"ป้าญาณี เจ้าของห้องแถวบนถนนจักรพรรดิพงษ์" ใกล้กับสี่แยกตัดนครสวรรค์ และตลาดนางเลิ้ง วันนี้อายุเข้า ๗๔ ปีแล้ว
ใครจะรู้ว่าคุณป้าที่หน้าตามีวี่แววแบบคนใจดีนี้ เดินไปเดินมาและถกปัญหาทุกอย่างด้วยความละเอียดถี่ถ้วน มั่นใจแบบอดีตข้าราชการ ป้าใช้เวลามากและอุทิศเวลาปลุกปล้ำโครงการสหกรณ์ออมทรัพย์ให้กับชาวชุมชนจักรพรรดิพงษ์ที่เป็นตึกแถวและบ้านเรือนไม้ด้านหลังที่ไม่ค่อยจะเอาใคร จะเคยเป็นข้าราชการซี ๘ ของสภาพัฒน์ฯ ที่อยู่ไม่ไกลจากถนนจักรพรรดิพงษ์นัก
ป้าญาณีเล่าว่าท่านเกิดที่นครชัยศรีแถวสามพราน คุณพ่อมีเชื้อสายจีนที่ทำกิจการโรงสี ส่วนคุณแม่มีเชื้อสายมอญแถบกระทุ่มแบน มีพี่น้อง ๖ คน เมื่อลูกๆ เริ่มโตขึ้น ท่านต้องการหาที่เรียนให้ลูกๆ จึงมาซื้อบ้านที่เคยอยู่ในที่ดินของวังไชยาตรงที่กลายเป็นกองบัตรประชาชนและที่ของกรมการปกครองในปัจจุบัน หลังจากที่ดินวังไชยาถูกขายไปแล้ว น่าจะในช่วงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คุณพ่อคุณแม่ท่านก็มาเซ้งตึกบนถนนจักรพรรดิพงษ์ที่ปลูกสร้างขึ้นเมื่อราวทศวรรษที่ ๒๔๙๐ ที่มีอยู่ทั้งสองฟากถนนและอยู่อาศัยตั้งแต่บัดนั้นมา
แถวถนนจักรพรรดิพงษ์ก่อนสร้างมีแต่สวนกล้วย ดงกล้วย (ไม่รู้ว่าจะเป็นทรัพยากรให้เกิดการทอดกล้วยแขกอร่อยๆ ขายด้วยหรือไม่?) บ้านเรือนเก่าๆ ที่อยู่ริมถนนก็ต้องรื้อร่นเข้าไป เราจึงเห็นเป็นตึกแถวด้านนอกเพื่อทำการพาณิชย์และบ้านไม้ด้านในที่อยู่ติดกับคลองจุลนาค
แถบย่านนี้ ตรงข้ามตึกแถวป้าญาณีบริเวณทางโค้ง ป้าจำได้ว่าเป็นย่านโคมแดงหรือซ่องโสเภณีที่ต่อเนื่องมาจากย่านสะพานยาว ชิดตลาดนางเลิ้ง ดังนั้นคุณหมอเพียร เวชบุล ซึ่งเป็นหมอผู้หญิงในยุคทศวรรษที่ ๒๔๘๐-๒๔๙๐ ในสังกัดกรมควบคุมโรคกามโรคและคุดทะราดจึงมาตั้งคลินิกสุขศาลานางเลิ้งในย่านนี้ ใกล้ๆ ห้องของคุณป้าญาณีนี่เอง
ด้วยความที่มีย่านเริงรมย์เช่นนี้ใกล้บ้านคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ปล่อยให้ไปเดินเที่ยวที่ไหนหรือแม้แต่ไปเที่ยวกับเพื่อนหรือกับใครอื่นๆ อยู่กันภายในครอบครัวมีพ่อแม่ดูแลตลอดเวลา
ป้าญาณีเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ใกล้ๆ กัน แบบเดินไปนิดเดียวก็ถึง พี่น้องก็เป็นเช่นนี้ โรงเรียนสตรีจุลนาคมีครูใหญ่ที่เป็นลูกสาวของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหรือครูเทพและเป็นเจ้าของ เด็กๆ ลูกคนมีฐานะหน่อยแถบนี้ส่วนใหญ่ก็เรียนที่นี่ทั้งนั้น
จบแล้วจึงไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดม พี่ชายน้องชายบางคนก็เรียนที่อัสสัมฯ กลายเป็นว่าคุณพ่อต้องไปซื้อบ้านที่ซอยแถวถนนสุขุมวิทสำหรับพักนอนเพราะลูกๆ เติบโตมากแล้ว แต่ก็ยังมาใช้พื้นที่ห้องแถวริมถนนจักรพรรดิพงษ์สำหรับคุณแม่รอครอบครัวกลับบ้านไปด้วยกัน และเช้ามาที่ห้องทุกเช้า ลูกๆ ๖ คนใช้เวลาในรถที่ตระเวนรับส่งกันเหมือนเด็กโตในรถสมัยนี้และเป็นแบบนี้ตลอดมา
ป้าญาณีไปเรียนต่อเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาทันทีที่เรียนจบมัธยม เพราะการที่เข้าเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ และธรรมศาสตร์ก็กำลังปรับกลายเป็นมหาวิทยาลัยปิด ช่วงนั้นคุณพ่อก็ยังเป็นห่วง จึงเลือกให้ไปเรียนในต่างประเทศแทน
กลับมาแล้วสอบเข้าทำงานในสภาพัฒน์ฯ ที่อยู่ใกล้ๆ และไม่เคยย้ายไปไหน เพราะเพื่อจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุแล้ว และมาพักที่ห้องนี้เพื่อไปโรงพยาบาลได้ง่ายกว่าอยู่ที่อื่นๆ
ภายหลังคุณพ่อป้าญาณีเสียก็ทำฌาปนกิจที่วัดมกุฎกษัตริย์นี่เอง
ทุกวันนี้ป้าญาณีเปิดบ้านบ้างเพื่อเป็นที่คุยปรึกษาหารือเรื่องการจัดการพื้นที่ให้กลายเป็นชุมชนที่โครงการบ้านมั่นคงของสำนักงานทรัพย์สินฯ เสนอให้ทำสหกรณ์ออมทรัพย์ ปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง และมีประเด็นรถไฟใต้ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งถนนจึงนิ่งสนิท รอเวลา ว่าอะไรจะเป็นอะไร แต่ป้าก็ยังใช้ชีวิตไปเช้าเย็นกลับสลับไปมาเหมือนเดิมๆ เหมือนสมัยที่ยังเป็นเด็กๆ อยู่ในละแวกนี้
เรื่องกล้วยทอดที่ขายกันหลายสี "เอี๊ยม" ในปัจจุบันนี้ ป้าญาณีเล่าว่าขายกันมานานมากแล้ว แต่เดิม พี่น้องสองสาว (แม่กิมยุ้ยกับกิมล้ง) ขายกันหน้าตรอกที่จะเดินเข้าไปทางวัดแค ขายมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อของป้ายังอยู่และชอบรับประทานมาก เห็นว่าสูตรแป้งกรอบนานและเคล็ดลับต่างๆ มีชายหนุ่มมาจีบพี่สาวน้องสาวแล้วให้สูตรชาววังไว้จนทำขายมาได้ถึงปัจจุบัน เดี๋ยวนี้แยกย้ายไปขายกันสารพัดสี ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องที่ไม่ค่อยถูกกันนัก
สำหรับเรา "เอี๊ยมแดง" อร่อยสุด (แอบกระซิบนะ..เดี๋ยวเขาโกรธเอา)
ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ วันที่ ๕ ก.ค. ๒๕๕๘