หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ห้างใบชาอ๋องอิวกี่ ตรามังกร และตราปั้น
บทความโดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
เรียบเรียงเมื่อ 16 พ.ค. 2561, 14:33 น.
เข้าชมแล้ว 12117 ครั้ง

 

(๑) ห้างใบชาอ๋องอิวกี่ ตรามังกร และตราปั้ง(กาน้ำชา)

ห้างใบชาอ๋องอิวกี่ ตรามังกร และตราปั้น(กาน้ำชา) ตั้งอยู่คู่กับแยกสี่กั๊กเสาชิงช้ามากว่า ๕๐ ปี สมัยก่อนจะมีวงเวียนทรงกลมซึ่งเป็นป้อมตำรวจตั้งอยู่ตรงกลาง ข้างๆ ป้อมมีเก้าอี้หินเรียงรายอยู่สามสี่ตัว กับกระถางต้นไม้ที่คุณตำรวจจะเดินรดน้ำทุกวัน  เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นตึกเล็กๆ สองชั้นเรียงกัน ห้างใบชาอ๋องอิวกี่เป็นตึก ๓ ห้อง ประตูร้านลึกเข้าไปด้านหลัง มีช่องเพดานที่เปิดและใช้รอกดึงสำหรับส่งชา ใกล้กันอีกตึกจะเป็นร้านใบชาซุ้ยติ้น ตรานกอินทรีย์   

.

คุณนพพร  ภาสะพงศ์ หรือพี่บี๋  ทายาทห้างใบชาอ๋องอิวกี่ในรุ่นหลานเล่าให้ฟังว่าก๋งเป็นคนจีนฮกเกี้ยน บรรพบุรุษของก๋งเป็นตระกูลที่ทำชามาแต่ดั้งเดิม ออกมาจากเมืองจีนตอนอายุ ๑๗-๑๘ ปี มาถึงเมืองไทยตอนแรกยังไม่ได้ทำใบชาขายสักพักท่านก็กลับที่เมืองจีนทำใบชามาจากอำเภออันเค่ยซึ่งเป็นสถานที่มีชื่อเสียงเรื่องของการทำใบชามาก และนำใบชากลับมาขายที่เมืองไทยโดยก๋งได้มาเช่าตึกนี้และต่อมาก็ได้ซื้อเป็นของตัวเอง ซึ่งย่านนี้เป็นย่านการค้าทั้งหมดคึกคักมาก รถรางสองเส้นก็มาเจอกันตรงแยกนี้ซึ่งถือเป็นจุดใหญ่ ตรงกลางจะมีวงเวียนรถก็ต้องมาวน เป็นย่านการค้าที่เป็นย่านคนจีนที่หลากหลาย มีทั้งร้านขายรองเท้า ของกินมากมาย ถือเป็นย่านจีนที่เกิดมาก่อนเยาวราช

.

ลักษณะของการนำเข้าสินค้าสมัยยุคก๋งจะนำชาเข้าจากเมืองจีนพอจีนปิดประเทศ ก็นำเข้าเข้าจากไต้หวัน เพราะไต้หวันทำชาเหมือนกันขายอยู่พักใหญ่จนจีนเปิดประเทศอีกครั้งเราจึงได้ชาจากเมืองจีนกลับเข้ามาขาย ซึ่งตอนเปิดประเทศใหม่ๆ ชาที่จีนราคาถูกมาก เราก็สั่งมาทั้ง ๒ ที่เลย ซึ่งชาสองประเทศนี้เป็นชาจีนเหมือนกันแต่รสชาติไม่เหมือนกัน เป็นรสชาติตามรสนิยมของแต่ละประเทศ พอมาถึงรุ่นคุณพ่อพี่บี๋ซึ่งก็เป็นนายกสมาคมใบชาก็ขึ้นไปดูไร่ชาที่เชียงใหม่ต้องขี่ลาเข้าไปในพื้นที่เพื่อเอาชาลงมาขายตั้งแต่ก่อนที่บ้านเราจะนิยมการปลูกชา  และ ได้รับการช่วยเหลือจากคนไต้หวันที่ปลูกชาอูหลงมาช่วยสอนซึ่งคนไทยก็ทำได้ดีชามีคุณภาพและรสชาติที่ดีขึ้น

 

คุณนพพร  ภาสะพงศ์ (พี่บี๋) ทายาทห้างใบชาอ๋องอิวกี่ในรุ่นหลาน

 

ชาที่นำเข้ามาในสมัยพ่อกับก๋งเขาจะมีสูตรชาที่นำเข้ามา คือ ชาที่นำเข้ามา ๕๐๐ ลัง ก็จะมีเบอร์ ๑ มา ๕๐ ลัง เบอร์ ๒ มา ๕๐ ลัง เบอร์ ๓ มา ๑๐๐ ลัง เบอร์ ๔ มา ๖๐ ลัง แต่ละเบอร์รสชาติจะไม่เหมือนกันเอามาเป็นสูตรผสมชาออกมาเป็น ๑ ตัว เมื่อได้สูตรชาบางตัวอาจจะให้มีรสชาตินำกินเข้าไปแล้วชุ่มคอกลิ่นตาม แต่บางตัวจะให้กลิ่นนำรสตาม แล้วแต่จะให้คนผสมที่เรียกว่า “เถ่าชิ้ว” สมัยก่อนจะเก่งมากรู้ว่าชาแต่ละเบอร์ผสมออกมาจะได้รสชาติแบบใด ชาแต่ละร้านก็จะคิดสูตรของตนออกมา ซึ่งอันนี้คือสูตรที่ชาฝรั่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ในการผสมชาเอิร์ลเกรย์(Earl Grey Tea) ผสมชาดาร์จีริ่ง(Darjeeling Tea) ผมชาอิงลิช เบรกฟาสต์ (English Breakfast) พวกนี้คือชาที่อาศัยสูตรเขาก็จะใช้วิธีซื้อชาจากศรีลังกาหรือจีน ซึ่งเป็นชาซึ่งเป็นแบลคที เอามาแต่ละตัวและนำมาผสมสูตรออกมา บางทีเขาก็เอาไปอบกับสมุนไพรต่างๆ เช่น เบอการ์มอทต์ เปลือกส้ม เพราะฉะนั้นชาฝรั่งจะมีกลิ่นและอะไรที่แตกต่างออกไปจากลิ่นดั้งเดิมของชา แต่ชาจีนถึงแม้จะผสมไม่ได้ผสมกับสมุนไพร ความที่คนจีนกินชากันมาแต่ดั้งเดิมคนจีนจะกินชาเก่งมากไม่จำเป็นต้องอาศัยกลิ่นอะไรมาผสมกินเสร็จก็จะรู้เลยว่ารสเป็นอย่างไร กลิ่นเป็นอย่างไร ถึงจะผสมชาก็ผสมแต่เนื้อชากันเองล้วนๆ

.

สำหรับห้างใบชาอ๋องอิวกี่ยุคที่เฟื่องฟูที่สุดก็คือยุคของก๋งวิธีการขายสมัยนั้นคือขายหน้าร้านอย่างเดียว  สมัยพ่อต้องมีหน่วยรถวิ่งต่างจังหวัดส่งไปท่าเตียนเพื่อกระจายสินค้าไปตามจังหวัดต่างๆ เมื่อเกิดบริษัทการค้าใหญ่ท่าเตียนก็เงียบไป ซึ่งร้านค้าใหญ่เครดิตเทอมยาวมากไม่คุ้ม เมื่อถึงรุ่นพี่บี๋เรียนจบกลับมาวิธีขายที่บ้านเราตามยี่ห้อของแต่ละร้านลูกค้าเก่าที่เคยกินชาอยู่แล้วแต่รุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วจึงคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เป็นที่รู้จัก ก็ไปเปิดขายตามเชลล์ของซุปเปอร์ที่ห้างเยาฮันก่อนเป็นห้างแรกและสยามพารากอนเป็นที่ต่อมา เราเปิดเป็นร้านชามีเคาน์เตอร์ชา จัดทำตู้และอุปกรณ์ชงชาสวยๆ เข้าไปตั้งขายและบอกเล่าเรื่องราวของชาแต่ละชนิดซึ่งจะมีตำนานของชาบอกไว้  ซึ่งได้รับการตอบรับจากเด็กรุ่นใหม่ๆ เป็นอย่างดี.

 

 

(๒) การให้ความรู้เกี่ยวกับชาจีน

ในช่วงการทำตลาดใหม่ทางห้างใบชาอ๋องอิวกี่ ได้เลือกชา ๔ ชนิดที่จะมาทำตลาด คือ อูหลง ทิกวนอิม จุยเซียน ชาดอกไม้ เพราะเป็นชาที่มีบุคลิกแตกต่างกันและเป็นชาที่สามารถแยกประเภทคนกินชาได้ชัดเจน เช่น ชอบกลิ่น ชอบรสชาติ การแยกประเภทชาสามารถทำได้หลายอย่างแต่จำง่าย คือ การแยกตามสีของน้ำ เช่น ชาเขียว ชาขาว ชาแดง

.

ชา เป็นต้นไม้ที่แบ่งอยู่ในกลุ่ม Camellia sinensis var. sinensis ถึงจะเรียกว่าชา นอกเหนือจากนี้เช่น ชาใบหม่อน ชากุหลาบ ชาตะไคร้ พวกนี้ไม่ใช่ชา อย่างชากุหลาบถือเป็น flower ใบหม่อน ชาตะไคร้ ถือเป็น เฮิร์บ วิธีการกินชงเป็นน้ำดื่มเขาก็เรียกชาหมด แต่ถ้าชาแท้ๆ ที่มาจากต้นชาจริงๆ ต้องเป็นกลุ่ม Camellia sinensis var. sinensis เท่านั้น ตรงนี้คนจะงงคือทุกอย่างที่ชงมาดื่มเป็นชาหมด แต่ถ้าจะเป็นชาจริงๆ ของจีนเป็น Camellia sinensis  var. sinensis ของศรีลังกาเป็นชาอัสสัม (Assam Tea) Camellia sinensis var. assamica  คือเป็นกลุ่มของชาอัสสัมที่ชงดื่มเหมือนกัน  ซึ่งกลุ่มชาจีนที่อธิบายว่าจะมี สีขาว สีเขียว สีแดง จะมีชาเหลืองด้วยแต่ไม่โดดเด่นคนกินน้อย พอถึงชาดอกไม้ถ้านับจริงๆ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Camellia sinensis var. sinensis กลุ่มนี้  แต่มีคนกินถ้าเราอธิบายตามสีของน้ำ เราก็มีชาดอกไม้อีกตัว ที่อบกับดอกมะลิ อบกับดอกกุหลาบ ดอกพุทธ พวกนี้เวลาอบเสร็จเขาก็ร่อนเอาดอกไม้ออกเหลือแต่ชาซึ่งเป็นกลุ่ม Camellia sinensis var. sinensis เพียงแต่ไม่หอมต้องอาศัยกลิ่นดอกไม้มาอบให้หอม

.

ชามะลิที่เมืองจีนเขาจะปลูกมะลิไว้สำหรับอบชา เราจะเอาชาแห้งเทออกมาทั้งลังโดยเอาผ้าใบปูก่อน เทชา ๑ ตุย แล้วเอามะลิสดวางข้างบนอีก ๑ ตุย เกลี่ยให้เสมอกัน แล้วก็เทชากับมะลิซ้อนกันขึ้นไปแบบนี้แล้วพ่นน้ำคลุ้มผ้า มะลิเป็นดอกไม้เมื่อโดนความร้อนจากผ้าใบก็จะบานกลิ่นก็จะออกใบชาแห้งก็จะดูดกลิ่นมะลิเข้าไปพอเช้าเราก็เปิดผ้าใบออก เกลี่ยผสมกันแล้วเอาไปอบให้แห้ง แล้วแยกใบชากับมะลิออกจากกันเหลือเพียงใบชาอย่างเดียว ของที่อื่นเราไม่รู้แต่ของเราๆ จะใช้มะลิสดเหมือนกับที่เมืองจีน  ลักษณะของใบชาแต่ละตัวก็จะไม่เหมือนกัน  ใบเหยียด ใบม้วนขอดเป็นก้อนกลม วิธีการดมชา คือเอาจมูกดมเข้าไปที่ใบชาแล้วสูดหายใจเข้าและหายใจออกทำซ้ำสองถึงสามครั้งจะได้กลิ่นชาแท้ๆ ออกมาเป็นกลิ่นลึกไม่ใช่กลิ่นที่ลอยอยู่ในอากาศ อยากได้กลิ่นชาแท้เราก็ต้องดมแต่เวลาซื้อไม่ใช่ทุกร้านที่จะให้เราดมแบบนี้

 

 

การดื่มชานั้นเราต้องเคลียร์ลิ้นก่อนดื่มจึงจะได้กลิ่นจางๆ และรสชาติหวาน กลิ่นชาคุณภาพดีจะหอมเหมือนดอกไม้ ใบชาเป็นใบไม้ชนิดเดียวที่ไม่เหม็นเขียว การดื่มชาให้อมชาไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนจะกลืนจมูกเราจะได้กลิ่นชาหอมฟุ้งขึ้นมา ซึ่งปกติการดื่มชาเราต้องลวกใบชาก่อนน้ำที่หนึ่งจะยังไม่ออกกลิ่นและรส ต้องดื่มน้ำที่สองรสและกลิ่นจะออกมา สมัยก่อนเถ่าชิ้วจะต้องผสมชากันเวลาชิมชาเสร็จได้รสได้กลิ่นเขาก็จะบ้วนทิ้งไม่กลืนลงไปเป็นวิธีการเทสต์ชาเพราะในชามีคาเฟอีนหรือเตอิน ชาก็คือ “เต๊” ซึ่งในกาแฟและชาจะมีพอกันกินมาทำให้นอนไม่หลับ การดื่มชานั้นคนจะคิดว่าชาจีนก็เหมือนกันหมดแตกต่างกันที่ยี่ห้อเท่านั้น  แต่สำหรับนักดื่มชาจะดื่มตามความชอบที่มีต่อชาแต่ละชนิด

.

การเปิดตลาดใหม่ของห้างใบชาอ๋องอิวกี่ที่ควบคู่กับการให้ความรู้เกี่ยวกับชาจีน อาทิ ชนิดของชา วิธีการดื่มชา สำหรับลูกค้าถือเป็นวิธีการที่ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่ดีและถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่สำหรับวงการขายชา

 

 

(๓) นิทานตำนานชา

                                                        “เดือนสามสำเภามา      มีใบชาชาติจุหลัน

                                                    ถ้ำคู่อยู่เคียงกัน                มองให้เห็นเป็นปริศนา”

 

จากตอนหนึ่งของกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน  ทำให้พี่บี๋ทายาทรุ่นที่ ๓  แห่งห้างใบชาอ๋องอิวกี่ ค้นคว้าข้อมูลพบว่าชาจุหลันในกาพย์เห่เรือนี้เป็นชาที่มีชื่อเสียงของเมืองแต้จิ๋ว คือ เฟ่งหวงตันฉงจือหลันเซียง เป็นชาซึ่งรัชกาลที่ ๒ (ครั้งยังเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) แต่งชมภรรยา(เจ้าฟ้าบุญรอด) ท่านเป็นลูกสาวของเจ้าขรัวเงินเป็นคนจีนแต้จิ๋วค้าสำเภานำเอาชาแต้จิ๋วเข้ามาทานเอง และเจ้าฟ้าบุญรอดได้ทานชากับท่านพ่อเป็นประจำท่านก็นำชาตัวนี้มาชงถวายรัชกาลที่ ๒ ทรงเสวยและทรงโปรดแต่งไว้ในกาพย์เห่เรือฯ  ซึ่งคำว่าจุหลันน่าจะเพี้ยนมาจากจือหลัน เพราะคนแต้จิ๋วทำชาอยู่ตัวเดียวก็คือเฟิ่งหวงตันฉง 风凰单丛 ชาเฟิ่งหวงตันฉงนั้นมีหลายกลิ่นหนึ่งในนั้น คือ จือหลันเซียงเป็นชาที่มีประวัติมายาวนานมีกลิ่นหอมนุ่มมากรสชาติกลมกล่อม

  .

คนฮกเกี้ยนทำชา คนแต้จิ๋วซื้อ....คนจีนฮกเกี้ยนจะเป็นคนที่อยู่ทางตอนใต้และติดทะเล ในช่วงราชวงศ์ชิงจีนลำบากมากขนาดขุดดินขุดมันกินคนกลุ่มนี้ก็จะเอาเรือหนีออกมาจากทะเลจีนใต้แล้วไปมะละกา ปีนัง ส่วนหนึ่งขึ้นมาทางภูเก็ต ฉะนั้นจีนภูเก็ตจะเป็นจีนฮกเกี้ยนแทบทั้งหมด รวมทั้งอาหารการกินและการเรียกชื่ออาหาร  วิธีการเรียกชื่อขนมก็เป็นภาษาฮกเกี้ยน  จีนฮกเกี้ยนพวกนี้จะขึ้นมากรุงเทพฯ  ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นจีนแต้จิ๋วที่มากับพระเจ้าตาก(จีนหลวง) จีนฮกเกี้ยนเข้ามาทีหลังและจีนอื่นจึงทยอยกันเข้ามา  คนจีนแต้จิ๋วเป็นคนทำการค้าเก่งก็จะมีฐานะดีและซื้อของดีกิน คนแต้จิ๋วกินชาเก่งมากและซื้อชาคนฮกเกี้ยนกิน เพราะคนฮกเกี้ยนเป็นคนทำชา แถบมณฑลฮกเกี้ยนภูเขาที่ดังที่สุดคือบู๋อี๋ซัน [武夷山] จะเป็นภูเขาที่ทำชาดังที่สุดในประเทศจีน แม้กระทั่งจักรพรรดิเฉียนหลงอยู่ปักกิ่งยังต้องเดินทางลงมาบู๋อี๋ซันเพื่อมากินชาหลายรอบมากและได้เขียนตัวหนังสือพระราชทานไว้ อย่างชื่อ ต้าหงเผา [大红袍] ท่านก็เขียนพระราชทาน ชาอร่อยมาก  

 

 

จากการค้นคว้าเรื่องราวต่างๆ มากมายของชา ทำให้พี่บี๋อยากบอกเล่าเรื่องราวตำนานของชาแต่ละตัวว่ามีที่มาแบบไหน เพราะชาจีนมีหลายชนิด มีต้นกำเนิดต่างกัน กลิ่นรสสรรพคุณแตกต่าง อย่างชาอูหลงจะเป็นเรื่องของคนสวนชาไปเก็บชาที่สวนมีงูดำเฝ้าอยู่ เวลาเขาจะเก็บชาก็ต้องไปเคาะบอกงูดำว่ามาเก็บชาแล้วนะอย่าทำอันตรายอะไรเขา งูก็จะเลื้อยไปเมื่อเขาเอาชามาทำจึงตั้งชื่อชาตัวนี้ว่า “อูหลง” แปลว่า งูดำหรือมังกรดำ อูคือดำ หลงคือมังกร ที่มาของชื่อชาอูหลงจึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป  ส่วน “ทิกวนอิม”  จะมีนิทานหลายเรื่องแต่ที่คนจำได้ก็คือคนทำสวนชาตื่นเช้าจะไปสวนต้องผ่านศาลเจ้าแม่ทิกวนอิมเขาก็จะไปกวาดลานให้ท่านเป็นประจำ  ซึ่งเมื่อศาลเจ้าหลังคารั่วฝนตกน้ำก็สาดด้วยความรักและเคารพจึงจุดธูปบอกเจ้าแม่กวนอิมว่าถ้าวันหนึ่งข้างหน้าเขาร่ำรวยจะมาซ่อมศาลเจ้านี้  ปรากฏว่ากลางคืนเจ้าแม่กวนอิมเข้าฝันบอกให้ไปที่ถ้ำหลังศาลจะเจอสมบัติ เมื่อคนทำสวนชาตื่นขึ้นมาก็เดินไปถ้ำหลังศาลถ้ำนี้มีอากาศโปร่งเพราะสามารถเดินทะลุออกด้านหลังได้  เดินไปเรื่อยก็เจอหน้าผามีต้นชาขึ้นอยู่จึงขุดต้นชานี้กลับไปที่สวนทำต้นชาขยายพันธุ์ออกมาหลายต้นเมื่อต้นชาโตได้ที่ก็เก็บเอาใบมาตากเป็นใบชาแห้งใครมาก็ต้องกินปรากฎว่าโด่งดังมากจึงเรียกชื่อชา “กวนอิม” ความที่รูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมในศาลเจ้านั้นเป็นเหล็ก เหล็กก็คือตัว “เถี่ย” หรือตัว “ทิ” จึงตั้งชื่อชานี้ว่า “ทิกวนอิม” หรือ “เถี่ยกวนอิม” คนทำสวนคนนี้ก็ร่ำรวยขึ้นมาและนำเงินไปซ่อมศาลเจ้าตามที่ได้บอกเจ้าแม่กวนอิม  หรืออีกเรื่องนึงของใบชาทิกวนอิมคือจะเป็นใบชาที่หนาหนักทำเป็นใบชาแห้งแล้วจะมีน้ำหนักมากกว่าใบแห้งทั่วไป เวลาชงเป็นชาแล้วสีสันสดใสกลิ่นหอมบริสุทธิ์เปรียบประหนึ่งเจ้าแม่กวนอิม และใบชามีน้ำหนักเหมือนเหล็ก จึงตั้งชื่อว่า “กวนอิมเหล็ก”

.

“จุยเซียน”  จะเป็นชาที่เรียกว่าร๊อคที  [Rock Tea] คืออยู่ตามหน้าผา เติบโตตามหน้าผาหิน จุยเซียนต้องกินชาเก่า คือปกติชาจะเป็นต้นสูงแค่เอว(ต้นเตี้ย) ลำต้นกระจายออก แต่จุยเซียนลำต้นจะไม่เหมือนชาทิกวนอิม และถ้าจะกินจุยเซียนเขาจะไปหาชาต้นเก่ามาทำรสชาติจะมีมากกว่าเขาจะเรียกกันว่า “เหล่าจั้งจุยเซียน” บางคนที่กินชาเก่งจะซื้อทิกวนอิมลัง จุยเซียนลัง ผสมเองโดยเอาทิกวนอิม ๒ ส่วนและจุ้ยเซียน ๑ ส่วน ห่อไว้เป็นสูตรตัวเองทำแต่ละบ้านคือไม่เอาสูตรตามร้านแต่เขาผสมเอาเองไม่เหมือนกันเป็นรสชาติตามรสนิยม  อย่างคนฮ่องกง(จีนกวางตุ้ง) จะกินชาไม่เหมือนคนจีนแต้จิ๋วและคนจีนฮกเกี้ยนเขาจะกินชา “ผู่เอ๋อร์” เพราะอาหารกว้างตุ้งจะค่อนข้างมันเขาก็จะนิยมกินชาผู่เอ๋อร์เพื่อล้างไขมัน และชาผู่เอ๋อร์ก็มีคุณสมบัติช่วยลดคลอเรสเตอรอล ช่วยย่อยอาหารด้วย แต่เป็นชาที่มีกลิ่นแรงไม่ชวนดื่มรสชาติเข้มข้นมาก ต้องเป็นคนที่ดื่มชามาสักพักนึงจึงจะดื่มได้ ชาผู่เอ๋อร์เป็นชาแผ่นกลมมี ๗ แผ่น ห่อด้วยใบไผ่ผ่านกรรมวิธีการผลิตแบบโบราณด้วยการหมักไว้ในเข่ง ตระกร้าสานด้วยไม้ไผ่และรองด้วยใบตองอัดเป็นก้อนตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดโต๊ะกลมแล้วเก็บไว้ประมาณ ๓ -๕ ปีจึงจะเอาออกมาขาย สมัยก่อนจะเรียกชานี้ว่าพ่อทำให้ลูกขายคือพ่อทำเสร็จแล้วเก็บไว้ให้ลูกขายเพราะต้องเก็บนานกว่าจะขายยิ่งเก่าก็จะยิ่งราคาแพง และขายได้กระทั่งกระดาษห่อที่บางคนอยากเก็บสะสมมีราคาสูงเป็นพันบาท

 

 

การให้ความรู้ที่พี่บี๋อยากจะสื่อสารกับผู้บริโภคชา ที่มีทั้งตำนานและรายละเอียดเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามมีคุณค่า ทำให้เด็กรุ่นใหม่เกิดความสนใจชื่นชอบพร้อมทั้งได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายของชาจีน...เมื่อมีความเข้าใจเราก็จะดื่มชาอย่างมีอรรถรส

 

สามารถติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับชาเพิ่มเติมได้ที่เพจ

https://www.facebook.com/Ong-Tea-By-Bee-1199689113400548/

รายการ "อดีตในอนาคต" ตอน...ชิมชาให้รู้รส ที่ร้านใบชาอ๋องอิวกี่ ย่านสี่กั๊กเสาชิงชา

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=5322

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์ : คุณนพพร  ภาสะพงษ์ #พระนคร ๑๐๑ ครั้งที่ ๔

 

ที่มา : จากเพจ facebook มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ / พระนคร ๑๐๑ 

 

 

อัพเดทล่าสุด 17 พ.ค. 2561, 14:33 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.