หน้าหลัก
เกี่ยวกับมูลนิธิ
วันเล็ก-ประไพ รำลึก
ติดต่อเรา
ศาสนาของคนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
เรียบเรียงเมื่อ 10 มิ.ย. 2559, 13:37 น.
เข้าชมแล้ว 80170 ครั้ง

โดยทั่วไปในสังคมไทยทุกวันนี้ การทำความเข้าใจเรื่องศาสนามักเป็นมุมมองในด้านความหมาย ความสำคัญของศาสนาในลักษณะที่เป็นปรัชญา คือ เป็นเรื่องขาว-ดำแต่เพียงอย่างเดียว จึงเป็นการมองเห็นศาสนาในลักษณะที่หยุดนิ่งและเป็นอุดมคติจนเปลี่ยนแปลงอะไรมิได้

 

แต่ในบทความนี้จะมองศาสนาในลักษณะที่เป็น การปฏิบัติจริงๆ ของคนในสังคมเป็นสำคัญ นั่นคือ มองจากสิ่งที่มนุษย์กระทำและประพฤติ ซึ่งเป็นลักษณะที่เคลื่อนไหวและมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังไม่มีข้อยุติในเรื่องขาว-ดำอย่างถาวร เพราะผู้คนในสังคมมีหลายกลุ่มเหล่าและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามรุ่น อายุ สมัย เวลาในพื้นที่อันหลากหลาย โดยเฉพาะการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่มีการจดบันทึกหรือการถ่ายทอดเนื้อหาและหลักธรรมไว้ชัดเจนด้วยแล้ว

 

การได้มาซึ่งศาสนาทางปรัชญาหรืออุดมคติเป็นอย่างไรนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จำต้องอาศัยแนวคิดและวิธีการทางมานุษยวิทยามาเป็นกรอบและทิศทางในการศึกษาและวิเคราะห์จากร่องรอยทางพฤติกรรมของคนในยุคนั้นที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางโบราณคดีเป็นสำคัญ

 

ในแนวคิดของนักมานุษยวิทยารุ่นเก่าๆ แบบเก่าๆ เช่นข้าพเจ้าเชื่อว่า “ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ” และความเชื่อเป็นมิติของความจริงอย่างหนึ่งในความเป็นมนุษย์  ศาสนาของมนุษย์โบราณคือ ศาสนาและไสยศาสตร์ ในขณะที่ศาสนาของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

ความแตกต่างกันของคนโบราณในดินแดนประเทศไทยกับคนไทยยุคใหม่ภายใต้รัฐบาลระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกนั้นก็คือ ศาสนาและไสยศาสตร์มีมิติทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแลเห็นเพียงมิติทางธรรมชาติหรือความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่เป็นวัตถุธรรมเท่านั้น  คำจำกัดความของศาสนาของคนโบราณคือ  “ความเชื่อในอำนาจนอกเหนือธรรมชาติ” และเป็นความเชื่อที่มนุษย์ยอมสยบและเชื่อฟัง ในขณะที่ไสยศาสตร์เป็นความเชื่อที่มนุษย์คิดว่าสามารถควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการมองโลกของคนโบราณที่ประกอบด้วย “ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ”  โดยเฉพาะความสัมพันธ์หลังนั้นนำไปสู่ความคิดในเรื่องจักรวาลวิทยาของผู้คนในสังคมที่รับรู้ร่วมกัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ศาสนาและความเชื่อของคนโบราณก็มีความแตกต่างกันตามสภาพของสังคมที่แบ่งออกเป็นสังคมที่มีลายลักษณ์ [Literate society]กับ สังคมที่ไม่มีลายลักษณ์ [Non-literate society]

 

ในสังคมที่มีลายลักษณ์ซึ่งส่วนมากเป็นสังคมในสมัยประวัติศาสตร์ที่มีอารยธรรมแล้วนั้น จะมีหลักฐานทั้งทางด้านเอกสาร เนื้อหาลัทธิทางศาสนาและศาสนสถาน ตลอดจนเรื่องราวของบุคคลทางความเชื่อและศาสนาค่อนข้างชัดเจน แต่ในสังคมที่ไม่มีลายลักษณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ร่องรอยหลักฐานทางเอกสารที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับลัทธิ ประเพณี พิธีกรรม แทบหาไม่ได้เลย เพราะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันจากคำบอกเล่าและความทรงจำของผู้คนซึ่งเมื่อตายไปแล้ว หมดไปแล้วก็สิ้นสุดกัน ยังคงเหลือแต่เพียงร่องรอยของแหล่งที่เคยเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งประเพณีพิธีกรรมและกิจกรรมทางสังคมไว้ให้ต้องทำการศึกษาและตีความกันต่อไป

 

ในเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาต้องหันมาใช้การศึกษาในเชิงเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ที่ยังมีความล้าหลังทางเทคโนโลยีและไม่มีลายลักษณ์แทน เพราะสังคมในลักษณะนี้ยังคงเหลือร่องรอยพฤติกรรมทางความเชื่อและความคิดทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่คล้ายๆ กันกับคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ แต่เรื่องนี้ก็ต้องกระทำกันด้วยความระมัดระวังในการวิเคราะห์ ตีความ และสรุป เพราะผู้คนของสังคมที่ล้าหลังทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ล้วนมีความรู้สึกนึกคิด [Mentality]เป็นคนสมัยปัจจุบันทั้งสิ้น

 

 

เครื่องมือหินแบบัวบินเนียน ซึ่งอยู่ในยุคหินกลางและบริเวณที่พบการกระจายตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

บริเวณทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่น่าจะมีอายุในช่วงยุคเหล็ก

การขุดค้นที่ถ้ำหลังโรงเรียน จังหวัดกระบี่

 

 

โลงไม้ที่ถ้ำผีแมน

ในบริเวณวนอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง แม่ฮ่องสอน

ภาพเขียนสีที่ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่

 

รูปลายเส้นที่ถ้ำผีหัวโต สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น shaman และการใส่เครื่องแต่งกายเลียนแบบสัตว์ในการทำพิธีกรรม

 

เทือกเขาหินปูนบริเวณประตูผา จังหวัดลำปาง

การคัดลอกภาพเขียนสี่ที่ประตูผา

 

 

ภาพเขียนฝ่ามือแดงที่ประตูผา

เขาหินปูนที่มีภาพเขียนที่ภูปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี

 

หลักฐานและร่องรอยพัฒนาการทางสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์

แต่ก่อนหลักฐานและความรู้เกี่ยวกับคนก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทยมีน้อย  เพราะงานศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีมุ่งแต่เรื่องคนในสมัยประวัติศาสตร์ในยุคที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเป็นเมืองและรัฐที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมอินเดียและจีนเป็นสำคัญ จนราวสี่สิบปีที่ผ่านมา จึงเริ่มมีความสนใจขึ้นซึ่งก็เริ่มแค่การศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน โดยแบ่งสมัยเวลาตามสากลโลกเป็นสมัยหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และโลหะ ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นการศึกษาทางโบราณคดีแบบเก่าๆ ที่เน้นรูปแบบและสมัยเวลาเป็นสำคัญ

 

เพิงผาที่มีการทำพิธีกรรมและเขียนภาพฝ่ามือแดงเป็นส่วนใหญ่ที่ประตูผา

 

จนกระทั่งประมาณสี่สิบปีเป็นต้นมา จึงมีพัฒนาการของการศึกษาทางโบราณคดีทีทำให้แลเห็นพัฒนาการของสังคมมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นมาได้มีการสำรวจศึกษาและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในลักษณะที่เป็นชุมชนในทางมานุษยวิทยา โดยอาศัยเทคนิคใหม่ๆ ทางโบราณคดีและการศึกษาสังคมปัจจุบันทางด้านชาติวงศ์วรรณนาเพิ่มขึ้น จึงทำให้แลเห็นเป็นยุคสมัยของพัฒนาการทางสังคมค่อนข้างชัดเจน นั่นก็คือ ในปัจจุบัน ไม่ใคร่มีใครพูดถึงยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และโลหะ จากเครื่องมือเครื่องใช้กันเท่าใด ในทำนองตรงกันข้ามกลับพูดถึงร่องรอยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยยังไม่เป็นคน [Homo Erectus] ที่มีอายุเป็นแสนปีขึ้นไป กับสมัยที่มนุษย์กลายเป็นคน [Homo Sapiens] ที่มีอายุราว ๔๐,๐๐๐ ปีลงมา พูดถึงสมัยหินกะเทาะที่สะท้อนให้เห็นสังคมมนุษย์แบบเร่ร่อน โยกย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาล พูดถึงพัฒนาการของการเพาะปลูกที่นำไปสู่การตั้งถิ่นฐานถาวร อันเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่พัฒนาการของสังคมบ้านและเมือง

 

จากพัฒนาการของการเรียนรู้และการได้มาซึ่งหลักฐานข้อมูลใหม่ๆ ทางโบราณคดี ได้ทำให้วิชาโบราณคดีแบบ เดิมๆ เปลี่ยนมาเป็นมานุษยวิทยาโบราณคดีแทน นั่นก็คือการศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่นำหลักฐานทางโบราณคดีมาวิเคราะห์ตีความให้เห็นพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนการหยุดอยู่แต่เพียงการศึกษารูปแบบของโบราณวัตถุเพื่อกำหนดอายุและเวลาแต่เพียงอย่างเดียว

 

ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาโบราณคดีของข้าพเจ้าที่แล้วมานั้นพอสรุปได้ว่า ในดินแดนประเทศไทย แม้จะมีพัฒนาการของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนคน จนมาถึงสมัยเป็นคนในยุคหินกะเทาะ อันเป็นสังคมมนุษย์แบบเร่ร่อนตามฤดูกาล จนถึงสมัยหินใหม่อันเป็นยุคที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานติดที่ [Sedentary settlements] มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์นั้น ยังเป็นยุคสมัยที่มีผู้คนอาศัยในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น้อยมาก การตั้งหลักแหล่งจึงเป็นกลุ่มเล็กๆ และกระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน

 

จนกระทั่งราว ๔,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปีลงมา จึงเริ่มมีคนจากภายนอกโดยเฉพาะจากตอนใต้ของประเทศจีนเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เพราะดินแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว และเขมร ล้วนมีพื้นที่ราบลุ่มเป็นหุบ [Valleys] เป็นแอ่ง [Basins] เป็นทุ่งราบเป็นลุ่มแม่น้ำลำคลองและดินดอนสามเหลี่ยมชายทะเล นับเป็นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและแร่ธาตุ การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนจากภายนอกที่ผสมผสานกับคนที่อยู่ในท้องถิ่นมาก่อนแล้วนี้ ทำให้เกิดสังคมเกษตรกรรมที่ไม่อยู่ห่างไกลและโดดเดี่ยวอย่างแต่ก่อน หากมีความสัมพันธ์กันในทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ราว ๓,๐๐๐ -๒,๕๐๐ ปี  การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากทางตอนใต้ของประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น แต่เป็นการเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มิได้ยกโขยงกันลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ หากเป็นการเคลื่อนย้ายแบบไปๆ กลับๆ ของพวกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งและแลกเปลี่ยนสินค้ากลับไป ทำให้เกิดเส้นทางการค้าขายระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเลขึ้น  รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นผลตามมา เพราะผู้ที่มาจากตอนใต้ของประเทศจีนนั้น มีอารยธรรม มีความก้าวหน้าในการถลุงโลหะ อันได้แก่ ทองแดง ดีบุกและตะกั่ว ทำให้นำมาพัฒนาเป็นเครื่อง มือเครื่องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพและเครื่องประดับที่สวยงามมีระดับชั้นและเกียรติภูมิ

 

ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ สังคมได้พัฒนาเข้าสู่ยุคสำริดหรือยุคก่อนเหล็ก โดยมีพัฒนาการของสังคมหมู่บ้านอิสระขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ [Autonomous villages] ที่มีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยมีการจับปลาและล่าสัตว์เป็นอาหารเสริม และในขณะเดียวกันก็มีการหาของป่าและแร่ธาตุเพื่อนำไปเป็นสินค้าและมีวัตถุที่เป็นเงินตรามาแลก เปลี่ยน สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีทั้งคุณค่าและมูลค่าในการแลกเปลี่ยนก็คือ บรรดาหอยเบี้ยและเครื่องประดับที่ทำด้วยเปลือก หอยทะเลลึกและโลหะสำริดที่สามารถสะท้อนให้แลเห็นตำแหน่งและสถานภาพทางสังคมของบุคคลที่เป็นเจ้าของได้

 

ตั้งแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีลงมา สังคมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร และเวียดนาม ก็มีพัฒนาการเติบโตกว่าแต่ก่อน เพราะการติดต่อกับภายนอกหาใช่กับทางตอนใต้ของประเทศจีนแต่เพียงโสดเดียวไม่ หากยังมีการติดต่อกับทางตะวันตกที่มาจากอินเดียที่ต่อไปจนถึงเปอร์เซีย อียิปต์ และโรมัน โดยเฉพาะกับทางอินเดียนั้น มีหลักฐานทางเอกสารกล่าว ถึงสุวรรณภูมิ อันเป็นดินแดนที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง คัมภีร์ที่เล่าเรื่องชาดกทางพุทธศาสนาของอินเดีย เช่น มหาชนกชาดก กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพ่อค้าสำเภาล่องเรือมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ ในขณะที่ตำนานมหาวงศ์ของลังกากล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระสมณทูตมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

 

ตั้งแต่ช่วงเวลานี้เองที่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเกิดเมืองและรัฐขึ้น ความเจริญทางเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็คือ การถลุงเหล็กและการทำเหล็กให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าโลหะสำริด ส่วนพัฒนาการทางสังคมก็คือ มีการเติบโตจากสังคมระดับบ้านที่เป็นชนเผ่า [Ethnicity] มาเป็นสังคมเมืองที่เป็นระดับชนชาติ ที่มีอาณาเขตทางการเมืองการปกครอง [Polity] เกิดขึ้น หลักฐานทางโบราณคดีในยุคเหล็กที่พบขึ้นใหม่ดังกล่าวนี้นับเป็นหลักฐานสำคัญในการโต้แย้งและลบล้างแนวคิดและทฤษฎีเดิมๆ ทางประวัติศาสตร์โบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เคยเชื่อถือกันว่า ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น ผู้คนในภูมิภาคนี้เป็นคนพื้นเมืองที่มีความล้าหลังทางเทคโนโลยีและอารยธรรม จนกระทั่งมีชาวอินเดียเดินทางเข้ามาได้นำอารยธรรมเข้ามาให้และเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นบ้านเป็นเมืองที่มีกษัตริย์ ศาสนา อักษรศาสตร์และวิทยาการเจริญขึ้น โดยย่อก็คือเป็นอาณานิคมทางปัญญาและวัฒนธรรมของคนอินเดียนั่นเอง

 

แต่ทว่า หลักฐานทางโบราณคดีที่แลเห็นทั้งพัฒนาการของชุมชนที่เป็นบ้านเมืองและเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำริดและเหล็กแล้ว ก็ได้มีการคัดค้านและชี้ให้เห็นว่า สังคมก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ดินแดนประเทศไทยนั้น ได้มีความเจริญเป็นบ้านเป็นเมืองและเป็นรัฐในลักษณะที่มีอารยธรรมมาก่อนที่จะมีการติดต่อเกี่ยวข้องกับคนอินเดีย ดังนั้นการรับเอาอารยธรรมอินเดียนั้นหาใช่เป็นการที่คนอินเดียเข้ามาครอบงำและบงการไม่

 

ตรงกันข้ามกลับมาจากการที่บรรดาหัวหน้ากลุ่มชนที่เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองที่ติดต่อค้าขายกับคนอินเดีย ได้เชื้อเชิญบุคคลที่เป็นนักปราชญ์ราชครูชาวอินเดียเข้ามาเป็นที่ปรึกษารับใช้ในราชสำนักของตน ด้วยเหตุนี้ บรรดาศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และวิทยาการต่างๆ ของอินเดียจึงถูกคัดสรรและเลือกใช้เพื่อเสริมสถานภาพและความมั่นคงของผู้นำของชนชาติหรือชนเผ่าในท้องถิ่นมากกว่าอารยธรรมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นศาสนา การปกครอง ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์และวิทยาการ ล้วนมีเกียรติภูมิ [Prestige] และมีศักยภาพในการสื่อสารสูง จึงมีส่วนเสริมสร้างให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของสังคมเดิมให้เป็นสังคมใหญ่เป็นรัฐใหญ่และเป็นอาณาจักรได้ในช่วงเวลาต่อมา

 

ซึ่งเรื่องนี้เข้ากันได้กับหลักฐานทางเอกสารอันเป็นการจดบันทึกของพ่อค้าคนจีนที่เข้ามาค้าขายในภูมิภาคนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ลงมา นั่นก็คือ คนจีนแลเห็นรัฐขนาดใหญ่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ที่สำคัญก็คือรัฐที่เรียกว่า “ฟูนัน”ที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำโขงในเขตประเทศกัมพูชาและเวียดนาม การเกิดขึ้นของรัฐนี้เป็นการขานรับการขยายตัวของการค้าระยะไกลทางทะเลที่เชื่อมต่อบริเวณอ่าวไทยไปยังทะเลจีนอันเป็นถิ่นฐานการเกิดของบ้าน เมืองในประเทศเวียดนาม จีน เกาหลีและญี่ปุ่น

 

ดังนั้น เมื่อมาพิจารณาในเรื่องพัฒนาการของบ้านเมืองตามช่วงเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์จากหลักฐานทางโบราณคดีและสภาพภูมิศาสตร์ตามที่กล่าวมาแล้วอาจวิเคราะห์ได้ว่า พัฒนาการของสังคมมนุษย์ในดินแดนประเทศไทยขึ้นเป็นบ้านเป็นเมืองน่าจะมีมาราว ๔,๐๐๐ ปีที่แล้วมา โดยเริ่มต้นจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่มาจากภายนอก เช่น จากทางตอนใต้ของประเทศจีน เข้ามาผสมผสานกับผู้คนที่มีอยู่แล้วแต่เดิมตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกะเทาะ และหินใหม่ ชนกลุ่มใหม่นี้ได้นำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการถลุงโลหะและประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับจากโลหะมาใช้ทำให้เกิดความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจขึ้น ซึ่งก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากยุคหินเข้าสู่ยุคโลหะซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สมัย คือ สมัยสำริดหรือสมัยก่อนเหล็ก กับสมัยเหล็ก

 

“สมัยก่อนเหล็ก” (ราว ๓,๕๐๐-๒,๕๐๐ ปี) เป็นพัฒนาการของสังคมแบบชนเผ่าที่ทำให้เกิดชุมชนหมู่บ้านเป็นกลุ่มเหล่าไป แต่ละกลุ่มมีอิสระต่อกันแม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างกัน ช่วงเวลานี้อาจนับเนื่องเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ เพราะเป็นพัฒนาการทางสังคมในระดับพื้นฐานที่ยังเห็นร่องรอยของอารยธรรม เช่น รูปแบบการปกครอง ลัทธิทางศาสนา ภาษา และศิลปวัฒนธรรม

 

แต่ตั้งแต่ “สมัยเหล็ก” (ราว ๒,๕๐๐-๑,๗๐๐ ปี) เป็นยุคที่มีการติดต่อทางการค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะกับทางอินเดียและจีนใต้อย่างเป็นรูปธรรม มีผู้คนจากโพ้นทะเลเข้ามาตั้งถิ่นฐานผสมผสานจนเกิดเป็นบ้านเป็นเมืองและนครรัฐขึ้น นับเป็นยุคที่มีอารยธรรมเข้าข่ายสมัยประวัติศาสตร์ได้ แม้จะไม่พบหลักฐานในเรื่องลายลักษณ์ก็ตาม แต่ก็มีร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรมทางสัญลักษณ์หลายอย่างที่แสดงถึงการมีภาษาวัฒนธรรมมากแล้ว โดยเฉพาะหลักฐานด้านเอกสารของชาวอินเดียที่เรียกภูมิภาคนี้ทั้งหมดว่า “สุวรรณภูมิ” แต่จากช่วงเวลา ๑,๗๐๐-๑,๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ก็ปรากฏหลักฐานทางเอกสารของชาวจีนถึงบ้านเมืองและนครรัฐในดินแดนทั้งที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยาและดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำโขงที่แสดงให้เห็นพัฒนาการทางสังคมที่มีอารยธรรม มีภาษา ตัวอักษร ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับอิทธิพลของอินเดียและจีน เกิดรัฐใหญ่ที่เรียกว่า “ฟูนัน” และ “กิมหลิน” เป็นต้น

 

เมื่อลำดับพัฒนาการของสังคมบ้านเมืองและรัฐมาถึงตอนนี้ ข้าพเจ้าก็มีความเห็นว่า  ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศาสนาของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น จะนับเนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีมาแต่สมัยหินเก่า หินกะเทาะ หินใหม่ มาจนถึงสมัยยุคก่อนเหล็กเป็นสำคัญ

 

ส่วนยุคเหล็กหรือยุคสุวรรณภูมินั้น จัดอยู่ในยุคต้นประวัติศาสตร์ [Proto-History] ส่วนยุคประวัติศาสตร์นั้นคือสมัยทวาราวดี เจนละ และศรีวิชัย ที่มีการกล่าวถึงกันโดยทั่วไปแล้ว

 

                                     ภาพเขียนสีที่ถ้ำผาแดง จังหวัดกาญจนบุรี

 

ภาพลายเส้นบุคคลที่น่าจะอยู่ในงานพิธีกรรมบางอย่าง

มีการแต่งกาย ร่ายรำ และตีกลองที่น่าจะเป็นมโหระทึก

ภาพเส้น ภาพเขียนการประกอบพิธีกรรมที่เขาจันทร์งาม นครราชสีมา

 

ภาพลายเส้นการประกอบพิธีกรรมจากที่ผาแต้ม โขงเจียม อุบลราชธานี

 

 

 

การขูดขีนเขียนร่องรอยบนผนังเพิงผา ที่ผากระดานเลข จังหวัดพิษณุโลก

 

การขูดขีนเขียนร่องรอยบนผนังเพิงผา ที่ผากระดานเลข จังหวัดพิษณุโลก

 

หลักฐานและร่องรอยของความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่ได้ดำเนินมาแล้วทั้งนักโบราณคดีไทยและต่างประเทศ ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องคนสมัยหินเก่ามากกว่าแต่เดิม คือแต่ก่อนเวลาพูดถึงสมัยหินเก่าก็มักพบหลักฐานแต่เพียง ๑๐,๐๐๐ ปีลงมา อันอยู่ในสมัยทางธรณีวิทยาที่เรียกว่ายุคโฮโลซีน [Holocene] หรือยุคน้ำแข็ง เพราะการละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลกก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับน้ำ ทำให้เกิดแผ่นดินดอนกับแผ่นดินจมสลับกันไป ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการตั้งหลักแหล่งและการดำรงชีวิตของมนุษย์

 

ยุคนี้ หลักฐานที่พบเกี่ยวข้องกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยหิน มักทำด้วยหินกะเทาะหน้าเดียว ที่เรียกกันในนามว่า “วัฒนธรรมโฮบินเนียน”ซึ่งเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่พบทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดินแดนประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่ง ปัจจุบันการค้นคว้าของนักโบราณคดีชาวอเมริกันท่านหนึ่งคือ “ศาตราจารย์ดักลาส แอนเดอร์สัน” [Douglas Anderson] และลูกศิษย์ที่สำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดกระบี่และพังงาได้พบร่องรอยของคนยุคหินเก่าที่มีอายุมากกว่า ๒๐,๐๐๐ ปีขึ้นไป ซึ่งอยู่ในยุคไพลสโตซีน [Pleistocene] ในทางธรณีวิทยา

 

คนหินเก่าในยุคนี้ นับเนื่องในวิวัฒนาการของความเป็นมนุษย์ที่เรียกว่า โฮโม เซเปียนส์ (Homo Sapiens) อย่างแท้จริง การดำรงชีวิตของคนในสมัยนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมและภูมิศาสตร์ที่คาบสมุทรมลายูยังเป็นแผ่นดินเดียว กับบริเวณที่เป็นเกาะชวา สุมาตรา และอื่นๆ ศาสตราจารย์แอนเดอร์สัน มีประสบการณ์กับการทำงานทางด้านมานุษยวิทยาโบราณคดีในกลุ่มคนเอสกิโมในขั้วโลกที่มีลักษณะชีวิตความเป็นอยู่คล้ายๆ กับคนในสังคมร่อนเร่ที่ต้องย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้กำหนดความสำคัญของแหล่งโบราณคดีที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางสังคม เช่น แหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งฝังศพเป็นสำคัญ ได้พบร่องรอยของแหล่งเช่นนี้ในพื้นที่หน้าเพิงผาที่ชาวบ้านปัจจุบันเรียกว่า “ถ้ำหลังโรงเรียน” เพิงผาเช่นนี้อยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่นกว่าที่อื่นๆ มีลักษณะที่นอกจากอาจอยู่อาศัยได้และฝังศพได้แล้ว ยังเป็นแหล่งชุมนุมเพื่อกิจกรรมทางสังคมในเรื่องความเชื่อด้วย คือมีทั้งมาร่วมกันทำพิธีกรรมอันเป็นเรื่องของความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์กับการกินอาหารกินเลี้ยงร่วมกันในงานฉลอง

 

ความน่าเชื่อถือได้ว่าบริเวณเพิงผาถ้ำหลังโรงเรียนคือ สถานที่หรือแหล่งในการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดในความเป็นมนุษย์  ซึ่งปรากฏพบในที่อื่นๆ และในช่วงเวลาที่ต่อ เนื่องกันมาตลอดสมัยก่อนประวัติศาสตร์เพราะได้พบเหมือนกันในที่อื่นๆ เช่น ที่อำเภอปางมะผ้า ในหุบเขาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาณาบริเวณนี้มีเพิงผาหลายแห่งที่เรียกกันโดยทั่วๆ ไปว่า “ถ้ำผีแมน”จากการขุดค้นทางโบราณคดีของนักโบราณคดีไทย พบว่าสัมพันธ์กับการอยู่อาศัย การฝังศพและการประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่สมัย ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ปีลงมาจนกระทั่งถึงสมัย ๒,๐๐๐ ปีที่แล้วมา 

 

โดยเฉพาะในสมัย ๓,๐๐๐-๒,๐๐๐ ปีลงมานั้น พบหลักฐานทางพิธีกรรมในระบบความเชื่ออย่างชัดเจน ๒ ประการใหญ่ๆ คือ ภาพเขียนสีและโลงไม้ที่ขุดจากลำต้นไม้ขนาดใหญ่  เรื่องภาพเขียนสีบนเพิงผานั้น มักถูกมองโดยนักโบราณคดีไทยของกรมศิลปากรว่าเป็นศิลปะถ้ำอะไรทำนองนั้น จึงเป็นการมองแต่เพียงรูปแบบทางศิลปะไป ทั้งๆ ที่ในแง่คิดทางมานุษยวิทยานั้น สิ่งเหล่านี้ (ภาพเขียนสีและโลงไม้) คือผลผลิตจากระบบความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เป็นเจ้าของอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภาพเขียนสีเหล่านั้นมิได้เกิดขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดของปัจเจกบุคคลแบบปัจจุบันที่มองว่าศิลปะเป็นไปเพื่อศิลปะ [Art for art sake] หากแต่เป็นภาพทางสัญลักษณ์ที่สื่อสารกันได้ทั้งกลุ่มชนในสังคม

 

ภาพที่เขียนขึ้นมีทั้งที่เป็นรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงในเรื่องความหมายว่าหมายถึงอะไร ภาพมือแดงที่พบเกือบทุกแห่ง ภาพสัตว์นานาชนิดซึ่งมีทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และคน มีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงการอยู่กันเป็นกลุ่มร่วมกันทำกิจกรรม และมีทั้งภาพที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของบุคคลสำคัญเป็นต้น  ภาพเหล่านี้มีทั้งที่ขูดเขียนโดยบุคคลที่เป็นผู้ชำนาญและเขียนตามประสาคนเขียนไม่เป็นของบรรดาผู้คนที่มาร่วมในงานประเพณีพิธีกรรม 

 

ส่วนโลงไม้ที่ขุดจากลำต้นไม้ขนาดใหญ่เช่นไม้สักนั้น ถ้ามองเผินๆ ก็คิดว่าเป็นโลงศพ แต่เมื่อพิจารณาเข้ากับขนาด จำนวน และสภาพแวดล้อมแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นโลงศพ ซึ่งเมื่อลองตีความในเชิงเปรียบเทียบกับของที่พบในที่อื่นๆ เช่น ไหหินใน “ทุ่งไหหิน” ประเทศลาว ก็ทำให้คิดว่าโลงศพที่ว่านี้ น่าจะเป็นภาชนะสำคัญในประเพณีการทำศพของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์คือน่าจะเป็นภาชนะที่เก็บชิ้นส่วนของร่างกาย อันได้แก่เถ้าถ่าน กระดูก และสิ่งของที่เป็นเครื่องประดับและสัญลักษณ์ของผู้คนในตระกูลที่ตายไปแล้วให้มาอยู่รวมกันในพื้นที่ซึ่งจะมีคนแต่ละตระกูลมาทำพิธีกรรมร่วมกันในวันและเวลาที่กำหนดไว้ในรอบปี

 

หลักฐานในบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำตามที่กล่าวมาแล้วนี้ มีพบในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็นับเป็นการยืนยันให้เห็นความคิดของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอะไรๆ เหมือนกัน ความคิดในการเลือกแหล่งทำพิธีกรรมทางศาสนานี้ สืบเรื่อยมาจนกระทั่งยุคสำริด ยุคเหล็กและยุคต้นประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น เพิงผาที่ “ผาแต้ม” ริมแม่น้ำโขงในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เพิงผาที่ “ประตูผา” จังหวัดลำปาง ซึ่งนับได้ว่ามีขนาดและอาณาบริเวณใหญ่โตมาก หรือในเขตภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีที่เพิงผาวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี เป็นอาทิ 

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ มีเพิงผาหลายแห่งโดยเฉพาะบรรดาที่เป็นเขาหินปูนมักจะสัมพันธ์กับบริเวณหน้าถ้ำ และถ้ำที่มีพื้นที่เป็นโถงขนาดใหญ่ที่มีอากาศถ่ายเทได้พอสมควร พื้นที่เช่นนี้อาจมีการอยู่อาศัยโดยกลุ่มชนตามฤดูกาลหรือเป็นที่พำนักของบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความรู้ในเรื่องความเชื่อและพิธีกรรมของผู้คนในสังคม เพิงผาหน้าถ้ำดังกล่าวนี้มักมีการอยู่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ทีเดียว อย่างเช่น อาจจะเป็นที่พำนักของฤาษีหรือนักพรตในลัทธิศาสนาฮินดู-พุทธ จึงมักพบการสลักพระพุทธรูปหรือเทวรูปไว้ตามหน้าผาหรือเพิงผา และกำหนดบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมด้วยการปักหินตั้งหรือเสมาหินแสดงเขตและบริเวณศักดิ์สิทธิ์  ในหลายๆ แห่ง ห้องโถงของถ้ำได้กลายเป็นวิหารเพื่อประกอบพิธีกรรมทีเดียว

 

ถัดจากเพิงผาหน้าถ้ำและภาพเขียนสี ก็เป็น“แหล่งฝังศพ”ที่นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญในเรื่องของศาสนาและความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ความสำคัญอันดับแรกของแหล่งฝังศพก็คือ เป็นหลักฐานที่แสดงการมีอยู่ของชุมชน เพราะกลุ่มชนในสังคมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นบ้านและเมืองจะได้นำเอาศพของสมาชิกในชุมชนมาฝังหรือเผาและประกอบพิธีกรรมตามประเพณี นั่นคือความตายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของคนในสังคมที่คิดและปฏิบัติร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย [Life after death] เป็นความเชื่อที่ควบคู่มากับความเป็นมนุษย์ ซึ่งสัตว์เดรัจฉานไม่มี ความเชื่อในเรื่องของความตายนี้แลเห็นจากรูปแบบในการจัดการทำศพที่อาจมีความแตกต่างและคล้ายคลึงกันซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่และเวลาแต่ละยุคสมัย

 

ดังนั้น ในการขุดค้นทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งฝังศพจะพบว่าความเป็นอยู่ของมนุษย์ในพื้นที่เดียวกันนั้น สัมพันธ์กับชั้นดินทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันจากชั้นล่างมาจนถึงชั้นบน เช่น ชั้นล่างสุดอาจแลเห็นการหันศีรษะคนตายไปตามทิศที่เป็นอัปมงคลหรือมงคลตามที่สังคมในช่วงเวลานั้นกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ชั้นล่างสุดอาจหันไปทางทิศใต้ แต่ชั้นถัดมาอาจหันไปทางทิศตะวันตก เป็นต้น

 

แม้จะมีความแตกต่างในเรื่องทิศแต่ก็จะเห็นความคล้ายคลึงกันในเรื่องการให้ความสำคัญกับความเชื่อในเรื่องทิศทาง รูปแบบของการเซ่นศพและนำเอาเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับของคนตายมาฝังรวมกับศพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แลเห็นประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น บางแห่งจะนำเอาภาชนะดินเผามาทุบให้แตกเพื่อใช้ปูรองศพ ในขณะที่แห่งอื่นใช้เปลือกหอยทะเลลึกปูรองศพ เป็นต้น ตรงข้างเท้าผู้ตายจะพบว่าในบางแห่งนิยมนำหม้อไหและภาชนะใส่อาหารวางไว้ตามตำแหน่งและจำนวนที่กำหนดไว้หรือบางแห่งมีการนำเอาหอก ดาบ มีดหรือหัวลูกศรมาประดับไว้ข้างศพหรือบนศพ รวมทั้งมีการทำให้หักงออันแสดงให้เห็นว่าเป็นของที่มีการใช้แล้ว การฝังศพหลายแห่งมีประเพณีการใช้ดินเทศ (ดินสีแดง) โรยบนศพ อันแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของเลือดที่จะนำไปสู่การมีชีวิตอีกครั้งหลังความตาย หรือบรรดาภาชนะที่ใช้ในการเซ่นศพมีการจัดรูปแบบทางสัญลักษณ์ที่อาจเคลือบด้วยน้ำโคลนสีแดง หรือมีการเขียนลวดลายสัญลักษณ์รอบๆ ภาชนะ เช่น ภาชนะเซ่นศพในวัฒนธรรมบ้านเชียง

 

ความเชื่อเรื่องศาสนาและไสยศาสตร์จากแหล่งโบราณคดี

จากการสำรวจและเสนอข้อมูลที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น จะเห็นได้ว่าแหล่งโบราณคดีที่เป็นประโยชน์กับการศึกษาและตีความเกี่ยวกับศาสนาและไสยศาสตร์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในขณะนี้ มีอยู่ ๒ บริเวณด้วยกันคือ “เพิงผาหน้าถ้ำที่มีการเขียนภาพ”หรือสลักภาพทางสัญลักษณ์อันนับเนื่องเป็นแหล่งประกอบประเพณี-พิธีกรรมในระบบความเชื่อ กับ“แหล่งฝังศพอันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชุมชน”ที่มีการนำสมาชิกที่ตายแล้วมาประกอบพิธีกรรมในระบบความเชื่อ

 

แหล่งที่เป็นเพิงผาหน้าถ้ำนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความคิดเหมือนกันในการเลือกบริเวณที่เป็นเพิงผาหน้าถ้ำให้เป็นที่ประกอบประเพณี พิธีกรรม ซึ่งความคิดเช่นนี้ดำรงสืบมาในสมัยประวัติศาสตร์ ความสำคัญของเพิงผาหน้าถ้ำนั้นอยู่ที่การเป็นแหล่งที่ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นใช้เป็นที่ชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรมตามประเพณีในรอบปีเป็นสำคัญ เพราะมักเป็นแหล่งที่ค่อนข้างอยู่ไกลกับถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของผู้คนในชุมชนต่างๆ ของท้องถิ่น 

 

แหล่งพิธีกรรมเหล่านี้ไม่เป็นแหล่งที่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หากเป็น“พื้นที่ร่วม”ของหลายชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันหรือภูมิภาคเดียวกันเป็นสำคัญ ในการเข้ามาชุมนุมร่วมกันตามเวลาที่กำหนดในรอบปีหนึ่งๆ นั้น  พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนซึ่งมาร่วมกันชุมนุมจะประกอบพิธีกรรมร่วมกัน มีทั้งการเต้นรำ การส่งเสียงร้อง และการสวดมนตร์ รวมทั้งการเขียนภาพที่เป็นสัญลักษณ์ลงบนพื้นหินของเพิงผาหน้าถ้ำเหล่านั้น

 

เหตุที่แหล่งพิธีกรรมในระบบความเชื่อของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มักอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางไม่เป็นของชุมชนใดชุมชนหนึ่งนั้นก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยแรกๆ นั้น หาได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในพื้นที่เดียวกันไม่ หากมีการกระจายกันอยู่เป็นกลุ่มของครอบครัวและเครือญาติตามบริเวณต่างๆ ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตน  แหล่งที่เกี่ยวกับความเชื่อที่ใกล้ตัวก็มักจะเป็นแหล่งป่าช้าหรือหลุมศพเท่านั้น โดยเหตุนี้จึงพบหลุมศพและแหล่งที่เป็นป่าช้ามากกว่าแหล่งประกอบพิธีกรรมในรอบปี และอื่นๆ ที่เป็นส่วนร่วมของท้องถิ่น

 

ยิ่งกว่านั้นบริเวณที่ทำพิธีมักจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ผู้คนเห็นและจินตนาการพ้องกันว่า มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังเหนือธรรมชาติ ดังเช่น เพิงผาหน้าถ้ำ ยอดดอย หรือต้นน้ำลำธาร และแหล่งที่มีน้ำสบกันเป็นน้ำวนหรือน้ำเชี่ยว บริเวณที่มีสภาพแวดล้อมแปลกไม่เหมือนที่อื่นๆ เป็นต้น 

 

ความโดดเด่นของสถานที่และสภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ผู้คนในสมัยหลังๆ เห็นพ้อง จึงสืบเนื่องเป็นความทรงจำในรูปของตำนานที่เกี่ยวกับชื่อของสถานที่และเหตุการณ์เรื่อยมา ดังเห็นได้จากการเล่าขานกันในตำนานท้องถิ่นและการทำให้แหล่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น สืบเนื่องเป็นวัดหรือเป็นสถานที่เพื่อจาริกแสวงบุญมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่สำคัญซึ่งพบในแหล่งพิธีกรรมดังกล่าวคือ การใช้สีมาทำให้เกิดรูปแบบเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายระหว่างกัน ได้แก่ สีแดงที่นำมาจากแร่ที่เรียกว่า ดินเทศ [Red ochre] และสีดำที่เกิดจากการเผาไหม้ยางไม้

 

หลักฐานร่องรอยของการใช้สีแดงเห็นได้จากการฝังศพที่มีมาแต่สมัยหินกะเทาะเช่นที่ “ถ้ำพระ” ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี มีการใช้ดินเทศที่มีสีแดงโรยศพซึ่งแสดงให้เห็นว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของพลังชีวิตให้กับคนที่ตาย ทำให้ตีความได้ว่า คนในสมัยนั้นมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณที่ว่าเมื่อตายแล้ววิญญาณก็ยังดำรงอยู่ แต่ความชัดเจนในเรื่องสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ได้เห็นชัดในสมัยหลังลงมาคือ ยุคโลหะที่เริ่มแต่สมัยก่อนเหล็ก (ประมาณก่อน ๒,๕๐๐ ปีขึ้นไป และหลังลงมา) นั่นก็คือ การเกิดภาพเขียนสีขึ้นตามผนังถ้ำและเพิงผา ซึ่งนักโบราณคดีไทยแบบศิลปากร เรียกว่า “ศิลปะถ้ำ” เพราะเน้นความสำคัญที่รูปแบบมากกว่าความหมาย

 

ภาพเขียนสีที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อพื้นฐานของคนที่สำคัญก็คือ “ภาพมือแดง”ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนเหล็กจนถึงยุคเหล็กเป็นภาพที่แสดงถึงการที่ผู้คนที่มาร่วมพิธีกรรมสัมผัสกับพลังเหนือธรรมชาติที่สถิตอยู่ในตำแหน่งต่างๆ ของสถานที่และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเพิงผาที่เป็นหิน ความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติเช่น หิน น้ำ ต้นไม้ และอื่นๆ มีจิตวิญญาณนี้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า Animism ซึ่งนับเป็นพัฒนาการในระยะแรกเริ่มของศาสนาและไสยศาสตร์ เพราะพิธีกรรมที่ผู้คนจากที่หลากหลายในท้องถิ่นมาประกอบร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่แสดงการสยบต่ออำนาจเหนือธรรมชาติอันเป็นการแสดงอาการทางศาสนา แต่ในการประกอบพิธีกรรมก็มีอาการทางไสยศาสตร์ผสมผสานอยู่ ดังเห็นจากสัญลักษณ์อื่นๆ เป็นแบบเรขาคณิตที่ไม่เหมือนธรรมชาติ และภาพคน-สัตว์-สิ่งของ-ต้นไม้ที่เป็นธรรมชาติเพื่อเรียกร้องและบังคับให้อำนาจที่อยู่ตามสิ่งต่างๆเหล่านั้นมารับใช้พวกตนในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ ความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต  ดังนั้น ภาพที่เห็นจากการประกอบพิธีกรรมในระบบความเชื่อจึงมีลักษณะทั้งศาสนาและไสยศาสตร์ผสมกัน [Magico-religious practice]

 

เมื่อได้ประมวลภาพสัญลักษณ์จากแหล่งเพิงผาหน้าถ้ำในที่ต่างๆ ที่พบในดินแดนประเทศไทยมาวิเคราะห์อย่างคร่าวๆ แล้ว ก็พอแลเห็นพัฒนาการของระบบความเชื่อที่เรียกว่า ศาสนา-ไสยศาสตร์ [Magico-religious ritual] ที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติในโลกมีจิตวิญญาณ [Animism] ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการทางสังคม

 

นั่นก็คือสังคมก่อนประวัติศาสตร์ของผู้คนที่เขียนภาพสีได้สะท้อนให้เห็นการมีคนสำคัญที่อาจเป็นหัวหน้าตระกูลและเผ่าพันธุ์ จากภาพของคนที่มีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดา รวมทั้งมีเครื่องประดับตกแต่งร่างกายหรือศีรษะที่โดดเด่นกว่าผู้อื่น อย่างเช่น ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำเขาจันทร์งาม ในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นภาพของคนที่มีทั้งหญิงและชาย สัตว์เลี้ยง และสัตว์ล่า อันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมประเภทร่อนเร่ล่าสัตว์ ภาพสำคัญคือ ภาพชายร่างใหญ่กำลังโก่งธนู อันเป็นการแสดงอำนาจและอาการของการล่าสัตว์ ภาพเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ทางไสยศาสตร์ เพื่อความสำเร็จในการล่าสัตว์เป็นสำคัญ นับเป็นพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์อย่างหนึ่ง 

 

ในขณะที่ภาพมือแดงเป็นจำนวนมากที่ทับซ้อนกันหลายระยะเวลา และภาพสัตว์เช่น วัวควาย และภาพสัญลักษณ์บางอย่างที่แหล่งโบราณคดีประตูผาของเขาลูกโดดในระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดลำปางและอำเภองาว แสดงให้เห็นถึงการชุมนุมของผู้คนเป็นจำนวนมากจากท้องถิ่นต่างๆ มาประกอบพิธีกรรมในเรื่องความอุดมสมบูรณ์ร่วมกัน ซึ่งก็นับเนื่องในพิธีกรรมในระบบความเชื่อที่เรียกว่า Animism เหมือนกัน ทั้งนี้รวมไปถึงบรรดาเพิงผาที่อยู่ในเขตวัดพระพุทธบาทบัวบก ที่กรมศิลปากรไปเปลี่ยนเป็นอุทยานโบราณคดีภูพระบาท อีกหลายแห่งที่มีการเขียนรูปวัวควาย ช้าง และรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ

 

การดำรงอยู่ของความเชื่อในเรื่อง Animism ดังกล่าวนี้ สืบมาจนถึงสมัยเหล็กเพราะแม้ว่าสังคมหลายแห่งในสมัยนี้จะมีพัฒนาการทางศาสนาและไสยศาสตร์ที่สูงกว่านี้ไปแล้วก็ตาม ดังเช่น ภาพสลักขูดขีดที่ถ้ำผาลายภูผายนต์ จังหวัดสกลนคร ที่เปลี่ยนจากการเขียนสีมาเป็นการใช้เครื่องมือเหล็กขูดขีดไปบนหินแทน มีภาพต้นไม้ คน สัตว์และสัญลักษณ์แบบเรขาคณิตมากมาย ภาพสัญลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ภาพของควาย ซึ่งน่าจะเป็นทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ล่า ในขณะที่ภาพสัญลักษณ์เรขาคณิตที่ดูเป็นอวัยวะเพศของสตรีและการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิง-ชาย สะท้อนให้เห็นถึงการทำพิธีเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ ดูเหมือนภาพบนผนังผาที่มีการขูดขีดด้วยเครื่องมือเหล็กที่แสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ทางเรขาคณิตที่ยากแก่การถอดรหัสว่าหมายถึงอะไร แสดงให้เห็นถึงจินตนาการที่ซับซ้อนของคนสมัยเหล็กที่ยังดำรงความเชื่อในเรื่อง Animism ที่สำคัญนั้นอยู่ที่ผากระดานเลข ในเขตอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

 

 

อย่างไรก็ตาม บรรดาแหล่งภาพเขียนสีของคนก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กรุ่นหลังๆ ที่เชื่อมต่อกับสมัยต้นประวัติศาสตร์หลายแห่งก็สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของระบบความเชื่อจาก Animism มาเป็นความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติที่สูงกว่าที่เรียกว่า Supernaturalism ความต่างกันระหว่างความเชื่อและศาสนาสองระดับนี้ก็คือ

 

ระดับแรก เป็นเรื่องของความเชื่อที่เกี่ยวกับอำนานเหนือธรรมชาติบนพื้นดินหรือบนโลกเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น การนับถือผี ต้นไม้ ภูเขา หนองน้ำ ลำธาร สัตว์และคน รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เป็นฝนตกฟ้าร้อง เป็นต้น ส่วนระดับหลังนั้น เป็นความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติที่สูงขึ้นไปจากบนดินมาเป็นบนท้องฟ้า ซึ่งทำให้มีความซับซ้อนเกิดขึ้นในการแสดงสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีกรรม

 

การเกิดระดับชั้นของผู้คนและการกำหนดตำแหน่งและให้ความหมายแก่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ความซับซ้อนในเรื่องรูปแบบของสัญลักษณ์เห็นได้จากภาพเขียนสีที่มีองค์ประกอบเพิ่มขึ้นทั้งในรูปแบบเรขาคณิตจนไม่อาจถอดรหัสได้ก็มีภาพของธรรมชาติ เช่น สัตว์ คน สิ่งของ ก็หลากหลายและมีอาการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น สัตว์บางชนิดมีรูป ร่างแปลกๆ และมีอาการกิริยาแปลกๆ ไม่เหมือนธรรมชาติ  ในขณะที่ภาพของคน ก็ดูหลาก หลายด้วยอาการกิริยา ขนาด และการแต่งกาย อันแสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่และฐานะทางสังคมซึ่งอาจพูดได้ว่า ในระยะของพัฒนาการขั้นนี้ สังคมก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็กได้พัฒนาเข้าสู่การเกิดบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มที่มีเจ้านายและคณะบุคคลปกครองแล้ว

 

ทำให้ภาพของบุคคลที่มีบทบาทและสถานภาพอย่างน้อย ๒ อย่างปรากฏขึ้น คือ ผู้นำ และคณะที่ปรึกษาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีเครื่องแต่งกายเช่นเครื่องประดับศีรษะประดับร่างกาย มีลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป บุคคลที่มีฐานะเป็นผู้นำนั้นมักแสดงจากการถืออาวุธที่เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจและมีอาการลีลาที่องอาจ ในขณะที่คนหรือคณะที่ปรึกษามักมีการแต่งกายที่ผิดมนุษย์ หลายๆ แห่งแต่งตัวใส่หน้ากากหรือสวมหัวโขนเป็นสัตว์ คนพวกนี้คงได้แก่พวกหมอผีหรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิญญาณและเวทย์มนตร์คาถา ซึ่งดูสอดคล้องกันกับการขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่ฝังศพ เพราะมักพบศพบางศพที่มีการนำเอาเขาสัตว์ เขี้ยวสัตว์ และสิ่งสัญลักษณ์บางอย่างมาฝังไว้ ส่วนศพของคนที่เป็นผู้นำก็มักพบเครื่องเซ่นศพที่มีเครื่องประดับที่มีค่ามากกว่าศพคนทั่วไป หลายแห่งพบอาวุธสำคัญประจำตำแหน่งรวมอยู่ด้วย เช่น มีดหรือหอกที่ใบมีดเป็นเหล็กแต่ด้ามเป็นสำริดมีลวดลายสัญลักษณ์ประดับ แต่ที่สำคัญคือภาพเขียนสีของช่วงเวลานี้มักแสดงให้เห็นถึงการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่มีการชุมนุมที่ส่ออาการเต้นรำหรือร่ายรำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

 

ภาพที่โดดเด่นที่แสดงความซับซ้อนที่เลือกมาเป็นตัวอย่างในที่นี้ก็คือ ภาพเขียนสีบนเพิงผา “เขาปลาร้า” จังหวัดอุทัยธานี ภาพเขียนสีบนผนัง “ถ้ำตาด้วง” ในเขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และภาพเขียนสีที่ “ผาแต้ม” อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

 

ในกลุ่มภาพแรกที่เพิงผาถ้ำเขาปลาร้านั้น ความโดดเด่นอยู่ที่เป็นเพิงผาบนภูเขาที่ปัจจุบันการเดินทางขึ้นไปค่อนข้างยากมาก คนก่อนประวัติศาสตร์เลือกตำแหน่งได้ดีมาก เพราะบนเขามีสภาพแวดล้อมที่เป็นธารน้ำและพื้นที่พอแก่การเข้าไปพักแรมของคนเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาประกอบพิธีกรรมรอบๆ เขาปลาร้าเป็นที่ราบลุ่ม มีลำน้ำหล่อเลี้ยงสลับไปด้วยป่าเขาและที่สูง อันแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณ สัตว์ป่า และแร่ธาตุ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยหินขัดมาจนถึงสมัยโลหะ

 

ข้าพเจ้าได้สำรวจพบแหล่งถลุงเหล็กที่เป็นชุมชนที่สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวาราวดี เพราะพบร่องรอยชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบศาสนสถานรูปปูนปั้นประดับ รวมทั้งบรรดาเครื่องประดับ เครื่องมือสำริด เหล็ก และลูกปัดแบบต่างๆ มากมาย  ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคเหล็กอันเป็นสังคมเกษตรกรรมที่สืบเนื่องเข้าสู่สังคมพุทธ-ฮินดูในสมัยทวาราวดี สิ่งที่สนับสนุนให้เห็นว่าสังคมก่อนประวัติศาสตร์ในที่นี้เป็นสังคมเกษตรกรรมก็เพราะแหล่งประกอบพิธีกรรมอันมีภาพเขียนสีบนผนังผาเขาปลาร้านั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับอำนาจเหนือธรรมชาติได้ 

 

ในเรื่องแรกคือ “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย”์ นั้น ดูได้จากการปรากฏภาพคนที่มีการแต่งกายในวาระที่มาชุมนุม แสดงท่าร่ายรำในการประกอบพิธีกรรม คนทั่วไปนุ่งผ้าเตี่ยวมีชายไหวชายแครงประดับ บนศีรษะมีใบไม้และดอกไม้รวมทั้งขนนกประดับ มีภาพบุคคลที่น่าจะเป็นหมอผี [Shaman] แต่งตัวในลักษณะจำแลงกายเป็นสัตว์เพื่อสื่อสารกับธรรมชาติและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ แต่ภาพคนที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นประมุขของเผ่าพันธุ์ ซึ่งก็คือ ภาพบุคคลที่มีขนาดใหญ่ มีรายละเอียดของการแต่งกายและเครื่องประดับ มือถืออาวุธแสดงท่าร่ายรำที่มีอานุภาพ ข้างๆ มีสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัข ส่วนภาพของคนกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาตินั้น แลเห็นได้ชัด เจนจากภาพของสัตว์ป่า สัตว์ล่าและสัตว์เลี้ยง อันแสดงให้เห็นชัดว่าเป็นสังคมเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว ภาพของสัตว์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติก็คือ ภาพของวัวมีหนอกที่คอ เป็นภาพใหญ่ที่เขียนได้อย่างชัดเจนมีสัดส่วน บนหลังวัวมีผ้าที่เป็นลวดลายพาดทับให้เห็นว่าเป็นอาสนะที่มีผู้ทรงอำนาจประทับนั่ง วัวนี้มีคนจูง อาจนับได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญ เช่นเดียวกันกับภาพของบุคคลตัวใหญ่ที่เป็นประมุขของเผ่าพันธุ์ทีเดียว

 

ภาพวัวที่มีผ้าพาดทับนี้มีหนทางที่อาจตีความได้เป็น ๒ อย่างคือ อย่างแรก อาจเป็นพาหนะของบุคคลตัวใหญ่ที่น่าจะเป็นประมุขหรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์อันเป็นประธานของพิธีกรรม อย่างที่สองก็คือ วัวมีหนอกคือพาหนะของเจ้า ผี หรือเทพที่จะต้องนำมาประกอบพิธีเซ่นสรวง คือฆ่าบูชายัญส่งไปให้นั่นเอง  ส่วนภาพสัตว์ขนาดใหญ่อีกภาพหนึ่งก็คือ ภาพลิงใหญ่ที่ดูแล้วเป็นลิงเนรมิต ที่แสดงพลังเหนือธรรมชาติมีบริวารล้อม แต่เป็นภาพที่ยังเขียนไม่เสร็จ ภาพสัตว์เนรมิตดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยน แปลงความเชื่อว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์มีสัตว์เป็นบรรพบุรุษ [Totem] ของเผ่าพันธุ์หรือตระกูล มาเป็นสัญลักษณ์รวมของผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ในท้องถิ่น ลิงอาจเคยเป็นสัญลักษณ์ของเผ่าใดเผ่าหนึ่งที่มีอำนาจเหนือเผ่าพันธุ์อื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกัน

 

ถัดจากภาพที่เพิงผาเขาปลาร้าก็เป็นภาพเขียนสี ที่ถ้ำตาด้วง ในเขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรีอันเป็นภาพของขบวนแห่ในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นขบวนของกลุ่มคนที่มีการเคลื่อนไหวหามกลอง และน่าจะมีการตีกลองแสดงจังหวะหรือส่งเสียงที่เป็นมงคลและศักดิ์สิทธิ์ออกมาเพื่อสื่อสารไปยังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่จะทำให้ความมุ่งหมายในการทำพิธีสำเร็จผล

 

พิธีกรรมเช่นนี้เป็นได้ทั้งพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์และการเฉลิมฉลองความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคม ภาพขบวนแห่นี้ได้มีการตีความไปอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นขบวนแห่โลงศพ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะบรรดาโลงศพ เช่น โลงผีแมนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีอายุนับเนื่องอยู่ในสมัยเหล็กนั้น ทั้งขนาดและสิ่งที่บรรจุไว้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการบรรจุศพคนตายแต่อย่างใด ทำนองตรงข้าม น่าจะเป็นภาชนะขนาดใหญ่สำหรับการบรรจุชิ้นส่วนของกระดูกคนตายและสิ่งที่มีค่าของผู้คนในตระกูลมากกว่า ยิ่งกว่านั้นในภาพเขียนสีที่มองไปว่าเป็นโลงนั้น ก็หาเด่นชัดไม่ เพราะมีบริเวณตรงกลางเป็นรูปวงกลมที่น่าจะเป็นกลองที่แขวนไว้

 

เรื่องของกลองในงานพิธีกรรมทางความเชื่อดังกล่าว มีหลักฐานทางโบราณคดีสนับสนุนชัดเจน เพราะในบรรดาวัตถุสำคัญที่พบตามแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็กในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงนั้นต่างก็พบกลองสำริด ที่เรียกกันว่า “กลองมโหระทึก”เหมือนกัน กลองแบบนี้บางทีเรียกว่า “กลองกบ”มีกำเนิดอยู่ในแถบทะเลสาบคุนหมิงอันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเดียนหรือเทียนโบราณ กลองแบบนี้ได้แพร่หลายผ่านยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี เวียดนาม เข้ามาในดินแดนประเทศไทย ลาว เขมร และบ้านเมืองในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย กลองนี้ในเวียดนามจัดอยู่ในรูปแบบของวัฒนธรรมดองซอนที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาลลงมา ซึ่งก็นับเนื่องเป็นยุคเหล็กนั่นเอง

 

กลองมโหระทึกหรือกลองกบพบในเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งนักปราชญ์นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศเชื่อว่าเป็นกลองที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝนซึ่งเป็นพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมักเป็นสมบัติของบุคคลผู้เป็นประมุขของเผ่าพันธุ์หรือบ้านเมืองทีเดียว เพราะเมื่อตายไปแล้วก็มักถูกฝังรวมเป็นเครื่องเซ่นศพให้กับผู้ตาย

 

กลองมโหระทึกมีความสำคัญมากต่อการศึกษาเรื่องศาสนาและพิธีกรรมของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นกลองที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในยุคเหล็กนี้มีระดับสังคมที่พัฒนาเข้าสู่การเป็นบ้านเป็นเมืองและเป็นรัฐที่มีศาสนาและลัทธิประเพณีก้าวผ่านความเชื่อทางศาสนาแบบจิตวิญญาณบนพื้นดิน [Animism] เข้าสู่ความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณเหนือพื้นดิน เกิดมิติบนฟ้าและสวรรค์ โดยเฉพาะอำนาจศักดิ์สิทธิ์จากบนฟ้า เป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าอำนาจเหนือโลก [Supernaturalism] บรรดาสัญลักษณ์ต่างๆ ที่มีทั้งรูปเหมือนจริงและลวดลายก้านขดและเรขาคณิต

 

 

รหัสที่นำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น ๓ อย่างด้วย กัน อย่างแรกคือ รูปกบที่อยู่ตรงขอบกลองทั้งสี่ทิศ มีทั้งกบตัวเดียวและกบที่ขี่ซ้อนกันเป็นสองหรือสามตัว กบเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ที่ไหนมีน้ำที่นั่นย่อมมีกบ เสียงกบร้องเป็นสัญลักษณ์ว่าฝนกำลังจะตก กบจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของพิธีกรรมของความอุดมสมบูรณ์ ถัดจากกบก็เป็นวงกลมหลายรอบบนผนังกลองที่ศูนย์กลางแบ่งออกเป็นหลายแฉกราว ๑๓-๑๔ แฉกขึ้นไป ซึ่งน่าจะหมายถึงดวงอาทิตย์และรัศมีที่แยกออกไปเป็นแฉกๆ นับเป็นศูนย์กลางของจักรวาล วงกลมรอบศูนย์กลางแต่ละวงเรียงรายกันไปด้วยสัญลักษณ์ทั้งที่เป็นรูปจริงและรูปสมมุติ แสดงให้เห็นถึงวงจรของสิ่งมีชีวิตบนพื้นพิภพ เช่น นกกระเรียน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตัวแลนหรือตะกวด หรือรูปสัญลักษณ์แบบคลื่น ก้านขด วงกลม และรูปเหลี่ยมเรขาคณิตที่น่าจะแทนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

 

กลองมโหระทึกมีอยู่อย่างสืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปและมีสัญลักษณ์ของสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์และความเป็นมงคลเพิ่มขึ้น เช่น มีรูปหอยทาก ปลา ช้าง และต้นไม้เป็นต้น รอบๆ ผนังกลองก็มีลายสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งคือขบวนเรือพิธีกรรมที่มีการตกแต่ง มีคนนั่ง คนพาย และการแสดงอาการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะรูปคนนั้น มีการแต่งตัวอย่างเต็มที่ มีหมวกที่ทำด้วยใบไม้และขนนก มีเสื้อผ้า นุ่งผ้าเตี่ยว แต่ประดับหน้าหลังและข้างๆ ด้วยชายไหวชายแครงงดงาม ถือหอกดาบและอาวุธ นักวิชาการให้ความเห็นว่าขบวนเรือแบบนี้เป็นขบวนแห่นับเนื่องในพิธีส่งวิญญาณของคนตาย จึงเรียกเรือเหล่านี้ว่า “เรือแห่งความตาย” [Ship of the dead]

 

 

เพราะฉะนั้น โดยสรุปกลองมโหระทึกนี้มีความหมายให้เห็นว่าเป็นกลองที่แสดงฐานะและความสำคัญของผู้เป็นเจ้าของซึ่งน่าจะเป็นประมุขของเผ่าพันธุ์และบุคคลสำคัญใช้ในพิธีกรรมขอฝนและเป็นสมบัติเซ่นศพให้แก่เจ้าของเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว นักโบราณคดีหลายท่านให้ความเห็นว่ากลองมโหระทึกเป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นในยูนนานและส่งผ่านเส้นทางการค้าระยะไกลทั้งทางบกและทางทะเลมายังประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงและหลายๆ คนก็เห็นว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นอารยธรรมแรกเริ่มของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาก่อนที่อารยธรรมจีนและอินเดียจะแพร่เข้ามาในสมัยต้นประวัติศาสตร์

 

ในส่วนตัวของข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กลองมโหระทึกนี้คือสิ่งสำคัญที่แสดงวิวัฒนาการทางศาสนาของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงเพราะเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือพื้นดินที่เป็นความเชื่อในเรื่องวิญญาณในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ [Animism] มาเป็นอำนาจบนฟ้าและจักรวาลที่เรียกว่า Supernaturalism

 

สัญลักษณ์หลายอย่างที่ปรากฏในกลองเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นและถอดรหัสได้จากการสืบเนื่องที่อยู่ในหลักฐานทางชาติวงศ์วรรณนาในปัจจุบัน แต่การทำความเข้าใจในเรื่องนี้มีความจำเป็นที่จะต้องสืบไปหาที่มาของกลองมโหระทึกที่มาจากอาณาจักรเดียน ซึ่งอยู่แถวทะเลสาบคุนหมิงด้วย เพื่อเชื่อมโยงว่าศาสนาและลัทธิประเพณีนั้นมาอย่างไร แล้วมีการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนที่รับรูปแบบและอิทธิพล [Localization] อย่างไร เพราะแน่นอนว่า เมื่อนำกลองมโหระทึกมาใช้แล้ว ความหมายที่มีมาแต่เดิมย่อมไม่คงที่ ดังเห็นได้จากองค์ประกอบของกลองที่ต่างกัน นั่นก็คือ กลองที่พบที่คุนหมิงมีรูปผู้คนกำลังทำพิธีบนกลองว่าทำอย่างไร มีรูปที่อยู่อาศัยบ้านเรือน มีสัตว์สิ่งของและรูปแบบในการแต่งกายว่าเป็นอย่างไร พิธีกรรมบนหน้ากลองที่คุนหมิงแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการเต้นรำประกอบพิธีเซ่นบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนท้องฟ้าในลักษณะที่เป็นความเชื่อในเรื่องพลังที่อยู่บนฟ้า [Supernaturalism] อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่ามีการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างฟ้าและดินที่ความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ในทำนองเดียวกับศาสนาและลัทธิประเพณีของคนจีนโบราณ

 

 

ในพิธีกรรมได้แลเห็นสัตว์บางชนิดที่เป็นสัตว์เนรมิตในทำนองเดียวกับมังกรของจีน ภาพผู้คน ชีวิตความเป็นอยู่ และการทำพิธีกรรมบนกลองดูมีความเชื่อมโยงกับภาพสัญลักษณ์ที่มีดวงอาทิตย์และวงกลมที่ล้อมรอบเป็นชั้นๆ มีสัตว์หลากชนิดเป็นสัญลักษณ์อย่างชัดเจน ทำให้แลเห็นพลังอำนาจของจักรวาลที่อยู่เหนือโลกในมิติของเวลาที่เป็นฤดูกาล อย่างน้อยก็อาจสรุปได้ว่า ประเพณีพิธีกรรมที่อยู่บนกลองนั้นคงเป็นหนึ่งในพิธีกรรมในรอบปีซึ่งปัจจุบันเรียกว่าประเพณีสิบสองเดือน

 

ในเขตแคว้นกวางสีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูนนานหรือจีนใต้ก็มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับกลองมโหระทึก แต่ว่าดูแตกต่างไปจากที่คุนหมิงเพราะมีขนาดแตกต่างกัน รวมทั้งไม่พบรูปคนและการทำพิธีกรรมบนกลองอย่างที่คุนหมิง แต่ที่นั่นมีผาแต้มใหญ่ใกล้แม่น้ำที่เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมมีภาพเขียนสีบนผนังผาที่คลุมพื้นที่กว้างขวางใหญ่โต เป็นภาพคนเต้นรำกางแขนกางขาคล้ายกบเต็มไปหมด พร้อมกันก็ปรากฏภาพของกลองมโหระทึกเป็นวงกลมมีหลายแฉกตรงกลางปรากฏอยู่ทั่วไป ทำให้แลเห็นและเข้าใจได้ว่าภาพวงกลมมีแฉกตรงกลางเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากดวงอาทิตย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและเวลาตามฤดูกาล

 

การที่คนเต้นรำกางแขนกางขาแบบกบ คือ สัญลักษณ์ของการขอฝน เพราะกบหมายถึงน้ำ ปัจจุบันการทำพิธีขอฝนโดยใช้กบบูชายัญและคนเต้นรำแบบกบพร้อมกับการตีกลองมโหระทึกเพื่อขอฝนก็ยังปฏิบัติอยู่ในหมู่คนจ้วงที่กวางสี ในขณะเดียวกันสัญลักษณ์รูปคนกางแขนถ่างขาแบบกบก็กลายเป็นลวดลายสัญลักษณ์ที่พบตามภาพเขียนสีบนผนังผาตามแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและในลวด ลายที่อยู่บนผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศเวียดนาม ลาว และไทย อย่างเช่น ภาพเขียนรูปคนที่ผาผักหวาน จังหวัดสกลนคร และภาพขูดขีดเป็นรูปกบบนแผ่นหินที่ถ้ำผาลายภูผายนต์ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

 

 

อัพเดทล่าสุด 3 ม.ค. 2562, 13:37 น.
บทความในหมวด
ที่ตั้งมูลนิธิ ๓๙๗ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๘๑-๑๙๘๘ , ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐ โทรสาร ๐-๒๒๘๐-๓๓๔๐
อีเมล์ [email protected]
                    
Copyright © 2011 lek-prapai.org | All rights reserved.