หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์
บทความโดย ปราณี กล่ำส้ม วารสารเมืองโบราณ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ย. 2546, 15:09 น.
เข้าชมแล้ว 9321 ครั้ง

 

 

ความเป็นมาของวัดสว่างอารมณ์

วัดสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ในสมัยก่อนบริเวณวัดมีชาวมอญนำสินค้ามาขายตามแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แวะพักเรือบริเวณนี้ จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านบางมอญ ทั้งๆ ที่ไม่มีชาวมอญอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดนี้ตามชื่อหมู่บ้านว่าวัดบางมอญ วัดนี้สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๙  และสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดีก็คือ หนังใหญ่

 

หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์มีความเป็นมากว่าร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งพระครูสิงหมุนีหรือหลวงพ่อเรืองเจ้าอาวาสองค์แรกเป็นผู้รวบรวมหนังใหญ่จากฝีมือช่างในสมัยอยุธยาตอนปลายไว้ และให้ช่างพื้นบ้านที่มีความรู้ด้านจิตรกรรมสร้างหนังใหญ่ไว้จำนวนมาก ตัวหนังใหญ่ส่วนหนึ่งได้จากการบริจาคเงินของมหาเพียร ปิ่นทอง ซื้อจากบ้านดาบโก่งธนู จังหวัดลพบุรี บางส่วนซื้อจากวัดตึก ซึ่งเป็นวัดอยู่ทางฝั่งตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์ และอีกส่วนหนึ่งได้จากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากผู้แสดงมหรสพในวังสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นเสียกรุงศรีอยุธยาจึงได้อพยพหนีภัยสงคราม เร่แสดงมหรสพตามที่ต่างๆ ได้นำหนังใหญ่มาถวายหลวงพ่อเรือง และยังได้ฝึกหัดการเชิด การพากย์หนังใหญ่ให้กับชาวบ้านบางมอญ จนมีชื่อเสียงสามารถถ่ายทอดความรู้สืบต่อกันมา จนถึงกำนันนวม ศุภนคร ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสร้างพลับพลารับเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ครั้งที่ท่านเสด็จเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงนั้นน้ำไหลเชี่ยวมาก ไม่มีใครสามารถสร้างได้ ท่านได้รับอาสาสร้างจนสำเร็จ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนบางมอญกิจประมวญ

 

ในยุคนั้นคณะหนังใหญ่ของขุนบางมอญกิจประมวญ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเวลาไปแสดงที่ไหนก็มีบุตรชายไปช่วยด้วยทุกครั้ง จนท่านเสียชีวิต ครูเชื้อ ศุภนคร บุตรชายคนโตเป็นผู้สืบทอดการแสดงหนังใหญ่ และฝึกสอนผู้แสดงเรื่อยมา การแสดงหนังใหญ่ต้องหยุดไปชั่วระยะหนึ่ง เนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ ๒

 

สภาพบ้านเมืองอยู่ในช่วงที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีมหรสพ ในปี ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมหนังใหญ่ที่เก็บไว้ในกุฏิวัดถูกน้ำท่วมเสียหายจำนวนมาก จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๒๕๔๓ ชาวบ้านในชุมชนมีความคิดที่จะอนุรักษ์หนังใหญ่ ซึ่งเก็บไว้ในหีบไม้ขนาดใหญ่ของวัด เนื่องจากมีคณะอาจารย์ภาควิชานาฏศิลป์วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาเข้ามารื้อฟื้นให้มีการเชิดหนังใหญ่ขึ้นอีกครั้ง กำนันฉะอ้อน ศุภนคร ได้เป็นผู้รวบรวมผู้ที่เคยเล่นหนังใหญ่มาซ้อม และนำหนังใหญ่ไปแสดงให้นักศึกษา ประชาชนชมที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้การแสดงหนังใหญ่ที่วัดสว่างอารมณ์กลับมารวมตัวอีกครั้งหนึ่ง

 

วีระ  มีเหมือน ครูพากษ์หนัง

จากการพูดคุยกับอาจารย์วีระ มีเหมือน  ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของคณะหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องโขนและหนังใหญ่ ถึงความเป็นมา บรรยากาศการเรียนรู้ การสอนของครูสมัยก่อน อาจารย์วีระ มีเหมือน เป็นชาวสวนจังหวัดนนทบุรี มีความสนใจศิลปะด้านนี้มาตั้งแต่เยาว์วัย ในช่วงที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมโรงเรียนศรีบุญญานนท์ จังหวัดนนทบุรี ทางโรงเรียนจัดให้มีการแสดงโขน ได้เชิญครูหยัด เพิ่มสุวรรณ ครูประภา เพิ่มสุวรรณ ครูประพิศ พรหมศร  มาสอนที่โรงเรียน ซึ่งทั้งสองเป็นครูโขนที่มีชื่อเสียงจากบางพลัด เรียกกันว่า คณะครูหยัด มีฉายา “หยัดเหลาเต้นเสาเป็นหลุม”เนื่องจากการฝึกโขนให้ได้ดีมีกำลังต้องยืนเอามือเท้าเสา เต้นออกกำลังกายเพื่อให้ขาแข็งแรง ซึ่งเป็นการจุดประกายให้อาจารย์วีระสนใจฝึกโขนตั้งแต่นั้นมา อาจารย์ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้นว่า

 

ครูวีระ  มีเหมือน กับลูกศิษย์

 

ตอนแรกก็ไม่คิดจะสนใจงานด้านนี้ แต่เมื่อสมัยรุ่นๆ ชอบการร้องการเต้นของครูต่างๆ ระยะเวลาการแสดงโขนจากทุ่มถึงหกทุ่มมันน้อยนิดเหลือเกิน ทำไมจึงจบเร็ว ทุกสิ่งทุกอย่างดูแล้วมันหวานซึ้งเมื่อมีการแสดงที่ไหนจะตามครู ติดสอยห้อยตามไปด้วย จนเรียกได้ว่า “ดูครูเล่นจนต้องเต้นแทนครู”

 

สมัยก่อนลูกศิษย์มักจะไปพักอยู่ที่บ้านครูผู้สอน ตี ๔ ต้องตื่นแล้วเพื่อหุงข้าว ต้มแกงให้ครูใส่บาตร ไม่ว่าจะทำอะไรพอมีเวลาว่างก็ต้องเต้นเสาไปด้วย ครูสมัยก่อนไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ครูเมื่อก่อนถ้าลูกศิษย์ไปถึงแล้วนั่งคุยนั่งเล่นไม่ทำอะไรรอครูจับก็เมินเสียเถอะ ต้องขยันขันแข็ง เต้นไปเรื่อยๆ แล้วครูจะเข้ามาจับเข้ามาสอนเอง

 

ด้วยความอยากรู้อยากลอง บวกกับพรสวรรค์ส่งผลให้อาจารย์วีระเชี่ยวชาญทั้งเรื่องโขนและหนังใหญ่ โดยเฉพาะการพากย์หนังใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความจำปฏิภาณไหวพริบ ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะทำได้

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ด้วยวัย ๖๐ ปี อาจารย์วีระเดินทางไปพากย์หนังใหญ่ทั่วสารทิศทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งสาธิตการผลิตตัวหนังใหญ่ สาธิตการแสดงตามสถานการศึกษาต่างๆ แล้วแต่ใครจะหาไปแสดง จำนวนหนังใหญ่ร้อยกว่าตัวที่บ้านอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทองยังน้อยเกินไป อาจารย์ตั้งใจไว้ว่าชีวิตนี้จะผลิตตัวหนังใหญ่ให้ได้ถึง ๖๐๐ ตัว และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าต้องการแสดงหนังใหญ่ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจารย์วีระกล่าวถึงเรื่องการแสดงหนังใหญ่อย่างสนุกสนานด้วยอารมณ์ของศิลปินโดยแท้

 

เด็กๆ แห่งวัดสว่างอารมณ์ และการสืบทอดเจตนารมณ์การเชิดหนังใหญ่

 

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์

การแสดงหนังใหญ่เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมชองชาติไว้ให้คงอยู่ ปัจจุบันทางวัดสว่างอารมณ์ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อรวบรวมตัวหนังใหญ่ทั้งของโบราณและที่ใช้ในการแสดง จัดแสดงไว้บนศาลาการเปรียญของวัด นอกจากเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของไทยให้คงอยู่แล้ว ยังช่วยหล่อหลอมความสามัคคีของผู้คนในชุมชน เด็กที่สนใจฝึกหัดการแสดงหนังใหญ่ในละแวกนั้นมีอยู่ไม่น้อย ซึ่งทั้งอาจารย์วีระ และอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็ยินดีถ่ายวิชาความรู้ทั้งการฝึกเต้น ฝึกเชิด ฝึกพากย์ ฯลฯ  การเรียนรู้ในการแสดงหนังใหญ่ได้นำคำสอนพระพุทธศาสนามาสอดแทรกแฝงคติธรรมไว้ด้วย

 

 

การดูหนังใหญ่จึงเท่ากับเราได้รับรู้ถึงคติธรรมเนื่องในพุทธศาสนา และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์จึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีเรื่องราวของหนังใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอันทรงคุณค่า แม้ว่าสถานการณ์การแสดงหนังใหญ่ในปัจจุบันดูจะไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก แต่ก็มิใช่ว่าจะห่างหายไปเสีย ทีเดียว คณะหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ยังคงรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น มีการจัดงานไหว้ครูหรือครอบครูเป็นประจำ ท่ามกลางผู้สนใจมาร่วมพิธีอย่างมากมายทั้งผู้ที่อยู่ในคณะหนังใหญ่เองและผู้ที่อยู่ในแวดวงใกล้ชิด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนรุ่นใหม่คงจะเห็นคุณค่า และมารับช่วงต่อมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าชิ้นนี้ต่อไปได้ทันท่วงที

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๔๕ (ก.ย.-ต.ค.๒๕๔๖)

อัพเดทล่าสุด 5 ต.ค. 2561, 15:09 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.