“ระบบการศึกษาไทยเป็นเหมือนกับการตัดเสื้อฟรีไซซ์ให้ ทุกคนใส่เสื้อเหมือนกันหมด ฉะนั้นเมื่อจบระดับอุดมศึกษาไม่เข้าโรงงานก็ไปเข้าภาคบริการ จะมีค่านิยมอะไรก็ได้ เพราะการสอนของบ้านเราก็คือสอนให้คนทิ้งบ้านทิ้งถิ่น จึงพบว่าประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมาก ขณะที่ประชากรวัยหนุ่มสาวเหลือนิดเดียวในถิ่นฐานบ้านเกิด”
“เราไม่ได้บอกคุณต้องกลับบ้าน แต่เรามีปัญหากับระบบการศึกษาในปัจจุบัน เพราะการศึกษาไม่ทำให้คนใช้ถิ่นฐานบ้านเกิดเป็นตัวเลือกในการใช้ชีวิต เราเริ่มคิดแล้วว่าความยั่งยืนของเมืองอยู่ตรงไหน ถ้าเขาทิ้งบ้าน ผลสุดท้ายเกิดที่ดินรกร้างว่างเปล่า เมื่อมีนักลงทุนอื่นเข้ามา เขาไม่เข้าใจราก ไม่เข้าใจอะไรเลย คงทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้เงิน เราพบว่าท้องนาหลายที่ถูกเปลี่ยนเป็นรีสอร์ต เปลี่ยนเป็นโรงแรมม่านรูดเป็นการลงทุนที่ผิดฝาผิดตัว เราจึงอยากสร้างโรงเรียน มีโรงเรียน มีการจัดหลักสูตรเอง และสิ่งที่จะประกาศความอหังการของเราก็คือชื่อโรงเรียน “อยู่เมืองแกลงวิทยา” คนเรียนอยู่ในพื้นที่และต้องจำชื่อบ้านเมืองของเขาไปตลอด แต่เมืองแกลงได้ให้ชีวิตความเป็นอยู่กับตัวเขา รวมถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยซ้ำ...”
สมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลง จังหวัดระยอง กล่าวอย่างหนักแน่นถึงความตั้งใจ และแนวคิดในนโยบายการศึกษาของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่แม้จะประสบอุปสรรคจากความไม่เข้าใจของส่วนราชการ แต่สำหรับประชาคมเมืองแกลงแล้ว นี่คือความเห็นร่วมกันที่จะวางรากฐานการพัฒนาบ้านเมืองของตนเองอย่างยั่งยืน
กว่าจะเป็นอยู่เมืองแกลงวิทยา
แม่น้ำประแสร์ที่เคยเน่าเสียถูกพลิกฟื้นให้กลับมาใสและเขียวขจีด้วยการปลูกไม้ชายเลนเพื่อเพิ่มแหล่งบริบาลสัตว์น้ำ ทำให้จำนวน
กุ้งหอยปูปลาในแม่น้ำมีปริมาณมากขึ้น
การมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านสร้างเมืองของชาวแกลงหาได้เพิ่งเกิดขึ้นจากโครงการสร้างโรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น แต่ได้มีพัฒนาการทางความคิดและการลงไม้ลงมือกระทำมาจากวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนของผู้บริหารเทศบาล นับแต่เมื่อครั้ง สมชาย จริยเจริญ เข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเมืองแกลงสมัยแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้นบ้านเมือง
จากในอดีตเมืองแกลงหรือที่ชาวบ้านเดิมเรียกว่า สามย่าน ด้วยเป็นชุมทางค้าขายที่สามารถติดต่อกับผู้คนในหลายพื้นที่ ทั้งทางเหนือ ตอนใต้ และทางตะวันตกของเมืองระยองได้ อีกทั้งมีแม่น้ำประแสร์ไหลผ่านกลางชุมชนเมือง จึงเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังดินดำน้ำชุ่มเป็นแหล่งทำการเกษตร ปลูกข้าวมาแต่อดีต กระทั่งเมืองแกลงเข้าสู่กระแสการพัฒนาสมัยใหม่ มีการสนับสนุนให้ปลูกยางพารา แกลงจึงเป็นแหล่งใหญ่ที่มีการทำสวนยาง และก่อให้เกิดโรงงานแปรรูปยางขึ้นหลายแห่งในพื้นที่ อันส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของเมืองต่อมา
ขณะเดียวกันแม่น้ำประแสร์ที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคม และแหล่งอาหารให้กับชุมชนก็เสื่อมสภาพ น้ำเน่าเสีย กุ้งหอยปูปลาลดจำนวนลงอย่างมาก รายได้ของชาวประมงก็เสื่อมถอยตามไปด้วย
โครงการที่เกิดจากหลักคิดว่า “เมื่อสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพกาย สุขภาพใจ ชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีตามไปด้วย” จึงถูกผลักดันออกมานับหลายโครงการจากเทศบาลตำบลเมืองแกลง ไม่ว่าโครงการพัฒนาแกลงให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ โดยร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยรณรงค์ให้ชาวบ้านรักษาสภาพภูมิอากาศเพื่อให้แกลงเป็นเมืองน่าอยู่ และช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกด้วยการที่เทศบาลจัดระบบขนส่งสาธารณะชุมชนหรือ ขสมก. (ขนส่งเมืองแกลง) ขึ้น เพื่อลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลง และช่วยให้การจราจรในพื้นที่มีความคล่องตัวขึ้น ที่สำคัญช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากระบบขนส่งสาธารณะด้วยรถรางที่ไม่มีการคิดค่าบริการ จัดเส้นทางการขนส่งเป็นเวลาในช่วงเช้าและเย็น เพื่อบริการผู้สูงอายุและนักเรียน ส่งผลให้คนมีวินัยในการเดินทางร่วมกัน ทั้งผู้ปกครองก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรับส่งลูกหลานเพราะเป็นบริการขนส่งที่ปลอดภัยซึ่งทางเทศบาลยินดีลงทุนให้กับประชาชน
นอกจากนั้นเทศบาลฯ ยังมีนโยบาย “ทำอย่างไรของเสียจึงไม่เสียของ” ด้วยวิธีการจัดการขยะให้ได้ของดี เนื่องจากต้นเหตุสำคัญของขยะอยู่ที่ครัวเรือน จึงเริ่มจากจัดให้มีการคัดแยกขยะและมีการจัดเก็บขยะตามที่ต่างๆ อย่างเป็นเวลา รวมทั้งรับซื้อขยะรีไซเคิลจากโรงเรียนต่างๆ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนและครัวเรือนต่างๆ รู้จักแยกขยะ รณรงค์และออกกฎหมายให้ห้างร้าน ครัวเรือน ติดตั้งถังดักจับไขมันจากเศษอาหารก่อนปล่อยทิ้งลงแหล่งน้ำ แล้วเทศบาลยังเป็นผู้รับซื้อไขมันจากบ่อดัก นำมาทำเป็นแท่งไขมันอัดก้อนที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ส่วนเศษอาหารไปผสมเป็นอาหารสัตว์ เช่น เลี้ยงเป็ด หมู แพะ
ซึ่งเมื่อพวกสัตว์เหล่านี้ถ่ายมูลก็ถูกเก็บเอาไปทำปุ๋ย บางส่วนอย่างผักผลไม้เน่าเอาไปทำน้ำหมักชีวภาพ สำหรับใส่เติมในแม่น้ำลำคลองเพื่อทำให้ระบบนิเวศในน้ำดีขึ้น เศษใบไม้ กิ่งไม้ ก็จะถูกบดนำไปเป็นอาหารของไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ด้วยระบบดังกล่าวส่งผลให้เมืองแกลงสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงวันละ ๒๐๐ กิโลกรัม ลดปริมาณขยะจากประมาณ ๗ ล้านกิโลกรัมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้เหลือประมาณ ๖ ล้านกิโลกรัมในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และสร้างรายได้จากการขายปุ๋ยมูลสัตว์ น้ำจุลินทรีย์ และเชื้อเพลิงก้อนไขมันอีกด้วย
ไม่เพียงดูแลด้านอากาศและน้ำ เทศบาลยังดูแลผืนดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่า โดยการชักชวนให้ประชาชนหันกลับมาทำนาและรณรงค์ให้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองในครัวเรือน ตลอดจนทำเกษตรเมืองตามที่ว่างเปล่าในเขตชุมชนและเทศบาล เป็นการทำให้ประชาชนรู้จักพึ่งพาตนเอง ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และที่สำคัญเกิดจิตสำนึกในการรู้ค่าและรักธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งดินดีขึ้นและสะอาด ปลอดจากปุ๋ยเคมีต่างๆ
กระบวนการเหล่านี้จะไม่ปรากฏผลสำเร็จเลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวเมืองแกลงซึ่งตระหนักว่าโครงการต่างๆ เป็นการฟื้นฟูสภาพเมืองให้น่าอยู่ และที่สุดทำให้ประชาชนชาวแกลงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แผนการการสร้างโรงเรียนเพื่อบ่มเพาะลูกหลานชาวแกลงให้รักบ้านรักเมืองจึงได้รับการขานรับจากชาวเมืองแกลงทุกครั้งที่มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นถึงผลผลิตอันเป็นความคาดหวังในการจัดตั้งโรงเรียน เพราะทุกความคิดเห็นจะถูกประมวลนำไปสู่กรอบการยกร่างหลักสูตร และทิศทางการบริหารโรงเรียนต่อไป
ภารกิจสร้าง “ครู”
ภาพซ้าย การเรียนการสอนของโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาคมเพิ่งเปิดรับนักเรียนมาได้ ๒ ปี (ภาพจาก https://th.foursquare.com/v/ โรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยา)
ภาพขวา ทุกปีในงานบุญกลางบ้าน องค์กรท้องถิ่นจัดให้มีเสวนาเผยแพร่เรื่องราวของชาวแกลง เช่น กระบวนการจัดการให้แกลงกลายเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ฯลฯ
ใครจะคิดว่าภารกิจแรกก่อนจะเกิดการสร้างโรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาได้มีการตระเตรียมแนวคิดและการจัดการมาก่อนหน้า ๓-๔ ปีแล้ว นายกเทศมนตรีท่านนี้เห็นว่าเทศบาลต้องมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับเมืองแกลงให้กับเด็กเพื่อเด็กจะได้รับรู้ถึงเรื่องราวต่างๆ ของบ้านเมืองตนเอง ขณะเดียวกันผู้ที่นายกเทศมนตรีเปรียบว่าเป็นเสมือน “ท่อ” ลำเลียงความรู้ไปสู่สมองของเด็กๆ นั้น หาใช่ “ครู” ตามระบบที่สอนกันอยู่ในโรงเรียน แต่ต้องเป็น “ครูเหนือครู” และต้องไม่จบครูเพราะ
“ผมคิดว่าครูส่วนใหญ่มักติดกรอบ การเรียนครูก็ถูกครอบมาแล้วชั้นหนึ่งโดยคุณไม่รู้ตัว ผมจึงอยากได้คนจบปริญญาตรี คณะอะไรก็ได้ ให้เป็นบุคลากรช่วยสอนของเทศบาลซึ่งตอนนี้มีอยู่ ๔ คน เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน ผมให้เขาค้นคว้าหาข้อมูลของเมืองแกลง ของเทศบาล เช่น เรามีแม่น้ำอะไร มีวัดอะไร เทศบาลมีขยะเท่าไร เรากำลังทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับแกลงไปเล่าให้เด็กฟังตามโรงเรียนต่างๆ ในเขตเทศบาล
อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นข้อมูลของบ้านเมืองในหัวของเด็กๆ เมื่อเขาจากไปเรียนยังที่อื่น เราเข้าไปสอนตามโรงเรียนประถม เอาไปเสียบในวิชาสิ่งแวดล้อมบ้าง วิชาประวัติศาสตร์บ้าง เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีโรงเรียนของเราเองซึ่งทางโรงเรียนเหล่านั้นก็ให้ความร่วมมือไปอยู่กับวิชาเรียน”
ดูเหมือนว่าแต่ละก้าวย่างของนายกเทศมนตรีท่านนี้ดูจะราบรื่น ทว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อจะขอบรรจุบุคลากรครูเหล่านี้ในเทศบาล กลับถูกทางจังหวัดตีกลับด้วยเหตุผลว่าเทศบาลไม่มีโรงเรียนในสังกัดจึงไม่มีอัตราครู
“วันนั้นถ้าเราหยุดเพราะยึดเอาระเบียบเป็นตัวกำหนด ผมจึงดูระเบียบ ๑๒๐ อัตราที่เทศบาลจ้างได้มีอะไรบ้าง รับเด็กปริญญาตรีเหล่านี้ไปอยู่ตามอัตราดังกล่าวทำให้เราสามารถทำในสิ่งที่เราต้องการได้
เราจะรับเด็กตั้งแต่ ๓ ขวบ ไม่ถือว่าเล็กเกินไป เพราะไม่ได้มุ่งเน้นการเรียนแต่แรก แต่จะเน้นพัฒนาการของเด็ก เน้นพัฒนา กล้ามเนื้อและความคิด เราจะใช้เรื่องราวของบ้านเมืองแทรกเข้าไปให้เด็กได้รู้ด้วยวิธีการที่สนุกๆ สร้างบรรยากาศให้เด็กรักโรงเรียน เพราะหากเด็กยังไม่รักโรงเรียน เด็กจะไปรักบ้าน (เมือง) ของตนได้อย่างไร จะรักชาติได้อย่างไร
โรงเรียนอยู่เมืองแกลงวิทยาจะมุ่งที่เด็ก ปีแรกจะรับอนุบาลถึงแค่ประถมหนึ่ง รับชั้นละ ๒๐ กว่าคน เอาเด็กในเขตพื้นที่รับผิดชอบก่อน เด็กนอกเขตให้โอกาสทีหลัง เราจะเปิดรับปีละหนึ่งชั้นเพราะผมไม่ต้องการเห็นผลสัมฤทธิ์เร็ว แล้วไม่ใช่เราจะสอนเด็กอย่างเดียว เราต้องมีการทบทวนหลักคิด ทบทวนความสามารถของบุคลากร
ส่วนหลักสูตรที่ทางกระทรวงศึกษาให้มา เราจะให้เป็นหลักสูตรข้างเคียงเอาหลักสูตรท้องถิ่นของเราเองเป็นหลักสูตรแกนกลางแทน ในเมื่อเราใช้เงินท้องถิ่นเป็นคนสร้างคนท้องถิ่นก็ต้องคิดเอง ถ้าถามว่าเทศบาลไม่ทำแล้วใครจะทำ เทศบาลเท่ากับ “บ้าน” ของคุณ บ้านก็คือประชาชนในพื้นที่ เทศบาลไม่ใช่ราชการ เพราะองค์กรนี้สูงสุดก็คือชาวบ้านที่ถูกเลือกขึ้นมา”
ข้อสรุปที่ชัดเจนของสมชาย จริยเจริญ บ่งบอกถึงวิสัยทัศน์ ในการมองอนาคตของมาตุภูมิตนเอง ซึ่งคน “แกลง” ได้ร่วมสร้างและลงไม้ลงมือด้วยตัวของพวกเขาเอง ภายใต้อำนาจที่มีอยู่บนพื้นที่เล็กๆ หากมุ่งทำงานเพื่อบ้านเมืองและท้องถิ่นแล้วย่อมได้รับความสนับสนุนจากชาวบ้านเช่นกัน จึงไม่แปลกที่นายกเทศมนตรีผู้นี้จะได้รับเลือกตั้งติดต่อมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔
และ “แกลง” วันนี้ ได้กลายเป็นเมืองตัวอย่างในการศึกษาดูงานของเทศบาลท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นอื่นๆ ควรเรียนรู้ถึงสำนึกรักบ้านเกิดเช่นนี้บ้าง
บันทึกจากท้องถิ่น >จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๘ (เม.ย.-มิ.ย. ๒๕๕๖)