สวนผลไม้: เศรษฐกิจพื้นฐานของชาวบางกอก
ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่เป็นต้นมา การตั้งถิ่นฐานของชุมชนต่างๆ ตั้งแต่ลัดเกร็ดน้อย เมืองนนทบุรี เมืองบางกอกมักอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้เต็มไปด้วยเรือกสวนมากกว่าพื้นที่ทำนา การทำสวนผลไม้ซึ่งต้องอาศัยภูมิปัญญาสะสมในการตั้งข้อสังเกตพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่เหมาะสมกับกระแสน้ำขึ้นน้ำลงและผืนดินที่ต้องอาศัยระบบน้ำแบบลักจืดลักเค็มหมายถึงอาศัยระบบนิเวศแบบน้ำกร่อยและน้ำจืดที่ต้องพอดีกันเพื่อให้พืชพันธุ์ได้ปุ๋ยจากตะกอนน้ำพัดพาโดยธรรมชาติและน้ำกร่อยที่ดันเข้ามาจากชายฝั่งทะเล อันเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่ผู้คนสามารถปรับตัวได้และน้ำมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตอยู่อาศัยมาตลอดโดยไม่จำเป็นต้องสร้างทำนบหรือเขื่อนกั้นระบบนิเวศแบบผสมผสานนี้ดังเช่นในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
ในหนังสือ “ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ที่กล่าวถึง “เรื่องสวน”ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) (พ.ศ.๒๓๙๒-๒๔๖๓) เป็นผู้มีความชำนาญในภาษาต่างประเทศ เนื่องจากได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เป็นอดีตอธิบดีกรมพระคลังสวน อธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสามที่ปัจจุบันคือกรมศุลกากร ท่านกล่าวถึงการทำสวนว่า
“เป็นสิ่งสำคัญอันสมควรที่จะให้รู้ธรรมชาติของที่แผ่นดิน อันจะได้ขุดร่องยกคันโก่นสร้างที่แผ่นดิน จะได้หว่านเพาะต้นไม้มีผลที่เป็นต้นไม้ยืนนาน และต้นไม้ล้มลุกเพราะหว่านตามฤดูสมัยให้ได้ผลอันดีมีราคามาก และต้องยากลำบากที่จะต้องลงแรงลงทุน และเปลื้องเวลาแต่น้อย ในการประสงค์จะให้ผลดังนี้ มีการอยู่ ๔ อย่างที่ชาวสวนควรจะมีทรงไว้ ความคาดหมายประโยชน์จึงจะเป็นอันสำเร็จได้ คือว่าจะต้องมีทุนคือเงินที่จะได้ออกใช้สอยในสิ่งที่ควรต้องการ ๑ แรงหรือมือเพื่อที่จะได้ทำงานที่ต้องการ ๑ ความรู้ในทางที่ดีที่สุดแห่งการงานที่จะทำ ๑ และความฉลาดเพื่อที่จะได้บัญชาใช้ทุนและแรงที่จะต้องออกทำ ๑ คุณสมบัติ ๔ อย่างนี้มีอยู่ในชาวสวนผู้ใดแล้ว ความมาดหมายที่จะให้เกิดประโยชน์ ก็คงเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง รวมเป็นสิ่งซึ่งเป็นวิชาสำหรับชาวสวนที่ควรต้องศึกษาและประพฤติไปด้วยกัน”
อันหมายถึงการทำสวนนั้นจำเป็นต้องใช้ทุนรอนและความอดทนสติปัญญาในการปรับสภาพพื้นดินให้เข้ากับพืชพันธุ์ที่ต้องมีการคัดเลือกและสร้างพันธุ์ใหม่อยู่เสมอ งานทำสวนจึงเป็นงานหนักแต่น่าจะทำให้ชาวสวนนั้นเป็นกลุ่มที่มีรายได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ
๑. ภาพลายเส้นวัดและบ้านสวนริมคลองที่พบได้ทั่วไปทางฝั่งธนบุรีช่วงต้นกรุงเทพฯ
๒. ภาพลายเส้นบ้านสวนริมคลองในเขตเรือกสวนของบางกอกและฝั่งธนบุรี
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความรู้ในการทำสวนซึ่งสัมพันธ์กับสภาพภูมินิเวศและภูมิอากาศของบริเวณเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ที่ต้องอาศัยกระแสน้ำขึ้นน้ำลง การเฝ้าระวังไม่ให้มีน้ำมากเกินไปหรือน้ำน้อยเกินไป การเฝ้าสวนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้หากภูมิอากาศปรวนแปร การป้องกันสวนที่การปลูกต้นไม้ยืนต้นต้องอาศัยระยะเวลายาวนานโดยการทำเขื่อนป้องกันกันเอง หรือแม้แต่การทำใจให้ว่างเมื่อสวนถูกน้ำท่วมขังเสียหายรุนแรงแบบที่แก้ไขไม่ได้ อันเนื่องมาจากโอกาสในการเกิดภัยธรรมชาติมีสัดส่วนที่สูงมากและไม่สามารถคาดการได้แน่นอนเสียทีเดียว (แม้จะมีความสม่ำเสมอมากกว่าปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้ก็ตาม)
เอกสารของชาวต่างชาติที่ยืนยันเรื่องความสมบูรณ์ของสวนผลไม้
คงมีคนมาทำสวนยกร่องกันตั้งแต่ราวสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว เพราะเมื่อมีการบันทึกภาพภูมิประเทศในบริเวณลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนมีการขุดคลองลัดบางกอก จากโคลงกำสรวลสมุทรเมื่อเดินทางผ่านทางคลองบางระมาด คลองบางเชือกหนังหรือบางฉนังนั้น ก็กล่าวถึงสวนผลไม้หลากหลายและสวนผักมากมาย เช่น สวนกล้วย อ้อยที่เป็นไม้ไม่ยืนต้น ต้นไม้ที่มีผล เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะพร้าว หมาก รวมทั้งสาวแม่ค้าที่แข่งขันกันซื้อขายของ
๕๕ กล้วยอ้อยเหลืออ่านอ้าง | ผักนาง |
จรหลาดเลขคนหนา | ฝ่งงเฝ้า |
เยียมาลุดลบาง | รมาต |
ถนัดรมาตเต้าเต้า | ไต่ฉนยร |
๕๙ มุ่งเหนดยรดาษสร้อย | แสนส่วน |
แมนม่วงขนุนไรรยง | รุ่นสร้อย |
กทึงทองรำควรโดร | รศอ่อน พี่แม่ |
ปรางประเหล่แก้มช้อย | ซาบฟนน |
๖๑ ด้าวห้นนอเนขเชื้อ | ขนำขาย |
วอนว่อนเลวงคิด | ค่าพร้าว |
หมากสรุกซระลางปลง | ปลิดไหม่ |
มือแม่ค้าล้าวล้าว | แล่นชิงโซรมชิง |
และในการพรรณนาถึงสภาพภูมิศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมของคนสยามในเอกสารของชาวตะวันตกที่เข้ามาเนื่องจากเจริญสัมพันธไมตรีและเพื่อการค้า ก็กล่าวถึงและวาดภาพบันทึกผลไม้จากบริเวณที่เรียกว่า “สวนใน” ซึ่งกินบริเวณแถบเหนือพระประแดงขึ้นมาจนถึงแถบบางกรวย นนทบุรีซึ่งคู่กับ “สวนนอก”ในเขตสมุทรสงคราม
เอกสารของเดอ ลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นภาพลายเส้นที่วาดอย่างละเอียดและพรรณนาตามวิชาธรรมชาติวิทยา อธิบายลักษณะของต้นไม้และผลไม้เมืองร้อน เช่น ต้นหมาก กล้วย ขนุน มะพร้าว มะม่วง สับปะรด เงาะ เป็นต้น
๓. เอกสารของเดอ ลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นภาพลายเส้นที่วาดอย่างละเอียดและพรรณนาตามวิชาธรรมชาติวิทยาภาพลายเส้นจากเอกสารของเดอ ลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
๔. ผลไม้ดารดาษจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ในประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยามที่ปรากฏในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย ตุรแปงบันทึกไว้กล่าวถึง ของสวนซึ่งเป็นผลไม้อันหลากหลายมากชนิดทั้งกล่าวด้วยว่า ผลไม้ชนิดเลิศที่คนสยามชอบมากที่สุดคือทุเรียน และนับว่าคงเป็นที่นิยมกันมาจนถึงทุกวันนี้อย่างแน่นอนว่า
พลู หมาก มะพร้าว ส้ม (มีราว ๓๐ ชนิด แต่ส้มแก้วรสดีที่สุด เป็นส้มผลโตและมีจุก เปลือกเขียว) ทุเรียน (คนสยามชอบผลไม้นี้มาก เหลือก็เอามาทำทุเรียนกวน) ขนุน มังคุด เงาะ มะม่วงหิมพานต์ มะเดื่อ น้อยหน่า น้อยโหน่ง ฝรั่ง มะละกอ กล้วย มะขาม พริกไทย อ้อย สับประรด มะม่วง
ข้อสังเกตจากการผจญภัยของเฟอร์ดินัน เมนเดซ ปินโต ที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กล่าวชื่นชมผลไม้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาว่า
ผลไม้และพืชผักคุณภาพดีกว่าผลไม้ที่เบงกอลมาก นอกจากนั้น ก็มีมังคุดและทุเรียน ซึ่งมีรสชวนรับประทานยิ่งนัก ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลไม้ต้องเริ่มจากเมษายนถึงปลายเดือนกรกฎาคม มีส้มผลงามรสดีมากมายที่บรรจุในตะกร้าใบเล็ก มีลิ้นจี่ แต่พืชผักของสยามนั้นดูจะมีคุณภาพด้อยกว่าผลไม้ และไม่ได้รับการดูแลบำรุงเท่าที่ควร และอาหารนั้น ชาวจีนเป็นผู้นำในการผลิต เช่น เลี้ยงหมู เป็ด ไก่
ในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๔ นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าไปภายในคลองสายในตามสวนฝั่งธนบุรีที่สามารถเดินทางไปออกท่าจีน-แม่กลองและเพชรบุรีได้ ก็พบว่า สองฝั่งคลองแน่นขนัดไปด้วยเรือกสวนพรรณไม้นานาชนิดที่เขียวขจีและหอมหวน อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ที่มีผลไม้รสเยี่ยมและมีหลากชนิด ดังบันทึกของนักเดินทางชาวอังกฤษ เฟรเดอริก อาร์เธอร์ นีลที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๓-๒๓๘๔
“เมื่อเรามาถึงคุ้งที่สองในแม่น้ำนั้น สองฝั่งแม่น้ำก็มีแต่สวนหมากเต็มไปหมด มีกลิ่นหอมหวานของดอกไม้ตลบ ขณะที่เราผ่านมาตามลำน้ำนับเป็นไมล์”
และคณะทูตจากอังกฤษที่เข้ามาในช่วงต้นกรุงเทพฯ และ เซอร์จอห์น ครอฟอร์ดและตามลำดับว่า
“ผลไม้ของสยามหรืออย่างน้อยก็โดยบริเวณรอบๆ กรุงเทพฯ เป็นเยี่ยมและมีหลากชนิด”
ความสำคัญของ “หมาก”
การทำสวนเป็นสิ่งที่น่าจะสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านที่อยู่อาศัยชานเมืองกรุงเทพฯ ในยุคเริ่มแรกได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นผลผลิตสำคัญในชีวิตของสยามในอดีต เช่น การทำสวนมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำมันเพื่อให้แสงสว่างได้ การทำสวนหมากที่เป็นของพิเศษ การกินหมากของคนสยามนั้นเป็นการแสดงถึงสถานภาพของคนตามฐานานุรูปได้ชัดเจนด้วย เพราะเครื่องประกอบเชี่ยนหมากนั่นเอง อีกทั้งคนทั่วไปตั้งแต่เริ่มหนุ่มสาวก็มักนิยมกินหมากให้ฟันดำเพื่อความงามอีกด้วย
ดังนั้น จึงมีการบันทึกไว้ในเอกสารเรื่องสวนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ว่า การสำรวจจำนวนต้นหมากที่เป็นอากรใหญ่นั้นทำให้เห็นว่า หมากที่ปลูกในสวนใน สวนนอกและฉะเชิงเทรานั้นไม่พอแก่การบริโภคจนต้องสั่งนำเข้ามาจากเกาะหมากหรือเกาะปีนังด้วย โดยเล่าถึงการเก็บอากรหมากเมื่อประมาณ ๑๒๐ ปีก่อนไว้ว่า
….ถ้าจะเทียบดูแล้ว ชาวเราผู้ไม่เคี้ยวหมากหมื่นคน จะมีสัก ๑ คน เพราะฉะนั้น หมากที่เพาะปลูกในสวนในก็ดี ที่ได้นับเมื่อเดินรังวัดสวนในปีมะเมีย ปีมะแม (พ.ศ.๒๔๒๕-๒๔๒๖) หลังนี้ หมากที่นับได้อย่างเข้าอากรมีอยู่ ๖,๓๗๑,๘๕๕ ต้น ที่เพาะปลูกยังไม่ได้อย่าง ๑,๒๗๓,๐๗๐ ต้น รวม ๗,๖๔๔,๙๒๕ ต้น แต่ยังเพาะปลูกใหม่อยู่เสมอไปมากกว่าที่ตายและตัดฟัน ก็ยังไม่พอชาวเราที่ใช้สอย ต้องจำบรรทุกเข้ามาแต่ต่างประเทศ เรียกว่า หมากเกาะ คือมาแต่เมืองปีนังหรือเกาะหมาก ปีหนึ่งตั้งหมื่นหาบ
ต้นหมากต้นหนึ่งที่อย่างดกปีหนึ่งมีผลสองปูน ที่งามประมาณถึง ๓,๐๐๐ ผล และที่สอนเป็นตั้งแต่ ๑๐๐ ขึ้นไป คิดถัวลงปีหนึ่งเป็นต้นละ ๕๐๐ ผล ราคาซื้อขายกันตามฤดูถูกแพง ที่แพงถึงร้อยละบาท ร้อยละห้าสลึง ที่ถูกเพียงร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง สลึงบ้าง เฟื้องสองไพบ้าง คิดถัวกันเป็นปีหนึ่งอย่างน้อยได้ผลต้นหนึ่งราคาเพียงบาทหนึ่ง ก็เป็นเงินถึง ๙๕,๕๖๑ ชั่ง ๑๑ ตำลึงกับบาทหนึ่ง ถ้าคิดเพียงต้นละสองสลึงก็ถึง ๔๗,๗๘๐ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ดูมากมายนักที่ใช้เคี้ยวอยู่ทั่วกัน…
แสดงว่าหมากเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวสวนเป็นอันมากและรัฐก็มีรายได้จากการเก็บอากร สร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้แก่รัฐ เช่นเดียวกับพลูซึ่งต้องเคี้ยวคู่กับหมาก ภาษีหมากจึงเข้าอยู่ในอากรสวนใหญ่ที่ปลูกโดยยกร่องสวน โดยมีพิกัดอัตราอากรอย่างเป็นหลักเกณฑ์ ครั้นภายหลังสนธิสัญญาเบาริงก็ปรับปรุงเพิ่มขึ้น เช่น หมากเอก (สูง ๓-๔ วาขึ้นไป) แต่เดิมเสียอากรต้นละ ๕๐ เบี้ย ภายหลังสนธิสัญญาขึ้นเป็น ๑๓๘ เบี้ย และหมากผากรายออกดอกประปรายเคยเสียต้นละ ๔๐ เบี้ย ภายหลังสนธิสัญญาแล้วขึ้นเป็น ๑๒๘ เบี้ย
๕. ต้นและผลหมาก สามารถกล่าวได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวสยามที่ต้องนำเข้าเนื่องจากมีปริมาณไม่เพียงพอ และการกินหมากเป็นวัฒนธรรมการขบเคี้ยวที่แสดงถึงสถานภาพของผู้กินจากเครื่องประกอบเชี่ยนหมากด้วย
รายได้จากการเก็บภาษีของชาวสยามนั้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาษีอากรที่เรียกเก็บมากที่สุดคือผลิตผลการเกษตรจำพวกหมาก มะพร้าวผลไม้และพืชผักต่างๆ มากกว่าภาษีโรงเรือน ภาษีการค้า ภาษีเหล้าในทุกจังหวัดรวมกัน ภาษีการจับปลา ภาษีซุงและไม้สัก ดังที่พบว่ามีการเก็บภาษีไม้ซุงและไม้สักที่อยู่ในเขตเทือกเขาทางภาคเหนือ ซึ่งยังไม่ได้รายได้มากเท่ากับภาษีจากพืชผลไม้จากการเกษตร อาจจะเป็นเพราะไม้ซุงหรือไม้สักอยู่ในหัวเมืองห่างไกลและใช้ระบบสัมปทานโดยเจ้าผู้ครองนครกับชาวตะวันตก
แม้จะอยู่ในช่วงที่ประเทศสยามในขณะนั้นก้าวเข้าสู่ความทันสมัยใหม่ในการเป็นประเทศสมัยใหม่แล้วก็ตาม ภาษีจากผลิตผลการเกษตรจากหมาก มะพร้าวและผลไม้ยังเป็นอันดับหนึ่ง รายได้ของรัฐจึงพึ่งพาภาษีจากสวนในและสวนนอกตลอดจนพื้นที่ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ สิ่งเหล่านี้คือช่วงเวลาก่อนที่การอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ จะเข้ามาทำกิจการในสยามประเทศ
รายละเอียดจำนวนเงินภาษีที่เก็บต่อปีในช่วงเวลาราวๆ รัชกาลที่ ๔ ได้แก่ภาษีลูกหมาก มะพร้าวและพืชผักผลไม้อื่นๆ ๖๓๐,๐๐๐ บาท ภาษีโรงเหล้าทุกจังหวัด ๘๒๐,๐๐๐ บาท ภาษีจับปลา ๘๕,๐๐๐ บาท ภาษีร้านค้าทั้งบกและน้ำ ๑๕๐,๐๐๐ บาท ภาษีซุง ไม้สัก ๑๕๐,๐๐๐ บาท
บันทึกจากเอกสารทั้งจดหมายเหตุของชาวต่างชาติในสมัยอยุธยาและเอกสารการเก็บอากรสวน ของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในช่วงรัชกาลที่ ๕ ทำให้เห็นความสำคัญของสวนผลไม้ในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและสวนผลไม้แถบสมุทรสงครามว่า มีการปลูกไม้ผลที่สำคัญๆ คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมาก พลูค้างทองหลาง ๗ พันธุ์นี้สามารถเก็บอากรใหญ่ บริเวณใดมีจำนวนไม้ผลชนิดนั้นมากก็เรียกว่าสวนสิ่งนั้น ดังปรากฏในลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาค ๓ “เรื่องสวน”ของ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์
ช่วงปี พ.ศ.๒๔๒๕ พืชเศรษฐกิจ ๗ ชนิดที่รัฐจัดเข้าอากรสวนใหญ่คือ ทุเรียน มังคุด มะม่วง มะปราง ลางสาด หมากและพลูค้างทองหลาง จะเสียค่าอากรสูงกว่าไม้ล้มลุกซึ่งเสียเป็น อากรสมพัตรสร
ชาวสวนจะต้องเสียอากรเป็นรายปีให้แก่รัฐเรียกว่า “อากรสมพัตรสร” กำนันจะเป็นผู้เดินสำรวจนับจำนวนต้นผลไม้ ซึ่งแล้วแต่จะกำหนดว่าต้นไม้ชนิดใดเก็บเท่าใด แต่เกิดมีปัญหาการนับต้นไม้ที่ตายไปบ้างมากและชาวสวนก็ไม่ยอมเสียอากร ต่อมารัฐได้ตราพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายรัษฎากร พ.ศ. ๒๔๘๑ ขึ้นมา จึงได้ยกเลิกอากรสมพัตรสรไป
สวนฝั่งธนฯ, บางบนและบางล่าง
สมัยก่อนมีคำกล่าวถึง สวนใน-สวนนอกและ บางบน-บางล่างสวนในหมายถึง สวนตามลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นนทบุรี ธนบุรีหรือบางกอก ลงไปจนพระประแดง หรือสมุทรปราการ สวนนอกหมายถึง สวนตามลำน้ำแม่กลอง เช่นที่บางช้าง (สมุทรสงคราม) เป็นต้น
โดยมีคำเรียกให้คล้องจองกันว่า “บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน” หรือ “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง”และ “สวนในบางกอก”และยังแบ่งเรียกเป็น “บางบน”กับ “บางล่าง”
“บางบน”เป็นชื่อเรียกเรือกสวนกลุ่มที่อยู่ในคลองบางกอกน้อย หรือจากปากคลองบางกอกน้อยขึ้นไป ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของบางบน ได้แก่ ทุเรียน เงาะ กระท้อน มังคุด ละมุด
“บางล่าง”เป็นชื่อเรียกเรือกสวนกลุ่มที่อยู่แถบดาวคะนองต่อบางขุนเทียน หรือจากปากคลองบางกอกใหญ่ลงไปทางใต้ ไม้ผลที่มีชื่อเสียงของบางล่าง ได้แก่ ลิ้นจี่ ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ส้มโอ หมากพลู กล้วยหอมทอง
พื้นที่บริเวณริมคลองบางกอกน้อยทางตะวันออกของตลิ่งชัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีชื่อเสียงในการทำสวนผลไม้มาแต่อดีต แต่ปัจจุบันลดลง เพราะการขยายตัวของเมือง สวนฝั่งธนฯ เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโดยทั่วไป ท้องถิ่นนี้เหมาะแก่การทำสวนอย่างยิ่ง ปลูกอะไรก็งามทั้งนั้น ชาวสวนที่จับจองพื้นที่สวนมากเกินกำลังจะทำได้ทั้งหมด มักจะให้เช่าที่ทำสวน หรือเรียกว่า “ถือสวน” การเช่ามักจะเหมาเป็นขนัดในราคาต่อรองและตกลงกันได้ ทั้งนี้โดยดูจากขนาดของขนัดสวนและจำนวนท้องร่องสวน ซึ่งแต่ละแห่งจะมีขนาดและจำนวนไม่เท่ากันสวนเก่าแกดั้งเดิมในฝั่งธนบุรี เป็นสวนผสมทั้งสิ้น ในทางวิชาการเกษตรจัดว่าเป็นการเกษตรผสมผสานแบบพืช-พืช ซึ่งใช้ระบบการปลูกพืชที่มีความสูงต่างระดับกัน โดยคัดเลือกพืชหลากหลายชนิดที่แตกต่างกันในด้านต่างๆ มาปลูกรวมไว้ในสวนขนัดเดียวกัน บางสวนเลี้ยงปลาในท้องร่องเช่น ปลานิล ปลาจีน ปลาตะเพียน ปลาแรด เพื่อช่วยกำจัดแหนและวัชพืชน้ำ สร้างสมดุลทางธรรมชาติ สามารถนำมาบริโภคในครอบครัวและนำออกขายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างสวนทุเรียนที่บางระมาด สมัยก่อน อกร่องจะปลูกทุเรียนเป็นหลัก ริมร่องสองข้างปลูกทองหลาง ซึ่งเป็นพืชโตเร็วให้ร่มเงากับทุเรียนได้ดี ทำให้ดินเย็น ชื้น ช่วยยึดดินไม่ให้ร่องพังทลายและยังเป็นค้างให้พลูเกาะ ใบทองหลางซึ่งเป็นพืชตระกูถั่วเมื่อหล่นลงในท้องร่องเน่าสลายแล้วกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี ใต้ร่มเงาของทองหลางปลูกข่า ตะไคร้ บนคันล้อมสวนปลูกมะพร้าว มะม่วง กล้วย ซึ่งล้วนเป็นพืชที่ขึ้นง่ายช่วยบังลมพายุ
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ เขตตลิ่งชันมีการใช้พื้นที่เพียงร้อยละ ๑๗ ของพื้นที่ แขวงตลิ่งชันมีการใช้พื้นที่สูงสุดร้อยละ ๕๘ ของพื้นที่เกษตร รองลงมาคือ บางเชือกหนังและบางพรม บางเชือกหนังเป็นแขวงที่มีผลไม้ยืนต้นมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีอาชีพขยายพันธุ์ผลไม้ยืนต้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำกันแพร่หลายในเขตบางกอกน้อย ไม้ผลที่ปลูกมากได้แก่ กล้วย ทั้งกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้า ทุเรียน มะม่วง ส้ม มะนาว กระท้อน มะพร้าว
การทำสวนของชาวสวนตั้งแต่ดั้งเดิมจนทุกวันนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ “การยกร่องและทำคันดินกั้นโดยรอบขนัด” พืชที่ปลูกในแต่ละสวนแต่ละขนัดมีหลายชนิดต่างระดับกัน เรียกว่า “สวนผสม” สวนนี้จะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมแลฐานะของเจ้าของสวน และอาจมีการเลี้ยงปลาตามธรรมชาติในท้องร่องด้วย
ลักษณะของสวนแต่ละ “ขนัด” จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ถือทางน้ำเป็นหลักใหญ่จึงมักจะมีด้านใดด้านหนึ่งติดคลอง รอบสวนจะมีคันดินหรือถนนล้อรอบเขตสวนของตนซึ่งถือว่าเป็นทางเดินสาธารณะ สามารถเดินผ่านสวนทะลุไปได้ตลอด คันดินนี้ช่วยป้องกันน้ำท่วม แต่ไม่ป้องกันน้ำเค็มที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดิน
ชาวสวนมีประเพณีและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำสวน เช่น การตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ไว้ที่สวน เมื่อเก็บผลผลิตแล้วครั้งหนึ่ง ชาวสวนจะคัดทุเรียนลูกที่ดีถวาย ๑ ลูก และบนบานศาลกล่าวให้ผลผลิตในปีต่อไปดกกว่าเดิม และชาวสวนมักจะพึ่งพระขอพรหรือบนบานให้สวนทุเรียนหรือสวนผลไม้มีผลผลิตที่ดกดีกว่าเดิม เป็นการหาที่พึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงของชาวสวนอย่างเห็นได้ชัด
ทุเรียน: พญาแห่งผลไม้
ทุเรียนเป็นที่รู้กันว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบมลายู ไทย พม่า ชวา อินเดีย และลังกา ทุเรียนเป็นไม้ถิ่นมลายู ตามชื่อภาษาอังกฤษว่า Durian ชวาเรียกว่า Dooren ซึ่งออกเสียงกลายเป็นทุเรียน เข้าใจว่าคงคัดเลือกพันธุ์ที่ดีมาจากชวาหรือมลายูมาปลูกในไทยจนกลายเป็นไม้พื้นเมือง
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ดินที่ปลูกทุเรียนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นดินเหนียวยกร่อง ต่อมาขยายพันธุ์ไปปลูกที่จันทบุรีที่เป็นดินปนทราย จึงขยายไปตราดและระยอง ต่อมาก็เป็นที่นครนายก อากาศที่คล้ายคลึงกัน ภาคใต้ปลูกที่ชุมพร หลังสวน สุราษฎร์ และภูเก็ต แต่เดิมปลูกทุเรียนเนื้อบางเรียกกันว่า ทุเรียนนอกและขยายพันธุ์จากเมล็ดเป็นทุเรียนป่า นอกจากนี้ก็มีที่อุตรดิตถ์ที่ลับแล เป็นทุเรียนป่าเช่นกัน
เอกสารเก่าก็จะมีเรื่องเกี่ยวทุเรียนเขียนไว้มากมาย เพราะทุเรียนเป็นเสมือนผลไม้ทิพย์ที่คนไทยนิยมรับประทานกันมากที่สุดและทุเรียนดีมักมีราคาแพง ในปัจจุบันราคาทุเรียนพันธุ์ก้านยาวของสวนเมืองนนท์ที่ยังคงเก็บรักษาไว้ได้บางแห่ง ๒-๓ ผลก็ราคาเกือบหมื่นบาท
เล่ากันว่า ทุเรียนบางบนในคลองบางกอกน้อย เช่น ที่บางผักหนาม เป็นทุเรียนดีมีชื่อจำเพาะต้นนั้นพันธุ์นั้น ผลโตงามพูใหญ่สีเนื้อเหลืองแต่หยาบ รสมันมากกว่าหวาน ซื้อขายกันได้ราคา เรียกว่าทุเรียนบางบนครั้นภายหลังมาในถิ่นบางบนนี้มีน้ำท่วมบ่อยๆ ต้นทุเรียนทนน้ำไม่ค่อยไหวล้มตายเสียแทบหมด
ทุเรียน บางล่างเนื้อละเอียดแต่บาง สีเหลืองอ่อนมักจะเป็นสีลาน แต่รสหวานสนิทดีกว่าบางบนคนชอบใจกินมาก
ทุเรียน เป็นพืชที่ตลาดนิยม สามารถสร้างรายได้ดีให้แก่ชาวสวน แถวธนบุรี นนทบุรีและกรุงเทพ ฯ เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีก่อน ปลูกทุเรียนกันมากเรียกว่าทุเรียนสวน ถือว่าเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพดียิ่งและมีราคาค่อนข้างแพง ฝั่งธนบุรีแถวบางบนปลูกได้ดีเฉพาะที่ตำบลบางขุนนนท์ บางขุนศรี ตำบลคลองชักพระ ตำบลตลิ่งชัน แถบบางล่างก็ปลูกได้ดีเช่นกัน แต่มีสีสันและรสชาติแตกต่างกัน ต่อมาสวนทุเรียนแถบบางบนลดน้อยลงเพราะน้ำท่วมแทบทุกปี
๖. พ่อค้านั่งขายทุเรียนในตลาด
๗. ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ จากซ้ายไปขวาบน “ชายมะไฟ”, “ดาวกระจาย”, “การะเกตุ”, จากซ้ายไปขวาล่าง “บางขุนนนท์”, “สาวชม”
จากหนังสือ “พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน” ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งไว้ราว พ.ศ.๒๔๒๗ กล่าวถึงชื่อทุเรียนเป็นคำกลอนไว้ถึง ๖๘ พันธุ์ (ดูเชิงอรรถ)
ต่อมามีการขยายพันธุ์และเกิดพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เคยสำรวจพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกอยู่ทั่วไปในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สามารถระบุชื่อพันธุ์ได้ ๑๒๐ พันธุ์ แต่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการค้าประมาณ ๖๐-๘๐ พันธุ์ ซึ่งโดยมากปลูกอยู่ทางฝั่งธนฯ และนนทบุรี เฉพาะในฝั่งธนฯ ที่สำรวจพบขณะนั้น และเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมีประมาณ ๔๐ พันธุ์
สวนหลายขนัดเคยล่มเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. ๒๔๖๐ และ พ.ศ. ๒๔๘๕ มาแล้ว และสันนิษฐานว่าหลังปี พ.ศ. ๒๔๘๕ มีผู้นำทุเรียนจากที่นี้ไปปลูกยังจันทบุรีอยู่เรื่อยๆ ต่อมาพันธุ์ดีๆ เหล่านี้ได้แพร่หลายไปในจังหวัดต่างๆ เช่น ตราด ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี
ความนิยมในการบริโภคทุเรียนสมัยนั้นราว พ.ศ.๒๕๐๐ นิยมกันที่ ทุเรียนที่มีผลใหญ่ เปลือกบาง เนื้อมาก เมล็ดเล็ก ไม่ฉุนรุนแรง เนื้อสวย ไม่เปียกแฉะ ท้องตลาดนิยมสีนาก (สีเหลืองปนแดงแบบสีจำปา) รองลงไปก็เป็นสีเหลืองแก่ สีเหลือง จนกระทั่งสีลาน (คล้ายสีใบลาน) ตามลำดับ ส่วนลักษณะเนื้อนั้นนิยมเนื้อที่ละเอียด ไม่มีเสี้ยน รสหวานมัน
ความนิยมของตลาดผู้บริโภคทุเรียนปัจจุบัน จะเห็นว่าเหลือเพียงไม่กี่พันธุ์เท่านั้น เช่น พันธุ์หมอนทอง ที่ยังขายได้ราคาดีทั้งในตลาดภายในและภายนอกประเทศ ส่วนพันธุ์ชะนี แม้จะยังเป็นที่นิยมทั่วไป แต่ราคาในตลาดถูกกว่าหมอนทองหลายเท่า ชาวสวนจึงหันไปปลูกหมอนทองมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเป็นที่นิยม อย่างพันธุ์ก้านยาวกลายเป็นพันธ์หายากและมีราคาแพง สวนในท้องถิ่นตลิ่งชันนั้นในยุคเฟื่องฟูที่สุดนั้นปลูก ทุเรียนโดยเฉพาะจากบางขุนนนท์ ที่กลายเป็นแม่พันธุ์ขยายไปสร้างชื่อเสียงให้เมืองนนทบุรีในปัจจุบัน ชมพู่ มะไฟ มะพร้าว กระท้อน มะพร้าวมีหลายพันธุ์ทั้งแดงและเหลืองที่เรียกว่า พันธุ์หมูสี ส่วนมะพร้าวน้ำหอมเพิ่งเข้ามาภายหลัง กระท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย ขันทอง ทับทิม พันธุ์ทับทิมมีชื่อมากยิ่งแก่ยิ่งอร่อย หรือพันธุ์ส้มเขียวหวานจากคลองบางระมาดที่ไปเด่นดังในย่านบางมด มะม่วงที่ถือว่ามีชื่อของตลิ่งชันคือพราหมณ์ขายเมีย เป็นมะม่วงสุกกินกับข้าวเหนียวมะม่วง ส่วนมะม่วงดิบนั้นเป็นพวกพิมเสนมันและทองดำ
ในเขตตลิ่งชันพืชพันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ผลไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้ พืชเหล่านี้ปลูกกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถจำแนกตามชนิดและพันธุ์ต่างๆ ที่สำคัญได้ดังนี้
มะพร้าว มะพร้าวใหญ่(สำหรับแกง) กระท้อนพันธุ์ทับทิม พันธุ์ล่าหรืออีล่า มะไฟพันธุ์ครูถิน พันธุ์ยายเพาะ พันธุ์ไข่เต่า พันธุ์ปุยนุ่น พันธุ์ตาเจือหรือเหรียญทอง พันธุ์น้ำตาลทราย พันธุ์ชะอม
มะม่วงพันธุ์พราหมณ์ขายเมีย พันธุ์เขียวไข่กา พันธุ์เขียวเสวย พันธุ์อกร่อง
ชมพู่พันธุ์สีนาก พันธุ์มะเหมี่ยว พันธุ์แขกดำ พันธุ์น้ำดอกไม้ พันธุ์แก้มแหม่ม
ทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า พันธุ์ตาขำ พันธุ์ชะนี พันธุ์ขั้วสั้น พันธุ์ก้านยาวพันธุ์ พันธุ์กะเทย
ละมุดพันธุ์สีดา พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์มะกอก
ส้มพันธุ์เขียวหวาน พันธุ์ส้มจี๊ด พันธุ์ส้มโอ
กล้วยกล้วยน้ำหว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง กล้วยตานี กล้วยนาก
รวมทั้งหมาก ปะปราง ขนุน มะกรูด มะนาว เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีพืชไม้ป่าทั้งชนิดยืนต้นและชนิดเลื้อยที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ชำมะเลียง มะกอกน้ำ จิกน้ำ ตะลิงปลิง มะหวด มะขวิด มะตาด ไทร บอระเพ็ด ฟักข้าว ไผ่ต่างๆ
ต่อมาจนถึงช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ตาม พื้นที่สวนผลไม้เขตฝั่งธนบุรีและนนทบุรีก็ยังมีสวนที่รุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์มากที่สุด ผลไม้หลักที่ขึ้นชื่อมากที่สุดคือ ทุเรียน รองลงไปมีส้มเขียวหวานและส้มโอ มังคุด ส่วนพวกสับปะรดมักจะปลูกแซมระหว่างต้นไม้หลัก พวกละมุด มะปราง มะม่วง มะพร้าว มะนาว และกล้วย ก็มักปลูกตามคันสวน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เกิดน้ำท่วมใหญ่และท่วมสูงติดต่อกันหลายเดือน สวนผลไม้ในเขตกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี เสียหายอย่างหนัก ยืนต้นเกือบหมดสิ้น จากนั้นจึงมีการปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งแม้จะต้องเสียเวลาบำรุงรักษานับสิบปี แต่เนื่องจากเป็นไม้ผลราคาดี ชาวสวนจึงนิยมปลูกใหม่กันทั่วไป ดังนั้น จึงยังคงมีสวนทุเรียนหลงเหลือมาอยู่
นอกจากปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งใช้เวลานานชาวสวนทุเรียนใช้วิธีตอนกิ่งปลูก เพาะเมล็ดน้อยลง ก็คงเลือกเฉพาะพันธุ์ที่ดีและมีคนชอบพันธุ์เก่าๆ คงสูญหายไป ข้อมูลจากการสำรวจที่พิมพ์โดย สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วงราว พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๖ มีพันธุ์ทุเรียนเกือบ ๒๐๐ พันธุ์ ระยะเวลาจากนั้นราว ๘๐ ปี มีเพิ่มมากขึ้นกว่า ร้อยพันธุ์เศษ มีกำเนิดขึ้นในท้องถิ่นตลิ่งชัน
ความผันแปรของการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาจนไปถึงเขื่อนภูมิพล รวมทั้งการขุดลอกสันดอนปากน้ำและนโยบายการชลประทานแบบแยกส่วนระหว่างบริเวณที่เป็นน้ำจืดและน้ำเค็ม ทำให้รูปแบบน้ำแบบลักจืดลักเค็มด้อยไปเพราะเป็นการบิดเบือนธรรมชาติและรูปแบบการใช้น้ำในท้องถิ่นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ ทำให้สวนทุเรียนและสวนผลไม้ทรุดโทรมไปตามลำดับ
สวนผัก: สวนของคนจีน
แม้ว่าคนไทยประกอบอาชีพทำสวนมาหลายศตวรรษ ยังมีคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในฝั่งธนบุรียึดอาชีพทำสวนด้วยโดยเริ่มแรกเข้ามาถือสวนจากชาวสวนไทยแต่คนจีนมักปลูกพืชที่ขายได้กำไร หรือเป็นพืชเศรษฐกิจตามสมัยนิยม สวนของคนจีนจึงมีทั้งสวนหมาก สวนพลูและสวนผักที่ชาวจีนนิยมปลูกกันพวกหัวไชเท้า ผักกาด พร้อมกับเลี้ยงหมูควบคู่ไปด้วย ดังจะเห็นได้จากบันทึกของชาวยุโรปที่เข้ามาบางกอกในสมัยรัชกาลที่ ๓ กล่าวถึงสวนของคนจีนที่อยู่ลึกเข้าไปจากแม่น้ำในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๙ ว่า
มีการทำสวนกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก อาจจะพูดไม่ได้ว่าเป็นสวนที่มีคุณภาพดีเลิศ แต่ทว่าเป็นสวนที่งอกงามดี…. มีร่องถั่ว….ผักกาดหอม หัวไชเท้า (หัวผักกาด) ใบพลู และหมาก ซึ่งปลูกกันเป็นส่วนใหญ่ในสวน ชาวสวนอยู่อาศัยในกระต๊อบสกปรกเล็กๆ ภายในอาณาบริเวณไร่สวนของตน มีสุนัขเฝ้าสวนเป็นจำนวนมากและมีเล้าหมูส่งกลิ่นตลบอบอวล
วิธีทำสวนของคนจีนแตกต่างกับชาวสวนไทย เพราะทำควบคู่กับการเลี้ยงสัตว์ โดยใช้มูลสัตว์และปลาเน่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ ช่วยทำให้พืชผักงอกงาม ขายได้ราคา ในยุคแรกๆ คนไทยส่วนหนึ่งก็ไม่นิยมกินผักจากสวนของคนจีนเพราะเห็นว่าสกปรก โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ามีการนำมูลคนไปรดผักและเชื่อเช่นนั้นอยู่เป็นเวลานาน แต่ผักจากสวนของคนจีนเน้นปลูกจำนวนมากและราคาไม่แพง ด้วยความขยันอุตสาหะ สวนผักของคนจีนจึงกลายเป็นพืชผักหลักในการบริโภคในสำหรับอาหารและแทนที่ผักท้องถิ่นที่ออกผลตามฤดูกาลและมีจำนวนหลากหลายกว่า
แวริงตัน สมิทกล่าวถึงการเดินทางไปกาญจนบุรีในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อผ่านเรือกสวนก็ระบุชัดว่าในช่วงเวลานั้นมีการปรับพื้นที่จากที่นาให้เป็นสวนยกร่องแบบจีน และสวนแบบนี้มักจะเป็นการปลูกพืชผักเพื่อขายภายในและการส่งเป็นสินค้าส่งออกในระบบตลาดอย่างชัดเจน ทั้งอ้อยที่ไปหีบทำเป็นน้ำตาล หมากซึ่งเป็นสินค้าที่มีความต้องการมาก ส่วนพริกไทยนั้นก็มีความต้องการของตลาดมาก
ทุ่งนามักจะทำให้เหมาะเป็นสวนจีน ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อย ต้นหมาก และต้นพริกไทย โดยปลูกเป็นแถวยาวขนานไประหว่างคูน้ำ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองมหาสวัสดิ์เชื่อมคลองบางกอกน้อยออกแม่น้ำท่าจีน สองฝั่งคลองขุดใหม่ก็เริ่มมีชาวจีนเข้ามาเช่าที่ตั้งรกรากปลูกผักขายทั้ง คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ฯลฯ จนบริเวณริมฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ด้านใต้กลายเป็นพื้นที่ยกร่องทำสวนผักของคนจีน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วเกือบทั้งนั้น และบริเวณนี้เรียกว่า “สวนผัก” มาจนถึงปัจจุบัน
การทำสวนของคนจีนให้เกิดรายได้ดี ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ชาวจีนจำนวนหลายพันในเมืองใกล้เคียงกรุงเทพ ฯ ได้พากันไปรับจ้างทำสวนผักและสวนพลู กับเลี้ยงหมู ทำให้การทำสวนและเล้าหมูแพร่หลายยิ่งขึ้น
ย่านสวนผักเป็นสวนยกร่องน่าจะเริ่มตั้งแต่หลังขุดคลองมหาสวัสดิ์แล้วและเกิดคลื่นอพยพของคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาทำมาหากินในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวจีนแถบนี้นับถือทั้งพุทธและคริสต์ศาสนาและนับถือเจ้าพ่อและศาลเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน คือ ศาลเจ้าและโรงเจเซียมซือกง โรงเจต้นโพธิ์ ศาลเจ้าพ่อจุ้ยและศาลเจ้าเห้งเจีย นอกจากนี้ ยังมีคนญวนที่เข้ามายังกรุงเทพฯ ในช่วงที่บ้านเมืองญวนเกิดความไม่มั่นคงและเป็นกลุ่มที่นับถือ คริสต์ศาสนา ในบริเวณนี้จึงมีโบสถ์คริสต์ของคนเชื้อสายจีนและญวนที่วัดศีลมหาสนิท ย่านสวนผัก
ปัจจุบันย่านสวนผักกลายเป็นซอยใหญ่ที่เลียบคลองมหาสวัสดิ์และแยกออกไปยังถนนหลายสาย เช่นแถบทุ่งมังกร ฉิมพลีซึ่งมีถนนสายใหญ่ตัดผ่าน ทำให้แยกส่วนไม่เชื่อมต่อเนื่องเช่นเดิม สวนผักก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและบ้านเรือนผู้คนไปจนเกือบหมดแล้ว นอกจากบริเวณรอบนอกไปทางฝั่งตะวันตกที่ยังมีพื้นที่สวนผักแซมไปกับตึกรามขนาดใหญ่
คนจีนที่นี่มีเชื้อสายแต้จิ๋ว คนรุ่นพ่อแม่ของคนอายุราว ๕๐-๖๐ ปี มักอพยพมาจากเมืองจีน เพราะเป็นพื้นที่ทำสวนทั้งหมด แต่คนจีนที่เข้ามาทำสวนก็มักจะเช่าที่ทั้งสิ้น
การปลูกผักนั้น ชาวสวนผักจะปลูกเองและขายเอง ขายส่งที่หน้าบ้านและที่สะพานผัก ราคาขึ้นลงตามตลาดไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับโรคผักด้วย แต่ผักคะน้าจะได้ราคาดีกว่า ชาวสวนผักทุกวันนี้ใช้จ้างแรงงานลงแขก เพราะไม่สามารถทำได้ในครอบครัวเดียวแล้วผักที่ปลูกส่วนใหญ่คือ กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง
แต่ปัญหาที่ชาวสวนผักพบและถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งในปัจจุบันก็คือ น้ำท่วม บางปีน้ำขึ้นสูงมากและเริ่มบ่อยขึ้นๆ เพราะพื้นที่ต่ำติดคลองมหาสวัสดิ์และส่วนใหญ่มักปล่อยให้ชาวสวนต้องสู้ด้วยตนเอง
ในเขตตลิ่งชัน หลังจากประสบภัยน้ำท่วมรุนแรง สวนผลไม้เสียหายหนัก ชาวสวนจึงหันมาทำสวนผักกันจนขยายพื้นที่ไปทุกแขวงยกเว้นแขวงชักพระ เพราะลงทุนน้อยและเก็บผลผลิตขายได้เร็ว แขวงตลิ่งชันและฉิมพลีปลูกผักจีนมาก ส่วนแขวงบางเชือกหนังและบางพรมปลูกผักไทยโดยเฉพาะมะกรูด มะนาว สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมได้ดี ชาวสวนจึงพากันปลูกมากขึ้นในแถบบางระมาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๖ เรื่อยมา จนกลายเป็นแหล่งผลิตและขายส่งที่สำคัญแหล่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ฯ การปลูกผักก็ยังเป็นการปลูกแบบสวนผสม ชาวสวนมักปลูกข่ากับตะไคร้คูกันหรือปลูกมะกรูดคู่กับใบเตยเล็ก ใบเตยใหญ่ และการปลูกผักแบบสวนของคนจีนจะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ผักจีนที่ปลูกกันมีหลายอย่าง เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักกาด กะหล่ำ ผักบุ้งจีน กุยช่าย และผักไทย เช่น โหระพา กระเพรา นอกจากนั้นยังนิยมปลูกพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว เช่น ขิง ข้าวโพด
“สวนต้มยำ” ได้แก่ ข่า ตะไคร้ มะนาว มะกรูด แขวงบางระมาด หมู่ ๓-๕ และหมู่ ๑๘-๒๐ ทำสวนมะกรูด รายได้ดี เพราะมีพ่อค้ามารับไปอบแห้งแล้วส่งขายยุโรป หมู่ ๑๕ ปลูกข่าและตะไคร้มาก
เจ้าของสวนผักแถบสวนผักบางคนก็เช่าสวนทำเช่นเดียวกับคนเชื้อสายจีนแต่ย้ายมาจากพื้นที่นาแถบคลองบางระมาด ราวๆ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมาและปลูกพืชผัก เช่น ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง ใบกระเพรา โหระพา เป็นต้น และปลูกพืชหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพราะยังเป็นดินร่วนดินดีเนื่องจากเป็นดินเก่า
ชาวสวนผักและสวนผลไม้ปลงกับสภาพแวดล้อมดังกล่าวและลงความเห็นว่า การทำสวนผลไม้ สวนผักแบบจริงจังในพื้นที่ตลิ่งชันทุกวันนี้นั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงทั้งน้ำท่วม น้ำขัง ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลงที่ราแพง และยังเป็นงานหนักที่น่าเหน็ดเหนื่อยจนชาวสวนไม่อยากให้ลูกหลานกลับมาสืบทอดอาชีพที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยทำไว้ อนาคตของสวนที่ตลิ่งชันจึงคงเหลืออยู่แต่เพียงรอวันโรยและและหมดสิ้นไปในที่สุด ท่ามกลางผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ใต้ถนนคอนกรีตสายใหญ่และหมู่บ้านจัดสรรหลังงาม
๑๖. พื้นที่สวนผักแถบตลิ่งชันที่ยังคงมีอยู่ไม่มากนัก
เมื่อเมืองรุกไล่ “สวน” คือความทรงจำ
ชาวสวนชาวสยามที่เคยมีชีวิตอยู่อย่างสงบร่มเย็นในอดีต และเมืองได้เข้ามารุกไล่ จนชาวสวนดั้งเดิมต้องมีชีวิตเงียบๆ ในสวนลึกๆ ห่างจากถนนใหญ่และชาวสวนบางคน บางตระกูลก็ต้องละเลิกหายหน้าไปเนื่องจากการสร้างถนนผ่ากลางบ้านและกลางใจคนดั้งเดิม
สวนที่กลายเป็นเมืองในปัจจุบันนอกจากจะหาทางออกเรื่องแก้ไขสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้แล้ว ยังทำได้เพียงพยุงความรู้สึกของการเป็นคนริมน้ำและใช้ชีวิตท่ามกลางต้นไม้และผืนดินไว้เท่าที่การท่องเที่ยวที่สร้างตลาดน้ำหรือตลาดบกขึ้นมาใหม่จะทำได้ ทั้งที่นา สวนผลไม้และสวนผัก ถือเป็นเพียงเรื่องราวติดที่ของอดีตที่เคยรุ่งเรืองในการเป็นพื้นที่ซึ่งผลิตผลไม้รสชาติดีที่สุดแห่งหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของการใช้ที่ดินและน้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและการขยายตัวของมหานคร เกิดขึ้นจากโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมจึงเกิดขึ้นอย่างถาโถมและรุนแรงมากเสียจนการแก้ปัญหาเฉพาะสวนเฉพาะตัวเช่นแต่ก่อนก็ไม่สามารถต้านทานได้
น่าเสียดายสิ่งที่ต้องสูญเสียไป หากผู้ใดเคยไปท่องเที่ยวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำต่างๆ ในเขตร้อน โดยเฉพาะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเวียดนามก็พอจะมองเห็นว่าพืชผัก ผลไม้ต่างๆ ล้วนมีพันธุ์ใกล้เคียงกันแต่ต่างกันที่รสชาติอันเนื่องมาจากความชำนาญที่สั่งสมในการคัดเลือกสายพันธุ์และสร้างสายพันธุ์ใหม่ของชาวสวนที่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้อาจะเรียกว่าภูมิปัญญาก็ได้ การสั่งสมและการถ่ายทอดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาอันรวดเร็วต้องศึกษาทดลองบางทีอาจจะหลายชั่วคน
ชาวสวนของเราถูกบังคับโดยปริยายให้ละทิ้งสิ่งเหล่านี้ไป และนำเอาถนนสายใหญ่ตึกรามบ้านช่องสวยสง่าใหญ่โตและสนามหญ้าหน้าบ้านเข้ามาแทนที่ บทสรุปก็คือ เราละทิ้งมรดกที่มีค่าไว้เบื้องหลังแต่กลับถูกยัดเยียดโครงสร้างทางกายภาพและชีวิตวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่ฉาบฉวยและทำลายพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหม่ [Young Delta] มาแทนที่ ถึงขณะนี้ก็เพียงรอดูว่า เราจะบังคับธรรมชาติไปได้ตลอดหรือไม่เท่านั้น
กรุงเทพมหานครได้ทำการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒ นั้น เขตตลิ่งชันถูกกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอยู่ในประเภท “พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม”หรือพื้นที่สีเขียวเพื่อทำการเกษตรกรรมและเป็นพื้นที่ช่วยในการระบายน้ำของฝั่งธนบุรี
“ฝั่งธนบุรี” ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยเรือกสวนผลไม้ที่อยู่ตามลำคลองสายต่างๆ เรียงขนานแยกจากแนวลำน้ำสายใหญ่ในแนวตะวันตก-ตะวันออก เมื่อลึกเข้าไปตามลำน้ำจากสวนผลไม้ก็เปลี่ยนเป็นไร่นาปลูกข้าว โดยแบ่งพื้นที่กันอย่างชัดเจน เมื่อมีการขุดคลองมหาสวัสดิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พื้นที่สองฝั่งคลองกลายเป็นที่นา ต่อมาภายหลังมีการให้ชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่เช่าที่ดินเพื่อยกร่องปลูกผักทำให้ฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ด้านใต้กลายเป็นสวนผักและปรากฏเป็นย่านชื่อ “สวนผัก” มาจนทุกวันนี้ แม้สวนผักจะค่อยๆ หมดไปเมื่อพื้นที่กลายเป็นชานเมืองมากขึ้นตามลำดับ
พื้นที่บริเวณฝั่งธนฯ เป็นดินตะกอนชุดธนบุรีซึ่งเป็นดินที่เหมาะแก่การทำสวน ทำไร่ พบแถบตะวันออกของพื้นที่ และ ดินชุดบางเลนและบางกอกซึ่งเหมาะแก่การทำนาทางด้านตะวันตกของพื้นที่ เป็นบริเวณที่มีคลองการขุดและคลองธรรมชาติเป็นเครือข่ายหนาแน่น ทำให้เป็นเขตเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ พื้นที่เพาะปลูกของตลิ่งชันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจากสวนผลไม้ นาข้าวและสวนผักในยุคหนึ่งจนกลายมาเป็น พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นการจัดแบ่งผังเมืองของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่สีเขียวนั้นห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแต่ไม่ห้ามสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยหรือหมู่บ้านจัดสรรแต่อย่างใด
๘. สวนกล้วยไม้ที่คลองบางน้อย
๙. สวนผลไม้ร้างที่เปลี่ยนมาปลูกข่า ตะไคร้ มะกรูด พริกที่เรียกว่า “สวนต้มยำ” ที่ตลิ่งชัน เนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมื่อเมืองรุกไล่เข้ามาเรื่อยๆ
๑๐. ริมคลองชักพระที่มีตึก หอพักและอพาทเม้นท์มาแทนที่สวนและบ้านเรือนริมคลอง
๑๑. การใช้เรือพายเป็นพาหนะหลักในแถบตลิ่งชันเมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๐
๑๒. แผนที่มณฑลกรุงเทพฯ ราวพ.ศ. ๒๔๔๔ เห็นได้ชัดว่าคลองซอยตามธรรมชาติแต่เดิมในเขตตลิ่งชันวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นเขตเรือกสวนไร่นา และคลองขุดตรงที่เพิ่มขึ้นคือ คลองมหาสวัสดิ์ทางด้านบนและคลองทวีวัฒนาที่ตัดขวางทางด้านตะวันตก
๑๓. ตลาดน้ำดั้งเดิมของชาวบ้านแถบตลิ่งชัน เมื่อราว พ.ศ.๒๕๑๐
๑๔. ปลายสะพานบนถนนราชพฤกษ์ ขณะทำการก่อสร้างและเวนคืน จะเห็นว่าผ่ากลางเข้าไปในสวนผลไม้ของชาวบ้านโดยตรงและมีชาวบ้านบางคนไม่ยอมให้เวนคืนบ้านเรือนและที่ดินที่อยู่มาเก่าแก่หลายชั่วอายุคน จนต้องมีการฟ้องร้องขับไล่หญิงชราเจ้าของบ้านจนเป็นที่น่าเวทนา
๑๕. ทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรหรูหราริมถนนราชพฤกษ์ซึ่งไม่กี่ปีก่อนเคยเป็นที่สวนแต่เดิม
อย่างไรก็ตาม ก็มีการฝ่าฝืนอย่างเห็นได้ชัด กลายเป็นเขตที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางเมืองมาก ความเจริญ เช่น การตัดถนนหนทางสายต่างๆ จึงรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี หมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่และหรูหราเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น การขยายของมหานครทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงกันบริเวณนี้เป็นแหล่งที่พักอาศัยและเปลี่ยนจาก ที่นา ที่สวน ซึ่งมีธรรมชาติของดินอันอุดมสมบูรณ์ไปอย่างสิ้นเชิง
จากภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบันความหนาแน่นของประชากรและการอยู่อาศัยในลักษณะแบบเมืองหนาแน่นมากที่สุดในบริเวณฝั่งพระนครและกระจายตัวหนาแน่นขยายออกไปมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนสวนในฝั่งธนบุรีบริเวณใกล้ลำน้ำเจ้าพระยามีความหนาแน่นของการอยู่อาศัยไม่ต่างจากฝั่งพระนคร ส่วนพื้นที่สวนในเขตตลิ่งชันที่ได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นพื้นที่สีเขียวเมื่อมีถนนสายใหญ่ตัดผ่านทำให้มีการสร้างอาคารสถานที่ หมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามมา
พื้นที่สวนหรือพื้นที่สีเขียวที่ยังมีอยู่และยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่หนาแน่นก็ตั้งแต่บริเวณฝั่งคลองชักพระบางส่วนมาจนจรดถนนกาญจนาภิเษกในบริเวณที่อยู่ไกลจากถนนหลักหรือถนนซอย ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีโอกาสที่จะถูกรุกไล่จากพื้นที่ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว แม้จะมีการกำหนดผังเมืองรวมในการใช้ที่ดินของกรุงเทพมหานคร แต่ก็ไม่สามารถเก็บรักษาสวนผลไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดเอาไว้ได้
๑๗. ถนนสายใหญ่ที่ตัดผ่านแบ่งพื้นที่ตลิ่งชันที่อยู่ด้านหลังถนนให้กลายเป็นเรือกสวนที่ถูกปิดล้อมและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสวนผลไม้แต่เดิมเป็นสวนไม้ดอกไม้ผลชนิดอื่น
๑๘. หมู่บ้านจัดสรรบริเวณบางระมาดที่เป็นเป็นแปลงนามาก่อน
๑๙. ถนนสายราชพฤกษ์ที่ตัดผ่ากลางสวนย่านตลิ่งชัน
หมายเหตุ **** พื้นที่สีเขียวในประกาศผังเมืองรวมหมายถึง พื้นที่ว่างเว้นหรือพื้นที่โล่งนอกเหนือจากการปลูกสร้างของเมือง การกำหนดเขตการใช้ที่ดินตามกฎหมาย เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก บางครั้งก็เรียกว่าริ้วสีเขียว [Green Belt] เป็นการควบคุมการพัฒนาเมืองมักจะไม่ให้ปลูกสร้างอะไรเลย เป็นกลไกในการป้องกันการกระจายของเมืองหรือการกระจายเชื่อมต่อไปถึงเมืองอื่น มีในประเทศไทยมีการประกาศใช้พื้นที่สีเขียวครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๒๒ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เกษตร ใน ๔ อำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมโดยเด็ดขาด พื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร กำหนดโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๕ การกำหนดเขตการใช้ที่ดินตามกฎหมาย เพื่ออนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมในที่ดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก บางครั้งก็เรียกว่าริ้วสีเขียว [Green Belt] เป็นการควบคุมการพัฒนาเมืองมักจะไม่ให้ปลูกสร้างอะไรเลย เป็นกลไกในการป้องกันการกระจายของเมืองหรือการกระจายเชื่อมต่อไปถึงเมืองอื่น
ขอบคุณภาพ ๑๗. จาก pointasia.com
๑๘,๑๙ จาก google.com