หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ถมอรัตน์ เขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ค. 2542, 10:56 น.
เข้าชมแล้ว 28689 ครั้ง

ถมอรัตน์ เขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพ

 

เขาถมอรัตน์ เป็นจุดสังเกตเห็นแต่ระยะไกล น่าจะเป็นหมุดหมายของนักเดินทางสมัยโบราณ ที่ใช้การเดินทางบกข้ามผ่านภูมิภาคในระยะทางไกล 

 

เมื่อผ่านชัยบาดาลในจังหวัดลพบุรีเข้าสู่ที่ราบลุ่มของลุ่มป่าสักในเขตเพชรบูรณ์จะพบภูเขาที่มีฐานกว้างรูปทรงกรวยยอดแหลมและสูงที่สุดในละแวกใกล้เคียง  มองเห็นได้อย่างชัดเจนโดดเด่นและเป็นจุดสังเกตเด่นชัดทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำป่าสัก ชาวบ้านในละแวกนั้นเรียกว่า “เขาใหญ่” แต่มีชื่อเป็นทางการว่า “เขาถมอรัตน์” ซึ่งเป็นชื่อที่สืบค้นได้ว่าถูกเรียกมาไม่ต่ำกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นภูเขาที่มีความสำคัญสืบย้อนจนพบว่าร่วมสมัยกับรัฐแรกเริ่มในลุ่มน้ำป่าสักที่ “เมืองศรีเทพ” อันเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่และสำคัญแห่งหนึ่งในดินแดนประเทศไทย

 

เขาถมอรัตน์ตั้งอยู่ชายขอบของพื้นที่สูงซึ่งเป็นที่ราบลอนลูกคลื่นซึ่งต่อเนื่องมาจากลุ่มลพบุรีอันมีลักษณะสำคัญของการใช้แหล่งน้ำที่มาจากตาน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านเรียกว่า ซับ, ชอน หรือพุ  รวมกับลำธารน้ำสายเล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์ในยามหน้าฝน และต่อเนื่องกับแนวพื้นที่ราบลุ่มของลำน้ำป่าสัก ที่อยู่ทางทิศตะวันออก ดังนั้น จึงมีลำน้ำสายต่างๆ ไหลจากที่สูงทางชายขอบของเขาถมอรัตน์ลงสู่ลำน้ำป่าสักมากมาย  บริเวณเมืองศรีเทพซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำป่าสักก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มและเป็นทางผ่านของสายน้ำต่างๆ ที่ไหลมาจากเทือกเขาทางฝั่งตะวันออกด้วย

 

เมื่อมองจากแกนกลางเมืองโบราณศรีเทพหันหน้าไปทางทิศตะวันตก จะเห็นเขาถมอรัตน์ในรูปทรงสามเหลี่ยมและเป็นเขาลูกโดดที่อยู่ในแกนเดียวกับปรางค์ศรีเทพได้อย่างถนัดชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ทำให้รับรู้ว่า ลักษณะของผังเมืองและการสร้างปรางค์ศรีเทพมีความสัมพันธ์กับเขาถมอรัตน์ทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน

 

ในข้อเท็จจริง ปริมณฑลของเมืองโบราณศรีเทพไม่ได้มีอาณาเขตอยู่แต่ภายในขอบเขตของคูน้ำคันดินเท่านั้น เพราะพบหลักฐานเช่นศาสนสถานและรูปเคารพกระจัดกระจายทั้งในบริเวณนอกเมืองและในเมือง ที่สำคัญก็คือ “ถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์” ที่ต้องข้ามลำน้ำป่าสักและห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตกราว ๑๒ กิโลเมตร ปรากฏการสลักรูปเคารพทางศาสนาจำนวนหนึ่ง

 

ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงถึงเมืองโบราณศรีเทพ มีคูเมืองสองรุ่น คือเมืองรูปกลมในยุคแรกๆ และเมืองรูปเกือบสี่เหลี่ยมที่ขยายในเวลาต่อมา 

 

ถ้ำหินปูนบนยอดเขาถมอรัตน์ มีการแกะสลักรูปเคารพที่ร่วมสมัยกับเมืองศรีเทพ บริเวณปากทางเข้าถ้ำจากแท่งหินธรรมชาติที่สูงจากพื้นจรดเพดานและสามารถเดินวนรอบได้ ชาวเมืองศรีเทพโบราณแกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นรูปพระพุทธรูปยืนหน้าตรง แสดงปางวิตรรกะ ด้านขวาของพระพุทธรูปประธานสลักพระพุทธรูปยืนหน้าตรง ส่วนที่ติดกับพื้นถ้ำ มีการสลักฐานรูปดอกบัวขนาดใหญ่ ด้านซ้ายของพระพุทธรูปประธาน เป็นภาพกลุ่มภาพพระโพธิสัตว์สี่กร เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ศรีอาริยะเมตไตรย์  กลุ่มที่อยู่ด้านในสุด เป็นกลุ่มพระพุทธรูป ศูนย์กลางของกลุ่มเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ซ้ายมีเสาเหลี่ยมรองรับธรรมจักร ส่วนด้านขวามีสถูปจำลอง

 

ข้อน่าสังเกตคือ ถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์เป็นสถานที่ซึ่งรวมรูปเคารพทั้งพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นรูปเคารพของศาสนาพุทธในคติแบบมหายาน และพระพุทธรูป เสาธรรมจักร และสถูปจำลอง ซึ่งเป็นคติแบบเถรวาท การผสมผสานคติความเชื่อทั้งสองรูปแบบนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของคติความเชื่อแบบศรีเทพ ซึ่งเป็นสังคมที่มีการผสมผสานแนวคิดทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน

 

แต่เมื่อราว พ.ศ.๒๕๐๕ มีผู้ลักลอบสกัดเศียรพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่มีความงดงามอย่างยิ่งไปจากถ้ำเขาถมอรัตน์ จนอยู่ในความครอบครองของนายเจมส์ ทอมสัน ก่อนนำมามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเก็บรักษาไว้  ดังนั้น ปัจจุบันนี้ภายในถ้ำบนยอดเขาถมอรัตน์จึงไม่ปรากฏเศียรพระพุทธรูปหรือพระโพธิสัตว์อยู่เลย

                       

ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของเมืองศรีเทพ  ในบริเวณลุ่มลพบุรี-ป่าสัก มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ค่อนข้างหนาแน่นในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนการพัฒนาเป็นรัฐในสมัยทวารวดีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ชุมชนในลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลอนลูกคลื่นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตภาคกลาง มีลำน้ำลพบุรีและลำน้ำสาขาตลอดจนลำน้ำป่าสักและลำน้ำสายสั้นๆ มากมายไหลหล่อเลี้ยงสลับกับกลุ่มเทือกเขาและภูเขาที่มีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ทองแดง แร่ตะกั่ว และแร่เหล็ก  อันเป็นพื้นฐานของความเจริญทางสังคมของผู้คนในยุคนั้น ทำให้เขตลุ่มลพบุรี-ป่าสักมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคมรองรับการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่ห่างไกลทั้งในเขตดินแดนประเทศไทยและแหล่งอารยธรรมที่อยู่ห่างไกลออกไป

 

ชุมชนในบริเวณนี้เป็นกลุ่มสังคมที่มีพัฒนาการเข้าขั้นซับซ้อนในระดับหมู่บ้านขนาดใหญ่ ตั้งแต่เมื่อราว ๓,๕๐๐ ปีที่ผ่านมา และมีการติดต่อระหว่างชุมชนในเขตเดียวกันและชุมชนภายนอกที่ห่างไกล ดังเครื่องมือเครื่องใช้ที่พบในหลุมฝังศพซึ่งมีรูปแบบร่วมสมัยกับที่พบในแถบเวียดนามหรือจีนตอนใต้ จนเมื่อราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนต่างๆ ในเขตนี้ทวีความหนาแน่นขึ้นจนน่าจะเริ่มมีการจัดระเบียบสังคมขนาดใหญ่ในระดับเมืองหรือรัฐแรกเริ่ม ก่อนที่จะมีการรับพุทธศาสนาและสร้างบูรณาการให้มีการนับถือศาสนา ภาษา และศิลปวิทยาการในรูปแบบเดียวกันจนกลายเป็นเมืองและนครรัฐในที่สุด

 

 

เจดีย์เขาคลังนอกที่อยู่นอกเมืองศรีเทพ เพิ่งมีการขุดแต่งไปไม่นานนี้ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์มากจนเห็นอิทธิพลของรูปแบบศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาแบบมหายานคล้ายกับศาสนสถานต้นแบบที่บุโรพุทโธ

 

จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มชนที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่มั่นคงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนากลุ่มชนเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเขตศรีเทพด้วย  เพราะพบหลักฐานแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองศรีเทพและบริเวณใกล้เคียง จากการขุดค้นที่พบโครงกระดูกช้างที่มีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานและในระดับชั้นดินการอยู่อาศัยที่ลึกที่สุดได้พบโครงกระดูกที่ทำพิธีกรรมฝังไว้ในบริเวณเมืองศรีเทพ สิ่งของที่อุทิศให้ศพเป็นจำพวก ภาชนะดินเผา เครื่องประดับสำริด เครื่องมือเหล็ก ลูกปัดคาร์นีเลียนและลูกปัดดินเผา 

 

นอกจากนี้ การขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านหนองแดง ตำบลสระกรวด  นอกกำแพงเมืองศรีเทพห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว ๑๒ กิโลเมตร พบหลุมฝังศพที่มีรูปแบบเดียวกับการฝังศพทั่วไป ของที่อุทิศให้ศพคือ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก เครื่องมือสำริด ขวานหินขัด กระดูกสัตว์และเปลือกหอย ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพเหล่านี้ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงยุคโลหะตอนปลายหรืออยู่ในสังคมที่มีการใช้เครื่องมือเหล็กแล้ว เป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการเข้าสู่สังคมแบบรัฐสมัยทวารวดีในเวลาต่อมา

 

มีแหล่งโบราณคดีสำคัญๆ หลายแห่งในลุ่มลพบุรี-ป่าสักที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตศรีเทพ เช่น กลุ่มชุมชนโบราณในเขตโคกเจริญ บ้านยางโทน และสระโบสถ์ ในบริเวณพื้นที่สูงทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขาถมอรัตน์ ซึ่งมีการอยู่อาศัยมาก่อนอย่างหนาแน่นและยาวนานกว่าชุมชนในเขตศรีเทพและลุ่มป่าสัก ส่วนทางด้านทิศใต้ในเขตเขาหางตลาด เขาสมโภชน์ ในอำเภอชัยบาดาลตลอดไปจนถึงบ้านวังก้านเหลืองซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันก็มีชุมชนที่มีอายุร่วมสมัยและความคล้ายคลึงกับชุมชนก่อนเมืองศรีเทพอยู่หลายแห่ง และบางแห่งเห็นได้ชัดว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตหันมารับอิทธิพลบางอย่างจากพุทธศาสนาอยู่ในช่วงของ ยุคสมัยที่แรกรับวัฒนธรรมแบบทวารวดี

 

ศรีเทพเป็นชุมชนที่อยู่ชายขอบของลุ่มลพบุรี-ป่าสัก ซึ่งมีสันเขาลวกและเทือกเขาพังเหย กั้นระหว่างขอบที่ราบยกตัวของที่ราบสูงโคราชและพื้นที่ราบลอนลูกคลื่นของภาคกลาง อันเป็นรอยต่อระหว่างเขตอารยธรรม ๒ แห่ง นั่นคือ แอ่งอีสานซึ่งรวมเอาเขตวัฒนธรรมในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนครไว้ด้วยกัน และเขตที่ราบลอนลูกคลื่นในภาคกลาง ซึ่งชุมชนทั้งสองเขตนี้มีปฏิสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจนเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของการรับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงการติดต่อระหว่างสองภูมิภาค เช่น สิ่งของเครื่องใช้เนื่องในพิธีกรรมการฝังศพ จำพวกภาชนะดินเผา เครื่องมือโลหะ วัตถุดิบพวกโลหะธาตุต่างๆ ตลอดจนหลักฐานทางด้านจารึกที่พบในสมัยหลัง

 

ด้วยเหตุนี้ ศรีเทพจึงเป็นชุมชนในเส้นทางการเดินทางระหว่างสองเขตวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

 

พัฒนาการสู่ความเป็นเมืองของศรีเทพมีหลักฐานเริ่มแรกที่พบปรากฏในจารึกอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ที่มีการรับวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ และได้สถาปนาระบบผู้นำหรือกษัตริย์ พร้อมๆ กับมีศาสนสถานและลักษณะของเมืองทางกายภาพ รศ.ดร. ธิดา สาระยา  เสนอว่า เมืองศรีเทพในระยะนั้นคือ “เมืองศรีจนาศะ” ที่รุ่งเรืองเป็นเมืองสำคัญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๕ ทั้งสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองและผู้คนที่ใช้ภาษาเขมรแถบต้นน้ำมูลในสมัยก่อนเมืองพระนคร

 

ในขณะเดียวกัน ก็มีการแผ่ขยายวัฒนธรรมแบบทวารวดีทางด้านภาษาและคติความเชื่อที่ปรากฏดังเช่น รูปเคารพต่างๆ เข้าสู่เมืองลพบุรีและเมืองทวารวดีในเขตลุ่มลพบุรี-ป่าสักหลายแห่งและได้เข้าสู่เมืองศรีเทพ

 

ศรีเทพในระยะนั้นจึงรับเอาคติความเชื่ออันมีที่มาทั้งในเขตภาคกลางและในแอ่งโคราชไว้ด้วยกัน จนกล่าวได้ว่าศรีเทพน่าจะอยู่ในเส้นทางผ่านสำคัญของวัฒนธรรมทั้งสองแห่ง คือในเขตวัฒนธรรมทวารวดีที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทและวัฒนธรรมของผู้คนที่ใช้ภาษาเขมรและนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานและศาสนาฮินดู

 

ดังนั้น คติความเชื่อภายในเมืองศรีเทพ จึงแสดงออกอย่างปะปนกันทั้งแบบฮินดู มหายาน และเถรวาท  ดังที่พบหลักฐาน เช่น เทวรูปต่างๆ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ธรรมจักร และศาสนาสถานหลายๆ แห่ง

 

เขาถมอรัตน์ น่าจะเป็น “จุดสังเกต” หรือ “landmark”ของชุมชนโดยรอบมาตั้งแต่ก่อนการรับวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา เพราะเป็นภูเขาขนาดใหญ่ที่สุดในละแวกใกล้เคียง มองเห็นเป็นที่หมายสำหรับนักเดินทางได้แต่ไกล แม้เราไม่อาจทราบว่า คนในยุคนั้นมีความคิดเกี่ยวกับเขาถมอรัตน์อย่างไร เพราะไม่ปรากฏหลักฐาน เช่น การนับถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการทำภาพเขียนสีหรือการขูดขีดลงบนผนังถ้ำ ดังที่ผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์นิยมทำ แต่ความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดสังเกตน่าจะสร้างความสำคัญให้แก่ เขาถมอรัตน์ตลอดมา

 

จนเมื่อเข้าสู่ระยะของการเป็นเมือง  มีการขุดคูน้ำคันดินจนมีลักษณะเมืองทางกายภาพ มีจารึกที่กล่าวถึงผู้ปกครอง และคติความเชื่อแบบฮินดู-พุทธ และพุทธเถรวาท ซึ่งทำให้เกิดความซับซ้อนทางสังคมวัฒนธรรมที่ศรีเทพ น่าจะมีผลต่อความคิดของผู้คนในการอธิบายและให้ความหมาย จุดหมายหรือ landmarkของชุมชนเมืองศรีเทพเปลี่ยนไป

 

“จากการเป็นที่หมายหรือจุดสังเกตของนักเดินทาง ก็น่าจะเพิ่มหน้าที่ในการเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองโบราณศรีเทพในระยะนั้นด้วย”

 

เจดีย์ที่เขาคลังใน  ในเมืองศรีเทพ 

คนแคระแบกปูนปั้นที่ประดับฐานเจดีย์

 

 ดังที่ทราบกันว่า คติฮินดู-พุทธ จะมีมโนทัศน์ในเรื่องโลกศาสตร์หรือจักรวาล อันนำไปสู่ความรู้เกี่ยวกับ โลก ชีวิต ธรรมชาติ จักรวาล และการประพฤติปฏิบัติที่ถูกทำนองครองธรรม

 

จักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางล้อมรอบด้วยทวีปทั้งสี่ ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำ สิ่งมีชีวิตต่างๆ เป็นระบบสัญลักษณ์ที่ถูกค้นคิดอย่างลึกซึ้ง  คติเรื่องเขาพระสุเมรุมีที่มาจากการสั่งสมประสบการณ์ในการเฝ้าดูดวงดาวบนท้องฟ้าของมนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับดาราศาสตร์และนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของสังคม

 

ผู้คนในหลายระบบความเชื่อถือและหลายสังคมถือวา การสร้างสัญลักษณ์หรือรูปเคารพ การไปแสวงบุญนมัสการและการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา วิญญานจะได้รับความคุ้มครองหรือถูกเลือกให้ได้อยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สวรรค์หรือท้องฟ้า นับเป็นความเชื่อที่เป็นสากล

 

คติเรื่องเขาพระสุเมรุ น่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้คนในเมืองศรีเทพ เพราะมีการสร้างรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา ในช่วงเวลานี้เองเขาถมอรัตน์ที่เคยเป็นจุดสังเกตของนักเดินทาง เป็นภูเขาขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล จึงมีหน้าที่เป็นแกนกลางของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่จาริกแสวงบุญของผู้คนภายในพื้นที่และในละแวกใกล้เคียงด้วย

 

ความสำคัญของเขาถมอรัตน์ในระยะต่อมาไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในเรื่องความเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ แต่พบคำว่า “ถมอรัตน์” ถูกนำมาเป็นชื่อของเจ้าเมืองในเขตนี้ ดังมีหลักฐานที่สืบเนื่องจากที่มาของชื่อเมืองศรีเทพ ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้  พระองค์ท่านมีความเห็นว่า เมืองศรีเทพน่าจะอยู่แถบลำน้ำป่าสัก และมีสอบถามเจ้าเมืองวิเชียรบุรีขณะนั้น ได้ความว่า เมืองวิเชียรบุรี เดิมเรียกกันอยู่ ๒ ชื่อ คือ เมืองท่าโรง และ เมืองศรีเทพ มาเปลี่ยนเป็นชื่อเมืองวิเชียรบุรีสมัยรัชกาลที่ ๓ พร้อมทั้งเปลี่ยนนามเจ้าเมืองจาก “พระศรีถมอรัตน์” เป็น “พระยาประเสริฐสงคราม”

 

ดังนั้น เมืองศรีเทพในอดีต จึงไม่น่าจะใช่ชื่อนี้ แต่ที่ควรสนใจคือ ตำแหน่งของเจ้าเมืองที่มีคำว่า “ถมอรัตน์”ปรากฏอยู่  อีกทั้งมีหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา อธิบายเหตุการณ์หนึ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรฯ เมื่อรับสั่งให้ เจ้าเมืองที่ชื่อ “พระศรีถมอรัตน์” และ “พระชัยบุรี” ไปโจมตีพระยาละแวกที่อยู่ในดงพระยากลาง

 

ปราสาทศรีเทพ พบหลักฐานที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ว่าเป็นศาสนสถานแบบฮินดู ที่ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน 

 

เขาถมอรัตน์คงมีความสำคัญเรื่อยมาจนปรากฏเป็นนามของเจ้าเมืองในเขตนี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนเข้าต้นรัตนโกสินทร์ ความสำคัญของเขาถมอรัตน์ในฐานะเป็นภูเขาที่เป็นจุดสังเกต หรือ landmarkตลอดจนทำหน้าที่เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองโบราณที่มีความสำคัญอาจจะคงอยู่เรื่อยมาจนปรากฏเป็นหลักฐานดังกล่าว

 

นับจากนั้นจนถึงปัจจุบันปรากฏว่า ชุมชนในแถบศรีเทพและเขตลุ่มป่าสักมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างเบาบางมาก ในระยะตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงเมื่อไม่นานมานี้ ชุมชนต่างๆ เป็นเพียงหมู่บ้านขนาดเล็กๆ ที่มีผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจากที่อื่น โดยเฉพาะจากแถบจังหวัดลพบุรี เช่น หมู่บ้านบึงนาจาน บ้านสระปรือ บ้านนาตะกุด

 

ที่บ้านศรีเทพน้อย มีการศึกษานิทานท้องถิ่น โดย บุญชนะ ทองแสน นักศึกษามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่พบว่า มีนิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับ “เขาถมอรัตน์” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เขาใหญ่” อยู่เลย แม้แต่ในนิทานที่อธิบายชื่อสถานที่ต่างๆ เขาถมอรัตน์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีความสำคัญทางความเชื่อแต่อย่างใดสำหรับชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านรอบๆ เมืองโบราณศรีเทพ

 

พบเพียงการนับถือ “เจ้าพ่อศรีเทพ” ซึ่งชาวบ้านโดยรอบมีความเชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในเมืองเก่าทั้งที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ จึงทำพิธีเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี เพราะเชื่อว่ามี “ผี” ปกปักรักษาเมืองโบราณแห่งนี้อยู่ และจำเป็นต้องเคารพ ศรัทธา อ้อนวอน เพื่อให้เจ้าพ่อคุ้มครองรักษาผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองโบราณและบริเวณรอบๆ  เจ้าพ่อศรีเทพได้กลายเป็นศาลประจำหมู่บ้านของหมู่บ้านศรีเทพน้อย และขยายมาเป็นศาลประจำหมู่บ้านรอบเมืองโบราณศรีเทพหลายแห่ง

 

สำหรับปัจจุบัน เห็นได้ว่า เขาถมอรัตน์ ได้หมดหน้าที่ในการเป็นจุดสังเกตของนักเดินทางหรือเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเขาพระสุเมรุหรือการเป็นสถานที่เพื่อการแสวงบุญ 

 

ทั้งนี้น่าประเด็นที่น่าสนใจคือ  การเปรียบเทียบระหว่างความเชื่อของชุมชนที่มีความสำคัญในระดับเมืองซึ่งมีความซับซ้อนทางสังคมวัฒนธรรมในอดีต และระบบความเชื่อของหมู่บ้านเล็กๆ ในปัจจุบันที่ต้องการนับถือเพียง “เจ้าพ่อ” หรือ “ผี” เท่านั้น  นับเป็นความเชื่อต่างรูปแบบและต่างหน้าที่กันอย่างแท้จริง

 

เขาถมอรัตน์ จึงเป็นเพียงภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองศรีเทพในอดีตเท่านั้น

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

ธิดา สาระยา. ศรีเทพคือศรีจนาศะรัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กำเนิดและพัฒนาการ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๗

ธิดา สาระยา. ข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองศรีเทพรัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กำเนิดและพัฒนาการ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๗

บุญชนะ ทองแสน. ประเพณีพิธีกรรมและนิทานปรัมปรา :สิ่งสะท้อนถึงระบบความเชื่อในปัจจุบันของชาวบ้าน ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต (มานุษยวิทยา), คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๗

เพ็ญพรรษ์  ดำรงศิริ  การศึกษาศิลปประติมากรรมศรีเทพ  เอกสารการศึกษาสำรวจและวิจัย เล่ม ๑, โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กองโบราณคดี กรมศิลปากร , ๒๕๒๙

วิชัน ตันกิตติกร. ชุมชนก่อนเมืองศรีเทพเอกสารโบราณคดีหมายเลข ๑๙/๒๕๓๔, กองโบราณคดี กรมศิลปากร, ๒๕๓๔

 

 

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ(วารสารเมืองโบราณ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓ กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๒)

อัพเดทล่าสุด 1 ส.ค. 2559, 10:56 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.