กิจกรรมในสองวันนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น ๗๐ คน สำหรับวันที่สองทางมูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจากวิทยากรท้องถิ่น ได้แก่ ท่านฮัจยี อิบรอฮิม วงศ์สอาด อิหม่ามมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก คุณชัยรัฐ สมันตรัฐ ทายาทผู้ก่อตั้งมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก คุณชัชวาลย์ รัศมีคุณธรรม แห่งร้าน Chatchawan Gems และคุณสมชัย กวางทองพานิชย์ แห่งร้านก้วงเฮงเส็งเชือกและตาข่าย โดยวิทยากรทุกท่านร่วมกันฉายภาพให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความเชื่อย่านสำเพ็งผ่านเรื่องราวของสถานที่ ผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบันในพื้นที่จากคลองสำเพ็งจรดคลองสามปลื้ม โดยมีคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ และคุณพนมกร นวเสลา นักวิชาการมูลนิธิฯ ช่วยเสริมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เป็นระยะ
กิจกรรมวันที่สองเริ่มต้นที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร หรือที่รู้จักกันในนามวัดสำเพ็ง ซึ่งจะเป็นจุดหมายแรกในการเรียนรู้ครั้งนี้ และจะไปสรุปการบรรยายในจุดหมายสุดท้ายที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหารหรือวัดสามปลื้มเป็นเส้นทางที่กำหนดไว้ ตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ที่กล่าวไว้ว่า “โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกคนจีนย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิฯ) ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคาฯ)”
คุณวลัยลักษณ์ฉายภาพแผนที่เพื่อความเข้าใจกรุงเทพฯ
แผนที่กับการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน
วิทยากรท่านแรก คุณวลัยลักษณ์เริ่มต้นด้วยการฉายภาพแผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ พ.ศ. ๒๔๔๐ และ พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อทำความเข้าใจสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ผ่านแผนที่ จากแผนที่ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของกรุงเทพธนบุรีซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนชุมชนวัดวาอารามตลอดทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏหัวเมืองสำคัญ ๆ อาทิ เมืองนนทบุรี ธนบุรี และเมืองปากน้ำหรือพื้นที่บริเวณท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน ซึ่งเมืองเหล่านี้จะปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ดังจะเห็นได้จากวัดเก่าที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์โดยรัชกาลที่ ๑ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางใกล้ชิด เช่น วัดเกาะสัมพันธวงศ์ และวัดปทุมคงคาที่จะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
จากประเด็นเกี่ยวกับการใช้แผนที่ วิทยากรได้ขยายความอธิบายถึงแผนที่โบราณ และแผนที่สมัยใหม่ว่าแผนที่โบราณนั้นจะให้ข้อมูลแบบคร่าวๆ โดยไม่มีการระบุทิศที่ชัดเจน จากแผนที่โบราณสะท้อนให้เห็นเมืองกรุงเทพธนบุรีในฐานะของเมืองท่าริมน้ำเป็นย่านการค้าที่สำคัญ ขณะที่ระบบของการใช้แผนที่สมัยใหม่ที่เมืองไทยรับมาใช้มี ๓ ระบบ คือ ระบบอังกฤษ ฝรั่งเศส และที่นำมาใช้ล่าสุดคือระบบของอเมริกัน ซึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนนั้นคุณวลัยลักษณ์แนะนำว่าควรใช้แผนที่ร่วมกับการเดินเท้าสำรวจชุมชนละแวกบ้านตนเอง เช่นเดียวกับคุณสมชัยวิทยากรหลักที่จะบรรยายในวันนี้
จากแผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ วิทยากรได้อธิบายให้เห็นถึงสภาพกรุงเทพธนบุรีในสมัยอยุธยาจนถึงประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังปรากฏชุมชน และสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นท่าเรือ มีโกดังสินค้า บ้านเรือนมีลักษณะของเก๋งจีนริมน้ำในยุคเก่า มีคลอง สะพานยาว และอาคารต่างๆ อยู่ลึกเข้าไปพื้นที่ภายใน ตั้งแต่ย่านตลาดน้อยลงมาจนถึงแถบวัดบพิตรพิมุข สำเพ็งในยุคดังกล่าวถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตามสำเพ็งเป็นพื้นที่ซึ่งมีการระบุถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่หลายครั้งซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ รวมถึงการตัดถนนในระยะต่อๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา เกิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย (Modernization) เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการถือครองที่ดินจากการพระราชทานที่ดินสู่การครอบครองโฉนดซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของที่ดิน ซึ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนหากพิจารณาจากแผนที่ พ.ศ. ๒๔๗๕
คุณสมชัย กวางทองพาณิชย์ ส่งภาพสำคัญๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวย่านสำเพ็งให้กับผู้ร่วมกิจกรรม
วัดสำเพ็ง ย่านสำเพ็ง
วิทยากรท่านถัดไป คุณสมชัยกล่าวทักทาย และเริ่มสนทนาพูดคุยกับทุกท่านผ่านการใช้เครื่องมือสำคัญคือภาพถ่ายเก่าเปรียบเทียบกับสภาพพื้นที่ปัจจุบันเพื่อสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และวิถีของผู้คนในย่านนี้ เริ่มรู้จักสำเพ็งจากพระราชดำรัสรัชกาลที่ ๑ ที่กล่าวถึงการย้ายชุมชนคนจีนจากพื้นที่ท่าเตียนและบริเวณใกล้เคียงมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ระหว่างสองฝั่งคลอง ภาพถ่ายภูมิประเทศบริเวณคลองวัดสำเพ็ง แม่น้ำเจ้าพระยา และวัดสำเพ็ง จากภาพถ่ายสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากชุมชนเมืองท่าการค้ามาสู่การถมคลองตัดถนน และเป็นแหล่งสินค้าหลากชนิดที่มีผู้คนขวักไขว่มาจนถึงปัจจุบัน สินค้าเหล่านี้จะแบ่งพื้นที่เป็นย่านต่างๆ ทั้งข้าวสาร ธัญพืช และพืชไร่ อาหารแห้ง สินค้าประเภทเชือกและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตร เครื่องประดับ สินค้าขายปลีกและส่งตามสมัยนิยม
นอกจากนี้คุณพนมกรยังได้ช่วยเสริมข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัดสำเพ็ง วัดโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ และมีการปฏิสังขรณ์เรื่อยมา มีการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานทรงเครื่องต้นแบบกษัตริย์ แสดงปางมารวิชัย นามว่าพระพุทธมหาชนก ซึ่งรัชกาลที่ ๙ พระราชทานนามให้สอดคล้องกับการสร้างถวายสมเด็จพระบรมชนกธิราช อีกทั้งยังได้ชมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ พระเจดีย์โบราณ และแท่นหินประหาร ซึ่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดนี้ถูกใช้เป็นที่สำเร็จโทษเจ้านาย เนื่องจากเป็นวัดที่ถือว่าอยู่ชนบทห่างไกลจากกำแพงพระนคร ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ในอดีตสมัยต้นกรุง วัดและย่านนี้ยังเป็นแหล่งย่านบ้านเก่าของบุคคลสำคัญๆ ของประเทศจนถึงปัจจุบัน เช่น อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าสัวใหญ่อย่างตระกูลเจียรวนนท์ เป็นต้น
ผู้ร่วมกิจกรรมฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการถมคลองสำเพ็ง และคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ
คุณชัชวาลย์ รัศมีคุณธรรม เล่าถึงการค้าพลอยในย่านนี้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ย่านวัดเกาะ หนังสือวัดเกาะ
คุณชัชวาลย์ รัศมีคุณธรรม พ่อค้าพลอยเชื้อสายทมิฬมุสลิมจากอินเดีย เป็นวิทยากรหลักอีกท่านหนึ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มข้อมูลถนนการค้าพลอยของพ่อค้าชาวอินเดีย และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ และร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับย่านวัดเกาะ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงพิมพ์สำคัญ เช่น โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญที่ตีพิมพ์หนังสือวัดเกาะ หนังสือนิทานพื้นบ้านนิทานชาดกที่ครองใจผู้อ่านและเป็นปรากฎการณ์แห่งยุคสมัย อีกทั้งคุณชัชวาลย์ และคุณสมชัยยังช่วยกันชี้ชวนพูดคุยเกี่ยวกับบ้านพักหมอบรัดเลย์นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์และมีคุณูปการด้านการพิมพ์ การแพทย์สมัยใหม่ของไทยซึ่งเคยมีถิ่นพำนักในย่านนี้ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญที่ในหลวงรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ เสด็จประพาสสำเพ็ง เรื่องราวและรูปถ่ายของวัดเกาะในอดีตซึ่งเห็นร่องรอยความเป็นเกาะ จากนั้นวิทยากรทั้งสองท่านได้พาเดินเลาะผ่านตรอกสะพานญวน และได้เล่าข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่าพื้นที่บริเวณนี้นอกจากกลุ่มคนจีน คนมุสลิมแล้วยังน่าจะมีกลุ่มคนญวน และคนนับถือศาสนาคริสต์กลุ่มต่างๆ ปะปนอยู่ซึ่งหลงเหลือร่องรอยจากชื่อตรอกสะพานญวนดังกล่าว ซื่อข้อมูลเหล่านี้ยังต้องการการสืบค้นต่อไป
คุณชัชวาลย์ และคุณสมชัยช่วยกันบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน
ตรอกสะพานญวนกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับอดีตของคนในย่านนี้
มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก
ชาวคณะได้พากันเดินจากจุดเริ่มต้นวัดสำเพ็ง ผ่านจุดที่เคยเป็นคลองสำเพ็ง ตัดเข้าถนนวานิช ๑ ผ่านอาคารร้านรวง ร้านค้าพลอย เลาะเลี้ยวเข้าสู่มัสยิดหลวงโกชาอิศหากบนถนนทรงวาดโดยมีท่านฮัจยี อิบรอฮิม วงศ์สอาด คุณชัยรัฐ สมันตรัฐ ให้การต้อนรับ และร่วมกันบอกเล่าความเป็นมาของมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ศาสนสถานของชนมุสลิมบริเวณนี้ที่อยู่คู่กับชุมชนมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงฯ จนถึงปัจจุบัน
คุณชัยรัฐ คุณชัชวาลย์ และท่านฮัจยี อิบรอฮิม
มัสยิดหลวงโกชาฯ แต่เดิมนั้นเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หรือที่เรียกว่า “บะแล” สร้างขึ้นราวรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ ตามประวัติจากหอสมุดแห่งชาติ และคนในพื้นที่ ได้เล่าถึงประวัติของหลวงโกชาฯ และครอบครัว รวมถึงประวัติความเป็นมาของมัสยิด ดังนี้
หลวงโกชาอิศหากเป็นชาวมลายู มาจากไทรบุรี (ซึ่งแต่เดิมเป็นดินแดนในเขตสยาม ต่อมาทางฝ่ายสยามได้ยกให้แก่อังกฤษเพื่อแลกกับการกู้เงินสร้างทางรถไฟ) กล่าวกันว่าหลวงโกชาอิศหากได้เดินเรือสำเภาจนมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ธนบุรี หรือที่ในปัจจุบันคือที่ซอยเจริญนคร ๒๑ มัสยิดหลวงโกชาอิศหากหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอาคารที่รับอิทธิพลศิลปะยุโรปโดยพัฒนามาจากบะแลที่สร้างตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และล้อมรอบด้วยชุมชนชาวจีน ขณะเดียวกันหากชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามเมื่อเสียชีวิตแล้วก็จะนำศพมาฝังยังกุโบร์ด้านหลังมัสยิดเช่นกัน
ปู่ของคุณชัยรัฐรับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในตำแหน่งหลวงโกชาอิศหาก มีความเชี่ยวชาญภาษายาวี (คำว่า “หลวงโกชาอิศหาก” ปรากฎชื่อตำแหน่งนี้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ในตำแหน่งกรมท่าขวา เทียบเท่าได้กับตำแหน่งกรมท่าเรือในปัจจุบัน ควบคุมตั้งแต่กรุงเทพฯ ลงไปจนถึงมลายู) ในคราวสร้างมัสยิดหลวงโกชาฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นหลวงโกชาอิศหากหรือคุณปู่ของคุณชัยรัฐได้ร่วมมือกับลูกๆ ของท่านทั้ง ๑๖ คน รวบรวมวัสดุก่อสร้างและแรงงานมาช่วยกันสร้างมัสยิด ต่อมาเมื่อคุณปู่ถึงแก่อนิจกรรมลง พระยาสมันตรัฐหรือคุณพ่อของคุณชัยรัฐเป็นผู้รับหน้าที่ดูแลมัสยิดต่อ
ผู้ร่วมกิจกรรมฟังเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีปฏิบัติศาสนกิจของคนมุสลิมด้วยความสนใจ
พระยาสมันตรัฐมีช่วงชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างรัชกาลที่ ๖ ถึงรัชกาลที่ ๙ ชีวิตการทำงานได้เป็นนายอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ก่อนจะมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลมี นโยบายที่สำคัญคือมุ่งเน้นให้เด็กและประชาชนเรียนภาษาไทย เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันผู้ก่อการแบ่งแยกไม่สามารถก่อเหตุอะไรได้เพราะคนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ สำหรับพระยาสมันตรัฐถือว่าเป็นผู้ว่าฯในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ พระยาสมันตรัฐก็ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. คนแรกของจังหวัดสตูลโดยที่ไม่ต้องเลือกตั้ง และรัฐบาลพลเอกพหลฯ ได้เรียกไปรับราชการที่กรุงเทพฯ เป็นรัฐมนตรีชั่วคราวสังกัดกระทรวงมหาดไทยคนแรก และในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระยาสมันตรัฐได้ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษามลายูให้กับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) คราวเสด็จเยี่ยมราษฎร์จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระยาสมันตรัฐถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖
นอกจากนี้ทางสถาบันประวัติศาสตร์ของรัฐเคดาห์ประเทศมาเลเซีย (historical facility of kedah) ยังเคยเดินทางมามัสยิดแห่งนี้ และได้สอบถามประวัติเกี่ยวกับหลวงโกชาฯ พร้อมทั้งออกใบรับรองประวัติให้ด้วยในนามของรัฐบาลเคดาห์ โดยระบุว่าหลวงโกชาฯ ได้มีความเกี่ยวข้องกับรัฐเคดาห์โดยเชื่อว่าภูมิลำเนาเดิมน่าจะอยู่ในพื้นที่ของรัฐเคดาห์ และเชื่อว่าท่านน่าจะเป็นนักเดินเรือ ที่มีลูกเรือเป็นชาวมุสลิมด้วยเช่นกัน ท่านเองก็คงเดินทางเข้ามาในย่านพื้นที่สำเพ็งนี้และได้สร้างบาแลในพื้นที่นี้ ส่วนเอกสารอีกชิ้นหนึ่งคือจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ เรียบเรียงโดยมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงหลวงโกชาฯ ว่ามีบทบาทในพื้นที่รัฐเคดาห์ด้วยเช่นกัน และมีบทบาทสำคัญต่อสยามค่อนข้างสูง
กุโบร์ที่ฝังศพคนมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก
หลังจากรับฟังข้อมูลความรู้แล้ว วิทยากรทุกท่านได้บอกเล่าถึงการดำเนินชีวิตตามแนวทางศาสนา และกรุณาพาชมพื้นที่ภายในบริเวณมัสยิด และกุโบร์ รวมทั้งได้ชมโคมไฟที่ระลึกจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้นำมุสลิมเข้าเฝ้าฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดี
โคมไฟพระราชทาน
ถ่ายรูปร่วมกันหน้ามัสยิดหลวงโกชาฯ
ถนนสำเพ็ง ทรงวาด
จากมัสยิดหลวงโกชาอิศหาก คุณสมชัยได้พาชาวคณะเดินชมและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตึกเก่า และความเป็นย่านการค้าของแถมถนนทรงวาด ถนนซึ่งตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับถนนเส้นอื่นๆ ในยุคนั้น เช่น ถนนเยาวราช ราชวงศ์ แปลงนาม พาดสาย เป็นต้น การตัดถนนมาพร้อมๆ กับการถมคลอง เส้นทางครั้งนี้จึงมีหลายจุดที่เป็นการเดินบนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นคลองในอดีตลัดไปตามตรอกต่างๆ กลับทางถนนสำเพ็ง ถนนที่ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นถนนวานิช ๑ ในปัจจุบันไปยังศาลเจ้า และโรงเจสำคัญในย่านนี้ โดยในเส้นทางนี้จะเห็นตึกเก่า
ตึกโบราณริมถนนทรงวาด
คุณสมชัยบอกเล่าความเป็นท่าเรือในอดีต การขนส่งสินค้า และเศรษฐกิจการค้าในย่านนี้
และได้ฟังข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนสำเพ็งในอดีตผ่านชื่อบ้านนามเมืองซึ่งเป็นร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ เช่น ชื่อตรอกโรงกะทะ ตรอกข้าวสาร ตรอกปลาเค็ม ตรอกโรงโคม ชื่อตรอกเหล่านี้ปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปแล้ว เช่น ตรอกโรงโคมได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นตรอกอิศรานุภาพ เป็นต้น นอกจากนี้คุณสมชัยยังพาเดินชมจุดที่เป็นบ้านเจ้าจอมสมบูรณ์ เจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นคนย่านนี้ และตึกเก่าซึ่งหลงเหลืองานไม้แกะลวดลายสวยงามที่แสดงฝีมือเชิงช่างของคนจีนแต้จิ๋วในยุคนั้น สำเพ็งที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นการผสมผสานระหว่างความเก่าใหม่ อดีตและปัจจุบัน เช่นระหว่างที่ชื่นชมกับตึกเก่าสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกันนั้นทุกท่านก็ได้เพลิดเพลินไปกับสตรีทอาร์ตบนกำแพงเช่นเดียวกับเมืองเก่าที่มีเรื่องราวแห่งอื่นๆ
ชื่อบ้านนามเมืองที่บ่งบอกวิถีชีวิตในอดีต
ศาลเจ้า โรงเจ
สำเพ็งนอกจากจะสะท้อนผ่านความเป็นชุมชนการค้าของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดังที่ปรากฎแล้ว ภาพสะท้อนของพื้นที่ทางศาสนาวัฒนธรรมที่สำคัญก็โดดเด่นไม่แพ้กัน เราได้เข้าไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและรับฟังความรู้เกี่ยวกับความหมาย ความแตกต่างในหน้าที่ของศาลเจ้าและโรงเจที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเชี้ยอึ้งกง ศาลเจ้าซินปู้นเก่าถัง (ซินปุนเถ่ากง) และโรงเจบุญสมาคม ตามลำดับ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเซี้ยอึ้งกง
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเชี้ยอึ้งกง เป็นศาลเจ้าที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ศาลลักษณะนี้จะอยู่ทางเข้าออกของเมือง หลักเมืองจีนในที่นี้คือเทพองค์หนึ่งซึ่งคอยดูแลเมือง หน้าที่หลักคือการดูแลวิญญาณเข้าออก เช่น ในเวลาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตต้องมีคนในบ้านมาจุดธุปบอกเพื่อขออนุญาตให้คนตายสามารถเข้าออกได้ นี่เป็นความเชื่อพื้นบ้าน คุณสมชัยยังเล่าอีกว่าศาลเจ้าที่ดีต้องมีโรงงิ้วส่วนตัว ดังเช่นศาลแห่งนี้ที่มีโรงงิ้วเป็นของตัวเองซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง งิ้วจะนำมาแสดงในวันสำคัญคือวันเกิดเทพเจ้าหลักประจำศาลนั้น อีกกิจกรรมสำคัญคือการทิ้งกระจาดซึ่งถือเป็นการทำทานแก่ผู้ยากไร้ นอกจากนี้ที่นี่ยังมีปริศนาธรรมสอนใจต่างๆ เช่น ภาพจับโต่ยคือภาพของด่านทั้งสิบ ตามคติความเชื่อที่ว่าคนเมื่อตายไปแล้วต้องผ่านการตรวจดูความดีความชั่วที่เคยทำมาว่าเหมาะสมที่จะไปอยู่ด่านไหนในนรกสวรรค์ ตุ้ยเลี้ยงหรือโคลงกลอนคู่ อักษรมงคล โดยคุณสมชัยหยิบยกตุ้ยเลี้ยงโคลงกลอนคู่ที่อยู่ในศาลเจ้า ซึ่งตรงกับที่พ่อเคยสอนไว้เป็นภาษาจีนที่แปลเป็นไทยได้ว่า “คนจะทำดีหรือไม่ดีนั้น ฟ้ารู้ คนรู้ ดินรู้ ผีรู้ ถ้าทำดี หรือทำสิ่งไม่ดี ก็จะได้สิ่งนั้นตอบแทน”
คุณสุเมธ และคุณสมชัยร่วมกันบอกเล่าวิถีคนจีนที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พวกเราได้เดินต่อไปถึงศาลเจ้าซินปุนเถ่ากง คุณสุเมธกรรมการศาลเจ้าให้เกียรติมากล่าวต้อนรับ และแนะนำประวัติความเป็นมาสั้นๆ ว่าศาลเจ้านี้ชื่อลิ้มจุ่ยเซียอ๊วง โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าซินปุนเถ่ากง ซินแปลว่าใหม่ ปุนเถ่ากงคือเทพเจ้าที่ทำคุณประโยชน์ ทุกปีจะมีการฉลองศาลเจ้าช่วงวันที่สอง เดือนสองของปฏิทินจีน คือราวหลังตรุษจีนหนึ่งเดือน ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างปี พ.ศ. ๒๓๗๒ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าของคนตระกูลแซ่เตีย ซึ่งอพยพมาจากซัวเถา ประเทศจีน และระยะหลังก็มีคนตระกูลแซ่อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย คนมักจะมาไหว้ขอในเรื่องการเสริมบารมี เลื่อนตำแหน่ง จากนั้นคุณสมชัยช่วยเสริมข้อมูลว่า เทพเจ้าลิ้มจุ่ยเซียอ๊วงเป็นเทพเจ้าประจำตระกูล และเมื่อคนจีนอพยพมาประเทศไทยก็นำเอาความเชื่อเรื่องการนับถือเทพเจ้านี้เข้ามา ซึ่งตามชื่อปุนเถ่ากงนี้จะเป็นเทพเจ้าคนละองค์กับศาลเจ้าตรงถนนทรงวาด ซึ่งมีวันเกิดไม่ตรงกัน ในการศึกษาความเป็นมาของกลุ่มคนจีนที่อพยพเข้ามานั้นสามารถศึกษาได้จากป้ายภาษาจีนที่ปรากฎอยู่ในศาลเจ้าซึ่งจะระบุไว้ว่าเป็นคนจากหมู่บ้านไหน ศาลเจ้าแห่งนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงร่วมกับศาลเจ้าอื่นๆ เช่น ศาลเจ้าต้นไทร ถนนผดุงด้าว ศาลเจ้าอาม้าเก็ง ถนนบำรุงรัฐ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ ลงมา คือปรับศาลเจ้าให้ขึ้นมาเป็นศาลเจ้าลอยฟ้าอยู่บนชั้นสองของตึกแล้วใช้พื้นที่ชั้นล่างทำการค้าจากป้ายในศาลเจ้าได้ระบุถึงการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองคนจีนที่นี่
โรงเจบุญสมาคม
ย้ายจากศาลเจ้าพวกเราเดินต่อไปทางซอยอาเนียเก็งซอยที่ยาวที่สุดในสำเพ็งคุณสมชัยได้เล่าผ่านชื่อตรอกแต่ละช่วงในย่านนี้ เช่น ตรอกเต๊า ตรอกโรงเขียน ที่สุนทรภู่ และเสฐียรโกเศศได้เคยกล่าวถึงโรงรับชำเราบุรุษ หรือแหล่งบันเทิงที่มีหญิงคณิกาเป็นที่รู้จักทั่วไปในยุคนั้น พวกเราได้เดินต่อไปถึงโรงเจบุญสมาคม ก่อนที่จะพากันเข้าไปเยี่ยมชมภายในโรงเจ คุณสมชัยได้บรรยายถึงความแตกต่างระหว่างพระจีนกับพระญวน และความแตกต่างที่สำคัญของโรงเจกับศาลเจ้า หลักใหญ่ๆ ของความแตกต่าง เช่น การใช้สี ศาลเจ้ามักใช้สีแดงเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่โรงเจมักใช้สีเหลือง และมีเสาทีกง โรงเจบุญสมาคมถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดการกินเจโรงแรกๆ ชื่อจีนชื่อว่าเตี่ยชู่หั่ง แปลได้ว่าซอยของตระกูลเตี่ย ชื่อโรงเจบุญสมาคมได้รับพระราชทานชื่อมาจากรัชกาลที่ ๕ เป็นโรงเจเพียงแห่งเดียวในย่านนี้ เทพประธานของโรงเจนี้เป็นมารดาแห่งดาวฤกษ์ทั้งมวล รวมถึงเป็นมารดาของเทพประธาน ๙ องค์ของการกินเจ ดาวสำคัญทั้ง ๙ องค์นี้เกี่ยวข้องกับดาวจรเข้ ซึ่งเป็นดาวที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพ การกินเจจึงมีความเชื่อมโยงกับการรักษาสุขภาพ
วัดสามปลื้ม
จากนั้นออกเดินทางผ่านชุมชนการค้าย่านสำเพ็งเพื่อจะไปยังวัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่าวัดสามปลื้ม (เอกสารบางฉบับระบุว่าเดิมเรียกวัดนางปลื้ม) สันนิษฐานว่าเป็นวัดตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และได้มีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ พระยาอภัยราชาได้เคยบูรณะวัดนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ และต่อมาได้รับการบูรณะครั้งใหญ่โดยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ภายหลังจากที่เสร็จศึกที่เวียงจันทร์
ถ่ายรูปร่วมกัน ณ อุโบสถวัดสามปลื้ม
ในการบูรณะครั้งนี้มีการสร้างวิหารพระบาง สำหรับประดิษฐานพระบาง พระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และนอกจากวิหารพระบางแล้วยังมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เนื่องจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดกฐินที่วัดสามปลื้มแห่งนี้ ทอดพระเนตรเห็นว่าอาคารวิหารสูงกว่าอาคารพระอุโบสถ จึงเกิดการสร้างอุโบสถหลังใหม่ ตัวอาคารวางผังในแกนขวางกับพระอุโบสถ (หลังเดิม) และวิหารพระบาง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์แบบรัชกาลที่ ๓ และได้ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดจักรวรรดิราชาวาส” และต่อมาเมื่อมีการส่งคืนพระบางไป ก็ได้มีการอัญเชิญพระนากจากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานไว้ที่หอพระบางแทน
คุณสมชัยเน้นย้ำประเด็นการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน
ปิดท้ายกิจกรรมคุณสมชัยได้ทบทวนเส้นทางเดินตามพระราชพงศาวดารจากคลองสำเพ็งจรดคลองสามปลื้ม การทำความเข้าใจพื้นที่ผ่านชื่อตรอกซอกซอยต่างๆ ในภาษาจีน และภาษาไทย เช่น ตรอกปลาเค็ม ตรอกดีบุก ตรอกมุ้ง ตรอกเครื่องหวาย จากระยะทางดังกล่าวทำให้เห็นร่องรอยความเป็นมาของประวัติศาสตร์ชุมชน และคุณสมชัยยังได้เน้นย้ำถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนด้วยคนในชุมชนเอง การเรียนรู้อดีตเพื่อทราบว่าจะไปต่อในอนาคตอย่างไร
คุณวลัยลักษณ์สรุปปิดกิจกรรม
จากกิจกรรมพระนครชวนชมภายใต้กิจกรรม “พระนคร ๑๐๑” ครั้งที่ ๖ ในครั้งนี้ ได้เห็นถึงความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ย่านสำเพ็ง เมืองท่าและย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ จากอดีตสู่ปัจจุบัน เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายของการอยู่ร่วมกันของผู้คน จากการทำงานของมูลนิธิฯ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ภาพเก่า และแผนที่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมส่งท้ายในปี ๒๕๖๐ เรื่องราวยังมีรายละเอียดอีกมากให้ทุกท่านได้ติดตามจากวิดีทัศน์ของทางมูลนิธิ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่จะเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในงานประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมกันต่อไปในโอกาสหน้า