หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
มัสยิดตึกดิน (๑)
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 26 เม.ย. 2559, 14:32 น.
เข้าชมแล้ว 3039 ครั้ง

 

ได้คุยกับคุณลุงประเสริฐ เจริญราชกุมาร ได้เรื่องได้ราวมาเยอะทีเดียว เอาเฉพาะเรื่องคุณลุงประเสริฐก่อน เล่าว่า นามสกุลสายแม่คือ เหล็งขยัน แต่เดิมก็เคยใช้นามสกุลนี้แล้วจึงมาใช้นามสกุลใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงพ่อ คุณลุงไม่รู้จักเพราะท่านตายไปตั้งแต่ยังขวบสองขวบ รู้แต่ว่าไปเกิดเอาที่บ้านแพน พวกนายอำเภอเคยเรียกพ่อว่า "ท่าน" รู้ว่าพ่อเป็นหมอเด็ก กล่องไม้ที่ใส่เครื่องมือรอดจากไฟไหม้บ้านเก็บออกมาได้ และดูแลอย่างดี คือกล่องเครื่องมือรักษาเด็ก คงจะเป็นพวกยากวาดคอบ้างหรือยาอื่นๆ คุณลุงไม่แน่ใจว่าจะเคยได้ราชทินนามหรือไม่ บางคนก็ไปสันนิษฐานว่าเป็นหลวงราชกุมารบ้าง

 

ที่จริงคุณพ่อเป็นคนพญาไทนี่เอง แต่มารักแม่สาวมุสลิมที่ตึกดิน แต่ลุงของแม่ไม่ชอบคงเห็นเป็นคนพุทธ คุณพ่อจึงพาแม่คุณลุงประเสริฐไปอยู่บ้านแพนจนมีลูกกัน ๕ คน หลังจากเสียชีวิตจึงกลับมาอยู่บ้านเดิมที่ตึกดิน พร้อมลูกๆ ที่เติบโต

 

เรื่องราวโรแมนติก รักข้ามศาสนิกของคุณพ่อแม่ลุงประเสริฐก็มีราวๆ นี้

 

ตระกูลฝ่ายแม่นั้นมาจากปัตตานี ที่โคกโพธิ์ คุณลุงเล่าว่ามาอยู่ที่สี่แยกบ้านแขกก่อนจะกระจายมาที่ตึกดินที่ยังไม่มีถนนราชดำเนินตัดผ่าน กลุ่มบ้านทำเครื่องทอง ตลับพระ แหวนฝังพลอยสี เครื่องประดับกำไลต่างๆ เดิมอยู่ใต้คลองหลอดวัดราชนัดดา ที่เรียกว่า "ตรอกศิลป์" ทุกวันนี้ พอจะต้องเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างโรงเรียนสตรีวิทย์และถนนราชดำเนิน ตึกดินจึงกระจายมาทางฝั่งปัจจุบันด้วย คนทำเครื่องประดับนั้น ทำกันมากแทบทุกบ้าน และกระจายไปที่จักรพงษ์ด้วย กลุ่มทางจักรพงษ์เป็นส่วนขยายของชุมชนเดิมแถบตรอกศิลป์เรื่อยมาทางถนนตานี

 

 

คุณลุงเรียนรู้วิธีแกะลายลงบนเนื้อเงิน เนื้อทอง ที่ใช้ทำตลับหรือกลักบุหรี่ ที่มีคนสั่งทำและทำงานให้ร้านมากที่สุดคือ แกะลายกรอบพระทั้งเงินและทอง เครื่องมือก็มีตามภาพ คุณลุงเนี้ยบมาก ดูแลเครื่องมืออย่างดี ทำงานสองรอบ คือทำที่ร้านช่วงกลางวัน และกลางคืนทำที่บ้าน รายได้ดีมาก จนอายุห้าสิบกว่าๆ ก็เลิก เพราะใช้สายตามากเหลือเกิน และเครื่องปั๊มเริ่มเข้ามา ราคาทำจากเครื่องก็ถูกลงๆ

 

 

คุณลุงเล่าว่า การทำงานหัตถกรรมเหล่านี้ สืบทอดมาจากฝีมือช่างจากปัตตานีแน่ๆ เพราะเรียนรู้กันภายในครัวเรือน สืบทอดกันในญาติพี่น้องเครือญาติ และมีคนจากตึกดินและคนมุสลิมจำนวนมากที่เคยไปทำงานหัตถกรรมนี้ในพระบรมมหาราชวัง และไปรับราชการที่กองกษาปณ์ ตรงที่เป็นพิพิธภัณฑ์หอศิลป์เจ้าฟ้าทุกวันนี้ เหรียญสตางค์ต่างๆ ล้วนผ่านฝีมือช่างที่มีอดีตบรรพบุรษเป็นชาวปาตานีก็คงไม่น้อย

 

 

วันนี้คุณลุงอธิบายด้วยคำพูดง่ายๆ เมื่อขอให้เปรียบกับงานบ้านพาน สั้นๆ ก็คืองานที่นี่ใช้แกะลาย มีมิติเป็นงานละเอียดประณีต ส่วนงานบ้านพานเป็นงานตอกลายเพื่อดุนให้เกิดลวดลายขึ้นมา เป็นความชำนาญของช่างคนละแบบ (ที่จริงคนละกลุ่มชาติพันธุ์เสียด้วย)

 

 

รอบและในพระนครของเราเต็มไปด้วยย่านหัตถกรรม งานฝีมือชั้นสูง ทุกวันนี้เก็บได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่หลายสิ่งสูญไปแล้วเพราะสังคมเอาง่ายๆ ของทำด้วยมือ ช่างชั้นสูงหายไป วันนี้แค่เสียดายอาจจะยังไม่พอจะเอ่ย

 

จากความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองในช่วงต้นกรุงฯ ก็พอเห็นแล้วว่า บ้านเมืองในยุคสร้างกันใหม่นั้น การสงครามส่วนใหญ่ การช่วงชิงทรัพยากรบุคคลเพื่อมาเป็นพลเมืองของตนเองเป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าอื่นใด รัตนโกสินทร์คือการปรุงใหม่ในหลากหลายวัฒนธรรม ผู้คนเหล่านี้คือคนสร้างชาติสู่ยุคสมัยใหม่ [Modern Siam] หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ทศวรรษต่อมา

 

 

ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมของคนย่านเก่าเมืองกรุงเทพฯ วันที่ ๖ มิ.ย. ๒๕๕๘

อัพเดทล่าสุด 3 พ.ค. 2561, 14:32 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.