เครื่องกระดาษกงเต๊ก “เล็กวัดญวน”
“กงเต๊ก” เป็นพิธีกรรมนำเครื่องกระดาษจำลองสิ่งของเครื่อง ใช้ต่างๆ มาเผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แสดงให้เห็นถึง ความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษให้ได้มีความเป็นอยู่ ที่สุขสบายตามคติความเชื่อในเรื่องของโลกหลังความตาย คำว่า “กง” หมายถึงการกระทำที่ดีงามและเป็นประโยชน์ ส่วน “เต๊ก” หมายถึงบุญหรือกุศล ความเชื่อการประกอบพิธีกรรม ดังกล่าวนี้เป็นความเชื่อที่พบทั้งในวัฒนธรรมญวนและจีน
คุณถนอมนวล องค์ศิริกุล
ทุกวันนี้วัดญวน สะพานขาว ยังมีการสืบทอดช่างฝีมือแต่ ครั้งโบราณที่เคยมีช่างชาวญวนทำเครื่องกงเต๊กหลวงในพระราชพิธี สืบทอดส่งต่อให้คนแถบวัดญวนจนกลายเป็นช่างทำกงเต๊กที่มีชื่อเสียง ในระดับประเทศที่รู้จักกันในนาม “บ้านกระดาษ เล็ก วัดญวน สะพาน ขาว” รับทำทั้งกงเต๊กหลวงให้ตั้งแต่พิธีกรรมของเจ้านาย ราชวงศ์ชั้น สูงจนถึงกงเต๊กทั่วไปหรือแบบชาวบ้านที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมเดิมไว้อยู่ โดยการจำลองเรื่องราว ที่อยู่อาศัย กิจการ สิ่งของอัน เป็นที่รักของผู้ล่วงลับ หรือจินตนาการอาคารบ้านเรือนที่ใหญ่โตเน้น ความสะดวกสบาย โดยเชื่อว่ากงเต๊ก เครื่องกระดาษที่อุทิศไปให้นั้น จะสามารถส่งถึงผู้ที่รับได้โดยตรงถึงแม้ว่าช่างเล็กจะเสียชีวิตลงไปแล้วแต่วิชาการทำกงเต๊ก หรือเครื่องกระดาษยังมีการสืบทอดรับช่วงงานฝีมือโดยภรรยาและ ลูกๆ ของช่างเล็ก ที่มีการรับช่วงและฝึกฝนกันเป็นอย่างดี
คุณถนอมนวล องค์ศิริกุล ภรรยาช่างเล็กเล่าว่า ตนเป็นคน เชื้อสายจีนที่เติบโตในพื้นที่พลับพลาไชย ส่วนคุณเล็กมีพื้นเพเป็นคน จากจังหวัดอยุธยา แม้ทั้งคู่จะไม่ได้มีเชื้อสายญวนแต่อย่างใด แต่ได้ เข้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อบ๋าวเอิงที่วัดญวนแห่งนี้ ได้ร่ำเรียน วิชาการทำกงเต๊ก เครื่องกระดาษนี้เรื่อยมาจากการเป็นลูกมือและลูก ศิษย์ช่างชาวญวนรุ่นเก่าๆ
เทคนิคสำคัญของการทำกงเต๊กแบบช่างญวนคือการใช้ “ไม้ระกำ” ที่ต้องสั่งมาจากจังหวัดจันทบุรี เนื่องจากไม้ระกำนั้นเป็น ไม้ที่เหนียวแต่อุ้มน้ำได้ดีในอุณหภูมิที่มีความชื้น ทำให้ดัดเป็นรูปร่าง ต่างๆ ได้ดีกว่าไม้ไผ่ที่นิยมใช้ในงานกงเต๊กแบบจีน และยังเป็นเชื้อ เพลิงที่ดี เผาไหม้เร็ว และมอดดับเร็ว ซึ่งจะเป็นข้อแตกต่างกับการ ใช้ไม้ไผ่ที่มีเนื้อเหนียวติดไฟยากกว่า มาถึงรุ่นลูกมีการเพิ่มเทคนิคการทำต่างๆ ขึ้นมา เช่น การ เพิ่มรายละเอียดขนาดเล็กๆ อย่างเสมือนจริงที่สุดโดยการใช้ดินญี่ปุ่น ปั้นตามแบบ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของงานกงเต๊กช่างเล็กทีเดียว
งานที่รับทำมีทั้งราคาสูงและย่อมเยาขึ้นอยู่กับขนาดและวัสดุในการทำ หากเป็นไม้ไผ่จะมีราคาที่ถูกกว่าไม้ระกำ และมักจะไม่รับ งานซ้อนงาน เพราะใช้เวลานานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น เนื่องจาก เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ถึง แม้ว่าจะมีช่างฝีมืออยู่ภายในครอบครัวจำนวนหลายคนก็ตาม
กรณีงานหลวงหรืองานของเจ้านายเริ่มมีการบันทึกตั้งแต่ ครั้งรัชกาลที่ ๔ ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลา๗ วัน ๗ คืน โดยเจ้าภาษีนายอากร ชาวจีนเป็นเจ้าภาพและให้ใช้ช่างพระญวนเป็นผู้ทำเครื่องกงเต๊กและ ประกอบพิธี ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งคณะสงฆ์จีนนิกายและอนัมนิกาย จึงมีการแยกจัดการพิธีถวายทีละคณะสงฆ์
ทุกวันนี้ครอบครัวช่างเล็กรับงานหลวงผ่านทางวัด โดยคณะ พระสงฆ์ญวนอนัมนิกาย หน้าที่ของช่างคือทำกงเต๊ก เครื่องกระดาษ โดยที่มีแบบจากการจำลองพระราชวังหรือตำหนัก ที่ประทับของ พระองค์ต่างๆ งานใหญ่ในลักษณะนี้ใช้เวลานานและใช้ความละเอียด สูงและมีขนาดใหญ่ ขั้นตอนการทำเริ่มทำกันเป็นชิ้นภายในบ้านก่อน หลังจากนั้นจึงนำไปประกอบยังพื้นที่จริงก่อนจะมีพิธีการสวดโดยคณะสงฆ์
บรรยากาศการเผากงเต๊กฝีมือทายาทของช่างเล็ก วัดญวน สะพานขาว
ส่วนงานทั่วไปนั้นลูกค้ามีทั้งที่เป็นญวนและจีน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างจังหวัดส่วนใหญ่นั้นอยู่ทางแถบ จังหวัดนครพนม สกลนครเพราะพื้นที่ดังกล่าวมีชาวญวนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทางคุณถนอมนวลและลูกๆ ต้องเดินทางไปส่งเอง ถึงที่ เนื่องจากมีกรรมวิธีการยกหรือการประกอบที่ซับซ้อน เจ้าภาพไม่ สามารถทำเองได้และพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดไปจนถึงควบคุม การเผาส่งจนเรียบร้อย เป็นการจบภารกิจของช่างทำกงเต๊ก
ปัจจุบันการทำกงเต๊กยังเป็นอาชีพหลักของครอบครัวช่างเล็ก ที่เหลือแต่ภรรยาและลูกๆ สมาชิกของครอบครัวสิบกว่าคนต่างก็ช่วย กันทำกงเต๊กและเครื่องกระดาษ เป็นการสืบทอดงานฝีมือที่ตกทอดมา จากช่างญวนเก่าที่วัดญวน สะพานขาวให้คงอยู่สืบไปและเพิ่มเติมโดย การคงลักษณะอันโดดเด่นของช่างฝีมือวัดญวนในการเก็บรายละเอียด เรื่องราวทุกอย่างในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเสมือนจริง
นอกจากนั้นครอบครัวของช่างเล็ก แม้จะย้ายออกไปอยู่นอก ชุมชนวัดญวน สะพานขาว เพราะพื้นที่การทำงานไม่สามารถทำได้ ในชุมชนอีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวของคุณถนอมนวล องค์ศิริกุลก็ ยังช่วยเหลืองานกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนอย่างเข้มแข็งและสม่ำเสมอ เพราะถือว่า “ที่นี่คือบ้านของเรา” สมาชิกในครอบครัวทุกคนยังมีสำนึกความเป็นคนในชุมชนวัดญวน สะพานขาวอย่างแน่นแฟ้น
“มะเหง่” อาหารท้องถิ่นย่านวัดญวน สะพานขาว
กรุงเทพฯ ถือเป็นสังคม “พหุลักษณ์” ที่มีผู้คนหลากหลาย กลุ่มชาติพันธุ์ หลายศาสนาอาศัยอยู่ ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนกระจายไป ในพื้นที่ต่างๆ จึงพบความหลากหลายทางประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
ชาวญวนถือเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ภายในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลท ๑ ครั้งเกิดเหตุการณ์กบฏไตเซินและมาเพิ่มเติมในการสงครามสมัย รัชกาลที่ ๓ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนสามเสน และอีกกลุ่มคือ กลุ่มชาวญวนที่นับถือพุทธศาสนาอาศัยอยู่ในบริเวณวัดญวน สะพานขาว ริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งนอกทุกวันนี้แม้จะไม่พบว่ามีกลุ่มคนเชื้อสายญวนหลงเหลือตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่วัดญวน สะพานขาวอีกแล้วแต่อย่างใด แต่มรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหารชนิดหนึ่งยังคงพบเห็นและสืบทอดการทำอยู่ ทำได้รสชาติอร่อยและถือเป็นอาหารประจำย่านวัดญวน สะพานขาว ชั้นเยี่ยมได้ทีเดียว
ชาวบ้านที่วัดญวนแห่งนี้เรียกชื่อกันว่า “มะเหง่” สมัยก่อน เป็นอาหารที่มีรับประทานกันในชุมชน โดยมีคนญวนใส่หาบขายกัน ตามบ้านและเป็นอาหารที่ทำรับประทานกันเองภายในครอบครัวตามวาระ มีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยวไหหลำ แต่เส้นทำมาจากแป้งขนมจีน เพียงแต่มีขนาดอวบใหญ่กว่ามาก สามารถรับประทานได้ทั้งแบบแห้งและน้ำ ส่วนน้ำซุปทำจากน้ำต้มกระดูกหมูที่ต้มนานได้รสชาติดีและ คอยดูแลให้น้ำใส ใส่เนื้อสัตว์สองแบบคือหมูและปลา สูตรดั้งเดิมนั้น ใช้ปลาทู แต่เนื่องจากปลาทูมีกลิ่นคาวจึงได้ปรับมาเป็นปลาช่อน
"มะเหง่" ของดีของชาวชุมชนวัดญวน สะพานขาว
ความพิเศษของมะเหง่ที่ฟังดูแล้วไม่คุ้นเคยพอๆ กับชื่อนั่นคือ “น้ำจิ้มมะม่วง” ที่ใช้ราดลงไปในมะเหง่แบบแห้งเพื่อเพิ่มรสชาติ แถม ยังได้รับการยืนยันจากคนในท้องถิ่นว่า “มะเหง่อร่อยได้เพราะน้ำจิ้ม หากไม่ใส่จะถือว่าไม่เป็นมะเหง่” น้ำจิ้มมะม่วงดังกล่าวมีส่วนผสมจาก น้ำตาลปี๊บ น้ำมะนาว กระเทียม พริกเหลืองหรือขี้หนูสวนและมะม่วง ดิบซอยที่มีรสเปรี้ยว รสชาติคล้ายกับยำมะม่วงหรือกินมะม่วงน้ำปลา หวาน เมื่อราดน้ำจิ้มลงบนมะเหง่แห้งแล้วโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว ต้นหอม ผักชี คลุกให้เข้ากันแล้วรับประทานอร่อยหอมหวานอมเปรี้ยว
ทุกวันนี้อาหารประจำถิ่นวัดญวน สะพานขาว มะเหง่ได้รับ การฟื้นฟูให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง คุณพณิฎา สกุลธนโสภณ หรือ ป้าใหญ่ วัย 63 ปี เกิดและอยู่ที่ตรอกใต้มานาน มีเชื้อจีนผสมญวนทางนครสวรรค์ ย้ายออกมาจากตรอกใต้หลังไฟไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2๕๑๑ ภายหลังมาแต่งงานกับสามีเป็นคนเชื้อจีนไหหลำซึ่งอาศัยเช่า ที่ดินวัดสมณานัมบริหาร หรือรู้จักกันในนามวัดญวนสะพานขาว อาศัย อยู่บริเวณด้านหน้าวัดและเป็นโยมอุปัฏฐากวัด ดูแลกิจกรรมภายในวัด และศาลเจ้าพ่อกวนอูต่อจากแม่ของสามีที่เคยทำหน้าที่นี้อยู่
คุณพนิฎา สกุลธนโสภณ หรือป้าใหญ่
ป้าใหญ่เกรงว่าสิ่งเหล่านี้ที่เป็นมรดกตกทอดทาง วัฒนธรรมของชุมชนจะเลือน หายไปกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จึงตัดสินใจเปิดการขาย มะเหง่ขึ้นมาพร้อมทั้งแนะนำ วิธีการทำให้กับทายาท และผู้สนใจได้เรียนรู้ โดย ถือว่าการเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์คือวิธีการ อนุรักษ์อย่างหนึ่ง ที่จะสามารถทำได้ด้วยตนเอง
เมื่อไม่นานมานี้มีชาวเวียดนามได้บังเอิญผ่านเข้ามาเจอป้า ใหญ่กำลังลงมือปรุงมะเหง่อยู่บริเวณร้านอาหารของป้าใหญ่ที่ตั้งอยู่ บริเวณหน้าวัดญวน สะพานขาว จนมีความสนใจและได้พูดคุย แลก เปลี่ยน บอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมกันได้ความว่า ในทางเวียดนาม ตอนเหนือแถบฮานอยมีอาหารที่มีลักษณะคล้ายมะเหง่ โดยมีชื่อภาษาถิ่นว่า “บุ๋นจ่าก้า” [Bu’n Cha’ Ca] ถือเป็นความรู้ใหม่ให้กับชาวชุมชนเพราะไม่เคยทราบสิ่งเหล่านี้มาก่อน รู้เพียงแค่ว่านี่คืออาหารที่สืบทอด กันมายาวนานของผู้คนในชุมชนเพียงเท่านั้น
มะเหง่แบบน้ำใส่เนื้อปลาช่อน
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าผู้คนที่มีเชื้อสายญวนนั้นแทบจะหายไป จากชุมชนทั้งหมดแล้ว แต่ “มะเหง่” ยังเป็นร่องรอยวัฒนธรรมที่ยืนยัน และสามารถบอกเล่าเรื่องราวในชุดความรู้ของประวัติศาสตร์สังคม ของชาวญวนที่ครั้งหนึ่งเคยมีกลุ่มคนชาวเวียดนามเก่าแก่ตั้งแต่ยุคต้นกรุงฯ กลุ่มหนึ่งได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้
แผนที่ร้านมะเหง่ของป้าใหญ่ บริเวณหน้าวัดญวน สะพาขาว
และสำหรับท่านที่สนใจต้องการลองรับประทาน “มะเหง่” ของดีของชุมชนวัดญวน สะพานขาว สามารถแวะไปได้ที่ “ร้านมะเหง่ ป้าใหญ่วัดญวน สะพานขาว” บริเวณหน้าลานจอดรถวัดสมณานัมบริหาร หรือวัดญวน สะพานขาว ในวันอังคาร วันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลา ๑๑.๐๐-๑๖.๐๐ น. หรือโทร. ๐๖๒-๕๑๗-๔๗๖๕
พระนครบันทึก : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๔ (เม.ย.-มิ.ย.๒๕๖๐)