ตึกดินที่เป็นตรอกต่อเนื่องกับตรอกบวรรังษี ตามแผนที่ที่นำมาให้ดูคือ ราวๆ พ.ศ. ๒๔๔๐ อีกสองปีต่อมาจึงเริ่มสร้างถนนราชดำเนิน ตึกดินเป็นอาคารตึกเก็บดินปืน ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ทีเดียว คงสร้างไว้มาแต่ต้นกรุงฯ ใช้เก็บดินปืนที่เป็นวัตถุอันตราย จึงสร้างออกมาไกลพระบรมมหาราชวังหน่อย แต่เมื่อมีการขยายตัวของเมือง สร้างวัดและบ้านช่องขุนนางและพ่อค้า ตึกดินก็ดูเหมือนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ตึกดินมีเขตจรดแนวคลองหลอดวัดราชนัดดา มาจนจรดแนวใกล้คลองหลังวัดบวรรังษี
ลุงประเสริฐ เจริญราชกุมารเล่าถึงที่มาของชาวมัสยิดตึกดินว่า บ้านเรือนแต่เดิมอยู่ที่ตรอกศิลป์ ซึ่งมีการทำทั้งช่างทองรูปพรรณและช่างตีทองคำเปลว จึงเรียกว่าตรอกศิลป์ อยู่ติดกับคลองวัดราชนัดดา ดูจากแผนที่แล้ว น่าจะอยู่ด้านตะวันตกของตึกดิน มีถนนตะนาวอีกด้านหนึ่ง ฝั่งตรงข้ามเป็นวัดมหรรณพ์ หัวมุมตัดกับถนนราชดำเนินในปัจุบันเป็นที่ตั้งของคอกวัว แขกเลี้ยงวัวเป็นแขกปากีสถานหรือแขกบังกาลอร์ ผู้เล่าก็ไม่ค่อยแน่ใจ เมื่อจะสร้างถนนราชดำเนินจึงย้ายมาอยู่ฝั่งเหนือของแนวถนน บริเวณโรงเรียนสตรีวิทย์ในปัจจุบัน ก่อนถูกเวนคืนที่ดิน และย้ายมาจนอยู่บริเวณปัจจุบัน ในพื้นที่ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของตึกดิน ดังในภาพ ดังนั้น หากผู้ใดคุ้นเคยในบริเวณถนนดินสอและราชดำเนินกลาง เราจึงพบคำเรียกบริเวณตึกดินทั้งสองฝั่งของถนนราชดำเนิน เป็นที่มาเช่นนี้
หลังวัดรังษีสุทธาวาสที่มารวมกับวัดบวรนิเวศภายหลังในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นแนวคลอง อีกฝั่งหนึ่งเรียกว่า ตรอกบวรรังษี เคยมีขุนนาง ข้าราชการอยู่อาศัยและเติบโตกันที่นี่หลายท่าน แม้แต่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็เคยเล่าว่า เกิดที่ตรอกนี้เช่นเดียวกัน
จะเห็นแนวคลองและลำน้ำว่าเป็นเขตแนวแบ่งอาณาเขตวัดแต่เดิม ทุกวันนี้ก็ยังคงเก็บรักษาได้แต่ในวัดบวรนิเวศฯ ดังในภาพ แต่คลองเหล่านั้นน้ำไม่ไหลและตันเสียแล้วจึงต้องตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียพัดเอาตลอดเวลา แต่คงช่วยได้ไม่มาก
ในอดีตแม้แต่ในพื้นที่ภายในกำแพงเมืองชั้นใน เราก็ยังอาศัยคลองเดินทางและผู้ใหญ่หลายท่านเล่าว่าใช้เรือขนาดเล็กล่องเข้ามาจนถึง
แม้แต่คลองวัดตองปุหรือวัดชนะสงคราม แม่ค้าผลไม้จากสวนฝั่งธนฯ ยังเข้ามาขายผลไม้จากสวนที่ในตรอกสุเหร่าจักรพงษ์ได้
เรือข้าวก็เคยเข้ามาในแนวคลองที่หลังวัดบวรฯ และคลองที่เป็นแนวมัสยิดตึกดินเช่นเดียวกัน
ชาวตึกดินจึงมีทั้งคนพุทธและคนมุสลิมอยู่เป็นแนวๆ ปนอยู่ใกล้กัน เพราะมีการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้คนดังกล่าว ไม่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มเดียวแบบที่จักรพงศ์ แถมอยู่หลังวัดบวรฯ คนพุทธ คนมุสลิม คนจีน เดินเข้าวัด เข้ามัสยิดกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เฟือๆ แบ่งๆ กันมีชีวิตเหมือนในปัจจุบัน
ปี ๒๕๒๕ ไฟไหม้ทั้งชุมชนตึกดิน เหลือรอดมาไม่กี่หลังคาเรือน สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านประทานเมตตา หาทั้งสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ อาหารที่ชาวมุสลิมทานได้มาช่วยอย่างแข็งขันเต็มที่ ท่านเมตตาต่อคนในตรอกเสมอๆ
เมื่อสามปีที่แล้ว สมเด็จพระสังฆราชท่านทรงประชวรหนักไปแล้ว คนในตรอกบวรรังษีที่เคยมีสะพานข้ามคลองมีรั้วประตูวัดที่เปิดต้อนรับ หรือแม้แต่พระสงฆ์ที่ยังเข้ามาบิณฑบาตรเป็นกิจวัตร ก็เปลี่ยนเป็นรื้อประตูรั้วออก และสร้างอาคารมหามงกุฎราชวิทยาลัยและต้องการพื้นที่เปิดสู่ถนนดินสอ ในบริเวณอาคารตึกแถวข้างวัดที่เป็นของวัด ตรงกับเรือนขายขนมแม่อุดมสมจิตรพอดี แต่ที่มีปัญหาคือแนวถนนที่ต้องการขยายต้องไล่ที่คนในตรอกศิลป์อย่างน้อยๆ ต้องฝั่งหนึ่ง จนทำให้คนในตรอกแยกออกเป็นสองกลุ่มเพื่อรักษาผลประโยชน์
และให้เวลาสามปี เพื่อหาที่ไปใหม่หรือประวิงเวลาไว้ นี่ก็ครบสามปีแล้ว คนในตรอกบวรรังษีที่เป็นชาวพุทธหวั่นไหวกันมาตลอด คนเก่าแก่บางคนต้องออกจากบ้านเกิดไปแล้ว หลายคนเป็นลูกหลานของเจ้าของที่ดินซึ่งบรรพบุรุษเคยศรัทธาและถวายให้วัด แทนที่จะแบ่งให้ลูกหลาน และให้ลูกๆ เช่าจากวัดแทนการแบ่งมรดกจนต้องตกเป็นของผู้อื่นได้ง่ายๆ แต่วันนี้คงไม่ใช่ความเป็นไปแบบในอดีตที่เคยคิดกันไว้ว่า ฝากหรือทำบุญไว้กับวัดแล้วสิ่งเหล่านี้จะอยู่ยืนยาว เป็นใบบุญให้ลูกให้หลานเสียแล้ว
ผิดกับทางฝั่งมัสยิดตึกดิน ที่ถือเอกสารสิทธิ์ว่าตนได้รับที่ดินพระราชทานและยึดมั่นอยู่กับชุมชนที่สืบสายตระกูล ต่างจากฝ่ายวัดที่พระสงฆ์ไร้รากเหง้า ไม่ได้เป็นคนในพื้นที่แต่อย่างใด วัดบวรฯ ทุกวันนี้ สวยสง่า ใหญ่โต พระสงฆ์ในเขตสังฆาวาสมีกุฏิเรือนนอนสะอาดและสวยงามมากจนเผลอคิดว่าไม่ได้อยู่ในย่านใจกลางพระนคร
ทุกวันนี้เราจึงพบกรณีวัดไล่รื้อชุมชนกันอยู่ตลอด ยิ่งวัดสวยงาม เป็นที่เคารพศรัทธา ใหญ่โตหลายแห่ง อาจไม่ได้คิดถึงรากเหง้าของชาวชุมชนรอบวัดที่เคยอุปถมภ์ค้ำชูกันมา บางแห่งทุบทำลายเจดีย์บรรจุอัฐิต้นตระกูลผู้อุปถัมภ์วัดเสียด้วยซ้ำไป บ้านไหนเก็บกระดูกไม่ทันก็ถูกทิ้งร้างก็มีให้เห็นมากมาย
พี่ทำนุ กรรมการมัสยิดตึกดิน เมื่อพูดถึงเพื่อนที่ต้องย้ายจากไปจากตรอกบวรรังษี ด้วยน้ำตาคลอตา บอกว่า "คิดถึงพวกเขา..เราโตมาด้วยกัน"
ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ วันที่ ๖ มิ.ย. ๒๕๕๘