หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ร้านยาแผนโบราณถนอม บุณยะกมล
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 17 พ.ค. 2561, 15:10 น.
เข้าชมแล้ว 5561 ครั้ง

ภาพของร้านยาแผนโบราณถนอม บุณยะกมลในอดีต (ภาพ : พินิจ สุทธิเนตร-บ้านนราศิลป์)

 

บริเวณสี่แยกถนนหลานหลวงตรงข้ามกับนิรามัยการแพทย์ เราจะมองเห็นตึกแถว ๔ ชั้น ๓ คูหา สังเกตสักนิดจะเห็นป้ายสัญลักษณ์เป็นรูปฤาษีถือไม้เท้า(ฤาษีออกธุดงค์)  อันเป็นป้ายสัญลักษณ์ดั้งเดิมของร้านยาแผนโบราณถนอม  บุณยะกมล ซึ่งแต่ก่อนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเป็นเรือนไม้ ต่อมาเมื่อเริ่มผุพังจึงปรับมาสร้างเป็นตึกแถวอย่างที่เห็นทุกวันนี้  

 

 

ร้านยาแผนโบราณ ถนอม บุณยะกมล  รับสืบทอดสูตรการปรุงยาที่ได้รับมอบมาจากพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี(สุ่น สุนทรเวช) แพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ต่อเนื่องมาจนตอนนี้นับเป็นรุ่นที่สาม

 

  

เมื่อก่อนที่นี่จะเป็นหน้าร้านและที่รักษาด้วย มีตัวยาเยอะเริ่มมาเงียบเมื่อสัก ๒๐ ปีที่ผ่านมา ตัวยาบางตัวก็เลิกผลิตเพราะหาซื้อวัตถุดิบไม่ได้  บางตัวที่ตัวยายังคงสภาพและพอหาซื้อวัตถุดิบได้ก็ยังคงทำตามตำรายาเดิมและขายที่นี่แห่งเดียวไม่มีสาขา  แต่ก่อนจะมีเด็กมารอกวาดยารู้จักกันในชื่อยาแสงหมึกเป็นยาผงสีดำผสมกับน้ำมะนาวและเกลือตามสัดส่วนนำมากวาดคอเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าขาว แก้ไข้ทราง และช่วยลดการระคายคอ ยาเขียวและยาขับหรือกระทุ้งไข้อิสุกอิใส ที่ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าต้องให้อิสุกอิใสขึ้นเม็ดเต็มที่จะได้ไม่ขึ้นซ้ำอีก เมื่อแผลแห้งเป็นสะเก็ดก็ต้องใช้ควบคู่กับยาทาแก้คันโดยนำมาผสมน้ำใช้ขนนกคนให้เข้ากันแล้วนำมาทาหรือแต้มที่รอยแผลจะทำให้แผลเป็นค่อยจางหายไป ยาขับน้ำคาวปลา ใช้สำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร ยาขับน้ำเหลืองเสียจะใช้สำหรับคนที่น้ำเหลืองไม่ดีหรือใช้ในช่วงที่เรียกว่าเด็กยืดตัว และยาเทพชุมนุมเป็นยาที่ทำยากมากต้องเอาเม็ดยามากลิ้งบนแผ่นทองซึ่งทางร้านก็ยังมีจำหน่ายอยู่ อีกตัวหนึ่งคือยาเทพมงคลที่จะคล้ายกันกับยาเทพชุมนุม แต่เทพมงคลสำหรับเด็กที่ลิ้นเป็นฝ้าขาว เอายามาบดขยี้แล้วป้ายที่ปลายลิ้นเด็กก็จะเลียลิ้นก็จะหายจากฝ้าขาวแล้วเด็กจะกินนมได้ดีขึ้น  ยาหอมสายจันทร์ใช้กินกับน้ำร้อนพออุ่นแก้จุกเสียด 

 

ยาเม็ดดำปิดทอง เป็นยาเม็ดดำที่ต้องใช้แผ่นทองหุ้ม (ไม่ได้ผลิดแล้ว)

ยาขับน้ำคาวปลา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจุบันยาบางตัวที่หมดและส่วนผสมวัตถุดิบยังหาได้ทางร้านก็ยังปรุงอยู่ แต่สมุนไพรบางตัว เช่น โกฐสอ เราจะใช้เหง้า ช่วงหนึ่งหายากมากแต่ตอนนี้เริ่มหาได้มากขึ้นเพราะเริ่มกลับมาปลูกกัน  หรือใบกะเพราะแดงก็จะหาซื้อโดยเอามาล้างและตากแห้ง ถ้าเป็นของสดอย่างเหงือกปลาช่อนหรือหางปลาช่อนก็ต้องมาตากและอบให้แห้ง แล้วจึงทำการสะตุจนเป็นผงละเอียด

 

ส่วนผสมที่เก็บรักษาไว้

เส้นผมเผา ผ่านกรรมวิธีสะตุ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรรมวิธีการสะตุในสมัยโบราณจะใช้ฝาละมี ๒ ฝา (ฝาละมีคือหม้อหุงข้าวที่เป็นหม้อดินมีฝาปิด) นำเอาสิ่งของที่เราจะสะตุถ้าเป็นเกลือหรือสารส้มก็ต้องทุบให้แตกเป็นชิ้นเล็ก แล้วใส่ฝาละมีทีละน้อยตั้งไฟอ่อนๆ จึงเอาฝาละมีอีกฝาปิด จนสิ่งของที่เราต้องการสะตุละลายจนหมดปล่อยให้เย็นจนเป็นก้อนแข็ง  เมื่อจะใช้จึงนำมาขูดหรือตำแล้วใส่แล่งหรือตะแกรงร่อนกรองจนเป็นผงละเอียด(เหมือนเกลือป่นในสมัยปัจจุบัน) ส่วนที่เหลือก็สามารถนำมาทำจนหมดแล้วเก็บรักษาไว้เป็นส่วนผสม

 

เกล็ดพิมเสนตัวผู้จะเป็นแฉก ส่วนตัวเมียจะเป็นรูปร่างกลม

ขนเม่น 

กระดูกงู

กำมะถันแดง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ยาบางสูตรทางร้านก็ไม่ได้ทำการผลิตต่อเพราะส่วนผสมบางชนิดไม่สามารถหาได้และบางชนิดก็เป็นของต้องห้าม แต่ยังคงเก็บรักษาส่วนผสมที่ยังพอมีอยู่บ้างในร้านไว้ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ เช่น เส้นผมเผา กระดูกงู เกล็ดตัวนิ่ม กำมะถันแดง ขนเม่น กระดองเต่า เขากวาง ลิ้นทะเล กากของฝิ่น

 

ยาแผนโบราณของทางร้านถนอม บุณยะกมล จะผลิตในจำนวนไม่มากนักเพื่อขายให้กับลูกค้าประจำเก่าแก่ดั้งเดิมไม่ได้วางขายตามร้านค้าทั่วไปเพราะยังผลิตตามแบบวิธีโบราณกระทั่งการบรรจุและการทำซองก็ยังคงเป็นงานแบบแฮนด์เมดเช่นเดิม

 

ยาหอมลม

ยากวาดคอที่รู้จักกันในชื่อยาแสงหมึก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทางร้านยังคงมีความหวังในการสืบทอดสูตรตำรายาโบราณนี้แก่รุ่นลูกหลานต่อไปและหวังอยากให้ร้านยังคงตั้งอยู่ได้ ณ สถานที่เดิมแห่งนี้ ถึงจะอยู่ในสภาวะที่ต้องรอการเจรจากับรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ชนิดที่กำแพงร้านหายไปด้านหนึ่งและต้องรอการปรับพื้นที่หลังจากการก่อสร้างอันมีข้อตกลงว่าจะปรับพื้นที่คืนร้านให้เหมือนเดิม....ก็ยังหวังให้คงอยู่

 

ส่วนหนึ่งจากคำสัมภาษณ์ของคุณรัตนา  มกรสุต : พระนคร ๑๐๑ ครั้งที่ ๒

 

 

อัพเดทล่าสุด 17 พ.ค. 2561, 15:10 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.