หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
โบฮีเมียนกับเรือเครื่องเทศ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 12 พ.ค. 2559, 12:20 น.
เข้าชมแล้ว 4416 ครั้ง

 

มีนัดคุยกับลูกหลานมูซา บาฟาเดน ผู้มีเชื้อสายอาหรับ เกิดที่เมืองปันติยานะห์ ที่อยู่ทางใต้ของเกาะบอร์เนียว เป็นพ่อค้าทางเรือ เดินทางค้าขายระหว่าง สยาม มาลายู และอินโดนีเซีย แล้วตัดสินใจขึ้นฝั่งตั้งถิ่นฐานถาวร ยังริมชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางทิศตะวันออกซึ่งมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า “หมู่บ้านต้นสำโรง” เมื่อราวๆ พ.ศ. ๒๓๘๐ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศุลกสถานหรือโรงภาษีที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๓ และชุมชนมุสลิมรวมทั้งบาแลหรือสุเหร่าก็ย้ายเข้ามาด้านใน บริเวณที่เป็นชุมชนรอบมัสยิดฮารูณติดกับวัดม่วงแค อาคารเก่าและตำรวจน้ำยังคงใช้พักอาศัยอยู่อย่างไม่ได้ไปไหนสักที

 

ชาวบ้านที่นี่นอกเหนือจากมีเชื้อสายอาหรับ/เบอร์เนียว ก็ยังแต่งงานกับมุสลิมเชื้อสายอินเดีย เชื้อสายจากกรุงเก่า และเชื้อสายชาวจามที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

 

แต่เดิมชุมชนมัสยิดฮารูณชื่อมัสยิดวัดม่วงแค ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมัสยิดฮารูณตามชื่อท่านผู้สร้างชุมชนและมัสยิดแต่เดิม ซึ่งเป็นลูกชายของผู้ตั้งชุมชนแต่เดิม  เนื่องจากชุมชนในแถบนี้มีพื้นฐานอาชีพในการทำการค้าเพราะอยู่ใกล้กับศุลกสถานหรือโรงภาษี สถานทูตฝรั่งเศส ชาวมุสลิมที่นี่จึงเป็นพ่อค้าและทำงานด้านการค้าขาย เช่น ชิปปิ้งเสียส่วนมาก จึงมีทั้งชาวบ้านแต่เดิม ชาวอินเดียนมุสลิม ชาวจีนฮ่อ และปัจจุบันมีชาวแอฟริกันมุสลิมที่เป็นพ่อค้าหินกึ่งมีค่า พลอย มาละหมาดร่วมด้วยจำนวนไม่น้อย

 

การที่อยู่ริมแม่น้ำ ใกล้โรงภาษี และตลาดบางรัก ตลาดเยาวราช ตลาดน้อย เป็นพื้นที่ติดต่อกับย่านนานาชาติ ทำให้ผู้คนไปมาค้าขายมากมาย จึงพบสุภาพสตรีสูงวัยท่านหนึ่งที่แต่งงานกับลูกหลานของโต๊ะฮารูณ เป็นคนหัวแหลมที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาฝ่ายพ่อแม่มีอาชีพค้าขายทางเรือ โดยคุณพ่อทำเรือไอเพื่อรับจ้างลากซุงจากบึงบอระเพ็ดมายังโรงเลื่อยแถบชานเมือง ส่วนฝ่ายแม่นั้นค้า "เรือเครื่องเทศ"

 

หากเป็นคนรุ่นหลังๆ หรือไม่คุ้นเคยกับชีวิตริมน้ำอาจะคิดว่าเรือเครื่องเทศนั้น ค้า "เครื่องเทศ" เอาจริงๆ แต่เรือเครื่องเทศดังกล่าวใช้เรียก “เครื่อง” เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ส่วน “เทศ” หมายถึงของจากต่างแดน เรือเครื่องเทศ เป็นภาษาเก่าที่ระบุว่าเป็นการค้าขายของจากต่างแดนนั่นเอง

 

 

เรือเครื่องเทศ เป็นเรือค้าขายเครื่องใช้ในครัว แก้ว จานชาม จากต่างประเทศ ของใช้ในครัว ของเล่นต่างๆ สร้างโชว์รูมไว้ที่ท้ายเรือเพื่ออวดสิ่งของเป็นเรือกระแชงลำไม่เล็ก ใช้บรรทุกสิ่งของไว้ท้องเรือที่ไปซื้อแบบขายส่งจากร้านคนจีนแถวถนนจักรวรรดิ์ทางขึ้นสะพานพุทธฯ ลอยลำค้าขายไปตามแม่น้ำลำคลองที่มีย่านชุมชนต่างๆ ถึงกับพูดกันว่ามีน้ำที่ไหนก็ย้ายไปขายถึงที่นั่น

 

เรือเครื่องเทศอยู่ในยุคสมัยที่ค้าขายร่วมกับเรือตู้ของชาวจีนไหหลำที่ขายพวกตู้เตียง เฟอร์นิเจอร์ใช้ในบ้านของช่างไหหลำ และเรือมอญที่ค้าโอ่ง ไห กระถางเครื่องปั้นดินเผาของชาวมอญ เรือทั้งหมดนี้มักใช้เรือกระแชงลำใหญ่ที่ใช้เป็นที่พักอาศัยรอนแรมอยู่บนเรือนานหลายเดือนหรือเป็นปี บางท่านไม่ชินในการอยู่อาศัยในบ้านบนบก ก็ย้ายมาอยู่ในเรือกันจนตลอดชีวิต

 

 

คุณป้าสุรีย์ เรสลี (นามสกุลนี้จากสามีซึ่งเป็นหลานท่านฮารูณ ฝ่ายบิดานั้นทำอาชีพค้าขายกับทางพระตะบองและเคยเป็นคนในบังคับของกงสุลฝรั่งเศส จึงมีนามสกลุเป็นฝรั่งเศสดังกล่าว)

 

เมื่อแต่งงานและย้ายมาอยู่ที่ชุมชนมัสยิดฮารูณแล้ว ก็ยังทำการค้า "เครื่องเทศ" โดยการใช้เครดิตของแม่ที่เคยค้าเรือเครื่องเทศที่้ไปนำของมาจากร้านเดิม เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นการค้าเงินผ่อนตามบ้านในละแวกมัสยิดฮารูณ แต่ก็ทำอยู่ไม่นาน ทุกวันนี้ยังมีเครื่องเทศจำนวนไม่น้อยที่ยังเก็บรักษาไว้ในบ้านของคุณป้าอยู่

 

 

"เครื่องเทศ" ชุดสุดท้ายที่คุณป้ายังเก็บรักษาไว้มีเช่น เครื่องถ้วยชามจากญี่ปุ่น ชุดใส่เครื่องหอม ชุดแก้วเจียระไน และที่น่าหลงใหลคือ เครื่องแก้วสีต่างๆและแต้มสีที่เรียกว่า "เครื่องแก้วโบฮีเมีย"

 

 

คนเล่นเครื่องแก้วโบราณคงคุ้นเคยกับชุดเครื่องแก้วสวยๆ ที่มาจากเมืองนอกแดนไกล ป้าเล่าว่าเวลาเรือเครื่องเทศไปถึงบ้านไหนคนก็จะเข้ามารุมล้อมเลือกหาซื้อของเครื่องแก้วเครื่องใช้กันจนขายแทบไม่ทัน ของเก่าๆ เหล่านั้นคงยังพอมีเหลืออยู่บ้างตามบ้านเรือนริมน้ำในชุมชนต่างๆ

 

เดี๋ยวนี้มีแต่คนรู้จักสไตล์โบฮีเมียน ที่เป็นการแต่งตัวสบายๆ และไปเที่ยวยุโรปแถบสาธารณรัฐเชค ก็มักจะช็อปปิ้งเครื่องแก้วโบฮีเมีย แต่คงนึกไม่ออกว่าพวกเรานั้นก็เคยนิยมเครื่องแก้วโบฮีเมียนมาตั้งนานกันตั้งแต่น่าจะราวๆ ในช่วงรัชกาลที่ ๕ มาแล้ว และเครื่องแก้วจากราชอาณาจักรโบฮีเมียโบราณที่กลายมาอยู่ในสาธารณรัฐเชค สโลวาเนีย และเยอรมันก็เคยเป็นของที่นิยมใช้กันมาและแพร่หลายกันมากจนมาถึงการค้าขายทางเรือในแบบการค้ายุคโบราณ ครั้งที่ยังไม่มีเขื่อนสารพัด จนทำให้เรือค้าขายสารพัดชนิดในท้องน้ำของเราหายไปจนหมด

 

พร้อมๆ กับเครื่องแก้วโบฮีเมียนที่กลายเป็นของที่ระลึกแต่สำหรับคนมีฐานะเพียงพอที่จะท่องยุโรปในยุคนี้เท่านั้นเอง

 

ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

 

อัพเดทล่าสุด 30 ส.ค. 2561, 12:20 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.