คุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
กิจกรรม พระนคร ๑๐๑ ซึ่งดำเนินมาถึงครั้งที่ ๖ กิจกรรมส่งท้ายปีภายใต้หัวข้อ เรียนรู้ “จีนสยามและความหลากหลายทางชาติพันธุ์และความเชื่อย่านสำเพ็ง” ซึ่งจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๓ และวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา โดยมีคุณนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปให้ความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อสถานที่ และให้เกียรติในการกล่าวต้อนรับทุกท่านพร้อมทั้งกล่าวเปิดงาน และคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการมูลนิธิฯ เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ภาคทฤษฎี ให้เข้าใจถึงกรุงเทพฯ “ในฐานะบ้านของเรา เมืองของเรา ชุมชนของเรา” ตลอดรายการ
คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักวิชาการมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
กิจกรรมช่วงที่ ๑: การบรรยายความรู้ภาคทฤษฎี
แนะนำผู้ร่วมกิจกรรม
ในวันแรกคุณวลัยลักษณ์ เริ่มกิจกรรมด้วยการเชิญให้ทุกท่านแนะนำตนเองเพื่อทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคย ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง ช่วงนี้จึงเป็นการเปิดให้เห็นความหลากหลายของกลุ่มพระนคร ๑๐๑ ครั้งที่ ๖ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผู้ที่อยู่ในสายงานราชการ งานวิชาการ งานวิจัย งานการศึกษา รวมไปถึงกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน และกลุ่มอาชีพอิสระ นอกจากนี้วิทยากรได้ถามความเห็นเกี่ยวกับความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งผู้เข้าร่วมแต่ละท่านได้บอกเล่าเหตุผล และความรู้สึก ทั้งนี้สรุปความเห็นส่วนใหญ่ได้ว่าต่างสนใจในข้อมูลประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาชุมชน และทำให้อยากรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง ซึ่งหลายคนนั้นมีเชื้อสายจีนหรือเป็นผู้ที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ หรืออดีตเคยอาศัยอยู่ตามย่านเก่าในกรุงเทพฯ หรือบางท่านที่เป็นมุสลิมก็มีความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมศาสนาอิสลามในย่านนี้ อีกทั้งหลายท่านเป็นผู้เคยติดตามข่าวสารจากเพจมูลนิธิฯ จึงเชื่อมั่นว่ากิจกรรมครั้งนี้จะตอบโจทย์ความสนใจของตนเองดังที่ได้กล่าวมา และยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับหน้าที่การงาน หรือบอกต่อเพื่อนฝูงถึงความเป็นพระนครในอีกมิติหนึ่งผ่านช่องทางต่างๆ
กรุงเทพฯ กับความเป็นเมืองท่า
กรุงเทพฯ มีลักษณะของความเป็นเมืองท่าอย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง หากแต่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้เมืองท่าที่เก่าแก่แต่เดิมคือเมืองนครปฐมโบราณ โดยมีวัดพระเมรุเป็นศูนย์กลาง ซึ่งปัจจุบันถูกถนนเพชรเกษมตัดผ่านเมือง พร้อมทั้งมีหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับการเข้ามาของเรือ เช่น แหล่งซากเรืออาหรับรุ่นแรกๆ กำหนดอายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
สำหรับเมืองบางกอก การตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่อยู่ฝั่งธนบุรี พื้นที่ของเมืองธนบุรีมีสภาพเป็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ(delta) ซึ่งภูมิประเทศลักษณะนี้เป็นบ่อเกิดของแหล่งอารยธรรม เมืองท่าของอุษาคเนย์นั้นเริ่มเกิดขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ เป็นต้นมา ในช่วงเวลานั้นกรุงเทพฯ อยู่ในสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำท่วม ๖ เดือน และแห้ง ๖ เดือน ซึ่งเป็นสภาพของพื้นที่ชายทะเลที่ระดับน้ำสัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล
กรุงเทพฯ คือเมืองที่ตั้งในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในคราวนั้นสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาแต่เดิมมีความคดโค้ง จึงต้องมีการขุดคลองลัด เช่น คลองลัดบางกอกถูกขุดลัดในสมัยพระไชยราชา (แต่ส่วนโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ตอนล่างของเมืองธนบุรีลงไปนั้นจะไม่ขุดเพราะกลัวน้ำเค็มขึ้นเร็ว และจะมีผลกระทบกับสวนผลไม้) สภาพดินเกิดลักษณะลักจืดลักเค็ม เหมาะสมกับการทำสวนโดยดูจากโคลงกำสรวลสมุทร (แต่งขึ้นในช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา) กล่าวถึงกลุ่มชุมชนที่ตั้งเรียงรายระหว่างทางบนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมและคนที่ทำสวนผลไม้ ในข้อความตอนที่กวีเดินทางโดยเส้นทางจากบางกรวยมาบางระมาด ได้พรรณนาถึงผลไม้ต่างๆ ทุเรียน หมาก กล้วย ฯลฯ ดังนั้นพื้นที่ฝั่งธนบุรีจึงจัดเป็นสวนในบางกอก ส่วนสวนนอกคือสวนบางช้าง อัมพวา (จังหวัดสมุทรสงคราม) ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ ผลไม้เป็นอากรส่วยที่สำคัญ มีผู้เดินสวนนับต้นไม้ เป็นต้น
การขยายของเมืองและความต้องการใช้น้ำจืดจึงทำให้มีวิธีการจัดการน้ำเค็ม ด้วยการตัดถนนและกั้นประตูน้ำ ทำให้ระบบนิเวศทางน้ำแต่เดิมถูกทำลาย ประการหนึ่งคือการขึ้นลงของน้ำในแม่น้ำลำคลอง กล่าวคือในกรุงเทพฯ การที่น้ำขึ้นลงมีผลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมเจ้าพระยา เช่นที่วัดสามปลื้มมีการสร้างสะพานยาวเชื่อมลงท่าน้ำ ดังนั้นเรื่องเกี่ยวกับน้ำจึงเป็นลักษณะของการหมุนเวียนของระบบนิเวศน้ำและคนในอดีตต้องมีความรู้เรื่องน้ำ เช่น การเดินทางของสุนทรภู่ที่ต้องใช้คนท้องถิ่นในการนำทางเพื่อให้รู้ระดับน้ำที่เรือจะสามารถแล่นได้ รวมทั้งประเพณีเกี่ยวกับน้ำมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน เช่น พิธีไล่น้ำ แข่งเรือ แรกนา เป็นต้น
ในแผนที่กรุงธนบุรีของสายลับพม่า ระบุถึงตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ของเมืองกรุงธนบุรี ทั้งเรือนที่อยู่ของขุนนาง วัด วัง รวมทั้งลักษณะของภูมิศาสตร์ ที่สัมพันธ์กับการตั้งเมืองเห็นได้จากพระเจ้ากรงธนบุรีเลือกชัยภูมิของเมืองธนบุรี โดยหากดูแผนที่เมืองกรุงเทพฯ จะพบว่า ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ และ พ.ศ. ๒๔๗๕ คลองคูเมืองธนบุรียังคงปรากฏอยู่ แต่คลองส่วนใหญ่ถูกถมในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๐ มีผลทำให้ขวางทางไหลของน้ำ เมื่อน้ำหลากมาก็ท่วมค้างอยู่นานแตกต่างจากเดิมที่มีคลองลำน้ำเล็กๆ ช่วยระบายน้ำ ในฝั่งตะวันออกมีการขุดคลองเพิ่มขึ้น เช่น คลองรอบกรุง(คลองโอ่งอ่าง) ขุดในรัชกาลที่ ๑ ส่วนคลองผดุงกรุงเกษมขุดในรัชกาลที่ ๔ นอกจากนี้การตัดถนนผ่านชุมชนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับที่ตั้งของชุมชนแต่เดิม เช่น กรณีชุมชนตึกดิน คลองโรงไหมถูกครอบด้วยสะพานพระปิ่นเกล้า และรอบกรุงก็มีป้อมที่ยังสร้างไม่เสร็จแต่ถูกรื้อเสียก่อนในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ตามแนวคิดการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย (modernization) ด้วยการตัดถนนหลายสาย ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่และสร้างความเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน
กรุงเทพฯ กับความหลากหลายทางชาติพันธุ์
กรุงเทพเป็นเมืองที่รวมความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในระยะแรกความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์มาจากการกวาดต้อนผู้คนจากการทำสงครามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งกรณีที่ไปเกณฑ์พลมา และที่อพยพกันมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์สยาม เช่น กลุ่มทวายย้ายมาตั้งรกรากอยู่ยานนาวา (โดยมีเชื้อพระวงศ์ในราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำอพยพเข้ามา) ตรอกทวายตรงแม้นศรี และที่ถนนตะนาว ก็อาจเป็นกลุ่มทวายที่ย้ายจากตะนาวศรีมาอยู่กรุงเทพฯ รับราชการเป็นผู้ทำงานต่อเรือหลวง
ชุมชนมุสลิมถูกกวาดต้อนมาอยู่กรุงเทพฯ อย่างน้อย ๒ รอบในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๑ ถูกกวาดต้อนให้มาตั้งรกรากบริเวณสี่แยกบ้านแขก ธนบุรี และน่าจะมาจากทางปัตตานี ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จะเป็นกลุ่มมัสยิดตึกดินที่ถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรี ในรัชกาลที่สามยังจ้างแรงงานจีนมาขุดคลองแสนแสบ คนมุสลิมทั้งในมัสยิดจักรพงษ์และมัสยิดบ้านตึกดินนั้น ส่วนใหญ่มีวิชาการตีทองและการแกะเหรียญ อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญของโรงกษาปณ์ ซึ่งพื้นที่โรงกษาปณ์เดิมในปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป นอกจากนั้นทางฝั่งมัสยิดมหานาค (ชุมชนมุสลิมนอกพระนคร) เป็นขุนนางในวังเป็นจำนวนมาก จึงได้รับวิชาอาหารจากการทำงานในวังที่ส่งต่อออกมายังชาวบ้าน ทุกวันนี้ยังมีการผสมผสานวัฒนธรรมจากปัตตานี มลายูอยู่ด้วย
ขณะที่กลุ่มโปรตุเกส อยู่ทางกุฎีจีน และวัดกาลหว่าร์ หากแต่กลุ่มคนญวนอพยพเข้ามามากในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น กลุ่มขององเชียงสือ (ถ้าดูจากแผนที่กรุงธนบุรีโดยสายลับพม่าจะพบว่ามีกลุ่มคนญวนเข้ามาแล้ว)
ชุมชนญวน แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ญวนคริสต์ที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและญวนพุทธที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีคนญวนหลงเหลืออยู่แล้ว สิ่งที่หลงเหลือความเป็นญวนคือวิชาการทำกงเต็ก ที่รู้จักกันในนาม “กงเต็กวัดญวนสะพานขาว” ปัจจุบันเป็นคนจีนที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน กงเต็กที่ว่ามานั้นเป็นทั้งกงเต็กที่ใช้ในงานพระราชพิธีและกงเต็กสำหรับคนทั่วไปที่มาสั่งทำ
นอกจากนั้นมีกลุ่มช่างทำกระเบื้องในการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมและสร้างโรงหนัง ที่มาจากที่ต่างๆ ซึ่งเดิมอาศัยอยู่บนเรือเมื่อเรือหมดจึงอพยพโยกย้ายกันขึ้นมาอาศัยบนบก กลายเป็นชุมชนแออัดแห่งแรกของประเทศ ที่อาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ได้ลงไปศึกษา
การเข้ามาของกลุ่มคนจีน การสิ้นสุดของราชวงศ์หมิง คนจีนมีการอพยพระลอกใหญ่มาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรงกับไทยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย รัฐสยามมีการประนีประนอมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ค่อนข้างมากซึ่งแตกต่างจากพม่าที่แบ่งแยกกันอย่างชัดเจน
เมื่อหลัง พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดการอพยพของแรงงานจากภูมิภาคอื่นเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานอีสานจำนวนมากเข้ามารับจ้างและประกอบอาชีพถีบสามล้อซึ่งอาศัยอยู่แถววัดตรีทศเทพและชุมชนกรมพระสมมตอมรพันธ์
กรุงเทพฯ กับการจัดการเมืองประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลง
กรุงเทพฯ ในช่วงสองร้อยกว่าปี นับตั้งแต่ได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีนั้น มหานครแห่งนี้ผ่านความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ทั้งในแง่พื้นที่เชิงกายภาพ และสภาพเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งวิทยากรได้ฉายภาพให้เห็นความเป็นมา อดีตถึงปัจจุบันของย่านต่างๆ และประเด็นปัญหาในการจัดการเมืองเก่าโดยคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ภายใต้ “แผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์” ประเด็นการอนุรักษ์เมืองเก่า และปัญหาการไล่รื้อชุมชน แนวทางการจัดการด้วยกฎหมายซึ่งขาดรายละเอียดข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมของพื้นที่ย่านเมืองเก่า การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน โดยละเลยวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ประเด็นปัญหาการจัดการวัฒนธรรมตามการนิยามมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ (The tangible and Intangible heritage) โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO) (สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ข้อสังเกตเรื่อง “ความไม่เข้าใจเมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพมหานคร” อ้างถึงใน จดหมายข่าว มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๑๑๓ มกราคม - มีนาคม ๒๕๖๐ หน้า ๖ - ๙) ทั้งนี้วิทยากรได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยกันสืบค้นประวัติศาสตร์สังคม การช่วยกันขยายความรู้ความเข้าใจประเด็นการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง ความรู้ความเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ บ้านของเรา เมืองของเรา ชุมชนของเรา