"....เพลิง....ปฏิวัติแผ่สะพัดโหมฮือเป็นเปลวลุกลาม ธง....แดงเด่นงาม โบกทายท้าเหนือยอดภูพาน"
จากบทเพลง....ภูพานปฏิวัติ
แม้ห่ากระสุนจะพรากลมหายใจที่เคยยืนเด่นโดยท้าทายของเขาไปกว่าสี่ทศวรรษแล้ว...แต่บทเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังเปรียบเสมือนถ้อยบันทึกบอกเล่าประวัติศาสตร์ผ่านท่วงทำนองแห่งความคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณแห่งอุดมการณ์ และทำให้ ‘ภูพาน’ ปรากฏตัวตนในพื้นที่ทางสังคมไทยมากกว่าเป็นเพียงเทือกเขา ผืนป่า และการปล่อยปละกดขี่ ณ ในดินแดนไกลปืนเที่ยง เพลงนี้เขาแต่งคำร้องและทำนองเสร็จสมบูรณ์ระหว่างเดินเท้ากลับจากงานลำเลียงบนยอดเขาภูผาลม (อยู่ในเขตดงพระเจ้า อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ต่อมาเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงสำคัญเพลงหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้อันอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์แล้ว อีกด้านหนึ่งของ ‘ภูพาน’ ที่โดดเด่นแต่มักถูกมองผ่านเลยไปคือ ด้านที่เป็นเทือกเขาแห่งชีวิต เป็นผืนป่าที่คนและสัตว์ต่างร่วมพึ่งพิงอิงอาศัยมานมนาน และบทความนี้ก็จะนำพาไปพบกับแง่มุมต่างๆ ที่จะทำให้รู้จักพวกเขา คนกับป่า ภูพานในอีกมิติ และการต่อสู้ครั้งใหม่กำลังก่อตัวขึ้น
เปล่งเสียงสู้...เหนือ ‘ภูพาน’
‘ภูพาน’ คือ สมรภูมิการต่อสู้ของ พคท. ที่เกิดขึ้นระหว่างรอยปริแตกทางความคิดของสังคมไทย อันมาจากทั้งความอึดอัดคับแค้นจากภายในและแรงบันดาลใจจากภายนอก แต่บทสรุปของการไม่สามารถผสานปรับตัวเข้าหากันได้ทำให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงถึงขั้นจับอาวุธลุกขึ้นสู้อำนาจรัฐอย่างจริงจัง และยืดเยื้อเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษโดยทาง พคท.กับรัฐบาล ทั้งสองฝ่าย ต่างถือเอาวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕o๘ เป็นวันสำคัญ เรียกขานกันว่า ‘วันเสียงปืนแตก’[1]เนื่องจากเป็นวันครบรอบการปะทะด้วยกำลังอาวุธครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม
[1]สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอข้อมูลใหม่ว่า ‘วันเสียงปืนแตก’ น่าจะตรงกับวันที่ ๘ ส.ค. ๒๕๐๘ รายละเอียดดู บทความ “8 สิงหา 2508” (8-8-08) “วันเสียงปืนแตก”
ไฟแห่งสงครามประชาชนในชนชั้นชาวนาได้ลุกลามไปทั่วทั้งอีสาน นับตั้งแต่ภูพานถึงที่ราบ จากอีสานเหนือถึงอีสานใต้และอีสานตะวันตก ระหว่างปี ๒๕๐๘–๒๕๐๙ การเคลื่อนไหวทางการเมืองและการรบของ พคท. ในภาคอีสานค่อนข้างชัดเจนเปิดเผย และดุเดือดกว่าภาคอื่นๆ และเป็นเขตการเคลื่อนไหวที่มีมวลชนเป็นแนวร่วมค่อนข้างมาก
ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่บ้านนาบัว พคท. ได้เริ่มปฏิบัติงานจริงจังบริเวณเทือกเขาภูพาน มาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๔ ภายหลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ และมีการจับครั้งใหญ่ด้วยข้อกล่าวหา “การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ ทำให้ปัญญาชนในยุคนั้นต้องปรับขบวน และด้วยข้อหานี้มีส่วนผลักดันอย่างรุนแรงให้ปัญญาชนจำนวนหนึ่งมุ่งสู่ป่าบนเทือกภูพาน และต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยยุทธศาสตร์ “ป่านำบ้าน”
การจับใหญ่ในวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๐๑ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ปัญญาชนนักคิด นักเขียน ที่มีผลงานท้าทายสังคม หรือสถาบันการศึกษาอย่างหนักแน่น ตั้งคำถามตามหลักเหตุผล เช่น ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ หรือ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นและถูกจำคุกถึง 6 ปี (ในระหว่างนี้เขาได้เขียนผลงานชิ้นสำคัญขึ้นอีก เช่น ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม’) จนได้รับการปล่อยตัวในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ ต่อมาประมาณ ตุลาคม-พฤศจิกายน ๒๕๐๘ เขาตัดสินใจเข้าสู่ป่าเทือกเขาภูพานเพื่อร่วมงานกับ พคท. ที่มั่นคือกลางดงพระเจ้า ในระหว่างนี้ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามที่จะทำลายฐานของฝ่ายป่าให้ได้ พลพรรคของ พคท. จึงถอยจากดงพระเจ้าไปเหล่าขี้เหล็ก ผ่านส่องดาวข้ามภูผาเหล็กไปยังภูผาดง ผ่านภูผาลมไปภูผาหัก ส่วน จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อขึ้นสู่ภูพานทาง พคท. มีแผนที่จะส่งไปปฏิบัติงานในจีนผ่านทางลาว แต่เขาต้องการเรียนรู้สภาพและการปฏิวัติในชนบทไทยเสียก่อน กระทั่งวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๙ จิตร ภูมิศักดิ์ ในชื่อจัดตั้งว่า “สหายปรีชา” ลงมาทำงานมวลชนที่ บ้านหนองแปนและคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่ง พคท. ยังไม่สามารถกุมสภาพได้ทั้งหมด วันต่อมาคือ วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๙ เขาถูกล้อมยิงเสียชีวิต
อาจเพราะประวัติศาสตร์อันโดดเด่นในช่วงนี้จึงทำให้ ‘ภูพาน’ ถูกพูดถึงเฉพาะในบริบทของการเป็น ฐานที่มั่นสำคัญของ พคท. แต่ความจริงแล้วเทือกเขาภูพานผูกพันกับประวัติศาสตร์การเมือง และการต่อสู้ของผู้ทุกข์ยาก ผู้ถูกข่มเหงกดขี่จากเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เทือกเขาภูพานเคยเป็นแหล่งสะสมอาวุธใช้สำหรับต่อต้านกองทัพทหารญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากขบวนการเสรีไทย ในอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน ยังมี ‘ถ้ำเสรีไทย’ กลายเป็นสถานที่รำลึกทางประวัติศาสตร์ และอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ๔.๕ กิโลเมตร
เตียง ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ๕ สมัย ผู้มีสมญานามว่า "ขุนพลภูพาน"
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้นำชาวบ้านที่โดดเด่นคือ ครูที่ได้รับการศึกษามาจากกรุงเทพฯ หลายท่าน หนึ่งในจำนวนนั้นที่ถือว่าเป็นผู้นำคนสำคัญ คือ ‘ครูเตียง ศิริขันธ์’ เกิดเมื่อ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ แถวคุ้มวัดศรีสะเกษ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร เป็นลูกขุนนิเทศพาณิช ชาวบ้านเรียก นายฮ้อยบุดดี เพราะเคยมีอาชีพต้อนวัว ควาย มีเชื้อสายญ้อมาจากฝั่งเมืองมหาชัยกองแก้ว (ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) ซึ่งอยู่ห่างเมืองท่าแขกเข้าไปราว ๕๐ กิโลเมตร ครูเตียง เห็นพี่น้องชาวอีสานผู้ทุกข์ยาก ถูกข่มเหงกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำถูกนายเงินเจ้าที่ดินเอาเปรียบสารพัด จุดหักเหสำคัญต้องตัดสินใจมาเป็นผู้แทนราษฎร เพราะคับแค้นใจต่อความไม่เป็นธรรม จึงตกเป็นจำเลยคดีคอมมิวนิสต์ เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๗๘ เพราะช่วงนั้นมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และมีคนชักธงรูปค้อนเคียวขึ้นยอดเสาธง ครูเตียงกับเพื่อนครูอีกสามคนถูกหมายหัวถูกฟ้อง คือ ครูปั่น แก้วมาตย์, ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ถูกคุมขังอยู่ประมาณสองเดือนต่อสู้คดี กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี
เตียง ศิริขันธ์ ผู้นำกองทัพพลเรือน แห่งขบวนการเสรีไทยสายอีสาน นั่งคู่กับ พ.ต.สไมเลย์(Smiley) นายทหารอังกฤษ
หลังจากนั้นไม่นาน ครูเตียง กลายเป็นแกนนำจัดตั้ง ‘ขบวนการเสรีไทยสายสกลนคร’ มีที่มั่นแห่งแรกคือเขตหมู่บ้านโนนหอม ห่างตัวเมืองสกลนครประมาณ ๑๕ กิโลเมตรไปทางจังหวัดนครพนม ในปี ๒๔๘๕ ค่ายเสรีไทยได้ตั้งกระจายไปในเขตป่าของเทือกเขาภูพาน เช่น ค่ายด่านนกยูง บ้านเต่างอย ค่ายดงพระเจ้า ค่ายบ้านหนองหลวง ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน ค่ายบ้านตาดภูวงศ์ อำเภอวาริชภูมิ ค่ายบ้านอากาศ อำเภออากาศอำนวย ค่ายบ้านภูสระคาม อำเภอวานรนิวาส ค่ายบ้านหนองผือ อำเภอพรรณนานิคม
ต่อมาปลาย พ.ศ. ๒๔๘๗ เสรีไทยสายอเมริกา เสรีไทยสายอังกฤษ รวมถึงเสรีไทยสายจีน รวมตัวเป็นขบวนการในชื่อเดียวกันได้ และได้ตั้งกองบัญชาการเสรีไทยขึ้น ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๘ เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ได้มีท่าทียอมแพ้และมีปฏิบัติการปลดอาวุธทหารฝรั่งเศสในอินโดจีน เนื่องจากสืบทราบว่าได้ทำงานช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร นักรบเสรีไทยจึงถูกฝึกและพร้อมจะรบทันทีเมื่อประกาศวันดีเดย์ หรือวันยกพลของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามา แต่ สงครามยุติลงเสียก่อนเนื่องจากต่อมาญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นายปรีดีได้ประกาศสันติภาพในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๘๘ และวีรกรรมของเสรีไทยทำให้ประเทศไทยพ้นสภาพจากการเป็นผู้แพ้สงคราม
หลังจากนั้น ครูเตียงกับมิตรสหายได้สนับสนุนช่วยให้ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฝ่ายอำนาจนิยมฝักใฝ่มหาอำนาจก็หาโอกาสจะเอาคืนอยู่ในที กระทั่งในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ เกิดเหตุวิปโยค พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถูกลอบปลงพระชนม์ และมีการปล่อยข่าวลือว่านายปรีดีเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง กลายเป็นแรงกดดันให้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ต่อมา ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรอบสอง นายปรีดีจึงลี้ภัยไปยังประเทศจีนและฝรั่งเศส ส่วนครูเตียงหลบขึ้นภูพานจัดเตรียมกำลังติดอาวุธเพื่อกลับลงมายึดอำนาจ แต่นายปรีดีออกวิทยุกระจายเสียงขอร้องไว้
ครั้งนั้น รัฐบาลตั้งข้อหาครูเตียงว่าเป็น ‘กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน’ และมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่หนังสือพิมพ์ยุคนั้นตั้งสมญานามให้ครูเตียงว่า ‘ขุนพลภูพาน’ ต่อมาครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรสหายของครูเตียงอีก ๑๕ คนถูกจับ ในที่สุดขุนพลภูพานจึงยอมมอบตัวในเดือนมีนาคม ๒๔๙๑ ทั้งหมดถูกดำเนินคดี แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง
ครูครอง จันดาวงศ์ ขณะเดินสู่ลานประหารด้วยท่าทีไม่หวาดหวั่น |
แต่สำหรับ ครูครอง จันดาวงศ์ ต่อมาถูกจับขังคุกหลายครั้งและหลายข้อหาในเวลาต่อมา ได้แก่ กบฏแบ่งแยกดินแดน กบฏสันติภาพ รวมทั้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ครูครอง จันดาวงศ์ พร้อมกับเพื่อนครูอีกคน คือ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ ถูกคำสั่งประหารชีวิตด้วยมาตรา ๑๗ ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร[1]โดยคำสั่งของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๔ บริเวณสนามบินอำเภอสว่างแดนดิน
ย้อนกลับไปที่เรื่องราวของขุนพลภูพานซึ่งเขาและกลุ่มนายปรีดีมีความพยายามโต้กลับเช่นกัน ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘กบฎวังหลวง’ ซึ่งนายปรีดีได้แอบกลับเข้าประเทศพร้อมนำกองกำลัง
[1]เมื่อจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจได้สำเร็จได้ประกาศใช้ธรรมนูญฯ นี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕o๒ มาตรา ๑๗ ความว่า ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ ส่วนหนึ่งจากประเทศจีน รวมกับคณะนายทหารเรือและอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” เข้ายึดอำนาจแต่ล้มเหลว ครั้งนั้นมี พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม
เหตุการณ์นี้ทำให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (รองอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น) ตัดสินใจดำเนินนโยบายเฉียบขาดต่อกลุ่มนายปรีดี วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ สี่อดีตรัฐมนตรีคนอีสาน ได้แก่ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกอัศวินแหวนเพชรสังหารโหดบนถนนพหลโยธิน ทุ่งบางเขน ส่วนครูเตียงแม้จะรอดจากการกวาดล้างครั้งนี้ แต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ พล.ต.อ.เผ่า ได้ให้ตำรวจเชิญตัวครูเตียงที่ร่วมประชุมคณะกรรมการนิติบัญญัตินัดพิเศษที่บ้านมนังคศิลาไปพบ พร้อมกับ นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร, นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค ทั้งหมดหายตัวไปแต่บัดนั้น ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้สั่งรื้อฟื้นคดีนี้ ปรากฏหลักฐานว่า ครูเตียงถูกฆ่ารัดคอหลังถูกควบคุมตัวไปสองวันแล้วนำศพไปเผาทิ้งเชิงเขาโล้น ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองฯ จ.กาญจนบุรี ขณะมีอายุเพียง ๔๓ ปี
‘ภูพาน’ ผืนป่ายุทธศาสตร์ ผืนป่าแห่งชีวิต
นอกเหนือจากเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้อันอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์แล้ว อีกด้านหนึ่งของ ‘ภูพาน’ ที่โดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนกว่าแต่มักถูกมองผ่านเลยไปคือ ด้านที่เป็นเทือกเขาแห่งชีวิต เป็นผืนป่าที่คนและสัตว์ต่างร่วมพึ่งพิงอิงอาศัย ด้วยลักษณะภูที่ทอดยาวไปตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้แบ่งภูมิภาคในอีสานออกเป็น ๒ เขต แอ่งย่อยอุดร-สกลนคร และทางด้านใต้ เกิดแอ่งย่อยโคราช-อุบล แม้พื้นที่ของเทือกเขาไม่ได้เป็นภูเขาสูง แต่โดยลักษณะสัณฐานเป็นแนวเขาสูงล้อมรอบพื้นที่ราบหลายบริเวณ ทั้งทางเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มุกดาหาร และสกลนครจนถึงนครพนม เทือกเขาภูพานมีโครงสร้างทางธรณีเป็นหินทราย ความสูงอยู่ระหว่าง ๒๐๐-๕๖๗ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารและห้วยต่างๆ มีลำห้วยสายสำคัญคือ ลำน้ำพุง ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำปาว ลำห้วยบางทราย สู่ ๕ จังหวัด ได้แก่ สกลนคร กาฬสินธุ์ อุดรธานี มุกดาหาร นครพนม ประกอบด้วยป่าที่สำคัญ ๓ ชนิดคือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง
วันนี้...ป่าบนภูพานแม้จะไม่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม แต่ก็ยังมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสงวนรักษาไว้บางแห่ง และมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูพาน เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ครอบคลุมพื้นที่ในอำเภอพรรณานิคม อำเภอเมืองฯ อำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และอำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ มีธรรมชาติสวยงาม และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญสร้างแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ให้คนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ภูพานยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้ของ ‘คนกับป่า’ เป็นผู้ที่อาศัยในบริเวณเทือกเขาภูพาน สืบเชื้อและวิถีชีวิตมานมนาน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากแผ่นดินทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เช่น ชาวผู้ไทและชาวกะเลิง
การแห่เทียนหรรษาที่จังหวัดสกลนคร
ชาวผู้ไทเป็นคนในตระกูลภาษาไต-ลาว กลุ่มหนึ่ง เล่าสืบต่อกันมาว่าแต่เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองแถงและเมืองไลในแคว้นสิบสองจุไท เป็นเขตสามฝ่ายฟ้าต้องขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองของกลุ่มที่ใหญ่กว่า เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีน ญวน และหลวงพระบาง การเดินทัพจะต้องผ่านดินแดนสิบสองจุไท คนผู้ไทพลอยเดือดร้อนมาก จึงพากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองวัง เมืองคำเกิด และเมืองคำม่วน ในประเทศลาว
ปัจจุบัน ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยกทัพไปตีเมืองล้านช้างกวาดต้อนเชลยผู้ไทเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และกวาดต้อนครอบครัวชาวผู้ไทข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ฝั่งไทย โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินในท้องถิ่นต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
การฟ้อนของชาวผู้ไท จังหวัดสกลนคร ลักษณะเด่นคือการใส่เล็กยาวคล้ายการฟ้อนของทางล้านนา
ผู้ไทส่วนใหญ่มาจากเมืองวังและเมืองตะโปน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองสวันเขตในสมัยรัชกาลที่ ๓ แยกย้ายตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณเทือกเขาภูพานในเขต ๓ จังหวัดคือ ชาวผู้ไทจังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอสหัสขันธุ์ อำเภอคำม่วง ชาวผู้ไทจังหวัดสกลนคร อยู่ในอำเภอพรรณานิคม อำเภอวาริชภูมิ ชาวผู้ไท จังหวัดนครพนม อยู่ในอำเภอเรณูนคร อำเภอคำชะอี และอำเภอหนองสูง ส่วนผู้ไทกลุ่มที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ จากเมืองกะปองมาอยู่ที่วาริชภูมิ
คนกะเลิงในอดีต |
นอกจากนี้ ในอำเภอกุดบากซึ่งอยู่แถบที่ราบในเขตภูพานตอนบน ยังมีกลุ่มคนเชื้อสายกะเลิง ซึ่งเป็นกลุ่มคนในตระกูลภาษามอญ–เขมร เป็นชนกลุ่มใหญ่แถบบ้านกุดแฮด บ้านบัว บ้านทรายแก้ว บ้านหนองสะไน บ้านโพนงาม บ้านหนองค้า บ้านนาขาม และบ้านกุดบาก ซึ่งปะปนไท ย้อ
เล่าสืบต่อกันมาว่า “คนกะเลิง” เคยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองภูวานากระแด้ง เขตเวียดนามตอนเหนือ เมื่อฮ่อรุกราน ชาวกะเลิงจึงพากันหนีมารวมกันที่เมืองมหาชัยกองแก้ว และบางส่วนได้ข้ามลำน้ำโขงมาหาแผ่นดินตั้งหลักแหล่งใหม่ของ
ฝั่งขวาบริเวณนครพนม สกลนคร มุกดาหาร จนได้พบบริเวณที่ราบลุ่มบนเทือกเขาภูพานแยกย้ายเพื่อทำมาหากิน โดยมีผู้นำคือ ศรีมุกดา จำวงศ์ลา โททุมพล ซึ่งชื่อบุคคลเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นนามสกุลของชาวกะเลิง บ้านกุดแฮด ซึ่งตอนแรกนั้นตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณห้วยกุดแข้หรือคาวแข้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านหนองสะไน) หลังจากนั้นกลุ่มศรีมุกดาและจำวงศ์ลาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีต้นน้ำไหลมาจากยอดภูหนอง ภูก่อ ภูมะแงว ภูหมากมา ภูสูงชื่อว่า กุดแฮด ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา พึ่งพาอาศัยน้ำจากป่าในการเพาะปลูกตลอดจนได้อาศัยผลผลิตจากป่าเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้พอยังชีพ เช่น หน่อไม้ หวาย เลา กบ เขียด อึ่งอ่าง เห็ด ผักหนาม ผักกูด ผักหวาน ไข่มดแดง แมงแคง จักจั่น ฯลฯ
การต่อสู้ครั้งใหม่ที่ภูพาน ‘ป่า’ หรือ ‘ เกษตรอุตสาหกรรม’
หลังเสียงปืนบนภูพานสิ้นลง ชาวบ้านจึงวางใจในสถานการณ์ บางส่วนเริ่มอพยพมาหักร้างถางพงและเข้าครอบครองที่ดินเพื่อทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์จึงมีเหลืออยู่ไม่มากนัก คือ บริเวณที่เป็นป่าสูงชันจะรักษาพื้นที่ป่าเกือบทั้งหมดไว้ได้ อีกบริเวณหนึ่งก็คือ ป่าสร้างค้อ ในอำเภอสร้างค้อ ส่วนอื่นๆ นั้นถูกบุกเบิกเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจนหมดสภาพพื้นที่ป่าไปแล้ว
ดังนั้น จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนภูพานกำลังเดินเข้าสู่การต่อสู้รอบใหม่ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่สงครามการประหัตประหารดังที่เคยมีมา แต่เป็นการต่อสู้เพื่อยืนยันดำรงวิถีดั้งเดิมเพื่อรักษาอันเป็นฐานที่มั่นของ ‘ปากท้อง’ นั่นคือ ‘ป่า ’เพราะที่ผ่านมาเรื่องที่ดินและการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกินยังคงเป็นประเด็นที่สร้างปัญหามาก วันนี้พวกเขาจึงเริ่มเผยแพร่แนวคิดและทำ ‘หมู่บ้านป่า’ ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งอาหาร ในวันที่วิถีของคนอีสานเริ่มเปลี่ยนไป เราจึงยังสามารถพบเห็นตลาดสินค้าพืชผักผลไม้หรืออาหารป่าอย่างพวกหวาย เห็ดป่า หรืออะไรอีกหลายอย่างที่นำมาจากการปลูกขึ้นเองภายในหมู่บ้าน หรือขึ้นเองตามธรรมชาติตามช่วงฤดูกาลได้
เหลาไท นิลนวล นายก อบต.หลุบเลา กำลังบอกเล่าถึงวิถีชาวอีสานที่กำลังเปลี่ยนแปล |
แต่การสร้างแนวคิดแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะยังต้องต่อสู้คัดคานกับการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อที่ทำกินโดยเฉพาะ ในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้ แม้แต่บริเวณป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูพานก็มีนายทุนมักเข้าไปจ้างชาวบ้านให้บุกรุกแผ้วถางป่าจำนวนมาก โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า มีการตัดไม้ในพื้นที่เขตอุทยานฯ หลายแปลงโดยเฉพาะในเขตป่าดงชมภูพานและป่าดงกะเฌอ เขตอำเภอภูพาน ทิศเหนือบ้านดงสรวง ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนในเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดสกลนครกับจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มีนายทุนว่าจ้างชาวบ้านขึ้นไปแผ้วถาง ตัดไม้เพื่อเตรียมการปลูกยางพาราหลายร้อยไร่ ซึ่งพื้นที่ป่าที่ถูกแผ้วถางต้นไม้น้อยใหญ่ที่ถูกตัดกินเป็นบริเวณกว้างมากกว่า ๒๐๐ ไร่ นอกจากนี้ยังมีการปักเสาแบ่งเขตแดน เพื่อเตรียมการปลูกยางพารา และพบการปลูกกระท่อมเพื่อพักอาศัยที่เป็นการบุกรุกหลายหลัง
นอกจากนี้ แผ่นดินอีสานก่อนนี้ยังเคยจะได้รับการส่งเสริมให้ปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากไร่นาแบบยังชีพมาเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเมื่อราว ๓๐-๔๐ ปีมาแล้ว ทำให้พื้นที่ป่าต้นไม้ใหญ่ต้องถูกโค่นเพื่อไปปลูกพืชในระบบตามการส่งเสริมของรัฐดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ชาวบ้านยังยากจน แต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป และเดือดร้อนจากหนี้สินที่เพิ่มพูนขึ้น ส่วนทุกวันนี้ชาวอีสานกำลังได้รับการส่งเสริมให้มาปลูกพืชจำพวกยางพาราซึ่งเคยส่งเสริมที่ภาคใต้มาก่อน เพราะบริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีภูมิอากาศและปริมาณฝนในเปอร์เซ็นต์ที่สามารถปลูกได้ทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกยางกันมาก
แต่วิถีชีวิตในการเป็นชาวสวนยางนั้นก็ไม่เหมือนกับสังคมชาวนาของชาวอีสานแบบเดิมเท่าไหร่นัก การลงทุน การคาดหวังผลผลิตกลับกลายเป็นปัญหาในระดับครอบครัวและระดับชุมชน ที่เกิดจากการเกษตรอุตสาหกรรมที่ยังไม่เคยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนให้กับชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านได้ โดยเฉพาะในแผ่นดินอีสาน ดังนั้น การเดินไปข้างหน้าหลังจากนี้จึงจำเป็นที่จะต้องพิเคราะห์พิจารณากันให้รอบด้าน เพื่อมองหาทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ รองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในวันพรุ่ง...และหากสายเกินไป พวกเขาคงไม่อาจหวนกลับมาสู่วิถีสายเดิมได้อีก
“นำป่ามาสู่บ้าน” การปรับตัวของ ‘คนกับป่า’ แห่งเทือกเขาภูพาน
พ.ศ. ๒๕๓๐ในระหว่างที่มูลนิธิฯ หมู่บ้าน และวิทยาลัยครูสกลนครได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิถีชีวิตชาวกะเลิง ที่บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ได้พบอย่างหนึ่งว่า ชุมชนที่นี่เป็นคนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ชอบอิสระ ผูกพันกับป่า พึ่งป่าภูพานเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตจากอดีตมาจนปัจจุบัน และได้พบว่าชุมชนยังมีศักยภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ
แต่ในระยะที่ผ่านมาราว ๓๐ ปีมานี้ ปัจจัยภายนอกและการส่งเสริม โดยเฉพาะระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น มันสำปะหลังและอ้อย ก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า มีการใช้สารเคมีที่มีผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้เข้าไปเชื่อมต่อกับรากฐานของชุมชนอันที่จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงต้องมีการพึ่งพาจากภายนอกแม้กระทั่งอาหาร ที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำเกษตร
ในปัจจุบันแม้แต่เกษตรกรยังต้องอาศัยอาหารจากตลาดภายนอกในการบริโภคทั้งสิ้น ทางโครงการจึงหาทางออกร่วมกับผู้นำหมู่บ้าน มีการพูดคุยทบทวนอดีตและปัจจุบันเพื่อกำหนดแนวทางในอนาคต มีการศึกษาดูงาน การสำรวจทรัพยากรของชุมชน จนในที่สุดก็ค่อยๆ ก่อตัวเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวน 13 คนขึ้น เรียกว่า ‘กลุ่มกองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน’ เพื่อการพื้นฟูอนุรักษ์และส่งเสริมการปลูกพืชพื้นบ้านในไร่นาขึ้น[1]
พ.ศ. ๒๕๓๕ พ่อจารย์บัวศรี ศรีสูง ประธานชมรมอุ้มชูไทอีสานได้มาประชุมที่บ้านบัว เห็นความหลากหลายของพืชพันธุ์ต่างๆ ในป่าภูพานเหมือนราวกับว่ามีพระอินทร์ได้แปง (สร้าง) เอาไว้ ท่านเลยแนะนำให้เปลี่ยนชื่อจากกลุ่มกองทุนพันธุ์ไม้พื้นบ้าน มาเป็น ‘กลุ่มอินแปง’ จนถึงปัจจุบัน
โดยความช่วยเหลือจากสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นหลายแห่งที่ร่วมฝึกอบรมด้านการเกษตรผสมผสานให้แก่ชุมชนเครือข่ายอินแปง ต่อมาจึงกลายมาเป็นกลุ่มที่ทำการแปรรูปที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสกลนคร เช่น ผลไม้พื้นบ้าน หมากเม่าที่ทำน้ำผลไม้หรือไวน์ ไข่มดแดงกระป๋อง ผงนัวเพื่อทดแทนผงชูรส ฯลฯ
ปี ๒๕๓๙ เริ่มมีการสังเคราะห์องค์ความรู้และประสบการณ์ของเครือข่ายอินแปง จัดหลักสูตรการจัดฝึกอบรมมหาวิทยาลัยชีวิตขยายเครือข่ายรอบป่าภูพาน ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ สร้างคน สร้างแนวคิดการอนุรักษ์ป่าภูพานด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมนิเวศ เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อการรักษาป่าภูพานด้วยการทำเกษตรแบบยั่งยืน ร้อยรวมคนจนมีคำขวัญว่า ภูพานคือชีวิต มวลมิตรคือพลัง พึ่งตนเองคือความหวัง อินแปงยังเพื่อชุมชน
‘หมากเม่า’ ผลไม้พื้นบ้านที่นำมาหมักไวน์สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้สกลนคร |
จนในปี ๒๕๔๔ มีการจัดทำแผนแม่บทชุมชนในระดับตำบล เพิ่มอีก ๕๐ ตำบลรวมเป็นเครือข่าย ๘๔ ตำบล ๘๙๐ กว่าหมู่บ้าน เพื่อเป็นแผนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างความมั่นคงด้านปัจจัยสี่ในครัวเรือน การผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติ การจัดการทรัพยากร ฯลฯ
พ่อเล็ก กุดวงศ์แล้ว ปราชญ์ชุมชน สวมผ้าย้อมครามพื้นถิ่นแบบชาวกะเลิง
แนวคิดและภารกิจอินแปง ภูพานคือชีวิต หัวใจสำคัญของป่าภูพาน พบว่า ป่าภูพานเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่มีความสำคัญต่อพี่น้องชาวอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่ จังหวัดสกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และนครพนม ที่มีลำห้วยสายสำคัญคือ ลำน้ำพุง ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำปาว ลำห้วยบางทราย ป่าภูพานยังมีความหลากหลายของพันธุ์ไม้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด กิจกรรมที่ทำ ได้แก่ ยกป่าภูพานมาไว้สวน/ป่าครอบครัว ป่าชุมชนและป่าเทือกเขาภูพาน วิสาหกิจชุมชน (โรงงานน้ำผลไม้อินแปง ภูพาน ข้าวฮาง, สมุนไพร) สถาบันการเงินและสวัสดิการชุมชน/ธนาคารอินแปง การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ การสร้างสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
มีชุมชนทอผ้าย้อมครามผ้าไหมบ้านกุดแฮด ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวกะเลิง การแต่งกายด้วยผ้าดำย้อมคราม เป็นที่ต้องการของผู้สนใจผ้าย้อมสีธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ้าย้อมครามสามารถนำมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าขึ้นได้ โดยการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือ เสื้อผ้าสวมใส่ทุกเพศทุกวัย กระเป๋ารูปแบบต่างๆ เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น หมอนอิง เบาะรองนั่ง ผ้าห่ม
ดังนั้น เราจึงพบว่า เส้นทางบนภูพาน-กาฬสินธุ์ ตามสองข้างทาง จะมีชาวบ้านมาสร้างเพิงเพื่อนำสินค้าท้องถิ่นและอาหารป่ามาวางขาย โดยเฉพาะต้นหวาย ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และสร้างรายได้ให้กับชาวเขาภูพานได้อย่างดีและตลอดปี เส้นทางดังกล่าวมีร้านขายสินค้าข้างทางจำนวนหลายสิบร้าน ก่อสร้างเป็นแนวยาวตลอดเกือบ ๒๐๐ เมตร มีสินค้าหลากหลายทั้งพืชเศรษฐกิจของสกลนคร สินค้าโอท็อป และของป่า
แต่ในขณะที่คนผู้อยู่กับป่าส่วนนี้เลือกที่จะยืนอยู่บนเส้นทางฝืนกระแส ทางภาครัฐก็ได้เลือกที่จะส่งเสริมให้ชาวอีสานหันมาปลูก ‘ยางพารา’ อย่างจริงจัง และเป็นอีกครั้งที่รัฐเลือกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาให้พื้นที่อีกทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ขณะนี้ราคายางกำลังพุ่งสูง และสามารถเป็นความหวังของชีวิตให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าปัจจุบันได้ สำหรับอนาคตการลงทุนเพื่อรอการเติบโตจึงไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง แต่กระนั้นการลงทุนในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ที่ผูกโยงกับตลาดโลกาภิวัตน์ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง สิ่งหนึ่งไม่อาจคาดเดาได้เช่นกันก็คือ ราคาที่ผันผวนยามสินค้าล้นตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่พวกเขาไม่อาจกำหนดควบคุมเองได้ ที่สำคัญคือผู้สนับสนุนเองก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับในยามที่สถานการณ์กลับกลายเปลี่ยนแปลง
ทว่า...ถึงเวลานั้นความมั่นคงของชีวิตที่เคยได้พึ่งพิงอิงป่าอาจสูญสลายหมดสิ้น เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ในป่าในอุทยานแห่งชาติภูพานถูกบุกรุกจากนายทุนครั้งละไม่ต่ำกว่าร้อยไร่ รวมทั้งชาวบ้านต่างๆ ก็พยายามปลูกยางในพื้นที่ทั้งมีเอกสารสิทธิ์และการบุกรุก ดังนั้น ภายใต้วิถีชีวิตของคนอีสานที่เปลี่ยนไป การต่อสู้ครั้งใหม่ของ ‘คนกับป่า’ ที่ ‘ภูพาน’ ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ทางความคิดอันหนักแน่น เป็นสงครามในตัวเอง โดยมีความสมบูรณ์ของผืนป่าและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตเป็นเดิมพัน....
ข้อมูลสัมภาษณ์/ |
พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว เหลาไท นิลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร |
เรื่อง/ | วลัยลักษณ์ ทรงศิริ |
ภาพ/ |
5 ธ.ค. 100 ปีชาติกาลขุนพลภูพาน www.thaienews.blogspot.com บอร์ดไทบ้านก่อ จังหวัดสกลนคร www.thaibank.com Virayuthniyomchat แม่น้ำสงคราม...สายใยแห่งชีวิต(1) www.oknation.net ชาวบ้านดักจับปลาน้ำหลากจากภูพานได้วันละหลายร้อยบ...www.e-santoday.com อุทยานแห่งชาติภูพาน www.mod.go.th แผนที่ www.google.co.th การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าต่างๆ www.isangate.com ชนเผ่าทางอีสานของประเทศไทย www.guideguru.in.th |
เรียบเรียง / | ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง |