หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
‘นางเลือดขาว’ ตำนานและภูมิวัฒนธรรมของคนคาบสมุทร
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ก.ค. 2554, 15:16 น.
เข้าชมแล้ว 70401 ครั้ง

‘นางเลือดขาว’ ตำนานและภูมิวัฒนธรรมของคนคาบสมุทร

งานพิธีสรงน้ำ ‘เจ้าแม่อยู่หัว’ วัดท่าคุระ ต.คลองรี อ.สะทิงพระ

จังหวัดสงขลา

 

          ‘นางเลือดขาว’ คือ ตำนานเรื่องเล่าสืบต่อกันมาที่ผูกพันกับสถานที่สำคัญและประเพณี พิธีกรรมตามท้องถิ่นต่างๆบริเวณคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล บอกเล่าปากต่อปากแพร่กระจายในเรื่องเล่าที่เหมือนและต่างกัน จนกลายเป็นตำนานท้องถิ่นในแถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพรสงขลา ตรัง ภูเก็ต และไปจนถึงเกาะลังกาวี ประเทศในมาเลเซีย จนมีผู้รู้ในท้องถิ่นรวบรวมเขียนลงบน ‘หนังสือเพลา’

 

              เพลา หรือ หนังสือเพลา หมายถึง สมุดข่อยหรือสมุดโผจีนเย็บสมุดแบบฝรั่ง และจารเรื่องราวของวัด ตำนาน สถานที่ พระกัลปนาวัด หรืออาจเป็นสมุดพระตำราหรือเพลาพระตำราซึ่งพระมหากษัตริย์พระราชทานสำหรับวัดนั้น ๆ คนทั่วไปจะนำหนังสือเพลาหรือกัลปนาวัดมาอ่านโดยพละการไม่ได้ ผู้ที่อ่านได้คือผู้ที่ถือเพลาหรือผู้รักษาเพลาเท่านั้น 

 

             การอ่านเพลา ผู้อ่านต้องนุ่งขาวห่มขาว เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม ก่อนอ่านจะต้องจำลองรูปช้างเผือกขึ้นมา แล้วให้ผู้ถือเพลานั่งอ่านเพลาบนหลังช้าง  การเก็บรักษาหนังสือเพลา นิยมเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถป้องกันมดปลวกได้ดี ดูแลรักษาง่าย และสามารถสะพายติดตัวได้สะดวก

  

            เนื้อหาหลักของการบอกเล่าในตำนานนางเลือดขาวกล่าวถึง ศรัทธาในพระพุทธศาสนาของนางเลือดขาวและกุมารผู้  สามีที่ได้สร้าง กุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาสนา พระพุทธรูป และพระมหาธาตุ ไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ มากมาย จนเกิดคำร่ำลือถึงความดีงามในศรัทธาต่อพระศาสนาของเธอ เมื่อเดินทางไปที่ใดก็มีเรื่องเล่าติดพื้นที่ในทุกแห่งที่นางเลือดขาวเดินทางไปถึงและอุปถัมภ์พระศาสนาและสาธารณูปโภคท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ

 

            ตำนานนางเลือดขาวจนถึงการเรียกชื่อนางเลือดขาวในบางท้องถิ่นว่า “แม่เจ้าอยู่หัว”หรือ “เจ้าแม่อยู่หัว” ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นพระพุทธรูปบ้าง การถือเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษในพิธีตายายย่านบ้าง แสดงออกถึงความศรัทธาล้นพ้นของชาวบ้าน รอบๆทะเลสาบสงขลาและทั้งสองคาบสมุทรถึงจากการเป็นนายกองจับช้างหรือหมอสดำซึ่งทำให้มีฐานะดีกว่าชาวบ้านทั่วไป เป็นคหบดีของท้องถิ่น แม้จะไม่ได้เป็นขุนนางหรือเจ้าผู้ปกครองก็ตาม

 

             ส่วนตำนานนางเลือดขาวที่ไปปรากฏในเกาะลังกาวี ในมาเลเซียปัจจุบัน คือ “มะซูรี” หญิงสาวจากภูเก็ตที่แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นทางแถบรอบทะเลสาบสงขลาเลยก็ตาม  แต่ก็เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีเลือดเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความบริสุทธิ์ของเธอและคำสาปที่ตกแก่ท้องถิ่น กลายเป็นความเชื่อที่แม้แต่คนรุ่นปัจจุบันก็ยังนำมาปรุงแต่งจนกลายเป็นคำสาปอาถรรพ์ของเกาะ จนกระทั่งหลังหมดคำสาปจึงพัฒนาเกาะลังกาวีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

             เวลาในตำนานมักเกี่ยวพันอยู่กับเวลาในตำนานทางศาสนาที่ย้อนกลับไปไกลโพ้น สำหรับช่วงเวลาในเพลานางเลือดขาวได้เล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงต้นพุทธกาล หลังจากสงครามที่พระเจ้าอโศกฆ่าฟันชาวชมพูทวีปจนทำให้ผู้คนในถิ่นนั้นอพยพหนีลงเรือมาตั้งบ้านเรือนในแถบคาบสมุทรเป็นอันมาก และการกล่าวถึงศักราชในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และการเกิดบ้านเมืองที่ฝั่งทะเลนอกเขตสทิงพระก่อนที่จะมีการตั้งมั่นบ้านเมืองที่พัทลุง

 

           เหตุการณ์และสถานที่ในตำนานนางเลือดขาวนั้น เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาเถรวาทที่ไปสืบมาจากลังกาได้แก่ การตั้งมั่นพระศาสนาวงศ์ลังกาที่พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชและการสร้างพระพุทธสิหิงค์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙  ซึ่งร่วมสมัยกับศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ที่แพร่เข้าสู่บ้านเมืองภายในหัวเมืองมอญ เช่น ที่สะเทิมและเมาะตะมะ ไปสู่แคว้น “สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย”  ในช่วงพญารามคำแหงและพญาลิไท

 

           ที่พระบรมธาตุเมืองนครฯจึงได้การตั้งคณะสงฆ์เฝ้าพระบรมธาตุรูปทรงแบบลังกาทั้ง ๔ ทิศ คือ คณะกาแก้ว คณะกาเดิม คณะกาชาด และคณะการาม อีกทั้งตำนานเพื่อการกัลปนาบำรุงวัดและพระสงฆ์ท้องถิ่นในยุคต่อมาสะท้อนรูปแบบของการตั้งคณะสงฆ์เช่นนี้ไปในบ้านเมืองที่ตั้งมั่นคงแล้ว เช่น ในลุ่มทะเลสาบสงขลา การไปสืบทอดพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์โดยการอัญเชิญพระบรมธาตุ การไปนมัสการพระเขี้ยวแก้วโดยพระสงฆ์และคณะผู้มีจิตศรัทธาแรงกล้าในเขตคาบสมุทร ถือเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลงมา มาจนกลายเป็นคณะป่าแก้วขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง

 

           เหตุการณ์และสถานที่ในตำนานยังปรากฏเป็นชื่อบ้านนามเมืองตลอดจนการบอกเล่าสืบทอดแบบมุขปาฐะอยู่ตลอดมาและสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้สถานที่ต่างๆ สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ การบอกเล่าเส้นทางเดินทางสมัยโบราณซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมแบบป่าเขาที่มีการล้อมจับช้างป่ามาเป็นช้างใช้งาน เป็นการสร้างฐานะและอำนาจบารมีให้กับนายกองส่วยช้างผู้ทรงภูมิรู้จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของสังคมในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบ ซึ่งการทำมาหากินและการนับถือผู้ที่ปฏิบัติงาม ประพฤติชอบ สนับสนุนสืบทอดพระพุทธศาสนา เกียรติยศตามคำร่ำลือดังกล่าว เมื่อไปปรากฏที่ใดก็มีแต่ผู้คนสรรเสริญและบันทึกไว้ในความทรงจำจนกลายเป็นคำบอกเล่าสืบต่อเรื่อยมา

 

          สิ่งที่น่าสนใจใน ตำนานนางเลือดขาวคือ การสะท้อนถึงภูมิวัฒนธรรมของเส้นทางการเดินทางติดต่อกับบ้านเมืองต่างๆสมัยโบราณในคาบสมุทรสยาม-มลายูทั้งสองฝั่งทะเล ตลอดจนถิ่นที่อยู่ ผู้คน ญาติวงศ์และความศรัทธาในศาสนา โลกทัศน์ดังกล่าวนี้ หากวิเคราะห์ค้นหาความหมายจะช่วยให้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจความเป็นมาและการปรับตัวของมนุษย์เข้ากับสภาพภูมิศาสตร์แวดล้อม เข้าใจสังคม ขนบประเพณีในแถบคาบสมุทรรอบทะเลสาบเมื่อครั้งแรกเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเป็นเมืองจากตำนานดังกล่าว

 

‘นางเลือดขาว’ กับตำนาน

          ตำนานนางเลือดขาวมีทั้งการบอกเล่าแบบมุขปาฐะและการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องเล่าของชาวบ้านในหลายพื้นที่สะท้อนความผูกพันกับสถานที่ที่สำคัญและประเพณีพิธีกรรมตามท้องถิ่นบริเวณคาบสมุทรทั้งสองฝั่งทะเล

 

          เรื่องเล่าถึงนางเลือดขาวมักมีโครงเรื่องที่คล้ายกัน แต่แตกต่างในรายละเอียดที่เกี่ยวโยงกับสถานที่หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้นๆ กลายเป็นตำนานท้องถิ่นในแถบจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา ตรัง ภูเก็ตไปจนถึงเกาะลังกาวี ในประเทศมาเลเซีย

 

           ส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร เรียกชื่อหลายอย่าง เช่น “เพลา”  “ตำรา”  หรือ “พระตำรา” ซึ่งรวบรวมไว้ในชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา” แต่มีสำนวนแตกต่างกันเพราะมีการคัดลอกต่อกันมาหลายฉบับ ถือเป็นเอกสารที่มีการลงตราประทับเพื่อยืนยันเอกสิทธิ์ที่ท้องถิ่นต่างๆ โดยได้รับจากการเป็น “ข้าพระโยมสงฆ์” หรือ “ข้าโปรดคนทานพระกัลปนา” โดยพระมหากษัตริย์พระราชทานเพื่อดูแลรับใช้วัดในท้องถิ่นนั้นๆ “โดยไม่ควรมีผู้ใดใครแม้จะเป็นขุนนางหรือเจ้าเมืองล่วงละเมิดถือสิทธิ์เพื่อประโยชน์ในชาวข้าพระส่วนตนมิได้ และในกาลต่อมา”

 

          เพลาหรือพระตำราต่างๆถูกส่งทอดเก็บรักษาไว้ในชุมชนต่างๆ คนทั่วไปจะนำหนังสือเพลาหรือกัลปนาวัดมาอ่านโดยพละการไม่ได้ ผู้ที่อ่านได้คือผู้ที่ถือเพลาหรือผู้รักษาเพลาเท่านั้น การอ่านเพลา ผู้อ่านต้องนุ่งขาวห่มขาว เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในศีลธรรม จนเมื่อระบบการกัลปนาเริ่มหายไปจากสังคม ชาวบ้านผู้รักษานั้นก็ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ตามที่เคยปฏิบัติมา เช่น ห้ามฝ่ายหญิงแตะต้อง หากจะนำมาเปิดต้องเป็นผู้ชายผู้เป็นที่เคารพ ในปัจจุบันชาวบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากผู้รักษาเพลาในอดีตยังคงมีการจัดพิธีสมโภชเพลา หรือ “สมโภชทวดเพลา” ในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี

 

          ที่ถือว่าเป็นสำนวนสำคัญคือ ‘เพลานางเลือดขาว’ จากวัดเขียนบางแก้ว ที่ถูกนำมาเขียนขึ้นใหม่ในพงศาวดารเมืองพัทลุงเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา (พงศาวดารเมืองพัทลุง ฉบับ พ.ศ.๒๔๖๐) ต้นฉบับจากวัดเขียนบางแก้วนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ นำไปเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดวชิรญาณ หรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติในปัจจุบัน

 

          เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว เป็นกระดาษเพลาจารหรือเขียนด้วยเส้นดินสอดำ อักษรไทยย่อและอักษรขอมภาษาไทย จำนวน ๓๐ หน้า ๑๗๑ บรรทัด ใช้คำประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว น่าจะเริ่มบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา เพราะพระครูอินทเมาลี เจ้าคณะป่าแก้ว ได้บูรณะวัดเขียนบางแก้ว วัดสทังและวัดสทิงพระ ช่วง พ.ศ.๒๑๐๙-๒๑๑๑ และคงมีการคัดลอกต่อกันมาอีกหลายฉบับ จนฉบับสุดท้ายราว พ.ศ.๒๒๗๒ ในรัชสมัยพระเพทราชา ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันเนื้อหาแบ่งออกเป็นสองตอนคือ เล่าเรื่องนางเลือดขาวช่วงหนึ่งและตำนานพระราชูทิศของพระมหากษัตริย์ การกัลปนาอุทิศที่ดินไร่นา ถวายข้าพระโยมสงฆ์ให้เป็นประโยชน์ของวัดอย่างเด็ดขาดเรื่องหนึ่ง

 

         เนื้อเรื่องกล่าวถึงเมืองพัทลุง เริ่มจากมีบ้านเมืองทางฝั่งตะวันออกฝั่งสทิงพระชื่อ “กรุงสทิงพาราณศรี” เจ้าเมืองชื่อพระยากรงทองมีตาสามโมกับยายเพชร สองสามีภรรยาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลปละท่า ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา บริเวณบ้านพระเกิด อำเภอปากพะยูนทุกวันนี้ เป็นหมอสดำหรือนายกองส่วยช้าง ต้องจับช้างส่งส่วยพระยากรงทองปีละเชือก

 

          วันหนึ่ง หมอช้างสองคนผัวเมียไปเจอเด็กทารกที่เกิดในกระบอกไม้ไผ่ เด็กชายได้จากไม้ไผ่เสรียง มีเลือดสีเขียว ขาว เหลือง ดำ แดง ส่วนเด็กหญิงได้จากไม่้ไผ่ตงเลือดสีขาวจึงเรียกกันว่านางเลือดขาว หมอช้างนำเด็กทั้งสองมาเลี้ยงจนโตได้แต่งงานอยู่กินกันสืบต่อมา หลังจากที่ตายายหมอช้างตายก็นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ เมืองพัทลุงปัจจุบันนี้

 

            นางเลือดขาวและกุมารได้มรดกเป็นนายกองช้างแทนตาสามโมและยายเพชร มีฐานะดีมากขึ้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “พระเกิด”และเป็น“ที่คช”  ต่อจากนั้นก็อพยพผู้คนมาอยู่ที่ “บางแก้ว” สละทรัพย์สร้างพระพุทธรูปและพระอุโบสถไว้ที่วัดสทังและวัดเขียนบางแก้ว สร้างพระมหาธาตุที่วัดสทิงพระร่วมกับพระยากรงทองในเวลาเดียวกัน 

 

            ทั้งนางเลือดขาวและพระกุมาร ได้จาริกแสวงบุญไปอีกหลายเมือง เช่น ที่เมืองตรังและนครศรีธรรมราชเมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น เช่น เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง  สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม) วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ เป็นต้น

 

             ความใจบุญของนางร่ำลือไปถึงกรุงสุโขทัย มีรับสั่งให้นำตัวนางเลือดขาวเข้าไปอยู่ในวัง แต่บังเอิญนางตั้งครรภ์เสียก่อนจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนม ต่อมาเมื่อนางเลือดขาวคลอดกุมารแล้ว เจ้ากรุงสุโขทัยขอกุมารนั้นไว้ นางจึงทูลลากลับมาอยู่กับกุมารผู้สามีดังเดิมจนถึงแก่กรรมเมื่อวัยชรา ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้กลับมาเป็นคหบดี อยู่ที่บ้านพระเกิด เมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย เพราะสักแบบทางเมืองเหนือไปถึงคอ

 

             เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้วยังมีต่อ เล่าว่าเมื่อเวลาผ่านไปกว่าพันปี วัดวาอารามต่างๆที่นางเลือดขาวสร้างไว้ก็ทรุดโทรม และกล่าวถึง “เจ้าอินท์” ชาวบ้านวัดสทัง ที่ต่อมาเป็น “พระครูอินทเมาลี” ผู้ดูแลวัดต่างๆ ในเขตรอบทะเลสาบ นครฯ ไปจนถึงเมืองตรัง และกล่าวถึงการกัลปนาที่ดิน ผู้คน สิ่งของให้แก่วัดต่างๆ

 

             ตำนานนางเลือดขาวถือเป็นหลักฐานจากคำบอกเล่าถึงผู้ประพฤติตนดีงามและบำรุงพุทธศาสนา จนชื่อเสียงร่ำลือทั่วไปตลอดบ้านเมืองในคาบสมุทรและหัวเมืองใหญ่ในพระนครในยุคที่แรกตั้งบ้านเมืองริมฝั่งทะเลและมีชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา เมื่อเขียนบันทึกขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็เห็นความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนาที่ตั่งมั่นอย่างมั่นคงในบ้านเมืองรอบทะเลสาบ และสัมพันธ์กับอำนาจที่ศูนย์กลางคือกรุงศรีอยุธยาซึ่งได้อุทิศข้าพระกัลปนาผู้คนไม่ต้องส่งส่วยเกณฑ์แรงงาน เพื่อไว้เป็นเครื่องยืนยันว่าคนจะปฏิบัติรับใช้วัดสำคัญๆและในท้องถิ่นต่างๆ ต่อไป

 

             ประเด็นที่สำคัญจากเนื้อหาตำนานนางเลือดขาว คือ เมื่อนางเดินทางไปถึงท้องถิ่นต่างๆ จะมีเรื่องเล่าติดที่เกี่ยวพันกับนางเลือดขาวแตกต่างกันไปจนทำให้สามารถประติดประต่อร่องรอยของเส้นทางเดินทางสมัยโบราณทั้งทางบกและทางน้ำ มองเห็นบ้านเมืองในระยะใกล้เคียง หรือแม้แต่การเดินทางข้ามภูมิภาคในระหว่างสองฝั่งทะเลอย่างชัดเจน อีกทั้งยังทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยนาสวน ป่าเขา และการจับช้างที่มีวิชาจะเป็น ‘นายกองส่วย’ ซึ่งจะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีและเป็นที่เกรงใจจากอำนาจแบบทางการหรือรัฐอีกด้วย

 

‘แม่เจ้าอยู่หัว’ ในตำนานหลากท้องถิ่น

            ตำนานเนื้อเรื่องหลักใกล้เคียงกับตำนานนางเลือดขาวจากวัดเขียนบางแก้วที่พัทลุง แพร่กระจายไปหลายแห่ง เช่น ที่เมืองนครศรีธรรมราช ภูเก็ต ตรัง เป็นต้น

 

            นางเลือดขาวในตำนานหนึ่งคือมเหสีเอกของ ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช’ มีตำแหน่งเป็น “แม่อยู่หัว”เป็นบุตรีของคหบดีย่านบ้านป่อล้อ ปัจจุบันอยู่ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ เป็นหญิงที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะเบญจกัลยาณี อุปนิสัยเยือกเย็น สุขุม มีเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีจิตใจเป็นกุศล ชอบการทำบุญทำทาน ช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลต่างๆ   

 

            เล่ากันว่าสาเหตุที่มีพระนามว่า "พระนางเลือดขาว" เนื่องด้วยโลหิตที่ไหลจากดัชนีนางของนางเมื่อคราวไปช่วยงานบวชนาคครั้งยังไม่ได้เป็นพระมเหสีเอกนั้น แทนที่จะเป็นสีแดงกลับเป็นสีขาว เมื่อเข้าวัยกลางคนก็ยังไม่มีโอรสธิดา จึงทูลลาออกจากตำแหน่งและสร้างบุญกุศลอุทิศบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างวัดขึ้นมากมายทั่วเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่จะสร้างทับลงในบริเวณที่เป็นเทวาลัยเก่าของศาสนาพราหมณ์ เช่น วัดแม่เจ้าอยู่หัวที่บ้านเกิดในอำเภอเชียรใหญ่ วัดเขาพระทอง อำเภอชะอวด วัดถ้ำเขาแดง อำเภอร่อนพิบูลย์ วัดสระโนราห์ อำเภอทุ่งสง วัดพระนางที่ อำเภอท่าศาลา วัดนางตรา มาจากที่วัดนี้อยู่ใกล้แม่น้ำท่าสูง ในฤดูฝนน้ำจะท่วม นางจึงสั่งให้สร้างทำนบกั้นน้ำหรือพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดพะนังตราหรือวัดนางตรา

 

            ตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นมักจะมีรายละเอียดที่สัมพันธ์กับสถานที่และสภาพแวดล้อมที่ผู้คนในพื้นที่นั้นๆ อยู่อาศัยเสมอ เช่น เรื่องที่ชาวบ้าน คลองฆ้อง (คลองฆ็อง) ซึ่งเคยเป็นคลองลึกและยาวผ่านอำเภอเฉลิมพระเกียรติไปจนถึงอำเภอร่อนพิบูลย์ สมัยก่อนมีเรือยนต์และเรือหางยาวรับผู้คนโดยสารและแม่ค้าแล่นผ่านวัดเป็นประจำ คนขับเรือทุกคนถือเป็นประเพณีว่า เมื่อขับเรือผ่านหน้าวัดจะชลอเครื่องเรือเพื่อสักการะต่อแม่เจ้าอยู่หัวและเพื่อขอพรให้ปลอดภัย ทำมาค้าขึ้น แม่ค้าผ่านไปไม่ชลอเครื่อง ไม่เคารพสักการะแม่เจ้าอยู่หัว มักจะเกิดเหตุร้าย เช่น เรือล่ม สิ่งของเสียหาย บางครั้งถึงแก่ชีวิต

 

            ส่วนตำนานนางเลือดขาวที่เกี่ยวกับเมืองภูเก็ตนั้นเล่ากันว่า นางเลือดขาวเป็นมเหสีของเจ้าเมืองหนึ่งแต่ถูกเสนาบดีใส่ร้ายว่ามีชู้กับมหาดเล็กจึงถูกให้ประหารชีวิต แม้ว่าพระนางจะแสดงความบริสุทธิ์อย่างไรก็ไม่เป็นผล นางจึงขอร้องว่า ก่อนตายขอให้ได้เดินทางไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ลังกา ระหว่างทางในทะเลพบภัยอันตรายต่างๆแทบเอาชีวิตไม่รอด จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าหากมีบุญวาสนาได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุอย่างที่ตั้งใจกลับมาจะสร้างวัดก่อนที่จะรับโทษทัณฑ์ ในที่สุดก็ไปถึงลังกา ขากลับแวะที่เกาะภูเก็ต เห็นเป็นชุมชนมีผู้คนอาศัย จึงสร้าง “วัดพระนางสร้าง” ขึ้นเป็นแห่งแรก พร้อมทั้งปลูกต้นประดู่และต้นตะเคียนไว้เป็นเครื่องหมาย เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตน จึงได้รับข่าวการสูญเสียพระสวามีในการแย่งชิงราชสมบัติภายในเมือง นางจึงคิดจากไปโดยตั้งใจว่า ชีวิตที่เหลือจะสร้างวัดให้มากเท่าที่จะทำได้ แต่ยังไม่ทันหนีก็ถูกเจ้าเมืองใหม่จับไปประหารชีวิตเสียก่อน เลือดของนางที่ไหลออกมาเป็นสีขาวจึงเป็นที่มาของชื่อ ”นางเลือดขาว” 

 

           ตำนานที่เกาะภูเก็ตนี้มีเค้าโครงคล้ายคลึงกับตำนาน “นางมะซูรี” ที่เกาะลังกาวี เพียงแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาของเจ้าเมืองชาวมุสลิมและนางมะซูรีผู้เป็นคนภูเก็ตเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงที่มีเลือดเป็นสีขาว

 

           นอกจากนี้ยังมีตำนานนางเลือดขาวที่บ้านท่าคุระ ในตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เล่ากันว่า นางเลือดขาวกับกุมารสามีไปเที่ยวเมืองสทิงพาราณสีทางเรือ โดยขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทองหรือบ้านท่าคุระในปัจจุบัน แล้วสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งคือ วัดท่าคุระและประดิษฐานพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ๑ องค์ ตามตำนานว่า หล่อขึ้นที่วัดท่าคุระ ตรงกับวันพุธแรกของเดือน ๖ ข้างแรม ซึ่งวันนี้ชาวบ้านท่าคุระถือเป็นวันรวมญาติ ชาวบ้านท่าคุระและผู้ที่ย้ายภูมิลำเนาไปยังถิ่นอื่นจะกลับมาชุมนุมพร้อมกันเพื่อร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เป็นวันชุมชาติหรือชุมนุมญาติ แสดงความกตัญญูต่อเจ้าแม่อยู่หัว ทำพิธีแก้บนต่างๆตามที่ได้บนไว้ การแก้บนที่นิยมทำคือ บวชพระ บวชสามเณร หรือบวชชีถวาย นอกจากนี้ยังมีการถวายข้าวตอก ดอกไม้ ปัจจัยไทยทาน หรือ “รำโนราถวายมือ”  

 

บรรยากาศงานชุมนุมรวมญาติที่วัดท่าคุระ และการรำโนราถวายมือแก่แม่เจ้าอยู่หัว

 

           การแสดง “โนรา” มาจากการที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นการแสดงที่เจ้าแม่อยู่หัวโปรดปรานเป็นพิเศษ ในงานประเพณีตายายย่านทุกปีจะต้องมีการรำโนราโรงครู ต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืน เริ่มวันพุธไปสิ้นสุดวันศุกร์ แต่งานประเพณีตายายย่านจะเสร็จตอนบ่ายวันพฤหัสบดี ส่วนชาวบ้านที่รำแก้บนเพียงแต่รำเป็นพิธีเช่น บนว่ารำเป็นตัวใดก็ให้รำตัวนั้น คนละท่าสองท่ามีธรรมเนียมของชาวบ้านท่าคุระว่าว่า ลูกชายหัวปีของครอบครัวและมีอายุเกิน ๑๔-๑๕ ปี ต้องทำขนมโคมาถวายวัดและเลี้ยงญาติมิตร แต่ถ้าเป็นลูกสาวคนหัวปีต้องทำขนมพองหรือขนมลา หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าแม่อยู่หัวจะให้โทษถึงเป็นบ้า ง่อยเปลี้ยพิกลพิการ หรือประสบทุกข์ต่างๆ

 

           ตำนานนางเลือดขาวจึงกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ที่ยังเล่าลือถึงความดีงาม ความใจบุญมีกุศลในการบำรุงศาสนาของหญิงผู้มีบุญ โดยเปรียบเทียบความดีความบริสุทธิ์ของเธอกับการมีเลือดเป็นสีขาวแตกต่างจากผู้อื่น จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆตลอดทั่วคาบสมุทรภาคใต้ตอนกลางทั้งสองฝั่งทะเลทีเดียว

 

ประวัติศาสตร์เมืองพัทลุง

 

          ภูมิประเทศแบบคาบสมุทรที่มีเทือกเขาเป็นแนวกั้นกลาง ทางฝั่งอ่าวไทยมีชายทะเลทอดยาวตั้งแต่บริเวณเมืองนครไปจนจรดสงขลาในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ มีปากน้ำหรือเส้นทางน้ำที่ติดต่อกับแผ่นดินภายในและทะเลสาบอันจะใช้ผ่านหรือเดินทางไปสู่แนวทิวเขา หากเดินทางข้ามผ่านช่องเขาไปก็จะไปสู่ชายทะเลทางฝั่งอันดามันที่มีท่าเรือทางฝั่งทะเลเมืองตรังที่สามารถติดต่อได้เมืองท่าหรือสถานีการค้าชายฝั่งอันดามันหรือไปยังชมพูทวีป ทำให้บริเวณนี้มีการตั้งถิ่นฐานมาแต่โบราณสืบเนื่องจากการค้าทางทะเลทั้งสองฝั่งมหาสมุทรและรับอิทธิพลทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมแรกเริ่มจากอินเดีย

 

         ภูเขาหินปูนซึ่งมีโพรงถ้ำ ทั้งฝั่งสทิงพระและเขาในพัทลุง พบหลักฐานเป็นพระพิมพ์แบบมหายาน อายุตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จนถึง ๑๖-๑๗ ซึ่งร่วมสมัยกับสหพันธรัฐศรีวิชัยและฮินดูในยุคหลัง เช่น ที่ถ้ำเขาคูหาบริเวณใกล้กับเขาพะโคะ

 

        บริเวณเมืองพัทลุงตั้งอยู่บนที่ราบใกล้ชายฝั่ง มีเขาหินปูนลูกโดดตั้งแต่เขาชัยสน เหนือขึ้นไปในอำเภอเมืองคือ เขาคูหาสวรรค์ เขาอกทะลุ ไปจนถึงเขาชัยบุรีทางตอนเหนือ บริเวณที่ราบดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ เพราะปลูกทำนา ทำสวนได้ผลดีและกลายเป็นบ้านที่เริ่มเป็นปึกแผ่นมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในช่วงที่พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่าและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นแพร่เข้ามาสู่บ้านเมืองในเขตนี้  มีหลักฐานที่กล่าวถึงในตำนานนางเลือดขาวเกิดเมืองที่ฝั่งสทิงพระคือเมืองสทิงพาราณสี

 

ที่ราบระหว่างแนวเทือกเขาและทะเล เหมาะแก่การทำนา พัทลุงจึงกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของหัวเมืองปักษ์ใต้ 

 

 

พระบรมธาตุ วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง

 

 

          เมืองพัทลุงเป็นเมืองต่อช้างป่าและเลี้ยงช้างส่งส่วย จึงสันนิษฐานกันว่า ชื่อ “พัทลุง” นั้น น่าจะมาจากคำว่า “เสาตลุง” ซึ่งเป็นเสาไว้ล่ามช้างนั่นเอง

 

          การสร้างชุมชนที่ชายฝั่งพัทลุงและฝั่งสทิงพระให้ความสำคัญกับพระสงฆ์และวัดเป็นอย่างมากจนเกือบไม่เห็นบทบาทของเจ้าเมืองนัก คณะสงฆ์ของเมืองพัทลุงนี้เลียนแบบคณะสงฆ์รักษาพระธาตุที่พระบรมธาตุเมืองนครฯ คือมีคณะสงฆ์ กาแก้ว กาเดิม กาชาดและการาม แต่ในพัทลุงปรากฏเพียงคณะกาแก้ว ปกครองทางฝั่งวัดเขียน วัดสทัง ส่วนคณะกาชาดปกครองทางฝั่งพะโคะ สทิงพระ ซึ่งปรากฏชัดในช่วงรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิลงมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากหลักฐานเรื่องการกัลปนาผู้คน สิ่งของและที่นาให้กับวัดต่างๆ โดยมีพระบรมราชูทิศตรงมาจากราชสำนักในกรุงศรีอยุธยาโดยไม่ต้องขึ้นกับอำนาจที่เมืองนครฯ ซึ่งทำให้เกิดความบาดหมางกับผู้ปกครองท้องถิ่นเช่นกัน

 

         ในช่วงนี้ปรากฏมีโจรสลัดเข้ามาปล้นเมือง เผาพลาญวัดวาอารามหลายครั้ง เมื่อฟื้นบ้านเมือง การกัลปนาทำให้ผู้คนเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นและทำให้ผู้นำ เช่นพระสงฆ์มีบทบาทมากกว่าผู้ปกครองเมืองที่เป็นฆารวาส ในช่วงนี้มีผู้ปกครองที่มีบารมีมากคือหลวงพ่อทวดแห่งวัดพะโคะที่ลือเลื่องไปถึงชุมชนชาวพุทธในเขตหัวเมืองมลายูมุสลิม เช่น ที่วัดช้างไห้ ปาตานี ในกลันตัน เป็นต้น บริเวณวัดพะโคะถูกเรียกว่าเป็น “เมืองพะโคะ” ศูนย์กลางของชุมชนในฝั่งวัดเขียนจึงน่าจะโยกย้ายมาทางฝั่งสทิงพระในระหว่างนี้ ส่วนเมืองสงขลานั้นเกิดขึ้นโดยเอกเทศตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททองลงมา และสัมพันธ์กับพ่อค้าชาวต่างแดน เช่น ชาวอิสลามเปอร์เซีย หรือพ่อค้าจีนเป็นเจ้าเมืองในยุคหลังๆ

 

         ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรับสั่งให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) เชื้อสายสุไลมานเป็นเจ้าเมืองพัทลุงโดยตำแหน่งนี้เป็นแม่ทัพเรือของราชสำนักอยุธยา จึงน่าจะเป็นเรื่องการรับมือจากการรุกรานของโจรสลัดและการมีอำนาจของเมืองมลายูมุสลิมเช่น ปัตตานี

 

วัดและแนวกำแพงเมืองเก่าที่เขาไชยบุรี ศูนย์กลางเมืองพัทลุงเดิม มีลักษณะการตั้งเมืองคล้ายปราการหลบภัย ภายหลังจึงย้ายไปบริเวณตำบลลำปำ ซึ่งใกล้กับชายทะเลมากกว่า

 

พระยาราชบังสัน (ตะตา) ได้เลือกตั้งเมืองที่ “เขาไชยบุรี” ซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งพอประมาณ สภาพแวดล้อมเสมือนเป็นที่หลบภัยมากกว่าเมืองทางการค้า เพราะมีภูเขาโอบล้อม อีกทั้งมีกำแพงเมืองชั้นในอีกชุดหนึ่ง เมืองพัทลุงที่เขาไชยบุรีนี้เป็นเมืองพัทลุงแห่งสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเจ้าเมืองพัทลุงยุคนี้เป็นต้นตระกูลของเจ้าเมืองพัทลุงในยุคกรุงเทพฯ ต่อมา

 

 

วังเจ้าเมืองพัทลุงที่ลำปำ 

 

           ในสมัยกรุงเทพฯมีการย้ายเมืองพัทลุงจากเขาไชยบุรีมาอยู่ที่ลำปำ ซึ่งมีทั้งวังเจ้าเมืองและวัดบางแห่งเป็นสัญลักษณ์ เติบโตเป็นชุมชนเมืองกินบริเวณตั้งแต่ชายฝั่งทะเลหลวง ปากคลองลำปำไปจนถึงเขาอกทะลุและเขาคูหาสวรรค์ ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟ ศูนย์กลางของเมืองและการค้าจึงย้ายมาอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขาทั้งสองแห่งในภายหลัง

               

พุทธศาสนาและการกัลปนาจากตำนานนางเลือดขาว

           พระพุทธศาสนาในตำนานนางเลือดขาวหลายท้องถิ่นสะท้อนถึงอิทธิพลพุทธเถรวาทลังกาวงศ์ที่เข้ามาตั้งมั่นที่เมือง นครศรีธรรมราชตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ อย่างชัดเจน และแม้ในตำนานจะกล่าวถึงอิทธิพลของพระเจ้าแผ่นจากสุโขทัย แต่ในความเป็นจริงคงมีอิทธิพลมาไม่ถึงบ้านเมืองทางคาบสมุทร

 

           ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยได้รับอิทธิพลพุทธเถรวาทแบบลังกาวงศ์ทั้งในช่วงพญารามคำแหง และพญาลิไท ความทรงจำในทางตำนานทางศาสนาจึงน่าจะปรากฏเป็นร่องรอยอยู่ในตำนานนางเลือดขาว    

 

          ในสมัยกรุงศรีอยุธยา คณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตน คณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วหรือวัดใหญ่ไชยมงคลทุกวันนี้ แต่การปกครองคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองไชยา มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่น คือจะแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่ คณะป่าแก้วหรือคณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาติ และคณะลังกาเดิมมีตำแหน่งพระครู ๔ รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาติ และพระครูกาเดิมคำว่า "กา" มาจากคำว่าลังกา

 

         หัวเมืองพัทลุงรับแบบอย่างการปกครองคณะสงฆ์มาใช้ตามแบบเมืองนครศรีธรรมราช แต่จากตำนานนางเลือดขาวและเอกสารกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงหลายฉบับพบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหัวเมืองพัทลุงหรือแถบรอบทะเลสาบสงขลา มีศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์เพียง ๒ คณะคือ คณะกาแก้วศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา และ คณะกาชาติหรือลังกาชาติ ศูนย์กลางที่วัดพะโคะหรือวัดราษฎร์ประดิษฐ์ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ

 

           จาก “เพลานางเลือดขาวฉบับวัดเขียนบางแก้ว”ในช่วงที่ต่อเนื่องจากเรื่องราวของนางเลือดขาวยังมีพระบรมราชูทิศเพื่อการกัลปนากล่าวว่า ราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา  พระครูอินทเมาลี  ซึ่งเคยเป็นชาวบ้านตำบลวัดสทังทำความดีความชอบช่วยบ้านเมืองปราบปรามโจรสลัดจากทางปลายแหลมมลายู พระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยาจึงถวายข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนาที่ภูมิทานและเรือสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองออกมาช่วยบูรณะ วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระในช่วง พ.ศ.๒๑๐๙-๒๑๑๑ แล้วตั้งเป็นเจ้าคณะป่าแก้ว ดูแลวัดต่างๆ ในเขตหัวเมืองพัทลุงและรอบทะเลสาบ พระราชทานเอกสารตราแสดงการกัลปนาที่ดิน ผู้คน สิ่งของให้แก่วัดต่างๆ คณะป่าแก้วจึงมีศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง มีความสำคัญในการปกครองคณะสงฆ์ในแถบทะเลสาบสงขลาในสมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมา

 

           รูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ของทางฝั่งกาแก้วที่วัดเขียนฯ นอกจากมีพระครูอินทเมาลีฯ เป็นเจ้าคณะแล้วยังมีพระครูอันดับอีก ๖ รูป และมีมีขุนหมื่น สมุห์บัญชี นายประเพณีปกครองดูแลข้าพระโยมสงฆ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หมู่ข้าพระโยมสงฆ์มีสิทธิพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปไม่ต้องเสียส่วยอากร ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานจากรัฐ มีคดีความแพ่งอาญาทางวัดจะเป็นผู้ตัดสินกันเอง หากต้องทำเรือกสวนไร่นาบนที่ดินกัลปนาหรือทำงานวัดแทน เพื่อบำรุงรักษาวัดวาอารามไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม

 

           ในจำนวนเอกสารที่รวบรวมจากหัวเมืองใต้ทั้ง ๑๖ ฉบับ มีเพียงฉบับวัดเขียนบางแก้วฉบับเดียวที่เล่าเรื่องนางเลือดขาวและใช้ชื่อว่า “เพลานางเลือดขาว” ส่วนเอกสารอื่นๆ ในกลุ่มนี้มีชื่อเรียกดั้งเดิมแตกต่างกันออกไป เช่น “พระเพลาตำรา” หรือ “พระตำราพระเพลา” เนื้อหาพระตำราเหล่านี้คือ พระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาข้าพระโยมสงฆ์ วัตถุสิ่งของ ที่ภูมิทาน

 

          การกัลปนาทำให้วัดเกิดเป็นชุมชนหนาแน่น มีบ้านเรือนไร่นาขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง หากเกิดศึกสงครามหรือบ้านเมืองร้างไปเพราะโรคภัย ถือเป็นการขยายตัวของกลุ่มชนจากเล็กเป็นชุมชนใหญ่ อันเนื่องจากผู้คนที่เป็นข้าพระโยมสงฆ์ จะได้รับยกเว้นการเสียส่วยและการถูกเกณฑ์แรงงานให้กับหลวงในระดับท้องถิ่นเองหรือส่วนกลาง ทำให้เกิดอำนาจของคณะสงฆ์ในท้องถิ่นได้กลายเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมมากกว่าผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ  

 

           เอกสารซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “พระตำรา” จึงเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งต่อชุมชน  ชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องเก็บไว้  เคารพบูชา เมื่อใดที่เอกสารชำรุดเสียหาย ชุมชนก็จะแต่งตั้งตัวแทนซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพระสงฆ์เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อขอพระราชทานฉบับใหม่ โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเป็นผู้พาไปเข้าเฝ้า ซึ่งในเพลานางเลือดขาวก็ปรากฏการร้องเรียนผู้นำท้องถิ่นว่าใช้อำนาจนำเอาข้าวัดที่เคยมีมาแต่เดิมไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน จึงมีการส่งตัวแทนไปเฝ้าพระมหากษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อขอพระราชทานพระตำรายืนยันการเป็นชุมชนที่ได้รับการกัลปนามาก่อน

 

          พระตำราที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือเอกสารประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งหลักฐานแสดงยืนยันสภาพสังคมท้องถิ่นและอำนาจบารมีของคณะสงฆ์รอบทะเลสาบสงขลาที่มีต่อผู้ปกครองท้องถิ่น และมีชุมชนที่เป็นข้าพระโยมสงฆ์จำนวนมากที่ได้รับการกัลปนาจากรัฐส่วนกลางจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเป็นไพร่ส่วยหรือถูกเกณฑ์แรงงานเช่นคนในชุมชนอื่นๆ จนมีสถานะและความมั่นคงของชุมชนและบ้านเมืองรอบทะเลสาบสงขลา อีกประการหนึ่งก็เสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้รับสืบทอดดูแลรักษาต้องระมัดระวังจนกลายเป็นมรดกสู่คนรุ่นหลังในยุคที่การกัลปนาหมดความศักดิ์สิทธิ์ลง พระตำราจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับและไม่นำออกมาสู่สาธารณะนอกจากเฉพาะในงานสมโภชเท่านั้น            

 

ภูมิวัฒนธรรมลุ่มทะเลสาบสงขลาจากตำนาน

 

 

          ในตำนานนางเลือดขาวที่เล่าสืบต่อกันมาในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมักกล่าวถึง วัด หมู่บ้าน ที่แสดงถึงเส้นทางติดต่อต่างๆ เมืองพัทลุงและสงขลาน่าจะนับเนื่องว่าเป็นเขตภูมิวัฒนธรรมเดียวกันได้ สภาพแวดล้อมของพื้นที่มีเทือกเขาบรรทัดอยู่ทางตะวันตกและทะเลสาบสงขลาทางตะวันออก ก่อนจะถึงชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย บริเวณเทือกเขาบรรทัดซึ่งเป็นเทือกเขาสูง มีช่องเขาตัดผ่านไปสู่บ้านเมืองทางฝั่งตะวันตกติดกับฝั่งทะเลอันดามันผ่านคลองปะเหลียนออกทะเลที่ปากน้ำกันตัง ดังนั้น บ้านเมืองทั้งสองฝากฝั่งทะเลจึงสามารถติดต่อข้ามผ่านกันได้ โดยใช้ช้างเป็นพาหนะอย่างไม่ยากเย็นนัก

 

           พื้นที่แถบจังหวัดพัทลุงและสงขลามีภูเขาหินปูนลูกโดดอยู่หลายแห่งและมีถ้ำซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของนักบวชทั้งในฮินดูและพุทธช่วงแรกๆ นอกจากนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำท่าที่มีต้นน้ำจากเทือกเขาบรรทัดไหลผ่านทุ่งนากว้างใหญ่สู่ทะเลสาบสงขลา เกิดเป็นชุมชนที่อยู่ติดชายเขาและชุมชนที่อยู่ริมน้ำใกล้ทะเลสาบ ซึ่งมีชุมชนเก่าแก่หลายแห่ง

 

           ตำนานบางสำนวนยังกล่าวถึง ชาวชมพูทวีปที่เดือดร้อนจากการสงครามสมัยพระเจ้าอโศกหนีมาทางสุวรรณภูมิ บางส่วนขึ้นฝั่งที่ ท่าประตูทะเลหรือท่าประตูเลในอำเภอปะเลียน จังหวัดตรัง แล้วเดินทางข้ามช่องเขาบรรทัดผ่านเมืองตระหรือบ้านในตระ ฝั่งปะเหลียน ช่องเขานี้ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “ช่องรูตู”หรือประตูนั่นเอง แล้วแยกย้ายเป็น ๒ สาย สายหนึ่งแยกไปทางทิศใต้จนถึง เขาปัจจันตระหรือเขาจันทร์ แล้วร่องเรือลงตามลำน้ำฝาละมี  มาพักอยู่ที่ ท่าเทิดครู หรือบ้านท่าเทิดครู ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูนในปัจจุบัน สายที่สองแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาจนถึงที่โมชฬะหรือที่ปราโมทย์ ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านโหมดหรือบ้านตะโหมด  

 

            ส่วนตาสามโมกับยายเพชร อยู่บริเวณปละท่า ทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือบ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี  อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุงตาสามโมเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา ผู้มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกสำหรับส่งไปให้เจ้ากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ ๑ เชือก เรียกสถานที่นั้นว่า “ที่คช”  

 

           ตายายเดินทางไปจับช่างป่าแถบเชิงเขาบรรทัด เลยไปถึงถิ่นปราโมทย์จึงพบชาวชมพูทวีป ตรงนี้บางตำนานว่าพบกุมารีและกุมารจากกระบอกไม่ไผ่ แต่บางตำนานว่าชาวที่นั้นยกบุตรีให้ตายายและนำมาเลี้ยงไว้ที่ บ้านพระเกิด ให้ชื่อว่า นางเลือดขาว เพราะเป็นผู้ที่มีผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง อยู่ไม่นานตายายคิดว่าควรหาบุตรชายไว้สักคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาวในเวลาต่อไป จึงเดินทางไปขอกุมารจากชาวชมพูทวีปที่อาศัยที่ถ้ำไม้ไผ่เสรียงให้ชื่อว่า กุมารหรือเจ้าหน่อ

 

          ต่อมาตาสามโมกับยายเพชรเดินทางไปที่คลองบางแก้วก็ไปพบช้างพังนอนทับขุมทรัพย์ไว้ เมื่อบุตรทั้งสองมีอายุ ๑๙ ปี ตายายจัดพิธีให้นางเลือดขาวกับกุมารแต่งงาน แล้วจึงย้ายจากบ้านพระเกิดไปยัง บ้านบางแก้วตาสามโมกับยายเพชรก็ถึงแก่กรรม กุมารกับนางเลือดขาวฌาปนกิจศพเสร็จแล้วจึงนำอิฐไปฝังไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์เมืองพัทลุงปัจจุบันนี้

 

           แต่บางตำนานกล่าวว่า นางเลือดขาวได้โดยสารเรือสำเภาผ่านเข้ามาทางคลองฝาละมีเรือได้อับปางลงใกล้ ๆ กับสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สวนจีน นางเลือดขาวขึ้นบกเดินทางต่อไปจนได้คลอดบุตรเป็นหญิงให้ชื่อว่า “นางพิมพ์” พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเรียกว่า วัดพระเกิด ซึ่งหมายถึงที่เกิดหรือที่คลอดบุตรนั่นเอง

 

         กุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองส่วยช้าง ปรึกษาตกลงกันว่าควรนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญกุศลขึ้นในพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศให้ตายายทั้งสองที่ล่วงลับไปแล้ว  ทั้งสองจึงได้นำบริวารทำการถากถางป่าบริเวณริมคลองบางแก้ว  สร้างเป็นกุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาสนา พระพุทธรูป  เสร็จแล้วเจ้ากรุงทองได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดเขียนบางแก้ว

 

          เจ้ากรุงทอง กุมารและนางเลือดขาวสร้างถนนจากบ้านบางแก้วถึงบ้านสทังและได้สร้างวัดสทังใหญ่ขึ้นอีกวัด มีพระมหาธาตุ อุโบสถ วิหารและพระพุทธรูป เมื่อเสร็จแล้วจึง สร้างวัดสทิงพระขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลามีพระพุทธไสยาสน์ พระมหาธาตุเจดีย์ ทำการฉลองทั้ง ๓ อาราม แล้วจารึกลงในแผ่นทองคำแล้วให้จารข้อความลงใน “เพลานางเลือดขาว” หรือ “เพลาวัดบางแก้ว” หรือ “เพลาเมืองสทิงพระ”

 

          บ้านบางแก้วกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่พ่อค้าวาณิชเดินทางมาค้าขาย  กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้ว  ทั้งสองได้ปกครองเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง  ต่อมากุมารกับนางเลือดขาวทราบว่า พระยาศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบหาพระบรมสารีธาตุที่เกาะ ลังกา ทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชขี่ช้างไปทางห้วยยอดเมืองตรังแล้วลงเรือที่แม่น้ำยังท่าเรือกันตัง กุมารกับนางเลือดขาวจึงขี่ช้างจากบางแก้วไปยังสถานที่แห่งหนึ่งพบเมืองร้องอยู่ จึงเรียกที่นั้นว่า “บ้านทะหมีร่ำ” (ทะ คือ พบ ,ร่ำ คือร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำอำเภอพัทลุงในปัจจุบัน เมื่อถึงเมืองตรังกุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง  ชื่อว่า ”วัดพระงาม”  แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตังแล่นเรือไปเกาะลังกา 

 

            ตอนขากลับจากเกาะลังกา กุมารกับนางเลือดขาวและทูตเมืองนครศรีธรรมราชได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาด้วย ขึ้นฝั่งที่ปากน้ำเมืองตรัง เดินทางไปพักแรมค้างคืน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ได้สร้างวัดหนึ่งชื่อว่า“วัดพระพุทธสิหิงค์” และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด ๑ องค์(ปัจจุบันเพิ่งถูกขโมยไปได้ไม่กี่ปีที่ผ่านมา) ก่อนเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้สร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง๑ องค์ แล้วจึงเดินทางกลับบางแก้ว กุมารกับนางเลือดขาวได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว  และยังได้สร้างวัดขึ้นที่ชายหาดปากบางแก้ว  ก่อพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ วิหาร  ให้ชื่อว่าวัดพระนอน หรือวัดพระพุทธไสยาสน์  ทำการฉลองพร้อมกับ วัดพระพุทธสิหิงค์หรือวัดหิงค์ที่เมืองตรัง

 

            เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช พักอยู่ที่ บ้านหนองหงส์ อำเภอทุ่งสงเป็นเวลาหนึ่งคืน แล้วเดินทางต่อไปบูชาพระอัฐิธาตุของพระยาศรีธรรมโศกราชองค์ก่อน ได้สร้างสาธารณะประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนมแห่ง เป็นต้น 

 

           เมื่อข่าวความดีงามของนางเลือดขาวลือเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย เจ้ากรุงสุโขทัยได้โปรดเกล้าให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์คุมขบวนเรือนางสนมออกไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะนำไปเป็นมเหสี ส่วนกุมารก็เดินทางกลับมาอยู่บ้านพระเกิด

 

           นางเลือดขาวไปถึงกรุงสุโขทัย เจ้ากรุงสุโขทัยมิได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นมเหสีหรือสนม เพราะมีสามีและมีครรภ์ติดมา จนนางคลอดบุตรเป็นชาย เจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรนั้นเลี้ยงไว้ นางเลือดขาวทูลลากลับ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์นำนางเลือดขาวไปส่ง ขบวนเรือแล่นเข้าทาง แม่น้ำปากพนัง นางเลือดขาวได้พักอยู่ บ้านค็องหลายวัน สร้างวัดคลองค็องเรียกชื่อว่า“วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว” ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ในปัจจุบัน แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง หลังจากนางเลือดขาวกลับจากกรุงสุโขทัยแล้ว คนทั่วไปมักเรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือบางครั้งเรียกว่า นางพระยาเลือดขาว หรือ พระนางเลือดขาว ด้วยเข้าใจว่าเป็นมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน

 

           บางตำนานเล่าว่า นางเลือดขาวกับบริวารออกเดินทางไปสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช บรรทุกทรัพย์สมบัติมากับกองเกวียนและได้เดินทางมาถึงเขาลูกหนึ่งในเขตตำบลท่าแค ก็ทราบว่าพระบรมธาตุที่เมืองนครฯสร้างเสร็จแล้ว จึงให้กองเกวียนลากทรัพย์สมบัติไปฝังไว้ที่เชิงเขาแห่งนั้น และมีรอยที่เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าโคและล้อเกวียนอยู่  ชาวบ้านเรียกเขาลูกนี้ว่า “เขาโคเกวียน”ภายหลังเสียงเพี้ยนเป็น “เขาคูเกวียน” หรือ “ภูเกียง”ช่วงนั้นเมืองพัทลุงที่โคกเมือง บางแก้วมีพวกแขกมลายูมาประชิดเมือง นางเลือดขาวจึงไปหลบภัยอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า “บ้านหลบภัย”เสียงเพี้ยนมาเป็น “บ้านลับภัย” ในตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง จนกระทั่งนางเสียชีวิต ศพของนางถูกฝังไว้ทางทิศตะวันออกของวัดอภัยยารามมีเนินดินและหลักไม้ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ชาวบ้านเรียกตรงนั้นว่า “ที่ศพ” และเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

 

          ชาวบ้านตำบลท่าแคโดยเฉพาะคณะโนราและคนทรงครูหมอโนราเชื่อว่านางเลือดขาวคือคนคนเดียวกับแม่ศรีมาลา แต่เป็นคนละภาค (กัลป์) การที่นางเลือดขาวต้องมาเสียชีวิตที่บ้านท่าแคก็เพราะต้องการอยู่ใกล้ชิดกับบุตรชายคือเทพสิงหรหรือขุนศรีศรัทธาซึ่งมาตั้งบ้านเมืองและตั้งโรงฝึกหัดการรำโนราอยู่ที่โคกขุนทา บ้านท่าแค คณะโนราจึงนับถือนางเลือดขาวเป็นครูโนราองค์หนึ่งด้วย

 

           ล่วงเลยมาหลายปีนางเลือดขาวกับกุมารเดินทางท่องเทียวไปยังเมืองสทิงพาราณสีโดยทางเรือ  ขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทอง (ท่าคุระ)ได้สร้างวัดท่าคุระหรือวัดเจ้าแม่อยู่หัวหรือวัดวัดท่าทองขึ้นวัดหนึ่งและยังได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัด เรียกว่าเจ้าแม่อยู่หัว แล้วจึงเดินทางต่อไปสร้างวัดนามีชัย (วัดสนามชัย)  วัดเจ้าแม่ (วัดชะแม)  วัดเจดีย์งาม  วัดเถรการามวัดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสทิงพระและอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 

 

           กุมารกับนางเลือดขาวได้ปกครองเมืองพัทลุงเรื่อยมาจนแก่ชรา ชาวบ้านชาวเมืองจึงจัดงานทำบุญรดน้ำแก่นางเลือดขาวโดยจัดขบวนแห่จากเมืองพัทลุงผ่านแหลมจองถนนไปตามเส้นทางเลียบฝั่งทะเลสาบจนถึงบ้านพระเกิด  ถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่า“ทางพระ” หรือ“ถนนพระ” หรือ “ถนนนางเลือดขาว”  เส้นทางนี้สิ้นสุดที่บ้านหัวถนน  ตำบลฝาละมี  อำเภอปากพะยูนสถานที่ร่วมกันรดน้ำแก่นางเลือดขาว  เรียกว่า ทุ่งเบญจา

 

           กุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราภาพมากแล้ว ฝ่ายกรุงสุโขทัยได้ส่งคืนบุตรของนาง เป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย  เพราะเข้าใจว่าเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดินและตามร่ายกายได้สักลวดลายเลขยันต์ตามคตินิยมของชาวเมืองเหนือ

 

           กุมารกับนางเลือดขาวอายุได้ราว ๗๐ ปีเศษก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายผู้บุตรจัดการทำพิธีศพบิดามารดา  โดยจัดขบวนแห่ศพจากเมืองพัทลุงไปตามถนนนางเลือดขาว นำศพมาพัก ที่ศพนางเลือดขาวอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี ขณะที่พักศพอยู่ในนั้นได้นำไม้คานหามปักลงในบริเวณใกล้ๆ ต่อมาคามหามงอกงามขึ้นเป็นกอไม้ไผ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้  ชาวบ้านพากันมาในขบวนแห่ได้นำฆ้องใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่กิ่งมะม่วงเพื่อตีบอกเวลาที่นั้นเรียกว่า มะม่วงแขวนฆ้องปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี จนถึงบ้านพระเกิด จึงฌาปนกิจศพที่ วัดพระเกิดเจ้าฟ้าคอลายเมื่อจัดการเผาศพบิดามารดาเสด็จก็นำอัฐไปไว้ที่บ้านบางแก้ว ต่อมาเจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุงตั้งเมืองที่โคกเมืองบางแก้ว 

 

          ตำนานนางเลือดขาวนั้น สามารถชี้ให้เห็นสภาพแวดล้อมและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่แรกเริ่มได้อย่างเข้าใจและเห็นความเคลื่อนไหวติดต่อของบ้านเมืองทั้งสองฝากทะเลและสองฝากเขาในอดีตอันห่างไกลของบ้านเมืองทั้งที่คาบสมุทรสทิงพระต่อเนื่องจนถึงเมืองนครฯ และแผ่นดินภายในใกล้เทือกเขาบรรทัดของเมืองพัทลุงได้อย่างชัดเจน

 

ทิ้งทาย..จากตำนาน ‘นางเลือดขาว’

          ความสำคัญของตำนานนางเลือดขาวที่นอกเหนือไปจากประเด็นทางการเมืองในการเป็นพระตำราหรือพระเพลาซึ่งหมายถึงเอกสารกัลปนาที่ดินและผู้คนเพื่อเป็นข้าพระโยมสงฆ์ ของหัวเมืองภาคใต้แล้ว

 

         เนื้อหาและชื่อบ้านนามเมืองยังสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม เส้นทางโบราณ และการตั้งถิ่นฐานของผู้คนแต่แรกเริ่ม  ของบ้านเมืองทั้งสองฟากมหาสมุทรและสองฟากเขา หรือตั้งแต่คาบสมุทรสทิงพระไปจนถึงเมืองนครฯ และจากแผ่นดินภายในใกล้เทือกเขาบรรทัด ของเมืองพัทลุงไปจนจรดฝั่งทะเลเมืองตรังในอีกฝั่งหนึ่ง ได้อย่างชัดเจน

 

          ทั้งนี้ ตำนานนางเลือดขาวยังผูกพันอยู่กับความทรงจำและเรื่องเล่าในท้องถิ่นต่างๆ จนเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของชาวคาบสมุทรที่บูชาความดีงาม ความใจบุญ มีกุศลในการบำรุงศาสนาของหญิงผู้มีบุญโดยเปรียบเทียบความดี ความบริสุทธิ์ของเธอกับการมีเลือดเป็นสีขาว ให้แตกต่างไปจากผู้อื่นจนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหมู่บ้านและท้องถิ่นต่างๆ

 

        ในยุคสมัยของบ้านเมืองที่สับสน และการโหยหาผู้นำที่มีความดีงามน่าศรัทธาได้ยกย่องนางเลือดขาวหรือแม่เจ้าอยู่หัวเป็นวีรสตรีวัฒนธรรมที่ไม่เคยเลือนรางไปจากความเชื่อความศรัทธา และทรงจำของผู้คนตลอดทั่วคาบสมุทรภาคใต้ตอนกลางทั้งสองฝั่งทะเล

 

 

 

 

 

ข้อมูลสัมภาษณ์/

 พระครูกาเดิม ฐานภทฺโท (เจ้าอาวาสวัดเขียน บางแก้ว)

ธรรมรงค์ อุทัยรังสี

เรื่อง/ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ภาพ/ กฤณกรรณ  สุวรรณกาญจน์
เรียบเรียง/ ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง
อัพเดทล่าสุด 1 ส.ค. 2559, 15:16 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.