รายการอดีตในอนาคต ตอน "จากบางกอกถึงธนบุรี : ราชธานีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
จากการออกอากาศ รายการอดีตในอนาคต ตอน "จากบางกอกถึงธนบุรี : ราชธานีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ทาง Facebook : Page มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 250 ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี ทางมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องราวพัฒนาการประวัติศาสตร์ของเมืองบางกอกและธนบุรีจนมาถึงสภาพในปัจจุบัน
“ธนบุรี” เป็นบ้านเมืองที่เกิดขึ้นบนดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (Young Delta )ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กล่าวคือพื้นที่ตั้งของเมืองธนบุรีนั้นมีลักษณะเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมที่เกิดจากแม่น้ำสายต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ซึ่งแม่น้ำแต่ละสายก็จะแตกออกเป็นแพรก คือลำคลองสาขาอื่นๆออกไปอีกจนกระทั่งไหลลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 นั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกถึงการตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยส่วนมากจะพบว่าการตั้งถิ่นฐานนั้นจะอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน (เหนืออยุธยาขึ้นไป) ในพื้นที่จังหวัด นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่เดิมมีสภาพเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมเก่า (Old Delta) ส่วนพื้นที่ตั้งแต่อยุธยาลงไปจนถึงกรุงเทพฯ และอ่าวไทยในขณะนั้นเชื่อว่ายังมีลักษณะเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึงไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน จนกระทั่งในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสภาพพื้นที่เริ่มแห้งและตื้นขึ้นก็ทำให้เกิดชุมชนต่างๆตามลำน้ำเจ้าพระยา โดยจะสังเกตได้ว่าลักษณะของเส้นทางน้ำในแม่น้ำสายหลักเมื่อถึงใกล้พื้นที่ชายฝั่งทะเลจะมีลักษณะที่คดเคี้ยวและในพื้นที่คดเคี้ยวเหล่านั้นก็จะมีพื้นที่เพียงพอที่จะตั้งบ้านเมืองได้อันเกิดจากการทับถมของตะกอนที่มาตามกระแสน้ำ ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานไม่ได้อิงอยู่กับภูเขาแต่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ สำหรับเมืองธนบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 เชื่อว่ายังคงเป็นชุมชนกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมแม่น้ำ
ภาพเมืองกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ในรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก (ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงท้ายพระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง ด้วยการไหลตรงลงมาทางคลองลัดบางกอกจนกระทั่งทำให้คลองลัดบางกอกเป็นเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็มีขนาดเล็กและแคบลงกลายเป็นชื่อเรียกคลองบางกอกน้อย และคลองบางกอกใหญ่ ประการหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการขุดคลองลัดบางกอกขึ้นคือ การค้าที่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเรือสินค้าจากชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมเรือต้องแล่นเข้าตามลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่า แต่เมื่อขุดคลองลัดก็ทำให้ลดระยะเวลาเดินทางได้มาก ภายหลังการขุดคลองลัดบางกอกได้มีการตั้งชุมชนขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่วิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะแตกต่างกัน กล่าวคือ พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีลักษณะเป็นที่ดอน ไม่เหมาะแก่การทำนาประกอบกับคนในพื้นที่น่าจะได้รับวิธีการปลูกและพืชพันธุ์จากชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย โดยเฉพาะชาวจีนใต้แถบมณฑลกวางตุ้งเป็นต้น ทำให้เกิดเป็นสังคมชาวสวนขึ้นรวมไปถึงการเกิดคูคลองขุดต่างๆ ที่ขุดไว้เป็นลำประโดงในพื้นที่สวนด้วยเช่นกัน ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่มจึงเหมาะแก่การทำนา นอกจากนี้ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเมืองธนบุรีอยู่ใกล้กับกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยอยุธยา โดยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการสร้างป้อมปราการโดยชาวฝรั่งเศส เป็นป้อมก่ออิฐถือปูน ประกอบด้วยกำแพง 2 ชั้นในผัง 8 เหลี่ยมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ตั้งของป้อม ป้อมปราการดังกล่าวนี้แต่เดิมสร้างทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยป้อมทั้งสองฝั่งจะเป็นด่านภาษีทางเรือด้วยการขึงโซ่ไว้ ภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชาจึงได้มีการรื้อลง
คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กำลังนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับคลองฝั่งธนบุรี
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชภายหลังจากขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตั้งรกรากที่กรุงศรีอยุธยาได้เนื่องจากมีประชากรน้อย รวมทั้งขนาดของกรุงศรีอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ยากต่อการควบคุมดูแล จึงย้ายลงมาที่เมืองธนบุรี ใช้เป็นฐานที่มั่นหลักของพระองค์ เหตุที่เลือกกรุงธนบุรีเพราะเมืองธนบุรีมีขนาดเล็ก ใกล้ทะเลสามารถติดต่อค้าขายและอพยพเคลื่อนย้ายออกไปได้ง่าย โดยพระองค์ตั้งพระราชวังอยู่ฝั่งตะวันตกของเมืองธนบุรีรวมทั้งมีวัดบางหว้าใหญ่หรือ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นเสมือนวัดมหาธาตุของเมืองและวัดในเขตพระราชวังเดิมนั้นประกอบไปด้วยวัดมะกอก(นอก) หรือวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และวัดท้ายตลาด หรือ วัดโมลีโลกยาราม สำหรับวัดอรุณฯ สันนิษฐานว่าในสมัยกรุงธนบุรีได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอก เป็น วัดแจ้ง และในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยสมเด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ได้เปลี่ยนชื่อวัดแจ้งเป็นวัดอรุณราชธาราม และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นวัดอรุณราชวราราม ส่วนวัดท้ายตลาดเป็นส่วนหนึ่งของวัดในเขตพระราชวังเดิม (มีความสำคัญต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นสำนักเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันในละแวกพระราชวังเดิมยังมีศาสนสถานของชาวมุสลิมคือกุฎีใหญ่ หรือมัสยิดต้นสนซึ่งเป็นที่ฝังศพเจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์(หมุด) ทหารคนสำคัญคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพแสดงที่ตั้ง พระราชวังเดิม วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารและ วัดโมลีโลกยาราม
ส่วนฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรีจะเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวจีนและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ย้ายพื้นที่มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ ด้วยการขยายขอบเขตเมืองธนบุรีเดิมในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ และการขุดคลองโอ่งอ่างล้อมรอบจนเป็นเกาะรัตนโกสินทร์ หากแต่จะสังเกตได้ว่าในระยะแรกนั้นช่วงรัชกาลที่ 1-3 นั้นขุนนางและบุคคลสำคัญยังคงอาศัยอยู่ฝั่งธนบุรี จนเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการตัดถนนขึ้นเนื่องมาจากการค้าที่ขยายตัวกว้างขึ้นไม่จำกัดเพียงแค่ทางน้ำเท่านั้นและวิทยาการจากตะวันตกทั้งการติดต่อกับชาวยุโรปและเรือกลไฟ โดยเฉพาะเรือกลไฟที่เข้ามาในสยาม ซึ่งการเดินเรือกลไฟนั้นทำให้เกิดคลื่นระลอกใหญ่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทางน้ำ ทำให้ความนิยมในการสัญจรทางน้ำลดลงและเนื่องด้วยการค้าทางบกที่ขยายตัวทำให้การสัญจรทางบกเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดการตัดถนนและบางแห่งได้ทำการถมคูคลองให้เป็นถนน จากแผนที่ พ.ศ. 2440 จะเห็นว่าเมืองธนบุรีในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองธนบุรียังปรากฏขอบเขตให้เห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งคลองคูเมืองและพระราชวังเดิม
ปัจจุบันพื้นที่เมืองกรุงธนบุรีได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ในระยะช่วงเวลาไม่ถึง 40 ปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้แม้ว่าจะเกิดขึ้นช้ากว่าฝั่งตะวันออกแต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยสาเหตุจากการตัดถนนและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดการสร้างอาคารตึกสูงใหญ่ในขณะเดียวกันพื้นที่สวนก็แทบจะสูญหายไป
บทความสรุปรายการ : อดีตในอนาคต ตอนที่ ๙ "จากบางกอกถึงธนบุรี : ราชธานีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
เรียนรู้อดีตเพื่อเข้าใจปัจจุบันและกำหนดทิศทางสู่อนาคต เสวนาพูดคุยกับบุคคลที่มีเรื่องราวน่าสนใจและกลุ่มคนในท้องถิ่นที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานเพื่อส่วนรวมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ท้องถิ่นและชุมชนมีความเข้มแข็งในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในแต่ละตอนมีประเด็นเรื่องราวความน่าสนใจที่แตกต่างกัน
สามารถติดตามรายการ "อดีตในอนาคต" ได้ที่ VLek-Prapai Channel ผ่านทางยูทูป
https://www.youtube.com/watch?v=_l6hD0ry_0E&index=12&t=252s&list=PLjKdW0KVRxePzZ-jFXx7kr7UL8S2qmSZH