หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ตรอกใต้อีกครั้งหนึ่ง
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 26 เม.ย. 2559, 09:06 น.
เข้าชมแล้ว 3311 ครั้ง

 

หลังจากไปวัดญวนมารอบหนึ่งแล้ว และกลับไปทบทวนงานของอาจารย์อคิน (ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์) ที่นำมาเขียนย่อๆ แบบหลายชีวิต ถึงชีวิตคนตรอกใต้กลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้คนในตรอกดั่งนวนิยาย หลังจากเดินเข้าไปทางตรอกที่เคยเป็นคลองลำปัก แนวบ้านบุกรุกอยู่บนคลอง ใต้บ้านก็เป็นน้ำครำ แต่เดี๋ยวนี้ถมขึ้นมาๆ น้ำเฉอะแฉะค่อยๆ หายไปบ้าง ครั้งที่แล้วไปคุยกับพี่ประธานชุมชน ฝั่งชุมชนแออัดตรอกทางเหนือวัด แต่คราวนี้ได้คุยกับ "พี่ใหญ่" ที่เป็นตัวจริงเสียยิ่งกว่าผู้นำทางการของวัดญวน สะพานขาว

 

 

บ้านพี่ใหญ่อยู่หน้าวัด  เช่าที่วัดอยู่แต่ทำหน้าที่ดูแล  และเป็นโยมอุปฐากแทนแม่สามีที่มีเชื้อจีน ซึ่งเคยดูแลวัดญวนมาก่อนและเสียชีวิตไปแล้ว การดูแลนี่หมายถึงหารายได้เข้ากองทุนของวัด กฐิน ผ้าป่า กิจกรรมพวกฌาปนกิจ คนรอบๆ ก็รายได้น้อย ถ้าไม่มีเงินจริงมาขอกับพี่ใหญ่ย่อมได้รับการอนุเคราะห์เสมอ จะหาคนทำครัว ช่วยงานเจ้าพ่อกวนอู งานทิ้งกระจาด งานบูชาดาว ทั้งสามงานเป็นงานประจำปีของคนวัดญวน ย่อมได้พี่ใหญ่มาช่วยควบคุมดูแล เปิดโบสถ์ เปิดศาลา แม่กองทำอาหารไม่พ้นพี่ใหญ่ไปได้

 

พี่ใหญ่เกิดที่ตรอกใต้ และเป็นผู้หญิง !!!

 

 

หลังไฟไหม้ใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ พี่ใหญ่ย้ายออกมาแล้ว พ่อไปทาง แม่ไปทาง แม่พี่ใหญ่เป็นคนนครสวรรค์ที่มีเชื้อจีนผสมญวน แต่มาพบพ่อคนเมืองนนท์ที่ตรอกใต้ ยายกับแม่พี่ใหญ่มาเรือข้าวที่เข้ามาขายในคลองผดุงฯ คนที่ตรอกใต้หลายคนมาขึ้นบกด้วยวิธีนี้ บ้างก็มาจากเรือผลไม้ พวกแตงโม หรือเรือข้าว มาที่ตลาดมหานาคเป็นพื้น ถ้าขึ้นบกได้ก็มักจะอยู่กันแถบนี้ แต่แฟนพี่ใหญ่เป็นคนหน้าวัดญวน พอแต่งงานกัน พี่ใหญ่ก็ย้ายกลับมาอีก แต่คราวนี้อยู่ข้างวัดที่ปลูกเป็นบ้านหลังๆ ติดกับแนวคลองลำปักที่เป็นทางน้ำไปออกคลองผดุงกรุงเกษม

 

 

ช่วงที่อาจารย์อคินเข้าไปศึกษา พี่ใหญ่คงอายุไม่มากแต่ก็จำไม่ได้ แต่พี่ใหญ่ยังระลึกถึง "ความเป็นคนตรอกใต้" เสมอ พี่ใหญ่นี่เองที่ชี้ทางให้ว่า หลังจากตรอกใต้ไฟไหม้ คนก็เข้าไปจับจองที่ทันทีเหมือนกัน หลังจากนั้นอีกราวเป็นสิบปี เจ้าอาวาสองค์ที่ถูกฆาตกรรมนั่นเองที่ไล่ชาวบ้านออกไปและทำข้อตกลงกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อจะระบุแนวเขตที่ดิน แต่ภายหลังเห็นว่าตกลงกันได้ บริเวณตรอกใต้จึงปลูกเป็นตึกแถวเป็นแนวไป ด้านหน้าที่ตึกของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็ให้คนที่ตรอกใต้เซ้งก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถเซ้งได้ ก็เลยมาปลูกบ้านอยู่หลังตึกที่สร้างนั่นเอง แต่อยู่บนแนวลำคลองที่เคยเป็นคูน้ำใหญ่ล้อมรอบวัด ต่อมาบางครอบครัวที่พอเซ้งได้หรือโชคดีที่มีคนทิ้งไว้ให้ก็ออกมาอยู่ที่ตึก แต่ก็ยังพอเห็นสภาพแบบเดิมๆ อยู่เอง

 

 

 

ทุกวันนี้ยังมีคนทำมังกรจุ่มสี หลังจากสมัยที่อาจารย์อคินเข้ามาแล้วคงมีหลายบ้านทำเลียนแบบ ทำตุ๊กตายืดหด ก็มีป๋องแป๋งเด็กเล่น ยังมีคนทำอยู่บางบ้าน แต่ส่วนที่ขึ้นชื่อที่เครื่องกงเต๊ก ฝีมือคนวัดญวนตรอกใต้ยังคงทำ แต่ไม่ทำประจำแล้ว

 

วัดญวนมีอาณาบริเวณมาก ออกจะกว้างขวางทีเดียว ในการพระราชทานที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาจจะไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนญวนที่มีอยู่ ภายหลังจึงดูเป็นป่ารก คนจึงเข้ามาจับจองกันมาก โดยเฉพาะพวกช่างต่างๆ หรือช่างปูกระเบื้องตั้งแต่สมัยมาสร้างพระที่นั่งอนันต์ฯ จึงเข้ามาบุกรุกพื้นที่กว้างๆ นี้สร้างบ้านจนกลายเป็นตรอกใต้นั่นเอง

 

 

ทุกวันนี้ชาวตรอกใต้ก็ยังอยู่ เพียงแต่ไม่ได้มีสถานะเป็นชุมชนเหมือนพื้นที่อื่นๆ เขา แม้แต่ทางฝั่งเหนือที่เป็นชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก แต่ก็ไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือจากทางรัฐท้องถิ่นได้ เพราะเป็นชุมชนบุกรุก ช่วงแรกๆ ในสมัย พล.ต.จำลองที่ออกเลขที่บ้านให้เด็กเพื่อเรียนหนังสือ ก็ถูกนำมาใช้สถานะอื่นๆ กลายเป็นชุมชนและบ้านที่ซื้อขาย เปลี่ยนมือได้ไป เพราะบริเวณนี้ทั้งใกล้และสะดวกทุกอย่างในการเลี้ยงชีพและดำเนินชีวิต

 

 

ปัญหาหนักของคนในชุมชนแออัดทุกวันนี้ไม่พ้นยาเสพติดทั้งดมกาวไปจนถึงยาบ้าและยาไอซ์ พี่ใหญ่เล่าให้ฟังว่าตำรวจเอาไม่อยู่ ได้ทหารมาปรามไปบ้างก็ค่อยๆ ลดลง พี่ใหญ่ตั้งกลุ่ม ตั้งชมรมเช่น แอโรบิค เช่น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุข มีพี่ๆ น้องๆ ผู้หญิงทั้งนั้นมาช่วยกันทำงานอาสาบ้าง ทำงานเรื่องเด็กบ้าง พี่ใหญ่ช่วยหาทุนสงเคราะห์กันบ้างก็ยังมีอาการน่าเป็นห่วง เด็กๆ หลังจากที่ชุมชนไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อสองสามปีที่แล้ว การดูแลช่วยเหลือก็ยิ่งทำได้ยากขึ้นๆ ส่วนเด็กวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควรก็ยังเป็นเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องพวกนี้สมัยที่อาจารย์อคินทำเรื่องตรอกใต้เห็นว่าไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้

 

ส่วนคนจีนไหหลำที่เคยปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ กับคนตรอกใต้ ที่เรียกว่าพวกโรงตู้ คือมีอาชีพทำพวกเฟอร์นิเจอร์ ตู้ เตียงต่างๆ หลังจากไฟไหม้ส่วนใหญ่ย้ายไปอยู่แถวๆ ซอยประชานฤมิตรที่เป็นถนนสายไม้ในปัจจุบัน แต่ก็ยังเหลือเจ๊หย่ง เจ๊วา อยู่ตึกปากตรอกใต้แต่เดิม หรือซอยลูกหลวง ๖ ขายขนมจีนไหหลำทั้งหมู่ทั้งเนื้อ อร่อยมาก ไปลองรับประทานเถอะ ขายมาตั้งแต่อยู่ที่หน้าวัด พอดีไม่ได้มีอาชีพด้านช่าง เลยไม่ได้ย้ายตามพวกๆ ไป

 

พี่ใหญ่บอกว่า คนญวนก็ไม่มีแล้ว แต่ทางวัดญวนยังเหลืออาหารประจำถิ่นอยู่สองอย่างคือ ปอเปี๊ยะทอด กับมะเหง่ ที่บอกว่าใช้เส้นเหมือนขนมจีนไหหลำ ใช้น้ำซุปแล้วแกะเนื้อปลาทูหรือเนื้อปลาช่อนใส่ไป พี่ใหญ่ที่ขายอาหารหน้าวัดอยู่ด้วยบอกว่า วันไหนทำ แค่ไลน์บอกพรรคพวก สักสองชม.ก็หมดแล้ว นี่เองที่ยังเป็นมรดกจากวัดญวนที่ยังเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน

 

เมื่อสมัยที่อาจารย์อคินไปศึกษา ก็ยังสังเกตว่า พวกเด็กผู้ชายนั้นเหมือนเทวดา ไม่เอาเรื่องเอาราวและไม่ต้องทำอะไรมาก ส่วนเด็กผู้หญิงดูเหมือนจะต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่อพี่ชายน้องชายหรือครอบครัวไปเสียทุกอย่าง  วันนี้ไปเดินตรอกใต้ก็พอเห็นผลอะไรๆ อยู่บ้าง เพราะแถวนี้ พี่ใหญ่และพี่ๆ ผู้หญิงเขาคุมกันได้เบ็ดเสร็จ.

 

 

ที่มา : จากเพจ facebook สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ วันที่ ๑๘ ก.ค. ๒๕๕๘

อัพเดทล่าสุด 16 พ.ค. 2561, 09:06 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.