หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ธ.ค. 2545, 15:32 น.
เข้าชมแล้ว 15467 ครั้ง

 

แผนที่แสดงตำแหน่งของเมืองโบราณ ๒ แห่ง ที่เรียกว่าทุ่งพญาเมืองและทุ่งพระเสด็จ ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนขุดคลองลัดเกร็ดใหญ่ ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๔๕–๒๑๗๐) ดังนั้น เมืองโบราณทั้งสองแห่งนี้ควรมีอายุในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีจากบ้านยี่สารในจังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้พบร่องรอยบางอย่างที่อาจหาความสัมพันธ์และอธิบายถึงการมีอยู่ของชุมชนในระยะเริ่มแรกก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่อยู่บริเวณใต้เกาะเมืองและต่ำลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยาอีกหลายแห่ง 

 

ยอมรับกันโดยทั่วไป ฝั่งใต้ของเกาะเมืองอยุธยาทางแถบตะวันออกมีเมืองเก่าที่กล่าวชื่อไว้ในจารึกสุโขทัยว่า “อโยธยาศรีรามเทพนคร” ซึ่งมีแนวคูน้ำคันดิน วัดต่างๆ ที่ได้รับการสร้างต่อเติมเรื่อยมา และสิ่งสำคัญคือพระพุทธรูปวัดพนัญเชิงที่สร้างก่อนการสถาปนาพระนครถึง ๒๖ ปี แสดงให้เห็นความสำคัญของชุมชนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เมืองอโยธยา” ในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี

 

และที่นักวิชาการหลายท่านชี้ชัดนั่นคือ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” นี้ มีมาก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของรัฐละโว้ซึ่งเกิดขึ้นมาแทนที่เมืองละโว้-ลพบุรีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับบ้านเมืองแถบสุพรรณภูมิและบ้านเมืองทางชายฝั่งตะวันตกนับแต่เพชรบุรีลงไปถึงนครศรีธรรมราช และเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้นด้วยซึ่งกำหนดอย่างกว้างๆ คือก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๒  (ศรีศักร วัลลิโภดม : ๒๕๔๑ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ๒๕๒๗)

 

สิ่งที่ได้จากบ้านยี่สาร ทำให้เกิดการเชื่อมโยงและเห็นความสัมพันธ์บางประการระหว่างชุมชนร่วมสมัยหลายแห่งในยุคนี้ อันได้แก่รูปแบบโบราณวัตถุและนิทานหรือเรื่องเล่าที่ยังเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

 

บ้านยี่สารนั้นมีการอยู่อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ เพราะพบเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.๑๘๒๓–๑๙๑๑) ในชั้นดินอยู่อาศัยระดับแรกสุด และอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า ๗๐๐ ปี โดยไม่มีการขาดช่วง ทั้งเป็นจุดผ่านในเส้นทางเดินทางน้ำจากกรุงศรีอยุธยาไปยังเมืองเพชรบุรี

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือ ในชุมชนยี่สารยังคงสืบทอดตำนานเกี่ยวกับจีนเรือแตกผู้เริ่มตั้งถิ่นฐานคนแรกที่กลายเป็นความเชื่อที่คู่ขนานมากับการนับถือพุทธศาสนาของชุมชนจนทุกวันนี้ นับเป็นตำนานที่แม้สืบทอดมาอย่างยาวนานแต่ยังคงหน้าที่ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการผสมกลมกลืนของคนจีนผู้เข้ามาใหม่และคนพื้นเมืองที่อยู่แต่เดิม ซึ่งตำนานหรือเรื่องเล่าเหล่านี้ คือการค้นหาตัวตนและกำเนิดหรือที่มาของผู้คนในเขตภาคกลางบริเวณใกล้ชายฝั่งอย่างหนึ่ง

 

จากการศึกษาตำนานเกี่ยวกับวีรบุรุษทางวัฒนธรรม [Culture hero] ในเขตนี้พบว่ามีอุดมการณ์ที่ปรากฏในตำนานเน้นในการให้คุณค่าของมนุษย์ที่วัตถุอย่างมาก ลักษณะของผู้นำมีความเก่งกล้า แต่ฉลาดแกมโกง ไม่ยึดถือคุณธรรม ความซื่อสัตย์ อันเป็นลักษณะของวัฒนธรรมพ่อค้ามากกว่าที่จะเป็นผู้นำแบบนักรบหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวีรบุรุษทางวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่ภาคพื้นภายใน

 

ผู้นำทางวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นหรือชุมชน เช่น คุณปู่ศรีราชาที่บ้านยี่สารนับเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในขณะที่ “เจ้าอู่หรือท้าวอู่ทอง” แพร่หลายและเป็นที่รู้จักมากกว่านับเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทั้งสองเรื่องเริ่มต้นจากเป็นพ่อค้าคนจีนหรือนักผจญภัยที่มากับเรือสำเภาและกลายเป็นผู้นำของชุมชนหรือบ้านเมืองในแถบนี้ เรื่องของเจ้าอู่หรือท้าวอู่ทองถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ นั่นหมายถึงเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะถูกจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เกิดที่มาของบุคคลที่มีชื่อว่า “อู่ทอง” หลายกระแส  จนเกิดความสับสนในภายหลังกับตัวตนของกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑  กับวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ชื่อ “เจ้าอู่หรือท้าวอู่ทอง”

 

เรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองที่ไม่ได้รับการจดบันทึก

ลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ใต้เกาะเมืองอยุธยาลงมา มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองอยู่หลายแห่ง  ปรากฏในนิราศของสุนทรภู่ที่แสดงถึงความรู้เรื่องท้องถิ่นต่างๆ ของคนรุ่นเก่า และเรื่องเล่าเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ติดที่ถ่ายทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

จุดแรกคือ บริเวณสามโคก สุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า

      “พอเลยนาคบากข้ามถึงสามโคก เป็นลิ้นโลกสมมุติสุดสงสัย
ถามบิดาว่าผู้เฒ่าท่านเล่าไว้   ว่าท้าวไทพระอู่ทองเธอกองทรัพย์ 
หวังจะไว้ให้ประชาเป็นค่าจ้าง  ด้วยจะสร้างบ้านเมืองเครื่องประดับ
พอห่ากินสิ้นบุญเป็นสูญลับ  ทองก็กลับกลายสิ้นเป็นดินแดง”

 

ส่วนชาวบ้านแถบสามโคกเฉพาะชุมชนไทยเล่าว่า “ท้าวอู่ทองอพยพผู้คนมาจากทางทิศใต้ ผ่านแถวๆ วัดท่าเกวียน ปากเกร็ด เข้าทางคลองลาดช้างมาถึงบริเวณวัดมหิงสาราม ซึ่งเป็นวัดร้างในปัจจุบันและห่างจากฝั่งน้ำเจ้าพระยาราว ๒ กิโลเมตร ใกล้ค่ำเกวียนที่บรรทุกเข้าของเงินทองชำรุดต้องใช้เครื่องมือซ่อมแซม จึงออกปากยืมเครื่องมือจากชาวบ้านแต่ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ ท้าวอู่ทองโกรธมากจึงแอบฝังทรัพย์สมบัติทั้งเล่มเกวียนไว้ในบริเวณวัดและสาบแช่งไม่ให้ผู้ใดได้สมบัติไป เล่ากันว่าในสระใหญ่ข้างโบสถ์วัดมหิงสารามในวันดีคืนดี จะมีผู้พบเห็นเป็ดเงินเป็ดทองมาว่ายอยู่ในสระแต่ก็ไม่สามารถจับได้” (วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย และ ทองคำ พันนัทธี : ๒๕๒๘)

 

จุดต่อมาคือ บริเวณดอนเมืองที่ต่อเนื่องกับละแวกคลองบางเขน บางซื่อ บางซ่อน มีเรื่องเล่าจากคนเก่าๆ ในละแวกนี้ว่า “ท้าวอู่ทองพาข้าราชบริพารอพยพหนีโรคห่ามาจากแดนไกล ผ่านมาทาง “ดอนเมือง” ท้าวอู่ทองนำทองคำใส่เรือชะล่าเข็นมาตามคลอง เพราะคลองตื้นเขินมาก เมื่อเวลาผ่านไปคำว่าทองเข็นก็กลายเป็น “บางเขน” ท้าวอู่ทองเข็นมาถึงที่หนึ่งจึงเอาทองคำซ่อนไว้ จึงเรียกว่า “บางซ่อน” และที่ใกล้ๆ กับบางซ่อนมีชุมชนแห่งหนึ่งผู้คนมีแต่ความซื่อสัตย์ เมื่อมีผู้ถามว่า ท้าวอู่ทองนำทองไปซ่อนที่ไหน ก็ตอบว่าที่บางซ่อน จึงเรียกสถานที่ซึ่งผู้คนซื่อสัตย์นี้ว่า “บางซื่อ” (ปรานี กล่ำส้ม : สัมภาษณ์)

 

จุดสุดท้าย คือ แถบคลองแม่น้ำอ้อม ในนิราศพระประธมของสุนทรภู่กล่าวว่า

        “บางขนุนขุนกองมีคลองกว้าง   ว่าเดิมบางชื่อถนนเขาขนของ
เป็นเรื่องหลังครั้งคราวท้าวอู่ทอง  แต่คนร้องเรียกเฟือนไม่เหมือนเดิม”  

 

เรื่องเล่าของชาวบ้านที่บางขนุนก็มีเรื่องคล้ายๆ กันว่า ท้าวอู่ทองหนีภัยโรคห่ามาสร้างวัดไว้ เช่น ที่วัดยาง เมื่อท้าวอู่ทองไปถึงได้ประกอบพิธีโสกันต์พระธิดาวัดนี้จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดยั้ง เชื่อกันว่ามีเนินดินที่เป็นโคกใช้ประกอบพิธีโสกันต์อยู่

 

ทั้งที่วัดมหิงสารามเขตสามโคกและคลองบางขนุนบางขุนกองตลอดจนแถวคลองบางนายไกรที่แยกซอยออกจากคลองแม่น้ำอ้อมต่างก็เป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งอยู่ในเส้นทางเดินทางสมัยโบราณ

 

ใกล้กับวัดมหิงสารามแถบคลองบางควายหรือบางกระบือมีโคกเนินขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านเก่า” พบเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเศษภาชนะจำนวนมาก ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเครื่องถ้วยจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน เครื่องถ้วยสุโขทัย ภาชนะจากเตาบางปูน บริเวณนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย (วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย: ๒๕๔๐)

 

วัดบางนายไกรที่มีเรื่องเล่าว่าเป็นถิ่นฐานบ้านของไกรทอง พ่อค้าข้าวจากเมืองนนท์ที่ไปปราบจระเข้ที่เมืองพิจิตร และอยู่ใกล้กับบางขนุนบางขุนกองมีพระพุทธรูปหินทรายแดงที่เพิ่งถูกลักตัดเศียรไปไม่นานและทางวัดต่อเศียรใหม่ลงรักปิดทองเสียจนไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทำจากหินทราย ประเมินแล้วน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น

 

แถบแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก่อนมีการขุดลัดตั้งแต่หน้าวัดท้ายเมืองที่นนทบุรีจนถึงวัดปากน้ำในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน อยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักและเป็นชุมชนดั้งเดิมที่เจริญอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น มีวัดโบราณหลายแห่งและมีชื่อสถานที่แสดงร่องรอยของชุมชนโบราณเช่นกัน เช่น วัดปรางค์หลวงที่มีพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น บางคูเวียงซึ่งเป็นชื่อที่น่าสนใจ ตลอดจนโคกเนินหลายแห่งใกล้กับวัดบางนายไกรที่ชาวบ้านเล่าว่าเป็นซากวัดโบราณและเกี่ยวข้องกับเจ้าอู่ทองหรือท้าวอู่ทอง 

 

ส่วนดอนเมืองทราบกันดีว่าเป็นที่ดอนสูงห่างแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลนักแต่ไม่พบร่องรอยชุมชนโบราณเพราะกลายเป็นชุมชนและสถานที่ราชการมานานแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีชื่อถนนโบราณ เส้นทางโบราณ หรือวัดเก่าอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทอง เช่น ถนนท้าวอู่ทองจากคูบัวราชบุรีมายังแถวๆ เพชรบุรี เส้นทางเดินทางที่เรียกว่าถนนท้าวอู่ทองเช่นกันแถวๆ เมืองกาญจน์เก่ามายังพนมทวน และวัดท้าวอู่ไทยที่มีเรื่องเล่าว่าเป็นพี่น้องกับท้าวอู่ทอง ซึ่งเป็นวัดโบราณก่อนการเข้ามาอยู่อาศัยของกลุ่มลาวในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา และเรื่องกำเนิดการสร้างพระนอนจักรสีห์ที่จังหวัดสิงห์บุรีที่ท้าวอู่ทองนำพ่อค้าเกวียนผ่านมาแล้วจึงชวนกันสร้างพระพุทธรูป นอกจากนี้ อาจมีอีกหลายแห่งที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทอง แต่ยังไม่ทราบก็เป็นได้

 

ข้อสังเกตก็คือ ตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับวีรบุรุษทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มักจะพบในบริเวณที่มีชุมชนโบราณซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ ด้วย

 

สำหรับชุมชนในบริเวณที่ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยร่องรอยการอยู่อาศัยที่ค่อนข้างซับซ้อนจากคนหลายกลุ่มหลายช่วงเวลาตลอดจนมีเรื่องเล่าหรือนิทานต่างๆ ประกอบอยู่ แสดงถึงการเป็นกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งหลักฐานทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่ามีการอยู่อาศัยครั้งแรกเริ่มร่วมสมัยกับ “อโยธยาศรีรามเทพนคร” นั่นคือ “สามโคก”

           

ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก

สามโคกอาจไม่ใช่ชื่อเก่านัก เพราะใน “พงศาวดารเหนือ” ที่พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมเรียบเรียงเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ มีตอนหนึ่งกล่าวว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงยกพลลงไปขุดบางเตย จะสร้างเมืองใหม่ พระอาจารย์ห้ามว่าน้ำเค็มนัก ยังไม่ถึงพุทธทำนายสร้างไม่ได้”

 

พระเจ้าสายน้ำผึ้งอาจเป็นกษัตริย์ในพงศาวดารที่สับสนหาหลักฐานการเป็นกษัตริย์อย่างเป็นทางการแห่งกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ แต่ในตำนานพระองค์เป็นผู้สร้างวัดพนัญเชิงเพื่อเป็นเป็นอนุสรณ์ถึงนางสร้อยดอกหมากมเหษีเชื้อสายจีน และวัดพนัญเชิงนี้เองที่มีการฉลองพระพุทธรูปก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง ๒๖ ปี

 

บางเตยที่กล่าวถึงนี้ คือคลองบางเตยในเขตสามโคก ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับทุ่งพญาเมืองเล็กน้อย การกล่าวว่าน้ำเค็มยังขึ้นถึงบางเตยก็แสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้ถูกเลือกเพราะมีความเหมาะสมจะสร้างบ้านเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ได้ ทั้งใกล้ปากน้ำกว่าที่เกาะเมืองอยุธยาสะดวกในการเป็นชุมชนเมืองท่าภายในที่สัมพันธ์กับการพานิชย์นาวีระหว่างภูมิภาค

 

ในปัจจุบันพบว่า หากน้ำทะเลหนุนในช่วงหน้าแล้งจัด น้ำเค็มก็สามารถขึ้นมาถึงแถวๆ ปากเกร็ดได้ จึงไม่น่าแปลกใจหากน้ำเค็มจะขึ้นมาถึงบางเตยเมื่อหลายร้อยปีก่อน

 

เหนือจากคลองบางเตยขึ้นไปไม่ไกลนัก ใกล้กับคลองควายบริเวณบ้านบางกระบือมีโคกเนินที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เรียกกันว่าโคกยายมั่นบ้านเก่าซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับวัดมหิงสารามที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท้าวอู่ทองพ่อค้าเกวียนและสมบัติที่ถูกฝังไว้ บริเวณนี้พบเครื่องปั้นดินเผาจากหลากหลายแหล่งที่มา ที่น่าสนใจคือเครื่องถ้วยจากจีนในสมัยราชวงศ์หยวน จากเวียดนามในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จากสุโขทัย ศรีสัชนาลัย จากบางปูน สุพรรณบุรี เป็นต้น วัดมหิงสารามนี้เป็นวัดร้างในปัจจุบัน ซากโบสถ์นั้นเป็นรูปแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ในอดีตคงมีการอยู่อาศัยสืบเนื่องตลอดมา

 

ฝั่งตะวันตกเยื้องกับคลองบางเตย มีร่องรอยของคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานตามยาวไปกับแนวของลำน้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้รู้จักกันในชื่อ “ทุ่งพญาเมือง” โคลงกำศรวลสมุทร กล่าวถึงทุ่งพญาเมืองเมื่อเดินทางผ่านนั้นเมืองนี้ได้กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว

 

          ๒๗จากมาเรือร่อนท้ง    พญาเมือง 
 เมืองเปล่าปลิวใจหาย    น่าน้อง 
จากมาเยียมาเปลือง อกเปล่า 
 อกเปล่าว่ายฟ้าร้อง   ร่ำหารนหา 

 

หลังจากนั้นจึงผ่านเชียงราก บริเวณนี้เรียกว่า “เกร็ดใหญ่” ในภายหลังเพราะมีการขุดคลองลัดตั้งแต่วัดบ้านพร้าวในปัจจุบันจนถึงแถววัดมะขามหน้าตัวจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน เรียกแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมตรงนี้ว่าคลองบางหลวงเชียงราก ลัดเกร็ดใหญ่นี้ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๔๕–๒๑๗๐) ดังนั้นการเดินทางในกำศรวลสมุทรจึงมีขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ อย่างแน่นอน

 

๒๙ไก่ใดขนนนิ่งน้อง   นางเฉลอย 
 เชอญท่านทยานเปนผนน   ฝากแก้ว 
 เยียมาบลุะเสบอย   เชองราค
ไฟราคดาลแพร้วแพร้ว   พร่างตาฯ 

     

บริเวณเชียงรากหรือที่เรียกว่า คลองบางหลวงเชียงรากนี้ต่อกับทุ่งพระเสด็จ ซึ่งมีเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกแห่งหนึ่งปรากฏอยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ใกล้กับวัดเสด็จในปัจจุบัน สภาพของเมืองโบราณแห่งนี้แทบจะไม่เหลืออะไรนัก เพราะมีคลองประปาขุดตัดผ่านส่วนหนึ่ง และพื้นที่บริเวณนี้ก็มีการใช้ที่ดินเนื่องจากการขยายของเมืองและโรงงานอุตสาหกรรมมาจากฝั่งรังสิต

 

ทั้งทุ่งพญาเมืองและทุ่งพระเสด็จเป็นชุมชนโบราณด้วยกันทั้งสองแห่ง น่าจะมีความสัมพันธ์ร่วมสมัยเพราะอยู่ไม่ไกลกัน รวมถึงน่าจะเกี่ยวเนื่องกับการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งยกกำลังพลลงไปขุดบางเตยเพื่อจะสร้างเมืองใหม่ในพงศาวดารเหนือด้วย

 

ภาพถ่ายทางอากาศเปรียบเทียบเมืองโบราณที่บริเวณทุ่งพระเสด็จในช่วงก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ และหลังจากนั้นในราว พ.ศ.๒๕๓๗ ที่เห็นสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนมาก

มีการสำรวจเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองโดยนักวิชาการท้องถิ่นหลายท่าน ทั้งอาจารย์ทองคำ พันนัทธีและอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย มีการเขียนผังบริเวณไว้อย่างคร่าวๆ แต่ตรวจสอบกับสภาพปัจจุบันได้ยากมาก เพราะพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและผังภาพถ่ายทางอากาศก็ไม่ตรงกับแผนผังจากการสำรวจนัก แต่ก็พอจะเห็นว่าเมืองโบราณแห่งนี้มีการขุดคูน้ำคันดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในเมืองมีแนวคูน้ำเป็นแนวตัดกันเป็นตาราง คูเมืองภายนอกเชื่อมต่อกับคลองธรรมชาติที่ปากคลองกับลำน้ำเจ้าพระยาเดิมหรือคลองวัดบ้านพร้าวในปัจจุบันและบริเวณนี้มีการทำ “ทำนบ” เป็นแนวคันดินยาวขวางลำน้ำหลายแห่งน่าจะใช้สำหรับการทดน้ำทำนา

 

ภายในเมืองจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ มุมเมืองด้านเหนือเริ่มต้นจากวัดศาลาแดงเหนือถึงทางใต้แถวๆ บ้านงิ้วที่ต่อเนื่องกับวัดสวนมะม่วงตรงนี้มีวัดเก่าที่เรียกว่าวัดราชบูรณะ แต่ถูกรื้ออิฐไปขายคราวที่มีการให้สัมปทานรื้อถอนอิฐเก่าไปใช้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คันดินที่เป็นกำแพงเมืองสูงใหญ่กว้างกว่า ๑๐ วา คูน้ำกว้าง ๑๐ วาเช่นกัน มีโคกเนินหลายแห่ง ที่มีชื่อบันทึกไว้ เช่น โคกช้างใหญ่ โคกช้างน้อย โคกประชุมพล สนามตะกร้อ สระน้ำ เช่น สระโมส สระใหญ่ สระลงเรือ สระสมอ กระไดหก(ทองคำ พันนัทธี: ๒๕๒๗) ซึ่งปัจจุบันไม่เหลือสภาพเป็นโคกหรือสระดังที่ในแผนผังดังกล่าว และแนวคันดินกำแพงเมืองทางตะวันออกก็ถูกปรับกลายเป็นถนนสายที่ต่อกับถนนจากวัดเสด็จข้ามคลองประปาไปยังวัดไผ่ล้อม ถนนลาดยางที่เห็นทุกวันนี้จึงทับไปบนกำแพงเมืองเมื่อผ่านเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง

 

สิ่งสำคัญที่สุดคือในบริเวณโรงเรียนวัดป่างิ้วใกล้กับริมฝั่งเจ้าพระยา มีวัดร้างสองแห่งอยู่คู่กันและสัมพันธ์กับชื่อทุ่งพญาเมือง นั่นคือ “วัดพญาเมืองและวัดนางหยาด”

 

วัดพญาเมืองในปัจจุบันไม่หลงเหลือสภาพวัดโบราณแต่อย่างใดและกลายเป็นคานเรือไปหมด พบเพียงคำบอกเล่าที่ว่าซากของวัดพญาเมืองหักพังลงน้ำไปนานแล้ว ส่วนเศียรพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่ และใบเสมาหินทรายแดงหลายหลักก็ถูกขนย้ายไปไว้ที่วัดสองพี่น้องที่อยู่ไม่ไกลจากวัดป่างิ้วนัก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วิหารหลวงพ่อเพชร-หลวงพ่อพลอย และที่หน้าหอสวดมนต์วัดสองพี่น้อง

 

แต่ซากของวัดนางหยาดยังคงอยู่ เจ้าอาวาสวัดป่างิ้วเห็นความสำคัญและได้บูรณะวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์ สำหรับพระประธานซึ่งมีพระพักตร์ตามแบบที่อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ เรียกว่าพระพุทธรูปแบบอู่ทองพระพักตร์รูปไข่ ซึ่งเป็นศิลปะแบบอโยธยาหรือแบบอู่ทองตอนปลายที่อาจารย์กำหนดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗–๑๘  

 

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่น่าจะเรียกว่าทุ่งพญาเมือง ซึ่งปรากฏชื่อในกำศรวลสมุทร และปรากฏโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่แสดงถึงการมีอยู่ของชุมชนในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้น

 

นอกจากนี้ บริเวณชายตลิ่งที่ถูกกัดเซาะของวัดสองพี่น้องซึ่งอยู่ภายในเมืองโบราณนี้ และไม่ไกลจากวัดนางหยาดและวัดพญาเมืองนัก พบเครื่องถ้วยจำนวนมากตั้งแต่เครื่องถ้วยหลวงฉวนและปูเถียนในสมัยราชวงศ์หยวนพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ เครื่องถ้วยจากเวียดนามในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เครื่องถ้วยลายครามตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงตอนกลางราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และสมัยราชวงศ์ชิง เครื่องถ้วยสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้น (กฤษฎา พิณศรี: ๒๕๔๑)

 

พ้องกับการสอบถามนักประดาน้ำที่มีอาชีพงมสิ่งของในแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าบริเวณริมฝั่งเจ้าพระยาตั้งแต่หน้าวัดพญาเมืองและวัดนางหยาดไปจนถึงวัดสองพี่น้อง เป็นบริเวณที่พบสิ่งของมากที่สุด เช่น เครื่องถ้วยแบบสมบูรณ์ พระพุทธรูปจำนวนมาก พวกที่มางมและได้สิ่งของมากที่สุดคือชาวประดาน้ำจากรอบเกาะเมืองอยุธยา และสิ่งของเหล่านั้นเมื่องมได้มาก็จำหน่ายออกไป

 

พระบริหารเทพธานี ซึ่งเป็นเจ้าเมืองปทุมธานีในราว พ.ศ.๒๔๖๙–๒๔๗๑ และเป็นผู้แต่งหนังสือ “ประวัติชาติไทย” กล่าวว่า “เมืองสามโคกเดิมอยู่ปากคลองบ้านพร้าว ตำบลบ้านงิ้ว ที่วัดพญาเมือง” แสดงถึงการรับรู้ของคนรุ่นเก่าที่ทราบว่าบริเวณทุ่งพญาเมืองเป็นเมืองเก่าเพราะปรากฏหลักฐานให้พบเห็นอย่างมากมาย น่าเสียดาย ในปัจจุบันแทบจะไม่เหลือสิ่งใดให้ทราบว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองเก่าที่มีความสำคัญมาก่อน

 

ที่ทุ่งพระเสด็จอันมีเมืองโบราณอีกแห่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านเชียงราก ซึ่งเป็นชื่อบ้านเก่าที่ปรากฏในโคลงกำศรวล ชื่อเชียงรากก็แสดงถึงร่องรอยของความเป็นเมืองและอาจเป็นชื่อที่ใช้เรียกเมืองโบราณบริเวณนี้ก็ได้ การสำรวจของอาจารย์ทองคำ พันนัทธี ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ พบวัดร้างแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่าวัดกระพัง และมีโคกเนิน สระน้ำ แต่ก็ไม่เคยมีการสำรวจอย่างละเอียดในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ จนกระทั่งปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือร่องรอยความเป็นเมืองโบราณแต่อย่างใด

 

ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณทั้งสองแห่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และขนานไปกับแนวชายฝั่งลำน้ำ มีการขุดลอกคูน้ำคันดินอย่างเป็นมุมฉาก ซึ่งเป็นลักษณะของเมืองรุ่นหลังซึ่งมีเทคโนโลยีการวางผังให้เป็นมุมฉากได้แล้ว แต่ก็ยังใช้สภาพแวดล้อมเดิมให้เป็นประโยชน์เหมือนกับเมืองโบราณรุ่นเก่ากว่า เช่น มีการชักน้ำจากลำน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงภายในเมือง มีการสร้างทำนบหรือคันดินสำหรับอำนวยความสะดวกในการทำการเกษตร

 

ดังนั้น เมืองโบราณทั้งสองแห่งคือ ที่ทุ่งพญาเมืองและทุ่งพระเสด็จ คือกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่ที่มีอายุร่วมสมัยกับเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร มีหลักฐานเก่าไปถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ และบริเวณนี้ยังสัมพันธ์กับสถานที่ที่ปรากฏในพงศาวดารเหนือ และเมื่อพิจารณาจากโคลงกำศรวลที่คาดว่าน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช หมายถึงในราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นทุ่งพญาเมืองก็กลายเป็นเมืองร้างไปแล้ว ดังนั้น เมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมืองนี้จึงน่าจะมีอายุในช่วงก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการและมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องเรื่อยมาจนราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก่อนจะกลายเป็นเมืองร้างและมีการอพยพชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัยเป็นชุมชนใหญ่อีกครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

 

ประกอบกับเรื่องราวของวีรบุรุษทางวัฒนธรรมที่ชื่อท้าวอู่ทอง กำหนดเวลาได้กว้างๆ ว่าอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙–๒๐ อันเป็นช่วงเวลาของการรวบรวมแว่นแคว้นในเขตลุ่มเจ้าพระยาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้แสดงถึงการเข้ามาของคนกลุ่มใหม่จากทางทะเล นั่นคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจีน พ่อค้า ที่เดินทางเข้ามาสู่บ้านเมืองภายใน

 

ภาพแผนที่แสดงตำแหน่งของวัดโบราณริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่อยู่ภายในบริเวณเมืองโบราณทุ่งพญาเมือง

ช่วงเวลาดังกล่าวมีหลักฐานชัดเจนของบ้านเมืองที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ “อโยธาศรีรามเทพนคร” ที่ใต้เกาะเมืองอยุธยาอันเป็นเมืองใหญ่และสัมพันธ์กับเมืองละโว้หรือลพบุรี ในช่วงเวลาดังกล่าว อาจมีชุมชนที่อยู่ตามลำน้ำเจ้าพระยาอีกหลายแห่งที่มีอายุร่วมสมัย เช่น ทุ่งพญาเมืองที่สามโคก เชียงรากที่ทุ่งพระเสด็จ แควน้ำอ้อมที่บางขนุนบางขุนกองและบางนายไกร แม้กระทั่งชุมชนที่ “ดอนเมือง” ซึ่งแทบทุกแห่งนั้นประเมินได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่ามีการอยู่อาศัยในสมัยอยุธยาตอนต้น

 

อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ  หรือ  น.  ณ  ปากน้ำ พยายามอย่างมากในการอธิบายศิลปะอโยธยาหรือศิลปะแบบอู่ทองว่ามีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาอย่างไร นักวิชาการอีกมากมายก็เห็นการมีอยู่ของบ้านเมืองแห่งนี้ แต่ก็มีนักวิชาการอีกหลายท่านไม่ยอมรับทั้งๆ ที่มีหลักฐานที่เห็นด้วยตาอย่างชัดเจน โดยพยายามสรุปว่าเป็นศิลปะในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้นเพราะติดอยู่กับกรอบเรื่อง “อยุธยาเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓” และรูปแบบทางศิลปะที่ถูกกำหนดอย่างตายตัวตามลำดับวิวัฒนาการ รวมทั้งนักโบราณคดีบางท่านก็พยายามขุดหาชั้นดินการอยู่อาศัยในบริเวณเมืองอโยธยาแต่ก็ไม่ได้หลักฐานที่ชัดเจน จึงยิ่งตอกย้ำความคลุมครือของ “อโยธยาศรีรามเทพนคร”ยิ่งขึ้น

 

อันที่จริงหลักฐานที่น่าเชื่อถือมีอยู่มากมายทั้งทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และตำนานหรือนิทานท้องถิ่นดังกรณีของทุ่งพญาเมือง เพียงแต่ยังไม่ได้ถูกพิจารณาอย่างละเอียดจนกระทั่งหลักฐานทั้งหลายนั้นเสื่อมสลายไปดังที่เห็นในปัจจุบัน

 

 

เศษภาชนะเนื้อแกร่งเคลือบจากมณฑลฟู้เจี้ยน สมัยราชวงศ์หยวน

อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐

ใบเสมาหินทรายแดงนำมาจากวัดพญาเมือง ปัจจุบันตั้งไว้ที่หน้าหอสวดมนต์วัดสองพี่น้อง

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (เคยตีพิมพ์ในชื่อ “เมืองโบราณก่อนกรุงศรีอยุธยาที่ทุ่งพญาเมือง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่มี่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๔๕)

 

ขอบคุณ คุณมานพ แก้วหยก และญาติพี่น้อง  ชาวบ้านศาลาแดงเหนือ จังหวัดปทุมธานี

 

บรรณานุกรม

กฤษฎา พิณศรี. “เครื่องถ้วยที่สามโคก” เมืองโบราณ (๒๔, ๑), มกราคม-มีนาคม ๒๕๔๑.

กรมศิลปากร. ชีวิตและงานของสุนทรภู่ องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ ๑๕, ๒๕๔๓.

กรมศิลปากร. “โคลงกำศรวลศรีปราชญ์” วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๒, กรุงเทพฯ : ๒๕๓๐.

ทองคำ พันนัทธี. “พบเมืองโบราณที่ทุ่งพญาเมือง” วัฒนธรรมไทย (๒๓, ๓), มีนาคม ๒๕๒๗.

-----------. “เมืองสามโคก” วัฒนธรรมไทย (๒๔, ๕), พฤษภาคม ๒๕๒๘.

วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย. “ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยอยุธยาที่บ้านเก่าบางกระบือ” ความรู้คือประทีป ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๐.

ศรีศักร วัลลิโภดม. กรุงศรีอยุธยาของเรา สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, กันยายน ๒๕๔๑.

นิธิ เอียวศรีวงศ์, บรรณาธิการ. ศรีรามเทพนคร สำนักพิมพ์เจ้าพระยา, มกราคม ๒๕๒๗.

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ย. 2561, 15:32 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.