ผมเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ
![]() |
คุณมาณพ แก้วหยก (ซ้าย) กับคุณขวัญเมือง ใจชอบ ผู้ร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนเพื่อชุมชน |
มาณพ แก้วหยก เป็นผู้กล้าบอกกับใครๆ ว่า “ผมเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ”ด้วยความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมมอญที่หล่อหลอมให้เขาเป็นคนอย่างที่เขาอยากจะเป็น
ผู้ชายคนนี้ภูมิใจกับทุกสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดที่พรั่งพร้อมไปด้วยวัฒนธรรมประเพณี รวมไปถึงภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ปู่และ “ย่าแห” ที่เขารักมากที่สุด เพราะท่านเป็นผู้ที่เลี้ยงดูและหล่อหลอมให้เขาเป็นคนสนใจเรื่องราวของชุมชนอยู่จนทุกวันนี้
คุณมาณพเล่าว่าเขาเติบโตมากับเรื่องเล่าเก่าๆ ที่ฟังจากปากของย่าแห มีทั้งเรื่องแปลกจากต่างถิ่นที่ย่าแหเคยฟังมาจากพ่อและยายอีกที และเรื่องของคนรุ่นก่อนที่ได้ยินได้ฟังในยามที่ย่าแหพูดคุยกับเพื่อน
เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเบ้าหลอมด้านหนึ่งของชีวิต ที่ทำให้เขาสนใจเรื่องราวในอดีต นอกจากวิถีการเลี้ยงดูลูกหลานของชุมชน ก็น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเขาเติบโตพอที่จะไปช่วยงานทางวัดได้ ก็ถูกส่งให้ไปคอยปรนนิบัติพระสงฆ์ ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ด้านศีลธรรม จริยธรรม และเรื่องงานบุญงานประเพณี รวมทั้งยังทำให้นึกสงสัยว่าทำไมบ้านอื่นๆ ถึงมีประเพณีบางอย่างแตกต่างจากบ้านศาลาแดงเหนือที่เขาอยู่
ความสนใจอดีตและความช่างสงสัยในสมัยเป็นเด็กๆ ทำให้เขาชอบอ่านหนังสือ และค่อยๆ ค้นคว้าเรื่องราวทางศิลปะ วัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งมีเพื่อนในชุมชนที่สนใจเรื่องเดียวกัน อย่างคุณขวัญเมือง ใจชอบ (พี่ชาญ) ผู้ที่เป็นทั้งญาติและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จึงรวมกลุ่มกันออกสำรวจและแวะเวียนไปตามชุมชนมอญในที่ต่างๆ เพื่อศึกษาหาความรู้เปรียบเทียบความเหมือนความต่างของศิลปวัฒนธรรมอยู่เสมอ
แล้ววันหนึ่งทั้งคุณมาณพ คุณขวัญเมือง และพรรคพวกก็เกิดความคิดที่จะสร้าง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนมอญ พร้อมกับนำของเก่าที่วัดมาจัดแสดงให้เกิดความรู้ แต่ในวันนั้น เขายังไม่มีผู้นำที่มีวัยวุฒิพอที่จะดึงให้คนในชุมชนเห็นพ้องกับเรื่องนี้ได้ ปฏิกริยาตอบรับจากคนในชุมชนในระยะแรก จึงมีเพียงเสียงหัวเราะพร้อมกับคำเย้าแหย่หาว่าเขาเป็นคนบ้าๆ บอๆ ถึงกล้าคิดทำอะไรเลยเถิดได้ขนาดนั้น
เจออย่างนี้เข้า หลายคนอาจท้อ แต่สำหรับคุณมาณพแล้ว เขาเล่าว่าเพราะเขาเป็นสายเลือดย่าแห จึงไม่ยอมถอยหลังง่ายๆ กับเรื่องแค่นี้ เขาลองหาวิธีใหม่ที่จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ให้พร้อมที่จะเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการหาแนวร่วมจากคนทั้งชุมชนเท่าที่จะทำได้ คุณมาณพต้องพึ่งพาตนเองก่อน ด้วยการค้นคว้าหาข้อมูลงานประเพณีมอญ แล้วนำมาจัดนิทรรศการครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยตั้งแสดงในงานบุญและงานศพพระสงฆ์ของวัดศาลาแดงเหนือ ผู้คนที่มาในงานจำนวนมากก็ย่อมมีบ้างที่จะสนใจเข้ามาอ่านมาชม
หลังจากนั้นเขาก็ค่อยๆ เข้าไปพูดคุยสอบถามเรื่องราวอื่นๆ โดยได้รับความเมตตาจากพระครูปทุมธรรมรัต (อำภา) อดีตเจ้าอาวาส และพระครูโสภณสิริธรรม (จวง) อดีตรองเจ้าอาวาสของวัดศาลาแดงเหนือ เป็นผู้ให้ข้อมูลปฐมฤกษ์ จากนั้นสถานการณ์ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีคนเห็นความตั้งใจจริงและช่วยเหลือค่าใช้จ่าย บริจาคศิลปวัตถุ และหนังสือเก่าๆ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความรู้ก็ยินดีบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ จนทำให้มีข้อมูลมาเผยแพร่ในชุมชนได้ตลอด และเขาก็กลายเป็นแหล่งความรู้ข้อมูลของชุมชนมอญบ้านศาลาแดงเหนือที่สำคัญคนหนึ่งในขณะนี้ รวมทั้งยังคงศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดพิพิธภัณฑ์ และติดต่อขอให้มูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ เข้าไปช่วยทำทะเบียนโบราณวัตถุจนเสร็จเรียบร้อย
ขณะเดียวกันนักวิชาการและผู้มีความรู้หลายท่านก็กรุณาให้คำปรึกษาและให้กำลังใจมากขึ้น เช่น พระครูโชติธรรมสุนทร วัดอาวุธวิกสิตาราม อาจารย์กชภรณ์ ตราโมท จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์บุษบา ประภาสพงษ์ จากกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ อาจารย์สิริพร สมบูรณ์บูรณะ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิเล็ก–ประไพ วิริยะพันธุ์ และที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่และย่าแห
จนในที่สุดแล้ว แม้คุณมาณพจะเห็นด้วยกับแนวทางของพุทธศาสนาที่สอนไว้ว่า สิ่งที่ถูกทางที่สุดสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง ก็คือการปฏิบัติตนเพื่อ “นิพพาน” ก็ตาม แต่ความสุขที่เขาได้รับจากการทำงานด้วยใจเช่นนี้ก็ทำให้เขายังเลือกที่จะทำงานเพื่อสังคมก่อน แม้ว่าการตั้งใจทำประโยชน์เพื่อชุมชนที่ผ่านมาเขาต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับเดินทาง การค้นคว้า การถ่ายภาพ การอัดเสียง ค่าใช้จ่ายในการจ้างพิมพ์ข้อมูล และการซื้อหนังสือเป็นจำนวนมากไม่ใช่น้อยเป็นเงินที่เขาอาจนำไปซื้อรถเพื่อไว้ใช้ได้สักหนึ่งคันเลยก็ได้ แต่เมื่อถามว่าเสียดายมั้ย ? คุณมาณพตอบทันทีเลยว่า “...ไม่เสียดาย เพราะถ้าคิดเรื่องความรู้แล้ว ถ้าหายไปก็ไม่สามารถซื้อได้แล้ว...”
ทำด้วยใจ : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๓๖ (พ.ค.-มิ.ย. ๒๕๔๕)
ข้อมูลจำเพาะ :-
ชื่อ-นามสกุล มานพ แก้วหยก
ที่อยู่ ๒๔ หมู่ ๒ ตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๖๐
โทรศัพท์ (๐๒) ๙๗๙-๘๕๙๒, (๐๒) ๙๗๙-๘๓๑๘-๘
การศึกษา โรงเรียนอาชีวเฉลิมสาสน์ แผนกช่างสำรวจ
อาชีพ ช่างสำรวจ บริษัท THAI DCI COMPANY LIMITED CONSULTING ENGINEERS