หากใครยังไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ ครั้งที่ยังมีเสน่ห์และชีวิตยังเนิบช้าเมื่อเกือบศตวรรษที่แล้ว ลองไปยืนริมถนนมหาไชยฝั่งวัดราชนัดดา แล้วเงยหน้าสูงๆ เพื่อมองไปที่ยอดกำแพงที่มีใบเสมาและหมู่ยอดไม้ใหญ่สูงลิ่วเป็นทิวแถวด้านหลังกำแพง หากเป็นยามเย็นลมจะพัดจนยอดไม้ใหญ่เอนไหวพลิ้วตามแรงลม ทำจิตสงบนิ่งสักพักก็คงระลึกชาติได้
บริเวณนี้อีกเช่นกัน พวกเราคนกรุงเทพฯ เกือบจะเป็นพยานให้เกิดการทำลายพื้นที่ชานพระนคร พื้นที่อยู่อาศัยและย่านประวัติศาสตร์สำคัญของคนกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นสนามหญ้าเสียแล้ว และคงจะเรียกทุกอย่างให้กลับคืนไม่ได้ตลอดกาล
กลายเป็นการต่อสู้ของชาวบ้านที่อยู่หลังกำแพงนั่นเองพวกเขาช่วยกันเก็บพื้นที่สำคัญเหล่านี้ไว้ให้พวกเรา นับแต่พระราชกฤษฎีกาเวนคืน ตั้งแต่ ๒๕๓๕ ถึงวันนี้ก็ ๒๓ ปี รัฐท้องถิ่นผู้จัดการพื้นที่ ยังไม่สามารถทำให้บริเวณริมน้ำตรงนี้กลายเป็นสนามหญ้า เป็นสวนสาธารณะเหมือนที่อื่นๆ ตามแนวทางการออกแบบของคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ได้ พวกเราก็เลยยังคงได้เห็นภาพและชื่นชมชีวิตและสภาพเป็นพระนครแบบเดิมๆ ของเราจากบริเวณส่วนที่ถูกเรียกว่า “ชุมชนป้อมมหากาฬ”
ใครไปใครมาก็มักจะพบ “พี่กบ” ผู้ชายอารมณ์ดีแต่แฝงแววตาเครียดอย่างไม่ปิดบัง คุยสนุกและแต่งตัวดูมีเอกลักษณ์แววตาจริงจังเพราะผ่านร้อนผ่านหนาวและผ่านมาหลายผู้ว่าฯ ผ่านเวลาที่เครียดที่สุด กลัวที่สุด และใจหายที่สุดมาแล้วมากมาย
พี่กบชื่อจริงคือ “ธวัชชัย วรมหาคุณ” อายุเข้า ๕๗ ปีแล้ว ผมตัดเกรียนรอบศีรษะแต่ไว้ยาวที่ด้านบน ไว้หนวด ดูเหมือนนักรบชาวบ้านในหนังพวกบางระจันทำนองนั้น มักใส่กางเกงขาก๊วยเสื้อผ้าฝ้ายแขนยาวสีเข้มๆ และหากเพ่งใบหน้าพี่เขาดีๆ จะพบว่ามีรอยแผลเป็นยาวที่หน้าสองสามแห่ง อันหมายถึงคงผ่านช่วงสมรภูมิวัยรุ่นมาไม่น้อยแน่นอน
พี่กบมักพูดถึง “คุณตา” เสมอๆ ตาชื่อ “อู๋ ไม่เสื่อมสุข” แม้จะสิ้นอายุไปเมื่อพี่เขาได้ ๑๒-๑๓ ขวบแค่นั้น แต่ก็จำได้ดี มีภาพประทับใจ มีคำสอนที่ยังคงปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุดมีบ้านที่พี่กบยังอยู่และมีประวัติศาสตร์ภายในบ้านมากมายเสียจนกลายเป็คุณค่ามากกว่ามูลค่าไปแล้ว
บ้านพี่กบ แต่ก่อนเรียกกันว่า “ตรอกพระยาเพชร” มาจากนามของพระยาเพชรปาณี ข้าราชการกระทรวงวังที่เริ่มตั้งวิกคณะลิเกเล่นอยู่ที่หน้าวัดราชนัดดาฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนบันทึกไว้ว่ากำเนิดลิเกเป็นมาอย่างไร ที่นี่เป็นวิกลิเกที่ถือว่าโด่งดังมากในสมัยนั้น
ตรอกพระยาเพชรมีคลองเมืองหรือคลองโอ่งอ่างอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าก็คงเป็นวิกลิเกพระยาเพชรตั้งแต่สมัยโบราณพี่กบเล่าว่าบ้านนี้เป็นของทวด พ่อของตา เกินกว่านั้นก็สืบไม่ได้แล้ว ตาอู๋สืบวิชาทำปี่พาทย์ ทำกลองทัด กลองแขกไปจนถึงกลองเพลตามวัด งานที่ไว้ชื่อลือชาก็คือขุดกลองเจ้าพ่อหอกลองที่นำไปไว้บนชั้น ๓ เมื่อสัก พ.ศ. ๒๕๐๙ ส่วนคุณทวดของพี่กบคงเป็นคนดนตรีระดับครูในแถบนี้ตั้งแต่แรกมา
แม่พี่กบแต่งงานกับชายหนุ่มอีกฝั่งคลอง เป็นคนเชื้อจีนย่านวัดสระเกศ มีอาม่าที่พูดไทยไม่ได้สักคำ แม่พี่กบแต่งงานที่บ้านนี้แม้ตาจะไม่ชอบแต่ก็แต่งให้แล้วให้ไปอยู่บ้านพ่อพี่กบโดยไม่เอ่ยปากถามสักคำ จนยายต้องมาบอกว่าอยู่กันยากไม่ไหวจริงๆ เพราะเป็นสะใภ้ต่างวัฒนธรรม พี่กบเลยมาเกิดที่บ้านหลังนี้พร้อมพ่อแม่อยู่กับตากับยาย เล่นสนุกและเติบโตมาแบบเด็กผู้ชายที่ตารัก
แต่เพราะพ่อเป็นคนจีนแบบใช้แซ่ วิสัยแบบผู้ชายคนจีนเมื่อต้องมาอยู่ร่วมบ้านกับชายไทยดุๆ แบบคนโบราณ ก็เลยอยู่ร่วมบ้านกันไม่ได้ พ่อพี่กบเลยได้แต่มาหาเพราะแยกบ้านออกไป ดูผาดๆแทบไม่รู้เลยว่ามีญาติสนิทเป็นคนจีนแซ่เบ๊ แถวตรอกเซี่ยงไฮ้
ตาอู๋นอกจากเป็นช่างทำปี่พาทย์และถ่วงตะกั่วปี่พาทย์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่งแล้ว ก็ยังมีวิชาขุดกลองขึงหนังทำตะโพนไทยมอญ ใช้ลานบ้านและบ่อน้ำทำเองเป็นสถานที่ผลิตเครื่องดนตรีอย่างพิถีพิถัน พี่กบบอกว่าคนมาหาตาทั้งวัน หรือไม่ตาก็ออกไปหาอุปกรณ์พวกหนังวัวแถวคลองเตยบ้าง คนมาหาจากนอกเมืองพวกอยุธยา อ่างทองก็มี มาถึงก็ผูกเรือกับลำไม้รวกที่ปักข้างคลองเดินทางกันแบบนี้เข้ามาหาตากันแบบปากต่อปาก บ้างก็เอาไม้มาให้พร้อม ตามีผู้ช่วยแค่คนเดียว อยู่ร่วมกันในบ้านและบอกสูตรลับทั้งพวกการเคี่ยวรักการถ่วงตะกั่วให้หมด พี่กบเล่าว่าของพวกนี้เป็นความลับขนาดปิดห้องทำกันทีเดียว แม้แต่คนในครอบครัวก็ไม่เคยได้รู้
นอกจากเป็นช่างปี่พาทย์และทำกลอง ตาอู๋มักหายไปตอนเย็นๆ กลับมาก็จะมีขนมไข่หงส์มาฝากพี่กบเสมอๆ มารู้ภายหลังเมื่อแม่บอกว่า ตาออกไปเล่นลิเกที่วิกเมรุปูน ตรงบ้านบาตร ตาอู๋ เป็นลิเกตัวโกงแบบแม่ค้าเกลียดเข้าไส้ขว้างไข่หงส์ให้เก็บได้ทุกครั้ง
นอกจากจะเป็นช่างดนตรีชั้นครู เล่นลิเกตามวิก ก็ยังสอนลิเกที่บ้านด้วย เพราะฉะนั้นบ้านพี่กบจึงมีลานกว้างหน้าบ้านสำหรับซ้อมและหัดรำลิเกด้วย แม้บ้านชั้นบนก็ยังมีชุดปี่พาทย์ชุดใหญ่และเศียรหรือศีรษะพ่อปู่ พี่กบเล่าว่า ทุกวันพฤหัสฯ ต้องจัดไหว้ครูทุกอาทิตย์ ลูกศิษย์ที่มาร่วมกันก็ไม่ใช่น้อยจนเป็นที่รู้กัน
ช่วงเวลาที่คุณตาเสียชีวิตคงเป็นครูที่มีลูกศิษย์มาก คนดนตรีมากันมากมายพี่กบยังเด็กๆ ไม่ได้อะไรทางดนตรีมาจากตาอู๋เลยได้แต่ใจนักเลง ช่างคิดและดูเป็นศิลปินหน่อยๆ เพราะโตมาในยุคที่เพลงของเอลวิสกำลังเฟื่อง แถมย่านบางลำพูยังเป็นสวรรค์ของ
นักเที่ยวทั้งกลางวันกลางคืน
พอเริ่มเป็นหนุ่มรอบๆ บ้านที่ตรอกพระยาเพชรก็มีแต่ย่านเริงรมย์ สนุกในวัยหนุ่มเพราะที่เที่ยวที่เล่นสนุกมากมายและเต็มไปด้วยสีสันมากมายราวๆ ต้นๆ ทศวรรษที่ ๒๕๑๐ สี่แยกบางลำพูเป็นที่สิงของวัยรุ่นแถวตลาดนานา และชอบนั่งราวสะพานคอเอียงๆ คอยดูว่ามีใครจะกล้าสบตาบ้าง หรือไปหยอดเหรียญเล่นตู้เพลงหน้าโรงหนังบุษยพรรณ
นักเลงยุคนั้นไม่มีปืน ไม่มีระเบิด ตีกันอย่างมากก็ใช้มีดและไม้ แต่ก็หนักเอาการ พี่กบบอกว่าที่ชอบไปบางลำพูเพราะมีเพื่อนมาก มาจากชุมชนรอบๆ บางลำพู ทั้งทางวัดสามพระยา วัดอินทร์ฯ ตรอกไก่แจ้ ตรอกมะยม วัยรุ่นมุสลิมแถวจักรพงษ์มักนุ่งโสร่งมาเที่ยวกัน แต่บางคนในโสร่งก็มีไม้คมแฝกซ่อนไว้ บางคนก็ขึ้นชื่อว่า“ดุ” จนมีชื่อ ไม่มีใครข้ามเขตใคร โดยเฉพาะถ้ามีใครมาจีบสาวๆ แถวบ้านแถวถิ่น แบบนี้ก็มีเรื่องกัน
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนของพี่กบมาสะดุดเอาตอนปี ๔๐ เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกรอบแรก พี่กบได้เงินชดเชยมา ๖ เดือน เป็นอันจบชีวิตชายหนุ่มมนุษย์เงินเดือนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แล้วจึงทำเหมือนคนตกงานยุคนั้นทั่วไปคือขายเสื้อยืดตามตลาดนัดทำอยู่ปีหรือสองปี ชาวบ้านที่ป้อมมหากาฬเริ่มเข้าสู่ช่วงสภาพวิกฤตขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ เช่น ถนนฉลองกรุงฯ ชาวบ้านมีแต่อดตายผู้คนที่เคยค้าขายในย่านสถานที่สังคมแบบเมืองจะไปปรับตัวอยู่แฟลตหรืออยู่ห่างไกลกันแบบนั้นได้อย่างไร
ช่วงนั้นบริเวณป้อมมหากาฬ ถูกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว ช่วงแรกๆ คนในป้อมก็ไม่รู้จะไปอย่างไร ชีวิตสับสนกันไปหมด กระบวนการเริ่มต้นเวนคืน เจ้าของที่ดินรับเงินไปพื้นที่ทั้งหมดมีกว่า ๒๑ แปลง เจ้าของรายใหญ่ๆ มีอยู่ไม่กี่เจ้า เช่น คุณเล็ก นานา และวัดราชนัดดา ฯลฯ ส่วนบ้านของพี่กบก็ปลูกอยู่บนที่ดินของวัดราชนัดดานั่นเอง
พี่กบเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้ออกไปขายเสื้อแล้ว รายได้ก็ไม่มี แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้ พี่กบก็ไม่เคยกลับไปมีอาชีพประจำใดๆ อีกเลย และบอกว่าชีวิตราว ๑๖ ปีต่อมาจนถึงทุกวันนี้หมดไปกับการอุทิศเพื่อรักษาบ้านตาทวดหลังนี้ไว้บ้านที่พี่กบบอกว่ามี “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มหาศาล
หลังปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา จากกลุ่มบ้านหลังกำแพงริมคลองโอ่งอ่างที่มีอยู่แน่นขนัดก็เริ่มต้องหาทางแก้ไขจะย้ายหรือจะอยู่ บ้านเก่าๆ บางหลังถูกไฟไหม้ไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพราะคนญวนทำพลุดอกไม้ไฟเกิดระเบิดแล้วกระจายไปอีกหลายหลัง แต่บ้านพี่กบรอด ข้าวของไหว้ครูชั้นบนถูกไฟไหม้เก็บกู้ไม่ได้สักชิ้น ความผูกพันของบ้านดนตรีหลังจากตายายสิ้นไปก็หมดลง
จนเหลือแต่ความทรงจำ
หลายบ้านที่เป็นของขุนนางเก่า หมดสิ้นเชื้อสายไม่มีใครอยู่ก็ขายสิทธิ์บ้าง ให้เช่าแก่คนใหม่ๆ ไปบ้างบางคนที่อยู่มาแต่เดิมเคยเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของตระกูลขุนนางแถบนี้ก็ยังอยู่กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่เพียงแยกปลูกเรือนออกไปต่างหาก ทั้งสองฝั่งที่เรียกกันว่าแถบหัวป้อมท้ายป้อม เริ่มจับกลุ่มคุยกัน หลังเวลาผ่านไปตามลำดับ
พี่กบเริ่มเข้ามาสู้กับปัญหาอย่างเต็มตัว ย้ายไปไหนก็คงยากแล้ว คนในชุมชนตามที่มีเจ้าของ ๒๐ กว่าแปลงถูกจัดการเรียบร้อย แต่คนที่อยู่อาศัยไม่ทราบเรื่องรายละเอียด ส่วนใหญ่ไม่ได้เงินชดเชยจากการปลูกสร้างอาคารเพราะความสับสนดังกล่าว แต่ที่แน่นอนคือเจ้าของที่ตามสิทธิส่วนใหญ่มอบที่ให้ กทม. ไปแล้ว
ราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๔๒-๔๓ พี่กบแทบจะเลิกออกไปขายเสื้อยืดสกรีน ครอบครัวเริ่มไม่คุยกันเพราะไม่เข้าใจ ภรรยาพี่กบไม่เห็นด้วยเลย กว่าจะเข้าใจกันก็เกือบจะทำให้ครอบครัวแตกกันไปทั้งที่อยู่ไม่เคยห่างและพื้นฐานความรักแน่นหนา แต่เมื่อเริ่มทำกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มีคนในชุมชนขอให้ภรรยาพี่กบเป็นกรรมการ เพราะเป็นคนจากอีกฝั่งหนึ่ง เป็นลูกจีนที่เข้าใจเรื่องเงินเรื่องทอง อีกทั้งก็ยังเป็นภรรยาพี่กบ คำว่า “เบี้ยว” คงเกิดยาก พี่กบบอกว่าเมื่อได้เริ่มเข้ามาร่วมกันทำงาน เห็นปัญหา ต้องสู้กับปัญหาร่วมกัน ความเข้าใจก็กลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง คราวนี้ทั้งลูกชายหญิงอีกสองคนก็ร่วมใจกันทั้งครอบครัว
พี่กบและหลายๆ คนในป้อมบอกว่า คนที่นี่รวมน้ำใจเป็นหนึ่งเดียวกันไปนานแล้ว ทุกวันนี้ยังคงมีการจัดเวรยามเฝ้าในช่วงหลังเที่ยงคืนทุกคืน คนเข้าเวรทั้งชายและหญิง ทำแบบนี้มานานแล้วความเป็นชุมชนแบบเป็นทางการของที่นี่ไม่มีในสารบบของเขตพระนคร ไม่มีการสนับสนุนทางเงินงบประมาณจากรัฐทุกรัฐราชการทุกหน่วยงาน การปรับปรุงพื้นที่ลอกท่อ ปลูกต้นไม้ทำสาธารณูปโภคบ้างเคยมีอยู่เดิม แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เงินของชุมชน จากการออมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้น และแรงงานของชุมชนทำกันเองทั้งหมด หากคนเสียชีวิตไปแล้วไม่มีสิทธิตั้งคนเป็นเจ้าบ้านใหม่ถูกคุมจำนวนประชากรอย่างเป็นทางการไปในตัว
การกระทำเช่นนี้สร้างข้อเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนคนหลังกำแพงก็กลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งชัดเจน มีผู้นำโดยธรรมชาติแบบพี่กบ มีคนอาสาสมัครและแบ่งเวรยามโดยไม่ต้องใช้เงินจ้างจนทุกวันนี้ พี่กบและคนหลังกำแพงที่ป้อมมหากาฬ ปรับตัวเองพัฒนาตนเอง แทบไม่ได้การสนับสนุนอย่างจริงจังจากที่ใดหรือองค์กรใดๆ หลายคนพัฒนาตัวเองกลายเป็นองค์กรชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายเรื่องที่อยู่อาศัยที่ถูกไล่รื้อจากทั่วประเทศ พี่กบไม่ได้โดดเดี่ยวแต่กลับมีเพื่อนจากท้องถิ่นต่างๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกันทั้งประเทศและขยายไปสู่เครือข่ายในประเทศอื่นๆ ด้วย ประสบการณ์จากปัญหาของตนเองถูกนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ที่กำลังบีบคนจนให้อยู่ยากขึ้นแย่ขึ้นไปจากที่เป็นอยู่และจะทวีความรุนแรงขึ้นเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้พี่เขาถือคติแม้ไม่ก่อมิตรแต่ก็ไม่สร้างศัตรูพี่กบพูดคุยกับทุกคนทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชน บางกลุ่มบางคนก็อาจจะอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้ยากหน่อยเพราะมีอคติในใจจากหลายที่มาที่ไปก็ไม่เป็นไร พยายามจัดการชุมชน พยายามหาทางต่อรองในทุกสถานการณ์ พยายามเสนอข้อคิดเห็นต่อการจัดการชุมชนในเมืองเช่นนี้ทุกทางที่จะทำได้
พี่กบในวัยจะเข้าหกสิบอีกไม่กี่ปีก็ยังทำงานแข็งขันอยู่ในชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งที่จริงก็คือตรอกพระยาเพชรปาณีในบ้านที่เป็นสมบัติตกทอดมาจากรุ่นคุณทวดแหล่งกำเนิดลิเกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เหลือเป็นเพียงความทรงจำที่ยังต่อติดเพียงแห่งเดียวในย่านชานพระนครนี้ แต่ถูกกำหนดเพื่อจัดการบนแผ่นกระดาษของสถาปนิกจัดทำเมืองประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งว่าควรใช้ยางลบลบออกไปเสียเพื่อให้เป็นสวนสาธารณะของคนเมือง
คนย่านเก่า : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๐๗ (ก.ค.-ก.ย.๒๕๕๘)