การฟาดข้าวที่ยังมีการเอามื้อเอาวันกัน แต่ทำในหมู่เครือญาติเท่านั้น
ด่านซ้ายอยู่ลุ่มน้ำหมัน เกือบทุกหมู่บ้านของอำเภอด่านซ้ายล้วนแต่มีน้ำหมันไหลผ่าน น้ำหมันมีจุดกำเนิดที่ภูเขาคอนไก่หรือภูลมโลของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่านบ้านกกสะทอน ตำบลกกสะทอน บ้านด่านซ้าย บ้านเหนือ บ้านเดิ่น บ้านนาหว้า บ้านก้างปลา บ้านน้ำพุ บ้านหนามแท่ง บ้านหนองฟ้าแลบ บ้านนาเวียง บ้านเทิงนา บ้านนาห้วยอ้อย บ้านหัวนายูง บ้านศาลาน้อย ตำบลด่านซ้าย บ้านนาหอ บ้านหนองผือ บ้านนาน้ำท่วม บ้านเก่า บ้านนาฮี บ้านนาเบี้ย บ้านโพนหนอง บ้านหัวนาแหลม ตำบลนาหอ บ้านนาดี บ้านนาหมูม่น บ้านปลายข่า บ้านหนองทุ่ม บ้านกกแหนเก่า บ้านแก่งตาว บ้านแก่งม่วง บ้านห้วยลาด บ้านกกแหนใหม่ ตำบลนาดี ไปสบกับน้ำเหือง เขตกั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาว ทางทิศเหนือที่บ้านปากหมัน ตำบลปากหมัน
น้ำหมันได้ลัดเลาะพื้นที่ทั้งหุบเขาและที่ราบจนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิถีชีวิตผู้คนในสังคมเพราะชาวบ้านเคยใช้น้ำดังกล่าวทั้งด้านการเกษตร อุปโภค บริโภค ประมง หรือแม้กระทั่งกิจกรรมประเพณีทั้งทางพิธีกรรมและการละเล่นเรื่อยมาแต่อดีต
หากแต่ปัจจุบันน้ำหมันมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำมาซึ่งวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนของสังคม
วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนของสังคมลุ่มน้ำหมัน จุดเริ่มต้นคือการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำที่ปัจจุบันตื้นเขินขึ้นมาก ความตื้นเขินเกิดจากความเจริญที่มีเข้ามากล่าวคือ นำพาพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้ามาในท้องถิ่น เช่น ยาง พืชไร่ต่างๆ ฯลฯ ประกอบกับความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการผลิตพืชผลทางการเกษตรให้ได้ในปริมาณมากเพื่อการค้า จึงเกิดความต้องการพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น แต่จากสภาพนิเวศอำเภอด่านซ้ายที่มีพื้นที่ราบเพียง ๑ ใน ๕ ของพื้นที่ทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลหลักที่ชาวบ้านต้องขึ้นไปทำการเกษตรบนที่สูง พร้อมกับมีการไถพรวนดินโดยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ครั้นฝนตกจึงเกิดการชะล้างหินดินทรายบนภูเขาไหลตกลงมาทับถมในน้ำหมันให้ตื้นเขินนั่นเอง
การที่น้ำหมันตื้นเขินย่อมส่งผลในระยะยาวอีกนับไม่ถ้วน เช่น ที่นาของชาวบ้านถูกน้ำท่วมบ่อยครั้งในฤดูฝนหรือช่วงทำนา ไม่ว่าจะเป็นที่นาบ้านนาเวียง บ้านนาหอ และบ้านนาดี เป็นต้น กระทั่งทุกวันนี้ชาวนาในลุ่มน้ำหมันต้องทำนาปีละ ๒ ครั้ง คือนาปีและนาปรัง ผลผลิตที่ได้จากนาปรังคือสิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังมากกว่านาปี
ไม่เพียงเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากนาที่น้ำท่วมบ่อย เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนหนุ่มคนสาวผู้เป็นกำลังหลักในการทำนาออกจากหมู่บ้านเพื่อทำงานเลี้ยงชีพยังพื้นที่อื่น ในหมู่บ้านต่างๆ จึงมีเพียงเด็กและผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก รูปแบบและลักษณะการทำนาในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย ในอดีตได้มีการเอามื้อเอาวันหรือลงแขกในการทำนาของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการถอนกล้า การดำนา การเก็บเกี่ยว รวมทั้งการฟาดข้าว ซึ่งกว่าจะเอาแรงชาวบ้านที่มาช่วยจนครบบ้านต้องใช้เวลานานถึง ๒ ปี ก็เปลี่ยนมาเป็นการรับจ้างเป็นรายวันแทน ปัจจุบันการเอามื้อเอาวันกันจะไม่มีให้เห็นเป็นภาพเหมือนเมื่อครั้งอดีต แต่ก็ใช่ว่าจะสูญหายไป บางหมู่บ้านในสังคมลุ่มน้ำหมันยังคงมีการเอามื้อเอาวันกันอยู่ แต่จะเป็นลักษณะของกลุ่มเครือญาติเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ การที่น้ำตื้นเขินยังเป็นเหตุให้สภาพร่องน้ำหมันจากเดิมที่ลึกและมีวังปลาและพันธุ์ปลาเป็นจำนวนมากได้ตื้นขึ้นและหายไปในบางจุด รวมทั้งปลาท้องถิ่นก็หาได้ยากแล้ว กล่าวคือ ในอดีตร่องน้ำหมันเกือบทุกหมู่บ้านจะมีวังปลาเกิดขึ้น อันถือเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน เพราะที่วังปลาจะมีปลาอยู่หลายพันธุ์ วังปลาที่เคยมี เช่น วังเวิน ที่ท่าวัดโพนชัย วังแม่ลูกอ่อน วังกกโอ วังนาโฮง ที่บ้านเก่า วังอีด้าย วังขอนแดง วังบ้านน้อย วังปากห้วยภู วังเดื่อเฒ่า ที่บ้านนาหมูม่น เป็นต้น วังปลาเป็นที่อยู่อาศัยของปลา มีลักษณะเป็นร่องน้ำลึก ปลาจึงชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อน ปลาขม (หางแดง) ปลาดุก ปลาจอบ ปลาคัง ปลาแข้ ปลาซิว ปลาขั้นเรือ ปลาลวด ปลาปก ปลาแก่ง ปลาเกาะ เป็นต้น
แต่ปัจจุบันวังปลาดังกล่าวตื้นเขิน ชาวบ้านจึงไม่นิยมไปจับปลาจากที่ดังกล่าว แต่หันไปจับที่หนองในนาแทน ดังจะเห็นว่าผลที่ตามมานอกจากจะทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนพื้นที่ในการจับปลาจากแม่น้ำเป็นท้องนาแล้ว การทับถมของดินทรายในน้ำหมันยังทำให้พันธุ์ปลาบางชนิดสูญหาย ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศอีกด้านหนึ่งด้วย
ดินทรายจากการทำเกษตรบนที่สูงที่ถูกชะล้างและทับถมกันในลำน้ำหมันยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เส้นทางเดินของน้ำหมันเปลี่ยนทิศไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ บริเวณที่น้ำหมันจะไหลไปสบกับน้ำเหือง หลังวัดโพนแท่นพัฒนา บ้านปากหมันนั่นเอง แต่เดิมน้ำหมันต้องโค้งบริเวณหลังวัดและไปสบกับน้ำเหืองบริเวณหลังกุฏิพระ แต่ปัจจุบันได้ไหลไปสบเป็นเส้นตรงใต้สะพานที่จะข้ามไปยังอำเภอนาแห้ว เป็นต้น จากการเปลี่ยนเส้นทางเดินของน้ำได้ทำลายพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไปไม่น้อย
ผลเสียต่อเนื่องที่ตามมาอีกประการคือ ก่อให้เกิดการขุดลอกน้ำหมันเป็นประจำทุกปี ซึ่งการขุดลอกน้ำหมันดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนของชาวบ้าน ในทางกลับกันก่อให้เกิดการลดลงและหายไปของพัดหรือระหัดวิดน้ำอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ช่วยดึงน้ำมาใช้ในการเกษตรสำหรับพื้นที่ที่มีนาอยู่ใกล้น้ำหมัน รวมถึงเลี้ยงสัตว์และดื่มกินมาเป็นเครื่องสูบน้ำแทน
การทำเกษตรบนที่สูงสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตในสังคมลุ่มน้ำหมันแปรเปลี่ยน
ในอดีตพัดหรือระหัดวิดน้ำจะทำด้วยไม้ไผ่ และมีอายุการใช้งานเพียง ๑ ปีเท่านั้น ปีต่อมาต้องหาไม้ไผ่มาทำใหม่ ส่วนพื้นที่ที่ใช้พัดได้จำกัดเพียงพื้นที่ใกล้ลำน้ำหมัน ห่างออกไปไกลไม่สามารถใช้ได้เนื่องจากน้ำที่พัดขึ้นมาอาจส่งแรงไปไม่ถึง
ปัจจุบันเรายังเห็นพัดหรือระหัดวิดน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำหมันอยู่เพียงบางหมู่บ้านเท่านั้น เช่น บ้านนาดี ตำบลนาดี บ้านเก่า ตำบลนาหอ เป็นต้น หากแต่ลักษณะของพัดได้เปลี่ยนไปคือมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ทั้งนี้เนื่องมาจากลักษณะทางเดินของน้ำหมันที่แคบลงจากการทับถมของดินทรายบนภูเขาอันมาจากการทำไร่เพาะปลูกนั่นเอง
จากการที่ทางเดินของน้ำแคบลงยังทำให้กิจกรรมอย่างหนึ่งของชาวบ้านหายไป นั่นคือการแข่งเรือ กิจกรรมการแข่งเรือของชาวลุ่มน้ำหมันหายไปเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว ในอดีตชาวบ้านจะเล่นแข่งเรือในฤดูกาลที่เสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวหรือฤดูกาลน้ำหลากในช่วงเดือน ๘-๙ การแข่งเรือเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานและแข่งขันกันเฉพาะหมู่บ้านใกล้เคียงกันเท่านั้น เช่น ถ้าแข่งกันที่เวิ้งน้ำบ้านนาดี จะมีบ้านห้วยปลาฝา บ้านนาหมูม่น และบ้านนาดี เข้าร่วมแข่งเป็นหลัก ส่วนของรางวัลที่ผู้ชนะจะได้ก็คือน้ำมันก๊าด ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญมาก เพราะในอดีตขณะที่ไฟฟ้ายังเข้ามาไม่ถึง ชาวบ้านต้องใช้ตะเคียงโดยมีน้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงหลักการแข่งเรือได้หายไปแต่ยังหลงเหลือหลักฐานให้อนุชนรุ่นหลักได้เห็นนั่นก็คือเรือที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่ใต้ถุนวัดนั่นเอง จำนวนเรือแข่งที่อยู่ในวัดแต่ละแห่งย่อมถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของประเพณีการละเล่นทางน้ำในอดีตก็ว่าได้
วิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำหมันได้แปรเปลี่ยนตามกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการติดต่อจากโลกภายนอกสร้างผลกระทบในระยะยาวทั้งเรื่องทำมาหากิน ระบบนิเวศ ที่อยู่อาศัยประเพณีและวิถีชีวิต ร่องรอยของระบบนิเวศที่เคยสมบูรณ์กลับกลายมาเป็นดังเช่นในปัจจุบัน คำถามคือ คนลุ่มน้ำหมันแห่งเมืองด่านซ้ายจะปรับตัวและขบคิดถึงปัญหาเหล่านี้อย่างไร
บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๗๘ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๕๒)