รายการ "อดีตในอนาคต"
สามารถติดตามชมได้ทาง https://www.youtube.com/channel/UCSzeZTanV9nSbF1pATrMhoQ?pbjreload=10
เมื่อวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก- ประไพ วิริยะพันธุ์ เดินทางไปบันทึกเทปรายการสำหรับเผยแพร่ทาง อินเทอร์เน็ต “อดีตในอนาคต” ตอน “ละครชาตรีนางเลิ้งละครเท่งตุ๊กจันทบุรี ละครชาวบ้านที่ยังมีชีวิต” ที่บ้านพักหัวหน้าคณะละครเท่งตุ๊ก จักรวาลมงคลศิลป์ คุณจักรวาล มงคลสุข ในตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยเชิญคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ นำโดยคุณจารุวรรณ สุขสาคร ที่ปรึกษาคณะละครชาตรีจงกล โปร่ง น้ำใจ และคุณชูเกียรติ แก้วฟ้าเจริญ หัวหน้าคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ นำทีมคณะละครจงกล โปร่งน้ำใจจากย่านนางเลิ้งมาร่วมสาธิตการรำและพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและสถานการณ์ทั่วไปกับทางคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์
โอกาสนี้ทั้งสองคณะได้แสดงสาธิต “การรำซัดหน้าเตียง และรำคุณครู” ซึ่งถือเป็นการรำในขั้นตอนพิธีกรรมก่อนเริ่มการแสดง ละครชาตรี ซึ่งคณะละครชาตรีมงคลศิลป์แสดงการรำแม่บท ๑๒ ท่า หน้าศาลเจ้าที่สร้างมาแต่สมัยก๋งของคุณจักรวาล ตั้งอยู่บนเนินหลัง บ้าน ต่อด้วยการโหมโรงและการรำคุณครูซึ่งก็คือการรำซัดของทางคณะเท่งตุ๊ก ขณะที่ทางคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ ได้สาธิตการรำซัดไหว้ครูหรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันทางนางเลิ้งว่า รำซัดหน้าเตียง ทั้งสองคณะต่างก็เลือกบทรำไหว้ครูที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะบางประการที่มีร่วมกันและต่างกันแม้ว่าจะเป็นคณะละครที่อยู่ต่างพื้นที่ คนละท้องถิ่นและมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงคนละบริบท
พัฒนาการจากวัฒนธรรมร่วมสู่ความแตกต่าง
ละครชาตรีเป็นศิลปะการแสดงแขนงหนึ่งที่มีพัฒนาการมาเป็นเวลานาน และแพร่หลายในหลายภูมิภาคของประเทศไทย จากการติดต่อสัมพันธ์และการอพยพโยกย้ายทำให้การแสดงละครชาตรี พบเห็นได้ในหลายพื้นที่และต่างก็มีพัฒนาการในรูปแบบแตกต่างกันออกไป
คณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ โดยนางจงกล โปร่งน้ำใจ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วและนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางคณะฯ ได้เข้าไปแสดงประจำ ณ ศาลพระพรหม เอราวัณ สี่แยกราชประสงค์จนถึงทุกวันนี้ และถือว่าทำให้คณะละครมีงานแสดงที่กลายเป็นหลักจากช่องทางนี้ เชื้อสายของบรรพบุรุษคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ มีที่มาจากหลากหลายพื้นที่ล้วนเป็นผู้ที่ทำงานทางด้านร้องรำ คือ ปู่ทวดและย่าทวดย้ายมาจากอยุธยา ทางปู่ทวดเป็นครูดนตรีไทยของละครชาตรีอยุธยาจากอำเภอท่าเรือ ย่าทวด (ชื่อนางน้อม โปร่งน้ำใจ) พื้นเพเดิมเป็นผู้แสดงละครชาตรี สายพิจิตร ส่วนทางคุณยายทวด (ชื่อนางสมส่วน) เป็นโนราห์ชาตรีสายพัทลุง และย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ราวช่วงรัชกาลที่ ๖ ณ ตรอกละครย่านนางเลิ้งหรือชื่อสนามควายแต่ดั้งเดิม ย่านดังกล่าวนับเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมบันเทิงที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะเป็นถิ่นอยู่อาศัยของมหรสพแขนงต่างๆ ทั้งคณะละครชาตรี โขน ลิเก
ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ในบรรดากลุ่มละครชาตรีที่อาศัยรวมกันอยู่ในย่านสนามควายนั้น คณะที่มีชื่อเสียงมากคณะหนึ่ง คือ คณะละครชาตรีของครูพูน เรืองนนท์ ซึ่งมารดาของคุณจารุวรรณ สุขสาคร และคุณชูเกียรติ แก้วฟ้าเจริญ ได้รับการถ่ายทอดจากย่าทวดและยายทวดจนกลายมาเป็นนางละคร ทำงานร่วมกับครูพูน เรืองนนท์ และยังเป็นลูกโรงให้กับคณะไทยศิริ ซึ่งเป็นคณะละครที่รำแก้บนที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ และร่วมงานกับคณะบ้านนราศิลป์ด้วย
ละครชาตรีต้องรูปแบบการแสดงด้วยการรับเอาละครนอกเข้ามาผสมผสาน ผู้แสดงละครเยอะขึ้นมีทั้งชายและหญิง บางครั้งมีการใช้เครื่องดนตรีอื่น เช่น ระนาดเอก เข้ามาบรรเลงเดินทำนองประกอบการแสดง นอกเหนือจากเครื่องดนตรีที่ใช้เป็นหลัก ได้แก่ โทน กลองตุ๊ก กรับ ปี่ ฉิ่ง ส่วนบทบาทของการแสดงละครชาตรีในช่วงเวลานี้ พบว่ายังคงถูกใช้ในการแก้บนและแสดงเป็นงานมหรสพ ซึ่งความเฟื่องฟูของละครชาตรีในกรุงเทพฯ นั้น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากจำนวนรอบของการแสดงละครชาตรีในหนึ่งวันกล่าวได้ว่ามีละครตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงค่ำเลยทีเดียว
นายจักรวาล มงคลสุข หัวหน้าคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์
ส่วนคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ เป็นคณะละครที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๓๙ โดยนายจักรวาล มงคล สุข ผู้หนึ่งที่สืบทอดละครชาตรีมาจากนางเต้าหยิน สวัสดิ์ไชย หรือที่ คนพื้นที่ว่า ย่ายิ้น โดยที่นางเต้าหยิน หรือ ย่ายิ้นเป็นผู้ที่ได้ร่ำเรียน ละครชาตรีมาจากแม่ครูวอน สวัสดิ์ไชยอีกทีหนึ่ง คุณจักรวาลไม่ทราบว่าแม่ครูวอนสืบทอดร่ำเรียนมาจากใคร รู้จากการเล่าต่อๆ กัน มาว่าสืบมาจากครู “โนราห์” ที่โดยสารเรือสำเภาขึ้นมาจากทางภาคใต้ ประสบเหตุเรืออับปาง ผู้ที่รอดได้ต่างขึ้นฝั่งตามที่ต่างๆ เช่น ที่แหลมสิงห์ หาดเจ้าหลาว บางกะไชย ฯลฯ จนคนทางบางกะไชยเรียกละคร เท่งตุ๊กนี้ว่า “ละครเรือแตก” ตามตำนานที่เล่ากันมาและยังมีบ้านเรือแตกหน้าหาดแถบบางกะไชยอยู่ที่นี่ด้วย และชื่อเรียกละครเท่งตุ๊ก เป็นการเรียกตามเครื่องดนตรีที่ประกอบการแสดงคือ โทนกับกลองตุ๊ก จากการศึกษาของ “ประภาศรี ศรีประดิษฐ์” เรื่อง “ละครเท่งตุ๊กในจังหวัดจันทบุรี” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตสาขานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ข้อเสนอประมวลข้อมูลจากทั้งทางฝั่งแหลมสิงห์ว่า ละครเท่งตุ๊กสืบทอด มาจากครูขุนทองและคณะละครเร่มาจากทางใต้ แล้วครูทิม ภากกิจ คนบ้านเพ ซึ่งมาแต่งงานกับหญิงสาวที่บ้านชำห้าน ฝั่งอำเภอแหลมสิงห์ รับสืบทอดต่อมาประเมินเวลาได้ว่าท่านน่าจะเกิดในช่วงปลายรัชกาล ที่ ๓ และทำคณะละครเท่งตุ๊กจนโด่งดังในช่วงรัชกาลที่ ๔ และรัชกาล ที่ ๕ จนสอนและสืบทอดให้กับลูกหลานทางฝั่งแหลมสิงห์ที่ยังคงแสดงละครเท่งตุ๊กกันอยู่ โดยมีแบบแผนค่อนข้างแตกต่างไปจากทางฝั่งบางกะไชย ที่แม่ครูวอนและแม่ครูท่านอื่นๆ นำไปเผยแพร่ เนื่องจากทั้งสองพื้นที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำจันทบุรี การติดต่อต้องข้ามเรือจึงเสมือนแยกกันอยู่และมีความต่างกันในการสืบทอดอันเนื่องจากท้องถิ่นและการถ่ายทอดภายในสายตระกูลด้วย
การแสดงของคณะเท่งตุ๊กแต่ละคณะมีความแตกต่างกัน แม้ต่างรู้ถึงแบบแผนการรำ เช่น รำแม่บทต้องมี ๑๒ ท่า แต่ก็ต่างกันในการจัดลำดับหรือท่ารำและเนื้อร้อง ไม่มีรูปแบบของการถ่ายทอดที่แน่นอนและตายตัว การเรียนรู้ผ่านกระบวนการฝึกฝนและการจดจำเป็นหลัก บางครั้งอาจเป็นเพียงการฝึกฝนเพื่อให้รู้ถึงเค้าโครงของบทละครที่ตนเล่น และเมื่อแสดงจึงเป็นการด้นกลอนสดตามบทบาท
ประการหนึ่งทำให้เห็นได้ว่าคณะละครชาตรีทั้งสองคณะ มีลักษณะบางประการร่วมกัน คือ การรับอิทธิพลศิลปะการแสดงจากทางปักษ์ใต้ ที่เรียกว่า “โนราห์ชาตรี” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมจากภายนอกผ่านการคมนาคมหรืออพยพย้ายถิ่นฐาน ดังจะเห็นได้ว่ารูปแบบของการแพร่กระจายวัฒนธรรมจากทางปักษ์ใต้จะสัมพันธ์กับทางพื้นที่ชายฝั่ง และต่อมาทั้งสองคณะละครชาตรี ต่างได้นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของตนจนมีเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างกันออกไป
ความเหมือนและความแตกต่าง แบบแผนที่หลากหลายของละครชาตรี
การแสดงละครชาตรีในแต่ละพื้นที่แม้ว่าจะมีแบบแผนการแสดงที่คล้ายคลึงกัน หากแต่รูปแบบและรายละเอียดของแต่ละคณะต่างก็มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสืบทอดและการปรับตัวของทางคณะละคร ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเทียบการแสดงช่วง “พิธีกรรม” ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนเริ่มเล่นละคร
คณะจงกล โปร่งน้ำใจ มีแบบแผนของการแสดงละครชาตรี คือ หากเป็นการแสดงละครทั้งวัน ช่วงเช้าจะเริ่มแสดงประมาณ ๙ โมงเริ่มด้วยการโหมโรง รำซัดไหว้ครูละครชาตรีตัดสินบนและเล่น ละคร ลักษณะละครที่แสดงนั้นเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงเป็นลักษณะ ละครนอก เช่น สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ แก้วหน้าม้า สังข์ศิลป์ชัย ฯลฯ โดยเจ้าภาพจะเป็นผู้กำหนดเรื่องที่จะแสดงในฉากลงโรงเริ่มด้วย
(ซ้าย) นายชูเกียรติ แก้วฟ้าเจริญ หัวหน้าคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ
(ขวา) นางจารุวรรณ สุขสาคร ที่ปรึกษาคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ
ตัวพระเอกและเมื่อการแสดงจบจะมีผู้สรุป คือ ผู้ที่เป็นตัวตลก พิธีจะดำเนินไปจนถึงตอนเที่ยงจึงหยุดพักให้เจ้าภาพลาเครื่องสังเวยไปปรุงอาหารหรือรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนตอนบ่ายก็จะเป็นการโหมโรงโดยที่แต่เดิมจะเป็นการร้องบทรำซัดอีกรอบหนึ่ง แต่จะไม่รำเพียงแต่ร้องเพื่อเป็นสัญญาณเรียกผู้ชมให้รู้ว่าจะเริ่มการแสดงในช่วงบ่าย การแสดงละครชาตรีบางครั้งอาจใช้เวลาถึงช่วงเย็นหรือค่ำมืด และในแต่ละการแสดงครั้งหนึ่งจะเรียกว่า “เวลา” ซึ่งทางฝั่งละครเท่งตุ๊กเรียกว่า “แต่ง” บทรำซัดไหว้ครูละครชาตรี ทางคณะจงกล โปร่งน้ำใจมี ๗ บท ได้แก่ บทสอนรำบทครูสอน บทไหว้มารดา บทควายเปลี่ยว บทตัวเรียม บทเวลา และบทยามบ่าย โดยในการแสดงหนึ่งครั้งจะเลือกบทใดบทหนึ่งขึ้นมาแสดง โดยทางคณะจะพิจารณาจากลักษณะของงานว่าจัดออกในรูปแบบไหน เนื้อหาในงานหรือสิ่งที่ทางเจ้าภาพต้องการคือเรื่องอะไร เช่น หากไปแสดงงานวันแม่ ก็จะเลือกบทไหว้มารดา ฯลฯ และการร้องบทรำซัดไหว้ครูละครชาตรีจะมีการร้อง ๒ ทำนอง ได้แก่ การร้องแบบทำนองชาตรี เช่น บทควายเปลี่ยว และการร้อง แบบกำพรัด เช่น บทครูสอน จะมีต้นเสียงร้อง ผู้รำมีลูกคู่รับ ต่อจากบทรำซัดไหว้ครูละครชาตรีจึงเป็นการรำซัดซึ่งเป็นการรำ ๑๒ ท่า จึง เป็นอันจบในส่วนของพิธีกรรมและเริ่มการแสดงละคร ขณะที่ขั้นตอนของการรำแก้บน คือ เป็นการ “รำถวายมือ” ประกอบไปด้วยการร้องเชื้อ รำเพลงช้าและรำเพลงเร็ว จบด้วยการลงลา
การแสดงละครชาตรีจึงมีพิธีกรรมที่มีขั้นตอนมากกว่าและมีความซับซ้อนกว่าการรำแก้บน โดยเฉพาะในส่วนของพิธีกรรมรำซัดละครชาตรีนั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในพิธีกรรม เพราะเชื่อกันว่าเป็นการรำเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรืออุปสรรคต่อการแสดง การไหว้ครูแบบดั้งเดิมการรำซัดจึงต้องร้องเชิญพระวิษณุกรรมมาประทับ ณ เสากลางโรง เปรียบเสมือนเป็นเสามหาชัย รำไปพร้อมบริกรรมคาถาใช้ผู้ชายเป็นหลักรำคนเดียวและเป็นการรำ๒ ครั้ง กล่าวคือ ก่อนการเริ่มเล่นละครจะเป็นการรำซัดโดยเวียนทางซ้าย และเมื่อละครจบลงตัวนายโรงจะออกมารำอีกโดยการเวียนขวา เป็นการคลายยันต์ซึ่งผู้รำจะมีคาถาอาคมประจำตัวเองอยู่แล้วในการทำพิธีกรรม แต่เมื่อใช้ผู้หญิงในการรำซัดสิ่งเหล่านี้ก็สูญหายไปจะมีแต่คาถาบูชาครูเท่านั้น
การแสดงของคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาล มงคลศิลป์ เริ่มจากขั้นตอนพิธีกรรมโหมโรงและการรำซัดบทไหว้ครู โดยจะมีตัวพระเป็นผู้รำ ๒ คน มักจะรำเป็นคู่ ขึ้นอยู่กับการว่าจ้างของเจ้าภาพซึ่งอาจมีสูงสุดได้ถึง ๕ คู่ ส่วนบทไหว้ครูทางคณะได้มา ๕ บท ได้แก่ บทคุณครู บทสอนรวย บทสอนรำ บทตัวเรียม และบทตัวพี่ เนื้อหาบางบทก็มีคำร้องที่คล้ายและสื่อความหมายเดียวกัน เมื่อแล้วเสร็จจึงเป็นการเริ่มแสดงละคร เล่นเรื่องบทละครนอกเช่นเดียวกับคณะจงกล โปร่งน้ำใจ เช่น เรื่อง สังข์ทอง พระอภัยมณี และยังรวมไปถึงเรื่อง จักรๆ วงศ์ๆ เช่น พระไชยมงคล ขันทอง มาลัยทอง และตะเพียนทองฯลฯ โดยวิธีการแสดงจะเป็นการแสดงตามโครงเรื่องแต่บทพูดเจรจา บทกลอนจะเป็นการด้นสดของผู้แสดง ช่วงลงโรง(ฉากแรก) และลาโรง(หลังแสดงจบ) ทางคณะจะใช้ผู้แสดงที่เป็นตัวตลกมาเป็นผู้บรรยาย การแสดงในหนึ่งรอบเรียกว่า “แต่ง” ระยะเวลาแต่ละรอบประมาณ ๓ ชั่วโมง โดยที่วันหนึ่งอาจแสดงได้ถึง ๓ แต่ง ตั้งแต่ช่วง เช้า-เที่ยง ช่วงเที่ยง-บ่าย และช่วงหัวค่ำจนดึกไม่มีการเซ่นไหว้ด้วยของไหว้ ซึ่งต่างจากทางคณะจงกล โปร่งน้ำใจ
ส่วนการรำแก้บนนั้นจะมีทั้งแก้บนตามสวนผลไม้ บ่อกุ้ง และศาลเจ้าจีนตามที่ต่างๆ เช่น ศาลเจ้าพ่อแหลมสิงห์ อำเภอแหลม สิงห์ จังหวัดจันทบุรี, ศาลเจ้าพ่อชากไร่แตง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง, ศาลเจ้าพ่อเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด รวมทั้งในงานเทศกาลจีน เช่น งานประเพณีทิ้งกระจาด งานตรุษจีน จะมีการว่าจ้างคณะละครเท่งตุ๊กไปรำแก้บน หากเป็นการรำไหว้ศาลเจ้าจะเรียกว่า “รำไหว้เจ้า” แต่ถ้าเป็นการรำแก้บนทั่วไปจะเรียกว่า “รำถวายมือ” รำกันอยู่ในพื้นที่สวนตามสภาพแวดล้อมของผู้ว่าจ้าง ผู้ที่ ทำรำซัดไหว้ครูก็จะมีคาถาอาคมไว้ป้องกันสิ่งไม่ดี แต่ปัจจุบันไม่ได้มีคนสืบทอดคาถาอาคมดังกล่าวแล้วเช่นกัน ขั้นตอนที่ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญของการรำแก้บน คือ การเอ่ยชื่อเจ้าภาพโดยต้องเอ่ยชื่อให้ถูกต้องและครบถ้วนเพื่อความสบายใจของเจ้าภาพ
สาธิตการรำซัดบทไหว้ครู ของคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ จันทบุรี
ทั้งการรำแก้บนสวนผลไม้และการรำแก้บนศาลเจ้าจีน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างภูมิวัฒนธรรม และระบบความเชื่อของคนในจันทบุรีได้เป็นอย่างดี อาชีพด้านเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ ซึ่งเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในการประกอบอาชีพการทำสวนนั้น คือ “ความเสี่ยง” ที่ส่งผลถึงตัวชาวสวน เนื่องจากการลงทุนเพาะปลูกพืชต่างๆ มีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เช่น สภาพภูมิอากาศเท่ากับการอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความกังวลใจและสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพทำสวนได้ คือ การ “บน” ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยให้ตนได้ผลผลิตที่ดี หากได้ผลผลิตมากพอตามที่ได้บนขอไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะต้องแก้บน
งานรำแก้บนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาล และไม่เพียงแต่การทำสวนเท่านั้นที่ต้องใช้การบนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังรวมไปถึงการประกอบอาชีพอื่นที่ต้องใช้การลงทุนมหาศาลและมีความไม่แน่นอน เช่น บ่อกุ้ง ไปจนถึงการบนต่างๆ ในชีวิตปกติ รวมทั้งราคาของการจ้างคณะละครเท่งตุ๊กเมื่อเทียบกับมหรสพอื่นๆ จะถูกกว่ามาก จึงทำให้เป็นตัวเลือกที่ถูกนำมาใช้ในการแก้บน ละครเท่งตุ๊กเป็นมหรสพที่มีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่ง ของสังคมทั้งในแง่วัฒนธรรมบันเทิงและสื่อกลางในการตัดสินบน รวมทั้งเป็นวัฒนธรรมที่ผูกพันและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้คนในจันทบุรีมาอย่างยาวนาน
ความเหมือนและความต่างระหว่างคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ และคณะละครเท่งตุ๊ก พบว่าทั้งในส่วนของเนื้อร้อง ดนตรี ท่ารำต่างก็มีความคล้ายและความแตกต่าง เช่น รำซัดบูชาครู ในด้านของคำร้อง ทั้งสองคณะมีการสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน คือ การบูชาคุณครูแต่เนื้อหาและการใช้คำมีความต่างกัน ส่วนท่ารำทางคณะละครจงกล โปร่งน้ำใจจะมีลักษณะที่เนิบช้ากว่ารำซัดใช้เพียงคนเดียว ส่วนทางคณะจักรวาลมงคลศิลป์จะมีท่าทางที่กระชับและรำเป็นคู่ในส่วนของเนื้อร้อง บทไหว้ครู หรือบทคุณครูที่มีความคล้ายคลึงกันนั้น จะพบว่าช่วง ๒ วรรคแรกจะร้องเหมือนกันกล่าวว่า ...คุณเอยคุณครู เหมือนอย่างฝั่งแม่น้ำพระคงคา...” หากแต่วรรคต่อมาคำเริ่มแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ยังคงสื่อความหมายเหมือนกัน จากบทไหว้ครูของคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ กล่าวว่า “...สิ้นๆ จะแห้งแล้วก็ไหลมา ยังสิ้นไม่รู้สิ้นไม่รู้สุด...” ส่วนทางคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ กล่าวว่า “...รินๆ น้ำจะแห้งยังไหลมา ยังไม่รู้สิ้นไม่รู้สุด...”
และเมื่อถึง ๒ วรรคท้ายสุดทางคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ กล่าวว่า “...ขอศัพท์ขอเสียง ให้ลูกดังก้องเหมือนฆ้องชวาหล่อใหม่...” ทางคณะจักรวาลมงคลศิลป์ “...ขอให้ศัพท์เสียงลูกล้อไหล กล่อมนวลกล่อมใยเจ้าน้องนาง...” จะเห็นได้ว่าวรรคจบใช้คำที่ต่างกันออกไปสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังสื่อความหมายเดียวกันคือขอให้ชื่อเสียงของตนนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี
ลักษณะความเหมือนและความต่างระหว่างคณะละครชาตรี จงกล โปร่งน้ำใจ และคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงการมีรากวัฒนธรรม “ร่วม” กันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันในความห่างไกลของพื้นที่ทำให้มีพัฒนาการปรับเปลี่ยนเป็น เรื่องเฉพาะของตนเอง
ละครชาตรีนางเลิ้งและละครเท่งตุ๊ก การเผชิญหน้าต่อความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว
ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลถึงการดำรงอยู่ของคณะละครของชาวบ้านทั้งสิ้น แต่ถึงกระนั้นก็ตามปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่แต่ละคณะละครเผชิญก็มีความแตกต่างและมีวิธีปรับตัวที่ต่างกัน
คณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ เริ่มประสบปัญหาจากจำนวนผู้ชมที่ให้ความสนใจลดน้อยลงไปตามอายุขัย ในขณะที่คนรุ่นใหม่ต่างก็รับวัฒนธรรมบันเทิงสมัยใหม่ มหรสพที่เป็นละครชาตรีแบบที่เคยเล่นกันมาเริ่มลดน้อยลงไปมาก สถานการณ์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทางคณะละครได้เข้าไปแสดงประจำในพื้นที่ศาลพระพรหม เอราวัณ บริเวณแยกราชประสงค์ เป็นคณะละครที่รำแก้บนให้กับผู้ที่มาบนบานต่อพระพรหมเพื่อให้สมปรารถนา อีกประการหนึ่งที่ทำให้ทางคณะมีรายได้ที่พอเลี้ยงชีพ และอยู่มาได้อย่างดีสืบมาจนปัจจุบัน แต่ถึงแม้คนรุ่นใหม่ยังคงจ้างให้คณะละครฯ ได้ออกไปแสดงรำถวายในงานประจำปี ณ ที่ต่างๆ แต่การแสดงก็ถูกตัดทอน เหลือเพียงขั้นตอนพิธีกรรมเท่านั้น คือ การรำถวายมือซึ่งใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ต่างจากแต่เดิมที่การรำจะประกอบไปด้วยการร้องเชื้อ รำเพลงช้า รำเพลงเร็ว ลงลา และด้วยระยะเวลาแสดงที่สั้นลง ทางคณะจึงพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงให้น่าสนใจและแปลกใหม่ เพิ่มอุปกรณ์ประกอบการแสดงเข้าไป เช่น ใช้พัดประกอบการแสดงจีน รำพัด ใช้ดอกบัวประกอบการแสดงระบำดอกบัว ใช้พวงมาลัยประกอบ การแสดงฟ้อนมาลัย ฯลฯ
สาธิตการรำซัดไหว้ครูละครชาตรี คณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ กรุงเทพฯ
การรำตัดสินบนในศาลพระพรหมระยะแรกจากที่เคยรำวนรอบพระพรหมทั้ง ๔ พระพักตร์ ใช้เวลา ๑๐ นาทีต่อรอบ เมื่อได้รับความนิยมมากเข้าก็เหลือเพียง ๕ นาทีและ ๒ นาทีตามลำดับและรำเพียงครึ่งเพลง ขั้นตอนที่สำคัญคือการเอ่ยชื่อผู้แก้บนให้ถูกต้องและชัดเจน ดังนั้นสถานภาพปัจจุบันของคณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจ จึงกลายเป็นคณะละครรำแก้บนเป็นหลักจากแต่เดิมที่เล่นครบทุกขั้นตอน
หัวหน้าและที่ปรึกษาของคณะละครจงกลโปร่งน้ำใจ รู้สึกถูกจำกัดอยู่บนเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมสมัยใหม่ของเมืองหลวง การแก้บนเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้เกิดความสบายใจเพียงชั่วขณะของเจ้าภาพ ด้วยการรำสั้นๆ เพียงครึ่งเพลงด้วยเงื่อนไขของจำนวนเจ้าภาพที่มีจำนวนมาก ต้องตอบสนองต่อความเชื่อโดยที่เจ้าภาพเห็นความสำคัญของการรำแก้บนเพียงแค่ได้เอ่ยชื่อตนเท่านั้น ไม่ได้สนใจในขั้นตอนของการรำแบบพิธีกรรม และหากคนทั่วไปไม่รู้ข้อจำกัดและบริบทของการแสดงรำที่ศาลพระพรหม ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าละครชาตรีเป็นเพียงการรำสั้นๆ เพื่อแก้บนเท่านั้น
แม้ทุกวันนี้ทางคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ มีรายได้หลักประจำอยู่ ณ ศาลพระพรหม เอราวัณ แยกราชประสงค์ก็ตาม แต่ในอีกด้านหนึ่งทางคณะฯ ก็พยายามสร้างพื้นที่ทางสังคมและการยอมรับจากหน่วยงานรัฐและบุคคลทั่วไป ด้วยการนำเงินส่วนหนึ่งมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการแสดงงานตามเวทีทางศิลปวัฒนธรรม เช่น เวทีสังคีต ศาลา สถาบันคึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งการออกไปฝึกหัดนักเรียน นักศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่างๆ
ส่วนทางด้านคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ ยังคงมีบทบาทในการรำแก้บน หากแต่รูปแบบการแสดงจำเป็นต้องปรับตัว เนื่องจากความนิยมของมหรสพอื่นตามช่วงเวลา เช่น การปรับตัวตามการแสดงและการแต่งตัวของลิเก เล่นเรื่องราวเหมือนอย่างลิเก แต่ยังคงใช้แบบละครเท่งตุ๊กและยังคงระเบียบแบบแผนการแสดงของละครเท่งตุ๊กไว้ คือขั้นตอนพิธีกรรมก่อนเริ่มการแสดง บางช่วงเวลา คณะละครเท่งตุ๊กมีการนำเอาวงดนตรีสากลและหางเครื่องเข้ามาเล่นผสมในวงตามความนิยมในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ชมที่ชื่นชอบละครเท่งตุ๊กกลับไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจนกระทั่งเลิกความนิยมนี้ไป ทั้งเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานทางภาครัฐเริ่มเข้ามาศึกษาเก็บข้อมูลควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของกระแสอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ยิ่งไปกว่านั้นค่าใช้จ่ายของชุดเครื่องแต่งกายแบบลิเกที่มีราคาสูงและมักเปลี่ยนแปลงตามความนิยมอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นภารกระทำให้ต้องย้อนกลับมาแสดงละครเท่งตุ๊กแบบเดิม แม้ว่าบางครั้งจะต้องเจอกับปัญหาการถูกตัดราคาจากคณะละครอื่น แต่ก็ยังความเป็นวัฒนธรรมบันเทิงหรือมหรสพที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงทำให้ยังคงมีรายได้อย่างต่อเนื่องและทางหน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดยังให้หัวหน้าคณะฝึกซ้อมละครตามโรงเรียนเพื่อเป็นการรักษาศิลปะการแสดง จนมีเด็กและเยาวชนเข้ามาสู่อาชีพนักแสดงนี้จำนวนไม่น้อย
เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมสถานการณ์ความเป็นอยู่ของทั้งสองคณะละคร พบว่าคณะละครชาตรีจงกลโปร่งน้ำใจในปัจจุบันดำรงอยู่ภายใต้ภาวะของการตอบสนองต่อการแก้บนของชาวไทยและชาวต่างชาติจำนวนมาก และอยู่ในกรอบของการอนุรักษ์เท่านั้น แม้ว่าการแก้บนจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อของสังคมและวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ หากแต่การแก้บนด้วยวิธีการถวายละครชาตรีเช่นเดิมกลับไม่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เนื่องจากเจ้าภาพไม่มีเวลามากพอที่จะชมมหรสพละครชาตรีและยังดูว่าเป็นสิ่งล้าสมัยแต่จำต้องทำแก้บน สุดท้ายจึงเหลือเพียงการรำแก้บน สั้นๆ เพียง ๒ นาที เพียงพอที่จะได้เอ่ยชื่อเจ้าภาพผู้แก้บนเท่านั้น
การแสดงละครชาตรีในปัจจุบันก็อยู่ในสถานะที่ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นเพียงการแสดงเพื่อรักษาขนบประเพณีทางวัฒนธรรม หาได้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ หากแต่เป็นการแสดงของผู้ที่สนใจเฉพาะทาง
ขณะที่ทางคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่แพร่กระจายเข้าไปในพื้นที่ จนทำให้ทางคณะต้องปรับตัวด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงไปบ้างก็ตาม แต่เนื่องจากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นที่ยังมีวิถีชีวิตสืบเนื่องมาแต่เดิม การทำเกษตรกรรมและยิ่งมีการลงทุนมากเท่าไหร่ก็เกิดความเสี่ยงมากเท่านั้น ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพื้นที่ยังคงอยู่และมีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้คณะละครชาตรีเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์ ยังคงมีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวสวน ในการเป็นมหรสพสำหรับแก้บนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งยังมีคนเฒ่าคนแก่หรือเด็กๆ ที่ชื่นชอบการแสดงละครเท่งตุ๊กอันสนุกสนานเร้าใจอยู่บ้าง จึงทำให้ละครชาตรีจักรวาลมงคลศิลป์สามารถดำรงอยู่ได้ในรูปแบบดั้งเดิม
ขอขอบคุณ
คุณจักรวาล มงคลสุข : หัวหน้าคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์,
คุณชูเกียรติ แก้วฟ้าเจริญ หัวหน้าคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ,
คุณจารุวรรณ สุขสาคร ที่ปรึกษาคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ,
คุณศุภธิดา มั่นใจ นักแสดงคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ ,
คุณปฏิภาน หอมโชติ นักแสดงคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์,
คุณนิภาวรรค นาคคง นักแสดงคณะละครเท่งตุ๊กจักรวาลมงคลศิลป์
บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๑๑๗ (ม.ค.-มี.ค. ๒๕๖๑)
บทความสรุปรายการ : อดีตในอนาคต ตอนที่ ๑๐ "ละครชาตรีนางเลิ้งละครเท่งตุ๊กจันทบุรี ละครชาวบ้านที่ยังมีชีวิต"