ภาพถ่ายหญิงและชาย ชาวไตคำตี่ ภาพจากเอกสารสำรวจชนเผ่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยนักสำรวจชาวอังกฤษ
คนไตในกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ไตอาหมที่ข้ามเทือกเขาปาดไก่มาตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จนถึงกลุ่มไตคำตี่ที่ข้ามเทือกเขาปาดไก่มาเมื่อเพียงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาถือเป็นกลุ่ม “คนไต” กลุ่มหนึ่งที่ถือว่าเคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนไตใหญ่หรือไตโหลงจาก “เมืองหมอกขาวมาวโหลง” ที่อยู่ในเขตรอยต่อของพม่าและจีนก่อนมาก่อตั้งอาณาจักรสำคัญในแคว้นอัสสัมโดยผสมผสานกับชนพื้นเมืองและถูกพม่ายึดครองในเวลาต่อมาก่อนที่จะถูกอังกฤษปกครองไปโดยปริยายในยุคอาณานิคมและกลายเป็นคนอัสสัมไปในปัจจุบัน
กล่มุไตอาหมที่มีประชากรราว ๒ ล้านคนในปัจจุบันใช้ภาษาอัสสัม ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ โดยไม่ได้สืบต่อภาษาไตได้เช่นเดียวกับกลุ่มไตกลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มคนไตอื่นๆ ก็แยกย้ายมาจากทางรัฐฉานบ้าง รัฐกะฉิ่นที่อยู่ติดกันบ้าง
ในทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนไตคำตี่เป็นกลุ่มที่ข้ามเทือกเขาปาดไก่ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง บรรพบุรุษนั้นเดินทางมาจากแถบลุ่มแม่น้ำชินด์วินซึ่งอยู่ในรัฐกะฉิ่น สหภาพเมียนมา แล้วข้ามเทือกเขาปาดไก่อันเป็นชายแดนระหว่างพม่าและอินเดียสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร โดยกลุ่มเหล่านี้แบ่งเป็น ไตคำตี่ ไตผาเก ไตอ้ายตอน ไตคำยัง ในกลุ่มคนไตเหล่านี้เคยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ด้วยกันบริเวณใกล้กับเชิงเขาปาดไก่ในรัฐอัสสัมปัจจุบันนี้โดยมีรูปแบบวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม การทำนาทดน้ำ การแต่งงาน บ้านเรือน เครือญาติ การนับถือศาสนาโดยเฉพาะรูปแบบของวัดแบบ “จอง” และเรียกผู้นำของตนว่า “เจ้าฟ้า” เช่นเดียวกับผู้คนในวัฒนธรรมคนไตหรือไทใหญ่อื่นๆ
ทุ่งนาข้าวและเทือกเขาหิมาลัยที่เห็นยอดเขาที่มีหิมะปกคลุม
กลุ่มคนไตคำตี่เริ่มอพยพมายังเชิงเขาทางใต้ของเทือกเขาปาดไก่ ในแถบตีนเขาโมนาบูม และตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่ริมน้ำติแอ่ง เมื่อตกเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษเจ้าอาณานิคมใช้วิธีแบ่งแยกและปกครองโดยให้ไปอยู่ทางรัฐอัสสัมบ้าง ไปอยู่ในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่ Parsuramkund บ้าง และอยู่อาศัยกันมาก ในบริเวณถิ่นฐานดั้งเดิมที่ลำน้ำติแอ่ง แถบบ้านจองคำ โดยให้ที่ดินทำกิน ให้ผืนป่าในการทำไม้ให้อาชีพทำมาหากิน การสำรวจประชากรในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ระบุว่ามีประชากรชาวไตคำตี่ที่รัฐอรุณาจัลอยู่ราวๆ ๑๕,๐๐๐ คน
ธุรกิจการทำไม้ทำให้คนไตคำตี่ที่บ้านจองคำ เคยเป็นหมู่บ้านที่ติดอันดับร่ำรวยหนึ่งในสิบของเอเชียเมื่อราวยี่สิบปีก่อน คำกล่าวนี้ไม่น่าเกินความเป็นจริง เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของช้างที่ใช้ชักลากไม้ซุงในป่าตีนเขาหิมาลัย จนเมื่อรัฐบาลอินเดียยกเลิกสัมปทานทั้งหมดลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ คนบ้านจองคำไม่สามารถชักลากไม้ซุงหรือทำไม้ได้อย่างเสรีเหมือนในอดีต ต้องปล่อยช้างเลี้ยงไว้ในป่า และจะทำป่าไม้ได้ก็ต่อเมื่อขอสัมปทานใหม่ที่ให้ค่าตอบแทนแก่รัฐค่อนข้างสูงทำให้กิจการป่าไม้แทบจะล้มเลิกไปหมด การทำไม้ที่เลิกไปแล้วทำให้สภาพแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศในตำบลโลหิตและตำบลน้ำทรายดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก
ปัจจุบันคนไตคำตี่หันมาปลูกชา ทำไร่ชาแทนการทำป่าไม้ ไร่ชาแบบอัสสัมส่วนใหญ่ใช้สารเคมีจำนวนมากและพึ่งพาน้ำฝน แต่ก็มีบางส่วนที่หันมาทำไร่ชาออร์แกนิกซึ่งทำให้มีราคาสูงขึ้น
คนไตคำตี่แห่งรัฐอรุณาจัลประเทศทุกวันนี้ ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในบริเวณหุบเขาของลุ่มแม่น้ำโลหิต [Lohit Valley] และอยู่ในเขตตำบลโลหิตและตำบลน้ำทราย [Lohit and Nam Sai District] ในที่ราบลุ่มหุบเขาโลหิตเป็นพื้นที่ตีนเขาหิมาลัย [Himalayan Foothills] โดยเป็นสาขาของแม่น้ำพรหมบุตรที่มีต้นน้ำอยู่ในเขตปกครองตนเอง ทิเบตตัดผ่านเทือกเขาหิมาลัยไปยังหุบเขาในอัสสัมก่อนจะไหลลงไปยังบังกลาเทศซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำยมุนาและไหลรวมกับแม่น้ำคงคาจนกลายเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ก่อนไหลออกสู่ทะเล
บริเวณที่คนไตคำตี่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมลำน้ำสาขาที่อุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ คือลำน้ำติแอ่ง เทงกะปานี กำลัง และเนาดิฮิง มีระบบกรมชลประทานสำหรับการทำนาดำชั้นเยี่ยมที่สืบเนื่องมาจากระบบการทำเหมืองฝายแบบวัฒนธรรมคนไต ซึ่งคนไตคำตี่ที่ตำบลน้ำทรายกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า วัฒนธรรมการทำนาแบบทดน้ำ [Wet Rice Culture] ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของคนไตคำตี่
ลำเหมืองสายย่อยบริเวณที่นา
เอกลักษณ์เด่นในการดำเนินชีวิตนอกเหนือไปจากการใช้ภาษาพูดที่ใช้ภาษาไต บ้านเรือนก็ยังเป็นแบบ “เฮินไต” ที่แบบดั้งเดิมมักใช้ไม้ไผ่ทำพื้น ฝาบ้าน และโครงหลังคา มุงหลังคาคลุมที่ทำด้วยใบลานสานผูก ยกพื้นเรือนสูงและวางตำแหน่งเรือนในแนวทิศเหนือใต้ มีบันไดขึ้นสองทางคือทิศตะวันตกและทิศใต้ และส่วนใหญ่แบ่งเป็น ๕ ห้องตามพื้นที่ใช้งาน เช่น ชานบ้าน ห้องรับแขกและยังใช้เป็นห้องนอนสำหรับพวกเด็กๆ ห้องนอนพ่อแม่ ครัว ห้องกลางคือส่วนที่เชื่อมระหว่างห้องนอนกับห้องครัว ส่วนใต้ถุนบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ในยุคที่ยังใช้สัตว์เลี้ยงเพื่อการทำเกษตร แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช้แล้วแต่จะเป็นพื้นที่วางเครื่องมือต่างๆ และกี่ทอผ้าชนิดต่างๆ สำหรับผู้หญิงเมื่อว่างงานในไร่นาสวนชาแทน ถือว่าเป็นเรือนขนาดใหญ่กว้างขวางเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรือนของคนไตในกลุ่มอื่นๆ ทีเดียว
หากมีฐานะมากขึ้น พวกเขาจะปลูก “เฮินไต” ด้วยไม้จริงทั้งหลัง บ้านที่ทำจากไม้จริงและทำจากไม้ไผ่จึงแสดงสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวคนไตคำตี่ได้อย่างชัดเจน แม้ในปัจจุบันแต่ละบ้านมักทำประตูและรั้วไม้ไผ่ อันมีบริเวณมากพอที่จะแบ่งพื้นที่ให้เป็นเรือนไม้ยุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวเปลือก พื้นที่ปลูกผักสวนครัวและสมุนไพรทำยา ไม้ยืนต้น ไม้ดอกไว้ถวายพระ กอไผ่ไว้ใช้ซ่อมแซมเรือน ต้นลานไว้ใช้ใบมุงหลังคา
คนไตคำตี่มีวงจรชีวิตในรอบปีตามระบบปฏิทินแบบจันทรคติที่เริ่มนับเดือนอ้ายหรือเดือนแรกในเดือนธันวาคม เดือน ๕ คือเดือนเมษายนและใช้วันสงกรานต์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเทศกาลขึ้นปีใหม่ โดยใช้มหาศักราชและยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังผูกพันอยู่กับวงจรปฏิทินทางพุทธศาสนาและการเกษตรกรรมและการนับถือผีบรรพบุรุษ ดังนั้นประเพณีพิธีกรรมในรอบปีจึงเป็นเรื่องเนื่องในพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับประเพณีรอบปีของชาวพุทธในประเทศไทย
เดือน ๕ เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปี มีงานรื่นเริง ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ และสรงน้ำพระ เพ็ญเดือน ๖ มีประเพณีวิสาขบูชา บูชาต้นโพธิ์ระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เดือนแปดเริ่มเข้าพรรษาในระยะ ๓ เดือน เพ็ญในเดือน ๑๐ ถวายน้ำผึ้ง พืชผักผลไม้ แด่พระภิกษุ และในเดือนเดียวกันนี้ช่วงวันแรม
ลำน้ำติแอ่ง ซึ่งชาวบ้านบูชาพระอุปคุตที่บริเวณแพรกน้ำ
พิธีบูชาบรรพบุรุษ ทำความสะอาดบ้าน ยุ้งข้าว อาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำใกล้บ้านแต่เช้ามืด เดือน ๑๑ คือช่วงออกพรรษา และในระหว่างเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ คือเทศกาลกฐินและมักจะมีการทำ “จุลกฐิน” กันเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาภายในคืนเดียว ส่วนเดือน ๓ มีงานผิงไฟและทานข้าวใหม่โดยการกวนข้าวยาคู ส่วนเดือน ๔ ในช่วงวันเพ็ญ เป็นงานบูชาพระธาตุ ซึ่งชาวบ้านจะร่วมใจกันทำความสะอาดบูรณะอาคารศาสนะต่างๆ จะเห็นว่าประเพณีในรอบปีนั้นเป็นความเชื่อพื้นฐานของ “คนไต” ทั่วไป และคล้ายคลึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประเพณีสิบสองเดือนของคนไตที่แม่ฮ่องสอน และสัมพันธ์กับสังคมการเกษตรที่ทำนาที่เป็นสังคมชาวนาพื้นฐานโดยทั่วไป
พื้นที่นาอยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้าน ในพื้นที่ซึ่งมีการจับจองไว้ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษและอยู่ใกล้สายน้ำ และเนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้ตีนเขาหิมาลัยและพื้นที่สูงซึ่งเป็นป่าฝนเขตร้อนคล้ายคลึงกับภูมิอากาศทางภาคเหนือของไทย มีที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์และลำน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ที่ดินเหล่านี้เป็นกรรมสิทธิ์ที่ใช้ทำเกษตรกรรมมาเนิ่นนานแล้วและกลายเป็นมรดกส่งทอดสืบมา และเป็น “ทุน” ที่สำคัญในสังคมชาวนาของชาวไตคำตี่ในอดีต
ชุมชนคนไตคำตี่ที่ใหญ่ที่สุดคือที่บ้านจองคำและบ้านมะม่วงมีลำน้ำติแอ่ง ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำโลหิตไหลผ่านบ้านจองคำ และการมีสาขาลำน้ำหลายสายนี้เอง ชาวบ้านทำฝายชะลอน้ำที่ลำน้ำสายใหญ่ แล้วร่วมกันขุดคลองส่งน้ำหรือลำเหมืองแยกย่อย โดยลดขนาดลงตามลำเหมืองย่อยเส้นทางต่างๆ ลงสู่ที่นาและสวนของชาวบ้าน ทำได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ซึ่งระยะทางรวมๆ ของการขุดเหมืองมีตั้งแต่เป็นกิโลเมตรจนถึงราวๆ ๑๐ กิโลเมตร ซึ่งจะต้องเป็นการทำงานแบบร่วมมือกันทำในระบบเอางานมีประตูปิดเปิดน้ำ ซึ่งในอดีตเป็นประตูน้ำทำด้วยไม้ที่มีอายุการใช้งานไม่นานนัก ต่อมารัฐบาลกลางจึงเข้ามาช่วยให้งบประมาณในการก่อสร้างประตูน้ำคอนกรีต ซึ่งยังคงระบบเหมืองฝายแบบโบราณ เช่น การชลประทานแบบเดิมในล้านนาที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยคือ มีแก่เหมืองแก่ฝายที่เป็นผู้อาวุโสและทำหน้าที่ดูแลการแบ่งน้ำ
ประตูน้ำและการปิดล็อกกุญแจอย่างแน่นหนา
ประตูน้ำของคนไตคำตี่ในปัจจุบันยังพบเห็นการคล้องกุญแจ เพื่อปิดบานประตูอย่างแน่นหนา และผู้ที่จะมีกุญแจเปิดได้จะต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเท่านั้น เมื่อจะเปิดประตูน้ำให้น้ำไหลเข้าเหมืองในอดีตจะมีคนขี่จักรยานไปบอกตามบ้านเจ้าของนาต่างๆ ที่ลำเหมืองไหลผ่าน เพื่อให้เตรียมพร้อมสำหรับการรับน้ำเข้าเหมือง ซึ่งต้องมีระบบการจัดแบ่งที่เหมาะสม เช่น หากนาที่อยู่ต้นลำเหมืองก็จะต้องรับน้ำให้เท่าเทียมกับนาที่อยู่ท้ายเหมือง โดยการปิดช่องรับน้ำหรือที่ในวัฒนธรรมล้านนาเรียกว่า “แต” และเป็นการจัดแบ่งจากที่สูงไปยังที่ต่ำกว่า ดังนั้นนาที่อยู่ที่ลุ่มกว่าจึงมีโอกาสได้รับน้ำน้อยกว่า จึงต้องมีระบบการจัดแบ่งอย่างเข้มงวด
ส่วนลำเหมืองที่รับน้ำผ่านในที่ดินของผู้ใดก็ต้องมีการขุดลอก และทำความสะอาดลำเหมืองที่ผ่านในที่ดินของตน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของแต่ละพื้นที่นา ซึ่งสังเกตดูว่า แม้ในฤดูเก็บเกี่ยวก็ตาม น้ำในลำเหมืองก็ยังไหลแรงและมีปริมาณค่อนข้างมาก ซึ่งสายน้ำเหล่านี้จะไหลผ่านลำเหมืองไปรวมกับสายน้ำหลัก และถูกนำไปใช้ยังหมู่บ้านอื่นๆ ต่อไป
ดังนั้น ระบบเหมืองฝายจึงไม่สามารถใช้หรือสร้างระบบได้แต่เฉพาะในหมู่บ้านเดียว แต่ต้องมีความสัมพันธ์และเต็มไปด้วยการแบ่งปันเอื้อเฟื้อต่อผู้คนในลุ่มน้ำ ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องรู้จักสภาพแวดล้อมที่ลำน้ำไหลผ่าน การกำหนดการขุดเหมือง การกำหนดการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการระดม การขุดลอกลำเหมือง การขุดลอกฝาย ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก
ฝายบนลำน้ำติแอ่ง
ทุกครอบครัวนั้นมีที่นาจะมากหรือน้อย เพียงแต่ในปัจจุบัน ทุนเหล่านี้แปรเปลี่ยนเป็นเงินกู้เพื่อใช้ศึกษาสำหรับบุตรหลานหรือการทำป่าไม้หรือการทำสวนชาหรือธุรกิจอื่นๆ ในสังคมสมัยใหม่และในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปมาก คนไตคำตี่ผู้มีการศึกษาจำนวนมากไปเรียนต่างถิ่นในเมืองไกลๆ บางคนก็ไปศึกษาที่นิวเดลี คนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งมักออกไปหางานยังต่างประเทศ เพราะงานในรัฐอรุณาจัลมีน้อยและไม่หลากหลาย หรือแม้งานในอินเดียเองก็ตาม
กรรมสิทธิ์ที่นาเหล่านี้สงวนไว้เฉพาะชาวไตคำตี่เท่านั้น และเนื่องจากเจ้าของพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปทำงานอื่นๆ มากขึ้น จึงมีพื้นที่นาให้เช่ามาก และคนส่วนใหญ่มักเป็นชาวเนปาลี [Nipali] ที่อยู่ในพื้นที่ข้ามพรมแดน หากไม่จ้างทำการเกษตรก็จะเช่าทำโดยแบ่งผลผลิตในสัดส่วนเจ้าของที่ต่อผู้เช่าราว ๑ : ๓ หรือตามแต่จะตกลงกัน
ในท่งุนาช่วงเวลาเก็บเกี่ยวเราจึงพบครอบครัวเครือญาติและผู้คนชาวเนปาลีลงแขกเกี่ยวข้าวเป็นกลุ่ม ซึ่งแรงงานเหล่านี้ก็พบตามสวนชาทั้งหมดด้วย และนอกเหนือไปจากการปลูกข้าวที่เป็นการทำนาปีแล้ว คนไตคำตี่ยังปลูกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ด้วย
แผ่นดินและการทำนาทดน้ำ เป็นเสมือนหัวใจและอัตลักษณ์ของคนไตคำตี่ คนไตคำตี่ส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ด้วยการเกษตรกรรมเพราะเป็นศูนย์กลางทางสังคม วิถีชีวิต ความเชื่อ และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้พวกเขาแตกต่างไปจากกลุ่มชนเผ่า [Tribes] อื่นๆ ในประเทศอินเดีย แสดงความแตกต่างไปจากกลุ่มคนซึ่งอยู่อาศัยบนที่สูงทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีระบบชั้นวรรณะแต่พักพิงอยู่ในความเชื่อทางพุทธศาสนา ส่วนในฐานะทางเศรษฐกิจ การอยู่อาศัยในพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีเทคโนโลยีพื้นฐานของการทำนาทดน้ำ ในพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ก็นับว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความมั่นคง และมีวัฒนธรรมขั้นสูงจากพื้นฐานสังคมเกษตรกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมในภายหลังทีเดียว
อ้างอิง
Shri. Baharul Islam Laskar, Smti. Tutumoni Bhuyan. A Study on Customary
Laws of the Khamptis with Special Reference to their Land Holding.
Law Research Institute, Eastern Region, Gauhati High Court, 2003.
ความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๙ (ม.ค.-มี.ค.๒๕๕๙)