หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
เมื่ออุตสาหกรรมยางพาราเปลี่ยนเมืองไชเชดถา แขวงอัตปือ
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
เรียบเรียงเมื่อ 1 ม.ค. 2556, 10:28 น.
เข้าชมแล้ว 7428 ครั้ง


แขวงอัตปืออยู่เกือบใต้สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และติดต่อกับสาธารณรัฐเวียดนามทางตะวันออก โดยมีที่ราบสูงบอละเวนซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยกว่า ๑๐๐ เมตร กั้นขวางระหว่างแอ่งที่ราบอัตปือกับที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้อัตปือเป็นภูมิภาคที่ห่างไกลกับศูนย์กลางของรัฐที่เวียงจันทน์หรือแม้กระทั่งจำปาสักด้วยระยะทางและสภาพภูมิศาสตร์
 

อัตปือจึงเป็นแอ่งพื้นที่ราบสุดท้ายก่อนจะข้ามเขาในเส้นทางสำคัญผ่านไปยังบ้านเมืองริมฝั่งชายทะเลที่เวียดนาม โดยเฉพาะที่เมืองกุยเยินมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

 

ภาพซ้าย : ลานตากกาแฟของชาวบ้านซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานริมถนนสายหลัก แขวงสาละวัน ที่ราบสูงบอละเวน  

          ภาพขวา : ครอบครัวของชาวตะโอย

 

ในเขตลาวตอนใต้ต่อจากจำปาสักก็คือเซกองและอัตปือ ทางด้านใต้มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงและที่ราบสูง มีแม่น้ำโขงไหลผ่านไปยังสตรึงเตรงหรือเมืองเชียงแตงในอดีตต่อเขตกัมพูชา ส่วนด้านตะวันออกเฉียงใต้คือที่ราบสูง “บอละเวน” ชาวลาวเรียกพื้นที่กว้างใหญ่ทั้งสูงและหนาวนี้ว่า “ภูเพียงบอละเวน” ปัจจุบันเป็นที่ปลูกกาแฟชั้นดีและผักที่ปลูกในอากาศหนาวเย็น เช่น พวกยอดผักซาโยเต้ มีทั้งเห็ดปลวกหรือเห็ดโคนตามฤดูกาล เมื่อผ่านที่ราบสูงนี้ก็จะถึงแอ่งที่ราบของอัตปือ
 

สมัยสงครามเวียดนามเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดอย่างหนักเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของกองทัพเวียดกงในบริเวณอัตปือ เซกอง และสาละวันเพื่อนำไปสู่สมรภูมิในเวียดนาม และเส้นทางนี้เรียกว่า “เส้นทางสายโฮจิมินห์” [Ho Chi Minh Trail]
 

ที่แขวงอัตปือมีเมืองสามัคคีไชหรือเมืองใหม่เป็นเมืองเอก นอกจากนั้นก็ประกอบด้วย เมืองไชเชดถา เมืองสนามไช เมืองสานไช และเมืองภูวง ผู้คนคือชนเผ่ากลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนลาวลุ่มซึ่งพูดกลุ่มตระกูลภาษาไท-กะได ชาวข่ากลุ่มต่างๆ เช่น ตะโอย ตาเลียง แงะ ละเวน ละแว ที่พูดกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก กลุ่มมอญ-เขมร และกลุ่มชาวม้ง ฯลฯ
 

และชาวกูยหรือกวยในท้องถิ่นทางอีสานใต้มักอ้างตำนานของตนเองว่าอพยพมาจากเมือง “อัตปือแสนปาง” ซึ่งเป็นถิ่นของชนเผ่าหลากหลายมากมาย นอกจากนี้ในเมืองยังเต็มไปด้วยคนเวียดนามที่ข้ามเข้ามาค้าขายและมีบทบาททางเศรษฐกิจอย่างสูงทุกวันนี้ 
 

สภาพแวดล้อมมีขุนเขาโอบล้อมและมีแม่น้ำเซกองและเซกะมานไหลผ่านเป็นแม่น้ำสายหลัก หมู่บ้านริมฝั่งน้ำเซกองและเซกะมานมักเป็นถิ่นฐานของลาวลุ่มมาแต่เดิม ส่วนบนพื้นที่ห่างไกลบนภูเขาก็จะเป็นลาวเทิง แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายย้ายกลุ่มลาวเทิงมาไว้ในเมืองและริมถนนสายหลักทั้งเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการทอผ้าและขายผ้าทอ และการพัฒนาจากรัฐที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
 

เล่ากันว่า “อัตปือ” มาจากคำ “อิดกระบือ” ที่แปลว่า “ขี้ควาย” ซึ่งมีร่องรอยมาจากคำในภาษาเขมร เพราะมีฝูงควายป่าจำนวนมาก ชาวบ้านไปที่ใดก็จะพบแต่ขี้ควาย ในคำให้การเมืองอัตปือ พ.ศ. ๒๔๓๔ ก็ยังกล่าวถึงชื่อนี้อยู่ แต่เมื่อลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสจึงเรียกกันว่า “อัตปือ” จนถึงปัจจุบัน
 

การไปเยี่ยมเยือนอัตปือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ยังพบเห็นสภาพบ้านเมืองของอัตปือที่เป็นไปอย่างเรียบๆ เมืองเหมือนกำลังตื่นและตั้งต้นใหม่ มีขนาดไม่ใหญ่โตอะไร เหมือนหัวเมืองอื่นๆ ที่ห่างไกลในประเทศลาวทั่วไป เมืองสามัคคีไชเป็นเมืองใหม่ แต่เมืองดั้งเดิมและมีความสำคัญมาแต่โบราณคือ “เมืองไชเชดถา”
 

เมืองสามัคคีไชอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองเก่าไชเชดถา (ไชยเชษฐา) แต่มีการสร้างสะพานเซกองเชื่อมทำให้เดินทางสะดวกขึ้น ส่วนตลาดประจำเมืองอยู่ก่อนถึงสะพานเซกอง เป็นศูนย์รวมการค้า มีข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มากมาย เดินได้สนุกทีเดียว เมืองไชเชดถาตั้งชื่อตามพระนามของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวลาว แต่ทำไมจึงมาอยู่ที่เมืองอัตปือในดินแดนของชาวข่าอันห่างไกล
 

รัชกาลพระเจ้าไชเชดถาธิราชถือเป็นยุครุ่งเรืองในประวัติศาสตร์ลาว ชาวลาวล้วนนับถือพระองค์ว่าทรงเป็นมหาราชและทรงเป็นวีรกษัตริย์พระองค์สำคัญ แต่ในปลายรัชกาลอำนาจของพม่าในช่วงนั้นยึดครองล้านนาได้สำเร็จแล้วและกำลังมุ่งโจมตีเวียงจันทน์ และเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า พระเจ้าไชเชดถาจึงนำกำลังพลมุ่งสู่ดินแดนทางใต้ที่ไกลกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร
 

ในเอกสารประวัติศาสตร์ลาวบางเรื่องกล่าวว่า ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระไชเชดถาเสด็จปราบการแข็งเมือง ณ เมืองรามรักโองการหรือเมืองอัตปือในเวลาต่อมา แต่เนื่องจากถูกกลลวงจึงทำให้กองทัพของพระองค์ต้องตกอยู่ในวงล้อมระหว่างช่องเขาและถูกโจมตีจนแตกพ่าย ส่วนตัวพระองค์นั้นก็เสด็จหนีเข้าป่าแล้วหายสาบสูญไปเมื่อราว พ.ศ. ๒๑๑๔ ในเวลานั้นพระองค์ทรงมีพระโอรสองค์เดียวคือพระหน่อแก้วกุมารซึ่งเพิ่งประสูติจากบาทบริจาริกา
 

อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าเป็นปัญหาในราชสำนัก เพราะถูกเสนาอำมาตย์ชื่อท้าวพระยานครและพระสังฆราชลวงให้ไปปราบกบฏที่เมืองโองการเพื่อลอบปลงพระชนม์แล้วประกาศว่าพระเจ้าไชเชดถาหายสาบสูญไป
 

ส่วนหนังสือ “ความเป็นมาชนชาติลาว เล่ม ๒” หนังสือประวัติศาสตร์ลาวกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า พระเจ้าไชเชดถาออกมาจากนครเวียงจันทน์ ต่อมาถูกคนในท้องถิ่นจับตัวเรียกค่าไถ่ แต่ชาวเมืองอิดกระบือนำทองไปไถ่ถอนมาได้ แต่ร่างกายอ่อนแอมาก จึงไม่อาจยกทัพไปตีเอาเมืองเวียงจันทน์คืนจากพม่า ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่อัตปือ ก่อนสิ้นพระชนม์ได้สร้างวัดหลายแห่งทิ้งไว้ โดยมีพระครูหูยาวจุบ่า พระสหายเป็นผู้ช่วยดำเนินการต่อ
 

แต่ในตำนานเมืองอัตปือที่ราชสำนักกรุงเทพฯ จดจากคำให้การของเจ้าเมืองอัตปือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ก่อนที่จะตกเป็นของฝรั่งเศสกล่าวอ้างว่า พวก “ข่า” ช่วยพระเจ้าไชเชดถาที่หนีการเผชิญหน้ากับพม่ามาจากเวียงจันทน์ ตามตำนานกล่าวว่าท่านหายไปที่อัตปือแต่ไม่ได้ตาย เพราะพวกข่าช่วยไว้ได้ และพวกเขายอมรับให้เป็นหัวหน้า

 


 

ภาพซ้าย : ครอบครัวที่เพิ่งกลับจากงานในไร่กาแฟของตนเอง , ภาพขวา : สายน้ำเล็กใหญ่ภายในที่ราบสูงบอละเวน

 

และกล่าวถึง “พระไช” คนลาว แต่จะเป็นคนลาวเมืองไหนไม่ปรากฏ ออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านอิดกระบือ ปลายเขตแดนเมืองนครจำปาสัก  พระไชเที่ยวเกลี้ยกล่อมข่าขัดชาติข่านาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในบ้านอิดกระบือเข้ามาตามชายภูหลวงทิศตะวันตก ได้ข่าขัดชาติข่านารวม ๑๔ ตำบลบ้าน ไปข้างทิศตะวันออกได้ ๒๐ ตำบลบ้าน เป็นเวลาราว ๖-๗ ปี พระไชก็ป่วยถึงแก่กรรม
 

“พระไช” ในคำบอกเล่าจะเป็นพระองค์เดียวกับพระเจ้าไชเชดถาหรือไม่ แต่สามารถกล่าวได้ว่าการรวมตัวของกลุ่มข่านาซึ่งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มนั้นมีกลุ่มชาวลาวลุ่มตั้งตนเป็นหัวหน้า และต่อมาจึงเป็นเมืองขึ้นกับเมืองจำปาสัก และทำทองส่งส่วยปีละ ๓ ชั่งทอง
 

แต่ในตำนานวัดธาตุ (วัดธาตุจุลมณี) ซึ่งเชื่อว่าเป็นวัดที่มีธาตุบรรจุพระบรมอัฐิของพระไชเชดถากลับอ้างว่า พระเจ้าไชเชดถามีพระมเหสีอยู่ ๓ พระองค์ มเหสีองค์สุดท้ายคือ นางสามสี เป็นธิดาของพระยาเมืองโองการซึ่งเป็นชื่อบ้านเมืองในอัตปือในอดีต เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๒๒ ต่อมาท้าวพะไชซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าไชเชดถาที่เกิดจากนางสามสีค้นพบพระบรมอัฐิของพระบิดา จึงได้สร้างวัดหลวงขึ้นเพื่อนำเอาพระอัฐิของพระเจ้าไชเชดถาบรรจุไว้ในธาตุองค์เล็กภายในวัด
 

ภายหลังประสงค์จะสร้างพระธาตุองค์ใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า แต่ท้าวพะไชเสียชีวิตก่อนที่จะสร้างธาตุองค์ใหม่เสร็จ ชาวบ้านจึงนำเอาอัฐิของท้าวพะไชบรรจุไว้ในธาตุหลังใหญ่ และเก็บพระอัฐิของพระเจ้าไชเชดถาไว้ในธาตุองค์เล็กดังเดิม
 

เรื่องเล่าสุดท้ายจากตำนานวัดธาตุฯ เล่าสืบต่อกันมาจนกระทั่งชาวบ้านผู้สนใจในตำนานก็นำมาเล่าให้ผู้ไปไหว้พระธาตุพระเจ้าไชเชดถาฟังเป็นประจำ จนถือว่าเป็นผู้รู้หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นประจำวัดธาตุที่เมืองไชเชดถา นอกจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังเชื่ออีกว่า พระเจ้าไชเชดถาจมน้ำตายในแม่น้ำเซกะมานหน้าเมืองไชเชดถาแถววัดธาตุ ไม่ได้เจ็บป่วยจนสวรรคตแต่อย่างใด
 

จากเอกสารดังกล่าวพระเจ้าไชเชดถาถือเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของชนเผ่าข่าต่างๆ ด้วย พวกเขายังรอการกลับชาติมาเกิดใหม่ [Reincarnation] มีบันทึกไว้ว่าราว พ.ศ. ๒๑๒๒ ชนพื้นเมืองที่อัตปืออ้างว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เป็นพระเจ้าไชเชดถากลับชาติมาเกิดใหม่ มีพลังอำนาจ มีฤทธิ์ จึงมีผู้คนติดตามมากมาย ซึ่งอาจจะหมายถึง “พะไช” ผู้อ้างว่าเป็นบุตรที่เกิดจากนางสามสีแล้วสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระองค์ไว้ที่วัดธาตุฯ ที่บ้านฝั่งแตง ส่วนวัดที่คู่กันบนฝั่งน้ำเซกะมานตรงข้ามคือวัดหลวงเมืองเก่าวราราม
 

กล่าวกันว่าในสมัยสงครามเวียดนาม อเมริกาพยายามทิ้งระเบิดแบบปูพรม แต่วัดทั้งสองฝั่งนี้ไม่เสียหาย ทำให้ชาวบ้านยิ่งนับถือศรัทธาเพิ่มขึ้นอย่างยิ่ง 
 

อย่างไรก็ตามร่องรอยของการสร้างเมืองไชเชดถาที่อยู่ในวัฒนธรรมของชาวลาวลุ่มกลุ่มใหญ่ในหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำนั้นมีดงหอใหญ่หอเล็ก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ใหญ่สำหรับทำพิธีกรรมเมืองแบบวัฒนธรรมล้านช้างหลวงพระบางอย่างเห็นได้ชัด และโบราณสถานรูปแบบวิหารแบบล้านช้างผสมล้านนาที่วัดหลวงซึ่งเป็นร่องรอยที่ชัดเจนของวัฒนธรรมในยุคพระเจ้าไชเชดถาธิราช กษัตริย์ลาวผู้ยิ่งใหญ่ และต่อมาคือผู้นำของชาวข่าที่นี้ และทั้งหมดนี้อยู่ในท้องถิ่นแผ่นดินของชาวข่ากลุ่มต่างๆ ที่มีเพียงช่องทางติดต่อไปสู่บ้านเมืองริมชายฝั่งทะเลทางแถบเวียดนามตอนกลางได้ง่ายกว่าเดินทางไปสู่เมืองหลวงพระบางและเวียงจันทน์
 

แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันบังเกิดเมื่อรัฐบาลลาวยินยอมเซ็นสัญญากับกลุ่มบริษัททำพืชไร่ขนาดใหญ่จากเวียดนามคือ Hoang  Anh Gia Lai Group ซึ่งเติบโตรวดเร็วมาก มาจากบริษัททำเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ แล้วเข้าสู่การทำบริษัทเรียลเอสเตทและเข้าตลาดหลักทรัพย์ในระดับโลกในเวลาต่อมา เมื่อได้รับโครงการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาซีเกมส์ในลาวในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และได้ผลตอบแทนเป็นการเซ็นสัญญาในพื้นที่ปลูกยางพาราขนาดใหญ่ในเขตลาวหลายแห่งไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ เฮกตาร์ หรือประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ไร่ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ส่วนอีก ๑๕๐,๐๐๐ ไร่เช่นกันได้สัมปทานในกัมพูชา เพื่อใช้ไม้ยางพาราในการทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนแผ่นยางพารานั้นบริษัทใหญ่ที่รับซื้อคือมิชลินที่เพิ่งเข้าไปทำโรงงานในเวียดนามไม่กี่ปีมานี้ นอกจากนี้ยังมีการทำเหมืองแร่ที่แขวงเซกอง และที่อัตปือยังขยายจากสวนยางพาราไปปลูกอ้อยเพื่อทำโรงงานผลิตเอทานอลด้วย
 

ภาพซ้าย : บ้านเรือนของชาวบ้านที่เมืองไชเชดถาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นบ้านตึกชั้นเดียวซึ่งนิยมสร้างใหม่กันทุกวัน 

    ภาพขวา : ดงหอหลวงที่มีสภาพเป็นป่าครึ้มสำหรับทำพิธีกรรมเลี้ยงผีเมืองของเมืองไชเชดถา

 

เมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา มีโอกาสได้เข้าไปลาวใต้ทางแถบสาละวัน เซกอง อัตปือ อีกครั้งหนึ่ง จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของเมืองอัตปือที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนเหลือเชื่อ เพราะการปลูกพืชไร่ยางพารานับแสนไร่จากกลุ่มบริษัท Hoang Anh Gia Lai Group
 

พื้นที่เหนือเมืองไชเชดถาซึ่งเป็นที่ราบต่อเนื่องไปจนจรดเขตภูเขาที่จะเข้าสู่ชายแดนลาว-เวียดนามทั้งหมดนั้นเป็นสวนยางพาราสุดหูสุดตา รวมทั้งโรงงาน หมู่บ้านพักของคนงาน แน่นอนว่าพื้นที่ทำกินที่เป็นนาข้าวของชาวบ้านที่ถูกเวนคืนโดยอ้างว่าจะได้งานทำทดแทน ค่าตอบแทนจากการทำงานในสวนยางพาราที่ได้รายวันเพียงวันละ ๖๐-๗๐ บาท จึงเปลี่ยนจากครอบครัวที่ทำนาปลูกข้าวมาเป็นซื้อข้าวกินตลอดช่วงปีหลังๆ มานี้ แต่ทุกคนก็ไม่ได้มีงานทำทุกวัน เพราะจะมีงานมากในช่วงแรกๆ และในช่วงต่อมาก็ต้องรอให้ต้นยางเติบโตพอกรีดยางได้ จึงจะเพิ่มแรงงานในการทำงานอีกครั้งหนึ่ง
 

ถนนหนทางเต็มไปด้วยรถบรรทุกใหญ่ๆ ทั้งบรรทุกแร่และบรรทุกไม้ซุงสารพัดชนิดไม้จากฝั่งลาว วิ่งเข้าสู่เวียดนามอย่างรวดเร็วทุกวัน รถโดยสารประจำทางหลายสายวิ่งประจำจากเมืองปากเซจนถึงเมืองกุยเยินที่ใช้ระยะทางกว่า ๓๐๐-๔๐๐ กิโลเมตรทุกวัน รวมทั้งแม่ค้าขายของเร่ที่เดินทางเข้าออกที่ด่านชายแดนอย่างกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา
 

ในเมืองอัตปือขยายถนนหนทางใหม่ ตัดผังเมืองคล้ายคลึงกับเมืองในเวียดนาม รวมทั้งโรงแรมที่พักของรัฐที่แขวงเคยจัดการเป็นอาคารพักเล็กๆ ก็เปลี่ยนเป็นโรงแรม Hoang Anh ที่ใหญ่โตมโหฬาร พร้อมๆ กับพ่อค้าแม่ค้าชาวเวียดนามที่เพิ่มจำนวนทั้งในเขตเมืองต่างๆ และตามรายทางมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลัง
 

ชีวิตของชาวบ้านในเมืองไชเชดถาเปลี่ยนไปจนเห็นได้ชัด ชาวบ้านจำนวนมากกำลังรื้อบ้านเดิมที่เป็นอาคารเรือนไม้ใต้ถุนสูงที่คงสร้างมาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยปี เพื่อสร้างเป็นอาคารตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวดูทันสมัยและมีรูปแบบเดียวกัน โรงเรียนชั้นมัธยมก็มาเปิดสอนและมีอาคารใหม่เอี่ยมบริจาคให้เปล่าโดยกลุ่มบริษัทฯ ผู้ปลูกยางพาราดังกล่าว

 

ภาพ : ธาตุบรรจุอัฐิของพระเจ้าไชเชดถาและพะไชที่วัดธาตุ เมืองไชเชดถา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และ พ.ศ. ๒๕๕๖
 

อาณาบริเวณโดยรอบของชุมชนวัดธาตุซึ่งมารดาของท่านประธานประเทศลาว “จูมมะลี ไชยะสอน” เป็นคนเมืองไชยะบุรี เคยอยู่อาศัยริมแม่น้ำใกล้ๆ วัด จึงรื้อบ้านเก่าและสร้างบ้านตึกหลังใหญ่โตริมน้ำเซกะมานให้กับแม่ของท่าน แต่ก็ไม่ทันได้อยู่เพราะเสียชีวิตไปเสียก่อน วัดธาตุฯ นั้นปรับเปลี่ยนทางกายภาพทั้งสร้างเสริมกุฏิสงฆ์ สร้างวิหารใหม่ ปรับปรุงเพื่อรับการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัด
 

กลุ่ม Hoang  Anh Gia Lai Group นี้ถือว่ารุกเข้าสู่พื้นที่ป่าดิบชื้น ซึ่งกินพื้นที่ทั้งพื้นที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม ป่าดิบในกัมพูชา ป่าบนที่ราบสูงของแขวงเซกอง สาละวัน และอัตปือที่มีพื้นที่ติดต่อกับเวียดนาม จนมีข่าวเมื่อราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลลาวได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจำกัดการให้ประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ ปลูกยางพารา และยูคาลิปตัส การลงทุนของชาวต่างชาติ โดยไม่ยินยอมให้นำเอาแร่ที่ยังไม่ได้แต่งออกนอกประเทศด้วย  ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มบริษัท Hoang  Anh Gia Lai Group อย่างชัดเจน เพราะนักธุรกิจผู้ลงทุนจะต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเวียดนามเพื่อการตกลงและต่อรองอย่างเคร่งครัดเพื่อแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เพราะมูลค่าการลงทุนของเวียดนามในลาวมีมูลค่าประมาณ ๓.๔๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ
 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมการปลูกยางพารานี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อนักลงทุนชาวเวียดนามอย่างไรบ้าง แต่การใช้อิทธิพลจากรัฐบาลต่อรัฐบาลในการสร้างข้อตกลงให้เป็นไปตามพันธสัญญาตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแขวงอัตปือยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในทางลบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในลาวอย่างน่าติดตามถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น

 

บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๙๗ (ม.ค.-มี.ค. ๒๕๕๖)

 

อัพเดทล่าสุด 17 ต.ค. 2561, 10:28 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.