ฟังเรื่อราวจาก ‘กุดขาคีม’: เมื่อบุ่งทามหายไป ในวันที่สายน้ำถูกกั้นขวาง
ระบบนิเวศที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ คือ พื้นที่ ‘ป่าบุ่ง-ป่าทาม’ โดยมีแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านทุ่งกุลาบริเวณตอนกลาง ลักษณะของพื้นที่เป็นลอนคลื่น สูงต่ำสลับกันไปทางตอนใต้ของทุ่งกุลาร้องไห้ ลำน้ำมูลเป็นเขตแดนด้านใต้ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ครอบคลุมพื้นที่คาบเกี่ยวของอำเภอพุทไธสง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
สภาพของแม่น้ำมูลตอนกลางมีขนาดกว้าง กระแสน้ำไหลช้า การไหลของน้ำในฤดูน้ำหลากเมื่อผสมกับลักษณะพื้นที่ลอนคลื่นทำให้เกิดภูมิสัณฐานที่เป็นระบบนิเวศน์ย่อยๆมากมายและมีหลากหลายดังเรียกต่างกันไปตามภาษาท้องถิ่น เช่น กุด หนอง บุ่ง เลิง โนน ดูน ฮ่อง ฮ่อม มาบ ปาก เป็นต้น และในแต่ละระบบนิเวศน์ย่อยก็มีสังคมพืชที่ปกคลุมในพื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายชนิดที่เรียกกันว่า ‘ป่าบุ่ง-ป่าทาม’ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแหล่งเพาะพันธุ์และหลบภัยของสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นานาชนิด
พื้นที่ทามจึงเปรียบเสมือน ‘มดลูก’ ของภาคอีสานที่เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ระบบนิเวศน์พื้นน้ำ ระบบนิเวศน์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และระบบนิเวศน์บก อีกทั้งเป็นแนวเก็บกักตะกอน ธาตุอาหารที่พัดพามากับน้ำ ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน และช่วยกรองสารพิษจากการเกษตรไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำ ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งแม่น้ำไม่ให้ถูกเซาะพังทลาย ช่วยรักษาความสมดุลระหว่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ช่วยกักเก็บน้ำฝน ป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลัน และช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ฉะนั้นพื้นที่ทามจึงมีความสำคัญสามารถชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรวม
ทาม ‘กุดขาคีม’ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 26,000 ไร่ เป็นระบบนิเวศน์ย่อยของพื้นที่ทามแม่น้ำมูลตอนกลางในเขตพื้นที่ตำบลกุดขาคีม และตำบลทับใหญ่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำ ทุกๆปีจะมีน้ำหลาก ท่วม ปีละราว 3 เดือน มีลักษณะภูมิสัณฐานพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ที่ดอน สลับกันไป แตกต่างหลากหลายในพื้นที่
ในเวลาต่อมามีโครงการสร้างฝายราษีไศล ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทามกุดขาคีม ประการแรก คือ ความไม่แน่นอนในประเด็นน้ำจะท่วมพื้นที่ทามที่ใช้ประโยชน์หรือไม่ จึงสร้างความไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจในการทำมาหากินแบบเดิมของชุมชน การปลูกยูคาลิปตัสเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดีของคนในชุมชน อีกประการหนึ่งคือ การบุกเบิกพื้นที่นาของตนเองให้โล่งเตียนเพื่อแสดงการครอบครองในการเสนอค่าชดเชย และเมื่อมีการปิดเขื่อนราษีไศลทำให้น้ำท่วมหลาก ระบบการไหลของน้ำไม่เร็วแรงเหมือนธรรมชาติ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของโครงการนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มและไปร่วมกับกลุ่มอื่นๆในการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาล จนมีการแย่งชิงมวลชนทั้งกลุ่มผู้เรียกร้องกันเองและกับฝ่ายราชการ เกิดความแตกแยกในชุมชนทั้งที่เดิมทีนั้นชุมชนสามารถจัดการกันเองได้ เวลามีกรณีความขัดแย้งในการจัดการพื้นที่ทาม
ทั้งนี้ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งจากชาวบ้านเอง จากองค์กรภายนอก และจากภาครัฐบาล แต่การดำเนินการดังกล่าวกลับเป็นการดึงคนในชุมชนออกนอกชุมชน และดึงคนภายนอกเข้ามาในชุมชน พลังของชุมชนจึงไม่สามารถแสดงตัวตนในการแก้ไขปัญหาอย่างที่ควรจะเป็น ก่อผลกระทบตามมาอย่างมากมาย จนกระทั่งเกิดความร่วมมือระหว่างนักพัฒนากับกลุ่มคนต่างๆในชุมชนที่ช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนและค้นหาองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากร
ป่าบุ่ง-ป่าทามที่ ‘กุดขาคีม’
แม่น้ำมูลมีต้นกำเนิดจากเขาละองละมั่ง เขตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดนครราชสีมา เป็นแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในภาคอีสานตอนล่าง ไหลผ่านพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม ‘กุดขาคีม’ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่ง (Wetlands) มีลักษณะภูมิสัณฐานพื้นที่เป็นที่ลุ่ม ที่ดอน สลับกันไป แตกต่างหลากหลายในพื้นที่ ทั้งที่เป็นผืนดิน พื้นที่ป่า และแหล่งน้ำธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ สามารถระบุได้ดังนี้ คือ โนนทาม/ดอนทาม 26 แห่ง เลิง 4 แห่ง ฮอง/ร่องน้ำ 31 แห่ง กุด 35 แห่ง หนอง 92 แห่ง วัง 9 แห่ง ปาก 37 แห่ง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าที่ขึ้นอยู่ตามสภาพนิเวศน์ ลักษณะภูมิสัณฐานของพื้นที่ ทั้งที่เป็นป่าบุ่ง-ป่าทามและป่าโคก ทั้งที่เป็นป่าชุมชนและป่าหัวไร่ปลายนา
ชาวบ้านที่นี่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในหลายลักษณะทั้งเพื่อการยังชีพและหายรายได้ให้ครัวเรือน เช่น การทำนาทาม การเลี้ยงสัตว์(วัว-ควาย) การหาปลา การปลูกผัก การเก็บหาของป่า ทั้งที่เป็นเชื้อเพลิง เช่น ฟืน ถ่าน เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องจักสาน เช่น หวาย กก เถาวัลย์ เป็นอาหารธรรมชาติ เช่น เก็บผัก หน่อไม้ เห็ด มันแซง กบ หอย ไข่มดแดง นก หนู การเก็บหาสมุนไพร การต้มเกลือ การใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค หรือแม้แต่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ในการกินข้าวป่า เป็นสถานที่ในการแข่งเรือยาวประจำปีของชุมชน และเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาของคนในชุมชน ทั้งทางบกและทางน้ำโดยใช้เรือพาย หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าพื้นที่ทามหรือป่าบุ่ง-ป่าทามเป็นยิ่งกว่าซุปเปอร์มาเกตของชุมชนที่อยู่รายรอบได้พึ่งพา หาอยู่หากินเพื่อการดำรงชีวิตสืบต่อมายาวนาน
ฝายราศีไศลและผลกระทบต่อระบบนิเวศ
โครงการฝายราศีไศลได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ตั้งแต่พ.ศ.๒๕๓๕ และมีการเก็บกักน้ำ ซึ่ง การสร้างฝายราษีไศลและการเก็บกักน้ำของโครงการได้ก่อผลกระทบต่อวิถีการใช้ประโยชน์ของชุมชนจากการที่ชาวบ้านในชุมชนได้มีการบุกเบิกเพื่อทำนาโดยใช้พันธุ์ข้าว กข.105 เป็นหลักทำให้มีความเสี่ยงต่อการน้ำท่วมหลากก่อนที่จะได้เก็บเกี่ยว ส่วนการใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การเลี้ยงสัตว์ การหาปลา หาของป่า ชุมชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนดังแต่ก่อน การหาอยู่หากินยากลำบากมากขึ้น
ต่อมา ปี พ.ศ.2543 จากมติของคณะรัฐมนตรีให้เปิดเขื่อนราษีไศลเพื่อทำการศึกษาผล กระทบที่เกิดขึ้น พื้นที่ทามจึงโผล่พ้นน้ำขึ้นมาอีกครั้ง วิถีชีวิตของชุมชนได้กลับมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหมือนแต่ก่อน แต่ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทามในวันนี้ยังไม่เหมือนในอดีต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์บางชนิดลดลง ระบบนิเวศน์ที่เคยหลากหลาย กุด หนอง ฮอง เกิดการตื้นเขิน ชุมชนต้องร่วมมือช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ทามเพื่อให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต ซึ่งในช่วงนี้ชาวบ้านจะลงไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทาม ตามวิถีชีวิตชุมชนที่มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างระมัดระวัง พร้อมทั้งต้องแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างต่อเนื่อง
จากพัฒนาการการใช้ประโยชน์และลักษณะการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ทามนั้น จะเห็นได้ว่าในระยะช่วงแรกเป็นการใช้ประโยชน์ลักษณะการพึ่งพา การหาอยู่หากินในทางเศรษฐกิจเพื่อขายและได้เริ่มเข้ามาชัดเจนขึ้นในช่วงที่มีการส่งเสริมการปลูกปอ ทำให้มีการบุกเบิกพื้นที่ทาม และต่อมาได้กลายมาสู่การบุกเบิกปรับฟื้นที่ทามในการปลูกข้าวเพื่อขาย โดยปรับพื้นที่ให้เข้ากับพันธุ์ข้าว(มะลิ 105) ล่าสุด คือ กระแสการปลูกยูคาลิปตัส เมื่อมีการปลูกพืชเพื่อการขายทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรลดลง การใช้ประโยชน์แบบพึ่งพาของชุมชนมีน้อยลงและพบกับความยากลำบาก
จากผลกระทบดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและขบวนการเรียกร้องต่อรัฐบาลได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างผู้เดือดร้อนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานในพื้นที่ นอกจากนี้ผู้เรียกร้องยังมีการแบ่งกลุ่มย่อยๆต่อรองกับรัฐบาลมากกว่า 9 กลุ่ม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเหล่านี้ในชุมชนด้วย จนมีภาพของ “ลูกผิดกับพ่อ พ่อเฒ่าผิดกับลูกเขย พี่น้องผิดกัน บ่คือกัน เพราะว่าอยู่คนละสมัชชา (หรือคนละกลุ่ม)”
โครงการสร้างฝายราษีไศลจึงเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทามกุดขาคีมอย่างมาก
สร้างองค์ความรู้ ‘เลี้ยงชีพในบุ่งทาม’
สร้างองค์ความรู้ ‘เลี้ยงชีพในบุ่งทาม’
ความร่วมมือระหว่างนักพัฒนานั้น นายรุ่งวิชิต คำงาม ซึ่งเป็นคนนอกมากับกลุ่มคนต่างๆในชุมชนเพื่อช่วยกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ค้นหาองค์ความรู้การจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยได้พัฒนาโครงการวิจัย “การจัดการน้ำระบบย่อยโดยองค์กรชุมชน กรณีศึกษากุดขาคีม ตำบลกุดขาคีม อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์” ขึ้น ซึ่งได้ประสานงานไปยังศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ (Node ทุ่งกุลาร้องไห้)และเสนอต่อ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตรงนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนำกระบวนการวิจัย เพื่อท้องถิ่นเข้าไปแก้ไขปัญหาในชุมชน เป็นกระบวนการทำงานโดยเน้นประเด็นข้อมูลในพื้นที่เป็นหลัก เน้นให้กลุ่มคนในชุมชนได้ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ เรียนรู้ และกำหนดแนวทางในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ทำให้เห็นพลังของชุมชนได้มากขึ้น ทั้งที่เป็นพลังในเรื่องของปัญญาความรู้ พลังการทำงานร่วมกัน และที่สำคัญชุมชนได้แสดงตัวตนให้ภายนอกได้รู้ว่าชุมชนมีการใช้ประโยชน์อย่างนี้ และต้องการที่จะจัดการของชุมชนอย่างนี้ในอนาคต
การปรับตัว “เรียนรู้สู่การพัฒนา”
ภายใต้หลักการเดียวกัน ชุมชนได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานขึ้น คือ จัดตั้งพัฒนาองค์กรและชุมชนในการจัดการพื้นที่ทามกุดขาคีม พัฒนาองค์ความรู้ การสร้างสำนึกร่วมของคนในชุมชนพร้อมกับเผยแพร่ต่อสาธารณะและนโยบาย อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ทั้งพื้นที่ป่าโคก ป่าบุ่ง-ป่าทามในรูปแบบป่าชุมชน ป่าริมฝั่งกุด เขตป่าอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ ป่าหัวไร่ปลายนา อนุรักษ์พื้นฟูทรัพยากรในพื้นที่ทามกุดขาคีมในรูปแบบการจัดการชลประทานชาวบ้าน การกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา การส่งเสริมสนับสนุนทางเลือกอาชีพที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ทาม เช่น เกษตรนิเวศน์ทาม การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่าทาม
ทั้งนี้ เมื่อชุมชนได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจึงได้เกิดผลทำให้มีการทบทวนบทเรียนและพัฒนาขยายผลการจัดการป่าชุมชนและป่าริมฝั่ง จำนวน 5 แห่ง กำหนดและดำเนินการเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาธรรมชาติ 5 แห่ง กำหนดและดำเนินการเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า 2 แห่ง หลักสูตรท้องถิ่นและค่ายเยาวชนรักษ์ป่าทาม “กุดขาคีม” ใน 5 โรงเรียน จัดตั้งกลุ่มอาชีพและสนับสนุนอาชีพทางเลือกของกลุ่มเกษตรนิเวศน์ทาม และกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกกและผลิตภัณฑ์จากทาม จัดตั้งและพัฒนาองค์กร “คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่ทามลุ่มน้ำกุดขาคีม” ที่มีส่วนร่วมจากตัวแทนกลุ่มต่างๆองค์กรสนับสนุนส่วนท้องถิ่น จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภายนอก มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อสนับสนุนสมาชิกและกลุ่มให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริหารจัดการโดยคณะกรรมการพิจารณาร่วมกัน เช่น สนับสนุนให้สมาชิกปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และสนับสนุนกลุ่มเกษตรนิเวศน์ทามโดยมีเกษตรกรต้นแบบ 40 ราย สนับสนุนกลุ่มสานมองบ้างดงเค็ง หมู่ 2 และขยายสมาชิกทั้งตำบลกุดขาคีม การดำเนินงานของกลุ่ม สมาชิกสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนแบบพึ่งพาตนเอง
ทิ้งท้าย..จาก ‘กุดขาคีม’
จากโครงการพัฒนานาม ‘อีสานเขียว’ จนถึง ‘โขง-ชี-มูล’ ที่กลายพันธุ์เป็นเขื่อนราษีไศล ได้สร้างประเด็นความขัดแย้งและทุกข์ยากสารพัดให้แก่ผู้เดือดร้อนมาอย่างยาวนานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งกว่าจะเรียกร้องให้รัฐเปิดประตูน้ำแต่ละบานได้ก็เหมือนเข็ญครกขึ้นภูเขากันเลยทีเดียว
ทั้งนี้ ปัญหาราษีไศลก็คือตัวอย่างในการต่อสู้อย่างยาวนานของชาวบ้านกับรัฐไทยที่ดูเหมือนจะไม่มีข้อสรุปที่เป็นไปในทางสร้างประโยชน์กับฝ่ายใด ไม่ว่ารัฐที่ไม่เคยถือเป็นบทเรียน และชาวบ้านที่กลายเป็นศัตรูคู่แค้นกันเองหรือแตกกลุ่มแตกพวกออกไปตามการเรียกร้องผลประโยชน์จากเงินชดเชย
ดังนั้นจึงไม่เคยมีการพัฒนาเรื่องใดจะสร้างความวิบัติเดือดร้อนให้กับราษฎรอย่างเด่นชัดเช่นกรณีการสร้างเขื่อนราษีไศลเลย
แต่บทเรียนของการต่อสู้อย่างยาวนานนี้กลับสร้างคุณประโยชน์แก่ชาวบ้านที่ไม่ต้องการใช้กำลังอย่างดื้อดึงอีกต่อไป จึงกลับมารวมกลุ่มสร้างความรู้ที่แท้จริง ความรู้ที่ชาวบ้านต้องการเพื่อการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องไปต่อสู้ด้วยการประท้วงหรือใช้กำลังชาวบ้านกำลังเดินหน้าต่อไปเพื่อชีวิตของพวกเขา แต่วันนี้รัฐไทยจะตอบคำถามเรื่องการพัฒนาว่าอย่างไร.
ข้อมูล/สัมภาษณ์ |
สถาบันทุ่งกุลาศึกษา, บุญเสริฐ เสียงสนั่น,บุญมี โสภัง, วิเชียร สอนจันทร์,นพรัตน์ ยิ่งเจริญและเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ประสานความร่วมมือพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด |
เรื่อง/ภาพ | วลัยลักษณ์ ทรงศิริ |
เรียบเรียง | ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง |