หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
อารยธรรมซายฟอง / Say Fong Civilization มรดกประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 15 ก.พ. 2555, 15:24 น.
เข้าชมแล้ว 23352 ครั้ง

ไม่ใช่เฉพาะกรณีกัมพูชานำปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวหรือการนำมหรสพหนังใหญ่ การจีบนิ้วในระบำราชสำนัก ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับองค์การระหว่างประเทศแบบยูเนสโก แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ในระหว่างประเทศแบบรัฐสมัยใหม่ ที่ฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเคยวางรากฐานไว้ก็กำลังกลายเป็นปัญหาซับซ้อนที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ 

 

เพราะวิธีคิดโดยจินตนาการแบบการจำลองความเป็นเจ้าเหนือดินแดนต่างๆ ในรัฐอารักขาสวมเข้าไปในวิธีการเขียนประวัติศาสตร์และสอนประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์แห่งความยิ่งใหญ่ยุคเมืองพระนคร จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่ทำให้ประเทศในดินแดนสุวรรณภูมิจ้องจะตีกันเองแบบที่เกิดระหว่างกัมพูชาและไทยในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่ดินแดนแห่งนี้ไม่เคยมีรูปแบบของ รัฐอาณานิคม [Colonialism] แต่เป็นเรื่องของการเกิด มณฑลแห่งอำนาจและรัฐแบบหลวมๆ [Mandala, in term of historical, social and political sense.] นั่นเอง

 

แบบจำลองอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรต่างๆ ในรูปแบบ มันดาลา [Mandala] ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐

จากบทความของ Georges Maspero เรื่อง “ซายฟอง นครแห่งอดีต” ในวารสาร BEFEO เมื่อ ค.ศ.๑๙๐๓ เขากล่าวถึงว่า มีการค้นพบ เมืองร้างนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๐๒ โดยบรรยายว่า เมืองนี้อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองคุก หรือเวียงคุกในปัจจุบัน และเรียกบริเวณนี้ว่า “ซายฟอง”  จากร่องรอยที่เหลืออยู่ เขาสันนิษฐานว่า เคยเป็นเมืองที่ใหญ่มาก ประกอบด้วยย่านใหญ่ ๓ ย่าน คือ ย่านที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ย่านที่สองขนานกับย่านแรก ย่านที่สามตั้งฉากกับแม่น้ำและอยู่ติดกับทั้งสองย่านแรก ตรงกลางเมืองเป็นที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ ชาวบ้านเรียกว่า “สะพานเขมร” เมืองโบราณได้รับการดูแลดีกว่าที่อื่น ส่วนสุดทางด้านตะวันตกมีทะเลสาบ  ที่แห่งนี้ Maspero อ้างว่าเขาพบจารึก ๓ หลัก และรูปปั้นขนาดสูง ๔๐ เซนติเมตร กว้าง ๓๐ เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่นครวัด ทำจากหินทรายเนื้อละเอียดซึ่งไม่พบในแถบเวียงจันทน์  และพบว่าหลักแรก ทั้ง ๔ ด้านจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ข้อความสั่งให้สร้างโรงพยาบาล คล้ายกับที่เคยพบในกัมพูชา ซึ่งหมายถึงจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ให้สร้างอโรคยศาลหรือโรงพยาบาล ส่วนจารึกที่เหลืออีก ๒ หลัก จารึกด้วยภาษาลาว

 

จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เรื่องอโรคยศาล เก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว เวียงจันทน์ในปัจจุบัน เนื้อความในจารึก

แทบจะเหมือนกับที่พบที่พิมาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ

จารึกที่ Maspero อ้างว่าพบนี้ คือ จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ระบุศักราชราว พ.ศ.๑๗๒๙ เมื่ออ่านแล้วพบว่า รูปแบบหลักหินจารึกสลักลงทั้งสี่ด้าน ภาษาสันสกฤต อักษรขอมโบราณ และข้อความเรื่องการสร้างโรงพยาบาลหรืออโรคยศาลคล้ายคลึงกับจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งพบเมืองพิมาย, ด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์, ปราสาทตาเมียนโตจ, ที่อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ และกู่บ้านหนองบัว จังหวัดชัยภูมิ และเพิ่งพบอีก ๒ หลักที่จังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อไม่กี่ปีมานี้

 

จากรึกจากซายฟองปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว ในกรุงเวียงจันทน์ ส่วนรูปปั้นนั้น น่าจะหมายถึงรูปสลักจากหินทรายแบบลอยตัวที่เชื่อว่าเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  ที่ยังคงสมบูรณ์กว่าที่พบแห่งอื่นๆ ในอีสาน และปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วิหารคดรอบพระธาตุหลวง เวียงจันทน์     

 

หลุยส์ ฟีโนต์[Louis Finot] ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เขียนบันทึกที่ให้ข้อสังเกตว่า จารึกหลักนี้คือหลักฐานพยานสำคัญที่ทำให้เห็นถึงการมีอยู่ของ “กัมพูชา” ที่อยู่ไกลเกินกว่าฐานข้อมูลของเอโมนิเยร์ (Étienne François Aymonier ผู้เดินทางสำรวจโบราณสถานแบบเขมรในกัมพูชา ไทย ลาวและตอนใต้ของเวียดนามอย่างเป็นระบบคนแรกและเป็นผู้เชียวชาญการอ่านจารึกโบราณด้วย งานของเขาพิมพ์เป็นชุด ๓ เล่ม เมื่อช่วงปี ค.ศ.๑๙๐๐-๑๙๐๔)ซึ่งเอโมนิเยร์กล่าวว่าโบราณสถานแบบเขมรอยู่เหนือสุดที่สกลนครที่ระนาบ ๑๗ องศา ๑๐ ลิปดา เหนือ (น่าจะเป็นกู่บ้านพันนา) อย่างไรก็ตาม ในบันทึกช่วงปีนั้น [BEFEO III,1903] เขาก็ยังไม่ปักใจนักเพราะจารึกแห่งเมืองซายฟองนี้อาจนำมาจากที่อื่นก็ได้

 

จากการค้นพบของ Maspero ดังกล่าวและการนำเสนอบทความของFinot ก็เพียงพอที่จะถูกสืบต่อมาเรื่อยๆ ว่า อำนาจทางการเมืองของเขมรสามารถควบคุมลุ่มน้ำโขงทั้งหมดได้ และอำนาจจากอาณาจักรอันเข้มแข็งและยิ่งใหญแผ่ขึ้นมาเหนือสุดที่เมืองซายฟอง

 

การนำเสนอนี้คือปัญหาทางวิชาการ เนื่องจากสร้างความชอบธรรมแก่ฝรั่งเศสที่ยึดครองลาวได้แล้ว และกัมพูชาที่พนมเปญและกำลังพยายามขอเสียมเรียบและจังหวัดอื่นๆ ที่สยามครอบครองอยู่ ความเคลือบแคลงนี้มีการวิเคราะห์ต่อมาอย่างมากมายถึงบทบาทดังกล่าว เพราะการเป็นนักสำรวจ นักวิชาการของชาวฝรั่งเศสนั้นอยู่ในฐานะของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายอาณานิคมด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แม้จะดูลึกลับและมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยในช่วงแรก แต่การศึกษาและแปลความจากจารึกปราสาทพระขรรค์ของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ทั้ง หลุยส์ ฟีโนต์ และ ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์ [Lunet de Lajonquiere]  ก็ระบุว่า มีเส้นทางสำคัญ ๕ สาย คือ จากเมืองพระนคร-พิมาย, พระนคร-วัดภู, พระนคร-สวายจิก, พระนคร-ปราสาทพระขรรค์ที่กำปงสวาย และพระนคร-กำปงธม รวมทั้งเขียนแผนผังแนวถนนโบราณจากร่องรอยของจารึกและจำแนกลักษณะโบราณสถานในแนวเส้นทางจากนครธมไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก

 

และเมื่อประกอบกับหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุ ทั้งอโรคยศาล ธรรมศาลา จารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ พระพุทธรูปนาคปรก พระไภสัชยคุรุ ฯลฯ ก็กลายเป็นแม่บทให้กับนักศึกษารุ่นหลังเพื่ออ้างความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์พระองค์นี้ตามๆ กันมา โดยเน้นสร้างความยิ่งใหญ่ให้เหนือจริงเพื่อเหตุผลทางการเมืองทั้งในยุคอาณานิคมโดยฝรั่งเศส ด้วยจินตนาการของประเทศแม่อาณานิคมที่ต้องกอบกู้ บอกเล่าอาณาจักรเมืองพระนครที่สูญสลายไป เป็นตัวแทนถึงประเทศฝรั่งเศสที่ยิ่งใหญ่ และสืบทอดสู่หลังยุคอาณานิคมโดยเฉพาะจากกัมพูชาด้วยเหตุผลในการสร้างชาตินิยมเพื่อความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (อ่านPost / Colonial Discourses on the Cambodian Court DanceSasagawa Hideo. SoutheastAsianStudies, Vol.42, No.4, March 2005 / ฉบับแปล http://lek-prapai.org/watch.php?id=466)

 

อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจปฏิเสธถึงการมีอยู่ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ไปได้ และโบราณสถานในรูปแบบอโรคยศาลหรือสถานพยาบาลที่เป็นศาสนสถานด้วยมีอยู่ถึง ๒๓ แห่ง ไม่นับรวมธรรมศาลาอีกจำนวนหนึ่งในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่การกล่าวถึงอำนาจทางการเมืองโดยนัยะของ “กัมพูชา” ที่ประกาศตามนักวิชาการชาวฝรั่งเศสข้างต้นว่า อาณาจักรขอมแห่งเมืองพระนครมีอำนาจกว้างไกลไปจรดบ้านเมืองต่างๆ ที่ปรากฏชื่อในจารึกปราสาทพระขรรค์นั้น เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเหมือนการเป็นเจ้าอาณานิคมในยุคนั้นที่มี “อำนาจทางการเมือง” เหนือบ้านเมืองอื่นๆ เช่น จามปาในเวียดนาม ภาคกลางของประเทศไทย ไปจนถึงเวียงจันทน์ที่ซายฟอง โดยใช้หลักฐานศิลปกรรมแบบขอมที่ปรากฏในศาสนสถานและวัตถุ ซึ่งดูจะเป็นการมองแบบหยุดนิ่งและผิดไปมาก เพราะรูปแบบของปริมณฑลอำนาจแบบมันดาลานั้นมีการศึกษาชัดเจนและยอมรับโดยแทนที่วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมแล้วในเวลาต่อมา (ศึกษาความสัมพันธ์ของบ้านเมืองในระยะเริ่มแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากงานของ Wolters, O.W. History, Culture and Region in Southeast Asian Perspectives. Institute of Southeast Asian Studies, Revised Edition, 1999.)

 

แต่สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือ “มรดกการศึกษาทางประวัติศาสตร์จากยุคอาณานิคม” ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในรายรูปแบบการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศอินโดจีนของฝรั่งเศสในอดีต และถูกนำไปใช้จนกลายเป็นประเด็นทางการเมือง และแม้กระทั่งการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน และไม่เคยตกเป็นรัฐในอาณานิคมแต่อย่างใด ก็ยังรับนำเอาอิทธิพลของการศึกษาแบบอาณานิคมมาใช้จนฝังรากลึกเสียจนยากจะแก้ไข

 

กรณีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้จะผ่านช่วงเวลาแห่งการบีบคั้นในฐานะรัฐในอาณานิคมของฝรั่งเศสและต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวลาวมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่ยังปรากฏอยู่อย่างเด่นชัดคือ การรับเอาแนวคิดการเขียนประวัติศาสตร์ [Historiography] แบบยุคอาณานิคมมาใช้ในปัจจุบัน  เอกสารทางการจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเรื่อง “ความเป็นมาของนครหลวงเวียงจันทน์”   พิมพ์ในวาระเฉลิมฉลองเวียงจันทน์ ๔๕๐ ปี เมื่อไม่นานมานี้ แบ่งประวัติเวียงจันทน์เป็น ๕ ยุค คือ เวียงจันทน์ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบองหรือศรีโคตรบูรณ์ (คริสตศตวรรษที่ ๑–๑๐) เวียงจันทน์สมัยซายฟอง (เมืองหาดซายฟอง) ในคริสตศตวรรษที่ ๑๒ เวียงจันทน์สมัยอาณาจักรลาวล้านช้าง (ค.ศ. ๑๓๕๓–๑๕๖๐) เวียงจันทน์ในสมัยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเวียงจันทน์สมัยราชอาณาจักรลาว

 

โดยนักวิชาการลาวเสนอว่า คนในเวียงจันทน์ในสมัยแคว้นศรีโคตรบอง เป็นเมืองส่วยของจามและเขมร หากเขมรมีความขัดแย้งภายในหรือมีสงครามกับพวกจาม แคว้นศรีโคตรบองก็แข็งข้อต่อเขมร  จนถึงยุคซายฟองจึงขึ้นต่อเขมรในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เมื่ออำนาจเขมรลดลงเวียงจันทน์จึงเป็นอิสระจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ แต่นักวิชาการเช่น  สุเนตร โพธิสารเสนอว่า รูปแบบศิลปะแบบซายฟองนี้เป็นสิ่งที่พัฒนาการขึ้นในบริเวณนี้มากกว่ารับอิทธิพลมาจากเขมร พัฒนาการของท้องถิ่นในช่วงรัฐเริ่มแรกเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับวัฒนธรรมแบบเขมร และได้รับอิทธิพลทั้งแบทวารวดีและเขมร

 

ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์แบบวิวัฒนาการ โดยมีอาณาจักรใหญ่แห่งหนึ่งเป้นเจ้า และการเป็นบ้านเมืองในอำนาจทางการเมืองหรือในการอารักขา ดังที่ดินแดนแถบแม่น้ำโขงคือส่วนที่อำนาจทางการเมืองจากอาณาจักรเขมรมีอยู่เหนือสุด และเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ในธรรมเนียมเดิมที่กล่าวได้ว่า รับอิทธิพลจากการเขียนประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมมาอย่างชัดเจน

 

การศึกษาประวัติศาสตร์ลาวยุคโบราณนอกเหนือไปจากงานของมหาสิลา วีระวงศ์ ในช่วงยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ใช้ตำนาน พงศาวดารเป็นหลักฐานสำคัญ ก็จะมีผู้มีความสนใจในประวัติศาสตร์ เช่น มหาบุนมี เทบสีเมือง และมีนักโบราณคดีที่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศสบางท่าน แต่สำหรับการศึกษาแบบประวัติศาสตร์สมัยใหม่แล้ว นอกจากนักวิชาการต่างชาติจำนวนไม่น้อยรวมทั้งนักประวัติศาสตร์ลาวสนใจประวัติศาสตร์ลาวในช่วงหลังอาณานิคมหรือช่วงหลังสงครามกู้เอกราช และส่วนใหญ่มักได้รับอิทธิพลการเขียนงานแบบตะวันตกเนื่องจากได้รับการศึกษาในต่างประเทศ เน้นเรื่องราวการศึกษาเหตุการณ์สร้างชาติลาวสมัยใหม่หลังจากสงคราม เช่น ในการตรวจสอบการค้นหาการสร้างอัตลักษณ์ กลุ่มชาติพันธุ์ การเมืองของการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผ่านการศึกษาในอดีตนั่นเอง   

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นละเอียดย่อย เช่น อิทธิพลของอำนาจทางการเมืองของเขมรในลาวนั้นก็ยังไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร  เช่น งานประวัติศาสตร์ลาวของ Martin Stuart-Fox ก็ยังคงใช้ข้อมูลเรื่องอำนาจของเขมรที่ซายฟองในการแบ่งยุคสมัยทางประวติศาสตร์เป็นเรื่องปกติ

 

เมื่อสงครามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มสงบลง สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ, Ecole française d'Extrême-Orient [EFEO] เริ่มกลับมาเปิดสำนักงานในภูมิภาคอินโดจีนแต่เดิมตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๘๙ และเปิดสำนักงานที่ลาวเมื่อ ค.ศ.๑๙๙๓ สถาบันนี้สนใจศึกษาวิจัยในหัวข้อ เช่น จารึกและตำนานรวมถึงเอกสารต่างๆ ที่พบในลาว การศึกษาด้านวรรณกรรม การศึกษาทางโบราณคดีและประติมานวิทยาพวกโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาในลาว รวมไปถึงการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ

 

Michel Lorrillard  นักวิจัยจากสำนักงาน EFEO ที่เวียงจันทน์ ทำงานศึกษาในลาวมานานและมีหนังสืองานวิจัยจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรที่เข้าสู่ลาว โดยเฉพาะเรื่องราวจากซายฟอง โดยกล่าวถึงการแบ่งยุคสมัยในประวัติศาสตร์ลาว หรือเรียกชื่อวัฒนธรรมเขมรแบบบายนซึ่งเชื่อว่าเป็นหลักฐานอำนาจทางการเมืองจากเขมรที่ขยายมาจนสุดเหนือสุดที่เวียงจันทน์ว่า “อารยธรรมซายฟอง” บ้าง “ยุคซายฟอง”บ่้าง หรือ “ศิลปะแบบซายฟอง” บ้าง [Say Fong civilization, Say Fong period, Say Fong art] และเขาเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล่าหรือตำนานที่ไม่ควรเชื่อถือแต่อย่างใด โดยเขียนบทความมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๑ เพราะเขาไม่พบร่องรอยโบราณสถานแบบเขมรแต่อย่างใดในเขตบริเวณบ้านซายฟอง

           

รูปสลักลอยตัว สันนิษฐานว่าเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

พบที่พิมาย

แต่เขาเสนอว่า ทั้งจารึกและรูปสลักลอยตัวพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ น่าจะนำมาจากอโรคยศาลที่ใกล้เวียงจันทน์ที่สุด คือที่ “กู่บ้านพันนา” ในอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ดังที่เอโมนิเยร์สำรวจในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมา และฟิโนต์ก็ยังบันทึกในบทความร่วมสมัยไม่มั่นใจว่าจารึกนั้นอยู่ที่บ้านซายฟองแต่เดิมหรือไม่  Lorrillard ให้เห็นเหตุผลว่า จากการสำรวจที่บริเวณบ้านซายฟองไม่พบร่องรอยหลักฐานที่เป็นศาสนสถานแบบเขมรหรือเก่าไปจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังปรากฏในอายุในจารึกแต่อย่างใด เขาเห็นว่า น่าจะมีการขนย้ายมาจากอโรคยศาลที่ใกล้ที่สุดและเป็นปลายสุดของเส้นทาง “ราชมรรคา” คือที่กู่บ้านพันนา เพราะที่บ้านพันนานั้นไม่พบโบราณวัตถุสำคัญที่มักเป็นส่วนประกอบสำคัญของอโรคยศาล เช่น พระพุทธรูป จารึก ฯลฯ คงพบเพียงศาสนาสถานแบบอโรคยศาลเท่านั้น และควรจะนำมาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ในช่วงที่เมืองซายฟองเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญคู่กับเมืองเวียงคุกที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็ยังคงใช้แนวทางสมมติฐานแบบฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้คือ “อำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผ่ขยายสู่บ้านเมืองต่างๆ ตามเส้นทางราชมรรคา”

 

กรมศิลปากรขุดค้นที่กู่บ้านพันนาเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๒ พบโบราณวัตถุสำคัญ เช่น เศียรพระวัชรธร ชิ้นส่วนพระโพธิสัตว์วัชรปราณีทรงครุฑ พระยมทรงกระบือ พระกรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และไม่พบร่องรอยวัตถุพวกจารึกหรือรูปสลักอื่นๆ แต่อย่างใด เป็นไปได้มากที่วัตถุอื่นๆ ที่มีพร้อมกับอโรคยศาลถูกเคลื่อนที่นำไปไว้ในสถานที่อื่นๆ    

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เพียง Lorrillard ที่เคยตามหา “เมืองซายฟอง” เท่านั้น นักวิชาการชาวต่างประเทศที่เข้ามาศึกษาเรื่องการจัดการมรดกวัฒนธรรมเมืองเวียงจันทน์ก็พยายามค้นหาเมืองซายฟองตามข้อมูลที่เสนอโดย Maspero เช่นกัน , ANNA KARLSTRÖM สำรวจและขุดหลุมทดสอบทางโบราณคดี [Test pit excavation] เมื่อปลาย ค.ศ.๒๐๐๓ และเขียนรายงานไว้ในเอกสาร Preserving Impermanence the Creation of Heritage in Vientiane, Laos[Department of Archaeology and Ancient History Uppsala University, 2009]  งานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับการปกป้องรักษามรดกทางวัฒนธรรมในเวียงจันทน์ สำหรับบริเวณบ้านซายฟองเหนือและใต้ มีการสำรวจทางโบราณคดี สัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่าจากชาวบ้านและขุดค้นหลุมทดสอบทางโบราณคดี 

 

KARLSTRÖM รายงานว่า ที่ซายฟอง สำรวจพบทรากวัดร้างราว ๓๐ แห่ง แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างเล่าว่าบริเวณมีวัดอยู่ถึง ๓๐๐ แห่ง ที่ฝั่งเวียงคุกแม้เรียกว่า “เมืองใหญ่ซายฟอง” แต่มีวัดราวๆ ๘๐ แห่ง ที่เหลืออยู่ที่ฝั่งนี้ และไม่มีคำบอกเล่าใดเลยที่เกี่ยวข้องกับเขมร แต่เรื่องราวนั้นสัมพันธ์กับท้องถิ่นในพุธศตวรรษที่ ๒๑ เท่านั้น

 

เธออ้างอิงถึงเอกสารจากพ่อค้าชาวดัชท์ที่มายังลาวในช่วง พ.ศ.๒๑๘๔-๒๑๘๕ และกล่าวว่า “เวียงคุก” เป็นสถานีใหญ่ในการขนถ่ายสินค้าจากลาวสู่เมืองโคราช ทำให้เป็นที่พักของพ่อค้าจากต่างถิ่นมากมายและเป็นเช่นนี้จนกระทั่งส่งต่อเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อราวทศวรรษที่ ๒๔๐๐ อีกเมืองที่สำคัญคือ ศรีเชียงใหม่ ที่อยู่ตรงข้ามเวียงจันทน์ ทำให้ทราบว่าช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ เวียงคุก ท่าบ่อ ซายฟอง ศรีเชียงใหม่เป็นเมืองการค้าที่สำคัญ มีตำนานเขียนเป็นภาษาบาลีและภาษาลาวโบราณในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (ตำนานเมืองซายฟอง / ซึ่งมีอยู่ในรวมประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๐ ตำนานนี้เขียนขึ้นตามขนบราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ มีการกล่าวถึงกำเนิดบ้านเมืองต่างๆ และพระพุทธเจ้าเสด็จเลียบโลก)

 

หลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้น ไม่อาจบอกได้ว่ามีเมืองหรือการอยู่อาศัยในวัฒนธรรมเขมร และไม่มีร้องรอยของอโรคยศาลที่นี่แต่อย่างใด มีการอยู่อาศัยเล็กน้อยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ สันนิษฐานจากใบเสมาซึ่งก็ยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัด และวัดร้างส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในช่วงอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ 

 

โบราณสถานเป็นเจดีย์รุ่นพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ที่บ้านซายฟอง และฝั่งตรงข้ามคือเวียงคุก

ยืนยันในการเป็นเมืองคู่สองฝั่งโขงในสมัยโบราณ

เมื่อเดินทางสำรวจทางโบราณคดีในแถบภูพานคำ พระบาทบัวบาน-บัวบก ที่กรมศิลปากรเรียกว่าภูพระบาท เมืองพานที่บ้านหนองกาลึมซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระครูหลวงโพนสะเม็กหรือญาคูขี้หอม  และต่อเนื่องไปจนถึงท่าบ่อ พานพร้าว เวียงคุก เวียงจันทน์ จนถึงที่ราบลุ่มน้ำงึม บริเวณที่เรียกว่า เวียงคำหรือเมืองไผ่หนาม จนทำให้เห็นข้อสังเกตพ้องกับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องเมืองเวียงจันทน์และลาวทั้งสองท่านดังกล่าว

 

จนเดินทางไปสำรวจที่แถบบ้านซายฟอง ซึ่งอยู่ในระหว่างพื้นที่คดโค้งของแม่น้ำโขง พื้นที่ทั่วไปมีสภาพของหนองบึงและที่ลุ่มอันเกิดจากการตกตะกอนของแนวชายหาดโค้ง บริเวณนี้จึงเป็นหมู่บ้านชนบทของเมืองเวียงจันทน์ เนื่องจากเมื่อข้ามสะพานไทย-ลาว จากนครพนมก็วิ่งตัดตรงสู่เวียงจันทน์โดยผ่านหมู่บ้านริมชายฝั่งเหล่านี้ไป และไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องจากการอยู่อาศัยในช่วงร่วมสมัยกับการสร้างอโรคยศาลแต่อย่างใด คงมีแต่วัดร้างและร่องรอยของชุมชนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ลงมา

 

เสมาหินที่เมืองไผ่หนามหรือเวียงคำ ในวัฒนธรรมแบบทวารวดีตอนปลาย บริเวณใกล้เขื่อนน้ำงึม

เอกสารในตำนานท้องถิ่นจากฝั่งไทย เช่น จากจารึกที่วัดบางแห่งในอำเภอโพนพิสัยหรือเมืองปากห้วยหลวง ตำนานวัดในใบลานบางแห่ง เรียกเมืองริมน้ำโขงทั้งสองฝั่งบริเวณนี้เป็นเมืองคู่ว่า “เมืองคุกชายฟอง” เมืองท่าบ่อ ศรีเชียงใหม่ พานพร้าว ปะโค เมืองคุกชายฟอง จนถึงเมืองปากห้วยหลวงหรือโพนพิสัยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของบ้านเมืองแถบนี้ร่วมกับเมืองอื่นๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงและปรากฏชื่อบ้านนามเมืองในตำนานอุรังคธาตุซึ่งอยู่ในเขตสองฝั่งโขงอีกหลายแห่ง

 

การเป็นเมืองคู่นี้น่าจะเป็นธรรมเนียมปกติของบ้านเมืองในแถบนี้ จารึกสุโขทัยเรียกชื่อ “เวียงจัน-เวียงคำ” ซึ่งหลายท่านก็สันนิษฐานว่า เวียงคำน่าจะเป็นเมืองไผ่หนามในตำนานและอยู่ที่ต้นที่ราบลุ่มแม่น้ำงึม ช่วงก่อนจะเข้าเขตเทือกเขาสูงซึ่งเป็นเส้นทางเดินทางสู่หลวงพระบาง และมีตำนานเรื่องพระบางและพระเจ้าฟ้างุ้มก่อนจะรวบรวมบ้านเมืองเป็นอาณาจักรล้านช้างในเวลาต่อมา คนในท้องถิ่นแถบเวียงจันทน์รับรู้เรื่องราวในตำนานเวียงคำนี้เป็นอย่างดี

 

กรณีการเป็นเมืองคู่นี้ ในสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา บ้านเมืองล้านช้างมีอาณาเขตทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงและเป็นเมืองคู่ตลอดมา ความสัมพันธ์ของคนสองฝั่งโขงคือเครือญาติพี่น้อง อพยพข้ามไปข้ามมาจนเป็นเรื่องปกติ และเมืองเวียงจันทน์ก่อนที่จะถูกสยามข้ามไปเผาเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นคู่กับเมืองพานพร้าวที่ศรีเชียงใหม่ กระทั่งฝรั่งเศสเข้ามายึดครองลาวและทำสนธิสัญญาแบ่งเขตลากเส้นพรมแดนประเทศจนส่งผลถึงปัจจุบัน

 

แต่ สิทธิพร ณ นครพนมนักวิชาการท้องถิ่นที่เขียนเรื่องเมืองหนองคายเชื่อว่าซายฟองคือเมืองเวียงคำที่เป็นเมืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗  แต่ให้คู่กับเมืองเวียงคุกและสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกัน เพราะพบหลักฐานการเป็นบ้านเมืองสำคัญในบริเวณเมืองเวียงคุกมากมาย เพราะพบวัดร้างและโบราณสถานกว่า ๑๐๐ แห่ง มีอาณาเขตกว้างขวางและอุดมสมบูรณ์รวมทั้งพระธาตุสำคัญของคนสองฝั่งโขงก็ประดิษฐานอยู่ที่นี่คือ พระธาตุบังพวน ที่กษัตริย์ลาวทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่โตเรื่อยมาทั้งสมัยพระเจ้าแสนหล้าและพระเจ้าไชยเชษฐา

        

เทวรูป แลพระพุทธรูปนาคปรก อิทธิพลวัฒนธรรมเขมร 

ภาพถ่ายจากการสำรวจของวารสารเมืองโบราณ พ.ศ.๒๕๑๙

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าไปสำรวจบริเวณเมืองเวียงคุก จึงพบว่ามีหลักฐานร่องรอยของบ้านเมืองที่เก่ากว่ายุครุ่งเรืองในการเป็นศูนย์กลางการค้าขายในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒  วารสารเมืองโบราณไปสำรวจและถ่ายภาพที่สำคัญมากมายในปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ พบเทวรูป พระพุทธรูป ที่วัดยอดแก้ว วัดเทพพลประดิษฐานราม และเสนอว่าน่าจะอยู่ในช่วงลพบุรีตอนปลายต่อเนื่องกับล้านช้าง

 

จากการสำรวจเพิ่มเติม ทำให้พบว่า ยังพบหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องกับแบบศิลปะลพบุรีที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นต้นมา ซึ่งน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมเขมรแบบบายนที่ส่งอิทธิพลมาถึงบ้านเมืองสองฝั่งโขงในแถบเวียงจันทน์และหนองคายในบริเวณนี้ได้

 

ชิ้นส่วนประดับโบราณสถานในอิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมร พบที่วัดเทพพลฯ เวียงคุก

บริเวณวัดเทพพลฯ นั้น มีร่องรอยของฐานศาสนสถานแบบเขมรอยู่แน่นอน เช่น ก้อนศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม สระน้ำขนาดเล็ก กลีบขนุนที่ทำจากหินทรายและนำไปใช้เป็นใบเสมาในปัจจุบัน แต่ถูกเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่จนแทบไม่อาจสังเกตเห็น

 

 นอกจากนี้ พระพุทธรูปขนาดเล็กที่พบยังปรากฏรูปแบบจากใบหน้าและการแกะสลักที่ทำให้เห็นว่าเป็นฝีมือช่างแบบท้องถิ่น เช่นเดียวกับฝีมือช่างของการรูปสลักจากหินทรายลอยตัวรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่เก็บรักษาไว้ที่ระเบียงคดรอบพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเปรียบเทียบจากรูปสลักที่พบจากกีเมต์และพิมายแล้วจะเห็นฝีมือที่เกิดจากการเลียนแบบได้ชัด

 

รูปสลักจากหินทรายลอยตัว น่าจะเป็นรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แต่รูปลักษณ์เป็นแบบท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ทางฝั่งเวียงคุก พบหลักฐานที่เราเรียกว่าศิลปะแบบลพบุรีมากมายหลายชิ้น รวมทั้งโบราณสถานที่น่าจะเป็นรูปแบบเรื่องในวัฒนธรรมเขมรแม้จะไม่ชัดเจนนัก แตกต่างจากฝั่งซายฟองที่แทบไม่พบร่องรอยอื่นใดแม้จากการสำรวจและขุดค้นหลุ่มทดสอบก็ตาม

 

หากเราใช้วิธีหาข้อสรุปเพื่อกล่าวว่า ที่จริงแล้วศาสนสถานเนื่องในวัฒนธรรมเขมรน่าจะอยู่ที่เวียงคุก ฝั่งประเทศไทย ก็คงเป็นการเดินตามรอยการยื้อแย่งความสำคัญหรือสร้างความเชื่อในเรื่องท้องถิ่นนิยมตามแบบประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมที่สร้างกับดักทางความคิดเช่นนี้เสมอ การจะไปกล่าวหาว่านักวิชาการชาวฝรั่งเศสในยุคสมัยหนึ่ง “ยกเมฆ” เพื่อเหตุผลในทางการเมืองใดๆ ก็ตามก็คงไม่สมควรเช่นกัน

 

แต่กรณีเรื่องราวของเวียงคุกที่อยู่ในห้วยคุก บ้านเมืองริมโขงทางฝั่งไทยที่ห้วยน้ำโมงซึ่งต่อเนื่องไปจนถึงภูพานคำและหนองบัวลำภูจนกระทั่งถึงต้นน้ำชี ซึ่งมีท้องถิ่นที่สำคัญและรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรรวมทั้งวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางนั้นเป็นเส้นทางที่สำคัญที่จะถอดรหัสการมีอยู่ของท้องถิ่นที่มีชุมชนในสมัยทวารวีดตอนปลาย ชุมชนที่มีใบเสมาและพระพุทธรูปยืนที่มีอิทธิพลแบบทวารวดีร่วมสมัยกับอิทธิพลแบบเขมร อย่าง “พระบาง” และพระพุทธรูปในอีกหลายๆ แห่งที่พบในเขตเวียงจันทน์และเหนือขึ้นไปในที่ราบลุ่มน้ำงึมดังกล่าว

 

พระพุทธรูปปางทำจากหินทรายสมาธิขนาดเล็ก

พระพักต์เป็นอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ฝีมือแบบท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ชิ้นส่วนใบเสมาและพระพุทธรูปแบบนาคปรก เก็บรักษาไว้ตามวัดต่างๆ ในเวียงคุก

โดยเฉพาะ “ใบเสมา” ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ศึกษาและจัดกลุ่มไว้อย่างชัดเจน จะขาดข้อมูลไปก็คือในพื้นที่ทางอุดรธานีและหนองคายต่อเนื่องไปจนถึงที่ราบลุ่มน้ำงึม ซึ่งในระยะก่อนหน้านั้นไม่สะดวกนักที่จะเดินทางเข้าไปสำรวจที่ลาว ทำให้ยังไม่เห็นภาพชัดเจน

 

หากนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาทั้งหมดใหม่ ก็จะเห็นภาพของพลวัตรบ้านเมืองที่ห่างไกลศูนย์กลางอำนาจที่เมืองพระนคร แต่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากทั้งเขมรและแบบทวารวดี จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่น โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นรัฐในอารักขาของเขมร เหมือนกับที่ประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมมักจะวิเคราะห์ไปในทิศทางดังกล่าว

 

เมืองซายฟอง จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเขตอิทธิพลเหนือสุดของอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ดังที่เกิด “ความเชื่อ” ที่หวลกลับมาอีกครั้งหนึ่งในสำนึกทางประวัติศาสตร์ของชาวกัมพูชาปัจจุบัน และหากกลาวถึงเมืองซายฟองโดยหรี่ตาไม่นำเอาเมืองคู่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามและยังคงมีหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากมากล่าวด้วยก็คงเป็นการเลือกปฏิบัติในประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติสมัยใหม่ ที่เลือกเฉพาะพื้นที่ในขอบเขตเส้นแบ่งพรมแดน ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของบ้านเมืองสองฝั่งโขงนั้นไร้พรมแดนตลอดมา แม้จนทุกวันนี้ที่ผู้คนทั้งสองฝั่งยังคงเป็นเครือญาติ ไปมาหาสู่กันในบางกลุ่ม

 

บ้านเมืองที่มีความเคลื่อนไหวเหล่านี้ สัมพันธ์กับ “แคว้นศรีโคตบูร” ซึ่งเป็นบ้านเมืองสองฝั่งโขงก่อนสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มและล้านช้าง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แถบหนองหารสกลนคร อันเป็นเมืองใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมเขมร ต่อเนื่องสัมพันธ์กับจามปาที่ริมทะเลในแถบเวียดนามตอนกลางด้วย

 

สิ่งเหล่านี้ปรากฏร่องรอยในตำนานอุรังคธาตุและโบราณสถานและวัตถุหลายแห่งในเขตอีสานตอนเหนือและสองฝั่งโขง

 

ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันู์ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๙๓ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๕)

อัพเดทล่าสุด 10 ต.ค. 2561, 15:24 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.