หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
"สาวอวน" โดย กลุ่มผู้สูงอายุตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
บทความโดย จิราพร แซ่เตียว
เรียบเรียงเมื่อ 6 มิ.ย. 2561, 15:53 น.
เข้าชมแล้ว 2925 ครั้ง

"สาวอวน"

การแสดงทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชาวประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับการทำประมงชายฝั่งปากน้ำประแส และประมงอุตสาหกรรมที่ออกเรือไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน

 

“อุสาสาง ทางจร ตอนออกเรือ...

เนื้อร้อง และท่วงทำนองอันไพเราะนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนชุมชนวัดตะเคียนงาม กับเทศบาลตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในการที่จะคิดค้นวิถีวัฒนธรรมอันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกอัตลักษณ์ตัวตนคนประแส จึงมาลงตัวที่การแสดงสาวอวนซึ่งเป็นการฟื้นสำนึกร่วมของคนประแส จากภาพจำที่ชินตาในอดีตผู้ชายนุ่งกางเกงจีน ร้องฮุยเรฮุย ช่วยกันสาวอวน ผู้หญิงนุ่งโสร่ง คอกระเช้า ลากเกี๊ยะเดินก๊อกๆ บนไม้กระดานสะพานหาบปลาไปขายสู่การแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อสาธารณชนในปัจจุบัน 

 

 

“จากวิถีชุมชน สู่การแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

การแสดงสาวอวน เราทำให้ดูในลักษณะที่ว่าถ้าคนเค้าต้องการรู้ว่าวิถีบ้านเราเป็นยังไง ไม่ใช่ไปรำเปื้อนเปรอะ เป็นรำโชว์ในงานสำคัญๆ อย่างนี้เห็นว่าจะทำหนังสือ เราทำให้ แต่ถ้าว่าอยู่ๆ จะมาจ้าง จะให้เรารำ เราไม่เอานะ” 

 

นอกจากจะรวบรวมสมัครพรรคพวกกลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปากน้ำประแสมาจัดแสดงแบบเฉพาะกิจให้พวกเราบันทึกเทปเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักประแสมากขึ้นแล้ว คุณป้าศรีวรรณ  รำพึงกิจ รองประธานกลุ่มผู้สูงอายุฯ และคุณป้าไพเราะ ชัยชล สมาชิกกลุ่มฯ ยังใจดีมีเวลาให้พวกเราล้อมวงพูดคุยไต่ถามความเป็นมาเป็นไปของการแสดงชุดนี้ด้วย

 

สาวอวนดัดแปลงมาจากวิถีชีวิตของชาวประมง ที่เช้าๆ สามีต้องออกเรือหาปลา ภรรยาต้องอยู่ที่บ้านรอ ผู้ชายจะลากอวนมา เมียก็เอาปลาไปขาย เป็นวิถีชีวิตแท้ๆ ของชาวประแส เราเลยคิดค้นขึ้นมาว่าบ้านเราไม่มีอะไรนะ เลยทำรำสาวอวนขึ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาดูผลงานของเราว่าประเพณี วิถีชีวิตบ้านเราเป็นแบบนี้ มันมีหลายอย่าง มีจั่น มีลอบ มีแห มีอวนลาก อวนลอย ตกปู มีหลายอย่าง เช้าก็ต้องออกหากิน เวลานี้ก็มีคราดหอยตลับ หอยปากเป็ดที่เค้าเอาไปดองขาย แล้วก็มีการยกยอ ได้เคยมาทำกะปิ กะปิของเรารับรองได้ว่าไม่มีอะไรเจือปน เคยแท้ๆ ยกยอได้ เราจะเอาเคยไปต้มแล้วเอามาตากแห้ง แล้วเอามาทำยำก็ได้ เอามาใส่น้ำจิ้มมะม่วงน้ำปลาหวาน 

    

การสาวอวน ไม่ใช่เรือเล็กแบบสองสามีภรรยา แต่จะเป็นสามีออกไปหลายๆ คนพร้อมกัน เรืออวนล้อม ผู้ชายเป็นคนสาวอวน ผู้หญิงก็จะเป็นคนหาบปลา ขายปลา 

 

ท่าทางในการแสดงก็มาจากการเลียนแบบการสาวอวนจริงๆ เพลงฮึยเรฮึยนี่ก็เหมือนกัน คือว่าเวลาเค้าสาวมันจะฮึกเหิม เรือลำนึงประมาณสิบยี่สิบคนแล้วแต่ จะมีการตะโกนฮึยเรฮึยแล้วมันก็จะฮึกเหิม ไปได้สนุกสนานไม่มีการเหนื่อย ผู้หญิงรอเอาปลาไปขาย แต่ถ้าเรือลำเล็ก ภรรยาก็ไปด้วย แบบครอบครัว พ่อแม่ลูกช่วยกัน เรือลำเล็กๆ มีอวนลอยเล็กๆ ลอยปลาทู 

เนื้อหาเพลงนั้น ทางเทศบาลฯ กับโรงเรียนวัดตะเคียนงามจัดทำเนื้อเพลงขึ้น แล้วไปจ้างคนทำทำนองมาให้   ปลายปีที่แล้วเริ่มให้นักเรียนนำไปแสดงในงานถนนสายวัฒนธรรม การแสดงของเด็กๆ มีความอ่อนซ้อยกว่า เป็นการรำไทยตามแบบนาฏศิลป์ แต่เราชาวบ้านมาดัดแปลงให้เหมือนกับพื้นเพดั้งเดิมจริงๆ ถ้าเรามัวแต่รำอ่อนซ้อยอย่างนี้หากินไม่ได้ คนแก่หนีหมด ไม่สนุก เอาให้คึกคักเหมือนเดิม เค้าสอนอยู่สองวัน ของเค้าเหมือนรำไทยเอิงเอย ของเค้าเอาแบบผู้หญิงร้อง แต่เราเอาแบบผู้ชายร้อง จังหวะเร็วกว่า ท่าเราก็มาคิดกันเอง คนแก่มันแข็ง เอาตามสบายดีกว่า ไม่ใช่หาคนง่ายนะ หาคนแก่มารำก็ยาก

 

การจะแสดงในงานสำคัญแต่ละครั้ง เราต้องมีการซักซ้อมเรื่อยๆ ให้พร้อมเพรียง  ท่าตอนเริ่มต้นคือการแสดงถึงวิถีชีวิตของคนประแสว่ามีการทอดแหหาปลา ต่อไปเราต้องการทำอย่างนี้ มีจั่น มียอมายก  ต้องหางบมาอีกนิดนึง เราทำเอง อวนต้องมานั่งขึ้นนั่งเย็บ หรืออย่างแหก็มีคนบริจาคมาให้ ปลามีคนบริจาคมาให้  ต้องเอาอย่างนี้เราไม่มีทุน บางทีไปเต้นที่ไหนที่งานใหญ่ๆ ก็บอกเค้าว่าขอแค่ค่าซื้อเสื้อผ้า  ชุดที่ใส่คราวนี้ ของพวกประมงเค้าออกให้เรา อย่างเราไปแสดงที่ระยองก็ชุดอย่างนึง แสดงให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ดูก็แต่งชุดอีกอย่างนึง  คืออย่าซ้ำ แต่ละครั้งที่แสดงคือเปลี่ยนชุดให้ไม่ซ้ำ นอกจากที่แสดงให้ดู ยังมีชุดแบบเป็นกางเกงแดงเสื้อขาว ตอนกรมประมงมาดู คนเยอะ ถ่ายจอใหญ่คนดูเป็นพัน ทีแรกสั่น

 

ตามเพลงตอนร้องขึ้น เออ เอย เค้าจะเล่าถึงวิถีชีวิตว่าหากินยังไง เลยคิดว่าเข่งเรามี ก็หาแห เอามาทอด แต่เป็นปลาพลาสติกที่เค้าแขวนๆ ตอนหลังมาคิดว่าปลาพลาสติกไม่สวย เราเลยเปลี่ยนใหม่เป็นอย่างอื่น ชุดและท่าเต้นป้าเป็นคนคิดเอง 

 

วิถีเดิมนุ่งโสร่ง เสื้อคอกระเช้า ไม่ก็คอกลมแขนกุด เป็นคอกระเช้าโบราณ คอกลม ผ่ามาอย่างนี้ แล้วก็ผ้าถุง ใส่เกี๊ยะเดินก็อกๆ สมัยโบราณ ไปขายปลาก็ใส่อย่างเนี้ย ผู้ชายใส่กางเกงจีน บางคนถอดเสื้อ เราเป็นผู้หญิงมาเล่นเต้นก็ต้องใส่เสื้อ” 

 

นอกจากการแสดงสาวอวนแล้ว ประแสยังมีของดีอื่นๆ ทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาร่วมเรียนรู้ชุมชน  อาทิ ทุ่งโปรงทอง อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส อาคารบ้านเรือนริมน้ำ เรื่องราวประวัติศาสตร์สังคม รวมถึงรอยยิ้มและน้ำใจไมตรีของผู้คน ซึ่งรอทุกท่านอยู่ที่ปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

 

ขอขอบคุณ

กลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปากน้ำประแส

คุณศรีวรรณ รำพึงกิจ  รองประธานกลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปากน้ำประแส

คุณไพเราะ  ชัยชล กลุ่มผู้สูงอายุเทศบาลตำบลปากน้ำประแส

คุณภาณุ  ธนะสาร กำนันตำบลปากน้ำประแส

พี่หน่อง เจ้าของร้านเจ๊หน่องแซ่บเว่อร์ 

 

 

 

อัพเดทล่าสุด 29 มิ.ย. 2561, 15:53 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.