หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ลาวในเมืองไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 27 พ.ค. 2559, 09:14 น.
เข้าชมแล้ว 98283 ครั้ง

ลาวในเมืองไทย

กลุ่มชาติพันธุ์ที่คลุมเครือ

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสมุหประดิษฐาราม เสาไห้ ที่น่าเป็นกระบวนแห่สลากภัตร  ภาพหนึ่ง และการแห่บั้งไฟในช่วงเริ่มต้นฤดูการทำการเกษตรอีกภาพหนึ่งพบว่าน่าจะเป็นพิธีกรรมสิบสองเดือนที่แสดงออกทางวัมนธรรมของคนยวนเสาไห้ที่ถูกเข้าใจว่าเป็น “ลาว” มาโดยตลอดโดยคนภาคกลางที่นิยมเรียกพวกเขาว่า “ลาวยวน”

 

ข้อมูลอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์ประเทศลาว ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็นระยะต่างๆ กล่าวถึงช่วงเวลาที่เรียกว่า The Hold of Siamหรือ ภายใต้การปกครองของสยาม[i]”รวมทั้งในหนังสือประวัติศาสตร์ลาวที่เขียนขึ้นโดยมหาสิลา วีรวงศ์ ก็มีบทที่กล่าวถึง“อาณาจักรลาวทั้ง ๓ อยู่ภายใต้การปกครองของไทย (พ.ศ.๒๓๒๒–พ.ศ.๒๔๓๖)[ii]”ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม และในแบบเรียนประวัติศาสตร์ลาวชั้นมัธยมปลายของกระทรวงศึกษาธิการลาว[iii]แสดงถึงการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า ครั้งหนึ่งภายใต้ประวัติศาสตร์ลาว สยามเคยยึดครองและเกิดความขัดแย้งที่นำมาสู่การสู้รบ การปราบปราม การสูญเสีย และการกวาดต้อนผู้คนให้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานอันเนื่องมาจากผลของสงคราม ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ถูกบันทึกไว้เป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศลาวทีเดียว

 

ในขณะที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นแบบเรียนประวัติศาสตร์ในระดับพื้นฐาน เช่น หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทย การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕[iv]ของ บังอร ปิยะพันธุ์  ไม่ได้เน้นเหตุการณ์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยลาวช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในฐานะที่ลาวอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยการมีหัวเมืองประเทศราช เช่น ลาว ในระยะเวลาหนึ่งนั้น ไม่ใช่ความรู้ทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไป 

 

ความแตกต่างระหว่างการให้ความสำคัญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็น สำนึกทางประวัติศาสตร์ ของประเทศ ระหว่างผู้เคยปกครองและผู้เคยถูกปกครองที่มีระดับของความทรงจำความรู้สึกและการให้ความสำคัญที่ไม่เหมือนกัน[v]และสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผ่านมาเพียงไม่ถึง ๑๐๐ ปี (หากเริ่มนับจากการเปลี่ยนการปกครองมาเป็นรวมศูนย์แบบประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕)

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบัน จะไม่ให้ความสำคัญกับความทรงจำทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ ด้วยเหตุผลที่อาจวิเคราะห์ได้ในลำดับต่อไป แต่ผู้คนและชุมชนที่ยังคงมีสำนึกตัวตนทางชาติพันธุ์ว่าเป็น คนลาว”และมีบรรพบุรุษเป็นผู้ถูกกวาดต้อนจากศึกสงครามแต่ครั้งโบราณก็ยังคงอยู่ แม้จะไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการว่ามีจำนวนเท่าใดแต่ก็น่าจะมีจำนวนไม่ใช่น้อย ยังคงมีภาษาพูด วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีบางประการที่ตกทอดจากบรรพบุรุษอันแสดงถึงความต่างไปจากคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แม้ชีวิตวัฒนธรรมประจำวันในปัจจุบันจะกลมกลืนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว และหากสอบถามประวัติความเป็นมาผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยทุกวันนี้ คงจะได้คำตอบว่า บรรพบุรุษไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเป็นคนเชื้อสายลาว

 

 

ความหมายของคำว่า ลาว และ ลาว ในสำนึกของกรุงเทพฯ

ในอดีต คนไทยในภาคกลางเหมารวมเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ทางเหนือว่า “ลาว” ไม่ว่าจะอยู่ในเขตหัวเมืองทางภาคเหนือหรือทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เชียงใหม่-เชียงราย, หลวงพระบาง, เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์ จนกระทั่งถึงสิบสองจุไทส่วนที่ต่อกับเวียดนามตอนเหนือ, จีน และลาวที่เป็นกลุ่มไทดำ และหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พูดภาษาไต-ลาวทั้งสิ้น

 

ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะตัดอย่างแน่ชัดว่า เหตุใดผู้คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงเรียกคนในแถบล้านนาว่า “ลาว” มาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เหตุหนึ่งที่อาจจะเชื่อมโยงได้ก็คือ ในตำนานของบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำกกและแม่น้ำโขง แถบเชียงราย-เชียงแสนตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมืองเชียงลาว/เงินยาง[vi]ต้นราชวงศ์คือ ลวจักราชที่มีผู้ปกครองต่อๆ มานำหน้าชื่อด้วยคำว่า “ลาว” เป็นส่วนใหญ่ จนถึงลาวเม็งซึ่งเป็นบิดาของพญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ขุนเจืองวีรบุรุษสองฝั่งโขงของบ้านเมืองลุ่มน้ำโขง ที่ไปรบถึงเมืองปะกันในทุ่งเชียงขวางและตายบนหลังช้างเมื่อทำสงครามกับขุนลอบุตรขุนบรมผู้ให้กำเนิดอาณาจักรลาวล้านช้าง ก็เป็นหนึ่งในราชวงศ์นี้ 

 

จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ว่าในอดีต คำว่า “ลาว” น่าจะมีความหมายสูงส่ง มีฐานันดรเป็นนายเหนือสังคม โดยมีเค้าเงื่อนแต่ดั้งเดิมคงจะมีความหมายว่า “คน” และเน้นว่าเป็น คนผู้เจริญ”แล้ว จนกลายเป็นคำนำหน้าผู้ปกครองหรือกษัตริย์ ซึ่งต่อมามีการใช้คำว่า พญา ขุน ท้าว แทน ตั้งแต่สมัยพญามังรายเป็นต้นมาก็ไม่มีการใช้คำว่าลาวนำหน้าชื่อกษัตริย์อีกเลย ทั้งนี้จากวรรณคดีท้าวฮุ่งขุนเจืองก็พบว่า ชาวเมืองในลุ่มน้ำกกน้ำโขงที่เป็นเมืองเชียงลาว/เงินยางนี้เรียกตัวเองว่า “ลาว” ด้วย แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใด[vii]

 

มีการแสวงหาความหมายของคำว่า “ลาว” อยู่หลายทาง และมีผู้เชื่อถือกันไปต่างๆ แต่สมมุติฐานใหญ่นั้นมี ๒ กระแส คือ

 

๑. มาจากคำว่าอ้ายลาว จากภูเขาอ้ายลาวในมณฑลเสฉวนและสืบเนื่องมาเป็นขุนบรม

 

๒. ต้นราชวงศ์ลวจักราชแห่งเมือง เชียงลาว/เงินยาง นั่นคือ ลาวจก ซึ่งลักษณะทางวัฒนธรรมในตำนานนั้นน่าจะเป็นกลุ่มคนอยู่อาศัยในที่สูงมาก่อน หมายถึงพวก ลัวะ ดังนั้น ต้นราชวงศ์ลาวในตำนานเมืองเงินยางนั้นคือกลุ่มลัวะ

 

ในประวัติศาสตร์ลาวของมหาสิลา วีรวงศ์[viii]ได้ลงความเห็นว่าอาณาจักรล้านช้างนั้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากขุนลอบุตรของขุนบรมจากเมืองกาหลงซึ่งอาจจะอยู่ในเขตสิบสองปันนาได้ตีเมืองชวา (หลวงพระบาง) และตั้งขึ้นเป็นราชธานีแห่งแรกของลาวล้านช้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เปลี่ยนชื่อเมืองชวาเป็นเชียงทอง และนับจากนั้นมาชาวลาวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบหลวงพระบางและขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยมาตั้งแต่สมัยขุนลอ

 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่ากลุ่มผู้เรียกตนเองว่า “ลาว” แต่ดั้งเดิมมีพื้นถิ่นอยู่ในแถบลุ่มน้ำกกต่อกับน้ำโขงในเขตเชียงราย-เชียงแสน มีความสัมพันธ์กับบ้านเมืองในแถบพะเยา-น่านไปจนถึงหลวงพระบาง ต่อมาขยายบ้านเมืองและผู้คนไปสู่ลุ่มน้ำปิงสร้างเมืองเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ซึ่งเคยมีบ้านเมืองมั่นคงอยู่แล้วคือ “หริภุญไชย” มีการผสมกลมกลืนกับผู้คนหลายเชื้อชาติจนกลายเป็นอาณาจักรล้านนาเริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และเรียกตนเองว่า “ไทหรือไต” สืบต่อมา

 

ส่วนผู้คนที่เรียกตนเองว่า “ลาว” แห่งล้านช้าง กำเนิดขึ้นจากขุนลอโอรสขุนบรมมีถิ่นฐานเดิมอยู่แถบสิบสองปันนา สร้างเมืองชวาใหม่เรียกว่าเชียงดงเชียงทองและเป็นจุดกำเนิดอาณาจักรลาวล้านช้าง ที่ต่อมาได้ผนวกเอาดินแดนไปถึงเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ และชื่อล้านช้างนี้ พงศาวดารพม่า เช่นในมหาราชวงศ์เรียกชื่อล้านช้างว่า “เลียงเชียง”

 

อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นเค้าเงื่อนที่ไม่ชัดเจนนัก ว่าทำไมคนในบ้านเมืองแถบลุ่มเจ้าพระยาจึงเรียกชาวล้านนาว่าลาว และเรียกชาวล้านช้างว่าลาวเช่นเดียวกัน

 

ในเอกสารสมัยอยุธยาจำนวนหนึ่ง คำว่า ลาว”หมายถึงการเรียกผู้คนและหัวเมืองภาคเหนือปะปนไปกับคำว่า ยวน”เช่น วรรณคดีเรื่อง “ยวนพ่าย” ซึ่งเป็นการรบระหว่างอยุธยากับเชียงใหม่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็มีถ้อยคำเรียก “ลาว” มากกว่าเรียกว่า “ยวน” อยู่ทั่วไป แต่ในลิลิตพระลอ บทประนามพจน์ซึ่งเป็นร่ายสรรเสริญกรุงศรีอยุธยาแยกลาวกาว, ลาว และยวนออกจากกัน ซึ่งเป็นการแยกแยะชื่อชนชาติที่แยกละเอียดกว่า นั่นคือ “..รอนลาวกาวตาวตัดหัว  ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน  ฝ่ายข้างยวนพ่ายแพ้ ฝ่ายข้างลาวประไลย ฝ่ายข้างไทยไชเยศร์…”

 

ความเข้าใจที่สับสนในการเรียกชื่อชนชาติ [Race] ของผู้คนในบ้านเมืองทางตอนบนของลุ่มเจ้าพระยามีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และในเอกสารของชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ คือ นิโคลาส แชแวส [Nicolas Gervaise] เมื่อกล่าวถึงประชากรของอาณาจักรอยุธยาว่า หนึ่งในสามของประชากรที่ไม่ใช่สยามนั้นคือลูกหลานของเชลยชาวลาวและมอญพม่า(pagan) จากศึกสงครามเมื่อสองร้อยปีก่อนและผสมผสานกับคนสยามจนแทบแยกไม่ออก มีชุมชนลาวรอบนอกกรุงจำนวนมากโดยมีนายกองเป็นผู้ควบคุม[ix]นอกจากนี้ยังมีกรมลาวอาสาทำหน้าที่เช่นเดียวกับกรมอาสาของชาวเชื้อชาติอื่นๆ การกล่าวถึงลาวในเอกสารเหล่านี้ก็ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นลาวล้านนาหรือลาวล้านช้างได้อย่างแน่ชัด และน่าจะเป็นการเหมารวมๆ กันไป

 

 

การกวาดต้อนผู้คนในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ก็เรียกชื่อผู้คนและบ้านเมืองทางตอนบนว่าลาวปนๆ กันไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น การบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุของทางการ จึงมีการใช้คำว่า “เมืองลาว” “พวกลาว” หรือ “ครัวลาว” โดยรวมๆ เช่น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อกล่าวถึงหัวเมืองทางเหนือที่ยอมสวามิภักดิ์ ทั้งฟากตะวันออกของแม่น้ำโขง ลำปาง เชียงใหม่ เวียงจันทน์ แพร่ น่าน เถิน หลวงพระบาง นับเป็นประเทศราชโดยเรียกว่า ประเทศราชลาวพุงดำ ลาวลื้อ ลาวพุงขาว[x]เมื่อกล่าวถึงบ้านเมืองหรือกลุ่มลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาหลายครั้ง ก็จะกำกับด้วยชื่อเฉพาะของกลุ่มซึ่งเป็นที่รู้กัน เช่น ลาวเชียงใหม่ ลาวเวียงจันทน์ ลาวพวน รวมไปถึงผู้ไทหรือไทดำ ก็พลอยถูกเรียกว่า ลาวโซ่งไปด้วย ทั้งๆ ที่คนลาวนั้นไม่ยอมรับว่าผู้ไทเป็นลาว และผู้ไทหรือไทดำก็ถือตัวเองว่าเป็นคนไท

 

ความปนๆ กันไปเช่นนี้ ปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ให้นิยามคำว่า “ลาว”ว่า

 

“เป็นชื่อคนภาษาหนึ่ง อยู่ข้างฝ่ายเมืองเหนือ มีเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

ลาวพุงดำ คือพวกลาวที่สักตัวท้องดำ ดูเช่นเอากางเกงดำมาใส่นั้น

ลาวพวน คือพวกลาวที่อยู่เมืองพวนเหนือเมืองเวียงจันขึ้นไป พวกพุงดำบ้าง ขาวบ้าง

ลาวเวียงจัน คือพวกลาวชาวเมืองเวียงจันที่บูราณเรียกเมืองศรีสัตนาคะนะหุตนั้น”[xi]

 

แต่การจำแนกกลุ่มบ้านเมืองลาวเหล่านี้ในความรับรู้ของชาวกรุงเทพฯ เห็นได้ชัดเจนขึ้นจากพระราชสาสน์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสองฉบับ ได้แก่

 

พระราชสาสน์กำกับสุพรรณบัตร ซึ่งเซอร์ยอนบาวริง อรรคราชทูตอังกฤษเชิญไปถวาย สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ ความว่า

 

“พระราชสาสน ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ในรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยา ณ ประเทศบางกอกนี้ ได้ครอบครองเปนเจ้าของพระมหานครราชธานีใหญ่ ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยามเหนือใต้ แลแผ่นดินแดนต่างๆ อยู่เดียวอยู่ใกล้ในที่นั้นๆ บางแห่ง แลเปนที่อยู่ของชนชาวต่างประเทศ มีเพศภาษาหลายอย่าง คือ ลาวเฉียง ลาวกาวแลกำพูชา มาลายู กระเหรี่ยง แลอื่นๆ ในทิศต่างๆ โดยรอบคอบขอบขัณฑสิมาอาณาจักรสยาม….”[xii]

 

และเอกสารที่บ่งบอกถึงความแตกต่างของกลุ่มลาวเฉียงและลาวยวน โดยแบ่งเขตระหว่างลาวเฉียงกับลาวยวนที่ชัดยิ่งขึ้น คือ สำเนาร่างประกาศตั้งกงศุลเมืองสิงคโปร์ พ.ศ.๒๔๐๖ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

 

“สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมวงศ์นี้ แลเป็นเจ้าเปนใหญ่ได้ครอบครองพระราชอาณาจักรสยามราษฎร แวดล้อมด้วยนานาประเทศราชชนบทต่างๆ ทุกทิศ คือ ลาวโยน ลาวเฉียงในทิศพายัพแลอุดร ลาวกาวแต่ทิศอิสาณจนบูรพ์ กัมโพชาเขมรแต่บูรพ์จนอาคเนย์ เมืองมลายูเป็นอันมากแต่ทิศทักษิณจนหรดี, แลบ้านเมืองกะเหรี่ยงบางเหล่าแต่ทิศปจิมจนพายัพ แลข่าซองแลชาติต่างๆ อื่นๆ อีกเป็นอันมาก…”[xiii]

 

ดังนั้น ลาวเฉียง[xiv]คือ ลาวที่เรียกรวมๆ อยู่ในเขตล้านนา แต่ถ้าแยกย่อยออกไปอีก ได้แก่  ลาวโยนหรือลาวยวนคือ ชาวเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน คือ บ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกทางทิศพายัพหรือตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ส่วน ลาวเฉียง อยู่ทางทิศอุดรหรือทางเหนือของกรุงเทพฯ ได้แก่เมืองทางฝั่งตะวันออก เช่น เชียงราย แพร่ น่าน ดังนั้น แม้จะรับรู้ว่า “ยวน” คือคำที่เรียกชาวล้านนามาแต่เดิม แต่ในสำนึกของกรุงเทพฯ ก็พอใจที่จะเหมาเรียกรวมๆ ไปว่า “ลาวเฉียง”

 

ส่วน ลาวกาว นั้นอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงตะวันออกของกรุงเทพฯ นั่นคือลาวที่อยู่ในเขตล้านช้างและภาคอีสานปัจจุบันนี้

 

จะเห็นว่า สำนึกเรื่องเชื้อชาติของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อบ้านเมืองและผู้คนที่อยู่ตอนบนหรือที่เรียกว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้น เป็นการเรียกอย่างเหมารวม เรียกตามๆ กันมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น โดยไม่ได้แยกแยะหรือมีความสนใจที่จะเรียกตามคนในท้องถิ่น และกลายเป็นการเรียกชื่อกลุ่มคนตามเชื้อชาติที่แฝงนัยะของการดูถูกอย่างชัดเจนในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็น ลาวเฉียง ลาวยวน ลาวพุงดำ ลาวพุงขาว และมีมายาคติในทางลบที่เห็นได้ชัดจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน[xv]ที่มองเห็นคนจากหัวเมืองล้านนาต่ำกว่าตน มักดูถูกว่าเป็นลาว เป็นพวกนุ่งซิ่น (ซึ่งถือว่าต่างไปจากพวกตนที่นุ่งโจง) พวกกินกิ้งก่า กินกบ ซึ่งถือเป็นของกินต่ำชั้น และสืบต่อมาไม่ขาดสายในบันทึกที่เกี่ยวกับเจ้าดารารัศมี เมื่อเป็นเจ้าจอมต้องมาอยู่ในราชสำนักภายใต้ตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และถูกกลั่นแกล้งดูถูกต่างๆ มากมาย

คนในล้านนานั้นถือตัวว่าเป็น คนไทหรือคนไต”ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ลาว”แต่อย่างใด ปฏิกริยาแห่งการดูถูกจึงพากันเรียกตัวเองว่า คนเมือง”และเรียกภาษาของตนว่า คำเมือง ซึ่งมีการอธิบายว่า เพื่อให้แตกต่างไปจาก คนม่าน (พม่า) หรือคนใต้ (อยุธยาหรือกรุงเทพฯ) เป็นคำที่ปรากฏในช่วงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าและกรุงเทพฯ นี่เอง และกลายมาเป็นคำเรียกอย่างกลางๆ ซึ่งพวกไทใหญ่เรียกว่า พวก ยน หรือ ไตยวน เป็นการแสดงตัวตนโดยเฉพาะคนในฟากตะวันตก เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางจนปัจจุบันนี้[xvi]

 

ต่างจากผู้คนในบ้านเมืองแถบล้านช้างที่พอใจจะเรียกตนเองว่า “ลาว” และมีความรู้สึกว่าตนต่างไปจากคน “ไทหรือไต” ทั้งที่กลุ่มภาษานั้นก็อยู่ในกลุ่มไตเช่นเดียวกัน

 

 

ภาพสตรีแต่งกายแบบท้องถิ่นที่บ่งบอกความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากทางเหนือ ที่น่าจะเป็นคนยวนหรือชาวโยนก จากจิตรกรรมวัดสมุหประดิษฐาราม เสาไห้

 

เหตุที่เป็นคำดูถูกและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเชื้อชาติลาวที่ถูกเหมารวมโดยรัฐในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรากฏใน นิทานโบราณคดีที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเล่าไว้เมื่อเสด็จตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรและอีสานเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงค้นพบถึงความแตกต่างทางเชื้อชาติ สำเนียงภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทางการเคยเข้าใจกันต่อๆ มานั้นไม่ถูกต้องก็เมื่อทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดี    แล้ว ดังกรณีความแตกต่างของคนในเมืองนครราชสีมากับหัวเมืองทางอีสาน ดังนี้

 

“ฉันเดินบกไปจากเมืองนครราชสีมา ๕ วัน เข้าเขตมณฑลอุดรที่เมืองชนบท พอถึงเมืองชนบทก็เห็นชาวเมืองผิดกับชาวเมืองนครราชสีมาทั้งเครื่องแต่งตัวและฟังสำเนียงพูดภาษาไทยแปร่งไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งชาวกรุงเทพฯ สำคัญกันมาแต่ก่อนว่าเป็นลาว แต่เดี๋ยวนี้รู้กันมากแล้วว่าเป็นไทยมิใช่ลาวถึงในราชการแต่ก่อนก็อ้างว่าหัวเมืองในมณฑลพายับ กับมณฑลอุดร และอีสาน เป็นเมืองลาว เรียกชาวมณฑลพายับว่า “ลาวพุงดำ”เพราะผู้ชายชอบสักมอมตั้งแต่พุงลงไปถึงเข่า เรียกชาวมณฑลอุดรและอีสานว่า “ลาวพุงขาว”เพราะไม่ได้สักมอมอย่างนั้น เมื่อจัดหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตเป็นมณฑลในรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๓๓ แรกก็ขนานนามหัวเมืองลาวพุงดำว่า “มณฑลลาวเฉียง”ขนานนามหัวเมืองลาวพุงขาวว่า “มณฑลลาวพวน”มณฑลหนึ่ง “มณฑลลาวกาว”มณฑลหนึ่ง”[xvii]        

 

ใน พ.ศ.๒๔๓๐ เริ่มมีการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงมณฑลปกครองขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง ในหัวเมืองลาวมีการแยกออกเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายต่างๆ ต่อมาราว พ.ศ.๒๔๓๓ จึงแบ่งออกเป็นมณฑลลาวเฉียง, มณฑลลาวพวน, มณฑลลาวกาว, มณฑลลาวกลาง, มณฑลเขมร ปกครองโดยพระอนุชา เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นต้น เพราะในระยะนี้เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสได้เวียดนามเป็นเมืองขึ้นรวมทั้งเขมร ส่วนพม่าก็ตกอยู่ภายใต้อารักขาของอังกฤษ จึงต้องใส่ใจกับหัวเมืองลาวเป็นพิเศษ แต่เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ ลาวในเขตฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงก็ตกเป็นของฝรั่งเศสทั้งหมด

 

ลัทธิอาณานิคมของชาวตะวันตกเป็นแรงขับดันอย่างเห็นได้ชัด ให้เกิดการปกครองแบบรวมศูนย์และรัฐชาติในเวลาต่อมา และแรงผลักดันนี้ทำให้ราชสำนักรับรู้ว่า การเรียกชื่อปนๆ ที่มีลักษณะดูถูกทางเชื้อชาตินี้อาจทำให้เกิดการแตกแยกภายในพระราชอาณาเขตและสูญเสียดินแดน จึงต้องพยายามทำให้เกิดการกลายเป็น “ไทย” หรือ “สยาม” ให้มากที่สุด[xviii]

 

ดังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองพระราชอาณาเขตจากลักษณะการปกครองแบบเดิมอย่าง ประเทศราชาธิราช [Empire]มีเมืองต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้น ซึ่งถือว่าเมืองชายพระราชอาณาเขตคือ มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน และมณฑลลาวกาว นั้นเป็น เมืองลาว และเรียกชาวเมืองนั้นว่า ลาว แต่การปกครองแบบนั้นอาจให้โทษแก่บ้านเมือง หลังจากเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็นลักษณะแบบ พระราชอาณาเขต [Kingdom]ประเทศไทยรวมกัน เลิกประเพณีประเทศราช เปลี่ยนนามมณฑลลาวเฉียงเป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลอุดร และมณฑลลาวกาวเป็นมณฑลอุดร ตามทิศของพระราชอาณาเขต และให้เลิกเรียกไทยชาวมณฑลทั้ง ๓ นั้นว่าลาวด้วย ให้เรียกรวมกันว่า “ไทยเหนือ” แทนเรียกว่าลาว หรือเรียกชื่อว่า ชาวมณฑลพายัพ ต่อมาเมื่อยกเลิกการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว มีผู้นำชื่อ “ล้านนา” ซึ่งเป็นชื่อแต่โบราณมามณฑลพายัพ คนในที่นี้จึงเรียกว่าชาวล้านนา และเรียกว่าล้านช้างคู่กับล้านนาต่อมา[xix]

 

ลาว ในสำนึกของชาวอยุธยาจากเรื่อง “ยวนพ่าย” ก็ไม่ได้แฝงไว้ด้วยความรู้สึกดูหมิ่นดูแคลนนอกจากโกรธแค้นในฐานะศัตรู ต่อเมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์จึงเห็นชัดว่า การเรียกชื่อ กลุ่มคนว่า “ลาว” ต่างๆ นานา บริบทของคำมีความหมายแฝงไว้ซึ่งการดูถูกทางชาติพันธุ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบ้านเมืองและกลุ่มคนทางภาคเหนือ

มีการพูดถึงสาเหตุการดูถูกทางชาติพันธุ์ดังกล่าวว่า เกิดจากบ้านเมืองในเขตล้านนา เป็นประเทศราชของราชสำนักพม่าและต่อมาก็เป็นประเทศราชของราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นต้นมาและรวมไปถึงหัวเมืองลาวล้านช้างด้วย ระดับของความสัมพันธ์ที่ไม่ทัดเทียมกันนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดการดูถูกประการหนึ่ง

 

ผู้คนในวัฒนธรรมหลวงที่ดูถูกวัฒนธรรมราษฎร์ หรือวัฒนธรรมใหญ่ดูถูกวัฒนธรรมย่อย เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างปกติทั่วไป แม้แต่ในสังคมของล้านนาเองก็มีการดูถูกเช่นเดียวกันนี้มาตลอด เช่น การดูถูกกลุ่มข่าหรือลัวะ เป็นต้น ผลก็คือเกิดการปฏิเสธหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้ในลักษณะต่างๆ

 

แต่ก็น่าคิดว่า นัยะที่แฝงเร้นการดูถูกทางสังคมเช่นที่เกิดกับ “ลาว” นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเขมรจากกัมพูชา ญวนหรือแกวจากเวียดนาม แขกหรือมุสลิมจากหัวเมืองประเทศราชทางใต้ และไม่ต้องนับถึงชาวตะวันตกที่ออกจะยกย่องเชิดชูอย่างออกหน้า ในดินแดนแห่งการเป็นเมืองท่าและเป็นเมืองนานาชาติอย่างอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ที่แทบไม่มีความสัมพันธ์ที่ตรึงเครียดจนกลายเป็นการนองเลือดระหว่างผู้อยู่อาศัยซึ่งเป็นคนสยามหรือคนไทยกับชาวต่างภาษา อาจนับได้ว่าเป็นสถานที่ซึ่งเปิดกว้างสำหรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเป็นวัฒนธรรมที่คุ้นเคยกับความเป็น “คนนอก” อยู่มาก คำถามว่า “ทำไมกรุงเทพฯ (ในความหมายทั้งผู้คนและวัฒนธรรม) จึงดูถูกลาว” จึงเป็นคำถามที่สำคัญ 

 

หลังจากความพยายามผ่อนปรนอาการดูถูกลาว ดังเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในนิทานโบราณคดีแล้ว วาทกรรมที่คนในพื้นที่คือเขตล้านนาเริ่มตอบโต้กับฝ่ายกรุงเทพฯ ในการประกาศตัวเป็น คนเมือง”(รวมไปถึงคำเมือง, อาหารเมือง) ก็กลายเป็นคำเรียกที่รับรู้กันทั่วไปแทนคำว่า “ลาว” จาก “เมืองลาว” ที่ห่างไกลก็กลายเป็น “ล้านนา” ดินแดนบริสุทธิ์ในฝันของคนกรุงเทพฯ

 

และจากหญิงที่เคยเป็น “อีลาว” กินปลาร้า กิ้งก่า กบ ก็กลายเป็น “สาวเครือฟ้า” หญิงสาวงดงามใสสะอาด แต่ใจง่ายและพร้อมจะถูกหลอก เรื่องของหญิงสาวชาวเหนือแบบสาวเครือฟ้ากลายมาเป็นวาทกรรมที่โต้ตอบกันด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ แม้จะไม่มีคำว่าลาวประกอบถ้อยคำ แต่ก็ยังคงแฝงเร้นไว้ด้วยการดูถูกไม่ต่างจากเดิม

 

ในปัจจุบัน คำว่า “ลาว” ที่แฝงอาการดูถูกทางสังคมและทางชาติพันธุ์นี้ เคลื่อนย้ายไปสู่ผู้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ คนอีสานของประเทศไทยมากกว่าที่จะดูถูกคน “ลาวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”แต่ความผูกพันทางวัฒนธรรมที่มาจากรากเหง้าเดียวกันก็มักทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจต่อคนลาวในประเทศลาวอยู่เนืองๆ จนถึงขั้นระแวงในถ้อยคำที่มักจะพบได้ตามสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยในปัจจุบันอาจไม่ได้คาดคิด

 

ลาวกลายเป็นคำดูถูกคนอีสานว่าเป็นพวก ลาว”ซึ่งหมายถึง บ้านนอก ล้าหลัง เป็นพวกกินข้าวเหนียว อยู่อาศัยในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารและต้องได้รับการช่วยเหลือแก้ไข รูปร่างหน้าตาก็ไม่สวยงาม เช่น กรามใหญ่ ดั้งหัก เป็นพวก เสี่ยว”ที่แปลงความหมายไปในทางลบ จากเพื่อนที่ผูกพันกลายเป็นพวกบ้านนอก เชย สกปรก มีฐานะความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่า และขายแรงงานเป็นหลัก

 

เมื่อกล่าวคำว่า ลาวตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในสำนึกของเมืองหลวงและกรุงเทพฯ ก็ยังคงเป็นการกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ต้อยต่ำกว่าตน แฝงไว้ด้วยอาการดูถูกอย่างไม่ปกปิด เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มคนและเปลี่ยนพื้นที่ไปจากเดิมเท่านั้น

 

 

การอพยพย้ายถิ่นฐานลาว

เข้าสู่หัวเมืองชั้นในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ลาวในภาคกลางของประเทศไทย คือ กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ที่ปรากฏหลักฐานในการเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยเมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากสงครามที่นำไปสู่การกวาดต้อนผู้คน ประกอบด้วยผู้คนหลายกลุ่มหลายพื้นที่ หากแต่กวาดต้อนมาจากบ้านเมืองทางฝ่ายเหนือ ดังนั้นจึงถูกเหมารวมเรียกว่าลาวทั้งหมด

 

หลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว บ้านเมืองและผู้คนถูกทำลายและกวาดต้อนไปมาก ขาดแคลนพลเมืองที่เป็นฐานทรัพยากรสำคัญของราชอาณาจักร ซึ่งมีผืนแผ่นดินรกร้างอยู่มากมาย การเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่เพื่อทำสาธารณูปโภคของรัฐ สร้างปราสาทราชวัง และงานกิจการของราชสำนักต่างๆ รวมทั้งมีผลประโยชน์ในการเรียกเก็บส่วยอากร ต้องพึ่งพาฐานกำลังพลเพื่อทำกินเลี้ยงพระนครที่เคยบอบช้ำจากการสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาต่อพม่า ซึ่งพม่าได้กวาดต้อนผู้คนไปมาก และเมื่อเกิดศึกสงครามต่อมา นอกจากจะเป็นการปราบปรามกอบกู้พระราชอาณาจักรขึ้นใหม่แล้ว การแสวงหากำลังคนมาเป็นฐานประชากรจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญมากดังจะเห็นจากในสมัยแผ่นดินกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ การกวาดต้อนผู้คนมาเป็นพลเมืองของรัฐเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบกับบ้านเมืองในนครเชียงใหม่ในยุคเดียวกันที่มีคำกล่าวว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ก็จะเห็นภาพได้ชัดเจน

 

จากการรวบรวมของ บังอร ปิยะพันธุ์[xx]พบว่ามีการเคลื่อนย้ายกลุ่มลาวเข้าสู่หัวเมืองชั้นในกรุงรัตนโกสินทร์ดังนี้

 

สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หลังจากทำสงครามกับพม่าที่ยังคงตั้งฐานที่มั่นในเขตล้านนาและล้านช้าง มีการอพยพของลาวจากเวียงจันทน์และเมืองใกล้เคียงหลายหมื่นเข้ามาพักอยู่ที่นครราชสีมา และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่สระบุรีทั้งหมด

 

เมื่อมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองเหล่านี้แล้ว หลัง พ.ศ.๒๓๒๒ กองทัพยึดเวียงจันทน์แล้วจึงกวาดต้อนครัวเวียงจันทน์หลายหมื่นไปรวมไว้ที่เมืองสระบุรีบางส่วนส่งไปอยู่ที่ราชบุรี และตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง จันทบุรีบ้าง ส่วนเจ้านายที่นำมาเป็นตัวประกัน เช่น เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางยี่ขัน

 

ช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้ครัวลาวทรงดำ (ไทดำ) ที่อยู่ริมเขตแดนเวียดนามจากเมืองทันต์และเมืองม่วย ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเพชรบุรีเพราะภูมิประเทศคล้ายคลึงกับบ้านเมืองเดิมกลุ่มใหญ่แต่ดั้งเดิมคือที่บ้านหนองปรง ก่อนจะแยกย้ายกันออกไป

 

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เปลี่ยนแผ่นดินมาเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.๒๓๒๕ เจ้านครเวียงจันทน์กวาดต้อนชาวพวนเข้ามาถวาย พ.ศ.๒๓๓๕ ก็กวาดต้อนชาวพวนและไทดำรวมกันราว ๔,๐๐๐ เศษมาถวายอีก โปรดเกล้าฯ ให้ชาวพวนนั้นตั้งหลักแหล่งในกรุงเทพฯ แถบเฉลิมกรุงในปัจจุบัน (ที่เคยเรียกว่าถนนบ้านลาว) การกวาดต้อนชาวพวนนี้ก็เพื่อจะขอแลกกับครัวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่เมืองสระบุรีกลับคืนไป

 

เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ ยังคงมีศึกสงครามระหว่างหัวเมืองล้านนาและพม่าที่ยึดเอาเมืองเชียงแสนไว้อยู่ พ.ศ.๒๔๔๗ จึงตีเมืองเชียงแสนได้ และแบ่งผู้คนออกเป็น ๕ ส่วน ส่งไป เวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่ ลำปาง และกรุงเทพฯ โดยให้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสระบุรีและราชบุรี เรียกว่า ลาวพุงดำ

 

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.๒๓๕๒ ครัวลาวจากเมืองนครพนมส่วนหนึ่งที่มีปัญหาภายใน อพยพผู้คนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนยอยู่ที่ คลองมหาหงษ์ เมืองสมุทรปราการ เรียกว่า “ลาวอาสาปากน้ำ” ขึ้นอยู่กรมท่า ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ขอพระราชทานไปอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรีและเมืองฉะเชิงเทราส่วนหนึ่งมาตั้งเป็นเมืองขึ้น ชื่อ เมืองพนัสนิคม มีเจ้าเมืองเป็นชาวลาวอาสาปากน้ำ และเมื่อผ่านศึกเจ้าอนุวงศ์แล้วพระอิทรอาสานี้ก็ไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองนครพนมอีกส่วนหนึ่งมารวมไว้ที่เมืองพนัสนิคมด้วย

 

พ.ศ.๒๓๕๘ จ้าเมืองเวียงจันทน์ส่งส่วยและครัวลาวจากเมืองภูครังมายังกรุงเทพฯ  โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งชุมชนอยู่ที่เมืองนครชัยศรี พร้อมกับลาวเมืองพุกราง ลาวเมืองภูครังถูกกวาดต้อนมาอีกหลายครั้ง พ.ศ.๒๓๖๐ ส่งมาพักไว้ที่เมืองพิษณุโลกก่อนจะส่งไปอยู่กับพวกเดิมที่เมืองนครชัยศรี

 

เหตุการย้ายถิ่นอพยพคนลาวครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อศึกเจ้าอนุวงศ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ ผลจากศึกครั้งนั้นได้มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองเวียงจันทน์และใกล้เคียงส่งลงมาหลายครั้ง และผู้คนปะปนจากครัวลาวจากเมืองสระบุรี เมืองนครราชสีมา และเมืองหล่มศักดิ์ ที่ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนคืนกลับไปเวียงจันทน์ ครั้งนี้ก็กวาดต้อนมายังกรุงเทพฯ แต่ไม่ทราบว่าส่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใด

พ.ศ.๒๓๗๑ เจ้าอนุวงศ์ที่หนีไปอยู่วียดนามกลับมายังเวียงจันทน์และยึดเมืองเวียงจันทน์คืน ครั้งนี้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) รับพระราชประสงค์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์เสียจนย่อยยับเพื่อมิให้ตั้งตัวได้อีก และกวาดต้อนครัวเวียงจันทน์ที่เหลือมายังกรุงเทพฯ อีกครั้ง

 

พ.ศ.๒๓๗๒ เมืองหลวงพระบางส่งครัวลาวจากเมืองสามมิ่น เมืองเพวิง เมืองเลย เมืองแก่นท้าวมายังเมืองพิษณุโลกก่อน แล้วให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่กับพวกเดียวกัน ในปีเดียวกันนั้น จากนั้นก็ได้ส่งครัวลาวหลวงพระบางไปอยู่ยังเมืองพรม ๖๐๐ กว่าคน และแบ่งไปยังบ้านอรัญญิกและกรุงเทพฯด้วย

 

ใน พ.ศ.๒๓๗๓ โปรดเกล้าฯให้ไปชำระครัวลาวที่เมืองหลวงพระบางกวาดต้อนมาจากเมืองเลย เมืองลม เมืองแก่นท้าว เมืองปากลาย เมืองเวียงจันทน์ เมืองภูเวียง เมืองภูครัง มาไว้ที่เมืองพิชัย ซึ่งมีการส่งมาถึง ๗ ครั้ง รวมประมาณ หมื่นหกพันคนเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่กับพวกที่เคยอยู่มาก่อน

 

ระหว่าง พ.ศ.๒๓๗๖–พ.ศ.๒๓๗๘ เกิดศึกกับเวียดนามเนื่องจากเมืองชนแดนคือ หัวพัน และเมืองพวน เมื่อกองทัพได้ชัยชนะ จึงกวดต้อนลาวพวนและลาวทรงดำมายังกรุงเทพฯ ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๘๐ ก็ได้รวบรวมครัวลาวเวียงจันทน์ ท่าสาร เวียงครัง พันพร้าว ห้วยหลวง และลาวเก่าที่เคยอยู่บ้านอรัญญิกและเมืองสระบุรีราว ๑,๗๐๐ คน เป็นลาวพวนราว ๖๐๐ เศษ ครัวลาวเวียงส่งมาทางเมืองประจิมหรือปราจีนบุรีส่วนครัวลาวเวียงครัง ลาวพันพร้าวส่งมาทางเมืองสระบุรี ครัวลาวพวนส่งไปยังฉะเชิงเทราและกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๘๒ ครัวลาวทรงดำก็ย้ายลงมาอีก และ พ.ศ.๒๓๘๗ ลาวเวียงจันทน์และลาวเมืองวังก็ย้ายลงมาเป็นครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว 

 

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ลาวจากเวียงจันทน์ไปไว้ที่เมืองพนมสารคาม

 

การปราบฮ่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๓ พวกโจรจีนฮ่อเข้ามาปล้นจนถึงเวียงจันทน์ ใช้เวลาปราบฮ่ออยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๓๐ ปีนั้นได้นำลาวทรงดำมายังเมืองไทยเป็นรุ่นสุดท้าย แล้วจึงส่งไปอยู่ยังเมืองเพชรบุรีเช่นเคย

 

 

 

ตารางแสดงลำดับของการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ที่ถูกเรียกว่าลาว”

ในสมัยกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์

 

 

เวลา

เหตุการณ์

กลุ่ม

ตั้งถิ่นฐาน

จากเอกสาร

ก่อน พ.ศ.๒๓๒๒

ลาวจากเวียงจันทน์และเมืองใกล้เคียงสมัครใจอพยพ

ลาวเวียง

สระบุรี

จดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวง

นรินทรเทวีและพระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕

หลัง พ.ศ.๒๓๒๒

ทัพกรุงธนบุรียึดเวียงจันทน์แล้วกวาดต้อนครัวเวียงจันทน์หลายหมื่นมาอยู่ใกล้กับพระนคร

ลาวเวียง

สระบุรี  ราชบุรี

หัวเมืองตะวันตก จันทบุรี,บางยี่ขัน(เจ้านาย)

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

พ.ศ.๒๓๒๕

เจ้านครเวียงจันทน์กวาดต้อนชาวพวนเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

ลาวพวน

 

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๑

พ.ศ.๒๓๓๕

ก็กวาดต้อนชาวพวนและไทดำรวมกันราว ๔,๐๐๐ เศษมาถวาย

ลาวพวน, ลาวทรงดำ(ไทดำ)

พวนอยู่ที่กรุงเทพฯ แถบเฉลิมกรุง

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

พ.ศ.๒๓๔๗

สงครามระหว่างหัวเมืองล้านนาและพม่าที่ยึดเอาเมืองเชียงแสนไว้ เมื่อตีเมืองเชียงแสนได้ ก็แบ่งผู้คนออกเป็น ๕ ส่วน ส่งไป เวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่ ลำปาง และกรุงเทพฯ

ลาวพุงดำ

 

สระบุรีและราชบุรี

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

พ.ศ.๒๓๕๒ และพ.ศ.๒๓๗๑

รัชกาลที่ ๒ ครัวลาวจากเมืองนครพนมส่วนหนึ่งที่มีปัญหาภายใน โปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ คลองมหาหงษ์ เมืองสมุทรปราการ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ขอพระราชทานไปอยู่ที่เมืองพระรถตั้งเป็นเมืองชื่อ พนัสนิคม

ลาวอาสาปากน้ำ

 พนัสนิคม

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒

พ.ศ.๒๓๕๘และพ.ศ.๒๓๖๐

เจ้าเมืองเวียงจันทน์ส่งส่วยและครัวลาวจากเมืองภูครังพร้อมกับลาวเมืองพุกราง โปรดเกล้าฯให้ไปตั้งชุมชนอยู่ที่เมืองนครชัยศรี ต่อมาลาวเมืองภูครังถูกกวาดต้อนอีกหลายครั้ง

ลาวภูครัง

นครชัยศรี

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒

พ.ศ.๒๓๖๙

ศึกอนุวงศ์มีการกวาดต้อนชาวลาวจากหัวเมืองเวียงจันทน์และใกล้เคียงส่งลงมาหลายครั้งและมีปะปนจากครัวลาวเมืองสระบุรี นครราชสีมา และหล่มศักดิ์ ที่ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนคืนกลับไปเวียงจันทน์ ครั้งนี้ก็กวาดต้อนมายังกรุงเทพฯ แต่ไม่ทราบว่าส่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใด

ลาวเวียง

 

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

พ.ศ.๒๓๗๑

เจ้าอนุวงศ์ที่หนีไปอยู่วียดนามกลับมายังเวียงจันทน์และยึดเมืองเวียงจันทน์คืน ครั้งนี้เจ้าพระยาราชสุภาวดีรับพระราชประสงค์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เผาทำลายเมืองเวียงจันทน์เพื่อมิให้ตั้งตัวได้อีก และกวาดต้อนครัวเวียงจันทน์ที่เหลือมายังกรุงเทพฯ

ลาวเวียง

 

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

พ.ศ.๒๓๗๒

เมืองหลวงพระบาง ส่งครัวลาวจากเมืองสามมิ่น เมืองเพวิง เมืองเลย เมืองแก่นท้าวมายังเมืองพิษณุโลกก่อน แล้วให้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่กับพวกเดียวกัน ในปีเดียวกันนั้น จากนั้นก็ได้ส่งครัวลาวหลวงพระบางไปอยู่ยังเมืองพรม ๖๐๐ กว่าคน และแบ่งไปยังบ้านอรัญญิกและกรุงเทพฯด้วย

ลาว(แง้ว?)

 

 

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

พ.ศ.๒๓๗๓

โปรดเกล้าฯให้ไปชำระครัวลาวที่เมืองหลวงพระบางกวาดต้อนมาจากเมืองเลย เมืองลม เมืองแก่นท้าว เมืองปากลาย เมืองเวียงจันทน์ เมืองภูเวียง เมืองภูครัง มาไว้ที่เมืองพิชัย ซึ่งมีการส่งมาถึง ๗ ครั้ง รวมประมาณ หมื่นหกพันคนเศษ โปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่กับพวกที่เคยอยู่มาก่อน

ลาวเวียง

ลาวภูครังหรือ

ลาวครั่ง ลาวแง้ว?

 

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

ระหว่าง พ.ศ.๒๓๗๖–๒๓๗๘ 

ทำศึกกับเวียดนาม  เมื่อได้ชัยชนะ จึงกวาดต้อนลาวพวนและลาวทรงดำมายังกรุงเทพฯ  

ลาวพวนและลาวทรงดำ

 

ประชุมพงศาวดารเล่ม ๔๑

พ.ศ.๒๓๗๙ และ พ.ศ.๒๓๘๑

หัวเมืองลาวขึ้นต่อไทย อุปราชเมืองหลวงพระบางยกทัพไปตีเมืองของไทดำ แล้วกวาดต้อนไทดำส่งมาที่กรุงเทพฯ

ลาวทรงดำ

 

พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง

พ.ศ.๒๓๘๐

ได้รวบรวมครัวลาวเวียงจันทน์ ท่าสาร เวียง

ครัง พันพร้าว ห้วยหลวง และลาวเก่าที่เคยอยู่บ้านอรัญญิกและเมืองสระบุรี ครัวลาว

เวียงส่งมาทางเมืองประจิมหรือปราจีนบุรี ส่วนครัวลาวเวียงครัง ลาวพันพร้าวส่งมาทางเมืองสระบุรี ครัวลาวพวนส่งไปยังฉะเชิงเทราและกรุงเทพฯ 

ลาวเวียง

ลาวภูครังหรือลาวครั่ง

ลาวพวน

ลาวเวียง, ลาวครั่งอยู่ที่อรัญญิกและสระบุรี

ลาวพวนที่ฉะเชิงเทราและกรุงเทพฯ

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

พ.ศ.๒๓๘๒

ครัวลาวทรงดำก็ย้ายลงมาอีก

ลาวทรงดำ

 

จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวน

พ.ศ.๒๓๘๗

ลาวเวียงจันทน์และลาวเมืองวังย้ายลงมาเป็นครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว

ลาวเวียง

 

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓

พ.ศ.๒๔๐๔

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ลาวจากเวียงจันทน์ไปไว้ที่เมือง

ลาวเวียง

พนมสารคาม

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๔

พ.ศ.๒๔๓๐

การปราบฮ่อในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำลาวทรงดำมายังเมืองไทยเป็นรุ่นสุดท้าย

ลาวทรงดำ

เพชรบุรี

ประวัติเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

 

 

ในประวัติศาสตร์ลาว ของมหาสิลา วีรวงศ์ กล่าวว่าทางกรุงเทพฯ เรียกลาวที่มีถิ่นฐานบริเวณนี้ว่า ลาวในและเรียกชาวลาวที่อยู่ในเขตหัวเมืองลาวว่า ลาวนอก

 

ถิ่นฐานของลาวใน ที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณภาคกลางหรือหัวเมืองชั้นในในอดีต ประชากรจำนวนมากในภาคกลางมีเชื้อสายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว และมีอยู่ทั่วไป กระจัดกระจายปนเปไปกับชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆ การตั้งถิ่นฐานระยะแรกๆ คงอยู่ในพื้นที่เดิม มีมูลนายลาวเป็นหัวหน้าปกครองเป็นนายกองขึ้นต่อขุนนางไทย เก็บภาษีอากร และเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดหลวง สร้างสาธารณูปโภคและราชการทัพศึกต่างๆ กิจการที่ต้องเกณฑ์ส่วยหรือแรงงานเป็นกรณีพิเศษเนื่องในพระราชพิธีและการค้าสำเภาหลวง เช่น ซ่อมสร้างพระราชวัง พระราชพิธีพระบรมศพ ตัดฟืน ตัดซุง ส่วยเร่ว ดังนั้น ลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจึงเป็นกลุ่มประชากรสำคัญ ถูกควบคุมและโยกย้ายถิ่นฐานได้ยากมาก ทั้งนี้ รวมไปถึงการเก็บส่วยจาก ลาวนอกเป็นรายได้แก่รัฐในระยะนั้นเป็นจำนวนมากด้วย[i]

 

เมืองเช่นสระบุรีและพนัสนิคมแทบจะมีประชากรเป็นลาวกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด ในระยะแรกทั้งสองเมืองนี้จึงมีเจ้าเมืองเป็นลาว แล้วมีกองลาวแบ่งออกเป็นกองๆ ขึ้นอยู่กับนายกองซึ่งเป็นชาวลาว แต่ละกองประกอบด้วยหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ชาวลาวต่างอยู่ในระบบไพร่ เรียกว่า ไพร่ลาวหรือเลกลาว และเป็นไพร่หลวงทั้งสิ้น

 

หลังจากการยกเลิกระบบไพร่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการโดยเฉพาะการคุกคามหากำลังคนในบังคับจากฝรั่งเศส ทั้งเป็นการเฉลี่ยในการเสียเงินค่าราชการแก่รัฐอย่างเสมอภาคกันทั่วไป ทำให้ไม่มีความจำเป็นเรื่องการเกณฑ์แรงงานและเข้าเดือนรับราชการแก่มูลนายดังที่เคยเป็นมา ทั้งจำนวนผู้คนในกลุ่มลาวมากขึ้นกว่าเดิมและระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าข้าว ทำให้คนในชุมชนเดิมไม่มีที่ทำกิน หรือไม่ก็ต้องการโยกย้ายเพราะเห็นว่าพื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ จึงมีการอพยพจากถิ่นเดิมไปแสวงหาที่ทำกินใหม่ ทำให้ชุมชนลาวกระจายตัวออกไปอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ผสมผสานกับผู้คนอพยพอีกหลายกลุ่ม เช่น จีน ลาวกลุ่มอื่นๆ คนไทยจากชุมชนเดิมๆ รวมกันตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านใหม่ๆ ในพื้นที่บุกเบิกห่างไกล

 

ลักษณะของการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นที่เห็นได้ชัดคือที่อำเภอบ้านหมี่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอำเภอที่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเกือบทั้งอำเภอและมีอยู่หลากหลายกลุ่ม การสำรวจกลุ่มคนในอำเภอบ้านหมี่โดยคนในท้องถิ่นเองแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม คือ พวนร้อยละ ๖๕ ลาวเวียง หรือ ลาวแง้วร้อยละ ๒๐  ไทย ร้อยละ ๑๐  จีนร้อยละ ๕  

 

กลุ่มลาวเวียงจันทร์หรือลาวเวียงหรือแง้วเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเวลาใกล้เคียงกับชุมชนพวนหรืออาจจะอพยพเข้ามาพร้อมกัน และเป็นที่สังเกตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของกลุ่มคนไทยพวนและกลุ่มคนลาวเวียงหรือลาวแง้วจะไม่ปะปนกัน แต่จะแยกกันอย่างเด่นชัด

 

มีความนิยมนำเอาชื่อหมู่บ้านเดิมที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวนมาเป็นชื่อบ้านใหม่ เช่น บ้านกล้วย บ้านทราย บ้านเชียงงา บ้านโพนทอง บ้านเซ่า ซึ่งเพี้ยนมาจาก บ้านซ่าว บ้านหมี่ เป็นต้น

 

ต่อมาการอพยพขยับขยายพื้นที่เริ่มมีอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุหาที่ทำกินและทำเลที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่หรือการติดตามหาญาติพี่น้อง เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กับชุมชนที่ตั้งอยู่ก่อนแล้วก็มักจะใช้ชื่อชุมชนที่ตั้งอยู่ก่อนและจะนิยมเอาชื่อทิศมาต่อท้าย หรืออาจจะใช้คำว่าน้อยมาต่อท้ายเนื่องจากชุมชนเดิมมีขนาดใหญ่กว่า หรืออาจจะไปตั้งหมู่บ้านใหม่ที่กลางท้องทุ่งห่างจากหมู่บ้านเดิมก็จะใช้คำว่าทุ่ง ต่อท้าย เช่น บ้านหินปักเหนือ บ้านหินปักทุ่ง บ้านวังวัดใต้ บ้านวังวัดเหนือ บ้านสำโรงใหญ่ บ้านสำโรงน้อย บ้านหมี่ใหญ่ บ้านหมี่ทุ่ง[ii]ต่อมาก็กระจายตัวไปหาที่ทำกินแห่งใหม่ที่อยู่ไกลออกไปอีกเมื่อราวหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมาด้วยเหตุผลการส่งเสริมการทำไร่และเพาะปลูกในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นที่ดอนซึ่งไม่เคยมีการบุกเบิกมาก่อน เช่น คนในบ้านหมี่ไปอยู่แถบอำเภอศรีเทพและอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อจับจองพื้นที่ทำไร่ และอีกจำนวนหนึ่งไปอยู่ที่อำเภออำเภอชัยบาดาล เพราะต้องการแสวงหาที่ทำกินใหม่ถิ่นที่อยู่เดิมแออัด เป็นต้น

 

ชาวลาวที่เคยอยู่อาศัยในชุมชนเดิมเมื่อแรกถูกกวาดต้อนเข้ามา จึงกระจายตัวออกไปอย่างช้าๆ กลายเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ขึ้นอีกมาก และในหลายๆ หมู่บ้านนั้นก็เป็นการผสมผสานกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ ด้วย

 

จากจดหมายเหตุ พระราชพงศาวดาร และการสืบค้นในปัจจุบันของผู้สนใจเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ลาว สามารถประมวลท้องถิ่นที่ปรากฏ ลาวใน”หรือ กลุ่มลาวถูกกวาดต้อน”มาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองรอบๆ พระนคร เนื่องจากสงครามในสมัยกรุงธนบุรี-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ได้ดังนี้

 

๑. ลาวเวียง และลาวจากเมืองต่างๆ ใกล้เวียงจันทน์ เหตุการณ์ครั้งที่อพยพลาวเวียงมาเป็นจำนวนมากที่สุดเกิดขึ้นสมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ และ พ.ศ.๒๓๗๑ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งในที่สุดมีพระราชประสงค์ให้เผาเมืองเวียงจันทน์เสียให้สิ้น และทำให้ลาวกลายเป็นประเทศราชต่อมาจนกระทั่งฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจเป็นเจ้าอาณานิคมเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖

 

แต่ก่อนหน้านั้น ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็มีการไปตีเวียงจันทน์ และอพยพผู้คนมาไว้ที่สระบุรี รวมทั้งเจ้านายก็เอามาเป็นตัวประกันที่กรุงเทพฯ แถบสวนบางยี่ขัน ถิ่นฐานเดิมของลาวเวียงอยู่ที่ สระบุรี ราชบุรี หัวเมืองตะวันตก และจันทบุรี และลาวเวียงรุ่นต่อๆ มา ก็มักจะให้ไปรวมอยู่กับพวกพ้องเดียวกันในบริเวณที่กล่าวมาแล้ว และพบว่าในบริเวณจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรีก็มีอยู่มาก

 

การฟื้นฟูการฟ้อนของเด็กๆ ที่เสาไห้ เพื่อรักษาประเพณีที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แบบโยนกหรือคนยวนทางเหนือแก่สังคมไทยให้เกิดความเข้าใจในความหลาหลายทางชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของผู้คนในดินแดนภาคกลาง

 

พิธีเลี้ยงผีตาปู่บ้านน้ำจั้น ลาวแง้วที่บ้านนี้เลี้ยงผีในวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ผู้คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นหญิงสูงอายุ  การเลี้ยงผีประจำปีในอดีตไม่มีการลงทรง เพิ่งจะมีเมื่อคนทรงเมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว ในอดีตเจ้าพ่อมาเข้าบ่อย ทั้งเข้าพรรษา ออกพรรษา และสงกรานต์ แต่ปัจจุบันมาลงทรงปีละครั้งคือในงานเลี้ยงผีตาปู่ประจำปี  ในปีนั้นปรากฏว่าเป็นเมียเจ้าพ่อสนั่นมา คนทรงจึงแต่งกายสวยงาม ฟ้อนรำเล่นกับชาวบ้านอย่างสนุกสนาน ก่อนจะมีการทำนายทายทักต่างๆ แล้วเสี่ยงทายกระดูกคอไก่ ซึ่งยังคงรักษาธรรมเนียมเสี่ยงทายแบบเก่านี้ไว้ 

 

ปัจจุบันพบว่ามีกลุ่มลาวเวียงตั้งบ้านเรือนอยู่หลายแห่ง เช่น บ้านอรัญญิกในจังหวัดอยุธยา ในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอพนมทวน, อำเภอบ่อพลอย และอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอพนมสารคาม, อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น ยังไม่มีการสำรวจอย่างแน่นอนว่าผู้คนเชื้อสายลาวเวียงตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ใดอย่างละเอียดเช่นเดียวกับการศึกษาของกลุ่มพวน

 

๒.ลาวครั่ง หรือลาวภูครัง หรือลาวภูคัง ในเอกสารกล่าวว่าเป็นเมืองอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่า ภูครัง เป็นชื่อภูเขาอยู่ในเขตอำเภอภูเรือในปัจจุบัน เชิงเขานี้มีบ้านหนองบัวตั้งอยู่และเป็นที่ตั้งของเมืองภูครังแต่เดิม และเป็นเมืองมีเจ้าเมืองปกครองอยู่จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งเมืองด่านซ้ายริมน้ำหมันใกล้กับพระธาตุศรีสองรักษ์รวมทั้งเจ้าเมืองภูครังก็ยกให้เป็นเจ้าเมืองด่านซ้ายด้วย

 

ในบริเวณนี้มีที่ราบแคบๆ ที่สามารถเดินทางติดต่อกับเมืองแก่นท้าว เมืองเลยซึ่งเมื่อเลียบริมน้ำโขงก็ต่อไปถึงเวียงจันทน์ และยังเป็นทางขึ้นไปเมืองหลวงพระบางอีกทางหนึ่งนอกจากที่น้ำปาด ดังนั้นเมื่อมีการอพยพผู้คนจากหัวเมืองลาว จากเมืองหลวงพระบาง เมืองเลย เมืองแก่นท้าว เมืองพันพร้าว (ในจังหวัดหนองคาย) ก็จะใช้เส้นทางนี้พักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกไม่ก็เมืองพิชัย ก่อนจะเดินทางเข้าสู่หัวเมืองชั้นใน ส่วนกลุ่มพวน หรือกลุ่มลาวเวียง ก็จะเข้ามาตามเส้นทางเมืองท่าบ่อซึ่งตรงข้ามกับฝั่งเวียงจันทน์ ผ่านบ้านผือไปยังหนองบัวลำพู ผ่านดงพญาเย็น แล้วเข้ามาพักที่สระบุรี 

 

ลาวภูครังที่ถูกกวาดต้อนในรัชกาลที่ ๒ ให้ไปอยู่ที่เมืองนครชัยศรีหรือในจังหวัดนครปฐม ส่วนลาวที่เมืองหลวงพระบางกวาดต้อนมาอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เนื่องจากศึกเจ้าอนุวงศ์ ก็ให้ไปพักที่เมืองพิษณุโลกและพิชัย ก่อนจะส่งไปอยู่ ณ ที่พวกจากเมืองของตนเคยอยู่

 

ในปัจจุบันพบว่ามีชาวลาวครั่งหรือลาวภูครังอยู่ที่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย,    อำเภอพรหมพิราม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก, ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง บ้านโค้งวิไล อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์, อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร, อำเภอบ้านไร่ อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี, อำเภอหันคา อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท, อำเภอสระกระโจม อำเภอจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอดอนตูม อำเภอกำแพงแสน  อำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม

 

๓. ลาวจากหัวเมืองแถบหลวงพระบางเนื่องมาจากสงครามศึกเจ้าอนุวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๗๑–พ.ศ.๒๓๗๓ นอกจากจะเผาเมืองเวียงจันทน์เสียจนสิ้นแล้ว ยังได้กวาดต้อนผู้คนระลอกใหญ่อย่างต่อเนื่องต่อมาอีก ๒-๓ ปี กลุ่มคนที่เดินทางมาจากหัวเมืองที่ลาวทางฝ่ายเมืองหลวงพระบางรับผิดชอบชำระส่งมานั้น เดินทางมาพักอยู่ที่พิษณุโลกและพิชัยตามเอกสาร ได้แก่  เมืองสามมิ่น เมืองเพวิง เมืองเลย เมืองแก่นท้าว ครัวลาวหลวงพระบาง เมืองลม เมืองปากลาย เมืองเวียงจันทน์ เมืองภูเวียง เมืองภูครัง และต่อมาให้ไปอยู่เมืองพรหมและที่อื่นๆ เส้นทางเดินทางนั้น ก็น่าจะมาทางทั้งทางเมืองปากลายอุตรดิตถ์เข้าสู่เมืองพิษณุโลกและเมืองพิชัย อีกทางหนึ่งคือเมืองแก่นท้าวข้ามน้ำเหืองมาทางเมืองภูครังและเมืองด่านซ้าย ลงสู่ที่ราบเมืองหล่มเก่าหล่มสักและเพชรบูรณ์ ซึ่งสามารถเดินทางไปยังเมืองพิษณุโลกหรือลงสู่เมืองสระบุรีได้สะดวกทั้งสองทาง

 

เรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเชื้อสายลาวแง้วบ้านหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ภายในบริเวณบ้านไม่เรียบร้อยพิถีพิถัน เพราะไม่ได้ใส่ใจต่อความสวยงามนัก ดังเป็นความเห็นที่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น เช่น คนพวนที่เป็นคนกลุ่มมากในพื้นที่มีต่อชาวบ้านเชื้อสายลาวแง้ว       

ศาลตาปู่ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “เจ้าพ่อสนั่น” และภายในศาลเจ้าพ่อสนั่น ซึ่งมีพวงมาลัย ช้างม้าจำลอง กระถางธูป ราวเทียน โดยปรับปรุงเป็นศาลใหญ่ก่ออิฐถือปูนจากศาลไม้สี่เสาหลังเล็กๆ บ้านน้ำจั้น ตำบลไผ่ใหญ่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี

การอุปสมบทของลูกหลานคนลาวแง้ว

 

การกวาดต้อนครั้งนี้มีทั้งครัวลาวเวียงและลาวจากเมืองอื่นโดยเฉพาะหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองหลวงพระบางทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงร่วมเดินทางมาในคราวเดียวกัน แต่ในเอกสารต่างๆ ไม่มีบันทึกใดๆ กล่าวถึงชื่อลาวแง้วในกลุ่มลาวที่ถูกกวาดต้อนมาด้วยเลย ในเอกสารส่วนใหญ่มักจะเรียกรวมๆ กันว่า “ลาวเวียง” ดังนั้น จึงเห็นได้ชัด สำหรับทางราชการการเรียกชื่อลาวแง้วไม่ได้เป็นที่รู้จักแต่คงเป็นการรู้กันภายในเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

การกวาดต้อนครั้งนี้น่าจะมีทั้งลาวเวียง ลาวครั่ง และลาวแง้วด้วย เหตุที่สันนิษฐานว่า ลาวแง้วน่าจะเป็นกลุ่มลาวกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนกันมาในครั้งนี้ก็เพราะ การสำรวจในปัจจุบันพบว่า มีกลุ่มผู้เรียกตนเองว่าลาวแง้วตั้งเป็นชุมชนจำนวนมากกระจัดกระจายตั้งแต่เขตสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี และนครสวรรค์ ปะปนกับกลุ่มพวนและลาวเวียงซึ่งคนในท้องถิ่นก็จะทราบกันเองว่าลาวแง้วเป็นกลุ่มที่แตกต่างไปจากลาวกลุ่มอื่นๆ ที่กล่าวมา อีกทั้งการศึกษาทางภาษาศาสตร์พบว่า แม้ภาษาลาวทั้งหมดจะอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน คือ ภาษาไท-กะได แต่เมื่อแยกเสียงวรรณยุกต์แล้ว ภาษาลาวแง้วมีเสียงวรรณยุกต์ใกล้เคียงกับภาษาลาวกลุ่มหลวงพระบางและยังใกล้เคียงกับการแยกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาลาวครั่งที่นครชัยศรีด้วย[iii]

 

และสัมพันธ์กับเรื่องเล่าที่ตกทอดสู่ลูกหลานในกลุ่มลาวแง้วหลายๆ คน กล่าวว่า ได้อพยพมาจากเมืองหลวงพระบางบ้าง เมืองที่อยู่ใกล้ๆ กับหลวงพระบางบ้าง (แต่ในขณะที่บางคนก็บอกเล่าว่ามาจากเวียงจันทน์ในครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ เห็นได้ว่ามีการรวมกลุ่มมาด้วยกันทั้งกลุ่มลาวเวียง ลาวเมืองอื่นๆ แต่ภายหลังคงมีการแยกหมู่บ้านตามกลุ่มของตน ความทรงจำจึงค่อนข้างสับสนว่าตนเป็นลาวกลุ่มใด และถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งใด)ดังนั้น ลาวแง้วจึงน่าจะเป็นกลุ่มลาวที่อพยพมาจากหัวเมืองแถบรอบๆ เมืองหลวงพระบางในครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์มากกว่าจะเป็นกลุ่มลาวเวียงหรือบ้านเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเมืองเวียงจันทน์

 

ในปัจจุบัน กลุ่มลาวแง้วที่สำรวจพบ อยู่ในเขต อำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีมากที่สุด นอกนั้นก็เป็นกลุ่มที่อยู่ดั้งเดิมคือในตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีชาวลาวแง้วอยู่เกือบทั้งตำบลแล้ว ในเขตวัดม่วง วัดโพธิ์ศรี ตำบลอินทร์ อำเภออินทร์บุรีมีคนเชื้อสายลาวแง้วอาศัยอยู่มาก นอกจากนี้ยังมีที่วัดท่าอิฐ วัดเกาะแก้ว วัดตุ้มหู บางโฉมศรี ตำบลบุ่งชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี และแถบตำบลบ้านสิงห์ วัดสาธุ ตำบลโพงพางเสือ อำเภอบางระจันก็มีลาวแง้วอาศัยอยู่ ส่วนในเขตอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นกลุ่มลาวแง้วที่ขยับขยายหาพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ แยกออกจากชุมชนเดิมและอยู่รวมกลุ่มกับคนที่อพยพมาเช่นเดียวกันจนกลายเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่อีกหลายแห่ง

 

๔. ลาวพวน หรือ พวนหมายถึงกลุ่มชาวผู้ไทจากเมืองพวนและบ้านเมืองในเขตที่ราบเชียงขวาง จากเอกสารเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ปรากฏว่า มีการประเมินข้อมูลจำนวนคนพวนที่อยู่ในที่ราบเชียงขวางมีมากพอๆ กับคนเชื้อสายพวนที่อยู่ในประเทศไทย คือ เกือบหนึ่งแสนคน ซึ่งข้อมูลนี้อาจไม่ถูกต้องก็ได้ แต่อนุมานให้เห็นว่ามีการประเมินจำนวนคนพวนจากเชียงขวางใกล้ชายแดนเวียดนามในสมัยที่ถูกกวาดต้อนมานั้น โยกย้ายกันมาน่าจะเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรทีเดียว

 

พวนน่าจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ถูกอพยพเข้ามาสู่หัวเมืองชั้นใน เนื่องจากชาวพวนเป็นกลุ่มไทดำกลุ่มหนึ่ง และมีวัฒนธรรมใกล้ชิดกับชาวผู้ไทในเขตเมืองแถง และถือตัวว่าเป็นคนพวนไม่ใช่คนลาว รวมทั้งคนลาวก็เรียกว่าพวนโดยไม่นับเป็นลาวด้วย ดังนั้น ภาษาพูดจึงมีความใกล้ชิดกับลาวโซ่งหรือไทดำ

 

พวนถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ และเข้ามามากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๓ ครั้งศึกรบกับเวียดนามและศึกเจ้าอนุวงศ์ ครัวพวนถูกอพยพมาสมทบกับพวกพ้องทั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา ลพบุรี สระบุรี ปราจีนบุรี ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มผู้มีเชื้อสายพวนตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดต่างๆ หลายแห่งทั้งในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือตอนล่าง ความแตกต่างไปจากกลุ่มลาวอื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ทำให้พวนมีเอกลักษณ์พิเศษทั้งภาษาพูด ขนบประเพณี พิธีกรรม และลักษณะพฤติกรรม ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มใหญ่และมีเอกลักษณ์นี้เองทำให้มีการรวมตัวเกิดสมาคมไทพวน จัดกิจกรรมต่างๆ สำหรับคนเชื้อสายพวนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ลาวในกลุ่มอื่นๆ ไม่สามารถรวมตัวกันเช่นนี้ได้

 

๕.ลาวโซ่งหรือ ไทดำหรือ ผู้ไทเป็นกลุ่มที่อยู่ในเขตเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูในเวียดนาม ใกล้ชิดกับกลุ่มบ้านเมืองที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่าสิบสองจุไทหรือสิบสองเจ้าไท (ไทดำ ๘ เมือง, ไทขาว ๔ เมือง) บริเวณนี้มีทั้งกลุ่มไทดำและไทขาวโดยสังเกตจากเครื่องแต่งกายและภาษาพูด เป็น “เมืองสามฝ่ายฟ้า” เพราะขึ้นกับทั้งหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ จีน และเวียดนามในช่วงเวลาต่างๆ ดังนั้น ลักษณะทางวัฒนธรรมจึงมีทั้งวัฒนธรรมแบบไต-ลาว จีน และเวียดนามด้วย

 

ไทดำเข้ามายังหัวเมืองชั้นในหลายครั้งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ.๒๓๗๖–๒๓๗๘ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทำศึกกับเวียดนามเมื่อชนะจึงกวาดต้อนลาวพวนและลาวทรงดำมายังกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๗๙, พ.ศ.๒๓๘๑ และ พ.ศ.๒๔๘๒ อุปราชเมืองหลวงพระบางยกทัพไปตีเมืองไทดำแล้วกวาดต้อนส่งมาบรรณาการอีก จนครั้งสุดท้ายเมื่อสมัยปราบฮ่อในรัชกาลที่ ๕ ถิ่นฐานดั้งเดิมของไทดำในหัวเมืองชั้นใน คือ ที่เมืองเพชรบุรีหลังจากนั้นจึงแยกออกไปอยู่ ณ ที่อื่นๆ เช่น อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี อำเภอบางแพ อำเภอปากท่อ อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมือง อำเภอดอนตูม อำเภอสามพราน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอพนมทวน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี

 

ลาวโซ่งหรือลาวทรงดำในแถบเมืองเพชรบุรีในปัจจุบัน ยังคงรักษาความเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้อย่างเหนียวแน่นกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะมีทั้งพิธีกรรม เช่น การเสนเรือนหรือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ การเสนเมืองหรือการเลี้ยงผีเมือง พิธีกรรมงานศพ การแต่งกาย บ้านเรือน ภาษาพูด บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ตนเองอย่างเหนียวแน่น

 

 ๖.ลาวยวนหรือ ไตยวนหรือ ลาวพุงดำสงครามระหว่างหัวเมืองล้านนาและพม่าที่ยึดเอาเมืองเชียงแสนไว้ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๓๔๗ ทัพของกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ตีเมืองเชียงแสนได้ก็แบ่งผู้คนออกเป็น ๕ ส่วน ส่งไปยัง เวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่ ลำปาง และกรุงเทพฯ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่สระบุรีคือเสาไห้และราชบุรีที่คูบัว  ในระยะหลังๆ จึงขยับขยายถิ่นฐานไปยังที่อื่นๆ เช่น แถบวัดรางบัว ในอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี และที่อื่นๆ

 

ในท้องถิ่นของชาวยวนทั้งสระบุรีและราชบุรี ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าซิ่นตีนจก ประเพณีงานบุญและวัดวาอารามแบบล้านนา รวมทั้งภาษาพูด และการแต่งกายเฉพาะโอกาสไว้ได้อย่างเด่นชัด และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวยวนได้อย่างกลมกลืน

 

เนื่องจากความต้องการประชากรหรือ “ไพร่” เป็นกำลังสำคัญของรัฐในยุคสมัยนั้น การกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองชั้นนอกที่อยู่ห่างไกลจึงเป็นวิธีการสร้างฐานกำลังของ “รัฐ” ที่สำคัญซึ่งที่ชัดเจนก็คือ การสร้างฐานกำลังอำนาจของราชสำนักและขุนนางบางกลุ่ม เพราะไพร่ชาวเมืองต่างๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาล้วนถูกจัดเป็น “ไพร่หลวง” เกือบทั้งสิ้น

 

ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น สำหรับราชสำนักความสนใจหรือความรู้เกี่ยวกับลักษณะทางวัฒนธรรมของผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นไพร่ในหัวเมืองชั้นในหลายต่อหลายกลุ่มมีอยู่น้อยมาก ดังเราจะเห็นว่าผู้คนและบ้านเมืองที่อยู่ทางเหนือหรือตอนบนถูกเหมารวมเรียกว่า “ลาว”ประเภทของกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนเนื่องจากการสงครามเป็นไปในลักษณะการดูถูกทางชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด เช่น การเรียกชื่อ “ลาวพุงดำหรือลาวพุงขาว” เป็นต้น” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว กลุ่มที่เรียกตนเองว่า “ลาว” นั้น มีเพียง ๒-๓ กลุ่ม คือ “ลาวเวียง” “ลาวครั่ง” และ “ลาวแง้ว” หรือลาวในกลุ่มเมืองหลวงพระบางและใกล้เคียง นอกเหนือจากนั้น ก็เรียกตนเองว่า “พวน”(ลาวพวน), “ยวน”(ลาวพุงดำ) และ “ไทดำ”(ลาวทรงดำหรือลาวโซ่ง)

 

คำเรียกกลุ่มลาวซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกตนเองว่าลาว ก็ยังถูกเรียกให้ต่างไปจากคนร่วมท้องถิ่นโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเรียกชื่อที่รู้จักในท้องถิ่นต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่น ในอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เรียกชื่อ “ลาวครั่ง” ตามถิ่นที่อยู่ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านหรือท้องถิ่นว่า “ลาวโนนปอแดง” และ “ลาวหนองเหมือด” หรือบางคนก็นำคำลงท้ายประโยคที่ชาวลาวครั่งมักจะใช้กันคือคำว่า “ก๊ะล่ะ” มาเรียกเป็นชื่อกลุ่มโดยจะเรียกว่า “ลาวก๊ะล่ะ” บ้างก็เรียกกันเล่นๆ ว่า “ลาวล่อก๊อ” หรือกลุ่มลาวครั่งที่ไปอยู่รักษาเมืองด่านแถบสุพรรณบุรีก็เรียกว่า “ลาวด่าน”

 

อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้ดำเนินกิจกรรมเพื่อฟื้นอัตลักษณ์ของความเป็นคนยวนเสาไห้

 

นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อกลุ่มลาวที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเอกสารทางการ หรือมีการศึกษาสืบค้นประวัติอย่างแน่ชัดในปัจจุบันสำหรับลาวกลุ่มนี้ก็คือ ลาวใต้ซึ่งกล่าวว่าเป็นลาวกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดมาพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าลาวใต้เป็นกลุ่มลาวกลุ่มใดและถูกกวาดต้อนมาจากเมืองหรือท้องถิ่นใดกันแน่[iv]

 

ในกลุ่ม “ลาวแง้ว” ก็มีชื่อที่ถูกเรียกว่า “ลาวกร๋อ”, “ลาวตะโก” แถบบ้านโคกกระดี่ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ “ลาวทองเอน” แถบบ้านทองเอน ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี คนเชื้อสายลาวแง้วมักชอบพูดลงท้ายประโยคว่า “ตี้” จึงมีบางคนเรียกว่า “ลาวตี้” ด้วย 

 

ดังนั้น คำเรียกชื่อกลุ่มลาวที่แสดงถึงกลุ่มดั้งเดิมซึ่งมักจะเป็นชื่อของเมือง เช่น ลาวพวน ลาวเวียง ลาวครั่ง ก็ลืมเลือนหรือหายไป จึงเกิดความสับสนอยู่บ่อยๆ ในระหว่างกลุ่มคนเชื้อสายลาวด้วยกันหรือคนกลุ่มอื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกัน ว่าตนเป็นลาวมาจากเมืองใดและอพยพมาตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือแม้แต่เป็นลาวกลุ่มใดกันแน่ เพราะชื่อของลาวในท้องถิ่นต่างๆ ถูกเรียกชื่อไปต่างๆ นานานั่นเอง

 

กลุ่มชาติพันธุ์ลาวถูกมองอย่างเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะโครงสร้างแห่งการดูถูกทางชาติพันธุ์ฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของรัฐและคนชั้นสูง ดังมีอคติต่อกลุ่มลาวปรากฏในเอกสารต่างๆ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มลาวที่ถูกมองว่าด้อยกว่า ทำให้เกิดการดูถูกและเข้าใจผิดรวมไปถึงไม่พยายามเข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มลาวมากขึ้น

 

จากอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ที่เห็นกันว่าน่าจะใกล้ชิดกับความเป็นคนไทยมากที่สุด ก็ยังคงความคลุมเครือสืบต่อตกทอดมาได้อย่างน่าแปลกใจ

 

 

 

 

บรรณานุกรม

จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติกรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ดวงกลม จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๒๔

โพธิ์ แซมลำเจียก. ตำนานไทยพวนกรุงเทพฯ :บริษัท ก. พลพิมพ์ พริ้นติ้ง จำกัด  ๒๕๓๗

ภูธร ภูมะธน บรรณาธิการ.มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสักในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก ลพบุรี; ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี,๒๕๔๑

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดลพบุรี

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. นิทานโบราณคดีกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ๒๕๑๗

สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. นิราศทัพเวียงจันทน์กรุงเทพฯ; สำนักพิมพ์มติชน, ๒๔๔๔

สุเทพ สุนทรเภสัช บรรณาธิการ. สังคมวิทยาของหมู่บ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือโรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พระนคร; ๒๕๑๑.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์ลาว ๑๗๗๙–๑๙๗๕ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์:กรุงเทพฯ, ๒๕๔๓

บังอร ปิยะพันธุ์. ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ; ๒๕๔๑

มหาสิลา วีระวงศ์ เรียบเรียง, สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. ประวัติศาสตร์ลาว โรงพิมพ์เทคนิคการพิมพ์;ลำพูน, ๒๕๓๕

นงนุช ปุ้งเผ่าพันธ์. ลักษณะของภาษาลาวแง้ว ที่ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตศิลปศาสตร์ (จารึกภาษาไทย) บัณฑิตวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗

ศิวพร ฮาซันนารี. การศึกษาระบบเสียงในภาษาลาวหลวงพระบาง: ศึกษาเปรียบเทียบกับภาษาลาวครั่ง ลุ่มน้ำท่าจีน และภาษาลาวด่านซ้าย วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตศิลปศาสตร์ (จารึกภาษาไทย) บัณฑิตวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๓.

http://www.phaidam.f2s.com/thong_en/sub_local.html


 

 


[i]สุวิทย์ ธีรศาศวัต. ประวัติศาสตร์ลาวสำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด, ๒๕๔๓. ดูได้จาก บทที่ ๔ “การเก็บส่วยของไทยจากลาว” หน้า ๗๑–๙๕. ซึ่งลงความเห็นว่าในสมัยที่ไทยปกครองลาวเป็นช่วงของการขูดรีดเก็บส่วยจากคนลาวทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยแบ่งกันระหว่างวังหลวงและวังหน้ารวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่และกรมการเมืองลาว

[ii]ประวัติอำเภอบ้านหมี่ ใน http://www.mis.moe.go.th/ambnmae/prawutbanmi2.htm

[iii]นงนุช ปุ้งเผ่าพันธ์. ลักษณะของภาษาลาวแง้ว ที่ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรีวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตจารึกภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗, หน้า ๒๒๒.

[iv]มีการกล่าวถึงกลุ่มลาวใต้หลายครั้ง  แต่ก็ยังไม่มีการจำแนกหรืออธิบายที่มาของลาวกลุ่มนี้อย่างชัดเจน

อัพเดทล่าสุด 27 พ.ค. 2559, 09:14 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.