ. เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานี.มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘ นักวิจัยท้องถิ่นซึ่งเป็นชาวบ้านดาโต๊ะที่ร่วมในโครงการวิจัยนี้ และบางคนยังทำงานวิจัยต่อเนื่องในงานวิจัยครั้งนี้เช่นกัน คือ ดอเลาะ เจ๊ะแตมะรอนิง สาและอับดุลเลาะดือเระห์กอเซ็ง ลาเต๊ะ และซารีฟะห์ สารง
[29]เช่นงานของวิทยานิพนธ์และบทความจำนวนมากที่ทำโดยนักศึกษาและนักวิชาการที่ทำงานในช่วงหลังเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา เช่น บทความเกี่ยวกับนิเวศวิทยาการเมืองของการจัดการประมงในปัตตานี ของ May Tan-Mullins. เรื่อง The state and its agencies in coastal resources management: The political ecology of fisheries management in Pattani, southern Thailand, Singapore Journal of Tropical Geography V. 28, 3 , Nov 2007 [348 – 361]โดยสรุปคือ การศึกษาถึงกลุ่มคนกลางที่สร้างวิธีการจัดการทรัพยากรของประมงชายฝั่งโดยรัฐในปัตตานีในทุกวันนี้ โดยการนำของรัฐ ทำอย่างไรที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในระกับอำเภอและจังหวัดจึงนำนโยบายของรัฐในเรื่องนิเวศวิทยาทางการเมืองมาแปลความเพื่อใช้ในระดับท้องถิ่น การแปลความในระดับที่เล็กลงนี้ได้สร้างพื้นที่ของการตรวจสอบและต่อรองในเรื่องธรรมมาภิบาลทรัพยากรในระดับท้องถิ่น ผลกระทบของการจัดการชายฝั่งและการเข้าถึงในระดับชุมชนในระดับชาวประมงชายฝั่ง มีอิทธิพลสูงมากต่อการสร้างกฎข้อบังคับในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ปฏิบัติการหลายกลุ่ม
[30]จากความอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง พงศาวดารอันเป็นมูลเหตุแห่งจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ประโยคแรกก็คือ “เมืองไทรบุรี เมืองปัตตานี เป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์..” และทบทวนได้จากการศึกษาของ ชุลีพร วิรุณหะเรื่อง ความคิดบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-มลายูในมิติประวัติศาสตร์ ใน รวมบทความ คาบสมุทรไทยในราชอาณาจักรสยามยงยุทธ ชูแว่น บรรณาธิการ, ซึ่งชี้ให้เห็นความคิดและอิทธิพลต่อความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ภายใต้อิทธิพลของประวัติศาสตร์แบบรวมศูนย์ โดยเฉพาะที่ปรากฏในหนังสือ “ประวัติเมืองปัตตานี” โดย พระยารัตนภักดี อดีตผู้ว่าราชการเมืองปัตตานีในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เน้นการเป็นเจ้าของดินแดนนี้โดยถือเอาว่าทุกคนเป็น “คนไทย” ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ใช่ “คนมลายู” แต่อย่างใด
[31]ศรีศักร วัลลิโภดม. “ทวารวดี-ศรีวิชัย: การทบทวนในเรื่องความหมาย”วารสารเมืองโบราณ33(4) ตุลาคม-ธันวาคม 2550. ทบทวนแนวคิดในประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์ในอดีตเรื่องการค้นกาศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของรัฐศรีวิชัยว่าตั้งอยู่ที่ใด ซึ่งเห็นว่า บ้านเมืองในยุคศรีวิชัยนั้น มีลักษณะความสัมพันธ์แบบเครือข่ายทางเครือญาติที่ความสำคัญจะโยกย้ายไปตามช่วงเวลา จึงเป็นสหพันธรัฐที่เป็น Port Polities ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีศูนย์กลางตั้งอยู่ที่หนึ่งที่ใด เมืองท่าต่างๆ นั้นอยู่ทั้งในคาบสมุทรและหมู่เกาะในรูปแบบมณฑล [Mandala] ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างหลวมๆ ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ลงมา
[32]Patani Darus Salam ซึ่งแปลว่า ปัตตานี นครแห่งสันติ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อเปลี่ยนมารับศาสนาอิสลามในสมัยกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์ศรีวังสาคือ สุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ (พ.ศ.๒๐๔๓-๒๐๗๓) ปัจจุบัน มีการเขียนชื่อ Patani ในภาษาไทยหลายเสียงหลายคำ คือ “ปะตานี” ปตานี” และ “ปาตานี” ดังนั้น ในบทความนี้จะใช้คำว่า “ปาตานี” เมื่อกล่าวถึงเมืองท่าชายฝั่งที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๑และในความรู้สึกต้องการกล่าวถึงอดีตของคนปัตตานีปัจจุบัน และ “ปัตตานี” เมื่อกล่าวถึงเมือง ท้องถิ่น หรือจังหวัดปัตตานีหลังจากการรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของสยามตั้งแต่เมื่อต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา
[33]ยุคการค้าหรือ The age of commerceเป็นคำที่แอนโทนี รีด ใช้เรียกยุคของการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๗ เมืองท่าการค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมืองต่างๆมีคนหลายชาติหลายภาษา มีการติดต่อกับโลกภายนอก ศาสนาอิสลาม คริสต์ พุทธเถรวาทตั้งมั่นในดินแดนต่างๆ รูปแบบความคิดและวัฒนธรรมมุ่งไปในทางโลกวิสัย [Secular] มากขึ้นชาวตะวันตกเจาะตลาดการค้ารวมถึงการผูกขาดและนำความเปลี่ยนแปลงต่างๆมาสู่ดินแดนนี้อย่างมาก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ.๑๔๕๐-๑๖๘๐ เล่ม ๑, เล่ม ๒สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, ๒๕๔๘
[34]Chuleeporn Virunha. “Historical perceptions of local identity in the upper peninsula” in Thai south and Malay north; Ethnic interactions on a plural peninsula, (39-70) NUS Press, 2008 โดยชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นในบริเวณนครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี เคดาห์หรือไทรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นรัฐมลายูทางเหนือของคาบสมุทรมลายูนั้นอยู่ในระหว่างศูนย์กลางอำนาจรัฐที่แตกต่าง กัน ๒ แห่ง คือ Thai Mandala และ Malay Mandala
[35]อ้างแล้ว, บทความนี้แสดงถึง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนั้นควรเป็นการศึกษาหลักฐานจากภายในท้องถิ่นที่สะท้อนการมองตนเองว่าเป็นอย่างไรและทิ้งห่างไปจากกรอบความคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่หรือประวัติศาสตร์ชาตินิยมเสีย วิธีการนี้เป็นหนทางหนึ่งที่คนในสังคมแบบ part societies จะสามารถพูดถึงอัตลักษณ์และความเป็นท้องถิ่นของตนเอง
[36]“ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี”ดร.หะสัน หมัดหมานและคณะ แปล ซิลค์เวอร์ม บุ๊คส์, ๒๕๔๙ เป็นตัวอย่างของงานเขียนประวัติศาสตร์จากภายในเล่มสำคัญที่ถูกอ้างอิงกันอย่างแพร่หลายที่สุดเล่มหนึ่ง ได้แก่งานของอิบรอฮิม ซุกรี เรื่อง “Sejarah Kerajann Melaya Patani”เขียนเป็นภาษามลายู อักษรยาวี อิบรอฮิม ซุกรี เป็นนามแฝง ซึ่งนายอนันต์ วัฒนานิกร ผู้มอบต้นฉบับให้กับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ที่รัฐกลันตัน เป็นการเขียนตามแบบประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เริ่ม “นับตั้งแต่ราชอาณาจักรมลายูปะตานีมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณ” และจบลงที่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ผ่านไปแล้ว ๑๕ ปี และบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการในท้องถิ่นและรัฐไทยหวาดระแวงเสมอว่าจะทำให้เกิดการสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้อันเป็นราชอาณาจักมลายูปะตานีแต่เดิม เอกสารเล่มนี้ถูกยกมาใช้ในบางบทบางตอนเพื่อปลุกอารมณ์ความรู้สึกในการต่อต้านรัฐไทยในเวบไซต์หลายแห่ง เช่น http://www.geocities.com/prawat_patani/index.htm นับเป็นความกล้าหาญที่ถูกต้องและทำให้เอกสารนี้กลายเป็นเอกสารเผยแพร่ในฐานะเป็นเอกสารทางวิชาการอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ โดยสำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม บุ๊คส์ ได้แปลและจัดพิมพ์ทั้งในภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทยหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ (พ.ศ.๒๕๔๘,๒๕๔๙ ตามลำดับ)
อีกเล่มหนึ่งที่ถือกันว่าเขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นสำคัญอีกผู้หนึ่งซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ (พ.ศ.๒๕๕๐) โดย อ. บางนรา ซึ่งเป็นนามปากกา ชื่อจริงคือ อับดุลเลาะห์ ลออแมน เป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักดีทั้งในไทยและมาเลเซีย เพราะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มลายูและเกี่ยวกับศาสนาอิสลามไว้จำนวนมาก งานเขียนเรื่อง ปัตตานี อดีต-ปัจจุบัน ชมรมแสงทอง, กรุงเทพฯ, ๒๕๑๙ซึ่งเขียนภายหลังเหตุการณ์ประท้วงที่จังหวัดปัตตานีจากเหตุการณ์ฆาตกรรมที่สะพานกอตอ พ.ศ.๒๕๑๙ โดยใช้ข้อมูลหลักๆ จากเอกสาร “Hikayat Patani”และ “Sejarah Kerajann Melaya Patani” ต่อเนื่องมาจนถึงการบอกเล่าข้อมูลถึงความผิดพลาดของรัฐไทยจากกรณี ดุซงญอ วิจารณ์นโยบายของรัฐไทยที่ไม่สามารถจัดการปกครองอย่างเหมาะสมและพยายามบังคับให้คนมลายูปัตตานีเปลี่ยนแปลงลักษณะทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมให้เป็น “ไทย”
[37]Hikayat เป็นคำมาจากภาษาอารบิค ความหมายตามตัวอักษรแปลว่า เรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของวรรณกรรมมาเลย์ซึ่งสัมพันธ์กับวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของอาณาจักรมลายูหรือเรื่องราวทางพงศาวดาร เป็นเรื่องซึ่งอยู่บนรากฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
[38]ปาตานี... ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู อารีฟิน บินจิ, ซูฮัยมีย์ อิสมาแอล และอับดุลเลาะห์ ลออแมน มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้, ๒๕๕๐ รวบรวมข้อมูลจากข้อเขียนของคนมลายูทั้งในและต่างประเทศ เป็นประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกทัศน์ของคนมลายูกล่าวถึงความเป็นมาของอาณาจักรลังกาสุกะ ความเป็นมาของราชอาณาจักรมลายูปาตานีหรือปาตานีดารุสสาลาม ต้นเหตุของความขัดแย้งระหว่างรัฐสยามกับรัฐมลายูปาตานี จนเกิดสงครามต่อเนื่องกันมาเป็นเวลากว่าร้อยปี ลงเอยด้วยการที่ปาตานีตกเป็นประเทศราชและถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม การทำสัญญาแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.๑๙๐๙ ทำให้เกิดองค์การต่อต้านอำนาจรัฐสยามที่เรียกว่า Gampar แล้วพัฒนามาเป็น บี เอ็น พีพี, บีอาร เอ็น, พูโล, มูจาฮิดดีน, เบอร์ซาตู, และเปอร์มุดา ในปัจจุบัน บทบาทของนักการเมืองในรุ่นก่อน เช่น เจ๊ะอับดุลลา หลังปูเต๊ะ, อดุลย์ ภูมิณรงค์, อดุลย์ ณ สายบุรี บทบาทผู้นำศาสนาต่อปัญหาภาคใต้ เช่น แซะห์อัฮหมัด, บินวันมูฮัมหมัดเซ็น, อัลฟาตอนี, หะยีสุหลง, โต๊ะมีนา และแช่ม พรหมยงค์ และหนังสือที่เกิดจาการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการท้องถิ่นและนักวิชาการจากภายนอกคือ เล่าขานตำนานใต้โดยศรีศักร วัลลิโภดม จำรูญ เด่นอุดม อับดุลเลาะห์ ลออแมน อุดม ปัตนวงศ์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี (ศพส.) มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๐
[39]ดูบทความเรื่อง คนตานี มลายูสุมลิมที่ถูกลืม, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. บทความลำดับที่ ๑๒๐๕ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ (April, 08,04,.2007)
http://www.midnightuniv.org/midnight2544/0009999722.html
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
(ปรับปรุงจากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ความทรงจำในอ่าวปัตตานี” โดย ดอเลาะ เจ๊ะแต, มะรอนิง สาและ, วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๕๓)