หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
วิถีประมงพาณิชย์ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
บทความโดย จิราพร แซ่เตียว
เรียบเรียงเมื่อ 3 ก.ค. 2561, 16:18 น.
เข้าชมแล้ว 20849 ครั้ง

ตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาลตำบลปากน้ำประแสคือรูปเรือ ประมงกำลังแล่นมุ่งหน้าออกปากแม่น้ำประแส โดยมีเจดีย์วัดแหลมสน อยู่ทางฝั่งขวาและบ้านเรือนชาวประมงอยู่ทางฝั่งซ้าย แสดงให้เห็นถึงอาชีพและศาสนาของประชาชนส่วนใหญ่ในท้องที่ 

 

จากการสำรวจและเก็บข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจนิเวศวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำประแส จึงเริ่มสำรวจความเป็นประแสจาก ข้อมูลเอกสาร และเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้เดินทางลงพื้นที่ ถามไถ่ให้ได้รู้วิถีของคนประแสแล้วพบว่า หากอยากจะรู้จักประแส เบื้องแรกต้องเข้าใจวิถีของชาวประมงซึ่งเป็นอาชีพหลักจากอดีตถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับคำขวัญ “ก้าวล้ำประมงไทย” และตราสัญลักษณ์ “เรือประมงแล่นมุ่งหน้าออกปากน้ำประแส” ซึ่งเป็นรูปแบบการทำมาหากินที่เป็นหัวใจของคนถิ่นนี้

 

ดร.นาวิน เจริญพร คุณภาณุ ธนะสาร และคุณชัชวาลย์ เจริญพร : ผู้ให้ข้อมูล

 

ดร.นาวิน เจริญพร อดีตเถ้าแก๋เรือ ผู้ผันตัวมาเป็นรองนายก เทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส กล่าวว่า “ประแสถือว่าเป็นไม่ที่หนึ่งก็สอง สมัยก่อนปากน้ำระยองก็สู้เราไม่ได้ ถ้าเป็นประมงพาณิชย์ผมว่าประแสน่าจะติดไม่เกินอันดับ ๓ ไม่รู้เรากับปัตตานีใครใหญ่กว่ากัน  แต่กับสงขลาเราใหญ่กว่า  แต่ไม่มีประมงเชิงพาณิชย์ที่ไหนใหญ่เท่า สาม ส. คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ แถวนั้นเป็นยักษ์ไปแล้ว แต่สาม ส. เขาไม่ได้ทำเรือประมงแบบเรา ของเราทำ อวนล้อม สมาคมประมงแห่งประเทศไทยตั้งกรรมการกันชุดแรก ที่อื่นมีจังหวัดละหนึ่งคน แต่ประแสมีกรรมการ ๒ คน หนึ่งในนั้นก็คือ พ่อของผม”

 

คุณชัชวาลย์ เจริญพร ประธานสภาเทศบาลตำบลปากน้ำประแส พ่อที่ ดร.นาวินกล่าวถึง เป็นเถ้าแก๋เรืออีกหนึ่งท่านที่มาช่วยย้อนเล่าความหลังว่า “ประแสเป็นคนริเริ่มตั้งสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เราเป็นอันดับต้นๆ ของอวนล้อม”

 

คุณภาณุ ธนะสาร กำนันตำบลปากน้ำประแส เถ้าแก๋เรือผู้เกิดและโตมากับกองอวนตั้งแต่รุ่นก๋ง ช่วยเสริมว่า “ตอนนั้นเราใหญ่กว่า ตอนนี้พวกระยองไปอยู่กับเขา ระยองไปเข้าคลองปัตตานีหมด ประแสเข้าคลองสงขลา สงขลานี่พูดกันตรงๆ เราไปสอนเขานะ คือ สมัยก่อนทำเฉพาะอวนลอย ไม่ได้ทำอวนล้อมอย่างเรา มีอวนล้อมลำเดียว กิจการประมงเมื่ออดีตสู้เราไม่ได้ แต่ก่อนประแสถือว่าขึ้น สูงสุดของกิจการประมงไทย” เพื่อให้เห็นบางส่วนของคนประแสและวิถีผู้ประกอบการประมง เชิญทุกท่านมาลงเรือลำเดียวกันฟังเรื่องเล่า การฝ่าคลื่นลมทะเลและการเปลี่ยนผ่านทุกข์และสุขคละเคล้าจากชีวิต และมุมมองของเถ้าแก๋เรือชาวประแสทั้ง ๓ ท่าน

 

จากประมงชายฝั่งสู่ประมงพาณิชย์

คุณชัชวาลย์เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า “อาชีพหลักของพวกเราคนประแสทำประมง ประมงเราติดระดับประเทศ อย่างเรือผมเองตอนนั้นไปทำ Joint Venture กับอินโดนีเซีย ไปชุดแรก มีระยอง ปัตตานี รวมกันไป ทำมาหากินกันไปถึงเขมร เกาะกง...

เริ่มแรกก็เริ่มมาตั้งแต่พื้นฐาน รู้จักจั่นไหมคล้ายๆ ยอ แต่เล็กๆ สมัยก่อนเป็นประมงพื้นบ้าน ทอดแหบ้าง ยกจั่นบ้าง แล้วเรามาทำประมงนอกน่านน้ำกัน ทุนใช้มากประแสแต่ก่อนอยู่ได้เพราะประมงเศรษฐกิจดี”

 

คุณภาณุเล่าต่อในประเด็นนี้ว่า “เพราะหลังจากที่เรือสำเภาหมดไปแล้ว กิจการประมงของประแสขึ้นสูงติดระดับประเทศ ใช้ทุนเยอะ เศรษฐกิจดีมากเลย เริ่มมาตั้งแต่สมัยก๋ง เรือไม่มีเครื่องใช้ใบ หน้าลมมาเขาก็ลากเรากลับ ทำมาหากินอยู่อย่างนี้ หากินใช้แจวไป ถึงตราด  แต่กิจการประมงของเราไปเร็ว สมัยก๋งมีโป๊ะแล้ว มีอวนเฉ แล้วก็ไม่ได้หากินแค่ในอ่าวประแสก็ไปได้ทั่วหมด”

 

ดร.นาวินช่วยสรุปเป็นภาพรวมความเปลี่ยนผ่านแต่ละยุค ดังนี้

“สมัยก่อนผมยังทันนะ เขายังทำประมงใกล้ๆ ยังไม่ได้ข้ามจังหวัด ยุคแรกเป็นยุคที่ทำกันเฉพาะภายในคืออยู่แถวนี้ไม่ได้ไปไหนไกล ต่อมาผมไปเรียนกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ประมาณประถม 4 ประถม ๕ เรือเริ่มข้ามไปสงขลา เพราะตอนเป็นเด็กผมก็ใฝ่ฝันว่า สิ้นปีปิดเทอมได้ไปอยู่เรือไปอยู่สงขลา ผมนั่งรถไปวันนึง ๒๐ ชั่วโมง สมัยก่อนถนนสายเก่า แต่ผมดีใจผมได้ไปเที่ยวไกลๆ ที่ผมจำได้ ผมนั่งเครื่องบินครั้งแรกก็นั่งเครื่องบินไปจากดอนเมืองไปหาดใหญ่เพราะเรือข้ามไป รุ่นนี้คือรุ่นที่ ๒ ที่เรือประแสไปหากินต่างจังหวัดไกลๆ  แล้วก็ รุ่นที่ ๓ ประมงที่จับปลาต่างประเทศ ผมเชื่อว่าประแสเป็นหนึ่งในกองเรือที่ใหญ่ ติดอันดับหนึ่งในสามของประเทศไทยที่ออกไปหากิน ต่างประเทศ”

 

ความเฟื่องฟูของกิจการประมงประแส

จากการสอบถามกับชาวบ้านรุ่นเก่าทั้งในปากน้ำประแส ตลาดสามย่าน และบ้านทะเลน้อย ซึ่งอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำประแสต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงความคึกคักของผู้คน การเติบโตของบ้านเมือง และบรรยากาศของร้านรวง ในยุคที่ประแสเคยเป็นเมืองท่าช่วงที่การทำประมงเฟื่องฟู เช่นเดียวกับภาพประแสจากคำบอกเล่าของผู้ให้ข้อมูลทั้งสามท่าน คุณชัชวาลย์เล่าว่า “พอมีถนนสุขุมวิทคนทางสามย่านจะรู้จักเราตรงที่ประแสร่ารวยเหลือเกิน จับปลาดี คนบ้านเราก็จะไปซื้อของทางนั้น” 

 

คุณภาณุช่วยต่อในประเด็นเดียวกันว่า “ละแวกแถวนี้ถ้าว่าเป็นคนประแสเค้าจะร้องว่าคนประแสมีเงิน สมัยนั้นเศรษฐกิจดีมากทีเดียวประมงดี ร้านค้าก็ดี เศรษฐกิจดีหมดในตำบลปากน้ำประแส คนหน้าชื่นตาบานทำกิจการประมงกันอย่างเดียว ปีหนึ่งคิดบัญชีกันสองครั้ง แต่งทองกันให้แดงเกลื่อนเลย ประแสรวยมาก...

 

รวยจากคนประแสไม่รู้เท่าไหร่ คนประแสแห่ไปซื้อ นุ่งกางเกงจีนก็ไม่ค่อยสะใจต้องนุ่งกางเกงยีนส์ ต้องใส่เสื้อมองตะกูร์ สมัยนั้นตัวเป็นร้อย เราเป็นเด็กๆ เราก็ใส่ สมัยก่อนคนประแสไม่มีรถเพราะบ้านไม่มีที่จอด คนที่มีรถให้เช่าเลยกิจการดี เพราะเช่ารถขนลูกหลานไปดูเวลาเรือเข้า  เรือเข้าตราดก็เช่าไปตราด เรือเข้าสัตหีบก็เช่าไปสัตหีบตามเรือกัน สงขลาก็ไป ร้านอาหารไหนดีๆ โรงแรมไหนดังๆ พาลูกพาหลานไปกินไปเที่ยวหมด

 

เรือประมงบริเวณปากน้ำประแส

 

สมัยปี พ.ศ. ๒๕๑๕–๒๕๑๘  เงินแสนผมว่าเยอะนะ ประแสทำได้ เคยได้กินก๋วยเตี๋ยวชามละสองสลึง คือพวกเราจะมีกิจกรรมอย่างหนึ่งในเดือนหงายหมายถึง ๑๔  ค่ำ ๑๕ ค่ำ เราจะออกทะเลแล้ว บนเจ้า เดือนนี้เราขอแค่สิบหมื่น สิบหมื่นคือหนึ่งแสน จะมีหนังแก้บน ดูหนังกันไม่หวาดไม่ไหว ลำโน้นก็ได้แสน ลำนี้ก็ได้แสน ดูหนังกันทุกคืน ฉายจนกระทั่งแดดออก หลังจากปี ๒๕๒๗ มาเรือเริ่มใหญ่ขึ้นๆ  ใหญ่จนน่ากลัว ก็ไปต่างประเทศกัน ล้มมี ลุกมี 

 

เด็กประแสไม่มีใครที่ไม่ได้เรียนกรุงเทพฯ ไม่มีใครไม่ได้เรียนอัสสัมชัญ ส่งหมดเพราะว่าเศรษฐกิจดี ผมเองยังไปเรียน กรุงเทพฯ เลย ไปซื้อบ้านทิ้งไว้ที่กรุงเทพฯ ให้ลูกหลานไปอยู่เวลาเรียนหนังสือ คนสมัยนั้นเงินเหลือเฟือ ปี ๒๕๑๙-๒๕๒๐ ผมได้เงินเดือน เดือนละ ๗๐๐ บาท ผมไปเรียนสันติราษฎร์ ผมใช้ ๒,๑๐๐ ทั้งๆ ที่ เค้าให้เดือนละ ๗๐๐ วันที่ ๑๐ ก็เบิกแล้วใช้หมดน่ะ

 

ตอนพายุเกย์ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ยังทำอยู่กับเต๊ะ (พ่อ) กับแม่อยู่ ก่อนแยกออกมาทำของตัวเอง จำได้ว่าปีที่พายุลินดามา (พ.ศ. ๒๕๔๐) ผมมีเรือลำแรกเป็นของตัวเอง ทำไปทำมาผมมีเรือ ๒ ลำ เรือท่องเที่ยวอีก เป็น ๔ ลำ ดีมาก ตอนหลังลมมันแรงตกจากยอดมาเหลือลำเดียวยังติดหนี้เขาอีกต่างหาก”

 

สู่จุดพลิกผัน “จากทะเลมีแต่ทอง สู่ทะเลนั้นถมไม่เต็ม”

ประโยคทิ้งท้ายของคุณภาณุทำเอาสะดุด รอฟังเรื่องเล่าที่เหมือนหนังคนละม้วนในช่วงต่อไป ข้อมูลปัญหาและอารมณ์เกี่ยววิกฤตต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญไหลมาอย่างพรั่งพรูทั้งเรื่องวิกฤตน้ำมันแพง ปัญหาแรงงาน ต้นทุนการประกอบการทุกด้านขึ้นราคาสวนทางกับปัญหาสินในน้ำ คือ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ปริมาณถดถอยจนทุกประเทศต้องตั้งกำแพงระบุน่านน้ำของตัวเองมิให้ใครมาแย่งชิง และที่หนักหนาสาหัสจนเถ้าแก๋เรือที่เคยออกทะเล ถือตัวเป็นชาวประมงอาชีพที่รักดังชีวิต ถึงกับออกปากว่า “พูดถึงทะเลแล้ว ช้ำใจ” คือกฎระเบียบที่รัฐบาลกำหนด การอิงตามกรอบกฎหมายทั้ง การค้าและการทำประมงระหว่างประเทศก็ต้องมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมก็ต้องมา

 

คุณภาณุเล่าถึงความขมขื่นของชาวประมงประแสทุกวันนี้ ว่า “๗ กระทรวง ออกกฎหมายมาควบคุมชาวประมง เช่น มหาดไทย กลาโหม พม.(พัฒนาสังคมฯ) แรงงาน คมนาคม ทุกอย่างมาอยู่ใน ปีโป้ (ศูนย์แจ้งเข้า-แจ้งออกเรือประมง PIPO Port In Port Out) รัฐบาลกดดันชาวประมงทุกอย่าง ไม่เคยส่งเสริม ไม่เคยช่วยเหลือ แต่ห้ามทุกอย่าง ที่ไปเปิดตลาดหากินต่างประเทศก็ดิ้นรนไปกันเอง ที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร คนประแสที่มีอาชีพประมงเป็นพื้นเพมีเงินนี่ไม่เคยจะคิดทำอาชีพอย่างอื่น ไม่เคยคิดจะไปซื้อที่เก็บ ไม่เคยคิดจะไปทำสวน ทำไม่เป็น อย่างผมเป็นตัวอย่าง มีเงินซื้อเรือๆ ไม่เคยคิดซื้อที่ แต่ก่อนไปเกาะช้าง เกาะพงัน ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเลย มีคนเอาที่มาขายถูกๆ ก็ไม่เอา จนกระทั่งพอเรือล้มทีเดียว ก็เหมือนตัวแรกล้มก็ล้มไปตลอด

 

หวานอมขมกลืน ตอนนี้ดีอย่างตรงลูกเรียนจบแล้ว ถ้าลูกไม่จบจะทำอย่างไร รุ่นลูกไม่มีใครมาทำแล้ว คนประแสส่งลูกเรียน ลูก ไม่ได้คิดมาทำทะเล พอเรียนจบก็ไม่กลับบ้าน ไม่ว่าง  ไปมีครอบครัว ไปมีบ้านอยู่ข้างนอก ก็ดึงคนในบ้านไปเฝ้าลูกเฝ้าบ้านให้”

 

คุณชัชวาลย์เสริมต่อว่า “ไม่ใช่ล้มอย่างเดียว เรือจอดหน้าบ้าน มีจดหมายมา จอดหน้าบ้านไม่ได้ จมเรือหน้าบ้านไม่ได้ จะถูกปรับเป็นแสน ถ้าเอาไปทิ้งก็ต้องไปแจ้งก่อนก็โดนปรับอีก อย่างแพวีระเอาไปเกยแล้วสองลำขายหมด ผมเชื่อว่าเจ๊งแน่  ออกเรือไม่ได้ ก็ต้องอยู่อย่างนี้ รอวันตาย ตอนนี้ใครๆ ก็อยากขายเรือทั้งนั้น”

 

 

ดร.นาวินร่วมให้ความเห็นว่า “ชาวประมงทำแบบนักการพนัน คือเกหมดหน้าตัก  เรียนแต่วิธีการทำประมง แต่ไม่ได้เรียนการทำธุรกิจ ไม่ได้สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์ คิดว่าทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ผมว่าสมัยก่อนเขาสอนผิดด้วย ถึงเวลาอยากได้เงินก็ลงไปทะเล ทะเลมีทอง มีปลา จับปลา เราเคยทำประมงอย่างสะดวกสบาย ผมพูดอย่างเป็นกลางนะ สมัยผมเรียนผมก็ออกทะเล ผมเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ออกกับเรือที่บ้าน พวกเราก็จับปลากันอย่างเดียวไม่มีระเบียบ ไม่โดนบังคับเหมือนขณะนี้  

 

เขาปล่อยเรามานาน เรือที่อยู่ในอ่าวไทยผมว่าไม่เกิน  ๒๐-๓๐% ที่อาญาบัตรตรงกับชนิดเรือ เครื่องยนต์ตรงกับเรือ ผมเชื่อว่าน้อยมากที่จะตรง 

 

ตอนนั้นชาวประมงประสบปัญหาแรกคือน้ำมัน เราก็ผ่านพ้น ก็ต้องทน ใครมีเรือก็ต้องทำ เพราะว่าไม่ทำจะไปไหน เขาบอกว่าถ้าเรือจอด  เพรียงกินข้างล่าง ลูกจ้างกินข้างบน ถ้าเรือไม่ออก ลูกจ้างก็กินอยู่ข้างบน ไม่ออกก็ต้องจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นคนประมงต้องออกอยู่ไม่ได้ ช่วงปัญหาน้ำมันแพงมีส่วนน้อยที่ประแสจะหยุดจับปลา แต่ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนชนิดเครื่องมือเพื่อประหยัดน้ำมัน

 

ตอนนี้มีเรื่องกีดกันทางการค้า ข้อกำหนดจากทางอียู พอให้ใบเหลืองรัฐบาลทำอย่างแรกเลยคือเรื่องแรงงานต่างด้าวก่อน เราก็ว่าเหลือทนแล้วนะ สมัยก่อนแรงงานต่างด้าวยังมีเถื่อนบ้าง เดี๋ยวนี้พอรัฐบาลขึ้นทะเบียนที่จะออกทะเลเถื่อนไม่ได้ เราก็คิดว่าน่าจะหยุด อยู่แค่นั้นแล้ว ไม่ใช่อีกอาญาบัตรต้องตรง อาญาบัตรไม่ตรงก็ต้องจอด แรงงานต่างด้าวผมยกตัวอย่างเรือน้อย ลูกน้อง ๗ คนต่างด้าว หายไป ๒ คน มีแรงงาน ๕ คนผมทำประมงไม่ได้ รับ ๒ คนอื่นมาใส่ก็ไม่ได้ เนื่องจาก ๒ คนเถื่อนก็ออกไม่ได้ ปัญหาค่อยๆ บีบมา ผมว่ารัฐบาลรู้ปัญหา พอรัฐบาลบีบตรงไหนเกือบตายทั้งนั้นเลย”

 

แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมงมักถูกนำไปผูกกับประเด็นการค้ามนุษย์ซึ่งเผยแพร่ทางสื่อสาธารณะจนแยกไม่ออกว่า ข่าวไหนจริงข่าวไหนเท็จ เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่ทั้ง ๓ ท่านช่วยกันสะท้อนมุมมอง

 

ดร.นาวิน “ถ้าเป็นสมัยก่อนหยุด ๒๐ วัน ยังไม่ต้องจ่ายลูกน้อง แต่ตอนนี้ไม่ได้เงินเดือนต้องครบ แต่รัฐบาลไม่รู้หรอกว่าที่บอก ให้เอาเงินเดือนใส่บัญชีลูกน้องให้ครบหมื่น ลูกน้องกินใช้เบิกไปก่อนแล้ว

 

แต่จริงๆ ผมยอมรับว่าเรือที่ไปอินโดฯ สมัยก่อนก็มีข่าว หลายลำเหลือแต่ไต๋ (ไต้ก๋ง) และยี่ชิ้ว (ผู้ช่วยไต้ก๋ง) กลับมาไม่ได้ กลับก็มี เนื่องจากสมัยก่อนออกครั้งหนึ่ง ๓ ปี คนหนึ่งต้องได้สัก ๔-๕ แสน สมัยนั้นไม่ใช่เจ้าของเรือกับลูกน้อง เจ้าของเรือกับไต๋เท่านั้น ถ้า ๓ ปีต้องจ่ายเงินไต๋ ๔-๕ ล้าน ไต๋แย่ๆ บางคนก็ไม่เอาลูกน้องเข้ามา ถ้าดีหน่อยก็ฝากเรืออีกลำเข้ามา ที่เลวร้ายกว่านั้นคือถีบลงน้ำ แต่มี ไต๋หลายคนที่ตายลงน้ำ เข้ามาแต่เรือเฉยๆ ก็มีนะ ถึงบอกว่าคนมีทั้งดีและไม่ดี ก็อยู่ที่คน ไต๋ดี ลูกน้องไม่ดี ฆ่าไต๋เอาเรือวิ่งเข้าเขมรขายก็เยอะแยะไป  ก็เหมือนเหรียญมีสองด้านทุกอย่าง” 

 

กำนันภาณุ ช่วยเสริมว่า “วิถีชีวิตไม่เหมือนกัน ครอบครัวเค้าเราก็ต้องดูแลผัวออกทะเล เมียเบิกเงินก็ต้องให้ เพราะลูกเมีย เขาอยู่ทางบ้านก็ต้องกิน

 

เมื่อสองวันมานี้ผมถาม พม. (กระทรวงพัฒนาสังคมฯ) คุณแก้ถูกทางไหมเรื่องค้ามนุษย์  หนึ่งคุณบังคับไม่ให้ไปต่างประเทศ สองคุณบังคับไม่ให้มีเรือทัวร์ สามเวลาเรือเข้าเรือออกก็ต้องผ่านพวกคุณ คุณเช็กไม่ได้เหรอค้ามนุษย์หรือไม่ค้ามนุษย์ ก็ในเมื่อคุณไม่ให้ไปต่างประเทศแล้ว ระบบต่างประเทศคือค้ามนุษย์เรายอมรับเพราะอวนลากอย่างที่ว่าไปกันเป็นปีๆ เรือไม่รั่วไม่จมไม่เข้า แต่พวกเรือในตำบลปากน้ำประแสไม่มีใครทำเรืออวนลาก ปลาที่คุณได้ที่ไปอินโดฯ อยู่ไม่เกิน ๒๐ วัน ถ้าไม่ได้ปลาคุณต้องเข้า หนึ่งข้าวไม่มีกิน สองน้ำไม่มีกิน คุณอยู่ไม่ได้คุณก็ต้องเข้า

 

เรือประแส เรืออวนล้อมที่ไปอินโดฯ ไม่ว่าจะได้ปลาไม่ได้ปลาก็ไม่เกิน ๒๐ วัน ถึง ๑ เดือน ถ้าคุณได้ปลาเร็ว สมมติคุณเดินทางไป ๗ วันแล้ว ภายใน ๕ วัน คุณได้ปลาเยอะคุณต้องเข้าแล้วเพราะหนึ่งกลัวปลาเน่า เพราะเราไม่ใช้ยาเราไม่มีระบบยาเราไม่มีระบบฟรีซ เราใช้น้ำแข็ง คุณต้องเข้าเพื่อมาขายปลาถ้าทิ้งเอาไว้มากกว่านั้นเน่าขายไม่ได้

 

อนุสรณ์เรือหลวงประแส บทใหม่ของการท่องเที่ยวชุมชน

 

ธรรมชาติของพวกเราทำแบบนี้ แต่อวนลากเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น อวนลากจะมีชุดของเขาจะลากอยู่ต่างประเทศ มีเรือของเขาไปถ่ายปลาไปขนสินค้ามาขาย จะมีเรือที่ไปยาวๆ แล้วมีเรือส่งเสบียงเพราะฉะนั้นลูกน้องก็ต้องทนอยู่ในเรือเป็นปี ไม่ใช่ใจร้าย คือเรือที่ไปอินโดนีเซียที่เป็นข่าวใหญ่โตนี่ เรือไปจอดข้ามเกาะลูกไปอยู่บนเกาะแล้วไม่ยอมลงเรือ ไปชอบผู้หญิง มี ลูกมีเมีย ก็อยู่บนเกาะ ลืมเมืองไทย ถามว่าพวกนี้ที่ไป ไม่มีตายเหรอ ก็ไปถ่ายหลุมที่คนไทยตายไปกันกี่ร้อยคน ก็เหมือนเขมรอพยพมาเรานี่ล่ะก็มีตาย เอาข่าวตายมาพูดแล้วก็หาว่าค้ามนุษย์ ไม่ใช่ที่ลงข่าว มาสองวันว่าสามสิบปีไม่เคยขึ้นฝั่ง อย่าไปเชื่อ อย่างน้อยขาลีบเดินไม่ได้แล้ว  เรายอมรับอย่างหนึ่งพวกอวนลากที่ลากกันเป็นปีๆ ถ้าตาย โยนทิ้งน้ำก็ฝังไม่ได้”

 

ดร.นาวินเสริมว่า “อยู่บนเรือ มีน้ำกับฟ้า ไปเข้าเกาะสุ่มสี่ สุ่มห้าไม่ได้ ทหารยิงอีก”

 

นอกจากปัญหาแรงงานดังที่กล่าวไป ผู้ประกอบการยังเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ราคาขยับขึ้นสูงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต่อเรือใหม่หรือการซ่อมแซมเรือเก่า อุปกรณ์และเครื่องมือในการหาปลาจับปลาแต่ละชนิด เช่น โซนาร์ เรดาร์ อวน และอีกจิปาถะ ขณะที่การกำหนดราคาไม่ได้ทำโดยผู้ประกอบการ แต่ผู้กำหนดทั้งน้ำหนักและราคา คือ “เจ้าของแพปลา” ซึ่งทั้ง ๓ ท่านบอกว่า คือคนที่ได้กำไรที่แท้จริง 

 

ประมงซบเซา มองหาโอกาสใหม่ๆ กับการท่องเที่ยว

หลังจากนั่งคุยกันอยู่นาน คุณชัชวาลย์ไม่ทิ้งความเป็นผู้นำท้องถิ่น หันมาถามว่า “เอาข้อมูลไปแล้วจะมีผลอะไรให้ทางประแสได้บ้าง ตอนนี้ก็จะมีเรื่องการท่องเที่ยวเพิ่ม คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีเอาเรือรบหลวงประแสเข้ามาก็หวังจะนำมาขายเพื่อการท่องเที่ยว ตอนนี้รัฐบาลยิ่งส่งเสริม เราจึงได้มาขนาดนี้ จริงๆ ก็คิดว่าตรงนี้เริ่มหอม ทำยังไงจะเก็บความหอมไว้นาน เพราะเราทำการท่องเที่ยวแต่ยังบริหารจัดการไม่ดีเท่าที่ควร ผมเชื่อว่าคนในพื้นที่เขาอยู่มานานเขาไม่ได้นึกถึง แต่คนข้างนอกมา ผมเชื่อว่าเขามองเห็น ประแสถ้าไม่มีท่องเที่ยวก็ป่าช้าดีๆ เช่นเดียวกับทางพังราดที่เผชิญปัญหาเรื่องการทำประมงเหมือนกัน”

 

 

ดร.นาวินในฐานะรองนายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส เสริมถึงความเคลื่อนไหวของเทศบาลขณะนี้ว่า “ตอนนี้เรายังไม่ได้ขายเรื่องข้อมูลชุดประวัติศาสตร์เลย ขายเฉพาะทุ่งโปรงทอง ผมว่าเรื่องของเรื่องคือคนยังไม่เชื่อมั่นว่าประวัติศาสตร์ขายได้ อย่างพวกเรือนไม้อะไรพวกนี้ มีอาจารย์ทำวิจัยที่แม่ฮ่องสอนท่านหนึ่งบอกว่า บ้านไม้ที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น บานประตูอะไรแบบนี้ ถ้าอยากดำเนินการปรับปรุงหรือจำลองขึ้นมาต้องให้เทศบาลอุดหนุนเรื่องนี้ แต่เราเองก็อุดหนุนเขาไม่ได้ เรื่องทำชุดบ้านไม้เลยไม่เกิด ผมยังเสียดายว่าถ้าได้เขามาก็จะขายได้เรื่องบ้านไม้ได้อีก ผมว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไม่ต้องลงทุน บ้านทะเลน้อยเข้มแข็ง เขาขายประวัติศาสตร์ได้อย่างพระเจ้าตาก แต่ประแสเหมือนเอาเร็วๆ ก็พยายามจะขายอะไรที่ง่ายก่อน ผมอยู่กรุงเทพฯ มาพอสมควร มุมมองที่คนพื้นที่มองกับคนข้างนอกมองตอนนี้มองคนละอย่าง คนประแส อยากได้แบบคนประแส แต่พอนักท่องเที่ยวมาก็อยากได้แบบนักท่องเที่ยว เลยยังไม่สำเร็จ มองกันคนละชุดการมอง”

 

คุณภาณุกล่าวว่า “ประแสเพิ่งจะมีคนเดินเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถ้าเราไม่ดึงแหล่งท่องเที่ยวเข้ามา ประแสก็ปิดประตูเหมือนพังราด เกาะเปริดที่จันทบุรีเคยไปไหมเงียบหมด เกาะเปริดร้างพังราดก็ร้าง แต่ประแสได้ท่องเที่ยว”

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรคุณภาณุก็ยังย้ำว่า “คนประแสรวย ย้ำ หลายหนแล้ว รวยจริงๆ”

 

ขอบคุณ

คุณชัชวาลย์ เจริญพร อายุ ๗4  ปี ประธานสภาเทศบาลตาบลปากน้า ประแส

คุณภาณุ ธนะสาร อายุ ๕๕ ปี กานันตาบลปากน้าประแส

ดร.นาวิน เจริญพร อายุ 4๖ ปี รองนายกเทศมนตรี

พี่ลูกน้า เจ้าของลูกน้าโฮมสเตย์

ผู้ใหญ่เจี๊ยบ เจ้าของร้านผู้ใหญ่เจี๊ยบ ทุ่งโปรงทอง

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๘ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๖๑)

 

 

 

อัพเดทล่าสุด 15 พ.ย. 2561, 16:18 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.