อันเนื่องมาจากปัญหาพื้นฐานทางความคิดเรื่อง “ความดั้งเดิม ความแท้จริง” [Authenticity] ในการอนุรักษ์เมืองเก่าของ ประเทศไทยทำให้เกิดความขัดแย้งในการอนุรักษ์และศึกษาเรื่อง เมืองประวัติศาสตร์หรือย่านเก่าต่างๆ คือ ผู้มีหน้าที่อนุรักษ์เมือง ประวัติศาสตร์จะเข้าใจว่า ชุมชนเหล่านั้นต้องสืบสายเลือดหรือสืบตระกูลมาจากคนในยุคสร้างบ้านแปงเมืองและยังต้องทำงานช่าง หัตถกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับชุมชนในตำแหน่งที่ระบุไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์
ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปนั้นทราบและรับรู้ว่า ชุมชนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา [Living Community] มีผู้ย้ายเข้าและย้ายออกไปโดยเหตุต่างๆ กลุ่มคนดั้งเดิมเป็นใครและกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาใหม่คือใคร โดยยอมรับผู้มาใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของชุมชนจากการช่วยเหลือและทำกิจกรรมในชุมชนร่วมกัน แต่ก็ยังเป็นชุมชนอยู่
ทำให้เกิดปัญหาเมื่อต้องพิจารณาว่าชุมชนใดควรถูกไล่รื้อ หรือชุมชนใดควรได้รับการสงวนไว้ และมีสิทธิโดยชอบธรรมในที่อยู่ อาศัยนั้น และการประเมินคุณค่าของชุมชนต่างๆ โดยไม่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดยรอบด้านทำให้ให้คุณค่าน้อย เมื่อไม่เข้าใจจึงสนใจแต่เฉพาะ สิ่งที่เห็นประจักษ์คือโบราณสถานหรือโบราณวัตถุและสิ่งที่จับต้องได้ ตามองเห็นเท่านั้น
วัดอรุณราชวราราม สัญลักษณ์ของเมืองแห่งลุ่มน้ำในยุครัตนโกสินทร์
(ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
๑. ประวัติศาสตร์ของเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ อย่างย่อ
“พื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ทางกายภาพ” และทาง “ภูมิวัฒนธรรม” ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางกายภาพและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การศึกษาครั้งนี้ใช้ฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในการแบ่งช่วงเวลาแต่ละยุคสมัยของ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็น “จุดเริ่มต้น” และ “จุดเปลี่ยน” ของยุคสมัยโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมหรือการเมืองการปกครองเป็นข้อกำหนด
การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้นไม่สามารถแยกออกอย่างเด็ดขาดจากกรุงธนบุรีฯ โดยหลังจากย้ายพระบรมมหาราชวังมาสร้างที่ฝั่ง ตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ กรุงธนบุรีก็ยังมีการอยู่อาศัยโดยมีศูนย์กลางของชุมชนคือพระราชวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือวังหลัง มีวังเจ้านายหลายพระองค์รวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่หลายกลุ่มและเป็นสถานที่ตั้งของวัดสำคัญของพระนคร เพียงแต่ไม่ได้มีการพัฒนาพื้นที่อย่างทัดเทียมไปพร้อมๆ กับฝั่งกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ส่วนบ้านเรือนขุนนางข้าราชการทั้งหลายจะเรียงรายอยู่ในคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่เป็นส่วนมาก
ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ราว พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔) เทียบได้กับเวลาราว ๓ ชั่วอายุคนนี้เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นของสยามประเทศ การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางของเมืองท่าและการค้าทางทะเล
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเพิ่มขึ้นจากสมัยกรุงธนบุรีคือ “คลองวัดสังเวช หรือคลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง” เริ่มจากทางทิศเหนือไปออก แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้บริเวณใกล้วัดสามปลื้มระยะทางราว ๓.๖ กิโลเมตร ให้ขุด “คลองท่อ” หรือ “คลองหลอด” ภายในเมืองเป็นเส้นตรงจากคลองคูเมืองชั้นในไปสู่คลองเมืองวัดสังเวช-โอ่งอ่าง ๒ ลำคลอง เรียกว่าคลองหลอดบนและคลองหลอดล่าง เพื่อดึงกระแสน้ำให้ไหลหมุนเวียนภายในพระนคร
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑) วัฒนธรรมหลวงยุคนี้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างมาก เพราะพระองค์มีพื้นฐานของความเป็นปราชญ์ที่ผนวชในพระพุทธศาสนาถึง ๒๗ ปีก่อนขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงสามารถ รับศิลปะวิทยาการและความคิดใหม่ๆ มาปรับปรุงบ้านเมือง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีทั้งที่สร้างขึ้นใหม่และแก้ไขตามที่ทรงเห็นควร ส่งผลให้สังคมภายในกรุงเทพมหานครเปิดรับความทันสมัยที่เป็นแบบแผนบ้านเมืองอย่างตะวันตกอย่างรวดเร็ว
ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้คนพลเมืองมีจำนวนไม่น้อยแล้ว ย่านการค้าขายและสถานกงสุลรวมทั้ง ท่าเรือสินค้าเพื่อการติดต่อกับต่างประเทศส่วนใหญ่ขยายตัวออกไปยังริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้อันสืบเนื่องมาจากการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง ภายในพระนครและปริมณฑลส่วนใหญ่มีการอยู่อาศัยติดริมน้ำมีการตัดถนนตามที่ชาวตะวันตกเรียกร้องผ่านทางกงสุลหลายประเทศ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๔-๒๔๐๗
จุดเปลี่ยนสำคัญของสยามประเทศและกรุงเทพมหานครอยู่ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑- ๒๔๕๓) เกิดกระบวนการสร้างความทันสมัย [Modernization] ซึ่งมีการเปิดรับความรู้และวัฒนธรรมแบบชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลนี้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยยกเลิกตำแหน่งวังหน้า จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สร้างรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นรวม หัวเมืองเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลเกิดรูปแบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจของหัวเมืองต่างๆ ที่เคยเป็นเมืองประเทศราช โดยเป็นการปฏิรูปการปกครองอย่างแท้จริง ที่เรียกว่า “การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ และเป็นยุคที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเมืองภายในกำแพงพระนครและขยายย่านเมืองออกไปภายนอก ทั้งการสร้างวังต่างๆ ตลอดจนถนนและย่านที่พักอาศัยนอกเมือง เป็นการพัฒนาเพื่อใช้พื้นที่ย่านริมคลองผดุงกรุงเกษมอย่างชัดเจน
เมื่อสยามประเทศมีการส่งเชื้อพระวงศ์ บุตรหลานของขุนนางตระกูลต่างๆ รวมถึงผู้ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาในต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป ที่เริ่มเข้มข้นตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา ถือเป็นการสร้างผู้คนกลุ่มใหม่และมีอิทธิพลต่อสังคม โดยเปิดรับ [Change] และ ปรับปรน [Adjustment] กระแสวัฒนธรรมตะวันตกทั้งรูปแบบการดำเนินชีวิตและระบบวิธีคิดที่หลั่งไหลเข้าสู่สยามประเทศ ที่ปรากฏเป็นประจักษ์คือลักษณะทางกายภาพของเมืองและวัฒนธรรมในพื้นที่ เมืองหลวงอย่างรวดเร็ว
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีกลุ่มผู้ก่อการคือปัญญาชนและนายทหารเกือบร้อยคนที่ พยายามให้ประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีความพยายามสังหารประมุขของประเทศด้วย ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกสำหรับการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ตั้งแต่ยุคแห่งการปฏิรูปการปกครอง การศาสนา และวัฒนธรรม เหตุการณ์นี้เริ่มสร้างผลสะเทือนเป็นระลอกคลื่นทางสังคมและการปกครองในสยามอย่างเป็นรูปธรรมจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จในอีก ๒๐ ปีต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กล่าวได้ว่าอิทธิพลจากการปฏิวัติทั้งฝรั่งเศสและรัสเซียมีผลต่อผู้คนจนถึงรากเหง้าและจิตใจ สร้างความสั่นสะเทือนต่อสังคมโลกในช่วงเวลาอันสับสนด้วยการล่มสลายของระบบระเบียบ การปกครองต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งรวมทั้งสังคมสยามที่ส่งคนออกไปศึกษาหาความรู้ในทวีปยุโรปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาอีกจำนวนไม่น้อย ผู้ได้รับการ ศึกษาจากต่างประเทศและนักคิดปัญญาชนที่พัฒนาตนเองในสังคมที่เปิดกว้างกว่าเดิมมีจำนวนมากขึ้น และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารประเทศไว้เป็นหลักฐานสืบมา
ซึ่งในยุคนี้เมืองหลวงได้กลายเป็นพระนครที่ทันสมัย อาจจะเรียกว่าเป็นยุคมีความเจริญพอเหมาะพอควรทางกายภาพและทางสังคม มีย่านการค้ามากมาย ธุรกิจหลากหลายประเภทเฟื่องฟูตามถนนสายหลักที่เป็นย่านธุรกิจ ถือเป็นช่วงที่กรุงเทพมหานครมีวัง บ้าน เรือน วัด ตลาด สถานที่ราชการ โรงมหรสพ ย่านบันเทิง ย่านธุรกิจ โครงข่ายการจราจรทั้งส่วนตัวและระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ ตามลักษณะของนครใหญ่เจริญเติบโตมากที่สุด และใช้พื้นที่ของเมืองหลวงทั้งหมดไม่เหลือพื้นที่ว่างแต่ก็ไม่หนาแน่นจนเกินไป รวมทั้งการขยายพื้นที่เมืองออกไปยังย่านฝั่งธนบุรีตามถนนที่ตัดใหม่หลายสาย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๔๖๘ สภาพสังคมในเวลานั้นมีความคุกรุ่นอย่างสืบเนื่องมาจาก สาเหตุที่ประเทศประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ เมื่อชาวเมืองและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มขยายจำนวนขึ้นและเริ่มแสดงความต้องการสิทธิเพิ่มมากขึ้น
หลังพระราชพิธีเนื่องในการฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เสร็จสิ้น จึงเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังไกลกังวล “คณะราษฎร” ได้ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในราช สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อเสด็จกลับพระนคร
ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ในวันที่ ๒๗มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และพระราชทาน รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยไม่มีการสู้รบจนเสียเลือดเนื้อ และพระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละราช สมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ อันมีสาเหตุมาจากพระบรมราชวินิจฉัยคัดค้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนายปรีดี พนมยงค์ และต่อเนื่องด้วยกรณีกบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖
ต่อมามีการทำรัฐประหารที่ถือได้ว่าเป็นการล้มล้างอำนาจ ทางการเมืองของคณะราษฎรไปจนหมดสิ้น จากนั้นจึงเป็นยุคสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างยาวนาน นับแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนโยบายที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ การสร้างชาติที่เป็นลัทธิชาตินิยมเปลี่ยนแปลง โดยการบังคับให้คนไทยปฏิบัติตามประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐเรียกว่ารัฐนิยมเพื่อตอบสนองความคิดเรื่องความทันสมัย แต่ทำให้เกิดภาวะการควบคุมความอิสระของพลเมืองค่อนข้างมาก และการเปลี่ยนชื่อประเทศ “สยาม” เป็น “ไทย” ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
ย่านป้อมมหากาฬเห็นถนนราชดำเนินที่ตัดขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๔๒ และสะพานข้ามคลองคูเมือง ส่วนประตูเมือง
และกำแพงเมืองบางส่วนถูกรื้อไปเพื่อสร้างถนนหนทางใหม่ๆ ในครั้งรัชกาลที่ ๕ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
นับจากในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนี้ ถือว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิ ปไตย ถนนประชาธิปไตย สะพานวันชาติ ๒๔ มิถุนายน สร้างอาคารริมถนนราชดำเนินจากถนนที่เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินเพื่อ เป็นย่านการค้า จัดทำตลาดนัดสนามหลวงเพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไป ใช้บริเวณสนามอันเนื่องในพระราชพิธี เปิดตลาดเพื่อขายพืชผักอาหาร สด ตลาดปลาบริเวณท่าเตียน ย่านพระบรมมหาราชวัง การลดการอุดหนุนวัดหลวง ยกเลิกพระราชพิธีของบ้านเมือง ฯลฯ นับเป็นการสร้างระบบสัญลักษณ์เพื่อแสดงภาวะของระบอบกษัตริย์ที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นหลักสำคัญของชาติมาตั้งแต่โบราณรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์นั้นถูกลดความสำคัญลงจนแทบสิ้นความหมาย
การสร้างกฎหมายควบคุมการมหรสพและศิลปินแบบชาวบ้านรวมทั้งประเพณีปฏิบัติและการดำรงชีวิตประจำวันหลายประการ จนเห็นได้ชัดว่ามีความไม่เข้าใจและดูถูกวัฒนธรรมของราษฎรอย่างเด่นชัดทีเดียว จนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๖
ช่วงเวลานี้เองประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยได้รับผลกระทบจากการบริหาร ประเทศในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างเต็มที่ นอกจากจะเป็นรัฐเผด็จการทหารโดยประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่างๆ ยังมีการวางแผนพัฒนาที่เน้นแต่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งจากสหรัฐอเมริกาจนกลายเป็นพื้นฐานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจใน ระยะเวลาต่อมาสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรง ชีวิต เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท เริ่มมีการทำเกษตรอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้ภูมิทัศน์ของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ฟื้นฟูความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเพณีหลวงต่างๆ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบจากสงครามเย็นและสงครามเวียดนามที่ติดตามมาด้วยสงครามในลาว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชาและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในประเทศ จากการปราบปรามผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงกึ่ง พุทธกาลเป็นต้นมาจนถึงราวปลายทศวรรษที่ ๒๕๒๐ ที่ค่อยๆ คลี่คลายไปพร้อมการเมืองที่มีเสถียรภาพ การถอนตัวของกองทัพและฐานทัพอเมริกันในภูมิภาคนี้ การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนและสภาพแวดล้อมหักเหไปจากเดิมอย่างมากเพื่ออุดหนุนแก่แหล่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร
กรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศในช่วงเวลานี้อย่างเต็มที่ จนกลายเป็นเมืองหลวงก็กลายเป็นมหานครที่ เติบโตออกไปอย่างขาดทิศทาง ชุมชนดั้งเดิมและอาคารภายในย่านเมืองเก่าทั้งหลายขาดการดูแลและไม่มีการจัดระเบียบรวมทั้งการจราจรที่ติดอันดับโลกในความแออัด การควบคุมพื้นที่นั้นมาภายหลัง พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา กรุงเทพฯ ในปัจจุบันกลายเป็นศูนย์รวมของการปกครอง ระบบ ราชการ ธุรกิจการค้า ความทันสมัย เช่น ถนนหนทาง รถยนต์ ตึก สูง ศูนย์การค้าใหญ่โต และคนชั้นกลางซึ่งมีโอกาสทางชีวิตและสังคม สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ พื้นที่ของกรุงเทพมหานครขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “มหานคร” [Metropolitan]
ส่วนพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เคยเป็นพื้นที่เมืองประวัติศาสตร์ กลายเป็นย่านที่พักอาศัยดั้งเดิมที่แทบไม่มีคนรุ่นเก่าอยู่อาศัยมากนัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่ทำให้ครอบครัวขยายออกไปมีบ้านหลังอื่นๆ และการออกไปเพื่อทำงานตามสถานที่ ต่างๆ กลายเป็นพื้นที่บ้านเช่าของคนต่างถิ่นเพื่อรับจ้างทำงานและถูกปรับกลายเป็นที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยว ย่านเมืองเก่า เขตเศรษฐกิจ เช่น ตลาดสด ตลาดท้องถิ่น ย่านการค้าก็กลายเป็นพื้นที่ซบเซาและไร้ผู้คน
ในข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่าการเปลี่ยนแปลงการจัดการ ผังเมืองและการจัดขอบเขตปรับปรุงพื้นที่โดยคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้น้อยมาก เพราะเขตภายในพระนครและปริมณฑล แต่ดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อเริ่มสร้างกรุงฯ ในย่านพระบรมมหาราชวัง สนาม หลวง ถนนราชดำเนิน ย่านตลาดริมแม่น้ำที่ย้ายออกไปเป็นสถาน ที่พักผ่อนและร้านอาหารริมน้ำวัดวาอารามต่างๆ ถูกอนุรักษ์และจัดเตรียมไว้เพื่อนโยบายเปลี่ยน “เมืองประวัติศาสตร์” ให้เป็น “สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ” เพื่อกระตุ้นหวังผลในทางเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในนโยบายการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร
(มีต่อฉบับหน้า)
ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๗ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๖๑)