หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
‘ หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม ’
บทความโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
เรียบเรียงเมื่อ 26 ก.พ. 2559, 14:43 น.
เข้าชมแล้ว 15797 ครั้ง

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวนำ ‘ หนังใหญ่ มหรสพหรือพิธีกรรม ’ ที่ลานสนามชัย

หน้าพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท เมืองโบราณ

 

คำว่าหนังที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ว่า ‘ภาพยนตร์ ’ ต้นกำเนิดมาจากคำว่า ‘หนัง ’ ที่กำลังจะดูต่อไป พื้นฐานมาจากวิธีเล่นเงา เมื่อหนังญี่ปุ่นหรือหนังฝรั่งเข้ามาในยุคแรกๆ ร่วมสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เอาคำว่า ‘ หนัง’ จากหนังใหญ่หรือหนังตะลุงไปเรียกว่าหนัง แล้วสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

หนังสมัยเก่ามีอยู่ ๒ กลุ่ม คือ หนังใหญ่และหนังเล็ก หนังเล็กก็คือหนังตะลุง คนปักษ์ใต้พยายามจะบอกว่าเป็นสมบัติของคนปักษ์ใต้ เพราะชื่อ ‘ ตะลุง ’ มาจาก ‘ พัทลุง ’ ขอให้เข้าใจด้วยว่า คำว่า ‘ ตะลุง ’ นั้น มาจากเสียงกลองที่ใช้คู่กันเล่นหนัง บางทีเขาเรียนว่า ‘ กลองตุ๊ก ’ เพราะฉะนั้นไม่ได้เกี่ยวกับชื่อเมือง ‘ พัทลุง ’ หนังตะลุงเล็กๆ มีทั่วไป แถวอีสานก็มี ถามว่าหนังตะลุงกับหนังใหญ่ใครมาก่อน ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าดูเรื่องที่เล่นมักจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์ หนังตะลุงจะต้องมาทีหลังหนังใหญ่ เพราะเรื่องรามเกียรติ์ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านเป็นเรื่องของราชสำนัก

 

ทำไมถึงเรียกว่าหนังใหญ่ ก็เพราะตัวมันใหญ่ ใหญ่เท่าควาย โบราณนั้นเขาต้องฆ่าควายหรือวัวทั้งตัวแล้วเอามาสร้างหนังใหญ่ได้ ๑ ตัว ดังนั้นคนธรรมดาจึงไม่มีสิทธิ์ทำหนังใหญ่อยู่แล้ว ขณะที่หนังตะลุงก็คือการย่อส่วนหนังใหญ่

 

ในการแสดงในแง่ของการเปรียบเทียบปัจจุบันแล้ว หนังใหญ่รวมกระทั่งหนังตะลุงด้วย คำว่าหนังคล้ายๆ กับภาพประกอบหนังสือ จะสังเกตเห็นว่าหนังใหญ่นี้เห็นแต่ด้านข้าง ไม่มีด้านหน้า ไม่มีด้านหลัง คือไม่มีมิติแบบสามมิติ มีมิติเดียวคือด้านข้าง เหตุมาจากการเลียนแบบภาพสลักของประติมากรที่สลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ไว้ หากถามว่าหนังใหญ่นี้เล่นที่ไหนบ้าง จะพบว่าที่อินโดนีเซียเรียกว่า ‘ วาหยัง ’ แสดงเรื่องมหาภารตะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพยายามแต่งบทขึ้นมาที่เรารู้จักกันดีว่า สมุทรโฆษคำฉันท แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีตัวหนังและไม่เคยเล่นด้วย

 

ในส่วนขององค์ประกอบของหนังใหญ่หนังตะลุงนั้น ข้อแรกต้องมีจอ สมัยโบราณต้องก่อกองไฟไว้ข้างหลังจอเพราะจะต้องเล่นเงาและต้องมีกองไฟ กองไฟข้างหลังจอก่อขึ้นด้วยไม้อะไรก็ได้ เช่นไม้ไผ่หรือกะลามะพร้าว เหตุที่ใช้กะลามะพร้าวก็เพราะกะลามะพร้าวไฟจะลุกดี ข้อสำคัญคือเปลวไฟเมื่อถูกลมพัดก็เกิดการเคลื่อนไหวและเมื่อส่องมาทางตัวหนังทำให้หนังนั้นเคลื่อนไหวไปโดยธรรมชาติ นี่คือคุณสมบัติของเปลวไฟ แต่ในสมัยหลังการก่อกองไฟเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก

 

การแสดงหนังใหญ่ของคณะเยาวชนวัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี

 

เพราะฉะนั้น จึงเป็นงานการละเล่นกลางแจ้งและประกอบกับเรื่องเล่นที่ เน้นเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องที่เชิดชูพระมหากษัตริย์ สรรเสริญยกย่องพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นพระรามอวตารมาปราบยุคเข็ญ หนังย่อมอยู่เฉยไม่ได้ ต้องมีการเคลื่อนไหว ต้องมีคนเชิด คนเชิดต้องใช้ข้อมือสองมืออยู่ตลอดเวลาและต้องเต้นไปด้วย ถ้าในสมัยกรุงศรีอยุธยาเขาใช้ทหาร เท่าที่ปรากฏหลักฐานคือไม่ใช่ทหารอย่างในปัจจุบันนี้ ทั้งหมดคือทหารไพร่ทั้งหลาย คนเชิดจะต้องเป็นพวกผู้ดีในสมัยโบราณ ฉะนั้นจึงเป็นงานในพระราชพิธีเพื่อยกย่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดิน

 

นอกจากคนเชิดแล้วต้องมีคนเจรจา ฝ่ายหนึ่งเป็นพระราม อีกฝ่ายเป็นทศกัณฑ์ ก็โต้กันไปมาเขาเรียกพากย์และเจรจา ซึ่งการเจรจานั้นถ้าหากฟังให้ดีจะพบว่าไม่ใช่ภาษาพูดกรุงเทพฯ บทเจรจาเราจะพบว่าบทเจรจาจะมีสำเนียงเหน่อ สำเนียงแบบนี้คือสำเนียงราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นสำเนียงหลวง เมื่อกรุงฯ แตกเลยย้ายราชธานีมาไว้ที่กรุงธนบุรีจนกลายเป็นกรุงเทพฯ ปัจจุบันสำเนียงกรุงเทพฯ คือสำเนียงท้องถิ่นสำเนียงหนึ่งของอยุธยา สำเนียงเหน่อคือสำเนียงของราชสำนัก

 

และเมื่อจะเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์นั้นก็ต้องมีดนตรีศักดิ์สิทธิ์ด้วย เพราะดนตรีเป็นตัวเชื่อมโยงบอกอธิบายว่า กำลังเดินหรือเหาะหรือกำลังรบกัน และต้องเป็นดนตรีวงปี่พาทย์ คำว่าปี่พาทย์มาเรียกทีหลัง ปี่ก็คือปี่ พาทย์หมายถึงเครื่องตีทุกชนิดเรียกว่าพาทย์หมด เป็นภาษาแขกมาจากคำว่า ‘ วาตะยะ ’ เป็นตัวต้นนำวงตัวตีสัมพันธ์ โบราณแล้วไม่มีระนาด ระนาดเป็นของไพร่ ราชสำนักเพิ่งจะรับเอาเขามาภายหลัง

 

หัวใจสำคัญของวงปี่พาทย์โบราณเขาเรียกว่า ปี่พาทย์ฆ้องวง สำหรับพิธีกรรมโดยเฉพาะคือ ‘ ปี่ ’ และเครื่องตีประกอบด้วยฆ้องวงเป็นหลัก ฆ้องวงพัฒนามาจากมโหรทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ทำมาจากโลหะโบราณทำด้วยสำริด ปัจจุบันทำด้วยทองเหลืองเพราะสำริดแพง เสียงสำริดนั้นไพเราะ คนโบราณเขาเคยถือว่า ฆ้องสำริดเป็นเครื่องคนตรีที่ไพเราะที่สุด สืบมาจนสมัยรัตนโกสินทร์เรียกว่า ฆ้องเขียวหวาน ที่ว่าเขียวก็เพราะมันขึ้นสนิม สนิมสำริดเป็นสีเขียว

 

เมื่อระนาดเข้ามา ระนาดก็ทำบทบาทแทนที่เราเรียกว่า ‘ ระนาดเอก ’ ในราวสมัยรัชกาลที่ ๒ ส่วนระนาดทุ้มนั้นเพิ่งจะเกิดมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ฆ้องวงแต่เดิมมีฆ้องเดียวเขาเรียกฆ้องใหญ่ ฆ้องใหญ่จะต้องตั้งอยู่หลังระนาดเอก และเครื่องดนตรีอีกชนิดหนึ่งคือ ‘ โกร่ง ’ โกร่งคือกระบอกไม้ไผ่ยาวๆ มีนักวิชาการหลายคนบอกว่าระนาดมาจากอินเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้วอินเดียไม่มีระนาด ทั้งหมดที่เป็นวงอยู่นี่มีเพียง ‘ ตะโพน ’ ชิ้นเดียวที่เป็นของอินเดีย

 

หนังใหญ่เป็นต้นกำเนิดของโขน เมื่อก่อนเขาเล่นโขนกันกลางสนามหลวง เวทีโขนต้องมีจอหนัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เล่นหนังใหญ่แต่ต้องมีจอหนังด้วยเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี คนเต้นปกติเขาจะอยู่หลังจอมันจึงจะเกิดเงา นานเข้าราชสำนักเลยคิดให้คนเต้นออกมาเต้นหน้าจอบ้าง จนเริ่มแต่งตัวให้เหมือนตัวหนัง โบราณเขาเรียกโขนติดหนัง คือ ทำทีละนิดทีละหน่อยเอาคนมาแต่งเป็นยักษ์แต่งเป็นลิง นานๆ เข้าเลยเล่นกันทั้งวงกลายเป็นโขน เลยมีการติดหน้าจอไว้ด้วยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ทั้งหมดมาเล่นเพื่อเป็นการเผยแพร่รามเกียรติ์ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักจะได้เคารพยกย่องพระเจ้าแผ่นดินว่าเปรียบเสมือนพระรามหรือพระนารายณ์

 

รามเกียรติ์ไม่ใช่นิทานธรรมดาแต่เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เป็นมหากาพย์ พูดอย่างเดียวเล่าอย่างเดียวมันน่าเบื่อ เลยต้องมียุทธวิธีในการเล่าเรื่อง วิธีอย่างหนึ่งคือ ฉลุเอาตัวหนังใหญ่ออกมาเป็นเรื่องรามเกียรติ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎมณเฑียรบาลพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาระบุไว้เลยว่าจะต้องปิดหนังใหญ่เล่น ๒ แห่ง คือหน้าพระบรมมหาราชวังที่อยุธยาบริเวณพระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาทซึ่งก็มีลานสนามชัย อีกแห่งหนึ่งเล่นที่วัดพุทไธสวรรค์

 

หนังใหญ่เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลมาจากเขมร เขมรเรียก  สะแบก’ สะแบกแปลว่า  หนัง’ ในสมุทรโฆษคำฉันท์เขาก็ใช้คำว่า ‘ หลุสะแบก ’ สะแบกของเขมรนั้นเล่นแบบสนุกสนานเฮฮา เพราะฉะนั้น คนโบราณเขาจึงดูหนังใหญ่กันทั้งคืน และมีคณะหนังใหญ่เอกชนเมื่อปลายอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ขอให้เข้าใจไว้ว่าคนธรรมดาจะมีหนังใหญ่ไม่ได้ เพราะเดิมเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเครื่องราชูปโภค อย่างหนังใหญ่วัดขนอน ที่อำเภอโพธารามเป็นของขุนนางใหญ่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ คนธรรมดามีได้แค่หนังตะลุง แต่หนังตะลุงนั้นทำให้คนใต้เล่นกลอนเก่ง ถ้าเป็นนายหนังแล้วด้นกลอนไม่ได้ เป็นนายหนังไม่ได้ เพราะต้องด้นกลอนขัดกลอนตลอด แต่หนังใหญ่มีบทและท่องบทเอาเนื่องจากว่าเป็นแบบฉบับยาว ยกเว้นตอนเจรจา สามารถใส่อารมณ์ตัวเองเข้าไปสอดแทรกความรู้สึกของตัวเอง สอดแทรกสถานการณ์ปัจจุบันเข้าไปก็ได้

 

(สรุปความจากการกล่าวนำก่อนการแสดงหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี เนื่องในวันเล็ก-ประไพ รำลึกครั้งที่ ๑ ณ เมืองโบราณ สมุทรปราการ วันจันทร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖) 

 

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ย. 2561, 14:43 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.