หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
คุณยายบรรจบศิลป์ อิสระ กับบ้านพระศรีสาครที่ชุมชนหลังวัดราชนัดดา
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 16 พ.ค. 2561, 09:27 น.
เข้าชมแล้ว 5661 ครั้ง

 

บ้านไม้สักโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี ภายในชุมชนวัดราชนัดดา หลังนี้เดิมเป็นของคุณนายละมูน (ไม่ทราบนามสกุล) เจ้าของที่และเป็นผู้สร้าง ตัวบ้านซึ่งเป็นไม้สักทั้งหลังส่วนทีเป็นเสาของบ้านไม่ได้ขุดหรือฝังแต่ใช้อิฐมอญก่อขึ้นมาเป็นเสารับกับตัวบ้าน ปลูกบ้านเสร็จก็ให้ฝรั่งเช่า เมื่อฝรั่งย้ายออกไปมหาอำมาตย์โทพระศรีสาคร(ช้อย พันธุมสุต) จึงซื้อไว้และย้ายครอบครัวมาอยู่ที่นี่จนปัจจุบัน

บ้านหลังนี้เป็นบ้านโบราณที่ยังคงอยู่ภายในชุมชนวัดราชนัดดาและมีเรื่องเล่าของพื้นที่รอบๆ และผู้คนในสมัยนั้น

 

 

คุณยายบรรจบ ศิลป์อิสระ อายุ ๙๐ ปี บุตรสาวของมหาอำมาตย์โทพระศรีสาคร(ช้อย พันธุมสุต) และนางศรีสาคร(ใกล้ พันธุมสุต) นามสกุลพันธุมสุตเป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๖

 

  

 

พระศรีสาคร(ช้อย พันธุมสุต) สมัครเข้าเป็นนักเรียนราชการกรมสารบาญชี(กรมบัญชีกลาง) กระทรวงพระคลัง ต่อมาจึงย้ายมาเป็นผู้ตรวจการกรมการบาญชีในกรมสรรพากรจังหวัดหลายจังหวัดและทางภาคอีสาน แล้วจึงย้ายกลับมาที่กรุงเทพฯ จนเกษียณท่านก็อยู่ที่บ้านหลังนี้สืบมาจนถึงลูกหลาน

 

คุณยายในวัย ๙๐ ยังสดชื่นแข็งแรง  เล่าให้ฟังว่าเดิมนั้นบ้านคุณยายอยู่ตรงซอยบริเวณหลังนิทรรศรัตนโกสินทร์(ปัจจุบัน) แถวนี้จะเป็นสวนมีท้องร่อง ป่าไผ่ งู ชะนีชุกชุม เวลาชะนีหลุดก็วิ่งหนีกันอุตลุด บ้านผู้คนมีไม่กี่หลังค่อนข้างเงียบมาก ตรงหน้าบ้านนี้ก็เป็นคลองใหญ่ขนาดที่เรือสำปั้นบรรทุกน้ำปลา ๑๐-๒๐ ไห เข้ามาขายซึ่งแนวคลองสิ้นสุดตรงทางเลี้ยวด้านหลังนิทรรศรัตนโกสินทร์ คลองนี้ยาวไปถึงผ่านฟ้าและออกไปเทเวศน์ได้ ต่อมาหลายสิบปีเมื่อคลองไม่ได้ใช้และตื้นเขินลงเทศบาลจึงได้ตัดเป็นถนน

 

 

บรรยากาศโดยรอบบ้านสมัยคุณยายยังเด็กอยู่ใกล้กับวัดราชนัดดานั้นเงียบมากพระก็ไม่ค่อยมีวัดถึงได้พัง ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัยช่วงหลังจึงเริ่มมีผู้คนขึ้นบ้าง ถนนราชดำเนินที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายจะเห็นรถวิ่งสัก ๒ คัน อาคาร ๒ ข้างตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงโรงแรมรัตนโกสินทร์ก็ไม่มีคนอยู่ ค่าเช่าก็ไม่แพงต่างกันกับสมัยนี้มาก บริเวณวัดราชนัดดาเด็กๆ ก็จะไปวิ่งเล่นกันแถวนั้นโลหะปราสาทยังเป็นสีอิฐธรรมดายังไม่ได้บูรณะไม่ค่อยมีคนกล้าขึ้นไป ถ้าจะขึ้นไปก็ต้องระวังเพราะขั้นบันไดคนโบราณเขาสร้างแผ่นไม้สักจะใหญ่ราวศอกและช่องบันไดห่าง เด็กตัวเล็กก็ต้องปีนข้างล่างก็เป็นซากอิฐปรักหักพังเวลาปีนขึ้นไปก็ต้องระวังตก มีงูเยอะมาก หญ้าคาก็สูงเทียมอก บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ก็ไม่มีคนถนนจะเป็นลาดยางกว้าง ๒ เมตรกว่าทั้งสองฝั่งจะเป็นดินแดงและมีรถเจ๊กเป็นคนจีนรับจ้างลาก ก๊อกน้ำประปาสมัยก่อนก็จะเป็นเหล็กสูงขนาดเมตรมีตัวจับดึงขึ้นน้ำก็จะไหล เมื่อก่อนนั้นใต้อาคารทุกหลังบนถนนราชดำเนินคุณยายเล่าให้ฟังว่าสมัยเด็กคุณยายจะชอบไปวิ่งเล่นใส่เสื้อคอกระเช้านุ่งผ้าซิ่นมุดลงไปใต้อาคารน้ำใสมากจนเล่นน้ำได้สบายทุกหลังเพราะเขาก่อซีเมนต์เป็นร่องมีน้ำใสเย็นเด็กแถวนี้ก็จะชอบไปเล่นกัน จนถึงช่วงที่สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยคุณยายก็ไปวิ่งเล่นเก็บกระเบื้องเล็กๆที่ติดประดับกลับมาที่บ้านทุกวัน จนถึงตอนที่ยกพานอนุสาวรีย์ขึ้นไปด้วยเชือกคุณยายก็ยังไปยืนดูทุกวัน สมัยก่อนแถวนี้มีบ้าน เพียง ๓-๔ หลัง โจรขโมยและรถราก็น้อยไม่อันตรายการเดินทางใช้เท้าเดินเป็นส่วนมาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลเล่นว่าวที่สนามหลวงสนุกมากจะมีเต้นท์ของทหารมาเล่นแตรวงใครชอบอะไรก็ไปยืนดูยืนฟังกันพร้อมกับกินอ้อยควั่นนี่คืออะไรที่เยี่ยมที่สุดแล้ว เพราะนานครั้งจะมีงานจัดสักทีนึงหรืออย่างงานฉลองรัฐธรรมนูญ เที่ยววังสราญรมย์ งานพระรูป จะเดินกันสบายมากคนเยอะมากก็คือร้อยกว่าคนนี่ถือว่าเยอะแล้ว คุณยายก็จะไปเที่ยวดูร้านรวงต่างๆ ผู้คนแต่งกายงดงาม โจรขโมยน้อยมากวิ่งเล่นได้อย่างสาย

 

  

 

คุณยายบรรจบ เรียนหนังสือจบชั้นมูล(ระดับอนุบาล) ที่โรงเรียนพร้อมวิทยาอยู่ติดกับสนามมวยราชดำเนิน(สมัยคุณยายยังไม่มีสนามมวย) เดินไปโรงเรียน ไปและกลับโดยมีนักโทษที่คุณพ่อได้รับอนุญาตให้มีในสมัยนั้นมาช่วยรับใช้ดูแล ต่อมาก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยาจนถึง ม.๕ ซึ่งแต่ก่อนจะอยู่ฝั่งนี้(บริเวณที่ตั้งของบริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด) เป็นตึกชั้นเดียวติดดินที่เก็บวัตถุระเบิดหลังคาเป็นอิฐลอน นั่งเรียนไปก็จะมีงูเขียวห้อยลงมา พอถึง ม.๖ ฝั่งนี้ก็รื้อไปจึงย้ายไปเรียนฝั่งที่เป็นโรงเรียนสตรีวิทยาในปัจจุบัน ว่างอยู่ ๑ ปี จึงไปเรียน ม.๖(พิเศษ) ที่โรงเรียนราชินีบนและสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนได้ไม่ถึงปีเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงต้องหยุดเรียนและย้ายไปอยู่บ้านญาติ(แพ) ตรงหน้าวังโบราณที่จังหวัดอยุธยา เมื่อสงครามสงบจึงกลับมาบ้านทำให้ชีวิตคุณยายต้องเปลี่ยนไป น้องสาวที่รู้จักกับครูซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีแนะนำให้คุณยายไปเรียนลีลาศดีกว่ากลับมาอยู่บ้านเฉยๆ จึงไปเรียนอยู่ ๕-๖ เดือน มีความสามารถเกินเหตุเข้าประกวดและเต้นโชว์ตามงานต่างๆ จนมีชื่อเสียง กลุ่มทหาร ตำรวจ ก็จ้างไปเป็นครูตั้งแต่นั้นคุณยายจึงเป็นครูสอนลีลาศ เมื่อก่อนสอนบนอาคาร ๒ ชั้นบนสุด (ธนาคารทหารไทยเก่า) พออายุมากจึงเลิกสอนและกลับมาอยู่บ้านจนปัจจุบัน

 

 

สำหรับบ้านหลังนี้ยังอยู่ในความดูแลของทายาท ยังมีคนอยู่อาศัยบริเวณรอบบ้านอาจจะเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ตัวบ้านหลังนี้จะไม่ปรับเปลี่ยนอะไรอยากจะรักษาคงสภาพบ้านไว้ในแบบเดิม.

 

ส่วนหนึ่งจากคำสัมภาษณ์คุณยายบรรจบ ศิลป์อิสระ. ชุมชนวัดราชนัดดา #พระนคร ๑๐๑ ครั้งที่ ๓

 

ที่มา : จากเพจ facebook มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ / พระนคร ๑๐๑

 

 

อัพเดทล่าสุด 17 พ.ค. 2561, 09:27 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.