หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เปิดประเด็น : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น: แนวคิดและวิธีการ
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 29 เม.ย. 2559, 12:57 น.
เข้าชมแล้ว 50248 ครั้ง

          

ข้าพเจ้าคิดว่าจุดอ่อนในการศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์นั้นอยู่ที่แนวคิดและวิธีการ

จึงใคร่เสนอไว้ให้คิดกันเล่นๆ ในที่นี้

 

ที่ว่าให้คิดเล่น ๆ เพราะไม่ต้องการให้เคร่งเครียดเป็นวิชาการจนเกินไป โดยปกติแล้วการเสนออะไรต่ออะไรในรูปแบบทางวิชาการในประเทศไทยนั้นมีการยกทฤษฎีต่างๆ หรือวิธีการต่างๆ ทางตะวันตกเข้ามาเป็นตัวนำในการอธิบายสร้างกรอบแนวคิดและวิธีการ การเสนอแบบคิดเล่นๆ สบายๆ แบบที่กำลังเสนอนี้จึงไม่เอาแบบอย่าง

 

แต่ขอกล่าวว่าสิ่งที่ข้าพเจ้านำมาสร้างเป็นแนวคิดและวิธีการในที่นี้มีที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้สะสมมา ข้าพเจ้าไม่มี Footnotes หรือ References อะไรต่างๆ นอกจาก My Feet เท่านั้น

 

ข้าพเจ้าคิดว่าปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในขณะนี้ คือ การขาดการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งก็ยังไม่มีการทำความเข้าใจว่าคืออะไร และการเน้นแต่ประวัติศาสตร์แบบเก่าๆ จากส่วนกลางเป็นสำคัญ การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในที่นี้จึงต้องศึกษาทั้งสองอย่างคือประวัติศาสตร์จากส่วนกลางและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งมีแนวคิดและวิธีการดังต่อไปนี้

 

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม  บรรยายการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบนวัดเขาดีสลัก จังหวัดสุพรรณบุรี

 

แนวคิด

แนวคิดของข้าพเจ้าก็คือเรื่อง “มาตุภูมิกับชาติภูมิ”อันเป็นเรื่องของ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์แห่งชาติ”โดยตรง รากเหง้าของความแตกแยกและบ่อเกิดความไม่เข้าใจกันเองของคนในชาติทุกวันนี้ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองของรัฐบาลตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะเป็นการพัฒนาที่ขาดมิติของเวลาในอดีต  

 

อดีตคือที่มาของประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นของคู่กันกับความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อความอยู่รอด แต่การพัฒนาประเทศที่เน้นแต่เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีแบบตะวันตกอย่างกลวงๆ ได้ทำให้มนุษย์ในดินแดนประเทศไทยมีสำนึกเป็นปัจเจก ซึ่งเทียบได้กับการเป็นสัตว์เดรัจฉานประเภทหนึ่ง มนุษย์โดยธรรมชาติต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม [Social Group]กลุ่มเล็กที่สุดคือครอบครัวและเครือญาติ (ครัวเรือน) ถัดมาเป็นชุมชนที่แลเห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นรูปธรรม [Social Reality] ได้แก่ชุมชนบ้าน เหนือชุมชนบ้านขึ้นไปเป็นชุมชนทางจินตนาการ [Imagined Community]ใช้พื้นที่หรือแผ่นดินอันมีคนอยู่ร่วมกันบูรณาการให้เกิดสำนึกร่วม

 

ชุมชนทางจินตนาการหรือชุมชนสมมติเกิดขึ้นในพื้นที่สองระดับ คือ พื้นที่อันเป็นแผ่นดินเกิด หรือมาตุภูมิ กับพื้นที่อันเป็นประเทศชาติ หรือชาติภูมิ การเกิดชุมชนสมมติทั้ง ๒ ระดับนี้ใช้มิติของเวลาหรือประวัติศาสตร์เป็นสิ่งเชื่อมโยงให้เกิดสำนึกของการเป็นพวกพ้องเดียวกัน เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์จึงมี ๒ ระดับ คือ ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

 

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือประวัติศาสตร์สังคมที่แสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้คนในท้องถิ่นเดียวกันที่อาจมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ได้ แต่เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันตั้งแต่ ๒-๓ ชั่วคนสืบลงไป ก็จะเกิดสำนึกร่วมขึ้นเป็นคนในท้องถิ่นเดียวกัน มีจารีตขนบประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และกติกาในทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน โดยมีพื้นฐานทางความเชื่อและศีลธรรมเดียวกัน เช่น ท้องถิ่นดงศรีมหาโพธิ์ในอำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีความเป็นมาทางชาติพันธุ์ต่างกัน คือมีทั้งมอญ เขมร ลาว จีน ฯลฯ แต่มีสำนึกความเป็นคนศรีมหาโพธิ์หรือศรีมโหสถร่วมกัน

 

 

ร่วมกับสุจิตต์  วงษ์เทศ อธิบายความสำคัญของวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี

ที่มีต่อความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น

 

ประวัติศาสตร์แห่งชาติคือประวัติศาสตร์สังคมที่แสดงให้เห็นความเป็นมาของผู้คนในประเทศเดียวกันเหนือระดับท้องถิ่นอันหลากหลาย เป็นพื้นที่หรือแผ่นดินที่เป็นประเทศชาติ เช่น ดินแดนประเทศไทยเรียกว่า สยามประเทศ มีประวัติศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจที่ยึดโยงผู้คนในระดับท้องถิ่นที่หลากหลายให้รวมเป็นพวกเดียวกัน เช่น มีภาษากลางร่วมกัน มีระบบความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมเดียวกัน มีสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองร่วมกัน เป็นต้น  ทั้งหมดนี้หล่อหลอมและผลักดันให้คนในดินแดนสยามสมมติชื่อเรียกตนเองอย่างรวมๆ ว่าคนไทย เริ่มมีหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉะนั้น คนไทยเป็นชื่อรวมของคนในระดับชาติภูมิ  ประวัติศาสตร์ชาติภูมิ กลายเป็นประวัติศาสตร์รัฐชาติหรือประวัติศาสตร์แห่งชาติที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ลงมา ต่อมาได้เจือปนกับประวัติศาสตร์อาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกจนทำให้เกิดประวัติศาสตร์เชื้อชาตินิยม [Race]ตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นต้นมา

 

การมองคนไทยในลักษณะของความเป็นเลิศทางกรรมพันธุ์ได้ทำลายความเป็นคนไทยที่เป็นชื่อสมมติท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยให้หมดไป จึงเป็นช่องทางให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ใช้อ้างอิงเพื่อความชอบธรรมในการปกครองแล้วใช้ทำลายความสัมพันธ์ของคนทั้งคนภายในประเทศไทยและคนภายนอกคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม และมลายู สืบมาจนทุกวันนี้ 

 

เพราะถ้ามองจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแล้วคนที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันแยกไม่ออกจากบรรดาชาติพันธุ์ของผู้คนต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม พม่า และมาเลเซีย ฯลฯ

 

วิธีการ

ในที่นี้จะไม่พูดถึงประวัติศาสตร์แห่งชาติ เพราะมีการศึกษากันมามากแล้วในเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ แต่จะเน้นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว การเข้าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องเข้าถึงและแลเห็นคนกับพื้นที่ซึ่งมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์สังคม เพราะต้องเริ่มที่คนในพื้นที่ก่อนด้วยการศึกษาโครงสร้างทางสังคมโดยเก็บข้อมูลจากบุคคลในปัจจุบัน คนท้องถิ่นที่ให้ข้อมูลเป็นจุดเริ่มต้น แล้วถามความสัมพันธ์ทางสังคมและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนตั้งแต่ระดับครอบครัว เครือญาติ ชุมชน ย้อนขึ้นไปยังคนรุ่นก่อนๆ จนถึงสมัยเวลาที่จำอะไรไม่ได้แล้ว

 

ต่อจากนั้นก็ถามลงมาถึงคนรุ่นลูกหลานของผู้ให้ข้อมูล เพื่อเป็นการทำให้แลเห็นอดีต ปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่องว่ามีความเป็นมาและเปลี่ยนแปลงมาอย่างไร และน่าจะเป็นไปอย่างใดในอนาคต การเก็บข้อมูลจากโครงสร้างสังคมดังกล่าวนี้ ทำให้แลเห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม-สังคม นับเป็นการศึกษาชีวิตวัฒนธรรมที่มีพลวัตร คือเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งแบบการศึกษาในเรื่องศิลปวัฒนธรรม

 

การรวบรวมข้อมูลที่เข้าถึงโครงสร้างสังคมดังกล่าวคือการเข้าถึงคนแต่เป็นกลุ่มคนที่ไม่เป็นปัจเจก หากเป็นคนที่เป็นกลุ่มหรือสังคมนั่นเอง  เมื่อเข้าถึงคนแล้วจึงเข้าถึงพื้นที่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและถิ่นกำเนิดของผู้คนในกลุ่มนั้น การศึกษาพื้นที่ต้องเริ่มจากบรรดาชื่อ สถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมอย่างที่ก็มีผู้ให้ความสนใจและค้นคว้ากันในเรื่องของชื่อบ้านนามเมือง เป็นต้น 

 

คำว่าชื่อบ้านนามเมืองก็เป็นการค้นเรื่องของชื่อของชุมชนเป็นสำคัญ แต่การศึกษาเกี่ยวกับชื่อสถานที่ในที่นี้หมายถึงการศึกษาบรรดาชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งคนในท้องที่รู้จักสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน เป็นพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นนิเวศธรรมชาติแต่ได้มาปรับเปลี่ยนเป็นนิเวศวัฒนธรรมจากการปรับตัวของผู้คนในชุมชนนั้นเอง

 

ดังนั้น นิเวศวัฒนธรรมจึงเป็นองค์รวมของการศึกษาชื่อสถานที่ เหตุที่ต้องมีการตั้งชื่อสถานที่ก็เพราะเป็นสิ่งที่ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นต้องรู้จักร่วมกันซึ่งจะสื่อสารกันได้ การทำให้สถานที่ซึ่งมีความหมายในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันมีชื่อนั้น ก็คือการสร้างความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมธรรมชาตินั่นเอง 

 

ศึกษาชุมชนโบราณที่ทุ่งกุลาร้องไห้

 

ยิ่งกว่านั้น ชื่อสถานที่ทุกแห่งเมื่อสร้างขึ้นโดยอาจมีผู้หนึ่งผู้ใดตั้งชื่อก่อนก็ได้ แต่ต่อมาได้กลายเป็นสิ่งรับรู้กันของทุกผู้คนที่อยู่ในชุมชนเคียงกัน คือ รู้ทั้งที่มาและความหมาย โดยเฉพาะชื่อของพื้นที่สาธารณะ เช่น หนองน้ำ ลำน้ำ ป่าเขาและท้องทุ่ง เป็นต้น เพราะผู้คนเหล่านั้นต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันในการดำรงชีวิต เช่น ในเขตท้องถิ่นเมืองศรีเทพมีเขาโดดๆ ลูกหนึ่งมีชื่อว่าเขาถมอรัตน์ ภูเขานี้ทุกคนรู้จักเพราะเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าเป็นพืชพันธุ์และสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นภูเขาที่มีศาสนสถานที่เก่าแก่มาแต่โบราณซึ่งผู้คนถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์

 

สถานที่แบบนี้ได้นำคนเข้าไปมีความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติที่ควบคุมความประพฤติของผู้คนในอยู่รวมกันอย่างมีศีลธรรมและจารีตประเพณี  สถานที่เกือบทุกแห่งในนิเวศวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีชื่อและตำนาน [Myth]ที่ผู้คนรับรู้และถ่ายทอดกัน การศึกษาเรื่องชื่อสถานที่เช่นนี้ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่คนในท้องถิ่นร่วมกันสร้างขึ้นโดยตรง เป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ตำนานท้องถิ่น”

 

คำว่าตำนานจะต่างกับนิทาน เพราะตำนานเป็นสิ่งที่คนในท้องถิ่นสร้างรับรู้และเชื่อว่าเป็นจริง ตำนานคือหัวใจของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเป็นสิ่งสร้างสำนึกร่วมของผู้คน

 

สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก ตำนานมีความหมายมาก แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐและนักวิชาการประวัติศาสตร์ได้ปล่อยให้มีการตั้งชื่อสถานที่ขึ้นมาใหม่ เลยลบความหมายความสำคัญของตำนานให้หมดไป และเป็นผลให้คนจากข้างนอกเข้าไปก้าวก่ายสิทธิของพื้นที่และทรัพยากรท้องถิ่น

 

ยกตัวอย่างเช่น คนลาวที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นพลเมืองไทยแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้รับพระราชทานพื้นที่ธรรมชาติให้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัย ทำกินจนเกิดเป็นชุมชนขึ้น ต่างพากันตั้งชื่อพื้นที่สาธารณะ เช่น หนองน้ำหรือป่าเขาที่อยู่ในนิเวศวัฒนธรรมว่าหนองนางสิบสอง หรือป่าพระรถ ตามตำนานพระรถเมรีที่รู้จักกันดีในหมู่คนลาวด้วยกัน ชื่อเช่นนี้คนนอกไม่รู้จักยกเว้นคนใน ต่อมาทางรัฐและคนนอกที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในเรื่องทรัพยากรได้ติดสินบนหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบออกเอกสารสิทธิ์ให้โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เปล่าประโยชน์และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่แล้วเข้าครอบครอง เป็นต้น 

 

เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นคนนอกก็จะได้อาศัยเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองมาเป็นหลักฐานในการถือสิทธิ์ แต่ถ้าหากมีการได้ศึกษาทำความเข้าใจกับชื่อสถานที่ในตำนานของท้องถิ่นแล้ว คนท้องถิ่นก็อาจยืนยันอ้างสิทธิที่มีอยู่รวมกันดังปรากฏในชื่อทางตำนานได้ 

 

 รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมาตราที่ ๔๖ นับเป็นมาตราสำคัญที่จะทำให้คนในท้องถิ่นต่อสู้ป้องกันพื้นที่สาธารณะและทรัพยากรได้ไม่ยาก

 

ข้าพเจ้าคิดว่าถ้ามีการศึกษาในเรื่องชื่อสถานที่ในรูปแบบของประวัติศาสตร์สังคมท้องถิ่นตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็อาจทำให้คนท้องถิ่นที่เคยถูกแย่งชิงทรัพยากรและลิดรอนสิทธิของมนุษย์   ที่มีอยู่ในจารีตท้องถิ่นนั้นมีพลังที่จะต่อต้านการแย่งชิงที่อยุติธรรมได้

 

เลยอยากคิดต่อไปว่าพื้นที่ท้องถิ่นเกือบทั้งหมดของกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี และปทุมธานีนั้น เป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนตั้งชุมชนและบ้านเมืองกันริมลำน้ำ ลำคลอง ซึ่งแต่ละแห่งต่างก็มีชื่อเรียกกันมาแต่โบราณ เช่น คลองบางพลัด คลองบางขวาง คลองสามเสน อะไรต่างๆ นานา  บัดนี้บรรดาคลองเก่าๆ เหล่านี้เป็นจำนวนมากถูกทางราชการและนายทุนถมทำให้ตื้นและหมดไปเพื่อเอาพื้นที่และทรัพยากรไปเป็นของตน 

 

ถ้าหากได้ทำชื่อต่างๆ เหล่านี้ที่มีระบุในนิราศของสุนทรภู่ เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณบุรี มารื้อฟื้นให้ดีแล้วก็คงจะจัดการกับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงของหน่วยราชการ จะคืนกรรมสิทธิ์และสิทธิต่างๆ ในด้านทรัพยากรและที่อยู่อาศัยที่ทำกินให้กับคนท้องถิ่นได้อย่างมหาศาลทีเดียว

 

เปิดประเด็น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๖๓ (พ.ย.-ธ.ค.๒๕๔๙)

อัพเดทล่าสุด 10 ต.ค. 2561, 12:57 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.