“ความสำคัญของยุคเหล็กในประเทศไทย”
๓. จากยุคเหล็กถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม
(จากงานวิจัยในโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. พ.ศ.๒๕๔๐)
“ยุคเหล็ก” คือยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่เป็นจุดเริ่มเข้าสู่พัฒนาการเป็นรัฐแรกเริ่มในดินแดนประเทศไทยและมีการติดต่อกับบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันออกและตะวันตกตั้งแต่ช่วงเวลา ๕๐๐ BC.ลงมา ถือว่าเป็นยุคก่อนประวัติศาสตรที่ร่วมสมัยกับช่วงต้นพุทธกาล ซึ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของดินแดนแถบนี้ที่ถูกเรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ที่มีพื้นฐานคือการเป็นผู้ผลิตเครื่องมือเหล็กที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบุกเบิกพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม จนสามารถผลักดันให้เกิดบ้านเมืองและสังคมที่ซับซ้อนขึ้นในเวลาต่อมา
๓. จากยุคเหล็กถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคม
ศรีศักร วัลลิโภดม
-๑-
ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า การศึกษาแหล่งโบราณคดีหรืออีกนัยหนึ่งชุมชนโบราณของข้าพเจ้าและคณะนั้น มุ่งที่จะทำความเข้าใจพัฒนาการทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่ มีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับบรรดานักโบราณคดีไทยในระบบที่เน้นและหยุดอยู่กับการศึกษาแหล่งโบราณคดีกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี และที่สำคัญก็คือยึดติดต่อกับยุคสำริด เพราะเป็นความเชื่อว่าการทำสำริดในดินแดนประเทศไทยมีความเก่าแก่ที่สุดในโลก เป็นเรื่องในทางเกียรติภูมิของประเทศชาติเป็นสำคัญ
การศึกษาของข้าพเจ้าและคณะก็ต้องอาศัยการศึกษาในด้านพัฒนาการทางเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน แต่ต่างกันแต่เพียงว่าเป็นการอาศัยพัฒนาการทางเทคโนโลยีสื่อไปยังพัฒนาการทางสังคม นักโบราณคดีฝรั่งชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาและขุดค้นทางโบราณคดีในดินแดนประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีอันเป็นเรื่องพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพื่อผ่านไปสู่ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการทางสังคม
และจากการศึกษาในภาพที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ทั้งข้าพเจ้าและนักโบราณคดีฝรั่งต่างก็แลเห็นพัฒนาการทางสังคมในยุคเหล็กเช่นเดียวกัน และต่างก็หลุดจากความเชื่อที่ว่าดินแดนประเทศไทยเป็นที่เก่าแก่ที่สุดในการทำสำริด เพราะความเชื่อเช่นนี้ทำให้ดินแดนประเทศไทยอยู่ในสภาพที่โดดเดียว
แต่ถ้ามองในภาพที่เคลื่อนไหวในยุคเหล็กแล้วก็จะแลเห็นว่าพัฒนาการของดินแดนประเทศไทย มีจุดเริ่มแต่ภาวะสามเส้า คือ การอยู่ร่วมกันและสัมพันธ์กันกับจีนตอนใต้และเวียดนามตอนเหนือมาเป็นสี่เส้า ที่สัมพันธ์กับอินเดีย อันเป็นผลให้มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมขึ้น
การค้นคว้าที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อดูพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคมตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ได้คลี่คลายปัญหาในเรื่องสมมุติฐานเบื้องต้นที่ขัดแย้งกันในบรรดานักปราชญ์รุ่นแรก ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า พัฒนาการของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นผลเนื่องมาจากการเป็นอาณานิคมของคนอินเดียและจีน เพราะพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่แลเห็นจนทุกวันนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลอารยธรรมของอินเดียและจีนทั้งสิ้น ความคิดดังกล่าวนี้ค่อนข้างจะดูถูกผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มิใช่น้อย และรู้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นที่สำคัญก็คือ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ นักปราชญ์ฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อสำนักโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของประเทศไทยแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา
ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นปราชญ์ชาวดัทช์ชื่อ วันเลอร์ [J .C van Leur] ที่เห็นว่าก่อนที่จะมีการติดต่อกับชาวอินเดียและจีนนั้น สังคมในเอเชียอาคเนย์มีอารยธรรมแล้ว คือ เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองและมีหัวหน้าผู้ปกครองเป็นคนท้องถิ่นอยู่แล้ว บุคคลเหล่านี้ติดต่อกับคนอินเดียในเรื่องการค้าขายก่อน แล้วต่อมาจึงเชื้อเชิญให้พวกคนอินเดียที่เป็นผู้รู้ทางศิลปวิทยาการมาช่วยในการพัฒนาบ้านเมืองและเผยแพร่ศิลปวิทยาการ
การรับอารยธรรมจากอินเดียจึงเป็นเรื่องการผ่านกระบวนการเลือกเฟ้นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์จากหัวหน้าผู้ปกครองของพื้นถิ่นเป็นสำคัญ แต่ทว่าเสียงของวันเลอร์นั้นไม่ดังในประเทศไทยจึงสู้ของเซเดส์ไม่ได้ เซเดสมีช่องทางแสดงการอธิบายได้อย่างมีรูปธรรมกว่า โดยเฉพาะรูปแบบทางศิลปกรรม ในขณะที่ทางวันเลียร์ไม่สามารถแสดงให้เกิดความเชื่อมั่นได้ในบรรดาคนทั่ว ๆ ไป คงมีแต่บุคคลที่เป็นนักคิดและนักวิชาการจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าใจและเห็นด้วย
แต่จุดอ่อนที่สำคัญของเซเดส์ ก็คือคำว่า “อินเดียนไนซ์เซชั่น” [Indianization] ที่เซเดส์ใช้กับชื่อหนังสือเล่มสำคัญของตน คือ ดิ อินเดียนไนซ์ สเตจ ออฟ เซาท์อีสท์เอเชีย [The Indianized States of Southeast Asia] คำว่า อินเดียนไนซ์ดังกล่าวนี้เป็นที่แสลงใจของบรรดานักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครคิดว่าอิทธิพลของสังคมหนึ่งจะเข้าไปครอบงำวัฒนธรรมทั้งหมดของอีกสังคมหนึ่งได้ เลยทำให้โซลไฮม์ผู้เป็นนักมานุษยวิทยา-โบราณคดี ปลดแอกความเป็นอาณานิคมทางปัญญาของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากอินเดียและจีน ด้วยการพบอารยธรรมที่เก่าแก่ของผู้คนในภูมิภาคนี้ด้วยเรื่องความสามารถในการทำสำริดได้เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งก็เป็นผลให้คนไทย โดยเฉพาะนักโบราณคดีไทยฝันค้างในเรื่องยุคสำริดดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น
แต่ทว่าผลดีของการบุกเบิกในเรื่องความคิดและการค้นคว้าทางโบราณคดีที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคมในยุคเหล็กนั้น ได้กลายเป็นหลักฐานทางรูปธรรมที่สนับสนุนความคิดของวันเลียร์นักปราชญ์ชาวดัชท์ที่เชื่อว่า คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพัฒนาการทางสังคมถึงขั้นเป็นบ้านเมืองและมีผู้นำอยู่ก่อนที่จะรับอารยธรรมอินเดีย ซึ่งผู้นำเหล่านี้เป็นผู้เลือกเฟ้นวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีมาแต่เดิม สิ่งที่เด่นชัดว่าไม่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมอินเดียก็คือ สังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีระบบวรรณะ [Caste system] อย่างของอินเดีย อีกทั้งเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทไม่แพ้ผู้ชายที่ต่างไปจากสังคมอินเดียอย่างชัดเจน
ศาสตราจารย์โอ ดับบลิว โวลเตอร์ ผู้เป็นศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา นับเป็นท่านที่สองต่อจากวันเลอร์ในเรื่องที่ว่า วัฒนธรรมอินเดียไม่ได้เข้ามาครอบงำสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในลักษณะที่เรียกว่าอินเดียนไนซ์เซชั่น แต่เห็นว่าเป็นของ “กระบวนการท้องถิ่นพัฒนา” [Localization] ที่ทำให้คนพื้นเมืองของภูมิภาคนี้เลือกเฟ้นวัฒนธรรมอินเดียมาผสมผสานกับของเดิม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่งอกงามขึ้น
โวลเตอร์ใช้คำว่า โลคัลไลซ์เซชั่น ออฟ ฟอเรนจ์ เอเลเมนท์ [Localization of foreign elements] แทน ความคิดเช่นนี้ได้รับการขานรับจากบรรดานักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักมานุษยวิทยาและอื่น ๆ อีกมาก ทำให้มีการค้นคว้าและตีความในเรื่องพัฒนาการของรัฐและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการเมืองในสมัยต้น ๆ กันใหม่ สิ่งที่โวลเตอร์คัดค้านของเดิมมากที่สุด เห็นจะได้แก่การใช้คำในภาษาอินเดียและจีน เช่นคำว่า อาณาจักร [Kingdom)] และราชวงศ์ [Dynasty] กับบ้านเมืองและกษัตริย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะคำว่าอาณาจักรในความหมายของอินเดียและจีนนั้น เป็นสิ่งที่มีขนาดและความซับซ้อนทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าบรรดารัฐแรกเริ่มที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้แต่สมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิลงมา โดยเฉพาะรัฐฟูนันที่มีการกล่าวถึงในลักษณะที่เป็นมหาอาณาจักร [Empire] โวลเตอร์ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง คือไม่เชื่อว่าจะเป็นรัฐที่รวมศูนย์ขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งไม่เชื่อว่ามีกษัตริย์ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ในรัฐรวมศูนย์อย่างของสหราชอาณาจักรอังกฤษในสมัยวิกตอเรียอันเป็นมุมมองของนักประวัติศาสตร์ในยุคแรกที่นำไปใช้กับพัฒนาการของรัฐและกษัตริย์ในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ๆ ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
จากที่กล่าวมานี้ ถ้าหากว่าคล้อยตามความคิดเห็นของทั้งวันเลอร์และโวลเตอร์ในเรื่องท้องถิ่นพัฒนาและการเลือกรับวัฒนธรรมอินเดียโดยผู้นำท้องถิ่นแล้ว ก็จะเข้ากันได้กับพัฒนาการทางสังคมในยุคเหล็ก ที่ว่าก่อนที่จะมีการรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดียนั้น สังคมในดินแดนประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองที่มีผู้นำที่มีอำนาจเกิดขึ้นแล้ว การติดต่อค้าขายกับชายอินเดียทำให้เกิดความมั่งคั่งและมีการเชื้อเชิญให้คนอินเดียเช่นพวกพราหมณ์ปุโรหิตและผู้มีความรู้เฉพาะอย่าง ต่างเข้ามารับราชการจนทำให้เกิดการนับถือศาสนา การประกอบประเพณีพิธีกรรมและการรับศิลปวิทยาการที่ผู้นำแต่ละบ้านเมืองจะแลเห็นว่าเหมาะสม
จากหลักฐานทางโบราณคดีแต่สมัยเหล็กลงมาจะแลเห็นพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับการรับและเลือกเฟ้นอารยธรรมอินเดียดังกล่าว นั่นคือแหล่งโบราณคดีหลายแห่งมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากแหล่งชุมชนขนาดเล็กเป็นขนาดใหญ่ เช่น จันเสน บ้านท่าแค ในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก พิมายในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนและอู่ทองในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแลเห็นได้ชัดเจนจากประเพณีการทำศพยุคก่อนเหล็กหรือยุคสำริดหรือยุคโลหะตอนต้นในแต่ละท้องถิ่น มีแหล่งชุมชนไม่มากและมีขนาดเล็ก การตั้งถิ่นฐานมักอยู่ในพื้นที่ไม่ห่างกันเท่าใด แหล่งฝังศพคือ สิ่งบ่งบอกถึงความเป็นชุมชน เพราะเมื่อมีคนตายจะถูกนำมาฝังไว้ ณ พื้นที่ซึ่งกำหนดให้เป็นที่ฝังและประกอบพิธีกรรม รูปแบบของประเพณีเซ่นศพมีความเหมือนกัน และสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผาและประเพณีหันศีรษะผู้ตายไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ ความแตกต่างในเรื่องฐานะว่ารวยหรือจนนั้นมีให้เห็นจากเครื่องเซ่นศพว่ามีมากน้อยกว่ากัน แต่ถ้าหากผู้ตายมีฐานะตำแหน่งทางสังคมก็จะมีลักษณะแตกต่างไปจากคนทั้งหลายทั้งรวยและจน เช่น จะมีเครื่องปั้นดินเผาที่ทุบแตกแล้วคลุมทั้งตัวศพหรือมีเปลือกหอยปู ลาดรองศพหรือประดับศพ หรือมีอาวุธวางไว้ หรือมีเครื่องมือและเครื่องประดับวางแสดงฐานไว้เป็นต้น
ในยุคก่อนเหล็กมีเครื่องมือสำริดและเครื่องประดับสำริดใช้ เช่น ขวาน หอก ลูกศร กำไล เป็นต้น ลูกปัดีทำด้วยหินคล้ายหยก หินธรรมดา กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย หอยทะเลนับเป็นของหายากเช่น หอยเบี้ย หอยสังข์ และหอยมือเสือ ในช่วงเวลานี้มีการทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปสัตว์มาประดับศพแล้ว เช่น รูปวัว รูปช้าง กบ เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกเสมอก็คือ หลาย ๆ อย่างในบรรดาเครื่องเซ่นศพ เช่น อาวุธสำริด เครื่องปั้นดินเผา รูปสัตว์ ลูกปัด ตุ้มหูที่ทำด้วยเปลือกหอย นั้น น่าจะเป็นของมีค่าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน สิ่งของในสมัยนั้นแล้ว และเมื่อมีการตาย สิ่งของเหล่านั้นก็กลายเป็นสมบัติผู้ตายไป ทั้งหมดนี้ย่อมแสดงสำนึกในเรื่องความแตกต่างระหว่างคนรวย คนจนแล้ว แต่ยังไม่ถึงขนาดความเลื่อมล้ำในเรื่องชนชั้น
พอถึงยุคเหล็ก ซึ่งในความคิดของข้าพเจ้าเชื่อว่าเริ่มประมาณ ๒,๕๐๐-๒,๖๐๐ ปีลงมา แหล่งชุมชนเกิดมากขึ้นและมีขนาดต่างกัน รวมทั้งมีชุมชนที่เป็นศูนย์กลางเกิดขึ้น [Central place] ด้วย ยกตัวอย่างเช่นชุมชนบ้านเชียง เป็นต้น เมื่อพัฒนาการเข้าสู่ยุคเหล็กนั้นมีฐานะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นที่เดียว เหตุนี้จึงพบแหล่งฝังศพและโบราณวัตถุมากมายหลายชนิดเป็นอันมาก เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาชุมชนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ศพแต่ละหลุมจะมีความแตกต่างกันในเรื่องความรวยและจน อันแลเห็นได้จากเครื่องเซ่นศพและประดับศพ รวมทั้งความแตกต่างกันในเรื่องสถานะภาพและตำแหน่งหน้าที่ทางสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีเครื่องแสดงให้เห็นได้จากการมีโบราณวัตถุที่โดดเด่นอยู่ในบรรดาเครื่องเซ่นศพ เช่น ตุ้มหู ขนาดใหญ่ทำด้วยแก้ว หินสี เปลือกหอย ที่อาจเป็นของที่ผลิตจากที่อื่นรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงฐานะทางสังคม
ความโดดเด่นและแตกต่างกันของสถานะภาพทางสังคมเช่นนี้น้อยครั้งนักที่จะถูกพบโดยการขุดค้นชั้นดินทางโบราณคดีอย่างมีระบบ แต่มักพบจากการลักขุดของนักโบราณคดีนอกระบบที่ขุดสุ่มไปทั่วซึ่งมีโอกาสพบ เมื่อพบข่าวการพบของมีค่าทั้งหลายก็สะพือพัดออกไปทำให้มีผู้ติดตามไปซื้อเก็บไว้ ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมงานได้เคยติดตามสิ่งเหล่านี้เป็นประจำเช่นในเขตอำเภออู่ทองก็พบลูกปัดแบบฝังสีขนาดใหญ่ที่ทำด้วยคาร์นีเลียน หินสีส้ม อาเกต เปลือกหอยขนาดใหญ่ บางแห่งพบกลองมโหรtทึกรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะกลองมโหรtทึกนั้น เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงฐานะความสำคัญของผู้ที่เป็นเจ้าของ ซึ่งอาจหมายถึงบุคคลผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือผู้ปกครองของชุมชนด้วย
กลองมโหระทึกนี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความสำคัญแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมของชุมชน อีกทั้งเป็นของมีค่าที่อยู่ในกระบวนการแลกเปลี่ยนการค้าระยะไกล เพราะเป็นสิ่งที่นักวิชาการทั้งหลายเชื่อว่า ทำขึ้นในแผ่นดินจีนตอนใต้แล้วแพร่มายังเวียดนามเหนือมายังภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ทั้งทางบกและทางทะเล
สิ่งที่น่าสังเกตในยุคนี้ก็คือบรรดาเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในพิธีศพนั้นคลายความโดดเด่นลงมาก ส่วนใหญ่จะทำเรียบง่ายและมีมาตรฐานขึ้น เพราะหาใช่เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความแตกต่างในเรื่องฐานะและสถานะภาพอีกต่อไปแล้ว ความสำคัญเบนเบี่ยงไปยังบรรดาวัตถุที่มาจากภายนอก เช่นจากโพ้นทะเล เช่น ลูกปัดและเครื่องประดับที่ทำด้วยหินสีมีการฝังสีหรือที่ทำด้วยแก้วและของมีค่าอื่น ๆ บรรดาลูกปัดที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ หรือเปลือกหอยค่อย ๆ หมดไป
การพบลูกปัดที่ทำด้วยหินสีและแก้วนั้น อาจจะบอกได้ว่าเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคเหล็ก และยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นในระยะเวลาต่อมาได้ ลูกปัดขนาดเล็กที่ทำด้วยหินสีและแก้วนั้นมีการผลิตเป็นจำนวนมากในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมก็ว่าได้ ลูกปัดเหล่านี้มีคุณค่าในการเป็นเงินตราที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน อีกทั้งเป็นเครื่องประดับของคนธรรมดาทั่วไป ในขณะที่คนมั่งมีอาจนำไปทำม่าน หรือประดับเครื่องใช้ที่แสดงฐานะของคนได้
ในด้านโลหะในยุคเหล็กนี้ใช่ว่าสำริดจะหมดไป แต่ทำนองตรงข้ามมีการผลิตมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่าสมัยก่อน เช่น ทำได้บางกว่า สวยงามกว่าและมีฝีมือประณีตกว่า มีทั้งสิ่งที่เป็นอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ โดยเฉพาะขวานและกลองมโหระทึกที่เป็นของสำคัญนั้นล้วนทำด้วยสำริดทั้งสิ้น
เหตุนี้นักโบราณคดีหลายท่านจึงเรียกยุคเหล็กนี้ว่า “ยุคสำริดที่มีฝีมือสูง” [High Bronze Age] หรือยุคสำริด-เหล็ก เป็นต้น โดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องใช้สำริดนั้นมีการสร้างขึ้นหลายอย่างหลายชนิดที่แสดงการมีหน้าที่เฉพาะกิจของแต่ละอย่าง [Specialization] และความหลากหลายเช่นนี้ก็พบในบรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กด้วย
แต่ที่น่าเสียดายก็คือบรรดาของที่ทำด้วยเหล็กเหล่านี้ บรรดานักโบราณคดีนอกระบบไม่ชอบเพราะเห็นว่าเป็นสนิมไม่มีราคาค่างวดเลยทิ้งไป โดยเหวี่ยงไว้ข้างหลุมขุดบ้าง ทิ้งไว้ในหลุมขุดบ้าง ในขณะที่บรรดานักโบราณคดีในระบบที่ขุดไม่ใคร่เจอและไม่สนใจเพราะไปติดใจอยู่กับเรื่องสำริดเสีย
ในการพบเห็นของข้าพเจ้าพบว่าแต่ละแหล่งโบราณคดีที่เป็นยุคเหล็กดังกล่าวนี้มักมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กตกอยู่มากมาย และที่มีการรวบรวมได้ดี ก็คือ การขุดค้นที่บ้านดอนตาเพชรโดย ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี และที่นางสาววลัยลักษณ์ ทรงศิริ รวบรวมได้จากหลุมขุดที่ชาวบ้านขุดทิ้งไว้ ณ แหล่งโบราณคดีที่บ้านใหม่ชัยมงคลใกล้กับเมืองจันเสน ในภาคอีสานที่วัดบ้านพาน อำเภอเมืองสกลนคร วัดพระธาตุเชิงชุม และศูนย์วัฒนธรรมวิทยาลัยราชภัฎสกลนครก็ได้ทำการรวบรวมไว้เช่นเดียวกัน
แหล่งโบราณคดีแต่สมัยยุคเหล็กที่พัฒนาการเข้าสู่ยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์อันได้รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย นั้น แลเห็นได้จาก
(๑) ในระยะแรกที่แสดงการติดต่อกับอินเดียเห็นได้จากการมีอยู่ของลูกปัดสีที่มีลายฝังสีที่เรียกว่า Etched beads การมีลูกปัดหินสี การมีลูกปัดแก้ว และเครื่องประดับที่ทำด้วยแก้ว โดยเฉพาะแก้วนั้นน่าจะได้รับเทคโนโลยีจากอินเดียโดยตรง
(๒) การเปลี่ยนแปลงจากประเพณีการฝังศพมาเป็นการเผาศพ
สิ่งเหล่านี้เห็นได้เป็นอย่างดีจากบรรดาเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปแบบเป็นมาตรฐานขึ้น อีกทั้งมีลายประทับที่เป็นสัญลักษณ์เพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญ เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในการเซ่นศพตามหลุมศพอีกต่อไป หากหลาย ๆ ชนิด เช่น ไหหรือผอบถูกใช้ในการบรรจุอัฐิคนตาย หรืออีกนัยหนึ่งกระดูกที่ถูกเผาแล้ว ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาอีกหลายแบบกลายเป็นของประจำศาสนสถานไป
ยิ่งกว่านั้น มีการทำดวงตราดินเผาที่เป็นวัตถุทางสัญลักษณ์ที่ใช้ในระบบความเชื่อและพิธีกรรมมากขึ้น พื้นที่และแหล่งชุมชนที่แสดงการต่อเนื่องจากยุคเหล็กเข้าสู่สมัยต้นประวัติศาสตร์ดังกล่าวนี้ พบที่อำเภออู่ทองในลุ่มน้ำท่าจีนหรือที่จันเสนและท่าแคในบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่บ้านโพนเมืองในเขตอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
แม้ว่าข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมงานจะมองผ่านพัฒนาการทางเทคโนโลยีไปยังพัฒนาการทางสังคม โดยเฉพาะจากสังคมในระดับเรียบง่าย เช่น [Simple society] สังคมหมู่บ้านไปยังสังคมเมืองที่มีความซับซ้อน [Complex society] เช่นเดียวกันกับบรรดานักวิชาการฝรั่งและอื่นๆ ก็ตาม แต่ก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากในเรื่องอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมดังกล่าว
นั่นก็คือทางฝรั่งมักพิจารณาจากปัจจัยในการปลูกข้าวเป็นสำคัญ เพราะเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มีการเติบโตของจำนวนประชากรและขนาดของชุมชนได้ แต่ในส่วนข้าพเจ้าเน้นในด้านกิจกรรมทางอุตสาหกรรมในเรื่องการถลุงโลหะธาตุ การทำเกลือ และการรวบรวมของป่าเพื่อการแลกเปลี่ยนในการค้าขายระยะไกล [Long distant trade] เป็นสำคัญ
นักโบราณคดีฝรั่งที่เน้นในเรื่องการปลูกข้าวที่สำคัญก็คือ ชาลส์ ไฮแอม และ เดวิด เวลช์ ในส่วนไฮแอมนั้นในชั้นแรกเห็นได้จากความพยายามที่จะศึกษากระดูกข้อเท้าของควายที่พบในแหล่งขุดค้นในวัฒนธรรมบ้านเชียง ว่ามีลักษณะใหญ่และแข็งแรงกว่าควายป่า ซึ่งน่าจะสะท้อนให้เห็นการนำเอาความไปไถนา และการที่มีควายไถนานั้น คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีการปลูกข้าวและทำนาแบบทดน้ำที่สามารถผลิตข้าวเลี้ยงคนได้แล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งในเรื่องนี้ไฮแอมแสดงการเปรียบเทียบจากการใช้วัว ควาย ไถนาในที่ลุ่มในเขตลุ่มน้ำสงครามตอนบนเป็นอุทาหรณ์
ปัจจุบันชาลส์ ไฮแอม ก็ยิ่งให้ความสนใจในเรื่องข้าวนี้กว่าเดิม เห็นได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่ล่าสุดที่ “เนินอุโลก” ในอำเภอโนนสูง ซึ่งพบข้าวเปลือกเป็นจำนวนมากในแหล่งฝังศพของคนในยุคเหล็ก ไฮแอมคิดว่าได้มีประเพณีการเก็บสำรองข้าวไว้ในสังคมแห่งนี้เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันกับร่องรอยของชุมชนที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบและมีการขุดคลองชลประทานมากมายในบริเวณที่ราบลุ่มของทุ่งพิมายหรือทุ่งสัมฤทธิ์ ไฮแอมมีความเห็นว่าพัฒนาการดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานของสังคมที่มีความซับซ้อน [Complex society] ที่จะนำไปสู่พัฒนาการของสังคม พลังน้ำที่เมืองพระนครในอาณาจักรกัมพูชา
ข้าพเจ้าเคยเขียนบทความให้กับสมาคมสังคมศาสตร์ คัดค้านพัฒนาการของรัฐอันเกิดจากการปลูกข้าวที่ไฮแอม สันนิษฐานจากการพบข้อเท้าที่โตใหญ่ของไฮแอมเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยที่ไม่เห็นว่ามีหลักฐานและเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ากระดูกข้อเท้าของควายที่ใหญ่ขึ้นนั้นเนื่องมาจากคนใช้ไถนา เพราะอาจตีความในทำนองอื่นอีกได้ว่าอาจนำไปใช้ในการลากจูงพาหนะหรือลากสิ่งของอื่น ๆ ก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือข้าวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีความขาดแคลนง่ายๆ ในสังคมสมัยโลหะที่มีประชากรน้อย และแทบทุกแห่งก็สามารถปลูกข้าวได้เองตามฤดูกาล เพราะฝนก็มีตกเป็นประจำ และบ้างก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยเส้นทางการค้าระยะไกลแต่อย่างใด
แต่หน้าที่ความสำคัญของการปลูกข้าวต่อสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบริเวณที่ราบลุ่มในที่อื่นๆ ก็คือ ข้าวสามารถทำให้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ติดที่ได้ [Sedentary settlements] และการตั้งถิ่นฐานอยู่ติดพื้นที่นี้เป็นฐานสำคัญที่ทำให้คนอยู่รวมกันได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการออกขยายของชุมชนจากบ้านเป็นเมืองและเป็นรัฐได้ในเวลาต่อมา
ส่วนนักโบราณคดีอีกท่านหนึ่งคือ ดร.เดวิด เวลช์ [Dr.David J. Welch] แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายอิ สหรัฐอเมริกา เวลช์ผู้เป็นลูกศิษย์ของโซลไฮม์เดินทางเข้ามาศึกษาที่ท้องถิ่นพิมายในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน อันเป็นพื้นที่ซึ่งโซลไฮม์เคยทำการสำรวจพบแหล่งถลุงเหล็กและเครื่องปั้นดินเผาแบบพิมายดำ อีกทั้งได้มีการกำหนดอายุของแหล่งชุมชนในบริเวณนี้ ประมาณ ๒,๕๐๐ ปี หรือ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล จึงนับว่า เดวิด เวลช์ หันกลับมาทบทวนพื้นที่ที่เป็นฐานในการสำรวจค้นคว้าของโซลไฮม์มาแต่เดิมนั่นเอง อีกทั้งไม่สนใจกับยุคสำริดหากให้ความสำคัญกับยุคเหล็กแทน
เดวิด เวลช์์มีความคิดว่าบริเวณพิมายมีร่อยรอยของพัฒนาการทางชุมชนเด่นชัดมาก โดยเฉพาะจากบ้านเป็นเมือง และพัฒนาการของบ้านเมืองดังกล่าวนี้มีพื้นฐานมาจากการปลูกข้าวเป็นสำคัญ แต่การจะปลูกข้าวได้อย่างมากมายนั้นก็เป็นผลเนื่องมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีนั่นเอง ซึ่งในที่นี้เขาเชื่อว่าคนในยุคเหล็กที่พิมายสามารถผลิตพานไถนาที่ทำด้วยเหล็ก [Iron plough share] ได้แล้ว และจากการมีผาลใช้ในการไถนานี่เองที่ทำให้ปลูกข้าวได้ผลดี เพราะผาลสามารถใช้ไถพรวนดินเพื่อเตรียมที่ในการหว่านหรือดำข้าวได้มากมาย
เพราะฉะนั้น ในการเข้ามาทำงานภาคสนามขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อเก็บข้อมูลนั้น เดวิด เวลช์์ทำการสำรวจพื้นที่ราบลุ่มและชุมชนโบราณในเขตอำเภอพิมาย อำเภอโนนสูง และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ทำการสำรวจแล้ว ก็เลือกแหล่งทำการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านตำแย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพิมาย ประมาณ ๔- ๕ กิโลเมตร
ก่อนการขุดค้นและสำรวจ เดวิด เวลช์ มาหาข้าพเจ้าและพูดคุยกันในเรื่องความมุ่งหมายในการศึกษา เพราะเห็นว่าข้าพเจ้าเคยทำการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในเขตนี้มาก่อน นั่นก็คือ ข้าพเจ้าเคยมีการถกเถียงกับ ดร.วันเลอร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการเรื่องน้ำและโบราณคดีของโครงการแม่โขง วันเลอร์ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการชลประทานในภาคอีสานนั้นไม่ปรากฏร่องรอยของการขุดคลองส่งน้ำ แต่ปรากฏการใช้แนวคันดินเบนเบี่ยงหรือชักน้ำแทน ข้าพเจ้าเลยบอกว่าพบร่องรอยการขุดทางน้ำหรือคลองมากมายในเขตพิมาย ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยทำแผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้ง รูปร่างของชุมชนและแนวคูน้ำ คูคลอง แนวถนนไว้โดยนำรูปร่างที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศมาใส่ไว้ในแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ข้าพเจ้าได้ให้แผนที่นี้กับ เดวิด เวลช์์ ซึ่งก็ได้ทำไปใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจศึกษาของเขา
ระหว่างการพบกับเดวิด เวลช์ นั้น เขาได้มอบข้อเสนอในการทำวิทยานิพนธ์ขั้นปริญญาเอกของเขาแก่ข้าพเจ้าชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ข้าพเจ้าชอบคำในภาษาอังกฤษของเขาที่ว่า "Intensification of rise cultivation" จึงยืมคำว่า Intensification มาใช้กับ Iron smelting แทน จึงเป็น Intensification of iron smelting ที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในด้านสังคมขึ้น
ในการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีของเดวิด เวลช์์ไม่ประสบผลสำเร็จในการค้นหาพผาลไถนาแต่อย่างใด ในขณะที่การสำรวจแหล่งชุมชนโบราณของข้าพเจ้ากลับพบแหล่งถลุงเหล็กเป็นจำนวนมาก และแต่ละแห่งนั้นล้วนมีขนาดใหญ่โตเกือบทั้งสิ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า การถลุงเหล็กนั้น ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อใช้สอยภายในท้องถิ่นหรือภายในภูมิภาคเท่านั้น หากยังเป็นการแลกเปลี่ยนไปนอกภูมิภาคอีกด้วย ข้าพเจ้าพบชุมชนหลายชุมชนที่เป็นชุมชนถลุงเหล็กโดยตรงมีทั้งที่มีคูน้ำล้อมรอบและมีบางชุมชนอยู่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีและลพบุรี แต่หลาย ๆ ชุมชนก็มีอายุอยู่เพียงแต่สมัยเหล็กตอนปลายเท่านั้น
สิ่งเช่นนี้สังเกตให้ง่าย ๆ จากแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือสมัยก่อนทวารวดีนั้น เห็นได้จากการพบเนินดินที่นอกจากมีตะกรันเหล็กกองอยู่เกลื่อนกลาดแล้ว ยังพบร่องรอยการฝังศพที่อาจจะเป็นทั้งโครงก็ได้หรือเป็นการนำเอากระดูกฝังใส่ไว้ในหม้อไหเป็นการฝังศพครั้งที่สองนั่นเอง
ที่รู้ว่าเป็นประเพณีของสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้นก็เนื่องมาจาก บรรดากระดูกคนตายไม่ว่าจะฝังเหยียดยาวหรือฝังในหม้อหรือไหนั้น มักเป็นกระดูกที่ยังไม่ได้เผา แตกต่างไปจากสมัยทวารวดีที่มีการเผาศพแล้วนำเอากระดูกที่เผาแล้ว หรือที่เรียกว่า อัฐิบรรจุในหม้อหรือให้ผอบฝังไว้ตามบริเวณที่เป็นศาสนสถาน
บรรดาชุมชนโบราณที่สำรวจพบ อาจแยกออกได้เป็นชุมชนธรรมโดยทั่วไปกับชุมชนที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมถลุงโลหะโดยเฉพาะที่เรียกว่าชุมชนธรรมดานั้น ก็เหมือนกับชุมชนที่อยู่อาศัยที่เป็นบ้านเป็นเมืองในสังคมเกษตรกรรมทั่วไป แม้ว่าบางพื้นที่จะพบเศษตะกรันโลหะเหลือให้เห็นอยู่ก็ไม่เป็นที่ผิดแผก เพราะมีจำนวนน้อยเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อการใช้สอบภายในเป็นสำคัญ
ผิดกับแหล่งชุมชนที่ทำอุตสาหกรรมถลุงโลหะ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นที่ใช้ในการถลุงโลหะพบโคกเนินที่เป็นการทับถมของเตาถลุงโลหะและตะกรันโลหะมากมาย แม้แต่การฝังศพยังต้องใช้พื้นที่อันเป็นเนินถลุงโลหะเป็นที่ทำพิธีฝัง เหตุนี้จึงพบภาชนะบรรจุกระดูกบนเนินถลุงเหล็ก เช่น ที่บ้านยะวึก ในเขตอำเภอสตึก ที่ ดร.พรชัย สุจิตต์ได้ทำการขุดหลุมทดลองที่บ้านดงพลอง อำเภอสตึก ที่ศาสตราจารย์ นิต้า จากมหาวิทยาลัยคาโกชิม่า ทำการขุดค้นและที่บ้านทุ่งวังในเขตอำเภอสตึกที่ข้าพเจ้าสำรวจพบ เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรดาชุมชนที่เนื่องในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กนี้ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งแวดล้อมไปด้วยพื้นที่ราบลุ่มที่ทำการเพาะปลูกได้ทั้งสิ้น จึงเป็นลักษณะเช่นเดียวกันกับชุมชนธรรมดาทั่วไป เพราะทุกชุมชนต้องอาศัยการเพาะปลูกเป็นฐานรองรับ สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ โลหะที่นำมาถลุงนั้นอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เป็นเหล็ก แต่ในหลาย ๆ ท้องที่และหลาย ๆ ชุมชนที่พบทองแดงปะปนอยู่ด้วย อย่างเช่น ชุมชนในเขตบ้านปะเคีียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น แม้แต่แหล่งถลุงโลหะที่ภูโล้น อำเภอสังคม จังหวัดเลย ที่ทุกคนเห็นว่าเป็นแหล่งแร่ทองแดงและแหล่งถลุงทองแดงที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นก็พบตะกรันเหล็กปะปนอยู่ด้วย อันแสดงให้เห็นว่ามีการถลุงทั้งเหล็กและทองแดงไปด้วยกัน อีกทั้งเมื่อมีการกำหนดอายุของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ก็มีอายุประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล
ในแอ่งสกลนครที่บรรดานักโบราณคดีในระบบยึดถือว่ามีแหล่งชุมชนเก่าแก่ในยุคสำริด ก็ปรากฏไม่พบแหล่งถลุงทองแดงแต่อย่างใด แต่เมื่อไม่นานมานี้ “อาจารย์ชลิต ชัยครรชิต” และ “อาจารย์สุรัตน์ วรางครัตน์” ได้พบแหล่งถลุงเหล็กและทองแดงขนาดใหญ่ที่ “ดอนธงไชย” ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน เป็นแหล่งถลุงโลหะที่อยู่คนละเนินกับแหล่งชุมชนโบราณที่วัดชัยมงคล อันเป็นแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมบ้านเชียง การพบแหล่งถลุงโลหะที่ผสมกันเช่นนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บรรดาชุมชนส่วนใหญ่ในวัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นมีอายุอยู่ในสมัยเหล็กเกือบทั้งนั้น อีกทั้งมีพัฒนาการสืบเนื่องมาจนเกิดเป็นเมืองขึ้นในบริเวณหนองหานหลวงที่จังหวัดสกลนครและหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี
ในบริเวณโดยรอบของหนองหารหลวงสกลนครนั้น ข้าพเจ้าและผู้ร่วมงานสำรวจพบเครื่องมือเหล็กชนิดต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า แต่ละอย่างมีหน้าที่เฉพาะกิจ [Specialization] ในลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี และนางสาววลัยลักษณ์ ทรงศิริ พบที่ดอนตาเพชร และที่บ้านใหม่ชัยมงคลในภาคกลาง แต่ความแตกต่างระหว่างของที่พบในแอ่งสกลนคร กับภาคกลางนั้นเป็นเพียงรูปแบบไม่เหมือนกันเท่านั้น หลาย ๆ อย่างทางภาคกลางได้รับอิทธิพลรูปแบบจากทางอินเดีย ในขณะที่ทางภาคอีสานได้รับอิทธิพลจากจีนตอนใต้และเวียดนาม
การพบแหล่งชุมชนที่สัมพันธ์กับกิจกรรมถลุงโลหะเป็นจำนวนมากดังกล่าวนี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า มีการเคลื่อนย้ายผู้คนจากภายนอกจากท้องถิ่นต่าง ๆ เข้ามาในสมัยเหล็กคือประมาณ ๒,๕๐๐ - ๒,๖๐๐ ปี ที่ผ่าน ผู้คนที่เข้ามานั้น นอกจากบริเวณใกล้เคียงแล้วยังมาจากโพ้นทะเลด้วย
แต่ที่แลเห็นชัดก็คือจากเขตชายทะเลแถวจีนใต้และเวียดนามที่ผู้คนมีประเพณีฝังศพครั้งที่สอง คือเอากระดูกคนตายใส่หม้อหรือไหฝังไว้ตามเนินดิน ประเพณีเช่นนี้พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเขตลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่าง ในการศึกษาของข้าพเจ้าเคยตั้งข้อสังเกตว่า การฝังศพของคนในภาคอีสานสมัยก่อนประวัติศาสตร์แทบทุกท้องถิ่นนั้น เป็นการฝังแบบทั้งร่างในหลุมศพเพราะพบอยู่ทั่วไป
แต่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างนั้นกลับมีการฝังแบบเอากระดูกคนตายใส่ไหใส่หม้อแทน ดูผิดแผกออกไป และประเพณีเหล่านี้มักพบในแหล่งชุมชนที่มีการถลุงเหล็กเกือบทั้งนั้นในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล-ชีตอนล่างนี้ จึงน่าจะเป็นประเพณีของกลุ่มชนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในยุคเหล็ก แต่ยังพิสูจน์อะไรไม่ได้แม้ว่าในการสำรวจจะได้ความจากชาวบ้านว่าในหลาย ๆ ที่พบการฝังศพแบบทั้งโครงในชั้นดินต่ำสุดของชุมชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์อะไรไม่ได้
แต่แล้วทุกอย่างก็กระจ่างแจ้งขึ้น ศาสตราจารย์อิจิ นิต้า ทำการขุดค้นชุมชนถลุงเหล็กที่ “บ้านดงพลอง” อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าในชั้นดินที่ต่ำสุดต่ำจากชั้นดินที่พบเตาถลุงเหล็กนั้นพบหลุมศพคนตายนอนแบบเหยียดยาว มีห่วงสำริดวางไว้บนหน้าอก มีลูกปัดหินสีและแก้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่อยู่ในยุคเหล็กแล้ว แต่ต่อมาชุมชนแห่งนี้ได้พัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนอุตสาหกรรม จึงมีเตาถลุงเหล็กอยู่ชั้นบน และในชั้นที่มีตะกรันเหล็กนี้พบภาชนะดินเผาที่ใช้ในการใส่กระดูกคนตาย ประเพณีฝังศพแบบเอากระดูกใส่หม้อหรือไห น่าจะเป็นของกลุ่มชนที่เคลื่อนที่เข้ามาใหม่และมีกิจกรรมหลักในการถลุงเหล็กโดยตรง
จากการพบประเพณีฝังศพครั้งที่สองดังกล่าวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าสานต่อความคิดไปถึงขนาดชุมชนที่มีขนาดใหญ่และมีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ การมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากย่อมขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ดังนั้น การจัดการในเรื่องน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แอ่งโคราชต่างจากแอ่งสกลนครมากในด้านภูมิประเทศ แอ่งสกลนครบรรดาชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำสงครามตอนบน อันเป็นพื้นที่ใกล้กับเทือกเขาภูพาน มีลำน้ำสาขาย่อย ๆ มากมายไหลลงจากเทือกเขาตลอดทั้งปี ทำให้ชุมชนไม่ขาดแคลนน้ำ แต่บรรดาชุมชนในแอ่งโคราชอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า ไม่มีบ่อน้ำหรือตาน้ำที่ไหลเอื่อยตลอดทั้งปี หากจะแห้งแล้งมากในฤดูแล้งจึงจำเป็นต้องขุดสระขุดบ่อกักน้ำไว้ใช้ วิธีที่ดีที่สุดของชุมชนในขณะนั้นก็คือต้องมีการร่วมแรงกันของคนในชุมชนช่วยกันขุดสระหรือคูน้ำล้อมชุมชน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคและบริโภค และผลที่ตามาสระน้ำ คูน้ำเหล่านั้น ยังเป็นแหล่งพืชและสัตว์น้ำที่ใช้เป็นอาหารการกินอีกด้วย
ข้าพเจ้าคิดว่าการเกิดชุมชนที่มีสระน้ำหรือคูน้ำล้อมรอบนี้ มีพัฒนาการแต่สมัยยุคเหล็กอย่างไม่ต้องสงสัยและแลเห็นพัฒนาการที่กว้างไปกว่านั้นก็คือ บรรดาชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบนั้นมีเป็นจำนวนมากทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ ดังนั้นการที่มีรูปแบบเหมือน ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันและเป็นเครือข่ายของกลุ่มชนที่เป็นพวกเดียวกันหรือระดับเดียวกัน ชุมชนที่มีคูน้ำล้อมนั้น ฃเมื่อคำนวณดูระหว่างพื้นที่เป็นน้ำกับพื้นที่อยู่อาศัยภายในแล้วไม่ได้สัดส่วน คนภายในเพียงไม่กี่ครัวเรือนไม่น่าจะมีแรงงานพอเพียงกับการขุดคูน้ำขนาดใหญ่ได้จะต้องอาศัยแรงงานจากภายนอก ซึ่งถ้าจะมีได้ก็ต้องเป็นสังคมที่มีการรวมกลุ่มกันเป็นบ้านเป็นเมือง มีศูนย์กลางที่จะเกณฑ์แรงงานหรือใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ร่วมกันในด้านต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าขนาดจำนวนและความซับซ้อนทางสังคมน่าจะมีพัฒนาการมาแต่สมัยเหล็กดังกล่าวนี้แล้ว
นอกจากอุตสาหกรรมถลุงโลหะแล้ว ก็ยังมีอุตสาหกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้แลเห็นพัฒนาการทางสังคมเพิ่มขึ้น นั่นก็คือ การทำเกลือบริเวณภาคอีสานทั้ง ๒ แอ่ง มีโดมเกลือที่อยู่ใต้พื้นดินใหญ่ที่สุดในโลก การสำรวจของข้าพเจ้าและคณะพบว่ามีเนินดินที่ทำเกลือสมัยโบราณมากมาย และการทำเกลือก็เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง เพราะกรรมวิธีการผลิตมีขั้นตอนแต่การเตรียมภาชนะในการต้มเกลือและใส่เกลือ การนำเกลือจากแหล่งธรรมชาติมากลองมาต้มและนำออกไปจำหน่ายจ่ายแจก การขุดค้นของศาสตราจารย์อิจิ นิต้า ที่ “โนนทุ่งผีโพน” อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา กำหนดอายุได้แต่ ๒,๐๐๐ ปีลงมา(การขุดค้นที่โนนทุ่งผีโพน มีรายงานการขุดค้นเบื้องต้นใน Ancient Industries, Ecosystem and Environment : Special Reference to the Northeast of Thailand. Historical Science Report. Kagoshima University. 1992, Nitta, Eiji.)ซึ่งก็นับเนื่องในยุคเหล็กเช่นกัน ชุมชนที่มีความสัมพันธ์ทั้งในการถลุงเหล็กและนำเกลือที่เห็นชัดก็คือ “บ้านเมืองเพีย” ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคูน้ำล้อมรอบขนาดใหญ่ เป็นชุมชนที่มีการฝังศพครั้งที่สอง ที่สืบต่อมาจนถึงสมัยทวารวดี
การที่ข้าพเจ้ามองพัฒนาการทางสังคมในยุคเหล็กจากการเกิดชุมชนที่มีกิจกรรมในการถลุงโลหะและทำเกลือตามที่กล่าวมาแล้วนี้หลายคนอาจจะคิดว่ายังเพียงพอ เพราะอาจแลเห็นว่าสิ่งที่ผลิตขึ้นมานั้นเพื่อใช้สอยกันเองภายในและบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น ถ้าจะให้มีพัฒนาการต้องมีกระบวนการในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ
ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าก็มีหลักฐานเป็นข้อสนับสนุน การติดต่อกับภายนอกในลักษณะที่เป็นการค้าระยะไกลแลเห็นได้อย่างชัดเจนทั้งทางบกและทางทะเลในยุคเหล็กนี้ ดังเห็นได้จากบรรดาวัตถุสำริดต่าง ๆ ที่เป็นของมาจากจีนตอนใต้และเวียดนาม เช่น กลองมโหระทึก ขวานสำริด เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับในวัฒนธรรมดองซอนเป็นต้น แต่ที่ชัดเจนมากในกรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็คือการขุดค้นทางโบราณคดีที่พบตุ๊กตารูปม้าและกระดูกม้าของศาสตราจารย์ปรีชา กาญจนาคม ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทุ่งสัมฤทธแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบเป็นแหล่งในวัฒนธรรมพิมายดำที่โซลไฮล์มสำรวจพบ จึงนับเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคเหล็ก ม้าไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของภูมิภาคนี้ แต่การพบทั้งตุ๊กตาม้าและกระดูกม้าย่อมแสดงให้เห็นถึงการนำม้าเข้ามาใช้เป็นพาหนะที่ติดต่อคมนาคมระหว่างภูมิภาคอย่างไม่ต้องสงสัย
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
1. ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
2. ลูกปัดแบบ Etched beads
3. มโหระทึกจากดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
4. เครื่องมือเหล็ก พบที่บริเวณเมืองอู่ทอง
5. เบ้าหลอมโลหะประเภทสำริด พบในแหล่งโบราณคดีในเขตลุ่มลพบุรี-ป่าสัก
6. ภาชนะดินเผาที่ใช้ต้มเกลือ พบจากการขุดค้นที่โดนทุ่งผีโพน อำนวยการขุดโดย ศาสตราจารย์อิจจิ นิตต้า
-๒-
จากการที่กล่าวนำมาอย่างมากมายในเรื่อง “พัฒนาการทางสังคมในยุคเหล็ก” นี้ ข้าพเจ้าใคร่สรุปให้เห็นภาพรวมอย่างย่อๆ ในตอนสุดท้ายนี้ว่าพัฒนาการทางสังคมในดินแดนประเทศไทยที่เข้าสู่สมัยการเป็นบ้านเป็นเมืองนั้น เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยยุคเหล็ก คือประมาณ ๒,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ก่อนหน้านี้จึงนับเนื่องเป็นยุคก่อนเหล็กนั้น สภาพสังคมทั่วไปเป็นการกระจายตัวของชุมชนในระดับหมู่บ้านที่มีอายุแต่ราว ๓,๕๐๐ ปีลงมา เหตุที่มีพัฒนาการทางสังคมช้าก็เนื่องมาจากก่อนยุคโลหะนั้นมีผู้คนอยู่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่สืบเนื่องมาแต่สมัยหินกะเทาะคือประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีลงมา การเติบโตของผู้คนมาเริ่มแต่ประมาณ ๓,๕๐๐ ปีลงมา อันเนื่องมาจากการเคลื่อนย้ายเข้ามาของผู้คนจากทางตอนใต้ของประเทศจีนและชายทะเลในเขตประเทศเวียดนาม อันเนื่องมาจากความกดดันในเรื่องพื้นที่อยู่อาศัย ที่มีพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐานจำกัด
ในขณะที่มีผู้คนอยู่เป็นจำนวนมาก การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนประเทศไทยนั้น มาทั้งทางบกและทางทะเล ทางบกเข้ามาทางภาคอีสานแล้วเรื่อยมาที่ภาคกลางทางซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่ทางทะเลมีหลักฐานให้เห็นเช่นที่โคกพลับ ตำบลโพธิ์หัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ผู้คนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเหล่านี้ล้วนมีความรู้ทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับโลหะ โดยเฉพาะสำริด รู้จักหาแร่ทองแดงมาถลุงและผสมผสานกับแร่อื่นเพื่อทำสำริดให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ แต่ในกระบวนการหาแร่และนำแร่ทองแดงมาถลุงนั้น ได้พบแหล่งแร่เหล็กเป็นจำนวนมาก จึงได้นำแร่เหล็กมาถลุงและทำเครื่องมือเครื่องใช้ เลยทำให้แยกกันไม่ออกในเรื่องการทำสำริดและเหล็ก เพราะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน อีกทั้งวัตถุสำริดที่พบนั้นส่วนมากก็เป็นของที่ทำขึ้นด้วยฝีมือและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแล้ว ดังเห็นได้จากการหล่อสำติดได้บางและสวยงามตามกรรมวิธีขี้ผึ้งละลาย [Lost wax] เป็นต้น
ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ ๒,๕๐๐ ปีลงมา หรือ ๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล การติดต่อระหว่างจีนตอนใต้และเวียดนามกับดินแดนประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานและการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทยและที่อื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ มาเป็นการติดต่อคมนาคมในด้านเศรษฐกิจ เกิดเส้นทางการค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้มีการขยายเส้นการค้าไปทางตะวันตก คือ กับทางอินเดียและดินแดนที่ห่างออกไป จึงมีทั้งพวกพ่อค้า นักเผชิญภัย และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ตลอดจนผู้รู้ทางศาสนาเข้ามาเผยแพร่
ในด้านเศรษฐกิจความต้องการสินค้าพื้นเมืองทำให้มีการบุกเบิกเข้าไปตามที่ต่าง ๆ ภายในของประเทศมากกว่าแต่เดิม ถ้าศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าความต้องการในเรื่องโลหะธาตุ เช่น ทองแดงและเหล็กอยู่ในระดับสูงทีเดียว เพราะพบแหล่งแร่และแหล่งถลุงโลหะมากมาย อาจนับได้ว่าความต้องการในเรื่องนี้มีมากจากทางด้านตะวันออก คือ จากทางเวียดนามและจีน โดยเฉพาะทางจีนนั้นมีมากเพราะแร่เหล็กแทบไม่พบในเขตจีนตอนใต้เลย ในขณะที่ทางตะวันออก เช่น ทางอินเดียมีความต้องการในเรื่องของป่ามากกว่า
ผลที่ตามมาก็คือการขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจเข้าไปยังเขตแดนภายใน คือในภูมิภาคที่มีโลหะธาตุและบริเวณป่าเขาที่มีแร่ธาตุและของป่า ในเรื่องนี้อาจวิเคราะห์พื้นที่ซึ่งคนได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับธรรมชาติได้ออกเป็น ๒ อย่าง อย่างแรกคือ แหล่งการตั้งถิ่นบานเป็นบ้านเป็นเมือง และอีกอย่างหนึ่งคือบริเวณพื้นที่ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าไปจัดการกับโลหะธาตุและของป่า
พื้นที่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการตั้งบ้านแปงเมืองจะพบมากทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกคือ ทางอ่าวไทย และในบริเวณภายในพบมากทางซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักที่อยู่ห่างจากอ่าวไทยขึ้นไป และบริเวณที่ราบสูงโคราชที่แบ่งออกเป็น แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช
ถ้าอ่านจากหลักฐานทางเอกสารที่คนจากภายนอกที่เข้ามาทางทะเลก็มีกล่าวถึงบรรดาบ้านเมืองที่ได้รับอิทธิพลอินเดียแล้วและตั้งอยู่ตามเขตชายทะเล จึงไม่ใคร่ได้กล่าวถึงบรรดาบ้านเมืองและถิ่นฐานที่อยู่ภายใน เช่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ถ้าหากศึกษาจากแหล่งชุมชนโบราณและบรรดาโบราณวัตถุแล้วก็จะพบว่าการตั้งถิ่นฐานในดินแดนภายในเช่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองที่หลากหลายและมั่นคงกว่าภูมิภาคอื่น ทั้งนี้เพราะเป็นภูมิภาคที่มีดินฟ้าอากาศเหมาะสม แบบพื้นกึ่งแห้งแล้งและกึ่งชุ่มชื้นที่เหมาะกับศักยภาพของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่จะปรับตัวให้ควบคุมสภาพแวดล้อมในการตั้งถิ่นฐาน
นอกเหนือไปกว่านั้น ภูมิภาคนี้ยังเต็มไปด้วยแร่ธาตุคือ “เหล็กและทองแดง” ที่กลุ่มชนทางเวียดนามและจีนตอนใต้ต้องการ เช่นเดียวกันกับบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสักที่ยังอุดมไปด้วยโลหะธาตุ โดยเฉพาะทองแดงและเหล็ก จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เกิดชุมชนที่เนื่องด้วยการทำโลหะกระจายอยู่ทั่วไป แต่ทว่าบรรดาชุมชนที่เกิดขึ้นนั้นก็หาได้มากมายและมีขนาดเป็นมาตรฐานอย่างเช่นที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ เพราะพื้นที่ส่วนมากเป็นพื้นที่ลอนลูกคลื่น ไม่มีพื้นที่ราบกว้างขวางพอแก่การสร้างบ้านแปงเมืองขนาดใหญ่ได้ ต้องรอจนปลายยุคเหล็กเข้าสู่สมัยทวารวดีจึงได้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคขึ้นเช่น เมืองละโว้ เมืองศรีเทพ และเมืองจันเสนขึ้น
ถ้าหากศึกษาจากหลักฐานภายในคือจากแหล่งชุมชนโบราณและโบราณวัตถุแล้ว ก็จะแลเห็นพัฒนาการของสังคมมนุษย์อย่างชัดเจนระหว่างสมัยก่อนเหล็กที่มีอายุประมาณ ๓,๕๐๐ ปีลงมาจนถึง ๒,๕๐๐ ปี ในระยะนี้บรรดาชุมชนที่พบมีขนาดเล็กและมีการกระจายตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ยังไม่มีความซับซ้อนทางสังคมพอที่จะแลเห็นว่ามีชุมชนเมืองเกิดขึ้น แต่ทว่าชุมชนเหล่านี้ก็หาอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในและเกี่ยวข้องกับภายนอกด้วย
ที่ว่าสัมพันธ์กันเองภายในก็เพราะมีความสัมพันธ์กันทางเศรษฐกิจ แลกเปลี่ยนสิ่งของที่จำเป็นระหว่างกัน และสิ่งที่แสดงให้เห็นก็คือ บรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ ที่เด่นชัดก็คือพวกเครื่องประดับ ขวาน หอกและหัวลูกธนูที่ทำด้วยสำริด โดยเฉพาะขวานสำริดนั้น นอกจากแต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงกันแล้ว ยังเหมือนกันกับที่พบทางเวียดนามและจีนตอนใต้อีกด้วย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากในการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากตอนใต้ของประเทศจีนและทางเวียดนามเหนือนั้น ผู้ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาต่างก็เอาเทคโนโลยีในการทำสำริดและหลอมสำริดรวมทั้งรูปแบบติดมาด้วย เพราะฉะนั้นในแทบทุกแห่งจึงมีแม่พิมพ์สำหรับหล่อขวานเหลือไว้ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นในแถบลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอะไรที่คล้ายคลึงกัน
พัฒนาการของกลุ่มชนที่ทำให้เกิดเป็นชุมชนหมู่บ้านในช่วง ๓,๕๐๐-๒,๕๐๐ ปีนั้น น่าจะกระจายกันอยู่ทางเขตลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตามชายทะเลทางภาคใต้ของประเทศไทย เพราะการเข้ามาในระยะแรกนี้น่าจะเข้ามาด้วยเส้นทางบกผ่านเวียดนามและภาคอีสานลงมา
แต่เมื่อมาถึงยุคเหล็กคือ ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีลงมานั้น การคมนาคมทางทะเลที่พัฒนาขึ้นเป็นเรื่องของการค้าขายเป็นสำคัญ ทำให้เกิดพัฒนาการของชุมชนตามชายฝั่งทะเลขึ้น บริเวณที่มีพัฒนาการมากที่สุดก็คือในเขตลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง เพราะเป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำที่สามารถติดต่อเข้าไปยังเขตแดนภายใน [Hinterland] ได้ดี แหล่งชุมชนโบราณที่โคกพลับ ตำบลโพหัก อำเภอบางแพ คือตัวอย่างการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจากภายนอกโดยทางทะเลอย่างชัดเจน ที่มีอายุอยู่ในสมัยก่อนยุคเหล็ก
แต่ในสมัยยุคเหล็กนั้นได้เกิดชุมชนในระดับบ้านเมืองตามลำน้ำและชายขอบที่สูง ตั้งแต่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นบริเวณต้นน้ำจระเข้สามพันมายังลุ่มน้ำท่าจีนในเขตอำเภออู่ทอง สระยายโสม สองพี่น้อง เลยขึ้นไปจนถึงอำเภอดอนเจดีย์ และอำเภอเดิมบางนางบวช บรรดาชุมชนเหล่านี้มีความมั่งคั่งกว่าที่อื่น ๆ ดังเห็นได้จากบรรดาวัตถุที่พบจากหลุมศพ อันได้แก่ เครื่องประดับที่ทำด้วยหินสี สิ่งมีค่า แก้ว สำริด และอื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่นำมาจาภายนอก
ที่บ้านดอนตาเพชรมีลูกปัดและตุ้มหูที่เป็นของทั้งทางตะวันออก คือทางเวียดนามมาพบกับของทางตะวันตก คือจากอินเดีย นั้นก็คือ ลิง-ลิง-โอ ที่ทำด้วยหินคาร์เนเลียนสีส้ม รูปแบบเป็นของมาจากทางเวียดนาม แต่วัตถุน่าจะมาจากทางอินเดีย อีกทั้งพบพร้อม ๆ กับรูปสิงห์อันเป็นสัตว์ทางอินเดียด้วย ส่วนที่เป็นของมาจากทางอินเดียอย่างชัดเจนก็คือ พวกลูกปัดหินที่ฝังสีต่าง ๆ [Etched beads] ลูกปัดแบบนี้มีพบขนาดใหญ่ในเขตอำเภออู่ทองด้วยเช่นกัน
นอกจากการพบศิลปวัตถุที่มาจากทั้งทางเวียดนามและจีนตอนใต้กับจากทางอินเดียในบริเวณนี้แล้ว ยังแลเห็นได้ว่าการเติบโตของบ้านเมืองมีการต่อเนื่องจนถึงการเกิดเมืองอู่ทองที่มีอายุแต่สมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิ ลงมาจนถึงสมัยทวารวดี คือแต่ ๑,๗๐๐ ปีลงมาจนถึง ๑,๒๐๐ ปี อีกทั้งบรรดาโบราณวัตถุที่พบในช่วงเวลาหลังนี้ ก็ยิ่งมีความหลากหลายและส่วนใหญ่เป็นของที่นำเข้ามาจากภายนอกด้วย
บ้านดอนตาเพชร อันเป็นแหล่งที่มีทั้งของทางอินเดียวและเวียดนามนั้น การกำหนดอายุครั้งหลังโดย นายเอียน โกรฟเวอร์ ว่าอยู่ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ ๒,๓๐๐-๒,๔๐๐ ปีมาแล้วนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กับอินเดียแล้ว แต่หลักฐานทางโบราณคดีจากชุมชนแห่งนี้เป็นสิ่งที่คัดค้านกันกับความคิดเห็นของศาสตราจารย์เซเดส์ ในเรื่องการเป็นอาณานิคมของชาวอินเดีย เพราะของที่พบนั้นไม่ใช่ของที่เป็นวัฒนธรรมอินเดียทั้งหมด หากอยู่ในลักษณะผสมผสานกับวัฒนธรรมทางตะวันออกที่ได้กล่าวมาแล้ว
ในช่วงเวลาของบ้านดอนตาเพชรนั้น ยังไม่แสดงให้เห็นว่าคนที่ชุมชนในท้องถิ่นนี้นับถือพระพุทธศาสนากัน เพราะยังมีประเพณีการฝังศพแบบเดิมอยู่ ถึงแม้ไม่พบร่องรอยการนับถือพระพุทธศาสนาในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ แต่ก็เป็นระยะเวลาที่คนอินเดียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานกันแล้ว สิ่งที่แลเห็นได้ชัดเจนว่ามีคนอินเดียอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ก็คือ ลักษณะทางศิลปกรรมที่พบบนลายสลักที่ภาชนะสำริดที่พบที่ดอนตาเพชรและที่จอมบึง ลักษณะของภาชนะเป็นแบบเดียวกัน ที่บ้านดอนตาเพชรมีภาพผู้หญิงและควาย ในขณะที่สิ่งที่พบที่จอมบึงมีภาพช้าง ม้า และภาพผู้หญิงที่แสดงส่วนสัดทางสรีระวิทยาเป็นแบบคนอินเดียอย่างชัดเจน
การศึกษาวิเคราะห์ของนายเอียน โกรฟเวอร์และคณะ มีความเห็นว่าภาชนะนี้เป็นของทำในดินแดนประเทศไทยและส่งไปขายที่อินเดียด้วย แต่จากภาพลายสลักที่แสดงส่วนสัดร่างกายของหญิงอินเดีย ทำให้ข้าพเจ้าเพิ่มเติมลงไปว่า ภาชนะดังกล่าวนี้น่าจะเป็นคนอินเดียที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองเป็นคนผลิตขึ้น กำหนดอายุเวลาของผู้คนและสถานที่จากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวนี้มีความสอดคล้องกันกับหลักฐานทางเอกสารจากภายนอกคือ จากคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกาที่ว่า ในพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ นั้น มีสมณะฑูตจากราชสำนักพระเจ้าอโศก คือ “พระโสนณะและพระอุตระ” มาสั่งสอนพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
เรื่องการเข้ามาสั่งสอนพระพุทธศาสนานี้ ทางพม่า-มอญมักอ้างเสมอว่ามาที่ “เมืองสะเทิม” ในประเทศพม่าตอนใต้เพราะมีตำนานพงศาวดารยืนยัน อีกทั้งมีเมืองสะเทิมเป็นเมืองเก่าแก่อยู่ แต่ก่อนข้าพเจ้าออกจะคล้อยตามว่าอยู่ทางมอญ-พม่า เพราะเส้นทางจากอินเดียย่อมมาถึงอ่าวเบงกอลก่อน เมืองสะเทิมอยู่ใกล้กว่าอ่าวไทยของประเทศไทย
แต่เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเที่ยวศึกษาที่เมืองมอญและพม่า แต่เมืองย่างกุ้ง เมืองแปร เมืองหงสาวดี เมืองสะเทิม จนถึงเมืองเมาะตะมะ ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นหลักฐานทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งชุมชนโบราณและโบราณวัตถุที่มีอายุเก่าแก่ถึงยุคเหล็กอย่างที่พบในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองแต่อย่างใด แหล่งเก่าแก่ของทางพม่า เช่นที่เมืองศรีเกษตร และเมืองเบคถาโน่ ก็ล้วนเป็นของที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับสมัยทวารวดีแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความใกล้ชิดในเรื่องระยะทางและสถานที่คงไม่ใช่เรื่องสำคัญแน่ ความสำคัญกลับอยู่แหล่งที่มีคน มีบ้านเมืองเป็นสำคัญ
พื้นที่ในเขตพม่า-มอญไม่ใช่แหล่งศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างตะวันตกคือจากอินเดียไปตะวันออก ทางจีนและเวียดนามคงไม่มีคนมากมาย ซึ่งต่างกับลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลองที่เป็นชุมนุมทางการค้าทางทะเล
เพราะฉะนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าจึงใคร่รวบรัดที่จะสรุปว่า บริเวณที่เป็นตำแหน่งสำคัญของสุวรรณภูมิที่พระโสนณะและอุตระมาสอนพุทธศาสนานั้น น่าจะอยู่ในเขตบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ที่ต่อมามีเมืองอู่ทองเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางในสมัยฟูนันนั่นเอง
และจากอู่ทองก็แลเห็นการสืบเนื่องของเมืองสำคัญทางพุทธศาสนา อันได้แก่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองนครชัยศรีกับเมืองคูบัวในเขตจังหวัดราชบุรี
ตามที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า พัฒนาการของยุคเหล็กนั้นเริ่มมาแต่ต้นพุทธกาลทีเดียว คือไม่ต่ำกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อมีคนอินเดียเข้ามาราว ๒,๓๐๐ - ๒,๔๐๐ ปีนั้น ผู้คนในดินแดนประเทศไทยมีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองและมีการค้าขายกับทั้งทางตะวันตกและตะวันออกหาได้อยู่ในสภาพที่ป่าเถื่อนไม่
ในแต่ละภูมิภาคก็มีพัฒนาการของตนเอง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นอาจนับได้ว่ามีพัฒนาการมาก่อน อีกทั้งเคยเป็นบริเวณที่มีความเคลื่อนไหวอย่างมากมายมาก่อน อันเนื่องจากเป็นแหล่งร่วมสมัยกับอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาขึ้นในบริเวณมณฑลยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง ในประเทศจีนตอนใต้และบ้านเมืองในประเทศเวียดนามเหนือ อารยธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เห็นชัดเจน ก็คือ บรรดาโบราณสถานวัตถุต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมดองเซินที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศเวียดนาม ซึ่งนับเป็นพัฒนาการขึ้นสุดท้ายก่อนที่จะมีการเกี่ยวข้องกับอินเดียและจีน โดยเหตุนี้ตามแหล่งโบราณคดีในยุคเหล็กจึงมีร่องรอยของหลักฐานที่แสดงให้เห็นการมีอารยธรรมของเอเชียอาคเนย์อยู่แล้วในช่วงที่มีการติดต่อกับอินเดียแต่สมัยต้นพุทธกาลลงมา
อารยธรรมในที่นี้อาจมองได้ทั้งความเจริญทางเทคโนโลยีและศิลปวัฒนธรรม ยกตัวอย่างเช่น ที่บ้านดอนตาเพชรและบริเวณเมืองอู่ทองที่อยู่ในแวดวงอันเดียวกัน ได้พบภาชนะสำริดที่หล่อบางด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง จนกระทั่งเป็นสิ่งที่ผลิตจากทางนี้ไปจำหน่ายที่อินเดีย พบบรรดาอาวุธและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยเหล็กมากมายหลายชนิดที่มีรูปแบบเหมือนกันทั่วทั้งบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งซีกตะวันตกและตะวันออก พบกลองมโหระทึกอันเป็นทั้งศิลปวัตถุที่มีความหมายทางสัญลักษณ์ทั้งในด้านพิธีกรรมที่สำคัญและด้านการเป็นสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งของบุคคลสำคัญ ประเพณีการฝังศพยังดำรงอยู่แต่แสดงความมั่งคั่งอันเนื่องมาจากการค้าระยะไกล เพราะพบโบราณวัตถุที่มีค่าที่เรียกได้ว่าเป็นสมบัติตามหลุมศพบุคคลสำคัญ และที่สำคัญทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางได้มีพัฒนาการของชุมชนเมืองที่มีผังเมืองมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีระบบการระบายน้ำและกักเก็บน้ำที่มีประสิทธิภาพ
ในสุดท้ายนี้ สรุปว่า ในยุคเหล็กแต่ ๒,๕๐๐ ปีลงมานั้น มีพัฒนาการของบ้านเมืองที่มั่นคงอยู่แล้ว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง เป็นพัฒนาการที่แลเห็นความสัมพันธ์กับบ้านเมืองโพ้นทะเลทั้งทางตะวันตกและตะวันออกด้วยเส้นทางการค้าระยะไกลทั้งทางทะเลและทางบกที่ทำให้เกิดการขยายพรมแดนทางเศรษฐกิจเข้าไปทางภาคเหนือตามหุบเขาและพื้นที่อันเป็นชายขอบตามทิศต่าง ๆ
ความสัมพันธ์กับอินเดียและจีนในช่วงเวลาก่อน ๑,๗๐๐ ปีที่ผ่านมา ยังแลไม่เห็นอิทธิพลทางวัฒนธรรม เพราะอารยธรรมดั้งเดิมที่ร่วมสมัยกับเวียดนามเหนือและจีนตอนใต้ยังมีน้ำหนักอยู่ จนกระทั่งสมัยฟูนัน-สุวรรณภูมิจึงแลเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลอินเดียและจีน ที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิดรัฐใหญ่ ๆ ขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ อย่างเช่นในภาคกลางมีรัฐทวารวดี และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรัฐอีศานปุระหรือเจนละ เป็นต้น