หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
"เมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ" และการเดินทางย้อนรอยการจัดการเมืองประวัติศาสตร์ที่ไม่มีชีวิต(๓)
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 24 ก.ย. 2561, 14:57 น.
เข้าชมแล้ว 26310 ครั้ง

ปัญหาพื้นฐานทางความคิดเรื่อง “ความดั้งเดิม ความแท้จริง” [Authenticity] ในการอนุรักษ์เมืองเก่าของประเทศไทยทำให้เกิด ความขัดแย้งในการอนุรักษ์และศึกษาเรื่องเมืองประวัติศาสตร์หรือย่านเก่าต่างๆ คือ ผู้มีหน้าที่อนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์จะเข้าใจว่า ชุมชนเหล่านั้นต้องสืบสายเลือด สืบตระกูลมาจากคนในยุคสร้างบ้านแปงเมืองและยังทำงานช่างหัตถกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับชุมชนในตำแหน่งที่ระบุไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์

 

ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปนั้นทราบและรับรู้ว่าชุมชนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา [Living Community] มีผู้ย้ายเข้าและย้ายออกไปโดยเหตุต่างๆ กลุ่มคนดั้งเดิมเป็นใคร และกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาใหม่คือใคร โดยยอมรับผู้มาใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของชุมชนจากการช่วยเหลือและทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกัน แต่ก็ยังเป็นชุมชนอยู่

 

ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องพิจารณาว่าชุมชนใดควรถูกไล่รื้อ หรือชุมชนใดควรได้รับการสงวนไว้ และมีสิทธิโดยชอบธรรมในที่อยู่ อาศัยนั้น และการประเมินคุณค่าของชุมชนต่างๆ โดยไม่ศึกษาค้นคว้า ข้อมูลโดยรอบด้านทำให้ให้คุณค่าน้อยเมื่อไม่เข้าใจจึงสนใจแต่เฉพาะสิ่งที่เห็นประจักษ์คือโบราณสถานหรือโบราณวัตถุและสิ่งที่จับต้องได้ตามองเห็นเท่านั้น

 

ปัจจุบันของพื้นที่ทางสังคมของคนย่านเก่าในเมืองประวัติศาสตร์

การศึกษาเพื่อทำให้เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองจากการสัมภาษณ์ตามประเด็นในช่วงอายุของผู้อยู่อาศัยในย่านกรุงเทพมหานครที่เป็นย่านเก่าหรือส่วนหนึ่งของเมืองประวัติศาสตร์ ของรัฐตามที่คณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ได้กำหนดขอบเขตไว้ ประกอบกับการศึกษาทางเอกสารและการวิเคราะห์ตามภูมิวัฒนธรรม เพื่อทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาและตามพื้นที่ ซึ่งข้อสังเกตในการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเหล่านี้ทำให้การอยู่อาศัยในเมือง การใช้พื้นที่ของชุมชนในเมืองในย่านเก่าหรือเมืองประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันถูกจัดการอย่างไรและเปลี่ยนพื้นที่ทางสังคมของชุมชนและผู้อยู่อาศัยตลอดจนผู้ที่เข้ามาใช้งานในย่านเก่าหรือเมืองประวัติศาสตร์นี้อย่างไรได้ชัดเจนทีเดียว

 

แผนที่กรุงเทพฯ ราว พ.ศ.๒๔๗๔ แสดงพื้นที่ศึกษาย่านเก่าต่างๆ

 

หลังจากช่วงต้นกรุงฯ ที่อาจกำหนดระยะเวลาได้ในช่วงราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จนถึงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บ้านเมืองยังคงมีรูปแบบการดำเนินชีวิตและอาศัยอยู่กับริมน้ำลำคลองโดยใช้เป็นเส้นทางคมนาคมหลักและเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตอย่างสมบูรณ์ เมืองยังไม่มีการสร้างถนนหนทางต่างๆ ยังไม่มีห้างร้านตามอาคารตึกแถวต่างๆ จนเมื่อบ้านเมืองและชุมชนเกือบทั่วกรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยการเป็นเมืองแบบตะวันตกในรูปแบบชุมชนเมือง [Urban Community] ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา จึงเริ่มมีความซับซ้อนของกลุ่มคนที่มีหลายอาชีพ หลายศาสนา และความเชื่อหลากชาติพันธุ์ที่แยกกันอยู่ตามละแวกต่างๆ ที่ถูกแบ่งแยกออกจากกันด้วยถนนหนทาง ลำคลอง และตึกรามที่เป็นห้องแถว จนกลายเป็นชุมชนเมืองแบบละแวกบ้าน [Neighborhood] ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมแบบชุมชนที่แตกต่างไปจากสมัยต้นกรุงฯ

 

ในเวลาต่อมาแม้ว่าวัดและศาสนสถานในระบบความเชื่อยังดำรงอยู่แต่สภาพแวดล้อมและภูมิทัศน์ของเมืองเปลี่ยนไป ความเป็น เมืองทางน้ำใช้เส้นคมนาคมทางน้ำที่เริ่มไปหันมาใช้เส้นทางบก คือ การสร้างถนนใหญ่เล็กขึ้นมาแทนที่ถนนใหญ่ๆ เกิดการถมคลองและสร้างถนนจำนวนมากภายในพระนคร โครงสร้างทางกายภาพที่สำคัญคือแนวกำแพงเมือง ประตูเมือง ประตูช่องกุด และป้อมต่างๆ ที่เคย สร้างขึ้นอย่างแข็งแรงแข็งแกร่งต่างทยอยพังและถูกรื้อลงไป เพื่อใช้พื้นที่ทำอาคารที่ทำการของรัฐและอาคารพาณิชย์ และเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันในฐานะเป็นโบราณสถานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

จนเมื่อเข้าสู่ยุคที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรและการอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองหลวงแห่งนี้ไปมากทีเดียว จนเมืองขยายออกไปไร้ทิศทางที่ ชัดเจนและไม่ได้รับการวางแผนมาก่อน เกิดมลพิษจากอุตสาหกรรมและการคมนาคมที่ไม่มีระบบขนส่งที่เพียงพอ ผู้คนย้ายเข้ามาในเมืองหลวงเพื่อโอกาสในการทำงานที่มากขึ้นและประชากรเพิ่มอย่างทวีคูณ การสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ในปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ของเมืองหลวงแห่งนี้ ที่ขยายอาณาบริเวณไปยังพื้นที่ปริมณฑลซึ่งเคยเป็นเรือกสวนไร่นามาก่อนก็ยังวิ่งตามภาวะล้มเหลวในการกำหนดผังเมืองที่ไม่มีทิศทางดังกล่าวนั่นเอง

 

การทำประวัติศาสตร์บอกเล่านั้น เป็นเพียงภาพตัวแทนเพียงส่วนน้อยของชุมชนและย่านต่างๆ ที่ยังคงอยู่นำมาใช้เขียนนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ย่านเก่าที่สัมพันธ์กับชีวิตทางสังคมหรือพื้นที่ทางสังคมที่สามารถทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของผู้คนและประวัติศาสตร์ของสังคมคนในย่านเมืองเก่าหรือเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานคร ได้ในมิติที่ยังไม่มีการทำวิจัยหรือศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่เริ่มเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ และในราว ๕๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้อาจนับเป็นช่วงชีวิตของผู้คนเพียงชั่วชีวิตเดียว ดังนั้นจึงยังพอมีผู้ที่จดจำสภาพแวดล้อมแบบเดิมและเห็นสภาพ แวดล้อมแบบใหม่ของเมือง ผู้ที่เคยอยู่ในสังคมละแวกบ้าน [Nieghbourhood] แบบเดิมและสังคมที่ถูกไล่รื้อจากถิ่นที่อยู่บางแห่งในการจัดระเบียบของเมืองประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีข้อมูลการศึกษาชุมชนรองรับเพียงพอ จนทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีในการเบียดขับชุมชนให้ออกไปจากพื้นที่โดยสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ไม่ยินยอม ซึ่งไม่ใช่เป็นหลักการที่ปฏิบัติการเพื่ออนุรักษ์เมืองประวัติศาสตร์แห่งใดสมควรนำมาใช้

 

เมื่อลงพื้นที่ศึกษาทำให้เข้าใจความเป็นย่านของเมืองเก่ากรุงเทพมหานคร ที่แบ่งลักษณะความเป็นชุมชนอาจแบ่งตามลักษณะ ภูมิวัฒนธรรมต่างๆ และแบ่งตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของย่านต่างๆ ในขอบเขตของพื้นที่ตามภูมิวัฒนธรรมที่ถูกสร้างใน ช่วงเวลาต่างๆ ตามประเด็นข้างต้น ดังนี้

 

ถนนราชดำเนินกลางยามเช้าจากภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.๒๔๙๐ เห็นย่านสองฝั่งคลองหลอดวัดราชนัดดาฯ

ไปจนจรดแนวคลองโอ่งอ่าง ภูเขาทอง ตึกแถวริมถนน และบ้านเรือนของข้าราชการ

และประชาชนทั่วไปอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสองฝั่งถนนราชดำเนินกลาง

 

“ตามแนวคลองคูเมืองเดิม” ที่ถือว่าเป็นย่านสัญลักษณ์ของพระนครอันเป็นสถานที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังและเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรค่าเมืองอันเป็นสัญลักษณ์สูงสุดในความศรัทธาและการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นบ้านเมืองแบบเก่าตามประเพณีของสังคมสยามแต่โบราณ

 

“ตามแนวคลองเมืองที่สร้างในครั้งสร้างพระนคร” ในครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ภายในกำแพงเมืองและคูเมืองที่สร้างตามแบบโบราณนั้นมีย่านที่อยู่อาศัยของผู้คนพลเมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา มีย่านค้าขายที่ใช้ตลาดน้ำและเส้นทางน้ำรวมทั้งใช้เป็นเส้นทางการเดินทางเป็นสำคัญ เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในชุมชนที่สร้างงานช่างฝีมือที่ใช้ในวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันแบบดั้งเดิม มีการทอผ้าหลากหลายรูปแบบ การทำบาตรพระ การทำเครื่องเงินสำหรับภาชนะต่างๆ มีการทำเครื่องใช้ เช่น ดินสอ กระดาษ สมุด การทอผ้า และยารักษาโรคที่พัฒนาเป็นลำดับทั้งแบบไทยและแบบจีน ฯลฯ เป็น กิจกรรมในวิถีชีวิตของคนเมืองที่เจริญสูงสุดในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนจะเริ่มแออัดและมีการใช้พื้นที่มากเกินกว่าจะรับได้ตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา จนต้องมีคณะกรรมการดูแลและจัดการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า รวมทั้งหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเมืองตามลำดับ

 

“ตามแนวคลองเมืองชั้นนอกที่ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” บริเวณนี้เป็นส่วนที่เป็นความต้องการวางแผน การขยายเมืองในรูปแบบดั้งเดิม คือใช้แนวลำคลองขุดขยายออกไปตามปริมณฑลของเมือง ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่งแต่ยุคสมัยที่มี การเปลี่ยนแปลงหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว ทำให้มีการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปตามริมฝั่งแม่น้ำทางใต้ของพระนคร ที่กลายเป็นย่านเศรษฐกิจ ย่านการค้า และย่านที่อยู่อาศัยซึ่งมีศูนย์รวมความศรัทธาของแต่ละศาสนิก เรียกได้ว่าเป็นชุมชนนานาชาติ ขนาดใหญ่ที่ยังคงสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงจากขนบธรรมเนียมของการขยายบ้านเมืองแบบเดิมหมดไปพร้อมกับการ ตัดถนนในรูปแบบตะวันตกจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ว่างนอกกำแพงพระนครเดิมแต่อยู่ภายในแนวคลองผดุงกรุงเกษม ในย่านของเศรษฐกิจของชาวจีนที่ขยายจากย่านสำเพ็งไปตามถนนที่เกิดขึ้นใหม่โดยมีถนนเยาวราชเป็นสำคัญ

 

แผนที่กรุงเทพฯ ราวปี พ.ศ.๒๔๗๔ เพื่อแสดงแนวคูคลองเมืองต่างๆ

 

ส่วนสภาพในปัจจุบันของย่านต่างๆ มีรายละเอียด ดังนี้

“ย่านท่าเตียน”

แหล่งชุมชนที่เคยเป็นศูนย์รวมทั้งวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการคมนาคมได้ซบเซาลงหลังจากที่เกิดตลาดย่อยตลาดค้าส่งของ ซูเปอร์สโตร์ใหญ่ๆ ขึ้นมามากมาย การคมนาคมทางบกสะดวกและการสัญจรทางน้ำลดบทบาทลง อีกทั้งยังมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศ เข้ามาสร้างห้างสรรพสินค้าทั้งขายส่งและขายปลีก หลังจากตลาดสดย้ายจากท่าเตียนไปอยู่ที่ปากคลองตลาดแล้ว ที่ท่าเตียนจึงเหลือแต่ตลาดปลาเค็มกับตลาดโชห่วยหรือร้านค้าของชำที่นับวันจะยิ่งเหลือน้อยเจ้าลงทุกที

 

ชุมชนท่าเตียนตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยามีเนื้อที่ราว ๓.๕ไร่ อาคารที่อยู่อาศัยและร้านค้าส่วนใหญ่ราว ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนที่เหลือเป็นของวัดพระเชตุพนฯ และเอกชน บริเวณริมน้ำแต่เดิมปลูกอาคารค่อนข้าง หนาแน่น ชาวบ้านทำอาชีพค้าขายตลอดแนวย่านถนนท้ายวัง แต่เดิมมีการขนส่งสินค้าตลอดวันเพราะมีตลาดการค้าขายส่งและขายปลีกเป็นท่าเรือข้ามฟากและรถโดยสาร

 

บริเวณนี้อยู่ในขอบเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในที่มีกฎหมายห้ามการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารใดๆ รวมทั้งการสร้าง หรือขยายเป็นที่พักอาศัย โดยการควบคุมของคณะกรรมการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ และมีนโยบายที่จะจัดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อเป็นบริเวณพักผ่อนโดยการรื้ออาคารเพื่อสร้างสวนสาธารณะ เปิดพื้นที่มุมมองให้เห็นวัดอรุณราชวรารามอย่างเด่นชัด จัดพื้นที่ทางเท้าและเปลี่ยนแปลง กิจกรรมของย่านเมืองที่เป็นกิจกรรมเพื่อการค้าขายอาหาร ผักและผลไม้ตลอดจนดอกไม้ที่รับมาจากย่านสวนต่างๆ แบบเดิมที่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางฝั่งธนบุรีและทางนนทบุรีไปจนถึงย่านชานเมืองปริมณฑลของกรุงเทพฯ ให้เป็นย่านอุตสาหกรรมและที่พักจนหมดแล้ว การค้าขายบริเวณนี้จึงลดลงอย่างมากและกลายเป็นตลาดที่ถูกปรับปรุงใหม่ในบริเวณปากคลองตลาดและกลายเป็นย่านท่องเที่ยว นั่งพักผ่อนดื่มกินชมแม่น้ำมากกว่ากิจกรรมอย่างอื่น

 

นโยบายเหล่านี้มีหน่วยงานที่นำไปปฏิบัติ คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติย์มีโครงการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคาร อนุรักษ์ตลาดท่าเตียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์ในพื้นที่บริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง” ที่ประกอบไปด้วย ๓ โครงการย่อย คือ โครงการปรับปรุงฟื้นฟูอาคาร อนุรักษ์อาคารตึกแถวถนนหน้าพระลาน โครงการปรับปรุงฟื้นฟูอาคาร อนุรักษ์บริเวณท่าช้างวังหลวง และโครงการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์บริเวณตลาดท่าเตียน และทางกรุงเทพมหานครมารับช่วงต่อ เพื่อจัดระเบียบการใช้ทางเท้าซึ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยสำหรับผู้เดินถนนและนักท่องเที่ยวและเพื่อความสะอาด สงบ เรียบร้อย ภายในช่วงเวลากว่า ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เพื่อจัดระเบียบและควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการค้าบนทางเท้าบริเวณถนนมหาราช ตั้งแต่ท่าเตียนถึงท่าช้าง ถนนหน้าพระลาน และถนนหน้าพระธาตุ ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยบริเวณ ถนนมหาราชตั้งแต่ท่าเตียนถึงท่าช้าง ถนนหน้าพระลาน และถนนหน้าพระธาตุ ตลาดดอกไม้และพืชผักบริเวณปากคลองตลาด เพื่อจัดระเบียบและขอคืนทางเท้า โดยให้ย้ายผู้ค้าไปบริเวณตลาดที่จัดไว้รองรับ อาคารย่านการค้าต่างๆ รายรอบพระบรมมหาราชวังจึงพบเห็นการค้าขายเช่นเดิมอยู่บ้างและกำลังเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมในย่านการค้าไปจากความคุ้นเคยเดิมๆ จนน่าจะหมดสิ้น

 

อย่างไรก็ตามมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางธุรกิจที่นี้ให้เป็น ๑ ใน ๖ โครงการแลนด์มาร์กริมแม่น้ำเจ้าพระยาของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และยังเป็นที่ตั้งของพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สายสีน้ำเงินโดยมีสถานีสนามไชยตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปากคลอง ตลาดและสะพานเจริญรัช ๓๑ ภายในเขตคลองคูเมืองเดิมซึ่งเป็นพื้นที่เมืองเก่า

 

การค้าที่เคยคึกคักหายไป อาคารที่ถูกบูรณะทั้งโดยสำนักงานทรัพย์สินฯ และวัดพระเชตุพนฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เริ่มเปลี่ยนมือเพื่อให้ผู้เช่ารายอื่นได้เข้ามาใช้งานเพราะผู้เช่ารายเก่าไม่ซ่อมแซมหรือจัดระเบียบธุรกิจส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกิจกรรมการท่อง เที่ยว การเปิดร้านอาหารเพื่อชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา การเล่นดนตรีจากร้านอาหารนั้นรบกวนผู้อยู่อาศัยเดิมโดยมากและมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจำนวนมากขึ้นในทุกวัน ชาวบ้านและผู้ค้าขายแบบผิดกฎหมายเพราะผู้ขายริมทางเท้าให้ความเห็นว่าการดำเนินชีวิตที่ท่าเตียนในทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก คนซื้อของในตลาดน้อยลงมากและผู้ค้าก็น้อยลงเช่นกัน ร้านอาหารขายของกินแบบธรรมดาก็หายไป เปลี่ยนมาเป็นร้านกาแฟหรือร้านอาหารเข้ามาแทนรวมทั้งร้านขายของที่ระลึก และบางร้านที่ค้าขายสินค้าในชีวิตประจำวันก็ต้องปิดตัวลง ขณะนี้ตลาดท่าเตียนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากเหง้าโดยแท้จริง

 

“ย่านบางลำพู”

ย่านชุมชนทางทิศเหนือนั้นมีตลาดบางลำพูเป็นศูนย์กลางและเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่ต้นกรุงฯ ถือเป็นตลาดริมน้ำและท่าน้ำเพื่อการคมนาคม เป็นแหล่งขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้า พืชผักผลไม้จากย่านฝั่งธนบุรีและนนทบุรีตลอดจน พื้นที่สวนที่อยู่ไกลออกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนจะพัฒนากลายเป็นตลาดบกที่สำคัญ ซึ่งแตกต่างไปจากตลาดท่าเตียนที่เป็นตลาดขายส่งสินค้ามีความโดดเด่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ของสดของแห้งจากชายฝั่งทะเลเป็นสำคัญ สิ่งเหล่านี้ตกทอดมาจนทำให้ย่านบางลำพูมีความสืบเนื่องความเจริญรุ่งเรืองในการเป็นย่านค้าขาย มาตลอดไม่แพ้ตลาดทางชานพระนครฝั่งตะวันออก เช่น สะพานหันหรือสำเพ็งไปจนถึงตลาดใหม่ที่นางเลิ้ง แต่ปัจจุบันย่านบางลำพูซบเซาลงโดยสิ้นเชิง การทำการค้านั้นขึ้นอยู่กับการจราจรที่ถูกปรับเปลี่ยนอยู่เสมอและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ หน้าที่การเป็นตลาดเพื่อหาซื้อสรรพสินค้าแบบเดิมนั้นหมดลงไปแล้ว

 

หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในการจัดการเมืองของกรุงเทพมหานคร คลองบางลำพูเริ่มเน่าเสียอย่างหนัก เพราะ กรุงเทพมหานครสร้างประตูกั้นน้ำที่ปากคลองที่ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาทุกด้าน และห้ามไม่ให้มีการใช้เส้นทางน้ำเพื่อการสัญจรอีกต่อไป และทำให้คลองคูเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการระบายน้ำของเมืองในย่านเก่า

 

สะพานเฉลิมวันชาติ พ.ศ.๒๔๘๓ จากนิตยสาร Life

สองฝั่งคลองโอ่งอ่างยังเห็นโรงไม้และเรือกระแชงขนาดใหญ่สำหรับบรรทุกสินค้าในคลองโอ่งอ่าง

 

ชาวบางลำพูจึงมีโครงการ “จักรยานน้ำบำบัดน้ำเสีย” ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยคาดหวังจะมีส่วนช่วยบำบัดน้ำเสียและเป็นการออกกำลังกาย เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จึงร่วมกับตัวแทนจากกรมอู่ทหารเรือซึ่งให้ความอนุเคราะห์ในการออกแบบและจัดสร้างและมีการเติมน้ำอีเอ็มเป็นระยะๆ น้ำในคลองบางลำพูจึงดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องใช้การร้องขอการเปิดประตูระบายน้ำที่ปากคลองในการควบคุมของรัฐ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพมหานครไม่สามารถเอื้อให้ชาวกรุงเทพฯ หันกลับไปมีน้ำใสหรือมีการหมุนเวียนของกระแสน้ำขึ้นน้ำลงดังเช่นความเป็นเมืองริมน้ำในอดีตได้อีกต่อไป

 

การจัดการท่องเที่ยวโดยกรุงเทพมหานครที่พยายาม “เสริม เสน่ห์” ของกรุงเทพฯ เช่น การทำช่องทางขี่จักรยานไปตามย่านร้านค้าและวัดวังต่างๆ มีผลทำให้ร้านค้าริมถนนที่กำลังอ่อนแรงลงอยู่แล้ว ปิดตัวลงไปเตรียมย้ายออกอีกจำนวนมาก การย้ายออกหรือลด การดำเนินกิจการหรือยุติร้านค้าต่างๆ เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีลูกค้าและไม่สามารถร่วมใช้ “พื้นที่สาธารณะ” ช่วยในการค้าขายเช่นในอดีต ถือเป็นวิกฤตอีกประการหนึ่งที่ทำให้ย่านบางลำพูเงียบเหงาขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับการเปิดที่พักแบบโฮสเทล [Hostel] หรือโรงแรม ขนาดเล็กมีห้องพักรวมราคาประหยัดที่กำลังใช้ตึกต่างๆ ที่เคยทำการค้าหรือพักอยู่อาศัยในอดีตทำที่พักรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องพักภายใน

 

ย่านเก่าและเรียนรู้สภาพแวดล้อมและพื้นที่ท่องเที่ยวและผู้คนอยู่อาศัยไปด้วยพร้อมกันในราคาไม่แพงดังเช่นความนิยมในการท่องเที่ยวที่ผ่านมา และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่ชอบการพักในสถานที่แบบถนนข้าวสารและในย่านที่มีความอึกทึก ร้านอาหารและร้านขายเครื่องดื่มมึนเมามากมาย จึงเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากของคนกลุ่มใหม่และเก่าที่เข้ามาดำเนินการในย่านบางลำพูทุกวันนี้

 

ตั้งแต่ปากคลองบางลำพูไปจนถึงวัดสามพระยาและย่านวัดใหม่อมตรสเป็นย่านกลุ่มบ้านดนตรีตระกูลสำคัญๆ ในดนตรีไทย ที่ผูกพันอยู่กับวังเจ้านาย โดยเฉพาะในสายวังหน้าและไม่ใช่ฝ่ายวังหน้าที่มีวงดนตรีปี่พาทย์ประจำวัง และเมื่อตั้งกรมมหรสพหลวงที่วัง จันทรเกษมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการและครูดนตรีนาฏศิลป์ต่างๆ นักดนตรีคนสำคัญๆ ล้วน ผูกพันอยู่อาศัยใกล้กับวังเจ้านายและสถานที่ทำงาน ย่านบางลำพูจึงกลายเป็นย่านคนดนตรีอยู่อาศัยกันคึกคักมากหน้าหลายตาแต่ ล้วนคุ้นเคยเป็นเครือญาติกันโดยมาก กล่าวกันว่ามาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทีเดียว

 

บ้านดุริยประณีตถือว่าเป็นบ้านดนตรีไทยแบบเดิมที่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากแบบโบราณที่กินอยู่ในบ้านครูมาเป็นการสอนแบบไปกลับที่เน้นการเผยแพร่ความรู้และสืบทอดการดนตรีต่อไป ถือว่าเป็น”บ้านครูดนตรี” ที่ยังคงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ แตกต่างไปจากบ้านดนตรีอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการพื้นที่เช่าอยู่อาศัย เช่น บ้านพาทยโกศลที่แถบวัดกัลยาณ์ฯ และบ้านศิลปบรรเลงที่บ้านบาตร ซึ่งย้ายไปเปิดมูลนิธิฯ เพื่อการสอนดนตรีไทยในย่านอื่นของกรุงเทพมหานคร

 

แต่สภาพสังคมของย่านฝั่งซอยวัดสังเวชวิศยารามฯ ย่าน บางลำพูในปัจจุบันนั้น แทบจะไม่เหลือรากเหง้าของคนรุ่นเก่ามากนัก เพราะบ้านเรือนต่างๆ เปลี่ยนมือและเป็นบ้านเช่าส่วนใหญ่ และปัจจุบันที่เห็นความต่างได้ชัดเจนคือการกลายเป็นเกสต์เฮาส์ ซึ่งขยับ ขยายมาจากทางที่พักแถบถนนข้าวสารและยังไม่มีการควบคุมและการจัดการที่ดี เจ้าของที่ดินย่านนี้ส่วนใหญ่จะขายที่ดินและบ้านเก่าในราคาสูงมากเพื่อรองรับธุรกิจการท่องเที่ยวและเป็นย่านการพักอาศัย ที่แตกต่างไปจากที่พักราคาถูกหรือโฮสเทลทั่วไป

 

บริเวณที่ต่อเนื่องมาจากวัดสังเวชวิศยารามฯ ย่านบางลำพู คือแถบวัดสามพระยาเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ทางเหนือปากคลองบางลำพูขึ้นมา บริเวณนี้เรียกกันตามชื่อวัดสามพระยาเดิม ที่ชื่อวัดบางขุนพรหมว่าคลองบางขุนพรหมหรือคลองวัดสามพระยา

 

ที่ร้านลานทองซึ่งเป็นร้านขายใบลานแห่งสุดท้ายของย่านบางขุนพรหมอายุสืบเนื่องมานับร้อยปีปัจจุบันปิดตัวลงไปแล้ว อดีตของที่ นี่คือมีลูกค้าที่มารับใบลานมีหลายเจ้า แต่ค่อยๆ หายไปจนเหลือที่เดียว เป็นเจ้าประจำคือ “ร้าน ส. ธรรมภักดี” ซึ่งจะนำไปจารหรือพิมพ์ต่อไป ส่งจนถึงราวๆ พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ทำชุดสุดท้ายและร้านลานทองปิดตัวลงและไม่ได้ส่งให้อีก ในช่วงก่อนที่ร้านจะปิดตัวก็มีการรับเครื่องจักสาน ทำจากใบลานและของที่ระลึกต่างๆ เช่น หมวกใบลานทำจากทับลานที่ทำจากใบลานมาจำหน่ายที่ร้าน ซึ่งก็พอขายได้ แต่เมื่อใบลานหายากและมีราคาสูง เนื่องจากการบุกรุกป่าสมบูรณ์มากขึ้นจนหาใบลานที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่มากพอไม่ได้จึงต้องยุติการทำใบลานไป

 

ปัจจุบันมีองค์กรอย่าง “พิพิธบางลำพู” ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานศึกษาของคณะกรรมการอนุรักษ์กรุงฯ หรือกรุงเทพมหานคร แต่เกิดขึ้นจากการผลักดันของชาวบ้านในย่านบางลำพูและกรมธนารักษ์เจ้าของสถานที่ผู้จัดแสดงและบริการเปิดปิดดูแลสถานที่ กล่าวว่าตนเองไม่มีหน้าที่เพื่อทำการศึกษาหรือเก็บเครื่องมือในการทำใบลานทั้งหมดไปเพราะเป็นสถานที่จัดแสดงแต่ไม่ได้ทำงานศึกษา วิจัยและไม่มีสถานที่เก็บรักษา จึงนำไปแต่ส่วนของการพิมพ์อุปกรณ์ ทำใบลานที่เหลืออยู่ชุดเดียวก็กระจัดกระจายไป จนปัจจุบันในอาคารของพิพิธบางลำพูก็ไม่น่าที่จะมีการเก็บรักษาสิ่งของเครื่องมือในการทำใบลานอบแห้งทั้งหมดแบบดั้งเดิมไว้ได้ ความรู้เหล่านั้นค่อยๆ หายไป โดยไม่ได้มีการบันทึกอย่างละเอียดเพื่อการศึกษาในย่านเมืองเก่าหรือเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้แต่อย่างใด

 

“ชุมชนวัดสามพระยา” ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีแห่งหนึ่งในการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและยังคงความสัมพันธ์ในระหว่างวัดและชุมชน ชุมชนวัดสามพระยาที่มีอยู่ราว ๗๕ หลังคาเรือนและจำนวนผู้คนเพียง ๕๐๐ กว่าคนนั้น แม้จะไม่ใช่ผู้ที่เคยอยู่อาศัยมา แต่แรกสร้างวัดหรือชุมชนบ้านลานในอดีตเลยก็ตาม แต่ก็เช่าที่วัดสามพระยาอยู่อาศัยกันนับหลายสิบปีขึ้นไป บ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ทางวัดไม่อนุญาตให้เปิดบ้านพักแรมหรือเกสต์เฮาส์แบบที่ชุมชนอื่นๆ ประสบปัญหากัน รวมทั้งไม่มีการเปิดห้องเช่าให้สำหรับแรงงานชาวต่างชาติหรือคนจากถิ่นต่างๆ เข้ามาใช้พื้นที่มากมายเช่น บริเวณอื่นๆ และที่สำคัญซึ่งอาจจะแตกต่างจากชุมชนในที่ดินของวัด อื่นๆ หลายแห่งในกรุงเทพมหานครก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติจากพระสงฆ์รุ่นเก่าวางกฎไว้ว่าห้ามไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ของวัดซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาให้ชาวบ้าน จนถือว่าเป็นกุศลโชคของชาวบ้านชุมชนวัดสามพระยาอย่างยิ่งทีเดียว

 

ใบลาน

 

“ย่านถนนวิสุทธิกษัตริย์” ซึ่งตัดขึ้นในราวรัชกาลที่ ๕ ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วกลายเป็นสถานบันเทิง ย่านค้ารถมือสอง และย่านโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์ เช่น “หนังสือพิมพ์สาร เสรี” มาจนถึง “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ในซอยวรพงษ์ ส่วนชุมชนบริเวณวัดใหม่อมตรสต่อมากลายเป็นแหล่งโสเภณีที่ขึ้นชื่อไป อย่างไรก็ตามบริเวณวัดสามพระยาและอินทรวิหารที่บางขุนพรหมก็ยังเป็นแหล่งพำนักเดิมของข้าราชการผู้มีอำนาจระดับสูงในยุคสมัยของการเมืองแบบรัฐทหารในช่วงเวลาหนึ่ง

 

บางขุนพรหมทุกวันนี้อาณาบริเวณส่วนใหญ่กลายเป็นพื้นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ของประเทศที่ทำให้กิจการค้าใบลานเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เพิ่งจบบทไป ส่วนถนนลอยฟ้าและทางขึ้นสะพานพระราม ๘ ที่กินพื้นที่ถนนเดิมและกิจกรรมเดิมในย่านวิสุทธิกษัตริย์คืองานสงกรานต์ประจำปี ซึ่งทำให้บางขุนพรหมและถนนวิสุทธิกษัตริย์นั้นเปลี่ยนแปลงจนเหลือเพียงความทรงจำและบรรยากาศเงียบๆ เท่านั้น

 

“ตรอกสุเหร่าชุมชนมัสยิดจักรพงษ์” ซึ่งชาวบ้านดั้งเดิม ล้วนเป็นลูกหลานช่างทอง ช่างที่ทำทองรูปพรรณ อันหมายถึงเครื่องประดับต่างๆ เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผู้มีการศึกษาจะออกไปประกอบอาชีพข้างนอกราวๆ ๔๐% แล้ว ในขณะที่กลุ่มช่างทองยังคงทำทองอยู่ ที่บ้านในราว ๖๐% แต่ในปัจจุบันนั้นผู้ทำอาชีพช่างทองล้วนสูงวัยและไม่มีผู้ทำอาชีพนี้สืบทอดต่อไปอีก

 

ส่วนทาง “มัสยิดตึกดิน” เป็นกลุ่มชาวมุสลิมกลุ่มเดียวกัน แต่กระจัดกระจายออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองหลอดวัดราชนัดดาฯ ส่วนหนึ่งก่อนที่จะให้ย้ายเมื่อตัดถนนราชดำเนิน พ.ศ. ๒๔๔๒ อยู่ติดกับชุมชนตรอกบวรรังษี กลุ่มชาวบ้านที่นี่ทั้งชาวพุทธและมุสลิมที่เรียกว่า ตรอกแขกมาแต่เดิม บางบ้านยังประกอบอาชีพทั้งตีทองคำเปลว ทำทองรูปพรรณ ก่อนจะย้ายออกไปทำกิจการหลังไฟไหม้ใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖ และต้องการขยายพื้นที่เพื่อทำงานได้สะดวกขึ้น

 

การทำทองคำเปลวเคยอยู่ในยุคเฟื่องฟูที่สุดช่วงฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี และมีการซ่อมบูรณะพระบรมมหาราชวัง ช่วงนั้นทองคำเปลวจะขายดีทุกบ้าน เพราะจะต้องทำส่งในวัง ลูกค้าหลักๆ จะเป็นช่างและพระที่วัด โดยจะอยู่ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงของการทำทอง เริ่มตั้งแต่การเริ่มมีเครื่องจักรที่ใช้ในการทำทองเมื่อประมาณ ๔-๕ปีที่ แล้วส่งผลให้การทำทองแบบมือซบเซาลง รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจที่ราคาทองสูงขึ้น ทองคำเปลวที่เคยเป็นวัตถุดิบในการนำไปติดโบสถ์ก็เปลี่ยนไป

 

ชุมชนใน “ตรอกบวรรังษี” ถือเป็นอาณาบริเวณที่ติดต่อเชื่อมถึงกันซึ่งคนภายนอกอาจจะยากที่จะแยกออกจากกันได้ชัดเจน แต่โครงสร้างทางสังคมของชุมชนบวรรังษีที่เป็นกลุ่มชาวบ้านที่นับถือพุทธศาสนาต้องแตกสลายไป เกิดจากการไล่รื้อจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ คือวัดบวรนิเวศฯ เป็นสำคัญ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวกันได้เข้มแข็งแตกต่างไปจากชาวมัสยิดตึกดินที่ได้รับพระราชทานโฉนดที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเป็นชุมชนมาแต่อดีต ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์แม้ชุมชนจะถูกไฟไหม้และต้องย้ายออกไปบางส่วนก็ตาม แต่เมื่อยังคงมีมัสยิดรวมทั้งผู้สอนศาสนาและกรรมการทั้งมัสยิดและชุมชนที่เข้มแข็ง ทำให้คนที่อยู่ดั้งเดิมและผู้ที่ย้ายออกไปยังคงมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันเช่นเดิม แต่บริเวณคลองที่ถูกถมและเป็นบ้านเรือนนั้นเป็นที่สาธารณะ ซึ่งกรุงเทพมหานครรับผิดชอบดูแลและอาจจะจัดการไล่รื้อในเวลาต่อไปก็เป็นไปได้

 

ทั้งชุมชนมัสยิดตึกดินและชุมชนตรอกบวรรังษีดูเป็นชุมชนดั้งเดิมเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อาจจะมีปัจจัยมาจากเอกสารสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและความเป็นชุมชนแบบพุทธและอิสลามที่มีข้อกำหนดซึ่งสร้างการรวมกลุ่มและการช่วยเหลือในชุมชนที่แตกต่างกันนั่นเอง

 

“ย่านบ้านพาน”

บ้านพานอยู่บริเวณตรงข้ามวัดตรีทศเทพฯ มีพื้นที่ดั้งเดิมติดกับคลองโอ่งอ่างและจรดตรอกบ้านหล่อที่ติดกับวัดปรินายกฯ การจัดการเมืองเข้าใจพื้นที่ผิดพลาดมาเป็นเวลานาน จนปัจจุบันกรุงเทพมหานครก็ยังตั้งป้าย “บ้านพานถม” ตรงข้ามวัดบวรนิเวศฯ ที่ข้ามคลองโอ่งอ่างไปตัดทางวัดตรีทศเทพฯ ฝั่งตะวันตก ซึ่งนับว่าเข้าใจผิดกันมาหลายรุ่น

 

แผนผังบริเวณตรอกบ้านพานและบ้านนายเตา ที่เคยเป็นผู้ผลิตเครื่องเงินขันน้ำพานรองแต่ดั้งเดิม

 

บ้านพานเป็นกลุ่มบ้านช่างเช่นเดียวกับบ้านช่างอื่นๆ ในละแวกรอบกรุงฯ เช่น บ้านหล่อ บ้านบาตร บ้านบุ บ้านทองคำเปลว บ้านดอกไม้ บ้านหม้อ บ้านช่างพลอย ฯลฯ กลุ่มบ้านช่างต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้านเมืองแบบเก่าและมีวัดเป็น ศูนย์กลางของชุมชน

 

นับจากหลัง พ.ศ. ๒๔๙๓ การทำพานแบบโบราณดั้งเดิม ก็ไม่เคยหวนกลับมาอีกเลย ตรอกบ้านพานเปลี่ยนแปลงไปจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม เพราะบ้านนายเตาหลายหลังหายไปหรือแบ่งที่ขายให้กับผู้อื่นจนเกือบหมด คนส่วนใหญ่ย้ายออกจากการงานที่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่ บ้านส่วนใหญ่ให้คนจากภายนอกเช่า เช่น ชาวอาข่า มาอาศัยเพื่อขายของย่านตรอกข้าวสารซึ่งเริ่มอยู่อาศัยถาวรและมี จำนวนมากด้วย

 

“ย่านตรอกศิลป์และตรอกตึกดิน”

ชุมชนสองฝั่งคลองหลอดวัดราชนัดดาฯ ใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในย่านตรอกศิลป์และตึกดินหากเป็นบ้านเรือนที่เป็นของเอกชนส่วนใหญ่ก็มักจะขายหรือให้เช่า ทุกวันนี้มีกลุ่มนักธุรกิจหรือเอกชนสถาปนิกขอเช่าหรือซื้อทั้งบ้านและที่ดินจากผู้สืบทอดเดิม ไปปรับปรุงใหม่ [Renovation] เพื่อเป็นที่พักของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะบริเวณตรอกศิลป์ที่มีทางแยกแคบๆ ซึ่งเชื่อมต่อไปถึงตรอกต่างๆ หลังอาคารริมถนนราชดำเนินกลาง และด้านหลังตึกแถวริมถนนดินสอ บ้านเก่าหลังต่างๆ ที่เคยถูกปิดเพราะทางแคบ รถยนต์เข้าไม่ได้และผู้สืบทอดปล่อยให้ทรุดโทรมและย้ายออกไปบ้างจำนวนหลายหลังกลายเป็นแหล่งพำนักในบรรยากาศบ้านเรือนข้าราชการในอดีตที่ปรับปรุงเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่หวนหาอดีตในยุคปัจจุบัน

 

การที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปและเคยมีไฟไหม้ รวมทั้งครอบครัวที่ละทิ้งบ้านไว้ให้เช่าหรือขายขาด ทำให้ตรอกศิลป์และ ตรอกตึกดินมีคนจากต่างจังหวัดรวมทั้งผู้ที่อยู่เดิมมาเช่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีนัก สำหรับคนนอกเป็นพื้นที่ถือว่าอันตรายและน่า กลัว เคยมียาเสพติดระบาดมากจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งสามารถเดินข้ามตรอกริมคลองหลอดจนไปออกทั้งตรอกแถบวัด มหรรณพารามฯ และตรอกอื่นๆ แม้แต่กลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันก็ยังไม่พ้นวงจรปัญหาเหล่านี้

 

“ย่านตรอกหลังวัดราชนัดดาฯ”

เป็นบ้านเรือน โรงเรียน และบ้านไม้เก่าทั้งที่ปลูกในที่ดินส่วนตัวและที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีตรอกขนาด เล็กเลี้ยวเข้าไปได้อีกหลายแยกซึ่งสามารถเดินติดต่อไปทางตึกริมถนนราชดำเนินกลาง สุดปลายทางของตรอกวัดราชนัดดาฯ จากต้นทาง จากถนนดินสอก็คือแนวกำแพงวัดราชนัดดาฯ ที่เปิดให้เดินเข้าออกได้สะดวกและชาวบ้านที่นี่ก็มีความสัมพันธ์กับวัดที่ดี

 

กลุ่มบ้านเหล่านี้มีทั้งพื้นที่ส่วนบุคคล ที่ดินวัด และที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนบ้านของลูกหลานใน ตระกูลขุนนางข้าราชการต่างๆ ยังคงอยู่ที่เดิมโดยมากไม่ได้ย้ายออกไป บางส่วนเริ่มมีการนำบ้านมาปรับปรุงใหม่จากนักธุรกิจภายนอกเช่นเดียวกับทางฝั่งตรอกศิลป์

 

ปัจจุบันชุมชนทางฝั่งตรอกศิลป์นั้นกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีการเข้ามาทำธุรกิจที่พักหรือโรงแรมแบบที่ใช้บ้านไม้ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่นิมยมกันในปัจจุบัน มีทั้งเจ้าของแต่เดิมปรับปรุงเองและการขายขาดให้กับคนภายนอก ส่วนชุมชนทางฝั่งตรอกหลังวัดราชนัดดาฯ ยังคงเป็นบ้านเดิมของลูกหลานเจ้าของบ้านแต่เดิมเพราะอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ประการหนึ่ง และลูกหลานยังคงอยู่อาศัยเป็นปกติอีกประการหนึ่ง จึงยังไม่เห็นการปรับปรุงบ้านเก่าเป็นแบบโรงแรมหรือที่พัก แต่โดยรวมยังคงเห็นความดั้งเดิมของชุมชนเก่าอยู่มากทีเดียว

 

“ย่านตรอกเฟื่องทองและตรอกวิสูตร”

แต่เดิมในครั้งรัชกาลที่ ๕ บันทึกไว้ว่าบริเวณนี้เคยมีการตีทองคำเปลวอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่ากับแถบตรอกบวรรังษี ต่อมาราวๆ ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา คนจีนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จากที่เคยเป็นช่างทำทองรูปพรรณก็กลายมาเป็นคนขายเครื่องประดับซึ่งมีหน้าร้านและฐานะค่อนข้างดีขยับขยายออกจากพื้นที่ย่านทำทอง ไปทำธุรกิจอื่นๆ บ้างหรือไปอยู่ตามแหล่งอื่นๆ บ้างและงานช่างทองรูปพรรณที่ตรอกเฟื่องทองและตรอกวิสูตรทุกวันนี้ จึงกลายเป็นงานของช่างทองจากแรงงานลูกจ้างชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่

 

ร้านยาหมอหวาน บริเวณตรอกหม้อ

 

ใกล้กับตรอกเฟื่องทองที่มีทางออกไปยังถนนราชบพิธฯ บริเวณนั้นเรียกกันว่า “ตรอกหม้อ” ซึ่งถือว่าเป็นตลาดสดแห่งสุดท้ายในย่านเมืองเก่า แต่ก็เป็นตลาดสดที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับพนักงานข้าราชการในละแวกนี้เท่านั้น ใกล้กับตลาดตรอกหม้อแต่เดิม บริเวณที่เชื่อมกับถนนบำรุงเมืองและถนนตีทองได้นั้นเป็นที่ตั้งของร้านหมอยาออกแบบอาคารและบ้านพักอาศัยด้วยสถาปนิกครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวยงามชื่อ “ร้านหมอหวาน” ซึ่งเป็นหมอยาค้าขายยาหลายตำรับสืบทอดตกมาถึงรุ่นลูกหลานเหลน

 

การดำเนินกิจการเพื่อสืบทอดมรดกจากบรรพบุรุษที่ร้านยาหมอหวานในปัจจุบัน แม้ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานในระยะเริ่มแรก แต่ก็พบว่าเป็นไปได้ด้วยดีพอประมาณ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความสามารถของเจ้าของกิจการเป็นสำคัญ นับเป็นหนึ่งในธุรกิจ ดั้งเดิมในย่านเมืองประวัติศาสตร์ที่สามารถนำมาผลิตใหม่และใช้ฐานความรู้ที่สืบทอดกันมาที่มีอยู่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ได้อย่างน่านับถือและแทบจะหาไม่ได้แล้วในทุกวันนี้

 

“ย่านวังบูรพา”

การค้าที่ย่านวังบูรพาซบเซาไปเพราะหมดยุคของโรงภาพยนตร์และห้างสรรพสินค้าแบบเดิม ทำให้ร้านค้าทั่วบริเวณนี้กิจการค่อนข้างซบเซาจนไม่อาจเทียบกับยุครุ่งเรืองได้แต่อย่างใด นับว่าเป็นความรุ่งเรืองของยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงหลังสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง และในยุคสมัยที่เกิดสงครามเวียดนามตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของวัยรุ่น เยาวชน ผู้คนในสังคมทั้งหมดได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอเมริกันอย่างเต็มที่

 

ย่านวังบูรพานั้นเป็นประจักษ์พยานของการเปลี่ยนทางสังคมได้อย่างเห็นชัดที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งความเจริญถึงขีดสุดและความตกต่ำที่สุดของย่านธุรกิจแห่งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานนัก

 

“ย่านสำเพ็งและเยาวราช”

ชาวจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในย่านสำเพ็งนั้นเกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่มๆ โดยสร้างศาลเจ้าเฉพาะตนเองเป็นหลักที่มีมากที่สุดคือ ชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋ว ชาวฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำและแคะ มีศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าฮ้อนหว่อง ในตรอกศาลเจ้าโรงเกือกของคนจีนฮากกาหรือจีนแคะ ศาลเจ้าเซียงกงของชาวฮกเกี้ยน

 

ส่วนบริเวณระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนเยาวราชรวมพื้นที่ราว ๑๔ ไร่กว่า มีย่านรวมสรรพสินค้าสำคัญคือ “เวิ้งนครเกษม” ต่อมาจึงได้พระราชทานที่ดินผืนดังกล่าวแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเห็นว่าบริเวณนี้มีชุมชนเกิดขึ้นแล้วจึงได้ถมจนกลายเป็นที่โล่งกว้างใหญ่ ตั้งชื่อว่า “เวิ้งนาครเขษม” มีความหมายถึงเวิ้งอันเป็นที่รื่นรมย์ของชาว เมือง และปัจจุบันทายาทได้ขายที่ดินนี้ให้เอกชนรายใหญ่ไปแล้ว จนทำให้พ่อค้าเก่าในย่านนี้ต้องย้ายออกจากร้านค้าและยุติการทำอาชีพดั้งเดิมในที่สุด

 

นอกจากนี้บริเวณหัวถนนยังมีร้านพลอยของชาวตามินหรือทมิฬจากอินเดียใต้เหล่านี้ อยู่ในย่านร้านค้าของคนจีนที่สำเพ็งที่ปัจจุบัน เป็นร้านขายแห ขายอวนและเครื่องมือทางการเกษตรต่างๆ มีร้านขายผ้าเป็นม้วนๆ ของคนซิกข์ ร้านขายของเบ็ดเตล็ดต่างๆ ของคน จีน หากเข้าไปใกล้ๆ พาหุรัดร้านค้าเริ่มจะขายของมีค่ามากขึ้นเป็นร้านเพชรร้านทองและเสื้อผ้าเครื่องประดับ เปิดดำเนินกิจการมาเกือบ ๑๐๐ ปีได้ ปัจจุบันการค้าพลอยหรือหินสีไม่ได้ดีมากเช่นในอดีต เพราะจีนสามารถผลิตพลอยที่ทำด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาจำหน่าย และลูกค้าที่ลดน้อยลง

 

ย่านสำเพ็งจึงมิใช่มีแต่เพียงกลุ่มคนจีนเท่านั้น แต่เป็นเสมือนศูนย์กลางการค้าขายที่นำพาพ่อค้าต่างกลุ่มชาติพันธุ์มาค้าขายและอยู่อาศัย จนกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงฯ จนถึงปัจจุบัน

(ยังมีต่อ)

 

ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๙ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๖๑)

อัพเดทล่าสุด 26 ธ.ค. 2561, 14:57 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.