หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
รอยเงาเชิดไหว...ก่อนมีหนังใหญ่กรุงสยาม
บทความโดย ปกรณ์ คงสวัสดิ์
เรียบเรียงเมื่อ 13 ก.พ. 2559, 14:39 น.
เข้าชมแล้ว 6407 ครั้ง

การเล่นหนังเงาของไทยเช่นหนังใหญ่ถือเป็นการละเล่นที่เก่าแก่ ปรากฏหลักฐานในกฎมนเทียรบาลเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๑กล่าวถึงการเล่นหนังใหญ่ไว้ว่าเป็นมหรสพที่เป็นที่นิยมของชาวกรุงศรีอยุธยา

 

แต่ก่อนหน้านั้น หนังเงามีการเชิดไหวมาเนิ่นนานเป็นที่แพร่หลายทั่วไป จากหลักฐานเบื้องต้นที่พบเป็นไปได้ว่าหนังเงามีต้นกำเนิดในแถบเอเชีย เพราะมีการค้นพบศิลปวัตถุเก่าแก่ที่คาดว่าน่าจะเป็นหุ่นเงาในประเทศต่างๆ เช่น  จีน  อินเดีย มลายู เป็นต้น การเล่นหุ่นเงาหนังไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มประเทศแถบเอเชียเท่านั้น หากยังพบไปทั่วโลก

               

ปฐมบทหนังเงา

หลักฐานที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดของการชักหุ่นเงาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ในรัชสมัยราชวงศ์ซุ่ง มีภาพเขียนและบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงหนังเงา ส่วนใหญ่มักแสดงในวรรณกรรม เช่น สามก๊กพ่อค้าวานิช เป็นต้น

 

หนังเงาของชาวจีนได้แบ่งความนิยมของการแสดงออกเป็นภาคต่างๆ เช่น ทางตอนเหนือของจีนนิยมแสดงเกี่ยวกับวีรบุรุษและบุคคลสำคัญ ส่วนทางตอนใต้มักแสดงเกี่ยวกับการกำเนิดของพุทธศาสนา

 

ในอดีตหุ่นเงาของจีนทำมาจากผ้าไหมหรือผ้าแพร วาดแล้วตัดเป็นรูปร่างต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้หนังสัตว์ นิยมทำมาจากหนังแพะ เพราะทนทานมากกว่าหนังชนิดอื่นๆ ในส่วนขั้นตอนการทำหุ่นเงาของจีนนั้น เริ่มจากนำหนังไปตากแห้งก่อนแล้วขูดลอกขนออกจนแผ่นหนังโปร่งแสง จากนั้นตัดหนังให้เป็นรูปร่างแล้วฉลุหนังเป็นลวดลายตามที่ต้องการ  ลงสีตกแต่งถือเป็นอันเสร็จสิ้น

 

นอกจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีวัฒนธรรมการเชิดหนังเงาแล้ว ในดินแดนชมพูทวีปอย่างแถบประเทศอินเดีย ก็มีหลักฐานของหนังเงาเก่าแก่ไม่แพ้กัน สันนิษฐานว่าน่าจะมีการแสดงหนังใหญ่ก่อนพุทธกาล ทั้งนี้เพราะพระไตรปิฏกหมวดที่ว่าด้วยเรื่องมหาศีล พระพุทธองค์ได้ห้ามพระภิกษุดูการละเล่นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การเชิดชักเล่นหนังเงา การเชิดหนังเงามีที่มาจากการขับโศลกบูชาเทพเจ้าในอินเดียโบราณ หรือเป็นการบวงทรวงพระศิวะในศาสนาฮินดู โดยตัดรูปหนังเป็นรูปองค์เทพนั้นๆ แทน แล้วปักไว้ที่แท่นบูชา หรือที่เรียกว่า ฉายานาฎกะ เกิดขึ้นประมาณช่วงต้นของคริสต์ศักราช แต่การละเล่นหุ่นเงาในอินเดียมีหลายแบบ เก่าแก่และยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันมีชื่อว่าโฮลุลอมมาลาตะหุ่นเงาอินเดียยังมีเล่นกันในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นอันธระประเทศ ตัวหุ่นทำมาจากหนังแกะ เรื่องที่นิยมเล่น คือ มหาภารตะ และรามเกียรติ์

 

หนังเงาในแบบของจีน

ในอีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่าการเชิดหนังแต่แรกเริ่มมาจากชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลาง อาจมีความเกี่ยวข้องกับหนังในวัฒนธรรมตุรกี  โดยมีหลักฐานที่น่าสนใจ คือ พวกชนเผ่าเร่ร่อนนั้น ใช้ชีวิตอยู่กับการล่าและเลี้ยงสัตว์ จึงรู้จักการใช้ประโยชน์จากหนังสัตว์เป็นอย่างดี ชนเผ่าเร่ร่อนดำรงชีวิตอยู่ในกระโจมและก่อกองไฟ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นที่มาของจอหนังของชาวซิเถียน เมื่อ ๓-๔ ศตวรรษก่อนคริสตกาล จึงรู้วิธีการทำภาพเงาให้สวยงามจากแผ่นหนังสัตว์ ดังหลักฐานที่ปรากฏในบริเวณสุสานแถบเทือกเขาอัลไต ใกล้กับมองโกเลีย บริเวณเส้นทางการค้าโบราณระหว่างจีน รัสเซีย ได้พบแผ่นหนังสัตว์แผ่นหนึ่งที่มีร่องรอยถูกตัดเป็นรูปกวาง อาจเป็นการตัดออกเพื่อทำเป็นตัวหนัง

 

การทำรูปบุคคลลงบนวัสดุที่มีลักษณะแบน เช่น แผ่นหนัง กระดาษ ผ้า เปลือกไม้ อาจเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการนับถือผีของชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลาง จากหลักฐานของจีนสมัยราชวงศ์ถังได้กล่าวถึง ชาวเติร์กในเอเชียกลาง บูชารูปเทพเจ้าที่วาดขึ้นบนแผ่นผ้าและเก็บไว้ในถุงหนัง

               

หนังเงาอุษาคเนย์...ที่มาที่ไปก่อนเป็นหนังใหญ่บ้านเรา

จากหลักฐานด้านเอกสารและความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีความเห็นเกี่ยวกับที่มาของหนังใหญ่หลากหลาย ทั้งในส่วนที่เชื่อว่ารูปแบบการเล่นหนังใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากชวา  หรือแม้แต่การเล่นหนังใหญ่ของไทยได้รับอิทธิพลมาจากเขมรหรือกัมพูชา เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับหนังเงาของอุษาคเนย์มากยิ่งขึ้น จึงจะขอกล่าวถึงหนังเงาทั้งของชวา มลายูและเขมร 

 

หนังเงาชวาหรือวายัง วายัง” [Wayang]หรือเรียกเต็มชื่อว่าวายัง ปูร์วา” [Wayang Purwa] “วายัง” แปลว่า เงา”ส่วน  “ปูร์วา”แปลว่า”ความเก่าแก่”รวมกันจึงหมายถึง ความเก่าแก่แห่งศิลปะการเชิดตัวหุ่นที่ทำจากหนังให้เกิดเป็นภาพเงาบนจอผ้าแต่ในปัจจุบันคำว่าวายังมีความหมายทั่วไปว่าการแสดง”

 

ในอดีตการแสดงวายัง นอกจากหมายถึงเงาแล้ว ยังหมายรวมถึงวิญญาณของบรรพบุรุษหรือเทวดา เพราะก่อนการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วายัง เป็นการแสดงที่มีความสำคัญในการอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษ เพราะ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนชวา หัวหน้าครอบครัวจะต้องอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษเข้าร่วมในพิธีกรรมของครอบครัว เช่น พิธีแต่งงาน วิญญาณจะปรากฏตัวให้เห็นเป็นเงา และในบางครั้งก็มีความเชื่อว่าการแสดง วายัง จะช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บและขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปได้

 

หลังจากศาสนาพราหมณ์ –ฮินดูได้เข้ามายังเกาะชวาได้นำมหากาพย์อย่าง มหาภารตยุทธและรามายณะ (รามเกียรติ์) มาเผยแพร่ผ่านศิลปะการแสดงหนังเงา ภาษาที่ใช้ในการแสดง คือ ภาษาพื้นเมือง คือ ภาษาชวาองค์ประกอบการแสดงส่วนใหญ่ได้นำมาจากพื้นเมืองแม้แต่รูปตัวหนังก็เป็นรูปลักษณ์ที่คิดค้นออกแบบโดยศิลปินชวาเองไม่ว่าจะเล่นเรื่องมหาภารตยุทธ รามายณะ หรือเรื่องพื้นเมืองก็ตาม

 

บนเกาะชวาปรากฏมีการแสดงวายังหลายประเภทซึ่งแตกต่างกันทั้งในแง่เนื้อเรื่อง สาระที่นำเสนอ แบบตัวหนังดนตรีประกอบ จุดประสงค์การแสดง รวมทั้งภาษาที่ใช้ก็อาจแตกต่างกันวายังที่นิยมเล่นกันมากในชวาคือ วายังปูร์วา[Wayang Purwa]เล่นทั้งเรื่องมหาภารตะและรามายณะ (รามเกียรติ์)

 

หุ่นเงามีความสำคัญกับสังคมชาวชวา เพราะเป็นการบ่มเพาะศีลธรรมและหลักคำสอนศาสนา เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นการต่อสู่กันระหว่างความดีกับความชั่วร้าย อสูรจะถูกปราบลงได้ในตอนจบ แต่หลังจากที่ชวาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีความพยายามที่จะนำเรื่องราวและคำสอนในศาสนาอิสลามไปปรับให้เข้ากับบทแสดงแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก

 

โฉมหน้าของหุ่นเงาชวามีลักษณะ แขนเล็กยาว ตัวผอม เก้งก้าง คอยาว จมูกยาวงุ้ม รูปลักษณ์ไม่คล้ายคน เหตุที่หนังชวาทำรูปร่างหน้าตาแปลกไปมาก อาจเป็นไปได้ที่ชาวชวานับถือศาสนาอิสลาม ในคำสอนของศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติห้ามมิให้สร้างรูปเคารพหรือรูปคน 

 

ส่วนหนังมลายูคล้ายกับหนังชวา เพราะได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชวา แต่หนังเงาที่น่าสนใจ ถือเป็นการเล่นหนังอีกชนิดหนึ่ง ชาวมลายูเรียกว่า วายังเสียม”หรือหนังสยาม นิยมเล่นกันในรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ตลอดถึงนราธิวาส ยะลา ปัตตานี

 

เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของชาวชวามาสู่แหลมมลายู ได้นำศิลปะการแสดงมาเผยแพร่ ต่อมาได้พัฒนาการแสดงให้ต่างจากหนังตะลุงไทยปักษ์ใต้ หนังตะลุงปักษ์ใต้ใช้รูปหนังขนาดพอเหมาะ ผู้ชมมองเห็นได้ถนัดและสะดวกต่อการเชิดหรือเคลื่อนไหว

 

การเจรจาของหนังมลายูเดิมใช้ภาษาชวาและมลายูโบราณ แต่ในภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นภาษามลายูท้องถิ่นเพื่อง่ายต่อการสื่อกับชาวบ้าน แต่เดิมวายังเซียมนิยมเล่นในเนื้อเรื่องเดียวกับวายัง คือ เรื่องมหาภารตยุทธ รามเกียรติ์ และอิเหนา แต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากหนังตะลุงปักษ์ใต้ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่อง จักรๆ วงศ์ๆ หรืออาจเป็นเรื่องที่ผูกขึ้นเองให้เป็นที่น่าสนใจแก่ผู้ชม

 

หนังเงาของเขมรที่มีลักษณะละม้ายคล้ายกับหนังใหญ่ของไทย

ส่วนหนังเงาในประเทศกัมพูชา แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ หนังใหญ่ เป็นการจำหลักภาพโดยการเจาะให้ทะลุบนแผ่นหนังวัวที่มีขนาดใหญ่ จัดแสดงในยามกลางคืน ใช้แสงสว่างจากแสงไฟขี้ไต้หรือแสงไฟจากไฟฟ้าเพื่อส่องให้เห็นเป็นเงา ศิลปะการแสดงหนังใหญ่สำหรับชาวกัมพูชาถือว่านี้เป็นการแสดงเพื่อสักการบูชา เพราะถือเป็นศิลปะที่แสดงเฉพาะพิธีทางศาสนาทั้งหมด อาทิ เช่น พิธีพระราชทานเพลิงศพ พิธีเผาศพบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ในบางโอกาสจะแสดงเพื่อบวงสรวงขอฝน เป็นต้น

 

หนังเงาเขมรแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ หนังขนาดกลาง หรือ หนังทาสี เป็นการสลักภาพนิ่ง โดยเจาะให้ทะลุบนหนังวัว ที่มีขนาดปานกลาง โดยใช้สำหรับการแสดงตอนกลางวัน และ หนังเล็ก หรือ อายอง เป็นการจำหลักบนหนังวัวเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดเล็ก เป็นหนังเงาจำหลักที่มีการเคลื่อนไหวแขน  ขา ได้ เป็นที่แพร่หลายอยู่ในประเทศกัมพูชา

 

กล่าวได้ว่าหนังเงามีความเป็นมายาวนาน สำหรับไทยแล้วได้รับมรดกทางวัฒนธรรมมาจากที่ใดยังคงไม่แน่ชัด แต่หนังใหญ่ที่รับเข้ามานั้น ส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสังคมไทยและได้ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง หนังใหญ่จึงไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติที่ต้องช่วยกันสืบสานงานศิลป์แขนงนี้ต่อไป มิใช่ด้วยการอนุรักษ์ที่เก็บไว้ในตู้สี่เหลี่ยมแต่หนังใหญ่ต้องได้เชิดไหวอย่างมีชีวิต  

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๘๐ (ก.ย.-ต.ค.๒๕๕๒)

หนังเงาของจีน ที่มา www.nytimes.com

หนังเงาเขมร ที่มา www.cambodianscene.com

 

อัพเดทล่าสุด 27 ก.ย. 2561, 14:39 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.