ผมเป็นคนไทยเชื้อสายมอญอยู่ที่บ้านศาลาแดงเหนือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ได้เห็นประเพณีอย่างหนึ่งเรียกเป็นภาษามอญว่า "ปะเวนอย รงหะเปียะ ดัชน์ ซาย "แปลเป็นภาษาไทยว่า " ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง " งานนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ในงานมีการทำบุญตักบาตร ดูเผินๆ ก็คล้ายกับการทำบุญในเทศกาลสำคัญอื่นๆ ทั่วไปจะพิเศษหน่อยก็ตรงที่ทางวัดจะเรียงบาตรหรือภาชนะอื่นๆ ไว้ต่างหาก สำหรับให้ชาวบ้านนำน้ำผึ้งไปใส่เพื่อถวายพระภิกษุ และมีข้าวต้มผัดมาถวายทำบุญควบคู่กันไปด้วยชนิดที่เรียกว่าขาดไม่ได้เลยทีเดียว
ตักบาตรน้ำผึ้งที่วัดศาลาแดงเหนือ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓
ในสมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ ป.๑-ป.๔ ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๑๕ ผมจำได้ว่าครูเคยพานักเรียนไปที่ศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า ซึ่งแม้จะเป็นวัดไทยแต่ก็มีข้าวต้มผัดจิ้มน้ำผึ้ง รสชาติหวานมันหอมให้กิน จนเมื่อผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วสังเกตวัดไทยในจังหวัดอื่นๆ ดู ก็ไม่เห็นว่าจะมีการตักบาตรน้ำผึ้งกันเลย ส่วนมากยังทำกันตามวัดมอญ ถึงกระนั้นผมก็เชื่อว่าประเพณีนี้คงไม่ได้แบ่งว่าเป็นของคนไทยหรือมอญหรอกครับ เพราะต่างก็นับถือศาสนาพุทธที่มีองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เว้นแต่ใครจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีนานกว่ากันเท่านั้นเอง
เพราะในเมืองไทย ทุกวันนี้เท่าที่ผมออกสำรวจก็ยังเห็นวัดใกล้บ้านผมหลายแห่งที่เป็นวัดมอญยังคงประเพณีนี้ไว้ เช่นที่วัดศาลาแดงเหนือ วัดพลับพลาสุทธาวาส วัดเมตรางค์ วัดสองพี่น้อง วัดสวนมะม่วง วัดอัมพุวราราม วัดเจดีย์ทอง วัดบางเตยนอก วัดจันทร์กะพ้อ วัดสามัคคียาราม วัดท้ายเกาะ แล้วก็มีวัดไทยด้วย เช่น วัดป่างิ้ว วัดเชิงท่า ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ยังมีโดยเฉพาะย่านที่มีคนมอญอาศัยอยู่ เช่น วัดบางกระดี่ สมาคมไทยรามัญ เป็นต้น
ส่วนในเมือง (พม่า) ผมเคยสัมภาษณ์พระชาญระวี ญาณรังสี ที่วัดจันทร์กระพ้อ เลยทำให้พอได้ภาพมาว่า ที่นั่นเขาจะตัดบาตรน้ำผึ้งกันที่กลางหมู่บ้าน ทำปะรำไว้ตั้งบาตร และคนมอญหมู่บ้านอื่นก็จะมาทำบุญร่วมกันคล้ายกับในเมืองไทย แต่ด้วยเหตุที่ปัจจุบันน้ำผึ้งหายากจึงมีการใช้น้ำตาลทรายแทนบ้าง
เหตุที่ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งทำกันในเดือน ๑๐ นั้น เป็นเพราะเดือนนี้เป็นช่วงฤดูฝน ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลมีพระสงฆ์อาพาธเพราะต้องเหยียบโคลนตมและกรำฝนจนเปียก พระพุทธเจ้าจึงมี พุทธานุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้งน้ำอ้อย เนยข้น เนยใส น้ำมันพืชในยามวิกาลได้ เพื่อระงับโรคและบำรุงร่างกาย เพราะถือว่าของทั้งห้าอย่างนั้นเป็นเภสัช แต่ก็ห้ามเก็บไว้ข้ามคืนในที่อยู่อาศัย หรืออาจเก็บได้ไม่เกิน ๗ วัน
พุทธศาสนิกชนจึงนิยมทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งเพราะเท่ากับเป็นการถวายเภสัชทาน เพื่อบำรุงร่างกายพระภิกษุให้แข็งแรง เท่ากับเป็นการช่วยสืบอายุพุทธศาสนาด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น มีเรื่องเล่าหลายเรื่องที่พูดถึงบุญกุศลของการถวายน้ำผึ้งด้วย เข่น ในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า มีชายยากจนคนหนึ่งเก็บรวงผึ้งได้ และหวังจะนำไปแลกอาหารกิน แต่เมื่อเขารู้ว่าชาวเมืองจะขอซื้อเพื่อนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า เขาก็ไม่ขายแต่ขอร่วมถวายทานและขอให้ชาวเมืองทั้งหลายได้ส่วนบุญนั้นด้วย ภพต่อมาเขาจึงได้ไปเกิดเป็นพระราชา ได้ออกบวชและสำเร็จอรหันต์ ชื่อว่าพระสีวลีผู้เป็นเลิศในเรื่องของผู้มีลาภ
อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าเมื่อคราวที่พระสงฆ์แตกความสามัคคี จนพระพุทธเจ้าศากยมุนีต้องเสด็จไปจำพรรษาในป่ารักชิตวัน มีลิงตัวหนึ่งนำรวงผึ้งไปถวายให้พระองค์ เมื่อลิงนั้นตายก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ความพิเศษของประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งที่อาจดูคล้ายกับการตักบาตรทั่วไป ในที่สุดผมก็รู้สึกได้ว่านี่เป็นประเพณีที่มีความหมายต่อชาวบ้านแฝงความเชื่อเรื่องงานบุญงานกุศลที่มีเรื่องเล่าเฉพาะตัว ไม่ใช่งานที่ทำกันอย่างไม่มีความหมายอะไรเลย ซึ่งรวมไปถึงสิ่งที่ผมเคยเห็นเมื่อตอนเป็นเด็ก และสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมบาตรของพระผู้ใหญ่ที่คนนับถือถึงมีผ้ารองหลายผืนเหลือเกิน และถึงผ้ารองบาตรจะมากมายขนาดไหน ผู้หญิงบ้านศาลาแดงที่มีฝีมือเย็บปักถักร้อยก็ยังคงทำมาถวายกันจนชินตา คตินิยมนี้ก็คงมาคู่กันกับเรื่องที่เล่าว่า ชายคนหนึ่งได้ถวายน้ำผึ้งที่มีอยู่น้อยนิดให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้น ดังนั้น แม้น้ำผึ้งจะมีน้อยแต่ก็รินออกมาได้ไม่หมดจนล้นออกมานอกบาตร โชคดีว่ามีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าอยู่แถวนั้น รีบเอาผ้ามาซับน้ำผึ้งที่ล้นออกมา คนทั้งสองต่างตั้งจิตอธิษฐานในการถวายของ และกุศลนี้ก็ส่งให้ชายหนุ่มเกิดเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ส่วนหญิงสาวก็เกิดเป็นพระอัครมเหสี เกิดมาค้ำชูพุทธศาสนาและได้ทำกุศลกันต่อไปนั่นเอง
บันทึกจากท้องถิ่น : จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉ.๓๔ (ม.ค.-ก.พ.๒๕๔๕)