พระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อพระนครศรีอยุธยาล่มไปแล้วและเกิดกรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานครขึ้นมาแทน พระราชพิธีสิบสองเดือนที่มีมาแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาก็หาได้เสื่อมคลายหมดไปไม่ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้แผ่นดิน โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ต้องทรงอนุรักษ์และฟื้นฟูในประเพณีพิธีกรรมดังกล่าวให้ดำรงอยู่ เพราะเป็นสิ่งหนึ่งในการเรียกขวัญไพร่ฟ้าประชากร อยุธยาเคยมีอย่างใดกรุงเทพฯ ก็ควรมีอย่างนั้น เพราะกรุงเทพฯ นั้น เนื้อแท้ก็คืออยุธยาใหม่นั่นเองดังเห็นได้ว่าการกำหนดชื่อตำบล สถานที่ตามท้องถิ่นต่างๆ ก็มักจะนำเอาชื่อครั้งอยุธยามาตั้งใหม่ เช่น ภูเขาทอง คลองมหานาค โพธิ์สามต้น เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ลงมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ การพระราชพิธีสิบสองเดือนทั้งที่มีมาแต่สมัยอยุธยาและปรุงแต่งขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับกาลและผู้คนยังคงมีอยู่เรื่อยมา จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ความเหมาะสมของประเพณีใหม่และเก่ารวมทั้งทำให้มีเจ้านายและขุนนางให้ความสนใจศึกษาและเขียนเป็นเรื่องราวขึ้นมาก เช่นโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ของ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ในแผ่นดินต่อมา คือ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงสนพระทัยในเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใด ได้ทรงศึกษาและพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนขึ้นเพื่อลงในหนังสือวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๑
โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงนิพนธ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เนื้อความกล่าวพรรณนาถึงพระราชพิธีต่างๆ ทั้ง ๑๒ เดือน โดยละเอียดได้ความชัดเจนอย่างยิ่ง รวมถึงพิธีและนักขัตฤกษ์ต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ปฏิบัติจนเป็นประเพณีทำให้เห็นภาพชีวิตของชาวเมืองในกรุงเทพฯ สมัยนั้นได้อย่างดี โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๐๙ )ยกมาเป็นตัวอย่างบางบท ดังเช่น
เดือน ๕ | |
กำหนดสุริยยาตรเยื้อง | รอบจักร |
เป็นที่เปลี่ยนศักราช | ใหม่ได้ |
ขึ้นสู่เมศราษีพรัก | พร้อมนับ ถือนา |
บังคับแห่งโหรให้ | เรียกรู้ทั่วแดน |
วันเถลิงขึ้นศกใหม่ | มีการ |
ตั้งมุรธาภิเศกสนาน | ราชไท้ |
มวญหมู่เหล่าพนักงาน | ถวายโสรจ สรงนา |
เตรียมอยู่คอยรับใช้ | พรักพร้อมเพรียงกัน |
เดือน ๖ | |
วิศาขมาศได้ฤกษ์ทั้ง | ดฤถี นาพ่อ |
กำหนดเมล็ดรวงดี | ถูกต้อง |
ตั้งการราชพิธี | จรดพระ นังคัลนา |
ทั้งพืชมงคลพ้อง | แทรกซ้ำทรงเติม |
ชายหญิงเบียดเสียดซ้อน | ดูไถ นาเฮย |
ไกลเท่าไกลมาใน | ที่นั้น |
ยากเหนื่อยอย่างไรไร | รีบเร่ง มาแฮ |
พงรกสู้ดัดดั้น | ดิ่งด้นมาดู |
เดือน ๗ | |
ในเดือนเชษฐมาศนั้น | ฤามี |
การพระราชพิธีใด | ว่างเว้น |
ให้จัดเหล่านารี | หาบสลาก ภัตรนา |
แต่งประกวดอวดเหล้น | หลากล้วนควรดู |
ถึงวัดราชบพิธแล้ว | ปลงลง |
ดูเลือกฉลากสงฆ์ | ถูกต้อง |
ยกขึ้นประเคนองค์ | ละที่ แลแฮ |
ฉันเสร็จชนแซ่ซ้อง | ตรวจน้ำสาธุการ |
เดือน ๘ | |
อาสาฬหมาศเข้า | พรรษา กาลแฮ |
เชื้อพระวงษ์ราชา | ธิราชไท้ |
เพื่อประโยชน์ทรงสิกขา | บทพระ ภิกษุแฮ |
อิกกับสามเณรให้ | แห่บ้างบางปี |
เกณฑ์พระวงษ์เยาวหนุ่มน้อย | เนื่องมา |
รับจุดเทียนพรรษา | ทั่วทั้ง |
วัดหลวงแต่บรรดา | ได้พระ กฐินเฮย |
จ่ายแจกเทียนไปตั้ง | ทุกถ้วนอาราม |
เดือน ๙ | |
จันทร์จรเพ็ญได้ฤกษ์ | สาวนะ |
ยามเมื่อฝนตกชะ | ชุ่มพื้น |
ดลแรมย่อมพรมปะ | น้อยน่อย หนึ่งนา |
เข้าหนักนาดอนตื้น | ขาดค้างการทำ |
กำหนดพรุณสาตรซ้อง | พิธีสงฆ์ |
สูตเมฆพราหมณ์พรหมพงษ์ | แต่งตั้ง |
การสองราชพิธีตรง | วันร่วม กันเฮย |
ทำที่นอกเมืองทั้ง | ทุ่งท้องสนามหลวง |
เดือน ๑๐ | |
วันสารทเหล่าราษฎร์ได้ | ทำนาน |
บิณฑบาตภัตตาหาร | อื่นบ้าง |
ทำตามบุราณกาล | จารีต มานา |
ฟังเทศน์ถือศีลสร้าง | ก่อกู้ผดุงผล |
อัศวยุชสี่ค่ำขึ้น | มีการ แลแฮ |
ชื่อคเชนทรัศวสนาน | อีกเหล้า |
สงฆ์สวดพฤฒาจารย์ | ทอดเชือก |
วันรุ่งห้าค่ำเช้า | จึ่งได้ตามฉัน |
เดือน ๑๑ | |
ลอยประทีปถ้วนครบทั้ง | สามวาร |
ปวงประชาเขษมสานต์ | ทุกผู้ |
ภิกษุปวารณากาล | วันสิบ ห้าเฮย |
เข้าเขตรกฐินรู้ | เร่งร้อนตระเตรียม |
ดลแรมแปดค่ำตั้ง | ตามจา รีตเฮย |
เสด็จพยุหยาตราคลา | คลาศเต้า |
สถลมารคกำหนดอา | วาศใหญ่ แลแฮ |
ถวายกฐินแด่เจ้า | ภิกษุรั้งแรมฝน |
เดือน ๑๒ | |
ดลเดือนกรรดึกตั้ง | จองเปรียง |
ไชยคู่ประเทียบเคียง | สี่ต้น |
ทั้งโคมบริวารเรียง | รายรอบ สนามพ่อ |
อีกรอบกำแพงพ้น | พร่ำพร้องและหลาย |
อาณาประชาราษฎร์ทั้ง | พระวงษ์ |
ชีพ่อพฤฒิพรหมพงษ์ | กอบรู้ |
อีกกับภิกษุสงฆ์ | สถิตย์วัด แลแฮ |
ต่างชักโคมทั่วผู้ | ส่องฟ้าเรืองแสง |
การลอยประทีปนั้น | พันพรหม ราชเอย |
หมายบอกล้อมวงรดม | ทั่วผู้ |
พลเรือนทหารกรม | ท่าอีก นาพ่อ |
ทอดทุ่นใหญ่น้อยรู้ | ที่ตั้งทุกกอง |
ดาดาษกลาดเกลื่อนกลุ้ม | เรือดู |
อึงลั่นสนั่นหู | ไม่น้อย |
แซกเบียดเสียดเกรียวกรู | ชิงช่อง ขึ้นแฮ |
แม้จักนับว่าร้อย | ยึดท้ายเป็นพวง |
เดือนอ้าย | |
กาฬปักษ์กติกมาศถ้วน | บัณรสะ สารเฮย |
ผ้าป่ามิใคร่จะ | ว่างเว้น |
เริ่มทำริทอดพระ | สง์ชอบ คุ้นแฮ |
กอบก่อต่อการเหล้น | เลือกล้วนควรมี |
บ้างมีมหาชาติทั้ง | คาถา พันเอย |
มีที่บ้านศาลา | มีที่บ้านศาลา |
จ่ายกันแจกฎีกา | ตามพวก พ้องพ่อ |
หวังประโยชน์สืบสร้าง | เพื่อพ้องเมตไตรย |
เที่ยวทุ่งคราวเมื่อครั้ง | น่านชล |
เป็นที่เปรมใจคน | ไพร่ฟ้า |
หว่านพืชเกิดรวงผล | เต็มภาค ภูมพ่อ |
สมประโยชน์ทั่วหล้า | หลีกพ้นไภยแพง |
ในราชนิเวศน์เจ้า | จอมกษัตริย์ |
วันสุริยออกสุดปัด | กลับเยื้อง |
ส่ำสงฆ์เหล่าปริยัติ | สมถะ อีกเอย |
แปดสิบฉันขนมเบื้อง | หนึ่งครั้งคราวปี |
เดือนอ้ายนี้สิ้นราช | การหลวง |
การนอกชนทั้งปวง | ว่างเว้น |
ไร่นาที่ออกรวง | เก็บเกี่ยว บ้างนา |
ลงแขกนัดกันเหล้น | ขับร้องตามสบาย |
เดือนยี่ | |
บุษยมาศเจ็ดค่ำขึ้น | กำหนด |
การพิธีพรหมพรต | ใหญ่ล้น |
ตรียัมพะวายหมด | แรมค่ำ หนึ่งนา |
แรมค่ำหนึ่งเป็นต้น | อีกห้าปาวาย |
สี่คนนั้นจึ่งขึ้น | ขดานโยน |
ยันเหยียบรุนแรงโหน | หกตั้ง |
สามกลับน่ากลัวโดน | เสาผูก เงินพ่อ |
ปากคาบไวไป่ยั้ง | ยากแท้ดีจริง |
(ส่วนเดือน ๓ และเดือน ๔ ไม่ปรากฏในโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส)
พระราชพิธี ๑๒ เดือน(สรุปจาก พระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อความในเดือนท้ายๆ เช่น พระราชพิธีเดือน ๑๑ ทรงพระราชนิพนธ์อย่างย่อมากและเนื้อความขาดเรื่องพิธีออกพรรษาและพิธีพระกฐิน ทรงพระราชนิพนธ์ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ เมื่อทรงบัญชาการหอพระสมุดวชิรญาณ) ที่ปรากฏในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชวินิจฉัยถึงสิ่งที่เคยมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะที่มีในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและในรัชสมัยของพระองค์ จากพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ทำให้ผู้อ่านได้รู้ถึงความหมายและความสำคัญของพระราชพิธีและกุศโลบายของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมืองอย่างชัดเจนมากขึ้น กล่าวโดยสรุปดังนี้
เดือน ๔
งานพระราชพิธีเดือน ๔ และเดือน ๕ คาบเกี่ยวต่อเนื่องกัน จึงนำมารวมไว้ด้วยกัน คือ
พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เป็นพระราชพิธีประจำปีสำหรับพระนคร ทำเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร พระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนราษฎร ช่วงเวลาต่อเนื่องระหว่างเดือน ๔ และเดือน ๕ ซึ่งเป็นช่วงตรุษสุดปี มีการสวดอาฎานาฏิยสูตร หรือสวดภาณยักษ์ภาณพระซ้ำๆ ตลอดทั้งคืน เพื่อเป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต จุดเทียนชัย กล่าวประกาศเทวดาเวลาค่ำเพื่อขับผี ถ้าไม่สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชรหรือเอาวางไว้ใกล้ๆ ตัว เชื่อว่าผีจะวิ่งมาโดนหรือหลอกเอา เกศากันต์เจ้านาย ตั้งขบวนแห่สงฆ์ ระหว่างสวดก็มีการยิงปืนเพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จพิธีพระสงห์ต้องประน้ำโปรยทรายทั่วพระบรมมหาราชวังและโรงพิธีรอบพระนครทั้งแปดทิศ เวลาเย็นจึงมีการเวียนเทียนพระแท่นมณฑลสมโภชพระพุทธรูปและเครื่องราชูปโภค ส่วนพิธีตรุษมีการตักบาตรเลี้ยงพระ นำน้ำอบไปสรงพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ ในวันตรุษนี้มีการตั้งศาลาฉ้อทาน ๕ แห่ง แจกจ่ายเลี้ยงราษฎร
พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้คล้ายกับพระราชพิธีอาพาธพินาศ แต่เพิ่มเติมคือการเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งเตียงพระมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสรงพระมุรธาภิเษก มีกระบวนแห่พระพุทธรูป คือ พระแก้วมรกต พระชัย พระห้ามสมุทร เป็นขบวนใหญ่ทั้งสามขบวน แต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ทำพระราชพิธีนี้แล้ว
นอกจากนี้ยังมี การพระราชกุศลกาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษ ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ทำในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย รวมไปถึงการพระราชกุศลเนื่องในพระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปี ด้วย
เดือน ๕
การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ถือเป็นการเข้าสู่ปีใหม่ ธรรมเนียมนี้เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการสังเวยเทวดาและสมโภชลูกขุนมีตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมที่ทรงผสมผสานในสิ่งที่เคยมีมาแต่เดิมกับการเลี้ยงโต๊ะโดยธรรมเนียมฝรั่ง ถือเป็นการเลี้ยงปีใหม่แก่พระราชวงศ์ เสนาบดี คณะทูต และมีการละเล่นและละครให้ชมด้วย
พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา)เป็นพระราชพิธีใหญ่มาแต่โบราณไม่เคยว่างเว้น กำหนดปีละสองครั้ง คือในช่วงเดือนตรุษและเดือนสารท แต่เดิมนั้นเคยกำหนดท้ายพระราชพิธีสารทและพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ใช้น้ำมนต์ซึ่งใช้ในพระราชพิธีนั้นทำน้ำพิพัฒน์สัจจา ซึ่งมักจะทำที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชพิธีคเชนทรัศวสนานคือการพระราชพิธีที่เพิ่งเริ่มมีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำปีละ ๒ ครั้งเพื่อเจริญสวัสดิมงคลแก่ช้างและม้าซึ่งเป็นราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวง มีการแห่ขบวนช้างพราหมณ์และราชบัณฑิตจะเป็นผู้ประพรมขบวนช้าง และเพิ่มเอาพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไป มีการจัดริ้วขบวนผู้คนจำนวนมากเพื่อเป็นสสัสดิมงคลแก่พระนครและเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรู ส่วน การพระราชพิธีทอดเชือก ดามเชือกเป็นพิธีที่กระทำอยู่เสมอ แม้ไม่ได้ทำพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ก็ตามเป็นพิธีเนื่องในการบูชาครูในการหัดช้าง และ การพระราชพิธีแห่สระสนานใหญ่คล้ายกับพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานแต่ไม่ได้แห่เวลาเย็น ต้องใช้กำลังคนแห่เป็นขบวนใหญ่จากเช้าจนถึงบ่าย ทำกันเพียงรัชกาลละครั้ง และไม่ได้ทำอีกหลังจากรัชกาลที่ ๓ แล้ว
พระราชพิธีสงกรานต์สงกรานต์ คือการเปลี่ยนปี เมื่อพระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษคือเป็นศักราชใหม่ มีการพระราชกุศลตั้งสวดพระปริตรทั้งสามวัน ฉลองพระเจดีย์ทรายทั้งของหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดี พระเจ้าแผ่นดินสรงมุรธาภิเษก สรงน้ำพระพุทธรูป สดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านาย มีการเวียนเทียนทั้งสามวัน และจุดดอกไม้เพลิงเนื่องจากเป็นงานนักขัตฤกษ์
เดือน ๖
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลเป็นการสวดมนต์ทำขวัญพืชพรรณต่างๆ เป็นพระราชพิธีสงฆ์ทำในท้องสนามหลวงคือพระราชพิธีพืชมงคล ส่วนจรดพระนังคัล เป็นพิธีพราหมณ์ซึ่งต้องมีพระยาแรกนาและหาฤกษ์ดีเพื่อลงมือการไถ ทำที่ทุ่งส้มป่อย และบางแห่งมีพิธีแรกนาตามจังหวัดอื่นๆ ด้วย ผู้คนนิยมแย่งเมล็ดข้าวเปลือกที่ใช้ในการทำพิธีนั้นมากเพื่อนำไปปลูกแซมไว้เป็นสวัสดิมงคลแก่ไร่นาของตน
พระราชกุศลวิสาขบูชาเป็นนักขัตฤกษ์เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล แต่เมื่อปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้เชิญพระพุทธรูปออกตั้งแล้วมีเทศนาปฐมสมโภชที่เกยสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถวัดสุทัศเทพวราราม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการประกวดเครื่องโต๊ะและโคมตราตำแหน่งเป็นการสนุกสนาน
เดือน ๗
พระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ เช่น พิธีเคณฑะคือการทิ้งข่างเสี่ยงทายซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์และพิธีทูลน้ำล้างพระบาท ได้ยกเลิกไปแล้วในกรุงรัตนโกสินทร์ การพระราชกุศลในเดือนนี้จึงไม่ค่อยมี สิ่งใดที่เป็นการมงคลจะไม่ทำในเดือน ๗ การเผาศพใหญ่ๆ ก็ไม่ทำในเดือน ๗ เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ดังนั้น จึงมีพระราชพิธีถวายสลากภัตร
การพระราชกุศลสลากภัตเป็นพระราชพิธีเกิดขึ้นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขบวนแห่เป็นขบวนใหญ่หาบคอนเครื่องไทยทานต่างๆ ผลไม้นั้นนิยมทุเรียนเป็นอย่างแรกในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทำเป็นครั้งคราวไป
การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษาเป็นการพระราชกุศลที่ทำมาโดยสม่ำเสมอ ซึ่งแต่เดิมหล่อด้วยขี้ผึ้ง เวลาจะหล่อก็บอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และเจ้าภาษีนายอากร
เดือน ๘
เป็นช่วงเวลาในกาลเข้าพรรษา มีพระราชพิธีเกี่ยวเนื่องกับการหล่อเทียนพรรษานำไปถวายเป็นพระราชกุศลตามวัดต่างๆ
การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษาเทียนพรรษาที่ต้องส่งไปตามวัดต่างๆ มีการสวดมนต์โดยพระราชาคณะ ทรงเจิมเทียนทุกเล่ม แล้วทรงจุดเทียนพรรษาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเล่มแรกแล้วพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จจุดเทียนพรรษาตามวัดต่างๆ นอกจากนี้มี การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่มเมื่อถวายเทียนพรรษาแล้ว
ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษาสามวันมีการสวดมหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาแต่กรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันว่า สวดโอเอ้พิหารราย
เดือน ๙
พระราชพิธีพรุณศาสตร์ การพระราชพิธีใหญ่ทำมาทุกรัชกาล เดิมเคยทำพิธีที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำพิธีที่พลับพลาท้องสนามหลวง มีการสวดมนต์ตลอดเวลาเป็นการสวดอธิษฐานให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ ไม่มีกำหนดเลิกขึ้นอยู่กับเทียนชัยและถ้าฝนตกมากจึงมีการดับเทียนชัย ถือเป็นธรรมเนียมไม่ให้สตรีเข้าร่วมพิธีนี้และเป็นพระราชพิธีที่ให้ความอบอุ่นใจแก่ชาวนา
เดือน ๑๐
พระราชพิธีสารทเป็นพิธีทำตามอย่างพราหมณ์ เช่น การกวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์ ข้าวยาคูซึ่งเป็นการพิธี แล้วกำหนดทรงบาตรซึ่งมีข้าวทิพย์และกระยาสารท แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระมีกระทงข้าวกรูและข้าวเปรตซึ่งเป็นกระบุงใส่สิ่งของ เช่น ของกิน น้ำ ดอกไม้ เพื่อทรงเจิมและรินน้ำหอมใส่ลงในกระทงต่างๆ นั้น
การพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้งเป็นพระราชกุศลที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นเดียวกับวิสาขบูชาและมาฆบูชา มักจะทำกันเฉพาะฝ่ายธรรมยุติหรือเฉพาะวัดบวรนิเวศ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เสด็จเป็นประจำ
การเฉลิมพระชนมพรรษาการทำบุญวันครบรอบวันเกิดนี้เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำมาตั้งแต่ยังทรงผนวช มีสวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การสวดมนต์สะเดาะห์พระเคราะห์ การสวดมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา การสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกาย ถวายเทศนา การแจกทาน ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายชัยมงคล มีการยิงปืนใหญ่สลุตและตกแต่งไฟยามค่ำคืน
เดือน ๑๑
ขึ้น ๔ ค่ำ พิธีทอดเชือกดามเชือกทำเช่นเดียวกับพระราชพิธีเดือน ๕
ขึ้น ๕ ค่ำ พิธีคเชนทรัศวสนานทำเช่นเดียวกับพระราชพิธีเดือน ๕
ขึ้น ๖ ค่ำ สมโภชพระยาช้างทำเช่นเดียวกับพระราชพิธีเดือน ๕
ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ พิธีออกพรรษาและลอยพระประทีปตั้งแต่แรม ๕ ค่ำ จนสิ้นเดือนพระกฐิน ลอยพระประทีปพิธีเช่นเดียวกับเดือน ๑๒ เพียงแต่ไม่มีกระทงใหญ่
(เนื้อความขาดเฉพาะพระราชพิธีออกพรรษาและพระกฐิน)
เดือน ๑๒
พระราชพิธีจองเปรียงยกโคมนับเป็นพระราชพิธีพราหมณ์ การยกโคมกล่าวว่าเป็นการบูชาพระเจ้าทั้ง ๓ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม เมื่อพระเจ้าแผ่นดินนับถือพุทธศาสนาก็กล่าวว่าเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี พระพุทธบาท แต่พิธีก็ยังเป็นพิธีพราหมณ์ มีการถวายน้ำพระมหาสังข์ เทียนที่จุดในโคมนั้นก็ทา เปรียง คือไขข้อพระโค จนสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้สวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนที่ยกเสาโคมเพื่อให้เป็นพิธีทางพุทธศาสนามากขึ้น
พิธีกะติเกยาเคยทำกันในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เลื่อนมาทำในกลางเดือน ๑๒ เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา เป็นพิธีพราหมณ์ วัตถุประสงค์เพื่อทำนายเสี่ยงทาย แต่ไม่ใช่พระราชพิธีสำคัญแต่อย่างใด
การลอยพระประทีปหรือลอยกระทง เป็นนักขัตฤกษ์ของชาวบ้านทั่วไป เป็นเวลาที่แม่น้ำใสสะอาดและเต็มฝั่งและสิ้นฤดูฝน เป็นพิธีใหญ่กว่าเดือน ๑๑ และลอยที่ท่าราชวรดิตถ์ มีการประดิษฐ์ กระทงหลวง คือ เรือรูปต่างๆ ที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำประกวดกันรวมห้ารอยลำ ชาวบ้านจะเบียดเสียดมาดูกันมาก แต่ก็ให้เลิกเสียในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองมาก
พระราชกุศลกาลานุกาลเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำต่อท้ายพระราชพิธีที่ยกเว้นอยู่ห้าเดือน คือ เดือน ๗, ๙, อ้าย, ยี่, และเดือน ๓ ซึ่งเป็นพิเศษแต่เฉพาะเพียงแต่พระราชพิธีสงกรานต์ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ
การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัดเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่เจ้านายที่ทรงผนวช เป็นตั๋วทรงพระราชอุทิศสิ่งซึ่งควรแก่สมณบริโภคตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด
พระราชพิธีฉัตรมงคลก่อนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีการนักขัตฤกษ์ใดเกี่ยวเนื่องกับการบรมราชาภิเษกหรือสมโภชเศวตฉัตรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชสมบัติ จึงดำริจัดพระราชกุศลซึ่งพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคลขึ้น จากพระราชพิธีในเดือน ๖ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเปลี่ยนมาเป็นเดือน ๑๒
เดือนอ้าย
พระราชพิธีไล่เรือพิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า การยกโคมชัยในพิธีจองเปรียงนั้นถือกันว่าถ้าเสาโคมยังไม่ลดน้ำจะยังไม่ลดถือเป็นการเลี้ยงต้นข้าวในนา ส่วนพิธีไล่เรือนั้นเป็นพิธีจะให้น้ำลดเพราะถึงเดือนอ้ายหากน้ำไม่ลด เมล็ดข้าวออกรวงแก่จะร่วงลงในน้ำเสียหายหมดไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เป็นการพระราชพิธีในบางปีที่น้ำมากและทำไม่บ่อยนัก มีขบวนแห่ทางน้ำเชิญพระพุทธรูปลงเรือพระที่นั่งลำหน้า พระราชาคณะตามหลังไปตั้งขบวนที่เมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศสัตยาธิษฐาน นมัสการพระรัตนตรัยและเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลง ขบวนแห่เช่นนี้ไปถึงปากน้ำ
การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้องตรงกับช่วงฤดูที่กุ้งมีมันมาก พระราชพิธีไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างพระราชพิธีอื่นๆ กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่ เจ้าพระและพระราชคณะรวม ๘๐ รูป ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงขนมเบื้องข้างท้องพระโรง
พระราชกุศลเทศนามหาชาติธรรมเนียมแต่เดิมนั้นเคยเทศนามหาชาติ ๒ จบ ๒๖ กัณฑ์ อริยสัจ ๔ กัณฑ์ เดือนสิบสอง ๓ กัณฑ์ รวมเป็นเทศนาวิเศษสำหรับแผ่นดิน ๓๓ กัณฑ์ ซึ่งกำหนดมีเครื่องภัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน
เดือนยี่
พระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์เนื่องมาจากการทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่เคยเป็นพิธีในเดือน ๑ หน้าหนาว ต่อมาจึงเลื่อนเป็นเดือนยี่ ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเฉพาะพิธีพราหมณ์ ต่อมาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับว่าเป็นพิธีใหญ่สำหรับพระนคร โปรดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้น ในการพระราชพิธีต้องมีข้าราชการผู้ใหญ่ที่รับสมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จมาเยี่ยมโลกเป็นพระยายืนชิงช้า และมีขบวนแห่ใหญ่โตทุกปี พราหมณ์มีการสมโภชเทวรูปและทำบุญตามทางพุทธศาสนาด้วย ในเช้าวันเลี้ยงพระมีความนิยมนำบุตรหลานมาโกนจุกที่เทวสถาน บ่ายมีการเวียนเทียนเทวรูป
การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษาเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเพิ่มมากขึ้น จึงถวายผ้าจำพรรษาที่วัดบางแห่ง เช่นวัดอรุณ วัดราชโอรส และวัดราชประดิษฐ์
เดือน ๓
พิธีศิวาราตรีแม้เป็นพิธีโบราณ แต่เพิ่งเริ่มใหม่ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์คล้ายมหาปวารณา ทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ คือการเอาเชือกผูกคอหม้อและโยงกับเสาสี่เสา เจาะรูที่หม้อให้น้ำหยดลงมาที่ศิวลึงค์แล้วไหลลงตามรางแท่นโยนิ ใช้หม้อรองน้ำที่ได้ ทำเช่นนี้จนรุ่งเช้า แล้วนำน้ำที่ได้นี้ไปสระผมอาบน้ำ ส่วนผมที่ร่วงเก็บลอยไปตามน้ำเรียกว่าลอยบาป
การพระราชกุศลมาฆบูชาเป็นพระราชพิธีซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือตามแบบที่ว่าเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต จึงเป็นเหตุให้ประกอบการสักการพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งปวง
การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่พวกจีนนำเป็ดไก่จำนวนมากมาถวายในตรุษจีน จึงโปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ๓ วัน พอถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้มีพิธีการเพิ่มขึ้น
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวการพระราชพิธีสิบสองเดือนมีการปฏิบัติสืบต่อเนื่องจนสิ้นรัชกาล หากมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมตามยุคสมัย ใน คำอธิบายประกาศพระราชพิธี ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมตอมรพันธุ์ฯ กล่าวถึงพระราชพิธีต่างๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ยังคงอยู่ คือ พระราชพิธีถือน้ำ พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลและพระราชพิธีเริ่มนาหลวงทุ่งพญาไทซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ได้จัดเพียงครั้งเดียว เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ พระราชพิธีสารท พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีตรียัมพวาย และพระราชพิธีตรุษโดยโปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์
ส่วนพระราชพิธีเลี้ยงพระตรุษจีน พระราชพิธีจองเปรียง การพระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช และพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานนั้นยกเลิกตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕
พระราชพิธีที่เป็นการพระราชกุศลเนื่องในพุทธศาสนา เช่น วันสำคัญต่างๆ ก็คงยังบำเพ็ญพระราชกุศลต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวการพระราชพิธีประจำปีก็ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมา ได้เสด็จพระราชดำเนินเนื่องในงานพระราชพิธีศาสนาประจำทุกปี คือ พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันวิสาขบูชา พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันมาฆบูชา พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันเข้าพรรษา พระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินซึ่งโดยเสด็จพระราชดำเนินทั้งทางชลมารคและสถลมารค
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ การพระราชพิธีต่างๆ เกี่ยวกับการศาสนาตกไปเป็นภารกิจของรัฐบาล ซึ่งได้กระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงธรรมการเป็นฝ่ายจัดการ ส่วนการพระราชพิธีประจำเดือนซึ่งเคยถือปฏิบัติสืบต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น พระราชพิธีสนามต่างๆ พระราชพิธีตรียัมพวาย พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก็ถึงกับหยุดชะงักลง บางพระราชพิธีสูญสิ้นไปไม่นำมาปฏิบัติต่อไปอีก และบางพระราชพิธีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน
พระราชพิธีหลวงประจำปีในรัชกาลปัจจุบัน (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)
ภายหลังรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีบางประการได้ถูกเพิ่มเติมทั้งระเบียบปฏิบัติและการพระราชพิธีบางส่วนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรมอย่างมาก คือเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้การพระราชพิธีทั้งสิบสองเดือนต้องหยุดชะงักและบางส่วนก็ถูกยกเลิกไป
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช การพระราชพิธีหลวงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่หลายพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีสังเวยพระป้าย และการพระราชพิธีบางอย่าง เช่น พระราชพิธีตรียัมพวายซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ การพระราชพิธีออกสนามต่างๆ พระราชพิธีจองเปรียงถูกยกเลิกไม่นำกลับมาปฏิบัติเป็นพระราชพิธีอีก
การพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา กลายเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ถือปฏิบัติเป็นประจำ พระราชพิธีเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน เช่น การบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช การเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรทั้งสามฤดู ก็เป็นพระราชพิธีสำคัญในรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ พระราชพิธีในการรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณแก่ประเทศชาติได้รับถือปฏิบัติมากขึ้น เช่น วันที่ระลึกมหาจักรี พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยะมหาราช พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และบางอย่างถือเป็นการพระราชพิธีส่วนพระองค์ เช่น การพระราชกุศลวันขึ้นปีใหม่ พระราชพิธีลอยพระประทีป
พระราชพิธี ๑๒ เดือนที่ปรากฏในปัจจุบัน รวบรวมจาก พระราชพิธีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และ พระราชพิธี โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒๕๒๔ มีดังนี้
เดือน ๕
พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช เทวรูปต่างๆ และเทวดากลางหาว ด้วยเครื่องสังเวย ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน มะพร้าวอ่อน กล้วยหอมจันทน์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม ดอกไม้ ธูป เทียนทอง เทียนเงิน
พระราชพิธีสงกรานต์พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเทศกาลสงกรานต์ เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ -๑๖ เมษายน นอกจากนี้ยังจัดให้มีเครื่องราชสักการะ เพื่อพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยนำไปบูชาพระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุนครศรีธรรมราช พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระศรีสรรเพชญ พระพุทธรูปถ้ำประทุน พระพุทธรูปถ้ำวิมานจักรี พระพุทธรูปวัดพนัญเชิง พระพุทธรูปวัดสุวรรณดาราราม
วันที่ระลึกมหาจักรีตรงกับวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จไปทรงถวายเครื่องราชสักการถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๑ ในรัชกาลที่ ๖ แต่การถวายบังคมพระบรมรูปที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เริ่ม ปี พ.ศ.๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ และจะมีการเปิดปราสาทพระเทพบิดรเพื่อให้ประชาชนได้ถวายบังคมพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีในวันนี้
เดือน ๖
พระราชกุศลทักษิณานุประทานและพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองในการขึ้นครองราชย์ ในรัชกาลปัจจุบันตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก ยังคงจัดพระราชพิธีเช่นเดิม คือ สวดมนต์เลี้ยงพระเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร อ่านคำประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชและพระอัครมเหสีทุกพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ส่วนพระราชพิธีฉัตรมงคลฉลองพระมหาเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์พระแสงประจำรัชกาลจัดขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีมงคลที่จัดขึ้นระหว่างเดือน ๖ ซึ่งเริ่มฤดูฝน และเว้นว่างไปชั่วคราวตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๙ จน พ.ศ.๒๕๐๓ ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูทั้งพระราชพิธีพืชมงคลและพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง นับได้ว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญในรัชกาลของพระองค์ ทรงปลูกข้าวในนาสาธิตในพระราชวังสวนจิตรลดาเพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธี และเมล็ดพันธ์ข้าวเหล่านี้ กระทรวงเกษตรฯ จะจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วยเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเป็นสิริมงคลแก่เกษตรกรทั่วประเทศ พระยาแรกนาในปัจจุบัน โดยหน้าที่แล้วคือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบทั้งสี่ได้แก่ ข้าราชการหญิงโสดของกระทรวงที่เป็นข้าราชการสามัญชั้นโทขึ้นไป และตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา รัฐบาลประกาศให้วันพืชมงคลเป็นวันเกษตรกรด้วย
พระราชกุศลวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันเดียวกันที่ พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ จัดเป็นงานต่อเนื่อง ๒ วันคือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ เป็นพิธีทรงตั้งภิกษุและสามเณรเปรียญ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ๓ รอบ ฟังเทศน์รับศีลจากพระราชาคณะ บางปีทรงเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ ปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่างๆ
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าหรือวันอัฏฐมีบูชาในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ถือเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าหลังเสด็จปรินิพานแล้ว ๗ วัน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีวิสาขบูชา ทรงพระราชอุทิศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระราชวงศ์ไปเสด็จจุดเทียนรุ่งบูชาตามพระอารามหลวง ๗ แห่ง คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดเบญจมบิตรดุสิตวนาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดนิเวศธรรมประวัติ, วัดบรมนิวาส, วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เดือน ๗
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิฐดินทร์และพระราชกุศลทักษิณานุประทานพระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจัดเป็นพระราชพิธีในคราวเดียวกันครั้งแรกในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นประจำทุกปี
เดือน ๘
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษาเป็นพระราชพิธีทำบุญทางพุทธศาสนาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ทรง การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษาก่อน ๔๕ วัน ก่อนพระราชพิธี ๗ วันทรงพระสุหร่ายทรงเจิมเทียนพรรษาและอุปกรณ์พระราชทานแก่พระอารามหลวงรวมถึงปูชนียวัตถุในพระบรมมหาราชวัง ๓๓ แห่ง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ทรงจุดเทียนพรรษาและถวายพุ่มเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันรุ่งขึ้นทรงเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถวายเครื่องทรงฤดูฝน และถวายเทียนพรรษาและพุ่มเทียนแด่พระพุทธชินสีห์และพระรูปสมเด็จพระสังฆราชต่างๆ ในวัดบวรนิเวศวิหาร
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงเป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ เป็นการอุปสมบทพระราชวงศ์ ราชนิกูล ราชสกุล ข้าราชการชั้นสัญญาบัตรซึ่งได้รับพระราชทานให้เป็นนาคหลวง และเปรียญธรรม ๙ ประโยค จะเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีอุปสมบทและพระราชทานเครื่องบริขาร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เดือน ๙
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตรงกับวันคล้ายวันประสูติ คือวันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ ๒ วัน เฉพาะพระราชวงศ์และข้าราชบริพาร ที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
เดือน ๑๐
ไม่มีพระราชพิธีใด (พระราชพิธีสารทเป็นการทำบุญเมื่อสิ้นเดือน ๑๐ ครั้งสุดท้ายทำในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ แต่ในรัชกาลปัจจุบันยกเลิกแล้ว)
เดือน ๑๑
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐินหลวงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงทั้งทางบกและทางน้ำ ตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันสิ้นสุดกาลกฐิน คือวัน แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พระอารามหลวงในปัจจุบันที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินทุกปีมี ๑๖ วัด คือ วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดสุทัศนเทพวราราม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดเบญจมบพิตรสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดมกุฏกษัตริยาราม, วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์, วัดราชาธิวาส, วัดราชโอรสาราม, วัดอรุณราชวราราม, วัดเทพศิรินทราวาส, วัดสุวรรณดาราราม, วัดนิเวศธรรมประวัติ, วัดพระปฐมเจดีย์, วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ยังไม่เคยมีขบวนกฐินพยุหยาตราทั้งทางบกและทางเรือ ในรัชกาลปัจจุบันจึงโปรดฯ ให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีขึ้นมาใหม่ และบูรณะเรือพระราชพิธีต่างๆ รวมถึงการสร้างขึ้นมาใหม่ (เรือพระที่นั่งถูกระเบิดเสียหายไปมากในคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒)
และ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยะมหาราชตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคม เริ่มจากรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ในรัชกาลปัจจุบันจะเสด็จไปถวายพวงมาลาที่ลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
เดือน ๑๒
พระราชพิธีลอยพระประทีปการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ถวายเครื่องทรงฤดูหนาว
เดือน ๑
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ในรัชกาลปัจจุบัน จัดเป็นงานพิธี ๓ วัน จัดพิธีทั้งที่พระบรมมหาราชวังและที่พระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พ่อค้าประชาชนเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลและรับฟังพระบรมราโชวาท ณ ศาลาดุสิดาลัย ภายในสวนจิตรลดา วันที่ ๔ ธันวาคม และมีการถ่ายทอดตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศ
เดือน ๒
พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ในอดีตการขึ้นปีใหม่ถือจากขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ทางจันทรคติ แต่ได้เปลี่ยนแปลงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปลี่ยนการนับเป็นสุริยคติเป็นวันที่ ๑ เมษายน และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ได้เปลี่ยนมาเป็นวันจัดงาน พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชมาจนปัจจุบัน ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่าพระราชพิธีตรุษะสงกรานต์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม จนถึงวันที่ ๓ เมษายน และได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เพื่อให้ตรงกับสากลเป็นวันที่ ๑ มกราคมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในรัชกาลปัจจุบันมีการเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลโดยจัดเป็นการส่วนพระองค์
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวง ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมารัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย และขอพระราชทานจัดเป็นงานรัฐพิธีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ สืบมา
พระราชพิธีสังเวยพระป้ายเริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ กำหนดการเดิมจะกระทำในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในวันไหว้ และสังเวยที่พระที่นั่งอัมพรสถานในวันตรุษจีน พระป้ายหรือป้ายวิญญาณบรรพบุรุษซึ่งชาวจีนมักจะมีไว้บูชาประจำบ้าน การสังเวยบูชาแสดงถึงความกตัญญูแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
เดือน ๓
การพระราชกุศลมาฆบูชาเริ่มมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน จะเสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เดือน ๔
การเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนด้วยพระองค์เอง เว้นแต่ทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญเท่านั้น เครื่องทรงฤดูร้อนทรงเปลี่ยนในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เครื่องทรงสำหรับฤดูฝนทรงเปลี่ยนในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เครื่องทรงฤดูหนาวทรงเปลี่ยนในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
ความสำคัญของประเพณีสิบสองเดือนในรัชกาลปัจจุบัน
พระราชพิธี ๑๒ เดือนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันแตกต่างไปจากพระราชพิธีสิบสองเดือนในอดีตอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพิธีในกฎมนเทียรบาลและคำให้การชาวกรุงเก่าตลอดจนพระราชพิธีสิบสองเดือนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยกาลของพระองค์ท่านเป็นต้นมา ความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธีหลวงเริ่มคลี่คลายกลายเป็นรูปแบบพิธีกรรมมากกว่าจะเชื่อในคติดั้งเดิม รวมถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์แบบพราหมณ์ซึ่งแนวคิดความเชื่อเดิมนั้นไม่อาจให้คำอธิบายในคำถามใหม่ๆ ที่ต้องการเหตุและผลที่ชัดเจนได้จึงลดและตัดทอนขั้นตอนพิธีกรรมไปมาก
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชพิธีหลวงซึ่งเป็นรัฐพิธีถูกยกเลิกไปทั้งหมดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง บางส่วนเช่น พิธีเกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนาก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการ และได้ถูกฟื้นฟูในหลายพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบันหลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว
ในปัจจุบัน ประเพณีหลวงหรือประเพณี ๑๒ เดือนที่ปฏิบัติในราชสำนักนั้น เป็นประเพณีที่กระทำเพื่อเทิดทูนศาสนา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สิริราชสมบัติ การรำลึกถึงวีรกรรมของพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆและเพื่อขวัญกำลังใจราษฎรในการทำการเกษตร ลักษณะของพระราชพิธีในรัชกาลปัจจุบัน คือ
พระราชพิธีเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา
แม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ตัดทอนพิธีพราหมณ์ลงแต่ก็ได้เพิ่มการพระราชกุศลแบบพุทธเข้าไปแทบทุกพระราชพิธี แต่ปัจจุบันพระราชพิธีแบบพราหมณ์ซึ่งเคยมีบทบาทในราชสำนักอย่างสูงได้ถูกลดบทบาทลงจนแทบไม่ปรากฏ นอกจากจะเป็นเจ้าพนักงานประกอบในพิธีบางประการ ทั้งนี้ พระราชพิธีสิบสองเดือนของราชสำนักได้เน้นไปที่การบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในพุทธศาสนาเท่านั้น เช่น
การพระราชกุศลวิสาขบูชาซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จเป็นประจำจากแต่เดิมเสด็จประกอบพิธีที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในปัจจุบันได้เสด็จไปตามวัดในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย ตามปูชนียสถานที่สำคัญของประเทศ เช่นเดียวกับ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเทศกาลเข้าพรรษา พระราชพิธีการพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา ได้ทรงโปรดให้ราษฎรได้ร่วมในพระราชพิธีโดยการส่งขี้ผึ้งเข้าไปร่วมเพื่อใช้ในการหล่อเทียนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐินหลวงในปัจจุบันพระมหากษัตริย์จะเสด็จไปถวายผ้าพระกฐินอย่างเป็นทางการตามพระอารามหลวงต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและวัดสำคัญบางแห่งในต่างจังหวัด มีกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารคในบางปี และยังมีกฐินพระราชทานตามจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปถวายผ้าพระกฐินตามวัดที่มีประชาชนศรัทธาเป็นอย่างมาก เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรอีกด้วย จึงทำให้พิธีกรรมนั้นกลายเป็นพิธีกรรมที่สถาบันพระมหากษัตริย์และราษฎรใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมี พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าซึ่งมีปฏิบัติในชุมชนบางแห่งและกลายเป็นประเพณีของราษฎร, การเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรถวายเครื่องทรงทั้งสามฤดู, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง, และการพระราชกุศลมาฆบูชา
พระราชพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระมหากษัตริย์
การฉลองสิริราชสมบัติของพระมหากษัตริย์เนื่องในวันฉัตรมงคลและ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถซึ่งแต่เดิมไม่มีและเพิ่งมีในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการถวายพระพรชัยมงคล ทบทวนพระราชกรณียกิจ พระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา และพระราชทางเลี้ยงแก่ข้าราชการในงานสโมสรสันนิบาต
พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว
พระราชพิธีสงกรานต์ อันเป็นธรรมเนียมแต่เดิมที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสรงน้ำพระพุทธรูป สดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านาย และ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิฐดินทร์และพระราชกุศลทักษิณานุประทานพระบรมอัฐิสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจัดเป็นพระราชพิธีในคราวเดียวกันครั้งแรกในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธี ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเป็นประจำทุกปี
พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ กำหนดการเดิมจะกระทำในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางปะอิน ในวันไหว้ และสังเวยที่พระที่นั่งอัมพรสถานในวันตรุษจีน พระป้ายหรือป้ายวิญญาณบรรพบุรุษซึ่งชาวจีนมักจะมีไว้บูชาประจำบ้าน การสังเวยบูชาแสดงถึงความกตัญญูแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายจีนซึ่งมีอยู่ในราชวงศ์จักรี
พระราชพิธีที่เกี่ยวกับความสำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของบุรพกษัตริย์
การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมเข้าสู่ลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นกระแสโลกาภิวัตน์จากชาติตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะของการคุกคามต่อพระราชอาณาจักรและอธิปไตยภายหลังการเกิดประเทศอย่างชัดเจน สืบเนื่องจนถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พระราชพิธีสิบสองเดือนให้ความสำคัญต่อพิธีกรรมแตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ พิธีที่เกี่ยวข้องกับการบำเพ็ญพระราชกุศลและถวายเครื่องราชสักการะ เพื่อทรงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนผู้ทรงพระคุณต่อแผ่นดินไทยมากขึ้น และประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ในลักษณะของการรักษาเอกราชไว้ได้ถึงปัจจุบัน เช่น
พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และพระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เริ่มมีในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงเห็นว่าประเทศชาติได้รอดพ้นภิบัติภัยจากประเทศมหาอำนาจมาโดยตลอดคงเป็นเพราะมีเทพยดาองค์หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาประเทศชาติ จึงโปรดให้ทรงหล่อพระรูปสมมติของเทพผู้ทรงพิทักษ์รักษาสยามประเทศ คือ พระสยามเทวาธิราชและประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และถือเป็นภารกิจที่พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะต้องทรงปฏิบัติ, วันที่ระลึกมหาจักรีมีการวางพวงมาลาแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมราชวงศ์จักรี, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันปิยมหาราชที่ลานพระบรมรูปทรงม้า, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเป็นการระลึกถึงการกอบกู้เอกราชได้เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวง ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
1. การพระราชกุศลวันวิสาขบูชา
2. ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อถวายผ้าพระกฐิน ณ พระวิหารหลวงวัดต่างๆ
3. การพระราชพิธีเนื่องในวันฉัตรมงคล
4. พระราชพิธีสังเวยพระป้ายแก่บุรพกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ที่ล่วงลับ
5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีเพื่อขวัญกำลังใจแก่ผู้ทำการเกษตร
ประเพณีพิธีกรรมที่ยังมีความสำคัญและปฏิบัติอยู่และเป็นพิธีแบบพราหมณ์ส่วนหนึ่งก็คือ เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เพราะน้ำยังมีความสำคัญในสังคมเกษตรกรรมซึ่งยังเป็นพื้นฐานของสังคมไทยอยู่ เช่น พระราชพิธีลอยพระประทีป ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพิธีที่นิยมทำอย่างยิ่งใหญ่ พระมหากษัตริย์จะเสด็จออกนอกกำแพงพระราชวังตอนกลางคืน มีขบวนเรือพระราชพิธีและโปรดให้มีการประกวดและทำกระทงถวาย มีการแต่งเรืออย่างวิจิตรสวยงาม และราษฎรพากันเฝ้าชมกระทงต่างๆ ในลำน้ำ ส่วนในรัชกาลปัจจุบันเป็นการเสด็จส่วนพระองค์แทน
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ ในเดือน ๖ โดยแยกเป็น ๒ พิธี คือ พิธีพืชมงคลซึ่งปฏิบัติในพระบรมมหาราชวัง เป็นพิธีที่ที่พระมหากษัตริย์ ทรงจุดเครื่องนมัสการบูชาที่วัดพระแก้ว ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ พระพุทธคันธารราษฎร์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำหรับการพระราชพิธีเกี่ยวกับเกษตรกรรม แล้วทรงประพรมพืชต่าง ๆ เพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ที่จะโปรยหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัล ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์แห่งราชอาณาจักร ในพิธีพืชมงคลนี้ พระยาแรกนาจะเข้ารับพระราชทานพระราชอำนาจแทนพระมหากษัตริย์ ใน พระราชพิธีจรดพระนังคัลที่ปฏิบัตินอกพระบรมมหาราชวังนั้น แต่เดิมพระมหากษัตริย์จะไม่เสด็จไปทอดพระเนตรเสมอไป แต่ในรัชกาลปัจจุบันเสด็จทุกครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร และบำรุงขวัญแก่ประชาชนซึ่งเป็นพสกนิกร พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงเป็นพระราชพิธีเพื่อความมั่นคงแก่ประเทศชาติ เพราะเป็นพระราชพิธีที่จะสร้างขวัญและกำลังใจแก่ราษฎรในการทำการเกษตร
ลักษณะของประเพณีหลวงที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน มีแบบแผนที่คลายความเคร่งครัดลง เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับประชาชน ประเพณีบางอย่างแม้ต้องการจะปฏิบัติให้เหมือนเดิมแต่ก็ไม่สามารถจะทำได้ เช่น ขบวนแห่ผ้าพระกฐินหรือขบวนพยุหยาตรา ซึ่งเพิ่งจะฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยรัชกาลปัจจุบัน เคยเป็นพระราชพิธีที่เป็นพิธีการและสำคัญ พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จเองในสมัยอยุธยา แต่ก็ได้ลดพิธีการและความศักดิ์สิทธิ์ลง จนในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า พระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคสามารถตอบสนองภาวะการท่องเที่ยวในระยะหลังๆ ได้ด้วย